เชียงดาวและความหวังของม้าเทวดา ในวันที่ธรรมชาติไม่อาจดูแลรักษาตัวเองได้อีกแล้ว

1       

มีเรื่องเล่านานมาแล้ว…

ราวปี 2528 มีชายผู้มุ่งมั่นทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับการอนุรักษ์ผืนป่า เขาเดินทางไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย พิกัดบนดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการศึกษาและวิจัยกวางผา สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งที่สมัยนั้นยังพบข้อมูลไม่มากนัก รู้เพียงว่าเจ้านั่นเป็นสัตว์สงวนที่หายาก

เขาจึงทำการศึกษา วิจัย และสำรวจความเป็นอยู่ ดูอาณาเขต การกินอยู่และการใช้ชีวิต จนพบว่าในพื้นที่มีจำนวนกวางผาเพียง 20 ตัว และไม่มีข้อมูลใดยึดเป็นหลักฐานได้เลยว่า พื้นที่อื่นๆ เหลือจำนวนประชากรกวางผาเท่าไหร่ การศึกษาวิจัยนี้ถือเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ของเขาเลยก็ว่าได้

กวางผาถูกเรียกขานในหลายชื่อแล้วแต่พื้นที่ อย่างชนเผ่าม้งจะเรียก ซาย, ชาวมูเซอเรียก อาชิ ที่มีความหมายคือ ม้าเทวดา คำในภาษาเหนือคือ เยืองหม่น ส่วนชื่อสามัญคือ Burmese Goral และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Naemorhaedus evansi 

กวางผาเป็นสัตว์ตระกูลแพะภูเขา ลักษณะแตกต่างจากเลียงผา ด้วยเลียงผามีขนสีดำ ลำตัวยาว หัวและขาดูใหญ่โตกว่ากวางผาที่มีลำแข้งเรียวงาม

กวางผามีชีวิตที่พิเศษ สามารถโลดแล่นไปตามแนวผาได้อย่างคล่องแคล่ว ใช้ชีวิตอยู่ตามผาสูง ยืนสง่าได้บนชะง่อนหินแคบๆ จึงมีความเชื่อว่า กวางผามีคุณสมบัติสำหรับการทำเป็นยารักษาโรคกระดูกได้ ดังนั้นนอกจากการตายเพราะสภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติและการโดนล่าไปเป็นอาหารแล้ว กวางผายังต้องเรียนรู้ระวังภัยจากการล่าตามใบสั่งเพื่อค้าขายอีกทาง

5 ปีให้หลัง โครงการติดตามกวางผาดูคล้ายจะสิ้นสุดลง เมื่อเสียงปืนหนึ่งนัดดังขึ้นในป่า เป็นเสียงที่ดังมาจากการลั่นไกเพื่อปลิดชีพตัวเอง ชายผู้มุ่งมั่นทำงานหนักกับการอนุรักษ์ป่าไม้ หวังให้เสียงกระสุนที่ดังก้องในป่าคืนนั้น กังวานพอจะพูดแทนสัตว์ป่าทุกตัวได้

โครงการอนุรักษ์กวางผาที่เขาได้เริ่มต้นขึ้นยังคงดำเนินต่อไป เขาจากไปเพียงตัวแต่สิ่งที่ได้ทุ่มเททำไว้ ถูกสืบต่อโดยนักอนุรักษ์รุ่นต่อไปที่ได้รับพลังงานดีๆ จากเขา เดินหน้าทำงานอย่างไม่ย่อท้อ 

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยเริ่มการเพาะเลี้ยงกวางผาเรื่อยมา จนในปี 2555 กวางผาที่อยู่ในการเพาะเลี้ยงดูแลถูกปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ เชียงใหม่ แม้จะมีกวางผาบางตัวล้มตายไปเพราะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ไม่ได้ก็ตาม 

พื้นที่ต่างๆ น่าจะมีกวางผามากกว่าในปัจจุบัน หากหน้าผาสูงซึ่งเป็นบ้านของพวกมันไม่ถูกถนนตัดผ่าน จนกวางผาถูกจำกัดพื้นที่อยู่อาศัยเหลือแคบลงเหมือนเกาะเล็กๆ ตัดขาดการไปมาหาสู่ของกวางผาต่างตระกูล เกิดปัญหาภาวะเลือดชิด (Inbreeding) ซึ่งเกิดจากการที่กวางผามีทางเลือกที่ผสมพันธุ์ได้แค่พวกเดียวกันเอง ส่งผลให้ทายาทรุ่นต่อไปของพวกมันอ่อนแอลง มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และส่งผลมากๆ ต่อการสูญพันธุ์ของกวางผาในอนาคต จึงต้องมีการเพาะเลี้ยงเพื่อกระจายความหลากหลายในการผสมพันธุ์ให้ได้มากยิ่งขึ้น

การจากไปของเขาในปี 2533 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ถูกยกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ผู้คนเริ่มมองเห็นความสำคัญของผู้พิทักษ์ป่า สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ได้รับการคุ้มครอง อื่นๆ อีกนานัปการที่เกิดขึ้นหลังการจากไปตลอด 30 ปีของเขา เป็นผลมาจากนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ที่ยังสืบเจตนานั้นต่อมาจนถึงทุกวันนี้ 

ไม่ต่างจากโครงการติดตามกวางผาที่เขาทุ่มเททำงานมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ถูกส่งไม้ต่อและยังดำเนินการอยู่ โดย ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ องค์กรที่ตั้งมาจากชื่อของเขา นักอนุรักษ์ป่าไม้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งผืนป่าตะวันตก

2

ผมเคยได้ยินมาบ่อยๆ ว่า ใครที่ได้ไปเดินดอยหลวงเชียงดาว ถ้าโชคเข้าข้างหน่อยอาจได้เจอกวางผาโผล่ออกมายืนสง่า อาบแสงแดดบนชะง่อนหินให้เราได้แชะภาพงามๆ แต่ผมคิดว่าผมน่าจะโชคดีกว่าที่ไม่ต้องลุ้นว่าจะเจอเจ้าตัวที่ว่าหรือไม่ เพราะทริปที่เดินทางร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะพาไปทักทายในโครงการติดตามกวางผา 

สมาชิกกวางผาที่ถูกเลี้ยงไว้ทั้ง 6 ตัว คือ ภูตะวัน, แตงโม, จริงใจ, ชมพู่, ไชยา และน้ำฝน ซึ่งถูกเบิกตัวจากหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เดินทางสู่กรงปรับสภาพบริเวณใกล้ดอยหลวงเชียงดาว ไปดูว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน กวางผาทั้ง 6 ตัว อาศัยอยู่ในกรงปรับสภาพมาตลอด 5 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ต้องขอบคุณน้องนัท ช่างภาพที่ผมชวนเดินทางมาด้วยกัน ระหว่างการเดินทางจาก กรุงเทพฯ ไปเชียงดาว เขาติดหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกวางผามาให้ผมอ่านแก้เบื่อ ผมเปิดหนังสือเล่มนี้อ่านเรื่อยๆ เผลอแป๊บเดียวก็พบว่าผ่านไปเกินครึ่งเล่ม หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า เงาตนบนรอยซาย เป็นผลงานของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือ พี่เชน นักเขียนและช่างภาพสัตว์ป่าคนสำคัญของประเทศไทยที่ร่วมเดินทางมาด้วยในทริปนี้

ตั้งแต่เช้าตรู่ เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงดาว ระยะทางร่วม 800 กิโลเมตร โดยสารโดยรถตู้ แวะพักรถ พักคน กว่าจะเดินทางมาถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ก็ถึงเวลาที่พระอาทิตย์เกือบจะหล่นลงภูเขา สภาพอากาศถ้าเทียบกับที่มหานครแล้วต่างกันราวฟ้ากับเหว ยิ่งเข้าไปในสถานีวิจัยที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม มีลำธารที่ไหลส่งเสียงเย็นๆ ตลอดเวลา มีภูเขาที่รายล้อม โอบกอดพื้นที่นี้ไว้ ยิ่งทำให้รู้เลยว่า ผมประมาทกับเรื่องสภาพอากาศไปมาก 

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว จากฤดู (ไม่) หนาวในกรุงเทพฯ สู่ฤดูหนาวที่เชียงดาว เพียงคืนแรก แผลร้อนในในช่องปากก็เริ่มเล่นงาน ยังดีที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ได้อาบน้ำ และมีถ้วยชาข้าวคั่วอุ่นๆ ในอุ้งมือที่หนึ่งในสมาชิกร่วมทริปชงแจกจ่ายทุกคนรอบวงสนทนา 

ก่อนนอนผมใส่เสื้อหนาๆ สองชั้น ห่มด้วยถุงนอนและผ้าห่มทับอีกชั้นช่วยบรรเทาความเย็นไปได้บ้าง ก่อนผล็อยหลับ ผมรู้แล้วว่าทำไมกวางผาเพาะเลี้ยงที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติบางตัวถึงไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิต 

3

ทุกคนตื่นมารับแสงยามเช้า เตรียมตัวเก็บข้าวของ ร่วมวงกันกินข้าว จิบกาแฟร้อนๆ ควันหอมฉุย พร้อมแล้วสำหรับการเดินทางขึ้นไปยังสถานีต่อไป

ชาวคณะเดินทางกันด้วยรถโฟร์วีลของเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยเพื่อขึ้นไปยังที่ทำการหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ผ่านเส้นทางทั้งคอนกรีต ดินแดง หลุมบ่อ รอบข้างอุดมไปด้วยพรรณไม้ประจำถิ่น

ใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมงกับเส้นทางเดินรถเด่นหญ้าขัด โยกเยกไปตามแรงเหวี่ยงของรถ ทั้งคณะก็เดินทางมาถึงที่หมาย

ทุกคนต่างแยกย้ายจับจองพื้นที่พักผ่อน บ้างกางเต็นท์ บ้างในอาคาร แล้วจึงมารวมตัวกินข้าวกลางวันง่ายๆ ที่จ่ายตลาดมาจากข้างล่าง เมื่อจัดการมื้อเช้าเรียบร้อย ผมหลบไปใช้เวลานั่งอ่านหนังสืออยู่กับลำแสงที่ส่องผ่านช่องว่างระหว่างต้นไม้ กะว่าจะให้ร่างกายได้เก็บอุณหภูมิอุ่นๆ ไว้ใช้ในยามค่ำคืน

…ฤดูแล้งราวปี 2532 สืบ นาคะเสถียร พร้อมคณะ มุ่งหน้าสำรวจหากวางผาบริเวณดอยม่อนจอง สำรวจครั้งนั้นพวกเขาเจอกวางผาราว 20 ตัว แม้การสำรวจหนนั้นจะได้ข้อมูลกวางผามากขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงาน

ขณะที่พวกเขากำลังไต่ลงไปตามทางลาดเพื่อมุ่งไปดูช่องหินที่คาดว่าน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของกวางผา ไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ลุกลามรวดเร็ว จนทำให้พวกเขาต้องหนีกันจ้าละหวั่น 

ทุกคนหลบไฟมาได้ เหลือเพียงเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่พลัดตกจากหน้าผาหมดโอกาสที่จะกลับขึ้นมา สืบสั่งให้คนที่ได้รับบาดเจ็บกลับไปรักษาแผลยังแคมป์ และส่วนที่เหลือรุดหน้าช่วยกันออกตามหาร่างของเพื่อนผู้โชคร้าย ตะวันตกดินก็ยังไร้วี่แวว รุ่งเช้าพวกเขายังคงเร่งตามหาจวบจนเข้าบ่ายถึงพบกับร่างไหม้เกรียมของเพื่อนคนนั้น ด้วยความลึกของก้นเหวทำให้ไม่สามารถลงไปกู้ร่างนั้นขึ้นมาได้ ใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงสามารถนำร่างของเพื่อนร่วมงานมาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล…

 (เรื่องเล่าจากหนังสือ เงาตนบนรอยซาย ของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ)

“เตรียมตัวออกเดินทางได้แล้ว” ใครสักคนตะโกนเสียงกังวานเป็นสัญญาณบอกทุกคน  

4

ชาวคณะเดินเรียงแถว เลาะเลียบไปตามไหล่เขาเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรงฝึกกวางผา สภาพอากาศด้านบนในช่วงบ่ายมีส่วนผสมระหว่างความเย็นและแสงอาทิตย์ อากาศจึงมีอุณหภูมิที่ลงตัวพอดีมากๆ สำหรับการเดินเขาด้วยระยะทางราว 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินชมวิว ชมพืชพรรณ พูดคุยกันไป ไม่ถึงชั่วโมงทุกคนก็มายืนอยู่หน้ากรงฝึกกวางผาเป็นที่เรียบร้อย

ผมวาดฝันก่อนมาว่าจะได้เห็นม้าเทวดายืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนหน้าผาสูงที่มีแสงพระอาทิตย์ฉายลงมาชโลมขนปุยๆ สีน้ำตาล และคิดว่าน่าจะได้ถ่ายภาพกวางผาที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีครามเข้มตัดกับยอดภูเขาที่ซ้อนทับเป็นชั้นๆ ไล่น้ำหนักเข้มไปอ่อน

แต่ผิดคาด! 

สิ่งที่เห็นตรงหน้าคือ กรง กรงที่ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนี้ กรงที่นี่คือรั้วล้อมรอบเนินภูเขาลูกเล็กๆ สูงแค่ตึกสองชั้น มีต้นไม้ขนาดกลางถึงเล็กยืนต้นสลับกัน มีโขดหินและหน้าผาสูงต่ำยื่นออกมา หญ้าสีเหลืองเขียวกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ เนินอีกฝั่งเป็นฐานบัญชาการหลังเล็กๆ ของผู้ดูแลที่มีทั้งห้องครัว ห้องนอนในตัวที่สร้างขึ้นแบบง่ายๆ 

ผมเพ่งตามองเห็นกวางผาอยู่ 2-3 ตัว ต่างใช้ชีวิตปกติ ด้วยการยืนอาบแดด เดินกระดิกหูไปมา นอนเคี้ยวเอื้อง และบางตัวลุกเดินทำท่าทีสงสัยเมื่อเห็นกลุ่มคนเยอะๆ ยืนล้อมรอบบริเวณริมรั้ว 

เจ้าหน้าที่ 2 คนเดินขึ้นไปด้านบนเพื่อตามเก็บ SD card จากกล้องดักถ่ายภาพที่ใช้จับภาพพฤติกรรมของพวกกวางผา ผมมองตามการเคลื่อนไหวขึ้นเนินคล่องแคล่วของเจ้าหน้าที่ และสังเกตเห็นว่าสมาชิกในกรงมีท่าทีคุ้นเคยกับคนเป็นอย่างมาก 

ข้างๆ ผม พี่เชนกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการส่องกวางผาผ่านวิวไฟเดอร์ เป็นภาพที่คุ้นตาเวลาที่ช่างภาพสัตว์ป่าคนนี้ปฏิบัติงาน

หลังจากทุกคนชื่นชมสำรวจพฤติกรรมของกวางผาในกรงเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ที่เดินไปเก็บ SD card กลับมาประจำการ วงสนทนาจึงก่อตัวขึ้น รูปถ่ายกวางผาจากกล้องดักถ่ายภาพฉายให้เห็นกวางผาข้างในกรงตัวหนึ่งกำลังต่อสู้กับกวางผานอกกรง 

“โครงการเริ่มมาตั้งแต่ 11 กรกฎาคม เราขนกวางผาจากหน่วยเพาะเลี้ยงอมก๋อย เข้ามาอยู่ในกรงปรับสภาพได้ไม่นาน กวางผาก็เริ่มแสดงตัวเป็นเจ้าของพื้นที่ของเขา โดยเฉพาะกรงด้านบนจะมีกวางผาตัวผู้ที่มีพฤติกรรมค่อนข้างก้าวร้าวและแสดงความปกป้องอาณาเขตเป็นอย่างมาก กวางผาตัวนี้ชื่อว่า ไชยา 

“เจ้าหน้าที่ตรวจดูเหตุการณ์จากกล้องดักถ่ายภาพ พบกวางผาตามธรรมชาติที่อยู่นอกกรงย่างเข้ามาในพื้นที่อยู่หลายวัน หลังจากนั้นเริ่มมีการแข่งขัน เหมือนพยายามป้องกันพื้นที่ ไชยาก็คิดว่ากรงของมันเป็นอาณาเขตของตัวเอง มีการปะทะด้วยการเอาหน้าผากชนกัน ส่วนกรงด้านล่าง กวางผาจะไม่ค่อยก้าวร้าวเท่าไหร่ใช้ชีวิตตามปกติ” มงคล สาฟูวงศ์ หรือหัวหน้าหมู หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เล่าเรื่องผ่านจอที่ทุกคนกำลังมุงดูอย่างสนใจ

“จุดประสงค์ของการนำกวางผาเพาะเลี้ยงมาอยู่ในกรงปรับสภาพเช่นนี้ เพราะครั้งหนึ่งเคยปล่อยกวางผาออกสู่ธรรมชาติ พวกมันต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมแบบกะทันหัน กวางผาบางตัวจึงปรับตัวไม่ได้ จนที่สุดก็พบว่ามีบางตัวที่ตาย ดังนั้นการนำกวางผามาผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า  Soft Release จะช่วยให้กวางผาทุกตัวมีประสิทธิภาพกับการใช้ชีวิตในธรรมชาติได้อย่างสูงสุด

“ทางหน่วยจะมีการฝึกตั้งแต่การปรับตัวกับอุณหภูมิ ดูแลเรื่องสภาพร่างกาย เราเริ่มฝึกกันมาตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ค่อยๆ ปรับ เราคิดว่ากวางผาชุดนี้ไม่น่ามีปัญหาเรื่องภูมิอากาศ เพราะเริ่มกันมาตั้งแต่ช่วงค่อยๆ หนาวจนผ่านช่วงหนาวจัดไปแล้ว สำหรับเรื่องอุณหภูมิคิดว่าไม่น่ามีผลต่อพวกเขาอีกแล้ว โดยสังเกตกวางผาจะมีการออกมาผิงแดดในตอนเช้าซึ่งมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับกวางผาในธรรมชาติ เพราะเขาจะรู้ว่าการเพิ่มอุณหภูมิให้อยู่ในธรรมชาตินั้นทำยังไง 

“ช่วงเริ่มแรก เรื่องอาหารจะใช้อาหารจากกรงเพาะเลี้ยง เพราะที่นั่นเขาฝึกมาแบบนั้น เราจะปรับเปลี่ยนทีเดียวเลยก็กลัวว่ากวางผาจะมีปัญหา จึงให้อาหารตามจำนวนที่เพาะเลี้ยงแนะนำมา พอเข้าเดือนที่สองเราเริ่มมีการปรับอาหารให้น้อยลง กวางผาก็เริ่มไปกินพวกหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในกรง เรามุ่งเน้นให้กวางผากินพืชเป็นอาหารหลักของพวกเขา” หัวหน้าหมูเล่าให้คนในวงฟังถึงความตั้งใจ

จากแค่เพาะเลี้ยงและปล่อยสู่ธรรมชาติ โครงการนี้ก้าวข้ามไปอีกขั้นด้วยการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นแรงสนับสนุนให้มีปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม (collar) ซึ่งจะใช้เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของกวางผา เก็บข้อมูลทุกๆ อย่างหลังจากถูกปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

“ปกติกวางผามีอาณาเขตหากินเฉพาะ โดยตัวผู้จะเป็นผู้ครอบครอง ส่วนตัวเมียไม่ค่อยมีปัญหาใดๆ ในเรื่องป้องกันพื้นที่เท่าไหร่ ดูจากลักษณะที่แข็งแรงบวกกับพฤติกรรมที่ค่อนข้างดูดุ กระฉับกระเฉง เราคิดว่าไชยาอาจเป็นตัวที่ต้องไปสู้กับกวางผาตัวผู้นอกกรง เพราะดูจากแนวโน้มไชยาจะก้าวร้าวกว่า 

“อนาคตอาจเป็นไปได้ที่ไชยาจะสู้ชนะจนได้ครอบครองพื้นที่ตรงนี้ อาจได้เป็นจ่าฝูง ครองตัวเมียทั้งในกรงและในธรรมชาตินอกกรง และอาจยึดครองขยับไปหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองสามารถไปสร้างฝูงได้มากยิ่งขึ้น เพราะกวางผาในธรรมชาติทุกที่ตอนนี้อาศัยอยู่กับพื้นที่ที่เป็นเกาะ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายด้วยตัวมันเองได้ เราก็ถึงเวลาที่คนต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ พวกนี้ด้วย ถ้าเรายังปล่อยไม่ทำอะไร ในอนาคตก็จะเจอปัญหา”

จากเดิมที่ใช้ปลอกคอติดแค่กวางผาที่อยู่ในกรง หัวหน้าหมูบอกว่ามีการปรับเปลี่ยนแผนนิดหน่อย โดยจะทำการจับกวางผานอกกรงตัวที่ปะทะกับไชยาให้ได้ เพื่อติดปลอกคอเก็บข้อมูลเช่นเดียวกัน

“ถ้าบังเอิญไชยาเก่งแต่ในกรงจะเป็นยังไง” มีความสงสัยจากวงสนทนา  

หัวหน้าหมูให้ความเห็นว่า “เราต้องให้โอกาส ให้เขาไปฝ่าฟันสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะเราไม่สามารถเลี้ยงเขาได้ตลอดชีวิต เขาก็ต้องไปปรับตัว ถ้าจุดนี้เขาสู้ไม่ได้ก็คิดว่าน่าจะมีจุดอื่นที่เข้าไปยึดครองได้”

อีกไม่นานปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมก็จะเดินทางมาถึง และไม่รู้ว่ากวางผาที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครั้งนี้จะเป็นยังไง ไขยาจะกล้าแกร่งและยืดครองพื้นที่ได้สำเร็จหรือเปล่า ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้คือ เรามีหวังว่ากวางผาจะไม่สูญพันธุ์ 

5

พระอาทิตย์ลาลับลงเขาไปแล้ว ความมืดเริ่มทำหน้าที่ ยิ่งมืดยิ่งหนาว…

ช่วงเวลาของอาหารค่ำมาแล้ว มื้อนี้เป็นรสมือจากทีมผู้พิทักษ์ป่า เมนูง่ายๆ ที่พวกเขาทำจากวัตถุดิบที่หาได้บริเวณสถานี มีทั้งน้ำแกงให้ซด ผัดรสจัด น้ำพริกแกล้มผัก เสียดายที่ผมมัวแต่กินจนลืมเงยหน้าถามว่า ในจานข้างหน้ามีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง

ถัดมาเป็นช่วงเวลาสรุปงานของหัวหน้าหมู ทุกคนมารวมกันอยู่หน้าโปรเจกเตอร์ ให้อารมณ์คล้ายการดูหนังกลางแปลง มีกองไฟสองกองที่ทุกคนจะเกาะกลุ่มรวมกันอาบความอบอุ่น สำหรับผม กองไฟเหมือนเป็นสิ่งปกป้องอันตรายให้กับทุกคนที่อยู่รายล้อมเงาเพลิง ผมจึงชื่นชอบบรรยากาศรอบกองไฟมาก

หัวหน้าหมูสรุปโครงการติดตามกวางผาตั้งแต่เริ่มปล่อยมาจนถึงปัจจุบัน เขาเล่าว่า กวางผาเปรียบดั่งเป็นสัญลักษณ์การอนุรักษ์สัตว์ป่าทางภาคเหนือและเป็นสัญลักษณ์การันตีความสมบูรณ์ในพื้นที่นั้นๆ กวางผายังทำหน้าที่เลือกกินพืช ควบคุมสังคมพืชให้เกิดความหลากหลาย และตัวมันเองก็ทำหน้าที่เป็นเหยื่อให้กับสัตว์ผู้ล่า เป็นวงจรที่สร้างความสมดุลในแบบฉบับของธรรมชาติ 

ผมจำได้ว่า ตราองค์กรของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็เป็นรูปกวางผากระโดดข้ามเปลวเพลิง สัญลักษณ์ที่บอกว่า กวางผานั้นคืองานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นแรกๆ ของ สืบ นาคะเสถียร และเปลวเพลิงเปรียบดั่งอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องเผชิญ ด้านบนประดับด้วยดวงดาวระยิบระยับ เปรียบเป็นเส้นทางแห่งกาลเวลาที่มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ส่วนใบไม้ด้านหลังคือธรรมชาติที่เกื้อกูลชีวิตสรรพสัตว์ทั้งหลาย 

หลังหัวหน้าหมูสรุปงานของเขาเสร็จ ก็เป็นคิวของช่างภาพสัตว์ป่าชื่อดังอย่างพี่เชน เลือกฉายภาพสัตว์ป่าหลายชนิดที่เขาเดินทางไปถ่ายยังต่างประเทศในหลากหลายพื้นที่ ทุกคนดูตื่นเต้นกับภาพเหล่านั้น ผมเองก็ไม่ต่างกัน ช่างภาพสัตว์ป่าที่ไม่ว่าจะกี่ปีๆ ก็ยังคงเดินหน้าถ่ายภาพสัตว์ป่าตลอดมา ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมภาพถ่ายของเขาถึงเล่าเรื่องได้ดีเช่นนั้น สิ่งสำคัญของภาพถ่ายอาจไม่ใช่ความสวยงามเสมอไป เพราะหากขาดการเล่าเรื่องที่ดี ภาพทุกภาพย่อมไม่มีความแตกต่าง

6

“ผ่านความเหน็บหนาวยามค่ำคืนมาได้ แสงยามเช้าจึงมีคุณค่ามากกว่าสิ่งใด” ผมทึ่งในความเป็นกวีของน้องช่างภาพ ซึ่งคุ้นๆ ว่าประโยคนี้เคยได้ยินมาจากที่ไหนสักแห่ง 

ยามเช้าพระอาทิตย์สาดส่องมาทั่วบริเวณแคมป์ ลำแสงยังคงลอดผ่านช่องว่างระหว่างต้นไม้อย่างสวยงาม ผมตื่นสายเกินกว่าจะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากเขา กินมื้อเช้าหลังใครเพื่อน กับข้าวตอนเช้าก็ง่ายๆ ไข่เจียวหอมๆ ผัดตับผสมเครื่องใน และแกงอะไรอีกสักอย่าง ซึ่งผมก็ตั้งหน้าตั้งตากินจนลืมถามอีกเช่นเคย  

ช่วงสายแม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นมานิดหน่อย แต่ยังคงทำให้รู้สึกหนาวเหมือนเก่า โชคดีที่ไฟกองเมื่อวานยังลุกโชน เพราะตรงนั้นมีคาเฟ่เคลื่อนที่ของสมาชิกในทริปที่ชงชาให้ดื่มในคืนแรก ผมเดินดุ่มไปหากองไฟ และรับกาแฟร้อนๆ กลิ่นหอมๆ มาจิบแกล้มความหนาว

ตรงหน้าผมตอนนี้มีกองไฟควันคลุ้งและตามด้วยบทสนทนาที่กำลังฟุ้ง 

มูลนิธิสืบฯ ทำงานกับป่าแค่นั้นเหรอครับ ผมเปิดคำถามแรก

“งานของมูลนิธิสืบฯ หลักๆ เป็นเรื่องของการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า แต่มูลนิธิไม่ได้อนุรักษ์ไปทุกเรื่อง มีเรื่องที่ให้ความสำคัญ เช่น สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์หรือพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าความสำคัญในระดับประเทศ อย่างป่าตะวันตก เป็นต้น” หนึ่งคนในวงสนทนาตอบกลับ คนนั้นคือ พี่บอย–ภาณุเดช เกิดมะลิ ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

“มูลนิธิสืบฯ แบ่งภารกิจงานคือ หนึ่ง งานเฝ้าระวัง เรามีการติดตามเฝ้าระวัง ติดตามเรื่องของกิจกรรมหรืออะไรที่ทำให้มีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า สอง เป็นการสื่อสารงานอนุรักษ์ วันนี้ทางมูลนิธิจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เยอะ หาทางทำให้คนเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มากที่สุด พยายามสื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะเข้ามาช่วย ตั้งแต่สมัยหัวหน้าสืบยังมีชีวิต เขาก็พยายามจะบอกว่า ป่าไม้มันเหลือน้อยเต็มทีแล้วนะ”

หลังจิบกาแฟเขาเล่าต่อ “สาม คือเรื่องการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ ฝึกอบรม ณ วันนี้พยายามสร้างโมเดลการจัดการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการดูแลและลดความขัดแย้ง 

“ส่วนนี้มีผลไปผลักดันให้กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของการให้สิทธิชุมชน หรือการแก้ปัญหาชุมชนในป่า อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของอาชีพ พอเขามีพื้นที่ชัดเจนแล้ว จะดูกันว่าทำยังไงให้อยู่ด้วยกันได้อย่างเป็นมิตรกับผืนป่า ก็เข้าไปส่งเสริมอาชีพ ทำเรื่องของกาแฟ ผ้าทอ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ถ้าชุมชนปรับในเรื่องของอาชีพก็สามารถมีส่วนในการช่วยดูแลผืนป่าได้และพวกเขาก็มีรายได้กลับมาด้วย 

“อีกเรื่องก็เป็นเรื่องของผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งส่วนนี้เราทำกันมาตั้งแต่หลังหัวหน้าสืบเสีย เพราะเขาให้ความสำคัญกับคนทำงานพิทักษ์ป่าเป็นอย่างมาก มีการตั้งกองทุน พยายามช่วยเหลือ พยายามถ่ายทอดการทำงาน จนวันนี้คนไทยก็น่าจะเข้าใจว่าผู้ทักษ์ป่าเป็นใคร เขามีหน้าที่ทำอะไรในการเฝ้าทรัพยากรให้กับคนไทยทุกคน จนทุกวันนี้ก็มีคนที่เข้ามาช่วยเหลือผืนป่าได้เยอะมากขึ้น

“เราพยายามผลักดันให้มีนักอนุรักษ์มืออาชีพ คนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงาน อยากสานต่อการทำงานของนักอนุรักษ์ เราพยายามผลักให้มีนักอนุรักษ์ที่มีชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันคือ มีรายได้มีค่าตอบแทน และก็มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองยังคงความคิด ตัวตน และทำให้งานอนุรักษ์คืองานที่มีความหมายสำหรับพวกเขา หลักๆ ประมาณนี้” เขาพูดด้วยสำเนียงรื่นหู 

“สรุปคือ ทำงานเพื่อพูดแทนสัตว์ป่า เหมือนคำที่หัวหน้าสืบพูดมาตลอดจนตัวตาย” พี่เชนขมวดให้เข้าใจเพิ่ม

ทุกวันนี้ผู้คนสนใจเรื่องโลกร้อนมากขึ้น มูลนิธิสืบฯ จะพูดเรื่องนี้บ้างไหม

“มูลนิธิสืบฯ อาจไม่ได้พูดถึงเรื่องโลกร้อนอย่างเดียวโดยตรง หลายคนอาจมองว่าไม่เห็นจะพูดเรื่องโลกร้อนเลย จริงๆ สิ่งนั้นคือปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่มูลนิธิสืบฯ กำลังทำเป็นพื้นฐานในการปกป้องไม่ให้เกิดสภาวะโลกร้อนแบบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะดูไม่เข้าถึงคน เพราะไม่เห็นพูดเรื่องโลกร้อนเลย ไม่เห็นพูดเรื่องพลาสติกเลย แต่จริงๆ แล้ว เรากำลังทำพื้นฐานที่จะยั่งยืนกว่า ไม่ใช่แค่พูดเรื่องในกระแส 

“งานที่มูลนิธิสืบฯ พยายามจะบอกนั้นเป็นเรื่องยาก อยู่ๆ ถ้าจะประกาศว่าจะทำเรื่องโลกร้อนอย่างเดียวก็อาจจะมีเงินบริจาคมามากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะว่าทำเรื่องที่กระแสหลักที่คนสนใจ แต่เราอยากจะทำความเข้าใจให้รู้ว่าการช่วยสัตว์ตัวหนึ่งนั้นก็เป็นการช่วยโลกเหมือนกัน จะทำความเข้าใจสิ่งนี้มันยากเหมือนกันนะ” ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับสิ่งที่พี่เชนพูด

“เวลาเราไปพูดเรื่องการทำงานให้องค์กรหรือใครฟัง เขาจะไม่เข้าใจสิ่งที่เรากำลังพูด แต่พอได้พาไปลงพื้นที่ พวกเขาถึงจะเริ่มเข้าใจว่างานของเราเป็นยังไง บางทีการมาอธิบายหรือเล่าให้ฟังมันยาก อธิบายลำบาก บางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทำเรื่องพวกนี้” พี่บอยเสริม

ถ้าไม่เดือดร้อน คงไม่รู้สึกอะไร เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเช่นนั้น ผมสรุปสิ่งที่ได้ฟัง ทั้งสองต่างพยักหน้า

แล้วคนรุ่นใหม่อย่างพวกผมจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยังไงบ้าง ผมสงสัย

พี่เชนชิงตอบ “มันต้องลืมคำว่ารุ่นใหม่รุ่นเก่าไปให้หมด เพราะควรจะคุยกันได้ทุกรุ่น อาจจะไม่ใช่สำเนียงเดียวกัน แต่สามารถทำความเข้าใจกันได้และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิเสธ ปัญหาคือวันนี้คนชอบแบ่งเป็นรุ่น อย่างนักการเมืองหน้าใหม่ที่คิดดีๆ ก็มี ไม่ใช่มีแต่นักการเมืองที่ไม่ดี หรือนักการเมืองที่อายุเยอะแล้วแต่คิดดีก็ยังมี มันอยู่ที่ทัศนะไม่ได้อยู่ที่รุ่นหรืออะไรเลย ควรจะสลายเรื่องนี้ให้ได้ก่อน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นยิ่งไม่ควรมีแดง มีเหลือง มีเขียว ต้องเป็นสีเดียวกัน ไม่ควรแบ่ง”

กองไฟให้ความอุ่น กาแฟให้ความสดชื่น ทุกอย่างกำลังลงตัว ผมถามต่อว่า ในวันนี้ที่ทุกคนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นดีใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ไหน

ถึงคิวขอเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพูดบ้าง “วันนี้ดีขึ้นในส่วนของความรู้สึกร่วมต่อสิ่งแวดล้อม คนให้ความสนใจ ให้ความตระหนักมากขึ้น ถ้าสังคมส่วนใหญ่มีความรับรู้ ผมว่าสิ่งนี้จะเป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือ ต้องเข้าใจจริงๆ มีข้อมูลที่รับรู้มาอย่างถูกต้อง มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ทุกเรื่อง แต่จะปรับยังไงให้มีความสมดุลเกิดขึ้น แต่ละคนก็มีสมดุลที่ต่างกัน ตัวเองจะต้องรู้ว่าอันไหนเหมาะควร ผมคิดว่าต้องค่อยๆ ใช้เวลา”

“การสร้างการเปลี่ยนแปลงคือการปรับพฤติกรรมจากตัวเราเอง ในการเลือกใช้อย่างเหมาะสม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้เป็นหัวใจ อย่าไปคาดหวังกับคนอื่นมาก อย่าไปคาดหวังกับโลก สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนตัวเอง อย่างที่พระไพศาลเคยพูด ดีมากๆ ท่านบอกว่าการจะเปลี่ยนสังคมได้ มันไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ได้เปลี่ยนตัวเอง นั่นคือหัวใจ ไม่ต้องไปใส่ใจคนอื่น จะหมดคำถามที่ว่า จะมีส่วนร่วมยังไง จะช่วยได้ยังไงไปเลย เปลี่ยนที่ตัวเราเอง เปลี่ยนให้ได้” พี่เชนตอบปิดท้าย

แล้วชาวบ้านที่เขาต้องล่าสัตว์เพื่อดำรงชีวิตอยู่ล่ะ จะสร้างสมดุลให้ตัวเองได้ยังไง ผมถามต่อ

พี่เชนครุ่นคิดก่อนจะตอบ “สิ่งที่มูลนิธิสืบฯ ทำคือการส่งเสริมให้พวกเขามีอาชีพ ไม่มีใครอยากไปลำบากเดินป่า เสี่ยงต่อการถูกจับ ถูกยิงตายในป่าหรอก แต่เขาไม่มีทางเลือก เราต้องเข้าใจตรงส่วนนี้ก่อน เขาไม่ได้เลวโดยสัญชาตญาณ หากเราเข้าไปทำเรื่องพวกนี้ด้วยความเกลียดชังว่ามึงคือพวกเลว พวกยิงสัตว์ ถ้ามองแบบนี้จะไม่มีทางแก้ได้ ต้องมองก่อนว่ามันเกิดจากอะไร ปัจจุบันการเข้าป่าไปยิงเก้งแล้วเอาไปกินกันทั้งหมู่บ้านก็ไม่ใช่ปัญหาหรอก แต่ปัญหาก็คือ การยิงเก้งไปขายที่ตลาด ยังไงมันก็ไม่พอ”

อีกหนึ่งเสียงพูดขึ้น “เหมือนต้องมองใจเขาใจเรา ไปห้ามโดยที่ไม่มีทางออก มันไม่ได้ จริงๆ ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามา ผมว่ามันมีการจัดสมดุลพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว เขาก็อยู่ร่วมกันได้ เหมือนบทพิสูจน์ที่ว่า ชาวกะเหรี่ยงอยู่มาหลายร้อยปี แต่ป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์ เป็นปัจจัยที่เขาจัดสมดุลภายในของพวกเขากันเองได้ 

“แต่เพราะวันนี้มีปัจจัยข้างนอกเข้าไปทำให้ข้างในไม่สามารถจัดการได้เหมือนก่อน สิ่งที่มูลนิธิสืบฯ พยายามเข้าไปผลักดันกฎหมาย คล้ายๆ ว่าเป็นการเข้าไปสร้างเกราะเพื่อให้สมดุลตรงนี้ยังมีความเข้มแข็งพอที่จะจัดการภายในของเขาได้ เราก็ป้องกันเรื่องภายนอก ไม่ให้มันเข้าไปทำลายความสมดุล 

“ผมไม่ได้คัดค้านที่มีถนนตัดป่าหรือมีอะไรเข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่เราจะทำยังไงให้พวกเขาที่อาศัยในพื้นที่เข้าใจว่า ต้องอยู่ยังไง ปฏิบัติยังไงให้มีความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติกับตัวเขาเองให้ได้

“อย่างที่เรามาดูกวางผาก็เพราะว่าที่ผ่านมามีจำนวนลดฮวบลงไปอย่างน่าใจหาย และเมื่อโครงการทำสำเร็จจะเป็นบทเรียนที่สำคัญ เป็นตัวอย่างนำเอาไปใช้ดูแลฟื้นฟูสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อื่นๆ ได้อีก ตอนนี้ก็มีโครงการที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้วคือโครงการดูแลเสือโคร่ง แต่ยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆ อีกที่เราต้องให้ความสำคัญและเข้าไปดูแล บางทีธรรมชาติดูแลตัวเองอาจยังไม่พอและไม่ทัน การอยู่ร่วมกันจะสนใจแค่คนก็เป็นไปไม่ได้”

การทำเพื่อโลก เพื่อสัตว์ป่า สุดท้ายก็วนกลับมาที่ทำเพื่อตัวเราเองอยู่ดี ผมสรุปสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ได้ประชดประชันแต่รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

“เป็นเรื่องที่เราก็รู้กันทั้งหมด แต่บางทีเราไม่ได้ใส่ใจ จริงๆ เราไม่ได้ทำเพื่อใครเลยนะ การทำทุกสิ่งอย่างเหล่านี้ก็เพื่อตัวเราเอง ไม่ให้เกิดผลมาถึงเรา” พี่เชนน่าจะรู้สึกเช่นเดียวกัน

7

การมาเที่ยวเชียงดาวครั้งนี้ ผมอาจโชคดีที่ได้เจอม้าเทวดาระยะใกล้ชิด แต่กลับรู้สึกว่าไม่ได้สวยงามอย่างที่นักเดินทางผู้โชคดีหลายๆ คนพบเจอ ม้าเทวดาที่ผมเจอดูไม่ค่อยสูงส่งดั่งชื่อเรียก เพราะมันอาศัยอยู่แค่ในกรง ไม่ได้อยู่ตามธรรมชาติอย่างที่ควรเป็น 

ครั้งหน้าหากได้เดินทางอีกครั้ง เชื่อว่าผมน่าจะได้เห็นและได้ภาพถ่ายม้าเทวดาที่ยืนสง่าอาบแสงอาทิตย์บนหน้าผาสูงตามธรรมชาติ ภาพนั้นคงสวยงามและเป็นสิ่งที่ตามหา 

ธรรมชาติยังต้องมีสัตว์เป็นองค์ประกอบ และโครงการติดตามกวางผาที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและผู้มีส่วนร่วมทุกหน่วยงานกำลังสานต่อ ช่วยสร้างความหวังให้กับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ต่างอาศัยอยู่ร่วมโลกใบเดียวกัน  

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ศุภณัฐ ผากา

เด็กหนุ่มนักศึกษาโค้งสุดท้ายที่นิยมแบกกล้องเข้าป่ามากกว่าเข้าม. ยิ้มเยอะ พูดน้อย ต่อยหนัก ตลกหน้านิ่ง มีกาแฟและพรรคพวกสี่ขาหน้าขนเป็นความรื่นรมย์ของชีวิต