Humans of Flower Market โปรเจกต์คึกคักของนักออกแบบที่อยากฟื้นปากคลองตลาดให้ครึกครื้น

Highlights

  • Humans of Flower Market มนุษย์ปากคลองฯ คือโปรเจกต์ของนักออกแบบที่รวมกลุ่มกันทำโปรเจกต์เพื่อฟื้นปากคลองตลาดหลังการจัดระเบียบในปี 2559 ให้กลับมาครึกครื้นสมกับเป็นตลาดดอกไม้อันดับหนึ่งของประเทศไทย
  • กิจกรรมที่เกิดขึ้นในโปรเจกต์นี้มีหลากหลาย ตั้งแต่หนังสือภาพบันทึกถ้อยคำของผู้คนในปากคลองฯ เอาไว้​, เว็บไซต์ flowerhub.space สำหรับซื้อขายดอกไม้ออนไลน์ และเร็วๆ นี้คืออีเวนต์ 'ปากคลองฯ Strike Back' ที่ชวนคนไปเดินย่านปากคลองเพื่อตามหาดอกไม้เสมือนที่ซ่อนอยู่
  • ความสำคัญของปากคลองตลาดคือการเป็นย่านที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ รวมถึงเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีระบบนิเวศน่าสนใจไม่เหมือนที่ใดในโลก

“Where is the flower market? ตลาดดอกไม้อยู่ที่ไหน”

ประโยคนี้จะไม่ใช่คำถามชวนแสลงใจเลย หากมันไม่ได้ถูกเอ่ยโดยนักท่องเที่ยวที่ปากคลองตลาด ตลาดขายดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

humans of flower market

อย่างที่หลายคนรู้ ปากคลองตลาดคือตลาด 24 ชั่วโมงที่เป็นศูนย์กลางกระจายดอกไม้ไทยและดอกไม้นำเข้าไปยังแผงดอกไม้ทั่วประเทศ มีพ่อค้าแม่ค้านับได้หลักพันราย มีอิทธิพลถึงขั้นกำหนดราคาตลาดของดอกไม้ในเมืองไทย แถมยังมีพืชผลทางการเกษตรขายอีกด้วย จนมีเม็ดเงินหมุนเวียนในแต่ละวันเป็นตัวเลขระดับ 8-9 หลัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ดอกไม้เป็นพระเอก เช่น วันวาเลนไทน์ วันแม่ หรือวันลอยกระทง ที่เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดพุ่งแบบถล่มทลาย

เม็ดเงินเหล่านั้นมาจากกิจการร้านค้าตึกแถวติดแอร์ แผงดอกไม้ในตลาด โต๊ะขายดอกไม้ตั้งเรียงรายบนทางเท้า ตลอดจนแผงดอกไม้ที่จะมาตั้งกันแบบเฉพาะกิจบนถนนตอนกลางคืน เพราะอย่างนี้ แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งแต่ในสายตาของกรุงเทพมหานคร ความยุ่งเหยิงและไม่เป็นระเบียบที่นี่คือสิ่งที่ต้องจัดการ จนในที่สุดก็เกิดการจัดระเบียบปากคลองตลาดในปี 2559 

วิธีการจัดระเบียบเข้าใจไม่ยาก เพียงยกแผงลอยบนทางเท้าทั้งหมดไปอยู่ในตลาดยอดพิมานและตลาดรอบๆ ทางเท้าก็สะอาดเรียบร้อยในพริบตา

กระบวนการแก้ไขความวุ่นวายได้ผลชะงัด แลกมาด้วยความคึกคักครึกครึ้นของปากคลองที่หายวับ​ถึงขั้นที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงปากคลองตลาดแล้วแท้ๆ แต่ยังออกปากถามว่า “ตลาดดอกไม้อยู่ที่ไหน” แสลงหู แสลงใจแม่ค้าที่ได้ยินเป็นอย่างยิ่ง

humans of flower market

humans of flower market

ย้อนกลับไปช่วงที่แผงดอกไม้บนทางเท้ากำลังจะหายไป โปรเจกต์ Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ โดย ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร และ นุ้ย–ศศมน รัตนาลังการ ลูกศิษย์ในชั้นเรียนก็ผลิดอกขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของปากคลองตลาด ก่อนนักออกแบบ หน่อไม้–สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน จะเข้ามาร่วมทีม เพื่อช่วยกันทำให้ปากคลองตลาดกลับมาคึกคัก ยิ่งใหญ่ เกรียงไกรสมศักดิ์ศรีตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอีกครั้ง

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในห้องเรียนใกล้ๆ ปากคลองฯ นี่เอง

humans of flower market

 

มนุษย์ปากคลองฯ Humans of Flower

ห้องเรียนแห่งนั้นเป็นห้องเรียนวิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีสุพิชชาเป็นผู้สอน และมีนุ้ยและเพื่อนๆ เป็นนักศึกษา

ตามหลักวิชา นักศึกษาจะได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อทดลองทำโครงการจุดประกาย (catalyst project) หรือการใช้กระบวนการออกแบบเล่าเรื่องชุมชน บันทึกประวัติศาสตร์ หรือเรียนรู้ชุมชนในบางแง่มุม ซึ่งในห้วงเวลาที่กรุงเทพมหานครติดเครื่องเตรียมจัดระเบียบปากคลองอยู่รอมร่อ ไม่มีพื้นที่ไหนจะเหมาะลงไปศึกษาเท่าตลาดในเขตพระนครแห่งนี้อีกแล้ว

“ตอนนั้นเราให้โจทย์นักศึกษาไปทดลองใช้กระบวนการออกแบบเล่าประเด็นรอบๆ ปากคลองฯ ที่กำลังจะโดนย้าย งานนี้ไม่ใช่การทำให้เขาไม่ถูกไล่ที่เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของสถาบันการศึกษา แต่คือการถ่ายทอดคุณค่าพื้นถิ่นของชุมชนปากคลองตลาด” สุพิชชาทบทวนโจทย์ในชั้นเรียนให้เราฟัง

หลังจากได้โจทย์ นักศึกษากลุ่มต่างๆ จึงพากันออกสำรวจตรอก ซอกซอยในชุมชนก่อนจะพบว่าไม่ต่างจากระบบนิเวศในธรรมชาติที่พืช สัตว์ แมลงโยงใยกันสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า ที่ตลาดขายดอกไม้แห่งนี้ก็มีระบบนิเวศมนุษย์ที่โยงใยซับซ้อนจนกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ แม้จะเป็นเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal economy) หรือเศรษฐกิจที่ขาดความชัดเจนด้านข้อมูลจนทำให้ไม่สามารถประเมินมูลค่าทาง GDP ได้ก็ตาม

humans of flower market

humans of flower market

“พอได้โจทย์เราก็ลงพื้นที่ไปดูว่าเขาใช้พื้นที่ยังไง” นุ้ย อดีตนักศึกษาในวิชาเล่า “เราเดินสำรวจ ปักหมุดสถานที่ ค่อยๆ ดูเครือข่ายความเชื่อมโยงเราถึงเพิ่งเห็นว่าปากคลองตลาดมีอาชีพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเยอะมาก เช่น ป้าที่ขายดอกไม้เขาจะไม่สามารถลุกไปไหนได้เลยจึงเกิดอาชีพหมอนวดที่มานวดให้ถึงที่ นอกจากนั้นก็มีคนเดลิเวอรีอาหาร มีแม่ค้าเสื้อผ้าที่เดินขาย แม้แต่สมุดบัญชี ใบเสร็จก็มีคนเดินขายหมดเลย”

สายสัมพันธ์ในปากคลองฯ มีทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างมนุษย์อาชีพต่างๆ ที่เดินสวนขวักไขว่ และที่ตามองไม่เห็น เช่น พวงมาลัยหนึ่งพวงที่ประกอบขึ้นจากมือของคนเป็นสิบชีวิต–มะลิมาจากสวนหนึ่ง ดอกรักมาจากสวนหนึ่ง กุหลาบจากอีกสวน ยังไม่นับคนร้อยมาลัยอีกหนึ่ง และชาวนาที่เข้าเมืองมารับจ๊อบเย็บริบบิ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว

“คนที่ขายของอยู่บนฟุตพาทถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เป็นมะเร็งที่ตัดออกแล้วร่างกายจะแข็งแรง แต่จริงๆ มันคือระบบนิเวศของคนที่ปากคลองตลาด เป็นเศรษฐกิจของคนตัวเล็กๆ ที่รวยมาก เอาแค่มะลิที่ขายกันช่วงวันแม่บางทีเขาขายกันวันหนึ่งได้ 5 แสนถึงล้านบาท แม้กระทั่งธนาคารที่มีเป็น 10 เจ้าแถวนี้ก็ต้องเอาเจ้าหน้าที่มาเก็บเงินที่แผงเลยนะ วีไอพีขนาดนั้นเลย” สุพิชชาเสริม

“ระบบนิเวศของปากคลองฯ มีคุณค่าเพราะมันสร้างมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ แต่ informal economy แบบนี้ชอบโดนตีเป็นตัวร้ายทั้งที่รัฐประเทศอื่นๆ เขาอยากจะช้อนเม็ดเงินเข้าระบบ ไม่ได้กำจัดให้เหลือศูนย์”

คำว่า informal economy, มูลค่าทางเศรษฐกิจ และระบบนิเวศฟังดูเป็นเรื่องใหญ่แถมไกลตัว นุ้ยและเพื่อนๆ จึงเลือกวิธีที่เฟรนด์ลี่กว่านั้น เป็นการแบกกล้องหนึ่งตัว เครื่องอัดเสียงหนึ่งเครื่องลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์และถ่ายภาพบรรดามนุษย์ปากคลองฯ จนได้เป็นหนังสือ มนุษย์ปากคลอง Humans of Flower Market และนิทรรศการชื่อเดียวกันที่เล่าอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคตที่ชาวปากคลองฯ คาดหวังผ่านถ้อยคำของพวกเขาเอง

ปากคลองฯ ที่เคยเป็นถูกบันทึกไว้ในโปรเจกต์ ส่วนปากคลองฯ ของจริงถูกจัดระเบียบ โยกย้าย พ่อค้าแม่ค้ากระจายไปคนละทิศละทาง

“สุดท้าย เรายังรู้สึกว่าทำโปรเจกต์เสร็จแล้วยังช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้เลย” นุ้ยว่าอย่างนั้น ก่อนจะต่อยอดหนังสือที่ทำเป็นแคมเปญ #ตามหามนุษย์ปากคลอง ด้วยการโพสต์ภาพพ่อค้าแม่ค้าในเล่มและชวนชาวปากคลองฯ มาช่วยกันปักหมุดว่าพวกเขาเหล่านั้นย้ายไปขายของที่ไหน 

แต่แค่นั้นเหมือนจะยังไม่พอ

 

ห้องแล็บดอกไม้

ปี 2560 นอกจากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สุพิชชายังรับหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง (ASA CAN) ซึ่งจัดเวิร์กช็อปทุกปี ในปีนั้น โจทย์ของเวิร์กช็อปคือพื้นที่ปากคลองตลาดและบางลำพู

งานนี้ทำให้เธอได้รู้จักสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงที่สนใจสีสันของปากคลองฯ เป็นพิเศษ เมื่อประกอบกับแผนสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะมีสถานีมาโผล่ที่ปากคลองฯ พอดี (ตอนนี้เปิดให้บริการแล้ว) ทีมสถาปนิกรุ่นใหม่จึงชวนสุพิชชาทำ Flowerlab โปรเจกต์ห้องแล็บดอกไม้ที่ทดลองชวนคนภายในและภายนอกชุมชนมาพบปะกัน

ภาพจาก facebook.com/flowerhubspace

“เด็กๆ ที่มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปสถาปนิกอาสาเขาเห็นว่าพอมีรถไฟฟ้า คนจะเดินทางมายังปากคลองฯ ได้ง่ายขึ้น เขาจึงอยากให้ปากคลองฯ เป็นมากกว่าพื้นที่ขายดอกไม้แต่มีฟังก์ชั่นเป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ด้วย แม้จะไม่ได้ช่วยในเชิงเศรษฐกิจโดยตรง แต่อย่างน้อยก็จะมี traffic เพิ่มขึ้น”

สุพิชชาเล่าว่าครั้งนั้น สถาปนิกรุ่นใหม่ตกแต่งพื้นที่บนชั้นสองของตลาดยอดพิมานด้วยตะกร้าสาน เปิดเป็นลานเวิร์กช็อป แล้วชวนพ่อค้าแม่ค้า ช่างฝีมือมาเป็นวิทยากรสอนร้อยมาลัย ก่อนจะต่อยอดเป็นงานดอกไม้หลายเวิร์กช็อป ทั้งทำกระทง (ถึงตอนนี้เราก็ลืมไปแล้วว่าทำกระทงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่) หรือเวิร์กช็อปคอนเซปต์จัดแบบการจัดดอกไม้ให้ผู้ชาย

“เวิร์กช็อปในช่วงนั้นเปิดรับสมัครทั้งคนทั่วไป และ Once Again Hostel ที่อยู่แถวนั้นก็พาแขกในโรงแรมมาร่วมกิจกรรมด้วย จากที่คิดว่าโปรเจกต์นี้จะไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดนั้น กลายเป็นว่าเราได้เห็นพื้นที่ว่างในปากคลองฯ ที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ ความสามารถของช่างที่ยังไม่ถูกนำไปใช้มากกว่าการทำงานอยู่หลังร้าน เราจึงเริ่มเห็นว่าเวิร์กช็อปเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นไปได้”

 

คุณป้าดอกไม้ไซเบอร์

ร้านอาหารที่หน้าร้านซบเซายังมีบริการอาหารเดลิเวอรีเป็นทางรอด แล้วทำไมปากคลองตลาดที่เงียบลงจะจัดส่งดอกไม้เดลิเวอรีเพื่อกระตุ้นการขายไม่ได้

หลังจากทดลองทำห้องแล็บดอกไม้ได้ไม่นาน สุพิชชาก็ได้ทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาทำ flowerhub.space เว็บไซต์ที่ย้ายปากคลองตลาดจากออนกราวนด์ไปสู่ออนไลน์

ในเว็บไซต์นี้ สุพิชชารวบรวมโปรเจกต์ทั้งหมดเกี่ยวกับปากคลองมาไว้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ชุมชนจากการพานักศึกษาลงพื้นที่, ถ้อยคำจากมนุษย์ปากคลองฯ ที่นุ้ยและเพื่อนๆ สัมภาษณ์, มีเวิร์กช็อปสม่ำเสมอ และที่สนุกคือมีร้านค้าดอกไม้ใบไม้ของปากคลองรวมตัวอยู่ที่นี่ด้วย สนใจดอกไม้อะไร ร้านไหน ก็ทักไปซื้อกับร้านได้โดยตรง

แต่ไฮไลต์จริงๆ ของเว็บไซต์นี้คือ ‘ป้าบอท’ คุณป้าแชตบอตเจ้าถิ่นผู้รอบรู้เรื่องปากคลอง อยากซื้อดอกไม้อะไร เพียงแค่พิมพ์ลงไปบอกป้า ระบบก็จะประมวลผลและกลับมาบอกว่าร้านค้าอะไรมีดอกไม้ชนิดนั้นขายบ้าง

“โปรเจกต์นี้เริ่มในปี 2560 ตอนนั้นแม่ค้ายังไม่เน้นขายออนไลน์เลย กว่าจะได้ข้อมูลมาลงในเว็บเราต้องจดเองทั้งหมด  เช่น ร้านนี้มีดอกไม้ 40 ชนิดก็ติ๊กไป ถ่ายรูปเองด้วยนะเพราะตอนนั้นพ่อค้าแม่ค้าหลายคนยังไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์ ได้ข้อมูลมาประมาณ 50 ร้าน”

ในฐานะคนที่ไม่เชี่ยวชาญการเดินปากคลองฯ แค่ flowerhub.space เกิดขึ้นก็ช่วยให้การซื้อดอกไม้ง่ายขึ้นแล้ว แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่เคยเห็นปากคลองฯ ยุครุ่งเรืองมาก่อน แค่นี้คงยังไม่เพียงพอ

สุพิชชาเห็นด้วย ระหว่างที่กำลังขบคิดสเตปถัดไป ฟ้าก็ส่งโปรเจกต์ใหญ่มาให้เธอและชาวปากคลองฯ

 

TEDxปากคลองฯ

“ผ่านไปปีครึ่งหลังการจัดระเบียบ ปากคลองตลาดเงียบมาก​เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าปากคลองตลาดปิดไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือพ่อค้าแม่ค้ารายหลักเขาก็ยังอยู่กัน วันหนึ่ง พี่อ้อยเจ้าของร้านดอกไม้ใหญ่ในปากคลองฯ เลยโทรมาหาเรา บอกว่าเวิร์กช็อปที่เราจัดมันก็ดีน่ะนะแต่ว่ามันสร้างแต่ประสบการณ์ ไม่ได้สร้างรายได้ ศักดิ์และศรีของการเป็นแม่ค้าปากคลองมันก็ไม่สวยเท่าเดิม

“สมัยเราเรียนศิลปากร สมมติเราไปถ่ายรูปแม่ค้าปากคลองฯ เขาจะรำคาญแบบ โอ๊ย ไปไป๊ จะขายของ แต่ปัจจุบันคือปากคลองฯ เงียบลงมากจนอยากให้คนมาถ่ายรูป ที่เจ็บสุดคือพี่อ้อยบอกว่าแม่ค้าโดนฝรั่งถามว่า Where is the flower market? ดังนั้นโจทย์ที่เขาให้เรามาคือทำยังไงก็ได้ให้คนกลับมาเดินปากคลองฯ”

จังหวะนั้น โทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีกครั้ง เป็นสายจากหน่อไม้ที่ชวนสุพิชชาและโปรเจกต์พัฒนาปากคลองไปร่วมมือกับโครงการระดับเมืองอย่าง TEDxBangkok

humans of flower market

“เราเริ่มต้นทำงานกับ TEDxBangkok ในปี 2560 มันทำให้เราตั้งคำถามกับคำว่า Ideas Worth Spreading ว่าแล้วควรจะทำยังไงให้คนไม่ได้มาฟังทอล์ก รับไอเดีย แล้วก็ลืม ในปี 2561 เราเลยต่อยอดคอนเซปต์เป็นเรื่อง Ideas to Action คือไม่ต้องไปนั่งฟังสปีกเกอร์แล้ว แต่เราจะชวนคนมาทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เขาได้สัมผัสไอเดียนั้นจริงๆ” หน่อไม้เล่า

“ตอนนั้นเราได้รับโจทย์หมวดศิลปะและดีไซน์ ด้านศิลปะเราทำงานไลต์ติ้ง ส่วนด้านดีไซน์ สำหรับเรา คำว่าดีไซน์ไม่ใช่แค่งานของดีไซเนอร์แต่เราสนใจงานออกแบบในวัฒนธรรมไทย เช่น street furniture ที่ทำกันเองตามการใช้งาน​

“รีเสิร์ชไปรีเสิร์ชมา เราก็เจอว่าอาจารย์หน่อง (สุพิชชา โตวิวิชญ์) ทำเรื่องปากคลองฯ ตลาดอยู่พอดี รวมถึงมีแบ็กกราวนด์เป็นการทำงานดีไซน์ร่วมกับชุมชนมาตลอด มีงานวิจัยจริงจัง ก็เลยชวนมาทำกิจกรรมด้วยกันที่ปากคลองฯ”

โทรศัพท์ 2 สาย กลุ่มคน 3 กลุ่ม รวมตัวกันเป็นหนึ่งโปรเจกต์ ปากคลองตลาดดีไซน์วีค ที่ชวนดีไซเนอร์ 6 กลุ่มมาจับคู่กับร้านดอกไม้สร้างงานดีไซน์ลงในพื้นที่จริง ชวนกลุ่มคนทำงานศิลปะกลุ่มต่างๆ มาทำนิทรรศการเล็กๆ ป๊อปอัพอยู่ในมุมต่างๆ ของปากคลอง บวกด้วยไฟนอลโปรเจกต์ของนักศึกษาออกแบบ ม.กรุงเทพ ที่เรียนกับพี่อ้อย เจ้าของร้านดอกไม้ที่โทรหาสุพิชชา ปิดท้ายด้วยทัวร์พาเดินย่านชมย่านโฉมใหม่จากการร่วมแรงร่วมใจของคนหลายๆ ฝ่าย

PHKA x ตลาดส่งเสริมการเกษตร | ภาพจาก n012mal.wordpress.com

“เราอยากทำงานที่มันเข้ากับพื้นที่จริงๆ อยู่ในร้านจริงๆ ใช้วัสดุที่มีในชุมชน หรือในระดับอุดมคติเลยคือสามารถใช้ได้นานๆ หรือตลอดไป ตอนนั้นเราเริ่มจากการจับคู่สตูดิโอออกแบบกับร้านดอกไม้ มีสตูดิโอดอกไม้อย่าง PHKA มาร่วมด้วย มีนักทำลายผ้า Did you see any pattern? หรือสตูดิโอ Monkey Coconut ก็มาทำงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพวงหรีด

“สำหรับเรามันคือ live exhibition คือการบูรณาการ ทดลอง เรียนรู้ร่วมกัน นอกจากดีไซเนอร์เราก็ชวนแก๊งที่ขับเคลื่อนเมืองอย่าง SATARANA มาทำหนังสือพิมพ์แผนที่ปากคลองให้คนมาเดินดูงาน มีกลุ่มนักวาด Bangkok Sketchers มาวาดรูปในพื้นที่ วาดแล้วก็ติดไว้ให้ที่ร้านเลย กลางคืนก็มีดีไซน์วีคให้คนเดินตามแมปไปถ่ายรูปงานในร้านต่างๆ คนเข้าร้านก็เยอะขึ้น มีคนถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ทำให้ที่นี่กลับมาคึกคักจริงๆ”

Did you see any pattern x น้องนัท ปากคลองตลาด.คอม & ท่าเรือยอดพิมาน | ภาพจาก n012mal.wordpress.com

 

ให้ดอกไม้เป็นเครื่องเยียวยา

ปากคลองฯ คึกคักได้ไม่ทันไร โควิด-19 ก็มาเคาะประตู

โรคร้าย หากมีวัคซีนรักษาก็มีโอกาสหาย แต่สำหรับเศรษฐกิจที่กำลังพังทลาย ครั้งนี้สุพิชชาทดลองใช้แฮชแท็ก #letsbuyflower เป็นเครื่องมือ

“ช่วงโควิดเราว่างจนซื้อดอกไม้มาแต่งบ้านเยอะมาก ก็เลยเกิดไอเดียว่าจะทำแฮชแท็ก #letsbuyflower เริ่มจากไปป้ายยาเพื่อนๆ ที่ชอบของสวยๆ งามๆ ให้มาซื้อดอกไม้กัน พ่วงกับการเอา flowerhub.space มาโปรโมตอีกครั้งเพื่อให้คนสามารถซื้อดอกไม้ได้ง่าย

“ก่อนหน้านี้ทีมของเราต้องไปชวนพ่อค้าแม่ค้ามาร่วมแพลตฟอร์ม เขาก็ไม่ค่อยจะสนใจหรือเห็นประโยชน์ แต่พอเกิดโควิด แม่ค้าก็เริ่มส่งข้อความอินบอกซ์มาถามว่าทำยังไงถึงจะได้เข้ามาอยู่ในเว็บ เขาเห็นแล้วว่าในช่วงเวลาแบบนี้ออนไลน์คือคำตอบเดียว”

หากอ่านเรื่องดอกไม้และปากคลองฯ มาถึงตรงนี้แล้วอดรนทนไม่ไหว อยากซื้อดอกไม้มาแต่งห้องให้ชื่นใจ วิธีซื้อดอกไม้ใน flowerhub.space เข้าใจง่าย จะเริ่มจากการส่องดอกไม้ประเภทที่สนใจแล้วค่อยมองหาร้านที่ขายดอกไม้ชนิดนี้ก็ได้ หรือจะเริ่มจากการจิ้มเลือกร้านแล้วสำรวจประเภทดอกไม้ที่มีขายก็ได้เช่นกัน หรือถ้าขี้เกียจกว่านั้น ให้ป้าบอทแนะนำก็เป็นทางออกที่รวดเร็ว

เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะซื้อดอกไม้ที่ร้านไหน เราสามารถติดต่อร้านค้าได้โดยตรงเพื่อสอบถามราคา บางครั้งร้านอาจจะมีดอกไม้แปลกๆ มาใหม่ที่ยังไม่ได้อัพเดตในเว็บ เมื่อตกลงกันพอใจก็โอนเงินและเรียกรถไปรับดอกไม้มาส่งที่บ้านได้เลย

จะว่าง่ายก็ง่าย แต่บางคนอาจรู้สึกว่าไม่ทันใจเหมือนการสั่งอาหารจากเมนูในแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี ที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะทีมงานคิดไม่ถ้วนทั่ว กลับกัน มันเป็นเพราะสุพิชชาทำงานกับดอกไม้มาหลายปีจนรู้ดีว่าข้อจำกัดของการขายดอกไม้ในเมืองไทยคืออะไร

“อย่างแรกเลย ค่าดอกไม้ในแต่ละวันไม่ตายตัวเหมือนอาหาร ยากมากที่จะมีแคตตาล็อกถาวรได้ ฉะนั้นแพลตฟอร์ม flowerhub.space จะใช้วิธีเชื่อมกับไลน์ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ของร้านค้าแทน ให้ไปติดต่อโดยตรง ลักษณะคือต้องทัก ต้องคุยกัน เหมือนเดินตลาดเลย วันนี้มีดอกไม้อะไรบ้างก็พิมพ์ไปถาม ยกเว้นบางร้านที่มีเว็บไซต์”

“ที่ใช้ระบบแคตตาล็อกไม่ได้เพราะคุณภาพของดอกไม้ที่ขายในไทยยังไม่ได้มาตรฐานเท่าเมืองนอก” หน่อไม้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับร้านดอกไม้อธิบายเพิ่ม “ที่เมืองนอกเขาจะแยกดอกไม้เป็นเกรดชัดเจนก่อนขาย แต่ของไทยมักจะคละกัน และแต่ละวันก็คาดเดาได้ยาก จึงยังต้องอาศัยการพูดคุยกับลูกค้าอยู่ว่าสภาพดอกไม้แต่ละล็อตเป็นยังไง ใช้การถ่ายภาพให้ดูวันต่อวัน”

ถึงอย่างนั้นพ่อค้าแม่ค้าหลายคนที่เพิ่งเข้าสู่วงการค้าขายออนไลน์ก็ยังจัดการขายได้ไม่คล่องแคล่ว ในระยะนี้ สุพิชชาจึงกำลังตามหาคนที่จะมาช่วยเหลือผู้ค้าให้ใช้เทคโนโลยีได้เข้ามือ

“เราอยากจะทำเวิร์กช็อปให้แม่ค้าเข้าใจการขายออนไลน์มากขึ้น ถ่ายรูปเป็นมากขึ้น หรืออีกทางคือเราอยากมีอาสาสมัครช่วยถ่ายรูปและตอบไลน์​ ใครสนใจก็อินบอกซ์มายังเพจมนุษย์ปากคลองฯ ได้” เธอหัวเราะแล้วบอกว่าชวนจริง สมัครได้จริง ไม่ล้อเล่น

 

ปากคลองฯ Strike Back

ล่าสุด 25 กันยายน – 11 ตุลาคมนี้ สุพิชชา นุ้ย หน่อไม้ และทีมกำลังร่วมกันทำงานใหม่ในชื่อ ‘ปากคลองฯ Strike Back!’ #เดินหลงในดงดอก เพื่อให้ปากคลองตลาดกลับมาไฉไลอีกครั้ง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกฎบัตรแห่งชาติและกฎบัตรรัตนโกสินทรให้การสนับสนุน

งานนี้รวมกิจกรรมไว้มากมาย เริ่มตั้งแต่ควิซคุณเป็นดอกไม้แบบไหนที่ทำได้จากหน้าคอมฯ, มีกิจกรรม Hide & Seek ที่ทีมเอาภาพถ่ายมนุษย์ปากคลองฯ ของนุ้ยไปซุกซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ ให้เราได้เดินตามหาและทำความรู้จักเรื่องราวของผู้คนในย่านไปเรื่อยๆ และนอกจากนี้ยังมี Flower Tracking: Hide and Seek in Flower Market ที่ชวนไปตามหาสัญลักษณ์ดอกไม้ประเภทต่างๆ ในปากคลองตลาด เมื่อเจอแล้วและใช้มือถือสแกน เราจะได้รับ interactive filter ที่ทำให้มองเห็นดอกไม้ที่เสมือนซุกซ่อนอยู่ตามถนนหนทาง

ที่สำคัญ ระหว่างไปเดินเล่น ถ่ายรูปดอกไม้ (ทั้งดอกไม้จริงและดอกไม้ในฟิลเตอร์) แล้วจะซื้อดอกไม้ใบไม้จากร้านแถวนั้นติดมือกลับไปประดับบ้านก็ได้ แม่ค้าจะยินดีจนแก้มปริเชียวแหละ

แต่ก็เช่นที่ผ่านมา สุพิชชาบอกว่างานครั้งนี้ไม่ใช่จุดจบความสัมพันธ์ระหว่างเธอและปากคลองตลาดแน่นอน

“เราอยากชวนคนที่อยากใช้สกิลตัวเองให้เป็นประโยชน์ อะไรก็ได้เลยนะ มาช่วยกัน จุดประสงค์ก็คือทำยังไงก็ได้ให้ปากคลองฯ คึกคัก ขายดีและมีบรรยากาศที่ดี เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่ยังเป็นเรื่องการสนับสนุนศักดิ์ศรีของตลาดและชุมชนด้วย”

ปากคลองตลาดในอดีตและปัจจุบันเป็นยังไง ทีมงานมนุษย์ปากคลองฯ ลงมือบันทึกไว้แล้ว แต่ปากคลองตลาดในอนาคตจะมีหน้าตาและบรรยากาศแบบไหน ไม่แน่ เราอาจจะมีส่วนร่วมออกแบบก็ได้

หากคิดไม่ออกว่าจะทำได้ยังไง ลองเริ่มต้นด้วยการซื้อดอกไม้จากปากคลองฯ ก็น่าสนุกดี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย