เขาทำลาย เธอสร้าง เมื่อ ‘เหยื่อ’ เขียนให้ตัวเองกลายเป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ ใน I May Destroy You

Highlights

  • I May Destroy You (2020) คือผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุดของ Michaela Coel ซึ่งหลายคนคุ้นเคยจากซีรีส์ตลกขบขันอย่าง Chewing Gum (2015-2017)
  • ในเรื่องนี้มิเคลล่ารับบท Arabella นักเขียนสาวดาวรุ่งที่ออกไปกินดื่มกับเพื่อนในค่ำคืนหนึ่ง ก่อนจะวูบไปแล้วตื่นมาพร้อมกับบาดแผลบนหัวและความทรงจำเลือนรางว่าผู้ชายคนหนึ่งกำลังคร่อมอยู่บนตัว   
  • ไม่เพียงแสดงนำ มิเคลล่าทั้งร่วมกำกับและเขียนบท I May Destroy You โดยเธอดึงวัตถุดิบในการเขียนมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองซึ่งเคยถูกวางยาในเครื่องดื่มแล้วถูกล่วงละเมิดทางเพศ เธอบอกกับ Vulture ว่าใช้เวลาเขียนอยู่นานหลายปีและบทที่เราได้ดูกันนั้นคือดราฟต์ที่ 191 
  • I May Destroy You ไม่ได้โฟกัสที่ตัวตนแตกสลายของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากเน้นไปที่การกอบกู้ตัวเอง กอบกู้กันและกัน แล้วประกอบสร้างชีวิตใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม

ฉันทะเลาะกับแฟนในครั้งแรกที่เธอชวนดูซีรีส์ I May Destroy You โดยขายสั้นๆ ว่า “เป็นซีรีส์เรื่องใหม่ของคนแสดง Chewing Gum เล่าเรื่องคนที่ถูกข่มขืน เป็นคอมเมดี้และดราม่า”

“จะบ้าเหรอ เรื่องการข่มขืนจะเป็นคอมเมดี้ได้ยังไง” ฉันสวนทันควัน โฟกัสแค่คีย์เวิร์ด ‘ข่มขืน’ และ ‘คอมเมดี้’ 

“เธอยังไม่เคยดูเลย จะตัดสินก่อนได้ยังไง” อีกฝ่ายเริ่มโกรธ ฉันเองก็เริ่มขึ้นเสียง พยายามจะยืนยันในความคิดความเชื่อตัวเอง “ไม่รู้ล่ะ ข่มขืนเป็นเรื่องซีเรียส จะเอามาทำให้ตลกได้ยังไง น่าเกลียด” 

แม้บทสนทนาระหว่างฉันกับแฟนจะจบลงด้วยการถกเถียง แต่หลังจากนั้นเมื่อฉันย้อนนึกได้ว่า Chewing Gum (2015-2017) ของ Michaela Coel เจ้าของ 4 รางวัล BAFTA นั้นเป็นซีรีส์ว่าด้วยเชื้อชาติและชนชั้นที่ทั้งตลกขบขันและซีเรียสในคราวเดียวกัน ฉันจึงตัดสินใจเปิดเว็บไซต์ HBO GO แล้วเสิร์ชหา I May Destroy You เหลือบดูเวลาแล้ว EP.01 ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ลองดูหน่อยก็แล้วกัน ถ้าไม่ชอบก็กดปิด ไม่เสียหายอะไร

แต่เกริ่นมาขนาดนี้คงรู้แล้วสินะว่าคดีพลิก ฉันไม่ได้กดปิดแต่ติดหนึบจนรอดู EP ต่อไปในสัปดาห์หน้าแทบไม่ไหว! (แต่ตอนนี้จบบริบูรณ์แล้วนะ binge-watch กันได้สบายๆ แค่ 12 EP เท่านั้น)

I May Destroy You

BBC/Various Artists Ltd and FALKNA/Natalie Seery

ว่าแล้วก็ขอขายยาวๆ ให้สมกับความดีงามของมันสักหน่อย I May Destroy You ฉายภาพการเยียวยาจิตใจและการกอบกู้ตัวตนของหญิงสาวผู้แตกสลายหลังจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฉันชอบเป็นพิเศษที่ซีรีส์ปราศจากสุ้มเสียงของการตัดสินหรือสอนสั่ง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคลือบเรื่องขมให้อมหวาน เพียงบอกเล่าการข่มขืนและเรื่องราวหลังจากนั้นอย่างตรงไปตรงมา เล่าอย่างที่มันเป็น–เรื่องเลวร้ายที่ไม่สมควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เป็นไร ชีวิตยังไม่สิ้นสลาย ชีวิตยังไปต่อ

I May Destroy You อำนวยการสร้าง แสดงนำ ร่วมกำกับ และเขียนบทโดยมิเคลล่าเอง ซึ่งคงไม่มีใครเหมาะสมที่จะดูแลเกือบทุกสิ่งทุกอย่างของซีรีส์มากเท่าเธออีกแล้ว เพราะที่จริง I May Destroy You คือการดึงเอาประสบการณ์จริงของเธอมาตีแผ่ในรูปแบบฟิกชั่น คืนหนึ่งขณะกำลังโต้รุ่งเขียนบท Chewing Gum ซีซั่นที่สอง มิเคลล่าตัดสินใจหยุดพักเพื่อออกไปดื่มกับเพื่อนที่บาร์ มันเกือบจะเป็นค่ำคืนธรรมดาหากเธอไม่ถูกวางยาในเครื่องดื่มและไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ชายสองคน 

จุดหักเหของตัวละครนำอย่าง Arabella Essiedu ก็เริ่มต้นเช่นนั้น เธอคือนักเขียนดาวรุ่งผู้โด่งดังจากนิยายที่เขียนบนทวิตเตอร์ คืนหนึ่งขณะกำลังโต้รุ่งปั่นต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ อาราเบลล่าตัดสินใจหยุดพักเพื่อออกไปดื่มกับเพื่อนที่บาร์ แต่แล้วอยู่ดีๆ สติเธอก็ดับวูบ มารู้สึกตัวอีกทีในตอนเช้าพร้อมบาดแผลบนหัวและภาพเลือนรางของผู้ชายคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวอยู่บนตัวเธอ 

ความรู้สึกคล้ายมีอะไรถ่วงใจค่อยๆ ก่อตัวและทิ้งน้ำหนักมากขึ้นขณะเราดูอาราเบลล่าพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น เริ่มต้นจากถามเพื่อนที่ออกไปดื่มด้วยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ตามหาตู้เอทีเอ็มที่เมื่อคืนไปกดได้ยังไงก็ไม่รู้ เช็กสถานที่ที่รถอูเบอร์ (ที่เพื่อนบอกว่าเรียกให้) ขับไปส่ง ก่อนจะเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางที่แท้จริง–เธอถูกเพื่อนทิ้ง ถูกวางยา และถูกข่มขืนโดยชายแปลกหน้าในห้องน้ำที่ไหนสักที่

I May Destroy You

face.com

context of consent 

สื่อหลายเจ้าเรียก I May Destroy You ว่าเป็น consent drama แม้ในแวบแรกฉันจะคิดว่าคำว่า consent หรือ ‘ความยินยอม’ ออกจะเป็นคำนิยามที่แปลกทางสำหรับสื่อบันเทิงโดยทั่วไป แต่มันเถรตรงกับสิ่งที่ I May Destroy You เป็นจริงๆ เพราะซีรีส์พาเราไปสำรวจความยินยอมในหลากหลายบริบท บริบทแรกที่เราเห็นเกิดขึ้นกับอาราเบลล่านั้นเป็นบริบทที่เข้าใจง่ายที่สุด นั่นคือการปราศจากการยินยอมทั้งในเชิงวัจนภาษาและอวัจนภาษา อาราเบลล่าผู้หมดสติไม่สามารถให้ความยินยอมกับคนที่ทำร้ายเธอได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอคือการล่วงละเมิดทางเพศอย่างชัดเจน จบ ฟูลสต็อป ไม่มีอะไรให้ถกเถียง

แต่เมื่อซีรีส์ดำเนินต่อไป เราได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ของอาราเบลล่าและได้ร่วมเป็นพยานในเหตุการณ์ที่ความยินยอมของพวกเขานั้นพร่าเลือนจนต้องฉุกคิด

vanityfair.com

เพื่อนคนแรกคือ Terry (รับบทโดย Weruche Opia) เพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเรียนของอาราเบลล่า ปัจจุบันเป็นนักแสดงสาวผู้กำลังตามหาบทบาทแจ้งเกิด ค่ำคืนหนึ่งที่บาร์ในอิตาลี เทอร์รีถูกรุมจีบโดยผู้ชายสองคน พวกเขาแข่งขันกันว่าใครจะเอาชนะใจเธอได้ แต่สุดท้ายทั้งสามก็กลับไปที่ห้องของเทอร์รีและมีเซ็กซ์โดยสมยอม แต่เมื่อถึงเวลาแยกย้าย เทอร์รีกลับสังเกตเห็นว่าพวกเขากลับไปด้วยกัน ซีรีส์เฉลยว่าชายทั้งสองรู้จักกันอยู่แล้ว และตั้งใจสร้างสถานการณ์ตะล่อมให้เทอร์รียอมขึ้นเตียงกับพวกเขาพร้อมกัน

สรุปแล้วเซ็กซ์ครั้งนี้มีความยินยอมเป็นส่วนประกอบหรือไม่–นั่นคือคำถามที่ซีรีส์ทิ้งไว้ให้คนดูเป็นการบ้าน

nytimes.com

เพื่อนคนถัดมาคือ Kwame (แสดงโดย Paapa Essiedu) ครูสอนแอโรบิกและนักปัด Grindr มือฉมัง ในเรื่องนี้ หากใครจะเข้าใจเรื่องความยินยอมมากที่สุด คนนั้นควรเป็นความีผู้มีประสบการณ์นัดยิ้มมากกว่าใคร เขารู้หมดว่าต้องตกลงกับคู่นอนยังไงก่อนถอดเสื้อผ้า แต่ในค่ำคืนหนึ่งหลังจากมีเซ็กซ์โดยสมยอมกับหนุ่มที่ตัวใหญ่กว่าตัวเองมากนัก ขณะกำลังแยกย้าย หนุ่มตัวโตกลับดึงความีมาขย่ม (hump) ทั้งที่เขาปฏิเสธเสียงแข็ง

การยินยอมครั้งหนึ่งแปลว่าต้องยินยอมเสมอไปหรือเปล่า–นั่นก็เป็นอีกคำถามที่ซีรีส์บอกให้คนดูกลับไปครุ่นคิด

I May Destroy You

ย้อนกลับมาที่อาราเบลล่า หลังเหตุการณ์เลวร้ายตอนต้นเรื่อง เธอดำเนินชีวิตต่อตามปกติและไปปิ๊งกับ Zain นักเขียนหนุ่มดีกรีบัณฑิตเคมบริดจ์ที่สำนักพิมพ์ส่งมาช่วยให้คำแนะนำในการเขียนกับเธอ ครั้งแรกที่ทั้งคู่มีเซ็กซ์กันอย่างยินยอมพร้อมใจ เซนกลับถอดถุงยางออกระหว่างประกอบกิจกรรมโดยที่อาราเบลล่าไม่รู้ 

คราวนี้ซีรีส์ให้คำตอบมาชัดๆ เลยว่า ในเมื่ออาราเบลล่ายินยอมมีเซ็กซ์แบบใส่ถุงยาง การถอดถุงยางออกกลางคันจึงปราศจากความยินยอม นับเป็นการล่วงละเมิดทางเพศแบบหนึ่งที่เรียกว่า stealthing และถือว่ามีความผิดภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักร

ในยุคนี้ที่บทสนทนาว่าด้วยความยินยอมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ฉันเชื่อว่าความยินยอมคือ common sense มนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าต้อง ‘ขอ’ และ ‘ให้’ ความยินยอมก่อนประกอบกิจกรรมทางเพศใดๆ ตั้งแต่กอด จูบ ลูบ คลำ ขย่ม ไปจนถึงสอดใส่ กระนั้นเมื่อความยินยอมถูกหย่อนเข้าไปในบางบริบทที่อาจซับซ้อนและแปลกตา เราก็ถูกท้าทายให้สังเกตและละเอียดอ่อนกับความยินยอมมากขึ้น 

ยกตัวอย่างกรณีที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างการคอมเมนต์คำว่า ‘คือลือ’ และ ‘ห อ ม’ กับไอดอลสาว หรือการตั้งสเตตัสลอยๆ ว่า ‘นี่ก็เดือน October แล้ว เมื่อไหร่จะได้ Oct เธอบ้าง’ จุดร่วมของสองกรณีนี้คือการใช้ถ้อยคำเชิงลามก แต่จุดที่แตกต่างกันคือกรณีแรกมีผู้ถูกกระทำซึ่งไม่ให้ความยินยอม นับเป็นการล่วงละเมิดทางเพศอย่างชัดเจน ในขณะที่กรณีหลังไม่มีผู้ถูกกระทำแน่ชัด แล้วใครเล่าจะมามอบความยินยอม แต่ก็ยังคงถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมได้ต่อ

ฉันขอออกตัวเลยว่าที่ยกตัวอย่างมาไม่ได้จะบอกว่าความยินยอมมีกรณียกเว้น มันไม่มี แต่อยากชวนพิจารณาบริบทและเลเยอร์ที่ซับซ้อนของความยินยอม เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งมีเหตุให้คุณหรือคนรู้จักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ความยินยอมพร่าเลือน คุณจะได้รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง ไม่ว่าจะในฐานะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำก็ตาม

อ้อ ส่วนสองคำถามก่อนหน้า หลังจากครุ่นคิดและหาข้อมูล ฉันขอตอบไว้ตรงนี้เลยว่า การถูกปิดบังความจริงบางอย่างย่อมทำให้เซ็กซ์นั้นปราศจากความยินยอม และการยินยอมครั้งหนึ่งไม่ใช่การยินยอมทุกครั้งไป

BBC/Various Artists Ltd and FALKNA/Natalie Seery

human being human

แม้ว่าอาราเบลล่า เทอร์รี และความีจะมีสถานะเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ แต่ใช่ว่าพวกเขาและเธอจะไม่เคยเป็น ‘ผู้กระทำ’ นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสามเป็นคนเลวร้าย ก็แค่เป็น ‘มนุษย์’

แท้จริงแล้ว เทอร์รีผู้แสนดีและอยู่เคียงข้างอาราเบลล่าเสมอหลังเกิดเหตุการณ์นั้น กำลังชดเชยความผิดที่เธอไม่เคยรับสารภาพกับอาราเบลล่าว่า เธอทิ้งเพื่อนสนิทที่สุดในชีวิต (Your birth is my birth; your death is my death คือถ้อยคำที่ทั้งสองพูดแก่กันบ่อยๆ ในซีรีส์) ไว้ในสถานการณ์เสี่ยงถึงสองครั้งสองครา  

ขณะกำลังทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน ความีเข็ดขยาดผู้ชายและทดลองออกเดตกับผู้หญิงคนหนึ่งก่อนไปลงเอยกันบนเตียง แม้ความีจะถูกคะยั้นคะยอจากฝ่ายหญิงให้มีเซ็กซ์กับเธอ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความเสียหายลดลงเมื่อเขาสารภาพกับเธอว่าจริงๆ แล้วตนเป็นเกย์–อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เรียกว่าความยินยอมได้ไม่เต็มปาก ในเมื่อข้อมูลสำคัญถูกละไว้โดยตั้งใจ

I May Destroy You

ส่วนอาราเบลล่านั้นคล้ายกับใช้ชีวิตอยู่ในหัวตัวเอง แน่นอนว่ามันไม่ผิดในเมื่อเธอกำลังเดินลุยผ่านความเจ็บปวด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอจะสามารถบุกเข้าห้องกิ๊กเก่าอย่าง Biagio ได้โดยไม่บอกก่อนล่วงหน้า และไม่ได้หมายความว่าเธอจะสามารถล็อกความีที่กำลังมีแผลสดไว้ในห้องกับชายแปลกหน้าได้ 

หรือตัวละครสมทบอื่นๆ ที่เราได้รู้จักในภายหลังอย่าง Theo ก็มีประวัติที่อาจไม่สวยงามนัก แต่การกระทำของเธอก็มีที่มาที่ไป และตอนนี้คล้ายว่าเธอกำลังไถ่บาปด้วยการจัด support group สำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นประจำ ส่วนเซนเองก็ได้ไถ่บาปด้วยการช่วยไกด์แนวทางในการเขียนนิยายให้กับอาราเบลล่า

ดีและเลว น่าเกลียดและสวยงาม รวมถึงทุกเฉดที่อยู่ระหว่างสองขั้วนั้น นั่นแหละความงดงามของความเป็นมนุษย์ที่ถูกสางให้เห็นอย่างละเอียดในซีรีส์เรื่องนี้ โดยไม่ตัดสิน แต่เปี่ยมด้วยความเข้าใจ

I May Destroy You

vulture.com

exercising empathy 

ความดีงามอีกอย่างของ I May Destroy You คือ empathy หรือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ที่สอดแทรกอยู่ในหลายฉากหลายตอน และพันผูกกับหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม หรือกระทั่งการให้อภัยผู้ที่ทำร้ายเราอย่างสาหัส

จากที่เคยอ่านบันทึกส่วนตัวและรายงานเกี่ยวกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงทั้งในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉันมีภาพจำแง่ลบเกี่ยวกับการแจ้งความคดีข่มขืนอยู่มาก จึงออกจะประทับใจเมื่อได้เห็นฉากแจ้งความของอาราเบลล่าที่มีตำรวจหญิงที่เข้าใจความละเอียดอ่อนของคดีเช่นนี้ (แม้คำพูดคำจาอาจจะแข็งไปบ้าง) และในทางตรงกันข้าม ออกจะเสียใจที่ได้เห็นฉากแจ้งความของความีที่เต็มไปด้วยการตีตราและเหยียดหยามจากตำรวจชายผิวขาว 

empathy ไม่ใช่ของมีราคา หากมีความใส่ใจเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าใครก็ฝึกที่จะมี empathy และใส่มันลงไปในงานที่ตนทำได้ หรือจะเริ่มจากโจทย์ง่ายๆ แค่ใส่มันลงไปในทุกปฏิสัมพันธ์ในชีวิตก็ย่อมได้เช่นกัน เพียงสังเกตคู่สนทนาว่าเขากำลังแสดงออกยังไง ลองจินตนาการว่าตัวเองจะรู้สึกยังไงหากกำลังใช้ชีวิตของเขา เท่านี้ empathy ก็เริ่มงอกเงยแล้ว

ใน EP สุดท้าย แม้กระทั่งอาราเบลล่าผู้อาจละเลยที่จะมอบ empathy ให้คนรอบตัวไปบ้าง ยังลองจินตนาการในหัวเลยว่า หากตัวเองเข้าใจ David (หรือบางครั้งก็ชื่อ Patrick แล้วแต่ว่าจะปลอมชื่อไหม) นั้นเป็นคนแบบไหน ผ่านอะไรมา กำลังรู้สึกยังไง สิ่งที่อาราเบลล่าทำคือการมอบ empathy (ต้องหมายเหตุว่า ‘อย่างสุดโต่ง’) ให้กับคนที่ทำร้ายเธอ คนที่ยังไม่ต้องพูดถึง empathy ด้วยซ้ำ แค่ความยินยอมยังไม่รู้จัก ไม่แคร์

ฉันไม่กล้าเคลมหรอกว่า empathy จะช่วยให้อาราเบลล่าหรือ ‘เหยื่อ’ คนไหนสามารถให้อภัยคนร้ายได้อย่างหมดจด แต่มีความเป็นไปได้อยู่ว่า empathy จะช่วยให้ตัวเหล่าผู้ถูกกระทำใจเบาขึ้นขณะกำลังย่ำบนเส้นทางแห่งการเยียวยา 

independent.co.uk

treating the trauma, writing the future 

หลังจากใช้เหตุการณ์จริงเป็นจุดปล่อยตัวของเรื่อง แล้วจินตนาการเรื่องราวระหว่างนั้นขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เมื่อใกล้ถึงเส้นชัย เรื่องจริงและเรื่องแต่งก็กลับมาซ้อนทับกันอีกครั้ง

มิเคลล่าเป็นนักเขียนมาแต่ไหนแต่ไร สำหรับเธอการเขียนมีหลายฟังก์ชั่น ทั้งการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต การปลดปล่อยความคิดและความรู้สึกข้างใน การพูดแทนคนที่เป็นแบบเธอ–ผิวดำ ผู้หญิง ชนชั้นล่าง 

และในกรณีของการเขียน I May Destroy You นั้น การเขียนคือการบำบัดและเยียวยา 

เหมือนกับประสบการณ์เลวร้ายอื่นๆ ที่ฉันเจอ การเขียนคล้ายเป็นการบำบัดเพราะฉันได้เปลี่ยนเรื่องเล่าของความเจ็บปวดให้กลายเป็นเรื่องเล่าของความหวังหรือกระทั่งอารมณ์ขัน” มิเคลล่ากล่าวใน James MacTaggart Lecture เมื่อปี 2018

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงผิวดำได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานอันทรงเกียรติอย่าง Edinburgh TV Festival และเป็นครั้งแรกที่มิเคลล่าได้กล่าวถึงประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศของตนต่อหน้าสาธารณชน (เลกเชอร์นี้ยังเปิดโปงความอยุติธรรมทางเชื้อชาติในวงการบันเทิงอีกมาก แนะนำให้ดูหากมีเวลา)

มิเคลล่าให้สัมภาษณ์กับ Vulture ว่าเธอเขียนบท I May Destroy You อยู่นานสองนาน และดราฟต์ที่กลายมาเป็นการแสดงที่เราได้ดูกันนั้นคือดราฟต์ที่ 191 

I May Destroy You

BBC/Various Artists Ltd and FALKNA/Natalie Seery

สาเหตุหนึ่งที่นานก็เพราะการเขียนตอนจบที่จะช่วยปลดปล่อยทั้งอาราเบลล่าและมิเคลล่าออกจากเหตุการณ์เลวร้ายนั้น โดยใน EP สุดท้าย ซีรีส์ฉายภาพ ‘ความเป็นไปได้’ ของตอนจบถึงสามเวอร์ชั่นด้วยกัน ทั้งความเป็นไปได้ในการแก้แค้นอย่างสาสม ความเป็นไปได้ในการให้อภัย และความเป็นไปได้ที่ชีวิตจะไปต่อ

สำหรับความเป็นไปได้แรก มิเคลล่าบอกกับ Nytimes ว่า “ฉันเข้าใจว่าตอนจบแบบนี้สาแก่ใจคนดู แต่ฉันไม่ได้รู้สึกพึงพอใจเลย แล้วอาราเบลล่าจะใช้ชีวิตในฐานะฆาตรกรได้ยังไงกัน”

thesun.co.uk

ส่วนความเป็นไปได้สุดท้ายนั้นอ้างอิงจากฉากหนึ่งในชีวิตจริงระหว่างตัวเธอและ Ben (เพื่อนร่วมบ้านของอาราเบลล่า) ตัวจริงของมิเคลล่า ประกอบกับคำแนะนำจาก co-producer ที่บอกกับมิเคลล่าว่า “ถ้าเกิดอาราเบลล่าไม่กลับไปที่บาร์นั้นอีกล่ะ”

“พระเจ้า ใช่ เธอแค่ปล่อยวาง และในโมเมนต์นั้นฉันก็ปล่อยวางเหมือนกัน แล้วฉันก็รู้สึกท่วมท้นจนเริ่มร้องไห้ออกมา” มิเคลล่าบอกกับ Vulture “ฉัน มิเคลล่า จำเป็นต้องปล่อยวาง และตระหนักว่าถ้าปล่อยวางแล้วฉันก็ยังมีชีวิตอยู่นี่นา ตัวฉันไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดโดยความชอกช้ำในใจ ฉันสามารถปล่อยมันไปและฉันก็ยังอยู่ที่นี่”

thetab.com

ท้ายที่สุด อาราเบลล่าก็เขียนนิยายเสร็จจนได้ นิยายที่เธอกำลังปั่นอย่างแข็งขันในคืนนั้น ทุกอย่างวนกลับมาครบลูป เธอตั้งชื่อมันว่า ‘22 มกราคม’ ตามวันที่เธอถูกทำร้าย แม้เธอจะไม่เคยเขียนให้ตัวเองเป็น ‘เหยื่อ’ แต่เธอเขียนให้ตัวเองเป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ ได้

ในงานเปิดตัวหนังสือ ขณะที่อาราเบลล่าอ้าปากจะอ่านคำแรกของมันให้ผู้ร่วมงานฟัง ภาพตัดไปที่ใบหน้าของเธอบนหาดทราย เธอยิ้ม แล้ววิ่งออกไปยังเส้นขอบฟ้า

ปล. ถ้าใครได้ดู I May Destroy You แบบเปิดซับไตเติลภาษาไทย หากมีเวลารบกวนร่วมด้วยช่วยกันอีเมลหา [email protected] ว่ามีคำแปลที่ homophobic อยู่ใน EP.05 นาทีที่ 8:53 และ EP.06 นาทีที่ 2:51 ฉันเคยอีเมลไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 มีการตอบกลับว่าจะเปลี่ยนแปลง แต่ในวันนี้ที่บทความเผยแพร่ (10 ตุลาคม 2563) ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เสียดายที่ซีรีส์หัวก้าวหน้ามากๆ แต่คำแปลกลับพาถอยหลังลงคลอง ว่าไหมคะ


อ้างอิง

nme.com

vulture.com

vulture.com

youtube.com

AUTHOR