วิธีเดินเข้าป่าแบบไม่ทำร้ายใคร

ปัจจุบันมองไปทางไหนในหน้านิวส์ฟีด ก็มีแต่คนพูดถึงเหตุการณ์ลักลอบสังหารสัตว์ป่าหายากโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม

นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับข่าว ประเด็นหนึ่งที่เราสนใจคือ มีคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับข่าวนี้มากกว่าที่เราคิด

มันคงจะดีถ้าคนรุ่นต่อๆ ไปรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติและอยากปกป้องเมื่อมันถูกคุมคามเหมือนตอนนี้ การท่องเที่ยวเป็นวิธีการหนึ่งที่ชวนให้คนรู้จักธรรมชาติมากขึ้น แต่การเที่ยวป่าที่ ‘เป็นมิตร’ จริงๆ ควรทำอย่างไร เราควรระวังอะไรบ้างระหว่างการท่องเที่ยวเพื่อให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ เราจึงชวน ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว พูดถึงสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ และข้อสงสัยบางอย่างในการเข้าป่าอย่างไม่ทำร้ายธรรมชาติ จากบทสนทนาทั้งหมดนั้น พวกเรารวบรวมสรุปเป็น 3 ข้อห้าม 3 คำแนะนำ และ 1 การตอบข้อสงสัยในการเข้าไปสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลทำให้เราค้นพบว่า ‘ถ้าเทียบกับผืนป่า ตัวเราไม่ได้ใหญ่อย่างที่เคยคิด’

3 คำแนะนำ

1. รู้จักป่าและกฎของป่า

ก่อนจะเข้าป่า เราต้องรู้จักป่ากันก่อน ปัจจุบันป่าในประเทศไทยนั้นถูกแบ่งย่อยประเภทแตกต่างกันไปตามกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ ประเภทที่แตกต่างนี้นำมาซึ่งกฎระเบียบในการขออนุญาตและข้อตกลงเวลาในการเข้าพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.1 อุทยานแห่งชาติ เขตพื้นที่ธรรมชาติที่น่าสนใจ ได้รับการก่อตั้งเป็นอุทยานตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ มีจุดประสงค์เพื่อคงสภาพให้อยู่ในสภาพเดิมและเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและศึกษาของประชาชน

1.2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อให้สัตว์ป่าในบริเวณนั้นมีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

1.3 เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากหรือถูกคุกคาม เพื่อให้สัตว์ป่าบริเวณนั้นมีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

ป่าอนุรักษ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีข้อกำหนดในการเข้าไปท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน อุทยานแห่งชาติสามารถเข้าไปได้เลยโดยผ่านเจ้าหน้าที่ที่หน้าอุทยานตามเวลาที่กำหนด ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้นต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ก่อน 5 วันทำการ พร้อมเอกสารและหลักฐานตามข้อกำหนด (เอกสารขออนุญาตสามารถดูได้ที่ http://www.dnp.go.th/wildlifednp/เอกสาร/permission00.pdf) โดยป่าทั้ง 3 ประเภทนั้นล้วนมีการกำหนดพื้นที่และข้อปฏิบัติที่มนุษย์สามารถทำได้โดยไม่แทรกแซงธรรมชาติมากจนเกินไป

2. ช้าลง

เชื่อว่าหลายคนที่เข้าป่าเป็นคนเมืองที่อยากกลับไปสัมผัสธรรมชาติ ถ้ามีอะไรสักอย่างที่พอจะแนะนำได้ เราคิดว่าการเข้าป่านั้นไม่ได้ไปแต่ตัว แต่จิตใจที่เคยสัมผัสแต่ความเร่งรีบนั้นควรผ่อนลง ช้าลง ให้ประสาทสัมผัสเราได้พัก บางทีการเร่งรีบตลอดอาจทำให้เราเผลอเอาความเร่งรีบนั้นเข้าป่ามาด้วย แต่ผืนป่าคงอยากให้เราช้ามากกว่าเร่ง เมื่อเราช้า ความถ่อมตัวและน้อมรับต่อธรรมชาติล้วนเกิดขึ้น หลายงานวิจัยบอกว่าการดำรงอยู่ในธรรมชาติอย่างเนิบช้าล้วนส่งผลดีต่อใจและกาย

3. ลดความต้องการ

ค่อนข้างย้อนแย้งที่หลายคนอยากปกป้องธรรมชาติ แต่เวลาไปเที่ยวกลับเรียกร้องความสะดวกสบายที่ธรรมชาติหาให้ไม่ได้ การนำเอาความสะดวกสบายเข้ามาล้วนเป็นการแทรกแซงและกระทบการมีอยู่เดิมของธรรมชาติ ซึ่งแท้จริงแล้วความต้องการการบริการระดับ 5 ดาวของเรานั้นเทียบไม่ได้เลยกับการยอมอดทนสักนิดแล้วแหงนมองขึ้นฟ้า ที่นั่นไม่ได้มีดีแค่ดาว 5 ดวง แต่บนท้องฟ้ามีดาวอยู่เป็นล้านๆ ดวง ดังนั้นการอยู่โดยใช้ของเท่าที่จำเป็นอาจทำให้เราใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งกับผืนป่ามากขึ้น

3 ข้อห้าม

1. ไม่ทำร้าย ไม่ทำลาย เรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้

ถ้าพูดกันตามตรง หลักการไม่ทำร้ายเพื่อนร่วมชีวิตดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนน่าจะรู้กันอยู่แล้ว (?) ซึ่งนอกจากข้อนี้ ในแง่ภาพรวม ทางภาครัฐยังมีระบบที่จะแบ่งประเภทของผืนป่าเป็นกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์และสร้างข้อตกลงที่ยั่งยืน เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแบบที่เราเห็นตามข่าว หรืออุทยานแห่งชาติที่มีระบบระเบียบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ดังนั้นปัญหาข้อนี้จึงไม่ใช่เรื่องอื่นใดเลย นอกจากคำคำเดียวว่า ‘สามัญสำนึก’

2. ไม่แทรกแซง

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าแค่การไม่ทำลายและไม่ทำร้ายก็เพียงพอแล้วในการเที่ยวชมป่าอย่างเป็นมิตร ทำให้หลายครั้งเรามักจะมองข้ามการกระทำบางอย่างที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆ สิ่งเหล่านั้นกลับกำลังกระทบโครงสร้างของระบบนิเวศโดยที่เราไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ ที่เราทำไปด้วยความหวังดีแต่กลับส่งผลเสียบางอย่าง เช่น การให้อาหารสัตว์ การกระทำนี้จะทำให้สัตว์เกิดอาการเสียนิสัย (ใช่ สัตว์ก็เสียนิสัยได้เหมือนกันนะ) ในระยะยาว ภาวะนี้จะส่งผลเสียต่อทั้งสัตว์และทั้งเรา สัตว์จะไม่เรียนรู้ในการหาอาหารเองตามธรรมชาติ และรอคอยอาหารที่มาจากมนุษย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเข้ามาใกล้ชิดของสัตว์นี้อาจสร้างอันตรายให้กับมนุษย์ได้ทั้งเรื่องการขับรถชนสัตว์หรือสัตว์เข้ามาทำร้าย

ดังนั้นวิธีจัดการปัญหานี้จึงเกิดจากความคิดเบื้องต้นง่ายๆ ว่า เขาอยู่อย่างไร เราจงเคารพพื้นที่ของเขาและไม่เข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตมากเกินไป ถ้าพูดให้ลึกกว่านั้น เราเป็นเพียงแค่ผู้เฝ้าดูที่รับพลังจากธรรมชาติผ่านสายตา นั่นเป็นเหตุผลที่หลายพื้นที่แบ่งโซนสำหรับดูสัตว์ไว้โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการดำรงแบบเดิมของมันมากจนเกินไป

3. ไม่นำเข้ามากไป ไม่เอาออกมากไป

เรื่องที่เป็นปัญหาของพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งในประเทศไทย คือการที่นักท่องเที่ยวนำสิ่งของติดตัวเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติมากเกินไป สิ่งของเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่ขยะ สารเคมีจากแชมพูที่เราสระผมกันในน้ำตก หรือแม้กระทั่งแสงไฟเกินจำเป็นที่รบกวนสัตว์ยามค่ำคืน

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าภาระจากขยะเหล่านี้ล้วนตกเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่ต้องมาตามเก็บหลังจากเทศกาลท่องเที่ยวในทุกๆ ปี ทั้งๆ ที่ถ้าเรามองกันจริงๆ สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่ต้องเป็นภาระของเจ้าหน้าที่เลยถ้าทุกคนรับผิดชอบสิ่งของของตัวเองให้เรียบร้อย พกอะไรเข้าไปก็เอาออกมาเท่านั้น ถุงขยะเตรียมไปเองเพื่อใช้เวลากับผืนป่าโดยไม่ทำร้ายกันและกัน

1 ข้อสงสัย

จากข้อแนะนำและข้อห้ามที่กล่าวไป เราเชื่อว่าจริงๆ แล้วกำลังมีหลายคนที่ปฏิบัติตามกฎเพื่อรักษาสมบัตินี้ให้ดำรงอยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่คอยทำลายกำลังใจคนเหล่านั้นทุกครั้งคงเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง หลายสถานที่ล้วนเสื่อมโทรมลงเพราะผู้ทำลายมีมากกว่าผู้รักษา ซ้ำร้ายกับข่าวที่กำลังเป็นประเด็นในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เราตั้งคำถามด้วยความท้อใจว่าต่อให้เราทำในส่วนของเราให้ดีสักแค่ไหน แต่ด้วยแรงของเราเพียงคนเดียว มันสามารถพลิกฟื้นผืนป่าหลายร้อยไร่ให้ดีขึ้นได้จริงเหรอ

ลองนิ่งเงียบและฟังเสียงจากผืนป่า เราอาจจะได้ยินเขาตอบมา

“ได้สิ”

ลองมองย้อนกลับไปดูเมื่อหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้

ไม่ใช่เราเหรอที่โกรธแทนผืนป่าเมื่อเห็นภาพเสือดำเหล่านั้น

ไม่ใช่เราเหรอที่แชร์ข่าวนี้เป็นหมื่นเป็นแสนแชร์จนเกิดเป็นกระแสสังคม

ไม่ใช่เราเหรอที่ยังคงไม่ลืมและติดตามข่าวนี้จนไม่เงียบหายไป

ไม่ใช่เราเหรอที่กำลังต่อสู้กับคนบนยอดปีระมิดและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเสือดำที่ตายไป

ไม่ใช่เราเหรอ… ที่กำลังพูดแทนธรรมชาติอยู่ตอนนี้

มือของเราอาจจะเล็กเกินที่จะพลิกฟื้นผืนป่า แต่มือน้อยๆ เนี่ยแหละที่จะไม่ยอมให้เกิดเรื่องไม่เป็นธรรม เราคอยเตือน คอยระวังภัยให้กับธรรมชาติได้

ใช่ เราเป็นมิตรและปกป้องผืนป่าไปในเวลาเดียวกันได้นะ

ดังนั้น อยู่ที่เราแล้วว่าจะเลือกปฏิบัติต่อธรรมชาติแบบไหนและเราจะทำอย่างไรกับกรณีข่าวที่เป็นกระแสบนโลกออนไลน์ในขณะนี้

จะนิ่งเฉย หรือ ปกป้อง?

อยู่ที่เราเลือกแล้วล่ะ

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา