บัคเก็ตลิสต์ก่อนตายและความหมายของชีวิตที่ ‘ไอซ์ซึ ณัฐรัตน์’ เรียนรู้จาก One for the Road

เรามาพบ ไอซ์–ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ หรือ ‘ไอซ์ซึ’ ด้วยคำถามชุดใหญ่ว่าด้วย One for the Road หนังใหม่ของ บาส–นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่เขาแสดงนำ และได้ผู้กำกับดังอย่าง หว่องกาไว มานั่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์

ไอซ์ซึนัดเราที่บ้านของเขาในบ่ายของวันแดดจ้าวันหนึ่ง เขาปรากฏตัวในชุดเสื้อเชิ้ตสีเขียวเข้ากับบรรยากาศบ้านที่ร่มรื่น สงบ และเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ก้าวเข้าบ้านไม่ทันไร ไอซ์แนะนำให้เรารู้จักกับแมวสองตัวที่วิ่งมาต้อนรับ ตัวแรกพันธ์ุอเมริกันชอร์ตแฮร์ชื่อ ‘เอพริล’ อีกตัวเป็นพันธุ์เมนคูนชื่อ ‘ตัวโต’ ที่ตัวโตสมชื่อ

สิ่งที่เราจะไม่มีวันรู้เลยถ้าไม่ได้สนทนากันคือไอซ์แพ้ขนแมว แต่ถึงจะออกตัวอย่างนั้น ชายหนุ่มก็ยังอุ้มมันขึ้นมาเล่นอย่างสนุกสนาน อาจเพราะสำหรับเขา เจ้าสองตัวนี้คือสิ่งสำคัญที่ตอนนี้มีความหมายกับเขาพอๆ กับบ้าน แฟน ครอบครัว และการแสดงที่เขาหลงใหล

หลายคนอาจรู้จักไอซ์ในฐานะนักแสดงมากฝีมือคนหนึ่งของเมืองไทย ถ้าใครติดตามเขาตั้งแต่ แก๊สโซฮัก..รักเต็มถัง ผลงานเดบิวต์บทพระเอกครั้งแรกกับค่าย GDH จนถึง Voice สัมผัสเสียงมรณะ ซีรีส์รีเมกที่ไอซ์เล่นเป็นฆาตกรโรคจิต คงรู้กันดีว่าบทบาทของไอซ์ในแต่ละเรื่องนั้นจัดจ้านและหลากหลาย หากแต่ละเรื่องล้วนขับเคี่ยวให้เขาพัฒนาฝีมือจนใครหลายคนยกให้ไอซ์เป็นนักแสดงเบอร์ต้นๆ ของวงการบันเทิงไทย

One for the Road ผลงานล่าสุดคือความท้าทายครั้งใหม่ของไอซ์ที่คนดูอย่างเราตื่นเต้นตาม เพราะเขารับบท ‘อู๊ด’ ชายหนุ่มที่ป่วยเป็นมะเร็งผู้มี bucket list คือการเดินทางไปพบแฟนเก่า (ส์) เพื่อขอโทษ ขอบคุณ และบอกลา โดยขอให้บอส (ต่อ–ธนภพ ลีรัตนขจร) เพื่อนสนิทไปด้วยกันด้วยเหตุผลบางอย่าง

“หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิต ความรัก มิตรภาพ ความสัมพันธ์ ความรู้สึกผิด และความหมายของชีวิต เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนมี” เขาอธิบายอย่างย่นย่อ พร้อมอุบว่าที่เหลือต่อจากนั้นให้ไปติดตามในโรงหนังเองดีกว่า

เราพยักหน้าอย่างเข้าใจ ไม่ได้รู้สึกผิดหวัง อันที่จริงดีใจนิดๆ ด้วยซ้ำกับใจความที่เขาสรุปให้ฟัง

เพราะนอกจากหนัง ใจความเหล่านั้นคือเรื่องที่เราอยากคุยกับเขา

คนทั่วไปมักจะจำคุณได้ในฐานะนักแสดงมากฝีมือคนหนึ่ง แล้วจริงๆ ไอซ์ที่ไม่ได้อยู่บนจอเป็นคนยังไง

ถ้าเป็นตอนนี้ เรารู้สึกว่าเป็นคนอยู่ไม่สุข (หัวเราะ) ตื่นมาก็จะพยายามหาอะไรทำตลอดเพื่อไม่ให้ตัวเองอยู่เฉยๆ ถึงแม้กิจกรรมที่เราทำจะเป็นการนั่งนิ่งๆ อย่างนั่งสมาธิ เราก็รู้สึกดีที่อย่างน้อยเราได้ทำอะไรแล้ว

อีกอย่างที่ชอบมากคือดูหนัง พอได้ทำงานเกี่ยวกับการแสดงก็ยิ่งทำให้เราดูหนังในหลายมุมมองมากขึ้น ดูเพื่อศึกษา ดูเพื่อประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับงานของเราเอง

หนังเรื่องล่าสุดที่ดูแล้วรู้สึกชอบคือเรื่องอะไร

The Tragedy of Macbeth เป็นโปรเจกต์ที่เรารอมานานมาก เพราะเป็นบทละครชื่อดังของ William Shakespeare ซึ่งมาอยู่ในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับที่เราชื่นชอบอย่าง Joel Coen มีนักแสดงนำเก่งๆ อย่าง Denzel Washington, Frances McDormand และคนที่ผมประทับใจ Kathryn Hunter ที่รับบทเป็น Witches พอดูจบก็ทึ่งไปกับองค์ประกอบทั้งหมดของหนัง โดยเฉพาะการแสดงในเรื่องที่เราเหมือนได้ดู master class of acting เลย

ฟังดูแล้วไอซ์เนิร์ดเรื่องการแสดงมากเลย ความเนิร์ดของคุณมันเริ่มต้นมาจากไหน

น่าจะเริ่มตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราชอบเล่นเกม พอเล่นแล้วก็สนุกและอยากเล่นให้เก่งที่สุด ชอบศึกษาว่าจะเล่นยังไงให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด จนวันหนึ่งเกมที่เราเล่นเขามีจัดการแข่งขัน เราก็อยากได้แชมป์ เลยไปฟอร์มทีมกับเพื่อนและทุ่มเทเวลาทั้งหมดในช่วงนั้นจนเราและเพื่อนทำได้สำเร็จ ถ้าให้มองโดยภาพรวม ความเนิร์ดของเราน่าจะเริ่มมาจากความชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอเราชอบก็เลยใส่ใจกับสิ่งนั้น สนุกไปกับมัน จนมารู้ตัวอีกทีสิ่งนั้นก็กลายมาเป็นสิ่งที่เรารักไปแล้ว

ตอนเด็กๆ ไอซ์เป็นเด็กแบบไหน

เป็นเด็กที่ตามใจตัวเอง ถ้าเราอยากทำอะไร ใครจะพูดอะไรหรือกำหนดกฎเกณฑ์ยังไง เราไม่สน อย่างในโรงเรียนถ้ามีกฎระเบียบอะไรที่เราไม่เห็นด้วยเราก็จะไม่ทำ เช่นถ้าครูบอกให้ต้องตัดผม เราไม่ตัด ถ้าบังคับให้ตัดอีกก็จะตัดทรงที่กวนๆ เขา (หัวเราะ) เป็นเด็กที่ทำอะไรตามใจตัวเองคนหนึ่ง

มองย้อนกลับไป การตามใจตัวเองตอนนั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี

มันก็มองได้ทั้งดีและไม่ดีนะ ตอนนั้นเราหัวชนฝามาก ไม่ทำคือไม่ทำ อยากทำอะไรก็ทำแบบไม่แคร์ด้วยว่าผลลัพธ์ที่ตามมามันจะเป็นยังไง ซึ่งถ้ามองในมุมที่ดี การเป็นคนสุดโต่งมันทำให้เราเป็นคนกล้า กล้าที่จะทำสิ่งที่เราเชื่อ แล้วไอ้สิ่งนี้แหละที่ทำให้เรามีวันนี้

รู้มาว่าก่อนจะมาเป็นนักแสดงแบบทุกวันนี้ คุณเคยไปทำงานนายแบบที่เกาหลีมาด้วย บทบาทนั้นเริ่มต้นตอนไหน

เราเคยเป็นนายแบบที่ไทยมาก่อน ทำอยู่ประมาณ 5 ปีแล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่วงการแฟชั่นในไทยฮิตการใช้งานนายแบบชาวต่างชาติ แล้วงานเราก็น้อยลง ทั้งๆ ที่นายแบบพวกนั้นลุคคล้ายเรา บางทีเป็นคนเกาหลีที่บินมาทำงานที่ไทย ตอนนั้นเราก็เหมือนโดนชาวต่างชาติแย่งงาน แล้วก็รู้สึกว่าไม่ได้สิ เราแพ้ชาวต่างชาติไม่ได้ ก็เลยลองส่งพอร์ตฟอลิโองานที่เคยทำไปให้เอเจนซี่นายแบบในหลายๆ ประเทศ

ปรากฏว่าภายในสัปดาห์เดียวก็มีคนตอบรับมาหลายชอยส์ สุดท้ายก็เลือกเกาหลีเพราะตอนนั้นวงการแฟชั่นเกาหลีมาแรงมาก นายแบบเกาหลีไปเป็นนายแบบระดับโลกกันเยอะ เราลองไปออดิชั่นแล้วก็ได้รับเลือกเข้าสังกัดชื่อ Agency Garten ที่มีเด็กในสังกัดแค่ 15 คน เราเคยถามเขาว่าทำไมถึงรับเรา เขาบอกมาสองคำคือ passion (ความคลั่งไคล้) กับ wonder (ความสงสัยใคร่รู้) การที่เราแสดงออกว่าอยากทำมันมากๆ ตอนออดิชั่นทำให้เขาเห็น potential ของเรา เพราะว่าสุดท้ายแล้วนายแบบที่เกาหลีก็หน้าตาคล้ายๆ กัน มีนายแบบบางคนที่สูงกว่าเรา หล่อกว่าเรา แต่เขาบอกว่าเวลาทำงานมันจะไม่ได้แข่งกันตรงนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องแข่งกันคือคุณรักสิ่งที่ทำมากขนาดไหน เพราะว่าถ้าคุณรัก มันจะทำให้คุณเก่งขึ้น ได้ทุ่มเทกับการฝึกฝนตัวเองมากขึ้น

จากตอนแรกที่แค่อยากได้งานให้รู้ว่าเราสู้คนต่างประเทศได้ แต่พอเข้าไปแล้วเจ้าของสังกัดถามว่าเรามีเป้าหมายอะไรบ้าง เราก็งง คืออะไรวะ เพราะเราเข้ามาด้วยความอยากพิสูจน์ตัวเองแค่นั้น (หัวเราะ) เราเลยกลับมาคิดดูว่าจริงๆ แล้วอยากทำอะไร แล้วได้คำตอบว่าอยากถ่ายแบบในนิตยสารที่นายแบบดังๆ ได้ถ่ายกัน อย่าง OhBoy!, Esquire, GQ อยากเดินแฟชั่นโชว์ดังๆ ที่ใครได้เดินคือดีมาก ก็มีนิตยสารประมาณ 10 เล่มกับแฟชั่นโชว์ที่เราชอบอีก 3 โชว์ ก็ได้ทำทั้งหมดเลย

ทั้งๆ ที่เส้นทางการเป็นนายแบบที่นั่นดูไปได้สวย ทำไมถึงเลือกกลับมาประเทศไทย

มีเหตุผลสองข้อ ข้อแรกคือเรารู้สึกอิ่มตัวเหมือนตอนทำงานนายแบบที่เมืองไทย พอทำไปได้ 2-3 ปีมันก็เริ่มวนแล้ว ถ่ายแบบให้เล่มเดิมๆ ข้อที่สองคือเราอยู่ห่างบ้าน ห่างแฟน และสิ่งที่เราอยากทำก็ได้ทำหมดแล้ว สุดท้ายเราเลยเลือกไม่ทำงานที่นั่นต่อแล้วกลับเมืองไทย

ตอนไหนที่จุดประกายให้คุณอยากเป็นนักแสดง

ตอนอยู่เกาหลีเราเคยได้งานมิวสิกวิดีโอกับโฆษณา จริงๆ ก่อนหน้านั้นที่อยู่ไทยเราก็เคยไปแคสงานภาพเคลื่อนไหวแต่ไม่เคยได้ เราก็คิดว่ามันคงไม่ใช่ทางเรา แต่พอได้เล่นเอ็มวีกับโฆษณาที่เกาหลี มันทำให้เรามองว่าเราก็ทำได้เว้ย ก็เลยจุดประกายมาตั้งแต่นั้น พอกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่เมืองไทยเราเลยอยากลองไปสายที่เราไม่เคยทำดูบ้าง เลยไปสายงานแสดงดู 

เราใช้วิธีการเดียวกับตอนที่ส่งพอร์ตไปเกาหลี คือหาดูว่าในไทยเรามีค่ายหนังค่ายไหนที่เราชอบ ตอนนั้นจำได้ว่า พี่มาก..พระโขนง ดังมาก รายได้เป็นพันล้านและเราเองก็ชอบมาก โอเค หาทางเข้าไปยังไงดีวะ พอดีว่าเรารู้จักพี่ก้อง Hive Salon ที่เขาเคยทำงานกับเอเจนซี่ของเราที่เกาหลี เราก็แอบถามว่าพี่ก้อง มีทางไหนที่ผมจะยื่นโปรไฟล์งานที่เกาหลีไปขายกับทาง GTH บ้างไหมครับ บังเอิญกับช่วงนั้น GTH กำลังหานักแสดงซีรีส์เรื่อง ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ กันอยู่ พี่ก้องก็นัดเรามาเจอแล้วพาไปแคสต์ที่ GTH ด้วยกัน แต่ตอนนั้นเราแคสต์ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

โชคดีมากที่ตอนนั้น พี่แจน ภุชงค์ ที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ของ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เขาชอบเรา ก็เลยจับเราเซ็นสัญญาไว้ก่อนเผื่อในอนาคตจะได้ร่วมงานกัน หลังจากนั้นก็ได้ไปเล่นบทรับเชิญใน มาลี เพื่อนรัก..พลังพิสดาร แล้วก็ได้เล่นบทหลักจริงๆ ตอน แก๊สโซฮัก..รักเต็มถัง

เห็นว่าเรื่องนั้นทุ่มเทมาก ถึงขนาดว่าขึ้นดอยไปอยู่กับชาวลาหู่ แล้วไปสมัครเป็นเด็กปั๊มเพื่อเรียนรู้การทำงานอีก ทำไมต้องทำขนาดนั้น

อย่างที่บอกว่าตั้งแต่เด็กๆ เราเป็นคนเนิร์ด หรือจะบอกว่าหมกมุ่นก็ได้ เราอยากทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็อยากจะเรียนรู้ให้มากที่สุด ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้รักงานแสดงเลยนะ เราแค่อยากจะทำ อยากจะพิสูจน์ว่าเราแสดงได้เว้ย การเรียนรู้ทุกอย่างมันถูกผลักดันจากการอยากพิสูจน์ตัวเองนั่นแหละ

บทของเราเป็นเด็กปั๊ม ซึ่งก่อนเปิดกล้องเราพอมีเวลาเลยไปขอฝึกงานที่ปั๊มแถวบ้าน เข้างานจริงจัง ฝึกเติมน้ำมัน ก็จะเรียนรู้ว่าท่าการเติมที่ถูกต้องเป็นยังไง อีกด้านของตัวละครคือเขาเป็นชาวเผ่าลาหู่ เราก็บินขึ้นเชียงใหม่ไปสัมภาษณ์เด็กชาวเผ่าลาหู่จริงๆ เพื่อจะเก็บสำเนียงเขามาใช้ ปรากฏว่าพอได้นั่งคุยกับน้องๆ มันทำให้เราคิดได้ว่างานที่เราทำอยู่มันมีความหมายมากกว่าการพิสูจน์ว่าเราแสดงได้ แต่มันคือการถ่ายทอดชีวิตของคนในเผ่านี้ที่มีอยู่จริงในเมืองไทย แต่เขาไม่สามารถเดินทางออกจากเขตแดนของเขาได้เพราะจะโดนตำรวจจับ ถึงแม้ว่าจะเป็นซีรีส์แนวโรแมนติก-คอมเมดี้ แต่สุดท้ายใจความของมันคือเรื่องของชนเผ่านี้

ตอนนั้นเราก็เริ่มรู้สึกว่าไอ้งานแสดงเป็นสิ่งที่มีค่าว่ะ เรากำลังถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาที่คนเผ่านี้ต้องเจอ ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นความสำคัญของการแสดง ทำให้เรามองไปไกลกว่าที่เราอยากจะพิสูจน์ตัวเอง การแสดงของเราคือสิ่งที่มีความหมาย

หลังจากนั้นในทุกเรื่อง เรายึดแนวคิดนี้เป็นที่ตั้งหมดเลย ไม่ว่าบทของเราจะเป็นคนชนชั้นไหนหรือปัญหาเขาคืออะไร เราเทกว่ามันสำคัญหมด ต่อให้บทที่เราเล่นมามันเป็นคนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่สำหรับเราเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และเราก็ให้เกียรติเขา 

เมื่อเรามีโอกาสได้เป็นเขาแล้ว เราก็อยากจะถ่ายทอดเขาออกมาให้ดีที่สุด มันเป็นหัวใจในการทำงานของเราเลย 

การรับบทที่แตกต่างกันมากๆ ในหลายเรื่องที่ผ่านมา ไม่รู้สึกเหนื่อยบ้างเหรอที่ต้องชาเลนจ์ตัวเองตลอด

ตอบตรงๆ นะ เหนื่อย

เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ แต่มันเป็นความเหนื่อยที่เราพร้อมจะทำ เราชอบที่จะเข้าไปรู้จักใครสักคน ชอบอยู่ในห้วงอารมณ์ของตัวละคร ชอบถ่ายทอดเขาให้ดีที่สุด และเรารู้ว่าสิ่งที่เราเหนื่อยไปมันมีความหมายว่ะ เราได้เล่าเรื่องชาวเผ่าลาหู่นะ หรืออย่าง One for the Road เราได้เล่ามุมมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งนะ มันเลยเป็นความเหนื่อยที่เราพร้อมจะทำมัน

แต่เราไม่ได้มองการแสดงว่ามันเป็นความท้าทายนะ เรามองในแง่ของความอยากรู้มากกว่า อยากรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง คิดยังไง ทำไมเขาถึงเลือกทำแบบนั้นในจุดนั้นของชีวิตเขา พอเราอยากรู้เราก็เริ่มศึกษา จนเรารู้ เราเข้าใจเขา พอเราเข้าใจเขาเราก็มีความสุขในการถ่ายทอดเขาออกมา มันก็ยิ่งฟินเข้าไปใหญ่

สิ่งนี้ยิ่งทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่ตัดสินคนอื่น เวลาเราเจอใครทำอะไร เราก็เริ่มมองเขาแบบเข้าใจ เขามีวิธีคิดของเขา ความอยากรู้จากการแสดงทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นด้วย 

ไอซ์เลือกรับงานไหม

เลือกครับ เกณฑ์ในการรับงานของเรามันมีหลายด้านมาก แต่สิ่งแรกคือบท 

ไม่ได้หมายถึงบทที่เราจะได้เล่นแต่หมายถึงเรื่องโดยรวม เขากำลังถ่ายทอดเรื่องอะไรอยู่ แล้วเราอิน เราอยากรู้ อยากถ่ายทอดด้วยกันไหม พอเราอินแปลว่าเราเริ่มสนใจ แล้วค่อยถอยกลับมาดูว่าพอยต์ของบทที่เราจะเล่นในเรื่องนี้เราสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ไหม ถ้ารู้สึกว่าทำไม่ได้เราจะไม่รับ แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำได้แน่ๆ เราอยากรู้มากๆ อยากค้นคว้าจนทำได้ เราค่อยโอเคกับบทนั้น 

อย่างเรื่อง One for the Road มันเป็นเรื่องของเพื่อน ความสัมพันธ์ เรื่องของสิ่งที่มนุษย์มี แล้วยิ่งบทเราเป็นผู้ป่วยและพูดถึงเรื่องความตาย เราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เลยสนใจมากว่ามันจะเป็นยังไงวะ

เล่าเกี่ยวกับคาแรกเตอร์ ‘อู๊ด’ ให้ฟังหน่อย

อู๊ดเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ฝันอยากไปใช้ชีวิตอิสระที่นิวยอร์ก แล้วก็บินไปแบบลุยเดี่ยวเลย เป็นคนที่ไม่มีความฝัน ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องทำอะไร ซึ่งการไม่มีความฝันนี้แหละจะผลักดันเขาไปทำชอยส์ต่างๆ ในเรื่อง แล้วพอมาช่วงที่เขาเริ่มเป็นมะเร็ง อู๊ดก็จะมีความรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำไปในอดีต และเริ่มรำลึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำไปในอดีตทั้งหมด เราไม่ตัดสินนะว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่เขาเป็นคนมีอดีตเหมือนคนทุกคน 

เราว่าสิ่งที่อู๊ดเป็นมันคือสิ่งที่ทุกคนเชื่อมโยงได้แน่ๆ หมายถึงว่าเราทุกคนต่างก็เคยทำสิ่งที่เราคิดว่าดี แต่จริงๆ มันทำร้ายคนอื่นนะ แต่พอวันหนึ่งที่เรามานั่งตกตะกอนดู เราก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นคนดีขนาดนั้น มันมีสิ่งแย่ๆ ที่เราเคยทำบ้าง และมันก็มีสิ่งที่ดีๆ บ้าง มันเป็นความธรรมดาของมนุษย์มั้ง 

เออ มันคือความเป็นมนุษย์เลย มันคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนเป็นกัน นี่แหละคือตัวละครอู๊ด

แล้วที่บอกว่าก่อนจะรับเล่นในทุกบทคุณต้องอยากรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับเขาก่อน กับตัวละครอู๊ด ไอซ์อยากรู้เรื่องอะไร

อยากรู้พาร์ตของการเป็นมะเร็ง อยากรู้ว่าการที่คนคนหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเขารู้สึกยังไง ถ้าเขารู้ว่าเขามีเวลาที่เหลืออยู่ในโลกนี้จำกัด มันส่งผลต่อชีวิตเขาและวิธีคิดของเขายังไง เราอยากเข้าใจสิ่งนี้มากๆ และรู้สึกดีมากที่ได้มีโอกาสเข้าไปทำความเข้าใจจริงๆ 

ทำยังไง

เริ่มจากการหาข้อมูลว่ามีที่ไหนบ้างที่เราสามารถเข้าไปศึกษาได้ ก็ได้เจอโรงพยาบาลรามาธิบดีกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีแผนกเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เราก็เข้าไปสำรวจว่าอาการของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเป็นยังไง ศึกษาว่าเขามีญาติมาเยี่ยมไหม ญาติเขาเป็นยังไง คือไม่ได้มองแค่ด้านของผู้ป่วยมะเร็งอย่างเดียวแต่มองรอบๆ ถึงบริบททั้งหมดของคนที่เป็นมะเร็งด้วย

อีกทางคือพี่บาสผู้กำกับเรื่องนี้เขามีเพื่อนที่เป็นมะเร็งเหมือนกัน ชื่อพี่ลอยด์ (สรพล ฉัตรชัยยัญ) เขาก็ให้พี่ลอยด์มาช่วยเป็น role model ของเราในการเล่นตัวละครตัวนี้ เราได้นั่งคุยกับพี่ลอยด์หลายชั่วโมง ให้พี่ลอยด์มาช่วยดูเรื่องรอยแผล ทรงผม ลุคทั้งหมด ซึ่งเขาให้ความร่วมมือดีมาก น่ารักมาก ซึ่งวันนี้เราก็เสียใจมากที่พี่ลอยด์ไม่ได้อยู่ดูหนังเรื่องนี้ตอนที่มันออกฉาย

พอเรารู้เรื่องกายภาพแล้วก็ไปทำการบ้านด้านจิตใจเพิ่ม เพราะตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมอู๊ดป่วยแล้วถึงอยากกลับไปขอโทษและขอบคุณแฟนเก่า คิดว่าคงเล่นไม่ได้แน่ๆ ถ้าเราไม่เข้าใจ ก็ไปรีเสิร์ชเจอว่ามีเสถียรธรรมสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่ชีศันสนีย์ท่านทำกิจกรรมเกี่ยวกับการบำบัดโรคป่วยทางกายด้วยใจ เราก็ไปทำกิจกรรมกับผู้ป่วยจริงๆ และได้เรียนรู้ว่าเขามีมุมมองยังไง 

อีกที่คือกิจกรรม ‘เตรียมตัวก่อนตาย’ ขององค์กร Peaceful Death ซึ่งจัดที่ลำปางพอดี เราก็บินไปเข้าร่วม ซึ่งวันนั้นก็ดีมากเพราะพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านมาเป็นผู้บรรยาย เราก็เอาเรื่องของตัวละครไปปรึกษาพระอาจารย์ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้พระอาจารย์จะแนะนำยังไงได้บ้าง เพื่อหวังว่าเราจะสามารถเอาสิ่งที่พระอาจารย์บอกไปประยุกต์ใช้กับตัวละครที่เราเล่น และพระอาจารย์ท่านก็ให้คำแนะนำดีมาก จนสุดท้ายเราก็เข้าใจสภาวะของตัวละครและพร้อมถ่ายทอดเขา

ไม่บอกนะว่าท่านแนะนำว่าอะไร เพราะถ้าบอก เราอาจจะปิดโอกาสที่คนดูจะได้ลองสัมผัสและวิเคราะห์กันเอง สำหรับเรา หนังเรื่องนี้มันเป็นหนังที่อยากชวนตั้งคำถามกับการกระทำของอู๊ดด้วย และเราไม่อยากไปตัดสินว่าคนดูควรจะคิดแบบที่เราคิดนะ

งานที่ผ่านๆ มา ไอซ์มีความอยากพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ กับ One for the Road เป็นเหมือนกันไหม

เป็นเหมือนกันนะ แต่หลังจากที่เราเริ่มทำความเข้าใจกับบทนี้และเล่นเรื่องนี้เสร็จ เราก็ตกตะกอนและเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองไปเลย เราไม่ได้อยากพิสูจน์อะไรแล้ว  

อะไรทำให้คิดได้แบบนี้

ตอนเล่นเรื่องนี้มีจุดที่ทำให้เราจินตนาการไปตามตัวละคร คล้ายเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราต้องการในชีวิตมันคืออะไรกันแน่ เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไปเพื่ออะไร เราก็ย้อนกลับไปคิดว่าปมของเรามันคืออะไรวะ การพิสูจน์ตัวเองเนี่ยพิสูจน์ไปทำไม เราได้คำตอบว่าพอถึงจุดนี้ ในวันที่เราอายุเท่านี้ พิสูจน์ตัวเองมาสิบกว่าปีและเราก็ทำเต็มที่ของเราแล้ว เราก็เลยอยากลองวิธีใหม่ๆ บ้าง

เพราะตัวละครอู๊ดรำลึกได้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันไม่ดีต่อคนรอบข้างและตัวเขาเอง ถ้าเขามีโอกาสใช้ชีวิตอยู่เขาก็อยากเปลี่ยนไปเลือกวิธีอื่น จุดนี้แหละที่เราอยากเก็บมาใช้ในชีวิตของตัวเอง ถ้าวันนี้เราสามารถเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานของเราได้ เราจะเปลี่ยนไปใช้วิธีไหนมันเลยเปิดให้เราลองดูว่าเราไม่พิสูจน์ตัวเองบ้างซิ ลองทำงานด้วยความรัก เจอสิ่งที่เรารักแล้วทำให้มันดีบ้างซิ มันจะเป็นยังไงวะ ไม่รู้ว่ามันจะออกมายังไงด้วยนะ แต่ลองดูก็ไม่เห็นเป็นไร 

ซึ่งสุดท้ายแล้ว ไม่ได้หมายความว่าวิธีพิสูจน์มันไม่ดีนะ เพราะมันทำให้เรามีวันนี้และเราก็ภูมิใจกับมัน แต่เราอยากลองหนทางอื่นๆ ในการผลักดันตัวเองดูบ้าง นี่คือสิ่งที่เราได้จากการเล่นเรื่องนี้เลย

ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับอู๊ด ไอซ์อยากทำอะไรที่สุด

คงอยู่กับคนที่เรารักให้ได้มากที่สุด 

ไม่อยากกลับไปแก้ไขอดีตเหมือนอู๊ดเหรอ

ไม่ เพราะตัวอู๊ดมีแฟนเก่า แต่เราไม่มี (หัวเราะ) เราอยู่กับแฟนคนนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร 

แล้วถ้าให้มองย้อนกลับไปในชีวิตตัวเอง ไอซ์มีเรื่องอยากกลับไปแก้ไขไหม

เคยมานั่งคิดเหมือนกัน แล้วสุดท้ายคำตอบคือเราไม่อยากกลับไปแก้ไขอะไรเลย เพราะเรารู้ว่าถ้าเราไปแก้ไขปมปมหนึ่งในตอนนั้น ตัวเราในตอนนี้ก็จะไม่เหมือนเดิม 

วันนี้ถึงแม้ชีวิตเราอาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์สมบูรณ์แบบ แต่มันคือชีวิตเรา และทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เราภูมิใจกับตัวเองที่ผ่านอดีตมาจนมีวันนี้ได้ และพอใจกับตรงนี้ และหวังว่าเราจะทำอย่างนี้ต่อไปแล้วให้ดีในอนาคตให้ได้ การแก้ไขอาจทำให้เราไม่ได้เป็นตัวเองในวันนี้ เราเลยมองว่าสู้เราทำปัจจุบันนี้ให้อนาคตมันโอเคดีกว่า

ถ้ามีเวลาจำกัดเหมือนอู๊ด มีอะไรที่อยากทำก่อนตายไหม

ณ วันนี้ที่คุยกัน bucket list ของเราคือการไปเที่ยวรอบโลกกับคนที่รัก อยากไปเห็น ไปดู ไปเจอ ไปสัมผัสประสบการณ์ในสถานที่ต่างๆ รอบโลก น่าจะเป็นเพราะก่อนหน้านี้มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้คิดแบบนี้ ทั้งการเล่น One for the Road และโควิดที่ทำให้เราไปไหนไม่ได้

การเล่นหนังเรื่องนี้ทำให้ไอซ์เข้าใจชีวิตมากขึ้นไหม

(นิ่งคิด) เราว่ามันทำให้เราเข้าใจชีวิตแตกต่างไปจากเดิมเลย มันทำให้เราขบคิดกับชีวิตตัวเอง และได้มองชีวิตในมุมอื่นๆ มากขึ้น เราได้ถามหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทำสิ่งต่างๆ ไปเพื่ออะไร ทำทำไม และชัดเจนกับสิ่งที่ตัวเองรักและทำมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้าที่จะเล่นเราไม่ได้เป็นแบบนี้แน่ๆ 

แล้ววินาทีนี้ ความหมายของการมีชีวิตอยู่ของไอซ์คืออะไร

คือการได้ appreciate กับสิ่งต่างๆ ในชีวิต อยู่กับปัจจุบันและชื่นชมกับสิ่งที่เราได้รับ ได้ชื่นชมยินดีกับทุกสิ่งรอบตัวในทุกวินาทีของชีวิต นี่คือความหมายในการใช้ชีวิตของเรา และเราก็หวังว่าเราจะได้ทำแบบนี้ต่อไปจนเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว 

พอเล่นเรื่องนี้เรารู้ว่าถ้าเราไม่ได้ appreciate ชีวิต ณ ปัจจุบันนี้ มันเสียดายเหมือนกันนะ One for the Road ทำให้เราคิดได้ว่าเราจะใช้ชีวิตโดยไม่เสียดายในวันหลังแน่ๆ จะต้องซึมซับกับมัน และไม่ได้ตัดสินมันว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี เก็บไว้หรือไม่เก็บไว้ แค่ appreciate เลย แค่นั้นมันคือความสวยงามของชีวิตแล้ว

จนถึงตอนนี้คุณมองว่าตัวเองใช้ชีวิตคุ้มหรือยัง

ถ้านับตั้งแต่เด็กๆ จนถึงตอนนี้ที่อายุ 31 เราใช้ชีวิตคุ้มค่ามากๆ นะ และพอใจมากๆ ว่า ณ วันนี้พอใจแล้ว แล้วหวังว่าในอนาคต ถ้าเรามีโอกาสมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 เราก็หวังว่าเราจะมองแบบเดียวกันว่าเรายังใช้ชีวิตแบบคุ้มค่า

ถ้าให้ยกแก้วสุดท้ายหรือ one for the road เพื่อ ​cheers ให้กับสักโมเมนต์ของชีวิต อยากยกแก้วให้โมเมนต์ไหน

 โมเมนต์ของการนั่งอยู่ในห้องดูหนังแล้วแฟนนั่งอยู่ข้างๆ และมีแมวสามตัวนอนระเกะระกะอยู่ตามมุมห้อง บนจอทีวีมีหนังที่เราชอบฉายอยู่ บวกกับอากาศเย็นๆ เป็นโมเมนต์ที่ง่ายๆ แบบนี้แหละ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone