ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอมีไวรัสเข้ามา แทบอาชีพก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเอง
‘อาจารย์’ ก็หนีไม่พ้น เป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ นอกจากจะต้องปรับหลักสูตรวิชาเรียนที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสอนกันผ่านออนไลน์ ตัวผู้สอนเองก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับสถานการณ์
หากสงสัยว่าเหล่าอาจารย์ปรับเปลี่ยนการสอนยังไง และพวกเขามีเทคนิคอะไรทำให้มีพลังไปถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เด็กๆ ได้แม้ทำงานอยู่บ้าน ตามไปซิตอินขอฟังเคล็ดวิชาเหล่านั้นพร้อมกัน
ปาริฉัตร พิมล
อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
“ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าเราเพิ่งมาเป็นอาจารย์ได้ไม่นานและยังไม่มีโอกาสสอนออนไลน์ เพราะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดเทอมพอดี แต่พอเจอเหตุการณ์อย่างนี้การเรียนการสอนก็เปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน ไม่ใช่ทุกวิชาที่เหมาะกับการสอนออนไลน์ อย่างวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติในห้องปฏิบัติการก็คงเป็นไปได้ยาก ส่วนวิชาที่เน้นความรู้ทั่วไปก็มีข้อจำกัด อาจไม่เอื้อต่อการถาม-ตอบแบบเรียลไทม์ ดังนั้นการประเมินผลจากงานที่มอบหมายจะสามารถวัดความรู้ความเข้าใจของนักศึกษาได้ชัดเจนมากขึ้น และคงต้องเน้นการให้ฟีดแบ็กกับงานแต่ละชิ้นเพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจในการเรียนมากขึ้น
“ข้อจำกัดของการใช้งานโปรแกรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแต่ละคนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เราต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงหรือมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย และทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย บางครั้งนักศึกษาเรียนทั้งวัน คอมฯ ค้าง ไฟดับ เน็ตหมด ก็อาจต้องแก้โดยการลดเวลาสอนลง มอบหมายงานมากขึ้นแล้วค่อยมาตรวจเก็บคะแนน ต้องพยายามเข้าใจปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ของเด็กและยืดหยุ่นมากขึ้น
“ช่วงนี้การทำงานหลักๆ ของเราจึงเป็นการเตรียมตัว ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสอนออนไลน์ให้ได้มากที่สุด ทั้งฝึกใช้โปรแกรมต่างๆ ให้คล่อง ลองใช้โปรแกรมใหม่ๆ ที่คิดว่าจะเหมาะสมที่สุดกับวิชาที่เราสอน และเตรียมย่อยเนื้อหาบทเรียนให้น่าสนใจและเหมาะกับการสอนออนไลน์ที่มีข้อจำกัดหลายด้าน เท่าที่ถามเพื่อนอาจารย์มา หลายคนบอกว่าต้องบิลด์ตัวเองหนักขึ้น เพราะไม่มีนักเรียนมาส่งพลังต่อหน้าเหมือนในคลาส ต้องทำตัวเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์และต้องสวยกว่าเดิมด้วย ท้ายที่สุดคือต้องคอยคิดว่าจะทำยังไงให้นักศึกษาได้ความรู้และเข้าใจสิ่งที่เราสอนให้ได้มากที่สุด ส่วนการทำงานด้านอื่น เราคิดว่าจริงๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน work from home กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ภาระงานของอาจารย์ไม่ได้มีแค่การสอน งานด้านวิจัยที่ต้องทำควบคู่กันไป การผลิตงานด้านวิชาการ การลงพื้นที่ภาคสนาม การรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนงานวิจัย อาจารย์หลายท่าน work สิ่งเหล่านี้ from home, หอสมุด, ร้านกาแฟ หรือที่ต่างๆ กันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ก็อาจไม่ต้องปรับตัวมากนัก
“เทอมหน้าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็คงต้องสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ มอบหมายงานและปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินผลเท่าที่จะทำได้ คงเป็นการผจญภัยที่สนุกสนานไปพร้อมกันทั้งผู้สอนและผู้เรียน ส่วนในภาพใหญ่ก็คงเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องช่วยกัน มหาวิทยาลัยก็อาจจะต้องมีนโยบายมารองรับหรือสนับสนุนให้การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมีประสิทธิภาพ เหมาะกับธรรมชาติของนักศึกษา และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน”
ภาวิน มาลัยวงศ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เทอมนี้สอนวิชาด้านวรรณคดีเป็นส่วนใหญ่ ในครึ่งแรกที่ยังเจอหน้ากันเรามักเริ่มด้วยคำถามว่า นักศึกษาอ่านแล้วเห็นประเด็นอะไร อยากคุยเรื่องไหน เริ่มจากตรงนั้นให้เขาได้ถกเถียงในสิ่งที่ตัวเองสนใจ การเตรียมสอนจึงไม่ได้เป็นจังหวะขั้นตอนตายตัว อาจมีสรุปประเด็น ผลักคำถามสู่วงสนทนาบ้าง แต่ไม่ได้ควบคุมชั้นเรียนโดยสิ้นเชิง พอต้องย้ายมาสอนออนไลน์เลยเจอปัญหาหลายอย่าง สัญญาณเชื่อมต่อแต่ละพื้นที่ไม่ได้ดีเหมือนกัน ขลุกขลัก จึงตกลงกับนักศึกษาว่าวิชาที่ต้องเรียน 3 ชั่วโมง เราจะอัดวิดีโอให้ 2 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นตอน ความยาวตอนละ 30-40 นาที จะได้ไม่ล้าเกินไปสำหรับคนฟัง แล้วอีก 1 ชั่วโมงมาคุยเพิ่มเติมกันทาง Zoom พอทำแบบนี้กลายเป็นว่าเราต้องพูดหน้าจอคนเดียว เลยต้องเตรียมตัวให้พร้อม สรุปประเด็นให้ชัดเจน พร้อมยกตัวอย่างอภิปรายประกอบ เห็นเลยว่านี่คือ absolute power เพราะถึงเราจะเสนอข้อโต้แย้งจากหลายมุม แต่ข้อโต้แย้งเหล่านั้นผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ตัวอย่างก็พยายามเลือกที่มาสนับสนุนชัดเจน นักศึกษาฟังก็คล้อยตาม พอมาถกเถียงกันต่อจึงไม่ค่อยมีใครแย้ง ส่วนตัวคิดว่านี่คือสิ่งที่ขาดหายไปจากการได้เจอหน้ากัน และเราคิดถึงสิ่งนี้
“อีกปัญหาหนึ่งที่เจอคือเรื่อง resource เช่น หนังสือ บทอ่านเพิ่มเติม หนังที่เราให้ดูประกอบ การเข้าถึง resource เหล่านี้ลำบากขึ้น ตอนไปมหาวิทยาลัยเรายังยืมหนังสือจากห้องสมุดหรือแจกเอกสารประกอบได้ แต่พอมาเป็นชั้นเรียนออนไลน์เราต้องหาของเหล่านี้ในอินเทอร์เน็ต บางครั้งไม่เจอก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวบทที่ใช้สอนใหม่ ถ้าหาเอกสารหรือตัวบทที่ต้องการพบก็ต้องมาดูอีกว่าถูกลิขสิทธิ์ไหม ส่งต่อให้นักศึกษาจะมีปัญหาหรือเปล่า พยายามใจเย็น ยืดหยุ่นมากขึ้น ถือโอกาสศึกษาหาแหล่งข้อมูลสื่อประกอบการเรียนการสอนไว้ใช้ในอนาคตด้วยเลย และต้องขอบคุณนักศึกษาด้วยเพราะหลายครั้งเขาเข้าถึงข้อมูลตัวบทที่ต้องการได้ก่อนเรา แถมยังสอนใช้โปรแกรมต่างๆ ลดทอนอีโก้ ความเชื่อมั่นของเราลงไปเยอะเลย ซึ่งดีแล้ว
“แต่ถึงอย่างนั้นการคิดคำถามสำหรับประเมินผลการเรียนรู้กลับส่งผลดี ในแง่ที่ว่าผู้เรียนสามารถแสวงหาข้อมูลต่างๆ ในโลกนี้ได้ไม่สิ้นสุด ยิ่งข้อมูลเยอะนักศึกษาก็ยิ่งต้องเรียนรู้ที่จะประเมินว่าสิ่งไหนเชื่อถือได้ สิ่งไหนมีน้ำหนักมากกว่า ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดอย่างรอบด้านมากขึ้น แต่เราอยากให้น้ำหนักกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคนไปค้นหาแล้วได้ข้อมูลชุดเดียวกันมาตีความ เราเลยต้องทำงานหนักขึ้นในการคิดโจทย์หรือคำถามที่เอื้อต่อการค้นคว้าข้อมูลและคิดสร้างสรรค์ในคราวเดียวกัน และเมื่อเราเอานักศึกษาออกจากห้องสอบที่ห้ามเขาใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นหรือกำหนดเงื่อนไขการสอบแล้ว ในฐานะผู้สอนเราก็ต้องผลักตัวเองให้รู้เท่าทันด้วยเพื่อที่จะประเมินผลการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ของนักศึกษาอย่างแม่นยำ เป็นผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย
“การอพยพห้องเรียนมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบกะทันหันในเทอมนี้ ทำให้เรามองทะลุสิ่งที่ก่อนหน้ามองว่าเป็นข้อจำกัดหลายอย่างมาก แต่ก่อนคิดว่าทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ จริงๆ แล้วมันทำได้ แล้วก็มีประสิทธิภาพพอกัน จะจำไว้เป็นบทเรียนเวลาคิดเค้าโครงรายวิชาของเทอมหน้า ว่าควรมีความยืดหยุ่น
“แต่ช่วงนี้ก็จะพยายามนอนให้พอ รักษาสมดุลชั่วโมงการทำงานและพักผ่อนให้ดี บังคับตัวเองว่าพอลืมตาแล้วจะไม่เดินมาเปิดแล็ปท็อปตอบอีเมลหรือคำถามทางเฟซบุ๊กและไลน์ทันที ไปทำอย่างอื่นยืดเส้นยืดสาย ทำโยคะก่อนสักนิด นอกจากนี้พอมีเวลาว่างก็แอบไปดูยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ว่าเขามีวิธีพูดกับกล้องยังไง จังหวะซิตคอมต้องมี แล้วจำเทคนิคเหล่านี้มาฝึกเล่นใน TikTok หรือคุยกับแม่ซื้อ ก็ช่วยลดความเก้อเขินเวลาต้องนั่งพูดหน้าจอคนเดียวโดยไม่เห็นปฏิกิริยาจากนักศึกษา การเพิ่มช่องทางสื่อสารทางไลน์และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ก็ช่วย นอกจากเพิ่มความรวดเร็วในการติดต่อแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเห็นเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มีข้อผิดพลาดเช่นกัน แล้วก็หวังว่ามุมมองแบบนี้จะช่วยทำให้เขากล้าคิดต่าง พูดแย้งเรามากขึ้น”
ปาริฉัตร สุชาติกุลวิทย์
อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ปกติการสอนของเราจะเป็นแบบถาม-ตอบและฝึกปฏิบัติในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่ มีการใช้ระบบออนไลน์ในการถามข้อสงสัยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย พอเจอโรคระบาด มีประกาศงดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนทั้งหมด การสอน การสั่งงาน และการประเมินผล จึงจำเป็นต้องปรับมาอยู่ในออนไลน์ทั้งหมด ในแง่ของการสั่งงานและการประเมินผลออนไลน์เราไม่ได้กระทบมากเพราะทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการสอนและการตรวจงานย่อยก่อนส่งผลงานจริง ต้องหาแอพพลิเคชั่นที่สะดวกในการเปิดหน้าจอเพื่อขึ้นเนื้อหาระหว่างสอน ตรวจงานเพื่อวิจารณ์และให้คำแนะนำนักศึกษาได้ เนื่องจากวิชาที่สอนเป็นวิชาเฉพาะทางด้านการออกแบบ การตรวจงานจำเป็นต้องสเกตช์แก้ไขและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
“ปัญหาที่เราเจอแรกๆ คือเรื่องการนัดแนะเวลาคลาดเคลื่อน ไม่ตรงต่อเวลา แต่พอผ่านไปสักระยะทั้งเราและลูกศิษย์ก็ปรับตัวได้มากขึ้น เตรียมเข้าห้องเรียนก่อนเวลา 10-15 นาที ถ้ามีปัญหาอะไรจะได้แก้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มเรียน
“จริงๆ การทำงานอยู่บ้านทำให้เรามีเวลาเยอะขึ้น ลดปัญหาเรื่องระยะเวลาในการเดินทาง หากมองในแง่ดีก็เหมือนเป็นช่วงที่ทำให้เรามีเวลาศึกษาหาความรู้ พัฒนาตัวเองเยอะขึ้น ได้ปัดฝุ่น หยิบหนังสือที่ซื้อกองไว้แต่ไม่มีเวลาอ่าน ซึ่งสิ่งที่เราได้อ่าน ได้ศึกษา ได้พัฒนาตนเองช่วงนี้ จะสามารถนำไปสอนและให้ความรู้กับนักศึกษาต่อไปในอนาคตได้แน่นอน เราเลยมองว่าการทำงานที่บ้านเป็นการเติมพลังมากกว่าทำให้เราหมดพลัง เพียงแต่เราต้องมีวินัยในตนเอง กำหนดเวลาทำงานและเวลาพักให้ชัดเจน ปัญหาของการทำงานอยู่บ้านก็จะหมดไป”
กัณภัส ขอสินกลาง
Academic Assistant ประจำโรงเรียนนานาชาติ
“การสอนของเราเปลี่ยนไปมาก ปกติเวลาสอนในห้องเรียนจะไม่ใช่การนั่งติดโต๊ะขนาดนั้น เพราะเป็นเด็กเล็กด้วย เราจึงต้องลุกไปดูว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรอยู่ เรียนเป็นยังไง พอมาอยู่บ้านอย่างนี้เลยรู้สึกว่าไม่สนุก
“ช่วงก่อนหน้านี้เตรียมการเรียนการสอนออนไลน์ก่อนโรงเรียนปิดอยู่หลายเดือน ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ดีที่ปกติโรงเรียนจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์คล้ายๆ เฟซบุ๊ก ชื่อว่า Seesaw อยู่แล้ว เป็นพื้นที่สำหรับให้นักเรียนมาโพสต์ส่งผลงาน พอเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ก็แค่อัดวิดีโอแล้วอัพลงได้เลย แล้วใช้ Zoom ในการคุยกัน
“แต่พอมาสอนจริงมันคือการแก้ปัญหารายวันเลย เราจะส่ง lesson plan ไปว่าอาทิตย์นี้จะโฟกัสกันที่ 5 วิชาเรียน เช้ามาเด็กจะมารายงานตัว บอกว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง แต่ขั้นตอนการเรียนของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น โจทย์คือให้เด็กๆ เขียนน็อนฟิกชั่น บางคนอาจจะอยู่ในขั้นตอนคิดโครงเรื่อง บางคนเริ่มลงมือเขียนบทที่หนึ่งไปแล้ว เราก็ต้องดูว่าวันนี้เด็กคนไหนจะทำอะไร
“สองอาทิตย์แรกของการทำงานเราซัฟเฟอร์มาก เพราะเราชอบทำงานกับเด็ก ชอบสอน ชอบเล่า พอสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีพลัง ทำให้ผ่อนคลายคือของภายนอกทั้งหมด ก็ต้องมาปรับมุมคิดใหม่ พยายามคิดว่าถ้าสถานการณ์นี้จบแล้วเราอยากทำอะไรมากที่สุด และระหว่างนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เลยอัพเน็ต เปลี่ยนทีวี โละของทิ้ง ซื้อต้นไม้มาจัด ทำบ้านให้เราอยู่อย่างมีความสุขมากที่สุด เรียกได้ว่าไม่คิดถึงเรื่องงานเลย เพราะคิดถึงงานแล้วเรามีความทุกข์ เลยพยายามหาอะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ถ้าเรามีความสุขก็อาจจะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น”
พุชฌงค์ สังข์สูงเนิน
อาจารย์วิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา
“ตอนนี้การทำงานของผมเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะเรื่องการทำแผนการสอน จากที่ปกติต้องจินตนาการว่าจะยืนสอนอยู่ในห้องเรียน ตอนนี้ต้องมาจินตนาการกันใหม่ว่าถ้าอยู่หน้ากล้องจะทำยังไงให้น่าสนใจ ซึ่งมันยากนะ ไม่เหมือนเวลาอยู่ในห้องเรียนที่เราสามารถเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของเด็กๆ ได้ เลยต้องทำการบ้านมากขึ้น ปรับการสอนและเรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่อง รู้จักสรุปความรู้ และที่สำคัญคือต้องลดคำพูดวิชาการที่น่าเบื่อๆ ออกไปบ้าง เพราะเดี๋ยวจากครูจะกลายเป็นคนกล่อมเด็กหลับแทน
“ปัญหาหลักๆ ที่เจอตอนนี้คือเหงา (หัวเราะ) คิดถึงนักเรียนมาก พอเป็นครูแล้วไม่ได้เจอนักเรียนนานๆ ก็รู้สึกแปลกๆ ถึงแม้เวลาเปิดเทอมจะเบื่อกับนิสัยดื้อๆ ของพวกเขา แต่พอไม่ได้เจอนานก็คิดถึง เหงาปาก ตอนนี้เวลาเจอโพสต์อะไรตลกๆ เลยจะกดส่งเข้าไปแกล้งเด็กในกรุ๊ปไลน์เสมอ พอเด็กๆ ตอบกลับมาเราก็แฮปปี้ขึ้น
“วิธีเตรียมตัวทำงานในช่วงนี้ก็เหมือนสมัยเรียนมหา’ ลัยเลย หาเพลงแจ๊สฟังสบาย เปิดคลอสร้างบรรยากาศให้ชิลล์ๆ สั่งอะไรอร่อยๆ มากินแก้เบื่อ เต้นแอโรบิกคลายความเครียดจากการทำงานบ้าง หรือถ้าเริ่มเบื่อมากเข้าก็จะไปล้างจาน และถ้าเทอมหน้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น สิ่งเดียวที่ผมเตรียมได้คงเป็นสติ ทำตัวให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ เพราะผมเชื่อว่าต่อให้สถานการณ์มันแย่สักแค่ไหน ถ้าทุกคนมีสติ จากเรื่องใหญ่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กได้”
ศิรัมภา จุลนวล
อาจารย์ประจำสาขาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ถึงเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน แต่ก็แทบไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ เพราะปกติก็เปิดให้นักศึกษาติดต่อผ่านทางออนไลน์อยู่แล้ว เรายังสามารถให้คำแนะนำ ถาม-ตอบ สั่งงาน หรือประชุมกลุ่มได้เหมือนปกติ นักศึกษาเองก็ถนัดเรื่องนี้ เลยทำให้ปรับตัวได้ไม่ยาก และการทำงานแบบนี้ทำให้เรามีเวลาเตรียมการ และวางเเผนการสอนได้อย่างเต็มที่ขึ้นด้วย
“สำหรับวิชาภาคปฏิบัติที่นักศึกษาต้องใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักร หากมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาเข้ามาทำงานได้ตามปกติ ทางภาควิชาฯ ก็มีการวางแผนจัดลำดับคิว วันและเวลา เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาทำงานได้อย่างปลอดภัย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคตด้วย”
สุรัชนี ศรีใย
อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“น่าจะเรียกว่าโชคดี เพราะเราค่อนข้างเคยชินกับการเรียนการสอนออนไลน์จากตอนเรียนและสอนที่อเมริกาอยู่แล้ว เลยไม่ต้องปรับตัวอะไรมากในด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ อย่าง Blackboard เราก็ใช้มาตลอดตั้งแต่เปิดเทอมแล้ว ก่อนหน้านี้เอาไว้ใส่เกรดให้นิสิตดูเป็นหลัก ตอนนี้ก็เหมือนได้ใช้เต็มตัว ทั้งเปิดห้องเลกเชอร์รายสัปดาห์ ส่งงาน และประเมินผลทั้งหมดไปเลย สะดวกดี ที่ต้องปรับจริงๆ เลยเป็นการเลกเชอร์ออนไลน์มากกว่า เพราะเราไม่ได้บังคับให้เด็กเปิดกล้อง (เข้าใจว่าบางคนก็อยากหน้าสดนั่งเรียนบนเตียงบ้าง) สิ่งที่ขาดไปเลยคือรีแอ็กชั่นของเด็ก เราไม่ได้สบตา ไม่ได้มองหน้ากัน บางครั้งเลยเดายากว่าเด็กเข้าใจที่เราสอนไหม และบางทีเด็กก็เงียบมาก เหมือนเราพูดอยู่คนเดียว ต้องคอยถามตลอด
“ปกติชอบทำงานตามร้านกาแฟเพราะชอบกลิ่นกาแฟ เสียงคน เพลงแจ๊ส แต่ในเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ เราจึงยกร้านกาแฟมาไว้ในบ้านซะเลย ชงกาแฟแล้วเปิดเพลงคลอมันก็ได้อยู่นะ เพราะคาเฟอีนและ Fisherman’s Friend คือตัวช่วยที่ดีสำหรับการสอน 3 ชั่วโมงมากๆ แต่ยอมรับเลยว่าบางวันก็แอบไม่มีพลังในการสอนเหมือนกัน แต่มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำให้เต็มที่ และอยากบอกเผื่อนิสิตผ่านมาเห็นว่าเวลาที่นิสิตตั้งใจเรียน คอยถาม-ตอบกับอาจารย์ มันช่วยให้มีพลังในการสอนมากขึ้นจริงๆ
“ถ้าเทอมหน้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็คงต้องสอนออนไลน์เหมือนเดิม แต่อาจปรับวิธีการสอนอีกหน่อยเพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเพิ่มขึ้น ปลายเทอมที่ผ่านมาลองให้เขาทำกิจกรรมกลุ่มก็เอนจอยกันดี แล้วก็คงจะอะลุ่มอล่วยกับนิสิตเพราะในช่วงเวลาแบบนี้บางคนก็มีความกังวลอื่นเพิ่มเข้ามาทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับเรื่องเรียนได้เต็มที่ ถ้าเราช่วยอะไรได้ก็ช่วยโดยที่ยังคงมาตรฐานการเรียนและการประเมินผลให้ได้มากที่สุด สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือเมื่อกลับคืนสู่สภาวะเดิมหลังสถานการณ์โควิด-19 เด็กๆ จะรับได้ไหม เพราะอาจจะชินกับเราเวอร์ชั่นใจดีไปแล้ว (หัวเราะ)”
กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร
อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พอเจอเหตุการณ์อย่างนี้วิชาที่เราสอนเลยกระทบสุดๆ เพราะเป็นวิชาปฏิบัติ วิชาถ่ายภาพเด็กก็ไม่สามารถออกไปถ่ายรูปได้ เลยต้องปรับโจทย์ให้เป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเขามากขึ้น อุปกรณ์ก็ต้องลดดีกรีลง อนุญาตให้ใช้มือถือถ่ายได้ แต่อาจต้องออกกฎว่าห้ามใช้ออโต้ การประเมินต่างๆ ก็ต้องลดเกณฑ์ลงมาพอสมควร ดูกันที่ครีเอทีฟไอเดียและทักษะพื้นฐานแทน ส่วนวิชาตัดต่อโชคดีมากที่มหาลัยจัดหาโปรแกรม Adobe ให้เด็กทุกคนไปทำที่บ้านได้หมด ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มีซอฟต์แวร์ที่เป็น license แท้ใช้เลยจบปัญหาส่วนนี้ไป สามารถเรียนตามไปด้วยกันได้
“แต่เราว่าปัญหาคือออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนทุกอย่างได้ ธรรมชาติของการเรียนการสอนด้านนี้ต้องมีการวิจารณ์ ดีเบตกัน ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมออนไลน์ และต้องเข้าใจด้วยว่าคนเราไม่สามารถเรียน สอน หรือทำอะไรทางออนไลน์ได้หมด เวลาเราทำงานอยู่บ้านมันก็ต้องมีเรื่องส่วนตัวบ้าง การคอนซัลต์บางครั้งจึงไม่จำเป็นว่าต้องไลฟ์เห็นหน้ากันตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ ใช้เครื่องมือที่เป็นออฟไลน์หรือใช้เทกซ์อธิบายบ้างก็ได้ ทั้งสองฝ่ายจะได้มีเวลาวางแผนทบทวนก่อนตอบ อย่างเราจะใช้เทกซ์เป็นหลัก มันเป็นภาระที่ต้องพิมพ์เยอะขึ้น พิมพ์ละเอียดขึ้นก็จริง แต่เราเป็นวิชาปฏิบัติที่มีเด็ก 50-60 คน ปกติถ้าเจอหน้ากัน คุยคนละ 15 นาทีก็เสร็จ แต่พอเป็นออนไลน์เวลาที่ใช้มันเยอะขึ้น ไม่สามารถไลฟ์อย่างนั้นได้
“สิ่งสำคัญตอนนี้เป็นเรื่องการจัดการเวลา ต้องมีเวลาที่รู้จักหยุด เวลาที่รู้จักทำ กำหนดให้ชัดเจน คุยกับแฟนเลยว่าช่วงเวลานี้ถึงเวลานี้เราต้องทำสิ่งนี้นะ โชคดีที่บ้านเรากว้างพอที่จะจัดโซนไม่ให้ใครมายุ่งกับเรา เราสามารถอยู่กับงานได้อย่างเต็มที่ อย่างตอนนี้หลัง 16:30 น. เราจะไม่ตอบเด็กเลย เจอกันอีกทีคือเช้าวันต่อไป 09:00 น. เราจะเริ่มสแตนด์บายแล้ว พอ 16:30 น. คือปิด เลิก ไปทำอย่างอื่น รดน้ำต้นไม้ เล่นกับลูก ทำกับข้าว ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่งาน เพราะไม่ใช่ว่าพอเป็นออนไลน์แล้วเราต้องทำงาน 24/7 คนที่รอคำตอบเราเขาอาจหงุดหงิดแหละ แต่บางครั้งก็ต้องหัดใจร้ายกับคนอื่นแล้วใจดีกับตัวเองบ้าง ไม่งั้นจาก work from home คงกลายเป็น work from hell”