Ideot : เอเจนซีที่เชื่อว่าโฆษณาที่ดีมีพลังเปลี่ยนสังคมเกาหลีให้ดีขึ้นได้

Highlights

  • Ideot คือเอเจนซีโฆษณาของเกาหลีใต้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2015 และผลิตสื่อแก้ไขปัญหาสังคมแบบไม่ง้อเงินทุนจากใคร
  • แม้คนจะมองว่าโฆษณา กลวงเปล่า ฉาบฉวย ขายฝันสีสันฉูดฉาด และชวนเชื่อ แต่พวกเขาเชื่อว่าโฆษณานี่แหละ ช่วยเปลี่ยนสังคมได้เช่นกัน

โฆษณาในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มักใช้ไอดอลและดาราที่กำลังป๊อปเป็นพรีเซนเตอร์ดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อสินค้า

ตรงข้ามกับ Ideot เอเจนซีโฆษณาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2015 พวกเขามีแนวทางไม่ค่อยจะเหมือนเอเจนซีส่วนใหญ่ในเกาหลีสักเท่าไหร่ เพราะประธานบริหารอย่าง Lee Seung-jae ตัดสินใจเลือกทางเดินที่แตกต่าง ด้วยการผลิตสื่อแก้ไขปัญหาสังคมแบบไม่ง้อเงินทุนจากใคร โดยทีมงานสละเวลาจากงานหล่อเลี้ยงบริษัทมาทำเรื่องรณรงค์สาธารณะโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อให้คนเกาหลีตระหนักและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองที่พวกเขาอาศัย ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนเรื่องใหญ่ๆ

“ผมเชื่อว่าโฆษณามีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการดึงดูดความคิดคน ดังนั้นแทนที่จะตั้งคำถาม ผมแค่คิดว่าจะทำยังไงเพื่อจูงใจสังคม โชคร้ายที่เราไม่รวย จึงบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนโลกใบนี้ไม่ได้ แต่ในสนามของความคิดสร้างสรรค์ พวกเรารวยแน่นอนครับ” ซึง-แจหัวเราะหลังพูดจบ

ช่วงที่กำลังพูดคุยกับซึง-แจ หมอกควันทึมเทากำลังปกคลุมทั่วโซล หมอกควันกลุ่มแรกคือมลพิษที่เกิดขึ้นเพราะฝุ่นเหลืองพัดพาจากจีนและมองโกล รวมถึงฝุ่นจากปัญหางานอุตสาหกรรมภายในและนอกประเทศ ส่วนหมอกควันกลุ่มที่สองคือปัญหาทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันและปกคลุมประเทศนี้อยู่

สำหรับมนุษย์ธรรมดาอย่างซึง-แจ เขาเชื่อว่าหมอกควันกลุ่มหลังจางหายไปได้ด้วยการทำงานโฆษณาที่เขารัก บรรทัดจากนี้ไปคือสิ่งที่เขาเชื่อและลงมือทำอย่างมุ่งมั่น

  • เชื่อว่าถ้าชี้ช่องทางที่ดีให้คน พฤติกรรมเปลี่ยนได้

ทุกเมืองมีด้านสีเทาของตัวเอง โซลก็เช่นกัน ท่ามกลางย่านแสงสีที่น่าหลงใหล เต็มไปด้วยผู้คน กลับเป็นพื้นที่เดียวกันกับพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะ

คนที่นี้รู้ว่าการทิ้งขยะเรี่ยราดเป็นปัญหาสาธารณะ แต่หลายคนเพิกเฉย สำหรับซึง-แจ เขาไม่อาจทน ชายหนุ่มหาสาเหตุและได้คำตอบของคนส่วนใหญ่ที่อ้างว่า ‘เพราะหาถังขยะไม่เจอ’ ซึง-แจตัดสินใจแก้ไขด้วยการทำสติกเกอร์พนักงานทำความสะอาดถนนที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มเล็กๆ ขนาด 23 เซนติเมตรเพื่อบอกตำแหน่งที่ตั้งของถังขยะ ทีม Ideot นำคนทำความสะอาดขนาดจิ๋วไปติดในพื้นที่ที่คนพลุกพล่านหลายที่ โดยเฉพาะที่ที่คนแออัดในชั่วโมงเร่งด่วน อย่างทางออกสถานีรถไฟมหาวิทยาลัย Hongik ทางออกของสถานี Hapjeong และสถานที่อื่นๆ รวมเป็น 6 สถานที่

“ผลที่ได้รับน่าประหลาดใจมาก พ่อค้าและนักสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบพื้นที่รอบๆ พบว่า 93% ของคนตอบแบบสอบถามระบุว่าปริมาณขยะที่ทิ้งบนถนนลดลง”

นอกจากการประเมินที่ซึง-แจเล่า ทีม Ideot ยังติดกล้องวงจรปิดในบริเวณที่แปะสติกเกอร์เพื่อเก็บปฏิกิริยาคนเดินผ่าน วิดีโอทำให้เห็นว่ามีหลายคนจะทิ้งขยะ แต่สติกเกอร์ทำให้พวกเขาเก็บขยะไปทิ้งลงถัง พิสูจน์ให้เห็นว่ามันทำงานกับคนได้จริง ยิ่งกว่านั้น โปรเจกต์นี้ได้รับความสนใจจากประชาชนจนเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นกระแสที่สำนักข่าวชั้นนำทั่วประเทศนำเสนอเรื่องนี้กันยกใหญ่

“ประเด็นในโฆษณาที่เราทำคือเรื่องความไม่สะดวกของการใช้ชีวิต บางครั้งมาจากการบ่นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เราทำโปรเจกต์นี้เพราะว่าเราเดินหนีจากปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่ในชีวิตไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขมัน”

การรณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นเรื่องง่ายที่ประเทศไหนก็ทำ แต่ Ideot ใช้ภาพพนักงานทำความสะอาดเตือนให้คนรู้สึกเห็นใจคนเก็บขยะมากขึ้น เพราะนอกจากการพกขยะไปทิ้งลงถังจะช่วยลดภาระของคนเก็บกวาดและหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ในภาพรวมยังทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นด้วย

  • เชื่อว่าการสร้างความเข้าใจ ช่วยให้คนมองทุกคนเท่าเทียมได้

ปีที่แล้ว Lonely Planet จัดให้โซลเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยว แต่อาจไม่ใช่เมืองที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานต่างชาติในระบบอุตสาหกรรมของเกาหลี เพราะการกระทำของนายจ้างเกาหลีต่อแรงงานต่างชาติ สะท้อนว่าสิทธิมนุษยชนอยู่ในขั้นตกต่ำ ทั้งการกดขี่ทำงานหนัก ค่าจ้างน้อย และไร้สวัสดิการ

เมื่อปีที่แล้ว มีข่าวแรงงานข้ามชาตินิ้วขาดระหว่างทำงาน ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้ซึง-แจเศร้าใจ เขาตัดสินใจทำโฆษณารณรงค์ให้คนเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

“แรงงานต่างชาติคือเพื่อนบ้านของเราเหมือนกัน ผมรู้สึกเศร้าที่ได้ยินว่าเขาสูญเสียนิ้วมือระหว่างทำงานอุตสาหกรรม แล้วหลังจากนั้นยังถูกยกเลิกการจ้าง เรื่องนี้ทำให้เราตัดสินใจทำโปสเตอร์มือที่ฉีกขาดขึ้นมา”

ในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล Ideot ร่วมงานกับ The Korea Support Center ทำโปสเตอร์มือข้างหนึ่งของแรงงานต่างชาติที่ฉีกขาด เพื่อสื่อว่าแรงงานเหล่านี้ต้องประสบกับความยากเย็นด้านการใช้ชีวิตในเกาหลี ทั้งแง่การสื่อสารและวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย รวมไปถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

ซึง-แจเล่าว่า “กรณีแรงงานอพยพต้องเสียนิ้วมือและถูกผลักไสออกไปจากประเทศของเราโดยที่ไม่มีการชดเชยใดๆ ยังมีอีกหลายเคสที่เป็นแบบนี้ ดังนั้นเราจึงอยากจะแสดงจุดยืนให้คนรู้ข้อเท็จจริงที่แรงงานชาวต่างชาติต้องเผชิญในทุกวันนี้”

บ่อยครั้งที่ประเด็นเรื่องสิทธิของแรงงานต่างชาติในเกาหลีไม่ได้รับการให้ค่า แต่โปสเตอร์ที่ Ideot ทำออกมาติดในสถานที่ต่างๆ ได้แสดงให้เราเห็นว่าอย่างน้อยยังมีสายตาของคนเกาหลีกลุ่มหนึ่งที่มองผู้ใช้แรงงานต่างชาติเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับพวกเขาอยู่

  • เชื่อว่าเรื่องเล็กๆ ควรให้รายละเอียด

แม้เป็นประเทศที่เจริญแล้ว แต่องค์ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจอีกครั้ง (CPR) ก็เป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจหลงลืมได้ ซึง-แจ เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญต่อการช่วยชีวิตเบื้องต้นในยามฉุกเฉิน เพราะหลายครั้งเราสูญเสียคนรักไปเพราะไม่รู้วิธีช่วยเหลือ

“เราทำเรื่องรณรงค์สำหรับ World First Aid Day (WFAD) ร่วมกับองค์กรกาชาดเกาหลี เพราะยังมีคนจำนวนมากไม่ได้ตระหนักถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างแท้จริง ผมคิดไอเดียตั้งต้นว่าจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนที่ทั้งง่ายและสนุก ด้วยการแปลไอเดียออกมาเป็นบอลลูนที่ใช้เชียร์ในสนามฟุตบอล”

บอลลูนใช้สำหรับเชียร์กีฬาที่ซึง-แจและทีมงานของเขาออกแบบมี 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพเด็กเต็มตัว และอีกชิ้นเป็นมือที่ประสานกันสองข้าง

ชิ้นที่เป็นภาพเด็กมีจุกเป่าลมบริเวณปากเป็นสื่อแทนการผายปอด เมื่อเราใช้ปากเป่าลมเข้าไปจะเป็นการจำลองว่าบอลลูนที่ฟูขึ้นมาเหมือนกับการหายใจและได้สติอีกครั้ง ส่วนชิ้นที่เป็นมือประสานเมื่อประกบเข้ากับอกของเด็กชายสื่อแทนการปั๊มหัวใจ

“นอกจากร่วมทำโปรเจกต์นี้กับองค์กรกาชาดเกาหลี Ideot ยังรณรงค์เรื่อง CPR โดยร่วมมือกับองค์กรกีฬาเบสบอลเกาหลีถึง 8 ทีม ทำให้ผู้ชมในสนามเบสบอลประมาณ 90,000 กว่าคน ได้รับประสบการณ์การช่วยเหลือเบื้องต้นจากแท่ง CPR ที่เราคิดค้นขึ้น ตอนนั้นมีหลายสื่อนำเสนอข่าวนี้แล้วได้รับความสนใจไปทั่วประเทศเลยครับ” ซึง-แจเล่าอย่างภูมิใจ

  • เชื่อว่าโฆษณาเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้

Ideot ไม่ได้ทำเพียงแค่แคมเปญเกี่ยวกับการทิ้งขยะให้เป็นที่ ไม่ได้ส่งเสริมแค่สิทธิความเท่าเทียมให้แรงงานต่างชาติ และไม่ได้แค่สร้างประสบการณ์เพื่อการช่วยเหลือคนที่หัวใจหยุดเต้นเท่านั้น แต่พวกเขายังรณรงค์ให้คนเกาหลีคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อนั่งรถบัส ให้ข้อมูลที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตประจำวันผ่านโฆษณาที่เป็นประโยชน์อีกหลายๆ ชิ้นเพื่อชูให้คนเมืองตระหนักถึงความปลอดภัยสาธารณะ สิทธิมนุษยชน และเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยความหวังว่าสังคมเกาหลีจะดีขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเชื่อมั่นว่าหลายสังคมและหลายองค์กรสาธารณะจะประยุกต์ใช้ไอเดียของเรารณรงค์เพื่อจะได้ส่งต่อแรงกระเพื่อมที่ดีบนโลกใบนี้ต่อไปครับ” ซึง-แจเล่าถึงความหวังบนทางข้างหน้า

จากผลงานโฆษณาและแคมเปญต่างๆ ของซึง-แจและทีมงาน Ideot ที่ตั้งใจทำมาโดยตลอด ทำให้พวกเขาคว้ารางวัลจากสถาบันต่างๆ มากมาย รวมถึงรางวัลใหญ่ในประเทศเมื่อปี 2017 จากเวที Korea Advertising Awards ที่พอจะทำให้พวกเขาหายเหนื่อยได้ และเป็นข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีคนมองเห็นจริงๆ

แม้หลายครั้ง แวดวงโฆษณาถูกมองว่ากลวงเปล่า ฉาบฉวย ขายฝันสีสันฉูดฉาด และชวนเชื่อเหล่าคนดู เท่าที่อำนาจของเครื่องมือนี้จะปั้นแต่งได้ แต่ศรัทธาของซึง-แจที่มีต่องานโฆษณากลับไม่ได้หมดไป เพราะเขามองว่าเราสามารถใช้พลังอีกด้านของโฆษณาแสดงศักยภาพที่ดีได้

“ผมเชื่อว่าโฆษณาเปลี่ยนชีวิตคนได้ หรือบางทีพลังของมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้เลย ดังนั้นโปรเจกต์ของเราจะยังทำต่อไป จนกระทั่งมันจะไม่จำเป็นหรือไม่ตอบโจทย์กับโลกใบนี้อีกต่อไปแล้วครับ” ซึงแจตอบอย่างจริงจัง

สิ่งที่ Ideot เชื่อและทำ อาจไม่ได้ส่งผลร้อยเปอร์เซ็นต์กับคนทุกคนในเกาหลี แต่สิ่งที่พวกเขาทำเป็นหลักฐานยืนยันว่าหากเราจะเปลี่ยนสังคม ใช่ การเริ่มทำด้วยตัวเองถูกต้องแล้ว แต่การส่งเสียงไปถึงเพื่อนร่วมสังคม และกระตุ้นให้คนจำนวนมากตระหนักและร่วมแก้ไขปัญหาต่างหาก คือพลังที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างของเมืองและประเทศที่เราอาศัยอยู่ได้อย่างแท้จริง

ติดตามผลงานของ Ideot เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ideot.co.kr

AUTHOR