a day ได้มีโอกาสทำ a day series ร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี พาทุกคนไปรู้จักกับคนรุ่นใหม่ 3 ท่านจากโครงการต้นกล้าชุมชน โดย มูลนิธิเอสซีจี ที่ใช้ความถนัดของตัวเองในการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
พวกเขาเหล่านั้นได้แก่ อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม ในตอน กลับบ้าน ‘ไม่เท่ากับ’ ยอมแพ้ เคม-ณัชพล พรมคำ ในตอน ทำเกษตร ‘ไม่เท่ากับ’ ความจน และ ต่อ-ธวัช คำแก้ว ในตอน ภูมิปัญญา ‘ไม่เท่ากับ’ ความล้าหลัง
แต่ละท่านได้ถ่ายทอดวิธีคิด วิธีการทำงาน และการก้าวข้ามผ่านอุปสรรค เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่มีความฝันอยากจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด มีอีกหลายคนที่ยังเก็บความฝันเอาไว้ในใจ รอวันที่พร้อมจะลงมือทำ
บทเรียนจากการลงมือทำ
เพื่อเป็นการต่อยอดจาก a day series เราจึงได้เชิญเหล่าต้นกล้าและแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมกันเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดแนวคิดในการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง New Gen Space หอศิลป์กรุงเทพฯ โดยมีแขกรับเชิญ ได้แก่ ต้นกล้าอุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม เกษตรกรรุ่นใหม่ หัวใจรักบ้านเกิด จ.บุรีรัมย์, ต้นกล้าเคม-ณัชพล พรมคำ ผู้ประกอบการชุมชน นักพัฒนาสินค้าและการตลาด และ น้ำ-รพีภัทร เอกพันธ์กุล นักแสดงและเกษตรกรเจ้าของรพีภัทรฟาร์ม ฟาร์มไก่ชนและควายสวยงามที่มีชื่อเสียง จังหวัดนครนายก และ เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหาร a day เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งแขกรับเชิญแต่ละท่านก็ได้ฝากข้อคิดสำคัญให้กับคนที่อยากกลับบ้านเอาไว้อย่างน่าประทับใจ
กล้าเผชิญหน้า อดทนต่อความเปลี่ยนแปลง
ต้นกล้าอุ้ม – คนึงนิตย์ ชะนะโม ต้นกล้าชุมชน โดย มูลนิธิเอสซีจี หญิงสาวคนเดียวในงานเสวนา เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเข้มแข็งทางจิตใจ สำหรับคนที่จะกลับไปทำการเกษตรที่บ้าน เพราะจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้ามาให้ต้องท้อใจ โดยเธอได้กลับมาอยู่บ้านที่ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปพร้อมๆ กับการก่อตั้ง“ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี” ที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่เธอได้ลงมือทำด้วยตนเองให้กับผู้ที่สนใจ และยังนำเอาที่ดินเปล่าของที่บ้านมาจัดสรรเป็นแปลงผักและชักชวนผู้สูงอายุในชุมชนมาทำการเกษตร โดยมีเธอเป็นพี่เลี้ยงและเป็นผู้รวบรวมผลผลิตมาแปรรูปและส่งขาย นอกเหนือไปจากการทำนาบนที่ดินของทางบ้าน
“ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้าน เราไม่ต้องกลัว เราแค่กล้าเผชิญในสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา ให้เราต่อสู้ไปกับมัน ทำให้เห็นว่าเราทำได้ เชื่อมั่นในตัวเอง แล้วในระหว่างที่ทำก็ต้องมีความอดทน สิ่งเดียวที่คนกลับบ้านไปทำการเกษตรแล้วไม่รอดก็คือไม่อดทน ไม่ใช่ไม่อดทนต่องานหนักนะ แต่มันอดทนกับเสียงรอบข้างไม่ได้ อดทนไม่ได้กับการที่ไม่มีรายได้เหมือนเดิม อดทนไม่ได้กับการที่เคยมีสังคม คุณต้องทนให้ได้ก่อนแล้วสิ่งต่างๆ จะตามมาทีหลัง”
วางแผนล่วงหน้า เตรียมพร้อม สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน
ต้นกล้าเคม – ณัชพล พรมคำ ต้นกล้าชุมชน โดย มูลนิธิเอสซีจี ชายหนุ่มท่าทางคล่องแคล่วทะมัดทะแมง คือสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้จากเคม ผู้กว้างขวางในชุมชน เจ้าของสวนหนานเคม ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ด้วยบุคลิกที่เข้ากับผู้อื่นได้ดีและมีการวางเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน จึงทำให้เคม กลายเป็นผู้นำชุมชนที่สามารถ สร้างกลไกการทำงานที่เป็นระบบในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตั้งแต่การส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการเกษตร ทั้งการปลูกผัก เลี้ยงไก่ โดยเขาเป็นคนหาตลาดในการนำไปส่งขาย การจัดตั้งตลาดสำหรับขายผลผลิตในชุมชน จนทำให้สมาชิกของกลุ่มมีศักยภาพทั้งด้านการเกษตร การค้าขาย และสามารถบริหารจัดการกันได้เอง
สิ่งที่เคม บอกเป็นสิ่งแรกสำหรับคนที่คิดอยากย้ายจากเมืองไปอยู่ต่างจังหวัด ก็คือการเตรียมตัวให้พร้อม การเตรียมตัวเพื่อสร้างรายได้ทั้งระยะสั้น เช่น การค้าขาย และระยะยาว เช่น การปลูกไม้ผล รวมถึงการทำใจเตรียมตัวรับสภาพของการไม่มีเงินเดือนประจำ การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การกลับบ้านอยู่ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
“การรีบทำไปโดยไม่เตรียมตัวไว้ก่อน ตอนแรกคุณอาจจะฮึกเหิม แต่พอเจอความจริงคุณก็จะห่อเหี่ยว แล้วก็จะหอบหัวใจอันบาดเจ็บของคุณกลับเข้าเมืองเหมือนเดิม”
ทำแล้วขายใคร หาคำตอบให้ได้ก่อนเริ่มลงมือทำ
“น้ำ” รพีภัทร เอกพันธ์กุล ผู้พลิกบทบาทจากการโลดแล่นในวงการบันเทิง หันมาเป็นเกษตรกรที่จังหวัดนครนายกแบบเต็มตัว กับผลงานการเพาะเลี้ยงไก่ชนและควายสวยงามที่สร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้เขาในฐานะเกษตรกรได้อย่างน่าภาคภูมิใจ โดยเขาเริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบ ก็คือไก่ชน ที่เพาะเลี้ยงจากแค่ไม่กี่ตัวจนปัจจุบันมีการต่อยอดในการทำฟาร์มลูกข่าย ให้ชาวบ้านรับพันธุ์ไก่ไปเลี้ยงและน้ำเป็นผู้ซื้อกลับมา ทำให้ช่วยประหยัดทรัพยากรในการเลี้ยงไก่เพิ่ม และยังได้กระจายรายได้ให้กับชุมชนใกล้เคียง
น้ำพูดถึงการทำการเกษตร สิ่งสำคัญคือการมองหาตลาดและลูกค้าให้ได้ก่อน ไม่ใช่เริ่มทำเพราะความชอบแต่ไม่รู้ว่าจะเอาผลผลิตไปขายที่ไหน ซึ่งใครที่สนใจทำการเกษตร การทำปศุสัตว์ก็เป็นธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เพื่อความสวยงาม ก็จะสามารถทำราคาได้ดี เพราะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย
“สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนเลยคือ เราทำเพื่อตลาดกลุ่มไหน ผู้บริโภคที่ต้องการคือใคร นี่แหละคือสิ่งสำคัญ หลังจากนั้นค่อยลงมือทำ ลงมือปลูก ลงมือผลิต”
นอกจากนั้น การสนับสนุนจากครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากทุกคนมองไปยังเป้าหมายเดียวกัน ช่วยกันสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทุกอย่างก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น นี่คือบทเรียนที่น้ำบอกกับทุกคน
ความฝัน ไม่จำเป็นต้องเดินเพียงลำพัง
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มลงมือทำสิ่งดีๆ ให้กับบ้านเกิด สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี เพื่อรับการสนับสนุนทั้งด้านความรู้และเงินทุน โดยสามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่ facebook แฟนเพจของมูลนิธิเอสซีจี และเตรียมพร้อมสมัครกันได้เลย