HOW TO ถ่ายภาพใต้น้ำสำหรับมือใหม่ให้ไฉไลดั่งมือโปร

“โลกใต้น้ำเหมือนโลกอีกใบ”

ใครๆ ที่เคยลงไปสัมผัสโลกใต้น้ำต่างพูดประโยคเดียวกันนี้กับเรา ความโดดเด่นของธรรมชาติหรือภาพใต้ทะเลดึงดูดให้คนที่สนใจลงไปสัมผัสอยู่เสมอ
และความอัศจรรย์นี้เองที่ทำให้หลายคนอยากจะเก็บภาพความทรงจำใต้น้ำไว้

นั่นแหละจึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า ‘แล้วการถ่ายรูปด้วยกล้องใต้น้ำมีขั้นตอนอะไรบ้าง?’

เพื่อตอบข้อสงสัย วันนี้เราเลยชวน กานต์ สมานวรวงศ์ ช่างภาพใต้น้ำมือฉมังมาสอนเราเกี่ยวกับวิธีการถ่ายภาพใต้น้ำสำหรับมือใหม่
ในครั้งนี้เราเลือกกล้องขนาดเล็กอย่าง SONY RX100M5 เป็นกล้องต้นแบบให้กานต์ได้ลองใช้และสอนเราถึงขั้นตอนและเกร็ดน่ารู้ต่างๆ
ที่ควรรู้ เบื้องหน้าของเราตอนนี้จึงมีทั้งสระน้ำ กล้อง เฮาส์ซิ่ง นางแบบแสนสวยและพวกเราเหล่านักเรียนที่กำลังรอการสอนจากครูกานต์อย่างใจจดใจจ่อ

“ไม่ยากหรอก”
กานต์บอกกับเราเป็นการเปิดหัวข้อการสอนซึ่งทำให้เราใจชื้นขึ้นมานิดๆ

ถ้างั้นก็ได้เวลาแล้วล่ะ เปลี่ยนชุดแล้วมาลองกันเลย

เตรียมตัวก่อนลงถ่าย

  • ทำความรู้จักกับ Dive Site เป็นที่รู้กันสำหรับนักดำน้ำว่าถ้าพวกเขาอยากหาสถานที่ดำน้ำ
    พวกเขาจะพุ่งตรงไปหาข้อมูลที่ dive site map สิ่งนี้เปรียบเสมือนแผนที่ที่ระบุสภาพภูมิประเทศและสิ่งมีชีวิตอันโดดเด่นของแต่ละพื้นที่
    เสน่ห์ของโลกใต้น้ำอยู่ตรงนี้นี่เองเพราะสิ่งมีชีวิตบางอย่างก็อาศัยอยู่แค่ dive
    site เดียวบนโลกเท่านั้น เรียกว่าถ้าคุณอยากพบสิ่งไหน
    ก็เลือกได้ตามข้อมูลเหล่านี้และเก็บกระเป๋าไปลุยกันได้เลย
  • กล้องเล็ก หรือ กล้องใหญ่? เป็นเหมือน 2 ตัวเลือกที่เหล่านักดำน้ำจะต้องชั่งน้ำหนักและเลือกใช้ให้เหมาะสมก่อนจะลงไปถ่ายภาพ
    สำหรับกล้องใหญ่ ข้อดีคือขนาดไฟล์ภาพที่คุณภาพสูงมากแต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสะดวกสบายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกล้องเล็ก
    อีกข้อหนึ่งคือเมื่อเอากล้องใส่ลงไปในเฮาส์ซิ่งแล้ว กล้องใหญ่จะไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้ได้ระหว่างอยู่ใต้ทะเลเพราะเลนส์จะติดอยู่ในตัวเฮาส์ซิ่งเลย
    ต่างกับกล้องเล็กที่เลนส์จะอยู่ด้านนอกทำให้สามารถเปลี่ยนเลนส์ถ่ายภาพตามความเหมาะสมได้ตามใจชอบ
    เรียกได้ว่าดีคนละแบบ แต่กล้องเล็กก็จะได้เปรียบกว่าหน่อยในปัจจุบัน ยิ่งเป็นเจ้า SONY
    RX100M5 ก็ยิ่งดีใหญ่
    เพราะนอกจากขนาดที่เล็กแล้ว
    ไฟล์ภาพยังมีคุณภาพสูสีกับกล้องใหญ่เลยล่ะ

  • เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมของ พร้อมลุย เมื่อนำกล้องใส่เฮาส์ซิ่งและลงน้ำ ช่วงเวลาใต้น้ำนั้นนักดำน้ำจะไม่สามารถแกะมันออกมาปรับเปลี่ยนอะไรได้
    ดังนั้นขั้นตอนการจัดเตรียมกล้องให้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ก่อนลงน้ำจึงสำคัญมาก
    กานต์แนะนำว่าเราควรเช็กทั้งแบตเตอรี่กล้องและการตั้งค่าในกล้องให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานทันที
    รวมถึงดูความถูกต้องของเฮาส์ซิ่งว่าไม่มีรอยรั่วให้แรงดันหรือน้ำเข้าไป ตรงนี้กานต์บอกเราว่านักดำน้ำส่วนใหญ่มักจะพลาดกันที่ตัว
    O-ring บริเวณเฮาส์ซิ่งที่มักจะมีวัตถุเข้าไปแทรกทำให้เกิดช่องว่าง
    ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักดำน้ำทุกคนที่ต้องทำความสะอาดและเช็กส่วนนี้ดีๆ อีกข้อหนึ่งที่ควรระวังคือปัญหาฝ้าขึ้นในเฮาส์ซิ่ง ปัญหานี้แก้ไม่ยากเลยแค่เราเอากล้องใส่ในเฮาส์ซิ่งที่อุณหภูมิเดียวกัน
    พูดง่ายๆ
    ว่าไม่ควรเอากล้องที่อาจจะเย็นเมื่ออยู่ในห้องแอร์มาใส่ในเฮาส์ซิ่งที่อยู่อุณหภูมิปกตินั่นเอง

  • เช็กบนบกดูอีกสักรอบเพื่อความชัวร์ กันพลาดครั้งสุดท้ายโดยการลองใช้กล้องที่อยู่ในเฮาส์ซิ่งบนบกดู
    ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็เตรียมตัวรอได้เลย เรากำลังจะลงไปผจญภัยในโลกใต้ทะเลกัน

1 ชั่วโมงในโลกใต้น้ำ

  • เวลาที่จำกัด ตามปกติแล้วถังออกซิเจนจะให้เวลาเหล่านักดำน้ำอยู่เก็บภาพความทรงจำข้างใต้ได้แค่ประมาณหนึ่งชั่วโมง
    เวลาอันจำกัดนี้ทำให้นักดำน้ำส่วนใหญ่มีจุดประสงค์ตั้งแต่ก่อนลงไป เช่น
    บางคนเลือกจะถ่ายสัตว์ใต้น้ำที่โดดเด่นของที่นั้นๆ สิ่งที่พวกเขาจะทำคือลงไปตามหาและเฝ้ารอจนกว่ามันจะออกมา
    อาจต่างกับบางคนที่อยากจะถ่ายธรรมชาติรวมๆ พวกเขาก็จะแหวกว่ายและถ่ายไปเรื่อยๆ ตามใจคิด หรือบางคนอยากถ่ายคนก็จะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงนั้นอย่างที่ตั้งใจ ส่วนตัวเราเป็นแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวแล้วล่ะ

  • คล้ายๆ การถ่ายรูปบนบกแต่ต้องรู้ลึกมากขึ้นหน่อย หนึ่งชั่วโมงใต้น้ำนั้นเหมือนกับสตูดิโอของนักดำน้ำทุกคน
    กานต์แนะนำว่าจริงๆ
    แล้วการถ่ายภาพใต้น้ำนั้นใช้หลักการการเลือกมุมหรือรสนิยมความสวยงามคล้ายๆ กับบนบก
    แต่สิ่งที่อาจจะต่างไปหน่อยคงเป็นความรู้ที่ต้องเตรียมเพราะสัตว์น้ำบางชนิดนั้นอาศัยอยู่ในที่เฉพาะและมีลักษณะการใช้ชีวิตที่ต่างกัน
    ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่นักดำน้ำจะต้องรู้ข้อมูลดังกล่าว
    เราจะมีเบาะแสตามหาสิ่งที่เราต้องการจนเจอจนได้
    ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รู้ที่อยู่และรู้วิธีการเข้าถึงตัวมันเพื่อไปเก็บภาพที่เราหวัง ในแง่ของการถ่ายคนก็เช่นกัน การคำนึงเรื่องแสงนั้นใกล้เคียงกับการถ่ายรูปบนบก แต่สิ่งที่อาจจะต้องเน้นหน่อยคงเป็นการจับภาพให้ทันเพราะเวลาที่จำกัดและการเคลื่อนไหวของแบบที่อาจจะยากกว่าปกติสักเล็กน้อย

  • อุปกรณ์ช่วยเพิ่มคุณภาพ นอกจากกล้องและเฮาส์ซิ่งที่จำเป็นในการถ่ายภาพใต้น้ำ
    อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ก็ช่วยให้ภาพของคุณสวยงามขึ้นได้เช่นกัน
    อย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือไฟฉายและเทรย์ที่ติดกับเฮาส์ซิ่งเพื่อส่องให้วัตถุที่เราต้องการมีสีที่ถูกต้อง
    เลนส์ที่หลากหลายเพื่อพร้อมสำหรับโอกาสจับภาพที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า
    หรือขาตั้งกล้องสำหรับคนที่อยากถ่ายภาพนิ่งๆ และวิดีโอ อุปกรณ์ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเก็บความทรงจำที่สวยงามแล้วแต่เราจะเลือกให้
  • ถ้าเกิดความผิดพลาดล่ะ!? คงไม่มีใครอยากให้เกิดข้อผิดพลาดเวลาอยู่ในน้ำ
    เพราะร้อยทั้งร้อยของปัญหาที่เกิดขึ้น คุณต้องขึ้นมาบนบกเพื่อแก้ไขเท่านั้น แต่ถ้าเป็นปัญหาร้ายแรงอย่างน้ำเข้าเฮาส์ซิ่งที่ต้องการการแก้ไขเร่งด่วนจนไปเหนือน้ำไม่ทันแน่ๆ
    กานต์บอกกับเราว่าสิ่งที่เราทำได้มีเพียงแค่ ‘ทำใจ’ และมองดูกล้องของเราค่อยๆ
    ตายจากไป

กลับขึ้นบกพร้อมความทรงจำ

  • แช่กล้องและเฮาส์ซิ่งสักพัก หลังจากขึ้นจากน้ำทะเล กานต์แนะนำเราว่าควรจะแช่เฮาส์ซิ่งสักหน่อยก่อนจะแกะกล้องออกมา
    เพื่อละลายน้ำทะเลที่ติดอยู่ออก แนะนำว่าไม่ต้องแช่นานมากก็ได้นะ เอาแค่พอล้างออกก็พอ
    หลังจากนั้นก็เอากล้องออกมา ดูแลกล้อง เฮาส์ซิ่งและอุปกรณ์อื่นๆ
    ให้เรียบร้อยพร้อมสำหรับการใช้งานครั้งต่อไป หลังจากนั้นก็ถ่ายโอนรูปได้เลย
  • ความแตกต่างเรื่องสีที่ต้องยอมรับ อย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอแน่ๆ
    สำหรับรูปถ่ายใต้น้ำคือสีที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริงเนื่องจากน้ำทะเลที่คั่นกลางระหว่างกล้องและวัตถุ
    แต่สิ่งนี้อาจจะลดน้อยลงไปบ้างจากฟังก์ชั่นของกล้องที่สามารถปรับ White Balance ให้อยู่ในโหมด
    Under Water ได้ อย่างเช่นกล้อง SONY RX100M5 ที่เรากำลังลองใช้อยู่ในตอนนี้ก็มีโหมด Under Water อยู่เช่นกัน พูดง่ายๆ ว่าโหมดนี้จะมีการดึงสีแดงขึ้นมามากกว่าปกติเพราะเป็นสีที่ขาดไปสำหรับรูปใต้น้ำ หลังจากได้รูปมา 90 เปอร์เซ็นต์ของนักดำน้ำจะเอารูปมาแต่งต่อเสมอโดยการดึงสีขึ้นตามความเหมาะสม เท่านี้ก็จะได้รูปที่ถูกต้องและถูกใจสมดั่งใจหวัง

สำหรับผู้ที่สนใจ
กานต์และเราแนะนำอย่างยิ่งให้มาลองสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยกัน ยิ่งถ้าชอบดำน้ำหรือสามารถดำน้ำแบบสกูบาได้
เราบอกเลยว่าคุณไม่ควรพลาดประสบการณ์นี้ด้วยประการทั้งปวง
นี่จะเป็นโลกอีกใบที่ทำให้คุณตื่นตาตื่นใจแน่นอนเลยล่ะ

AUTHOR