Natalia Smirnova ศิลปินผู้พาเต่ามะเฟือง โลมาอิรวดี และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ไปแจ้งเกิดในวงการแฟชั่น

Highlights

  • Natalia Smirnova คือศิลปินที่วาดภาพพืชและสัตว์ได้สวยงามจนงานของเธอได้ไปปรากฏอยู่บนลายผ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังมากมาย แต่หลังจากที่เธอได้ไปเยือนป่าโกงกางที่จังหวัดตราดในปี 2018 งานวาดของเธอก็เปลี่ยนไปจากเดิม
  • งานของนาตาเลียไม่เพียงแค่สื่อสารถึงความสวยงามอันน่าทึ่งของธรรมชาติ แต่ยังต้องการสื่อสารสภาวะอันตรายที่สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ประสบอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครหยิบไปวาดในงานแฟชั่น
  • แม้พืชหรือสัตว์หายากบางชนิดจะไม่ได้มีรูปลักษณ์หรือสีสันดึงดูดใจเท่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เธอเคยวาด แต่เธอต้องการกระจายความตระหนักรู้ออกไปให้ได้มากที่สุด และแม้นั่นจะนำมาซึ่งยอดไลก์ที่ลดลงแต่เธอไม่คิดว่าจะต้องหยุดทำ

เสื้อผ้าแพตเทิร์นลายใบไม้ดอกไม้ที่เราใส่ๆ กันอยู่มีความหลากหลายทางชีวภาพประกอบอยู่ในนั้นมากน้อยแค่ไหน? และทำไมเราต้องแคร์เรื่องนี้ด้วย? เหตุผลอาจอยู่ในเรื่องเล่าของเธอคนนี้

Natalia Smirnova ศิลปินชาวรัสเซียผู้ย้ายมาอยู่เมืองไทยเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เธอเป็นนักวาดภาพพืชพรรณและสัตว์ป่าฝีมือหาตัวจับยาก ทั้งหมดเริ่มจากการบ้านสมุดสะสมใบไม้ในฤดูร้อนที่ทำให้เธอได้สังเกตรายละเอียดของใบโอ๊ก ใบเมเปิล และสารพัดใบไม้ เธอพบว่าธรรมชาติสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาอย่างละเอียดอ่อนและทรงพลัง เธอจึงเริ่มวาดสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติพร้อมๆ กับที่เริ่มอ่านออกเขียนได้

Natalia Smirnova

จนถึงตอนนี้ ผลงานวาดของเธอเคยปรากฏเป็นลวดลายของแบรนด์ดังมาแล้วนักต่อนักอย่าง ZARA, TOPMAN, Clover Canyon ฯลฯ ในลวดลายเหล่านั้นมีทั้งดอกเบิร์ดออฟพาราไดซ์ มอนสเตรา ดอกหน้าวัว นกทูแคน นกฟลามิงโก และอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่งดงามตามท้องเรื่อง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพืชสัตว์เหล่านั้นเป็นสายพันธุ์ที่เราคุ้นตากันดีเพราะรูปลักษณ์สวยงามของมันทำให้ใครๆ ก็อยากวาด

กระทั่งในปี 2018 ที่นาตาเลียมีโอกาสได้ไปเยือนป่าโกงกางที่จังหวัดตราด งานวาดของเธอก็เปลี่ยนไปจากเดิม

“ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าต้นโกงกางสวยงามขนาดนี้ ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ว่าต้นโกงกางมีความสำคัญต่อระบบนิเวศแค่ไหน มันทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลตัวเล็กตัวน้อย เป็นพืชที่ผลิตออกซิเจนได้ในปริมาณมาก ฉันตัดสินใจทันทีว่าจะวาดต้นไม้ชนิดนี้”

นับแต่นั้น ต้นโกงกางจึงเข้ามาอยู่ในงานของนาตาเลียแทนมอนสเตรา และนกฟลามิงโก้ก็ถูกแทนที่ด้วยนกหัวขวาน ซึ่งมากกว่าการถ่ายทอดความสวยงามอันน่าทึ่งของธรรมชาติ ศิลปินรัสเซียยังอยากสื่อสารสภาวะอันตรายที่พืชและสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ประสบอยู่ เพราะทั้งที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นรอบตัวเรา แต่แทบไม่เคยมีใครหยิบไปวาดและบอกเล่าในงานแฟชั่น

“ทำไมเครื่องประดับถึงมีแต่ลวดลายสวยๆ ที่ไม่มีความหมายอะไร ทำไมลวดลายบนเสื้อผ้าถึงมีดอกไม้แค่ไม่กี่อย่าง ใบไม้แค่ไม่กี่ชนิด ขณะที่ถ้าพูดถึงเรื่องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือ IUCN Red List คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จัก”

เมื่อเกิดคำถาม เธอจึงเริ่มวาดและสื่อสารมาเรื่อยๆ อย่างเสื้อฮาวายที่ไม่ได้มีลายทรอปิคัลแบบที่เราคุ้นเคยแต่พิมพ์ลายปูแสมและต้นโกงกาง หรือทุกครั้งที่โพสต์ภาพวาดในโซเชียลมีเดียของตัวเอง เธอก็เขียนแคปชั่นอธิบายถึงสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในผลงานอย่างละเอียดยิบ เช่น เรื่องของนกที่เธอหยิบมาเล่าให้เราฟัง

“นกชายเลนปากช้อนเป็นนกตัวเล็กๆ ที่ตอนนี้เหลืออยู่เพียงสี่ร้อยตัวบนโลก พวกมันจะบินอพยพจากรัสเซียตะวันออกมายังประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ฉันอยากเห็นพวกมันสักครั้ง ไม่ที่ไทยก็รัสเซีย ถ้าฉันโชคดีพอน่ะนะ”

Natalia Smirnova

แม้พืชหรือสัตว์หายากบางชนิดอาจไม่ได้มีรูปลักษณ์หรือสีสันดึงดูดใจเท่าสิ่งมีชีวิตยอดฮิตอื่นๆ ที่เธอเคยวาดก่อนหน้า แต่สิ่งที่นาตาเลียต้องการจะสื่อคือสภาวะอันตรายที่พวกมันพบเจอ เพื่อกระจายความตระหนักรู้ออกไปให้ได้มากที่สุด และแม้นั่นจะนำมาซึ่งยอดไลก์ที่ลดลงแต่เธอไม่คิดว่าจะต้องหยุดทำ

“ฉันคิดว่าควรมีคนออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ให้มากกว่านี้ และยิ่งดีถ้าเรามีอินฟลูเอนเซอร์หรือคนดังที่พูดเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มันต้องใช้เวลาแหละ อย่างตอนนี้เรื่องความยั่งยืนก็เป็นเทรนด์อยู่ซึ่งเราก็ต้องทำกันต่อไป ต้องพยายามที่จะสื่อสารสิ่งนี้ออกไปเท่าที่จะทำได้” เธอบอก

ในปีที่ผ่านมา นาตาเลียเป็นศิลปินคนแรกที่อาสาเข้าร่วมโครงการ Art 4 Nature ที่ใช้งานศิลปะสื่อสารเรื่องราวของธรรมชาติและการอนุรักษ์ เธอเริ่มต้นวาดภาพสัตว์และพืชหายากจาก IUCN Red List (รายชื่อสายพันธุ์ที่อยู่ในอันตรายขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่คนไม่ค่อยรู้จัก เช่น เต่ามะเฟือง โลมาอิรวดี ตัวนิ่ม นกชายเลนปากช้อน นกชนหิน ฯลฯ และให้ข้อมูลของสัตว์เหล่านี้ผ่านช่องทางของตัวเอง

มาถึงตอนนี้ แม้จะไม่ได้แอ็กทีฟในโซเชียลมีเดียมาระยะหนึ่ง แต่นาตาเลียบอกเราว่าเธอยังคงวาดภาพอยู่และมีความสนใจล่าสุดเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล หิ่งห้อย ปลาตีน จนถึงลูกต้นโกงกางจะตามมาปรากฏตัวให้เราเห็นในภาพของเธอในไม่ช้า

Natalia Smirnova

แม้นาตาเลียจะใช้ผืนผ้าในโลกแฟชั่นและผืนผ้าใบในโลกศิลปะพูดถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เมื่อพูดถึงการกระจายความตระหนักรู้ไปสู่วงกว้าง อีกหนึ่งพื้นที่ที่นาตาเลียมองว่าสำคัญที่สุดก็คือห้องเรียน

“ที่รัสเซีย ฉันได้รู้เกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์ที่ตกอยู่ในอันตรายตั้งแต่ยังเด็กมากๆ มีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในบทเรียนอย่างจริงจังซึ่งฉันคิดว่าเมื่อคนรู้ข้อมูลและตระหนักถึงความสำคัญก็จะไม่สนับสนุนการซื้อขายสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ หรือไม่เพิกเฉยต่อการหายไปของถิ่นที่อยู่ของพวกมัน มันสำคัญนะที่เราควรเรียนรู้เรื่องนี้กันตั้งแต่ในห้องเรียน”

ฟังอย่างนี้แล้ว เมื่อลองย้อนนึกไปในวัยเรียน เราได้ท่องรายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทยกันอยู่บ้าง แต่นอกจากสัตว์สิบห้าชนิดตอนที่เราเรียนอยู่ (ล่าสุดอัพเดตตัวเลขเป็นสิบเก้าชนิดแล้ว) เราก็ไม่ค่อยรู้ว่ามีสัตว์สายพันธุ์ไหนที่กำลังตกอยู่ในอันตรายอีกบ้าง ซึ่งการได้เปิดเข้าไปดูบรรดาสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่นาตาเลียวาดเอาไว้ก็ช่วยกระตุ้นเตือนเราได้เป็นอย่างดี

ก่อนจากกันเธอยังเล่าถึงความสำคัญของทุกๆ สายพันธุ์ที่มีอยู่บนโลกใบนี้ให้ฟัง

“สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีบทบาทของมันเองแต่บางครั้งคนก็ไม่ได้ใส่ใจ เช่น ตอนที่นกกระจอกถูกรัฐสั่งกำจัดเพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นศัตรูพืช ในครั้งนั้นความสมดุลทางธรรมชาติได้ถูกทำลายลง และกลายเป็นมหันตภัยทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์”

เธอหมายถึงเหตุการณ์ในช่วง 1950s ที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตุง รณรงค์ให้ประชาชนกำจัดสัตว์สี่ชนิดที่รัฐบาลมองว่าเป็นศัตรูพืชและต้นตอของโรคระบาด ได้แก่ นกกระจอก ยุง แมลงวัน และหนู โดยนกกระจอกเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด จนได้ชื่อว่า The Great Sparrow Campaign มีการคำนวณจากปริมาณเมล็ดข้าวที่นกกระจอกแต่ละตัวกินเข้าไป เหมาออกโฆษณาชวนเชื่อที่ว่าถ้าฆ่านกกระจอกได้หนึ่งล้านตัว จะช่วยเซฟข้าวให้เพียงพอกับประชากรหกหมื่นคน

ด้วยความร่วมมือของประชาชนจีนส่วนใหญ่ นกกระจอกถูกฆ่าไปกว่าพันล้านตัว สิ่งหนึ่งที่นักเคลื่อนไหวเคยออกมาเตือนแต่ประธานเหมาไม่ได้รับฟังก็คือ พวกมันไม่ได้กินแค่เมล็ดข้าวแต่ยังกินแมลงอื่นๆ ด้วย ผลคือแมลงที่ไม่ได้ถูกนกกระจอกพันล้านตัวกินเข้าไปได้บุกทำลายนาข้าวของทั้งประเทศ ความยากจนอดอยากลุกลาม ส่งผลให้มีประชาชนอดตายไปกว่ายี่สิบล้านคน

ว่าแต่เรื่องที่เล่ามานี้เกี่ยวข้องกันตรงไหนกับนกชายเลนปากช้อน ปูแสม หรือป่าโกงกาง ก็คงเป็นอย่างที่เธอบอกกับเรา

“ทุกชีวิตล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมดภายใต้ระบบนิเวศ”


ติดตามผลงานหรือสนับสนุน Natalia Smirnova ได้ที่

instagram.com/nataliaaartis

nataliaaartist.com

welovenature.art

AUTHOR