พล็อตความสัมพันธ์ในเพลงของ PLOT

Highlights

  • เกือบสิบปีตั้งแต่เข้าวงการ วันนี้ PLOT ยังคงมองว่าตัวเองยังคงเป็นเด็กผู้ชายคนเดิม แต่รู้จักการแชร์และเห็นอกเห็นใจคนรอบข้างมากขึ้น ส่วนในพาร์ตเนื้อเพลงก็ยังคงเกรี้ยวกราดเหมือนเดิม แต่การเติบโตทำให้พวกเขาสื่อความหมายมันได้แม่นยำขึ้น
  • ไผ่เขียนเพลงจากคำพูดของผู้คนที่เขาทดไว้ในสมุด เมื่อต้องเรียบเรียง ไผ่จะมีไอเดียที่เขาอยากเล่ามาในใจแล้วหยิบจับท่อนหลัก และท่อนประกอบอื่นๆ เพื่อเติมให้เพลงสมบูรณ์ขึ้น โดยให้ความสำคัญกับบาลานซ์ความรู้สึกหนักและเบาของแต่ละท่อนของเนื้อเพลง
  • เพลงของวงส่วนใหญ่พูดถึงความรักและความสัมพันธ์ เพราะนักร้องหนุ่มถือว่าเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดในชีวิต และเพลงที่ดีของ PLOT คือเพลงที่ฟังแล้วต้องรู้สึกถึงแรงปรารถนาของคนทำในนั้น

“ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรใหม่ สุดท้าย…แม่งก็เก่าหมด”

ราวๆ ปี 2013 หนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์ Mary Is Happy, Mary Is Happy ที่ชื่อ ‘ไม่มีอะไรใหม่หรอก ทุกอย่างแม่งก็เก่าหมด’ เป็นที่พูดถึงในแวดวงคนฟังเพลง พร้อมๆ กับชื่อวงดนตรีเจ้าของเพลงอย่าง PLOT

แนะนำกันอย่างจริงจัง PLOT คือวงดนตรีโพสต์พังก์ที่ประกอบไปด้วย ไผ่–จิติวี บาลไธสง (ร้องนำ, กีตาร์) วิทย์–พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล (เบส) และปูน–พอพัฒน์ กิจไกรลาศ (กลอง)

ความดุเดือดในเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีเพียงสามชิ้นที่กินกันไม่ลง ความแปลกใหม่ที่พวกเขาหยิบยื่นให้วงการเพลงไทยผ่าน EP Album ที่ไม่ปรากฏชื่อในปี 2009 รวมกับเสียงลือหนาหูจากผู้ชมหน้าเวทีที่บอกว่า PLOT คือวงดนตรีที่เล่นสดได้เร้าใจสุดๆ ส่งให้พวกเขาเป็นที่พูดถึงในวงการเพลงอินดี้เกือบสิบปีที่ผ่านมา

เราขอเล่าย้อนเรื่องราวในอดีตสักนิด เส้นทางดนตรีของ PLOT เริ่มต้นจากไผ่และวิทย์เล่นดนตรีด้วยตอนมัธยม ไล่ยาวมาถึงชีวิตเด็กมหา’ลัยในรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ไผ่เริ่มแต่งเนื้อร้องโดยมีวิทย์และวง–ศตพล สันติวัฒนกุล (อดีตมือกลอง) คอยช่วยดูเรื่องดนตรี

เมื่องานเพลงบ่มเพาะจนได้ที่ พวกเขาสตาร์ทด้วยการทำแผ่นแจกคนฟังในเทศกาล Fat Festival ทำให้ได้เจอกับ Koichi Shimizu เจ้าของค่ายเพลงทางเลือก SO::ON Dry Flower ที่น่าจับตามากๆ ในยุคนั้น

แน่นอนว่าหนุ่มๆ วง PLOT ก็ได้รับโอกาสให้ก้าวสู่วงการดนตรีเต็มตัวอย่างที่พวกเขาตั้งใจ

คนรอบตัวเราที่ตกลงปลงใจเป็นแฟนเพลงของ PLOT ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความสามารถในรังสรรค์เนื้อเพลงที่สื่อความได้อย่างหนักแน่นและเต็มไปด้วยความสละสลวยของ PLOT ฝีมือของฟรอนต์แมนหนุ่มนั้นไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

น่าเสียดายที่หลังจากวันนี้ ทั้งสามหนุ่มประกาศพักวงเป็นเวลา 2 ปีเต็ม เนื่องจากไผ่ตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมที่ต่างประเทศ แต่ PLOT ก็ให้สัญญากับแฟนๆ ที่สนับสนุนพวกเขาอย่างเหนียวแน่นว่า PLOT ANON อัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของวงจะถูกปล่อยให้จับจองในเร็ววันนี้

ก่อนรอคอยให้ 2 ปีข้างหน้ามาถึง เราชวน ไผ่ วิทย์ และปูน มานั่งคุยกันหลังเวลาเลิกงานเพื่อทำความรู้จักตัวตนและบทเพลงของพวกเขาให้มากขึ้น

ความโรแมนติกที่พวกเขาจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ อาจเปลี่ยนความรู้สึกที่คุณมีต่อซาวนด์ดนตรีอันหนักหน่วงของวงโพสต์พังก์วงนี้ไปตลอดกาล

 

ได้ยินมาว่าหลังจากค่าย SO::ON Dry Flower ปิดตัว พวกคุณก็เอาเดโม่มาทำต่อ ทุกอย่างราบรื่นอย่างที่คาดคิดไหม

ไผ่ : มันไม่ได้แตกต่างจากเดิมเลยครับ เพราะตอนอยู่ SO::ON เขาไม่ได้ขีดกรอบพวกเราตั้งแต่แรก การทำเพลงเหมือนว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย โชคดีที่สมัยนี้อุปกรณ์ในการทำเพลงมันเป็นดิจิทัลมากขึ้น เราทุกคนสามารถทำโปรดักชั่นเพลงจบในบ้านได้เลย แต่จะมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัยของพวกเราเองมากกว่า

วิทย์ : คนที่มีวินัยน้อยสุดน่าจะเป็นเรานะ เหมือนทำงานประจำเราก็เหนื่อยมากแล้ว พอจะมาทำเพลงต่อเราก็มีข้ออ้างนู่นนี่นั่น มันเป็นสิ่งที่เพิ่งมารู้ช่วงหลังๆ นี้เองว่าเมื่อก่อนภาระมันตกไปอยู่ที่เพื่อนเราหมดเลย แต่ที่ผ่านมาเพื่อนก็ไม่ได้พูดอะไร เราโตขึ้นแล้วรู้เองมากกว่า โชคดีที่วงยังไม่แตก เราว่าเวลาเป็นเรื่องที่เป็นปัจจัยสำคัญพอๆ กับเรื่องเงิน แต่วงเราไม่มีปัญหานี้แน่ๆ เพราะวงเราไม่มีเงิน (หัวเราะ)

พอยุ่งกับงานประจำขนาดนั้น เคยมีแวบหนึ่งที่อยากเลิกเล่นดนตรีบ้างไหม

วิทย์ : ไม่มีนะ เรายังรู้สึกอยากเล่นมันต่อ เพราะเราเล่นมันมาตั้งแต่เด็ก ดนตรีมันสนุกที่สุดแล้ว มุมหนึ่งเรามองว่ามันเป็นอาชีพเหมือนกัน นักดนตรีก็คือคนขายความสุข แต่อย่างปูนเนี่ย เลิกเล่นดนตรีไม่ได้หรอก เพราะเขาเป็นคนเดียวในวงที่เรียนดนตรีมา

ปูน : ตอนเด็กๆ เราไม่ค่อยตั้งใจเรียน เล่นฟุตบอล ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน พอตอนเข้ามหา’ลัย เราไปสอบกลองที่ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากนั้นก็ตีกลองมาตลอด

ตอนนี้เรามีอาชีพเป็นนักดนตรี เล่นแบ็กอัพให้เอิร์ต ภัทรวี เล่นกลางคืนตามร้านบ้าง เรามีวงแจ๊สที่เล่นด้วยกันอยู่ วง PLOT ก็เป็นอีกแนวหนึ่งที่สุดทางมากเหมือนกัน เราโชคดีมากที่มีโอกาสได้เล่นอะไรหลากหลาย

ไผ่ : เรื่องดนตรีเราคิดว่าพอได้เริ่มแล้วมันไม่มีใครหยุดเล่นได้หรอก เราอาจจะแก่แล้วแต่ก็ยังมีความเป็นเด็กที่อยากจะเล่นดนตรีตลอดเวลา เราไม่เคยถามคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน เราคงเล่นมันไปตลอด เหมือนเป็นบันทึกอีกแบบหนึ่งว่าเราในวัยนี้ทำอะไรไปบ้าง ในเส้นทางนี้เราไปไกลได้ขนาดไหน

วันนี้พวกคุณคงรู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้นจาก EP แรกมากๆ ถ้ามองย้อนกลับไป คุณมองเด็กชาย PLOT ในวันนั้นเป็นเด็กยังไง

ไผ่ : มันยังมีเด็กคนเดิมอยู่ในเพลงใหม่อยู่ แต่สิ่งที่มีมากกว่าเดิมคือเรารู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เรามองว่าการโตขึ้นคือการรู้จักแชร์มากขึ้น แล้วมันก็ส่งผลมาถึงเพลงของเราด้วย เพราะเราเริ่มแชร์ไอเดียกับเพื่อน เราเลือกจะมองโลกและสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อที่จะมองเห็นคนอื่นมากขึ้น คนก็น่าจะสัมผัสได้จากเนื้อเพลงและดนตรี

ถ้าถามว่าเราดีกว่าเดิมมั้ย เราว่าดีกว่าเดิมเยอะมากนะ อย่างน้อยมันก็เป็นเหมือนบันทึกว่าเมื่อก่อนเราเวรขนาดไหน จะว่าไปเราก็อยากกลับไปตบหัวเด็กคนนั้นเหมือนกัน (หัวเราะ) มันดูเป็นเด็กที่ไม่เห็นใจใครเลย

ทุกๆ สองสามปีที่โตขึ้นเราก็พยายามทบทวนตัวเองว่าเป็นยังไงบ้าง พอเห็นอะไรมากขึ้นเราก็จะรู้ว่าเราควรพัฒนามันต่อไปยังไง

ส่วนตัวเรารู้สึกว่าเพลงของ PLOT ตอนนั้นเกรี้ยวกราดมากๆ เลยนะ

ไผ่ : เหรอ เราว่าตอนนี้เกรี้ยวกราดกว่าเดิมอีก แต่เนื้อหาเราแม่นยำขึ้น เรามองว่าเพลงเมื่อก่อนมันแค่ดาร์กแต่มันยังไม่แม่นยำ การที่เราผ่านการเคลียร์ตัวเองมาบ้างนี่แหละจะทำให้ทุกอย่างดูรุนแรงและเข้าไปถึงใจได้มากกว่า

เคยรู้สึก ‘ไม่อินแล้ว’ หรือ ‘ไม่น่าทำแบบนั้นเลย’ กับเพลงเก่าๆ ของตัวเองบ้างมั้ย

ไผ่ : ตลอดเวลา ถ้าคุณได้มาดูโชว์เรา คุณน่าจะรู้สึกว่าพวกเราเรียบเรียงเพลงใหม่ตลอดแล้วก็พยายามเลือกอันที่มันฟังแล้วดูเมคเซนส์มากที่สุด ไม่ใช่ว่าอันเก่าไม่ดีนะ แต่เราอยากปรับให้มันโตขึ้นตามวัยเราด้วย อยากเล่นอันที่มันน่าสนใจว่า เราถึงจะกล้าเล่นในแบบที่ไม่อายมือเรา

สรุปได้ไหมว่า PLOT ไม่ได้เชื่อว่าทุกงานที่ทำมันดีที่สุดแล้วในเวลานั้น

ไผ่ : เมื่อก่อนเราคิดแบบนั้น แต่อีกครึ่งหนึ่งเราก็ทดไว้เสมอว่ามันเป็นแค่อีกออพชั่นหนึ่งของเพลงๆ นี้ เราคิดเสมอว่าถ้าเราโตขึ้นเราก็อยากพัฒนามันต่อไปอีก ความโชคดีของดนตรีคือเราสามารถดีไซน์และเล่นมันขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ แต่ถ้างานดีไซน์อย่างสถาปัตยกรรม พอได้สร้างขึ้นมาแล้วไม่ว่ายังไงมันก็จะอยู่อย่างงั้นตลอดไป

ไผ่กับวิทย์ทำงานดีไซน์ เมื่อมองงานดนตรีแล้ว สองสิ่งนี้ส่งเสริมกันยังไง

วิทย์ : การทำงานดีไซน์ทำให้เรามีเวลาฟังเพลงเยอะ ตอนนั่งทำงานเราฟังเพลย์ลิสต์ใน Spotify หรือ Apple Music ไปเรื่อยๆ เพลงมันจะแล่นเข้าหัวเราตลอดเวลา

เราเชื่อว่าในทุกงานต้องมีความจดจ่อบางอย่างอยู่ เราเป็นสถาปนิกเราต้องจดจ่อในเรื่องความคิด คือเราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราออกแบบมามันสวยสำหรับคนอื่นรึเปล่า งานดีไซน์มัน subjective มากๆ จะให้เราโทรไปถามลูกค้าตอนตีสองก็ไม่ได้ เพราะงั้นเราก็ต้องจดจ่อกับงานไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเพลย์ลิสต์ก็รันไปเรื่อยๆ เพลงเลยกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเราตลอดเวลา หลายคนคงเป็นเหมือนกัน

ไผ่ : เราชอบฟังเพลงของ Philip Grass มากเวลาที่คิดงานไม่ออก การทำงานดีไซน์มันทำให้เราอึด เราไม่ยอม เราจะสู้เพื่อสิ่งที่เราคิดว่ามันคือ beautiful thing นี่คือสิ่งที่งานดีไซน์สอนเรา แล้วเราก็เอามาใช้กับดนตรีได้

สำหรับเราสิ่งที่ทั้งคู่มีเหมือนกันคือเราต้องมีแรงปรารถนา มีแพสชั่นที่จะทำมันก่อน เราว่ามันเป็นสิ่งที่คนฟังฟังออกนะ เพลงที่เราไม่เคยรู้สึกอยากฟังเลยคือเพลงที่เราไม่รู้สึกถึงแรงปรารถนาในนั้น ในหนังดีๆ สักเรื่อง งานดีไซน์ หรืองานอะไรก็ตาม เราว่ามันมีสิ่งนี้อยู่

ทุกเพลงของ PLOT เริ่มต้นจากไผ่ เล่าให้ฟังได้ไหมว่าคุณเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่

ไผ่ : ถ้าจำไม่ผิดเพลงแรกที่แต่งคือ 5 Years ตอนนั่งรถเมล์สองต่อจากบ้านตัวเองไปบ้านวิทย์ ปกติเราจะพกสมุดเอาไว้ทดไอเดียคร่าวๆ แล้วค่อยสเกตช์ต่อจากอันนั้น แต่หลักๆ เราจะชอบเก็บคำพูดของคน ฟังว่าเขาพูดอะไร ถ้าจดทันก็จดไว้ เราว่ามันดูจริงมาก คำพูดคนจริงๆ มันจะเคลียร์ พูดจบปุ๊บเข้าเนื้อหาได้เลย ไม่มีคำเชื่อมแบบที่ ซึ่ง อัน ความ หรือคำขยายที่ไม่จำเป็น หลายๆ เพลงที่เราแต่งก็มาจากคำพูดคนรอบตัวจริงๆ

คุณประกอบคำพูดพวกนั้นให้ออกมาเป็นเพลงได้ยังไง

ไผ่ : เราน่าจะทำเหมือนทุกๆ คนแหละ คือมีคีย์เวิร์ดของสถานการณ์ที่อยากเล่ามาประกอบก่อน อาจไม่ต้องเป็นประโยคที่ต่อกันได้เป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์ พอมีชิ้นหลักแล้วค่อยหาชิ้นอื่นๆ เข้ามาเสริม อย่างเพลง ผูกพันฆ่าคุณ ท่อนที่ร้องว่า ‘หากคุณเห็นผมไม่หายใจอยู่ปลายบันไดหนีไฟ’ มันเป็นกิมมิกที่เราตั้งใจใส่เข้าไปเพื่อให้เพลงมันดูรุนแรงขึ้น อันนี้ผมเอามาจากเจ้านายเก่า เขาบอกว่าผู้รับเหมาแย่มาก ถ้าเจอคนตายที่บันไดหนีไฟไม่ต้องตกใจนะ เป็นฝีมือเขาเอง (หัวเราะ)

เราสนใจว่า element ที่เราเลือกมาใส่ในเพลงมันให้ประสบการณ์ยังไงมากกว่า เราให้ความสนใจกับสัดส่วนของคำ อันนี้ให้ความรู้สึกแรง อันนี้ให้ความรู้สึกผ่อน แล้วค่อยหาบาลานซ์ เราว่ามันทำให้การตีความหมายเพลงมันไปได้ไกลตามประสบการณ์ของแต่ละคน

แต่ถ้าให้เราตีความความหมาย เพลงของ PLOT ส่วนใหญ่จะเบสที่ความรัก

ทำไมคุณเลือกที่จะพูดถึงเรื่องพวกนี้

ไผ่ : ก็เราอิน เรามีความรักไง (หัวเราะ) เหมือนที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าเราเป็นคนเลวร้าย การที่เราได้เจอคนที่เปลี่ยนชีวิตเราได้ เราจะรู้สึกบูชาเขาและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเขามากๆ เราก็เลยอยากเขียนถึง

ถ้าถามว่าชีวิตเราให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด แม้แต่งานดีไซน์ เราก็ชอบงานของ Charles & Ray Eames (คู่รักนักออกแบบชาวอเมริกัน) มาก เพราะเรารับรู้ถึงความรักในทุกงานที่พวกเขาทำ เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เพราะมันทำให้เราโตขึ้น ความรักมันมีอยู่ในทุกๆ อย่าง เราเชื่อแบบนั้น

กลับมาที่ขั้นตอนการทำเพลง หลังจากที่ไผ่เขียนเนื้อแล้ว พวกคุณทำยังไงกับมันต่อ

ไผ่ : พอเขียนเสร็จ เราก็อัดเป็นเดโม่ง่ายๆ มีกลอง มีคอร์ด แล้วก็ลองเล่นกับเพื่อนในห้องซ้อม ถ้าไม่เวิร์กก็ปัดตกไป แต่พอมาช่วงหลังๆ ก็มีน้องเต๊นท์ Summer Dress มาช่วยดูระหว่างทาง พอหลายๆ อย่างเริ่มเข้าที่แล้วค่อยส่งให้วิทย์กับปูนมาช่วยเติมในตอนท้ายๆ

ปูน : ผมว่าจริงๆ แล้ววง PLOT คือพี่ไผ่คนเดียวเลยครับ ถ้าวงไม่มีพี่ไผ่ ผมว่ามันไม่ใช่ PLOT เลย เพราะเขาจะคิดทุกอย่างมาก่อน สมมติเขาบอกว่าอยากได้กลองประมาณนี้ เบสประมาณนี้ อันไหนใช้ไม่ได้เขาจะเปลี่ยนเอง

ถ้าคนอื่นมาตีกลองแทนผม ยังไง PLOT ก็ยังเป็น PLOT จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อก่อนผมแทบไม่รู้เลยว่า PLOT คืออะไร แต่พอทำเพลงและเล่นกับพี่ๆ ไปเรื่อยๆ อะไรที่พี่ไผ่บอกว่ามันโอเค พอลองฟังเองแล้วเราก็เห็นด้วยจริงๆ ว่ามันดี รวมทั้งฟีดแบ็กจากคนข้างนอกด้วย

วิทย์ : เวลาไผ่ทำเนื้อเพลงมา เราก็อยากให้ไผ่ push อย่างเต็มที่ไปเลย ส่วนเราเป็นเหมือนคนที่ช่วยทำให้เพลงมันเต็ม ไผ่จะเป็นเหมือนคนที่คอยมองภาพรวมของมันเสมอ เป็นคนที่เข้าใจว่าเพราะอะไรมันยังไม่ดี ตรงไหนที่ขาด เขามักจะเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น พวกเราก็จะช่วยส่งเข้าไป

ปูน : เราจะไม่ยุ่งกับเนื้อเพลงเลย พี่ไผ่ทำคนเดียวทั้งหมด มันจะมีเพลงที่ตอนซ้อมเราจะไม่รู้เลยว่าเพลงมันร้องว่าอะไร มารู้เนื้อเพลงอีกทีก็คือตอนปล่อยเพลงในยูทูบแล้ว (หัวเราะ)

ในฐานะวงดนตรีที่มีคนฟังเฉพาะกลุ่ม ลึกๆ แล้วอยากทำให้เพลงของเราดังกว่านี้ไหม

ไผ่ : แน่นอนดิวะ เราว่าใครทำอะไร ครึ่งหนึ่งก็คงอยากให้งานได้รับความสนใจและได้ผลตอบรับที่ดีกลับมา

แต่ถ้าถามว่าเราแคร์คนฟังขนาดนั้นเลยรึเปล่า เราอาจจะไม่ได้สนใจเท่าไหร่ ตอนคิดงาน เราคิดแค่ ‘เรากับเพลง’ เราไม่คิดถึงคนอื่น ส่วนหนึ่งมันคงเป็นเพราะเราไม่ได้ทำเพลงในสเกลใหญ่ที่เพลงต้องตอบแทนเรากลับมาเป็นเม็ดเงินมากขนาดนั้น เราเลยสามารถทำงานที่ซื่อตรงและซื่อสัตย์ต่อตัวเองได้อยู่

วิทย์ : เราว่ามันเป็นความเคยชินมากกว่า ตั้งแต่เข้าไปอยู่ในค่ายของโคอิชิเราเหมือนเด็กที่ถูกสปอยล์ เขาไม่เคยแก้งานอะไรเราเลย ยกเว้นเรื่องวิธีการเล่นกับวินัย ที่เหลือพวกเราก็ขวนขวายมันมาด้วยตัวเองพอสมควร พอออกจากค่ายมาทำงานเองปุ๊บเราแทบไม่ฟังใครเลย เราไม่ได้แกล้งทำเป็นไม่สนใจนะ แต่เป็นเพราะว่ามันไม่มีใครให้เราต้องสนใจ มันอาจจะเป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้วที่เป็นแบบนี้

พวกคุณนิยาม ‘งานที่ดี’ และ ‘ความรักที่ดี’ ว่ายังไง

ไผ่ : งานที่ดีต้องมีสัดส่วนที่สวยงาม เวลามองงานที่ดีเราจะเห็นความคิดเบื้องหลังว่าเขาคิดอะไรอยู่ ไม่ว่ารูปแบบของมันจะราบเรียบ รุนแรง หรือหวือหวามาก อย่างที่เราบอกไปว่างานที่ดีมักมีแรงปรารถนาอยู่ในนั้นเสมอ

ส่วนความรักที่ดี เราว่ามันก็เหมือนกันนะ เราอาจจะไร้เดียงสาเกินไปกับความรักแบบนี้ ความรักสำหรับเรามันคือการบาลานซ์ระหว่างคนสองคน มันคือการซัพพอร์ต การแชร์กัน ถ้าเราไม่แชร์กันเราอาจจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เราพูดในฐานะคนที่แชร์ได้ห่วยแตกมาก เราเลยพยายามเรียนรู้มันอยู่ แล้วก็หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็นคนรักที่ดีขึ้นนะจ๊ะ (หัวเราะ)


5 บทเพลงที่ PLOT อยากให้คุณลองฟัง

01 เพราะคุณ เราเขียน

ไผ่ : เราชอบท่อนที่ร้องว่า ‘เรายังใหม่กับชีวิต’ เป็นประโยคที่โคตรพลังที่เราได้จากแม่ แล้วอีกท่อนคือ ‘หยุดตามหาที่นี่ปลอดภัย’ เวลาที่เราอยู่กับใครสักคนหรืออยู่ที่ไหนแล้วเรารู้สึกว่าปลอดภัย เราว่ามันเป็นจุดประสงค์ของความรัก และเป็นที่สุดของความสบายใจแล้ว

ความจริงเราเขียนเพลงนี้ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากร ในเพลง ศิลปากรนิยม เราชอบท่อนที่ร้องว่า ‘มะมา เรามารื่นเริง’ มาก ฟังแล้วรู้สึกว่าคนเขียนเพลงนี้เก่งมากเลย เราเขียนเพลงนี้เพื่อทริบิวต์ให้ช่วงเวลานั้น รวมถึงทริบิวต์อีกหนึ่งเพลงโปรดของเราคือ ลมเพลมพัด ของมาลีฮวนน่า แล้วเราก็ใส่เรื่องความรักในงานที่ตัวเองทำเข้าไปในเพลงด้วย


02 ให้แม่และคุณ

ไผ่ : นี่เป็นเพลงที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ที่เรารู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นแล้ว เข้าใจเรื่องความรักมากขึ้น ความหมายของมันคือ ครึ่งหนึ่งให้แม่ อีกครึ่งหนึ่งให้คุณ ตามนั้นเลย ชีวิตเราจะต้องมีอะไรมากกว่านั้นอีก

การตีความ ‘คุณ’ ในเพลงนี้ เป็นได้ทั้งคนของเรา และอาจหมายถึงใครก็ได้ที่เป็น ‘คุณ’ ของคุณ (คนฟัง) เพื่อที่เราจะได้เป็นเจ้าของเพลงนี้ร่วมกัน


03 คุณ, คนรัก

ไผ่ : อันนี้เป็นโปรเจกต์เดี่ยวของเราเองครับ พอใช้ดนตรีอีเล็กทรอนิกเราคิดว่าเราแยกออกมันมาจาก PLOT ดีกว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่เล่าเรื่องราวช่วงหนึ่งในชีวิต เราเริ่มเขียนมันตอนน้ำท่วมปี 54 ที่เป็นช่วงที่เมืองมันเพี้ยนไปหมดเลย น้ำท่วมถนน คนใช้เรือบนถนน สะพานที่เคยมีรถผ่านกลายเป็นที่จอดรถ ทุกอย่างมันฟรีซไปหมด ในความน่าเศร้าบางทีมันก็ก่อให้เกิดเรื่องที่น่าจดจำได้เหมือนกัน


04 หญิงมหัศจรรย์

วิทย์ : เราชอบเพลงนี้สุดใน EP แรก อย่างแรกเราชอบวิธีการของมัน ช่วงนั้น Wonder Girls ฮิตมาก ท่อนแรกของเพลงที่ร้องว่า ‘ไม่มีใคร ไม่มีใคร แล้วคุณ…’ มันคือ nobody nobody but you เลยครับ

อย่างที่สองมันเป็นเพลงที่เล่นโคตรมันเลย วิธีการร้องของไผ่ไม่ได้มีโน้ตอะไรขนาดนั้น แรปอย่างเดียว ไผ่ก็คอนเซนเทรตกับการร้องไป กีตาร์ของไผ่ก็เป็นนอยซ์ไปเรื่อยๆ มีเบสที่เล่นโน้ตอยู่ตัวเดียว เพราะงั้นเราจะเล่นอะไรก็ได้ นึกออกใช่มั้ย (หัวเราะ) ทุกวันนี้ที่เล่นก็ยังลุ้นว่าเล่นถูกหรือเปล่า มีความไม่มั่นใจทุกครั้งที่ได้เล่น แต่ก็ชอบนะ


05 ไม่มีอะไรใหม่หรอก ทุกอย่างแม่งก็เก่าหมด

ปูน : เป็นเพลงแรกที่ผมได้เข้ามาอัดกับ PLOT ครับ ถ้าลองฟังดีๆ จะรู้สึกว่าดนตรีตอนแรกๆ มันจะแปลกๆ แล้วพอหลังๆ ดนตรีมันจะวนลูปหนักเลย ไปกับชื่อเพลงที่บอกว่าไม่มีอะไรใหม่หรอก ทุกอย่างมันก็เก่าหมด

มีคนรู้จักพวกเราเยอะขึ้นเพราะเพลงนี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Mary Is Happy, Mary Is Happy ของ พี่เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จริงๆ PLOT เองก็ได้แรงกระตุ้นจากพี่เต๋อเยอะเหมือนกันครับ มีหลายครั้งที่เขาพูดถึงเราบนเฟซบุ๊ก แชร์เพลงของเรา หรือแชร์ว่าเมื่อไหร่จะทำเพลงเสร็จ (หัวเราะ) เป็นผู้มีพระคุณของเราเลยครับพี่เต๋อเนี่ย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด