‘ไม่ไหวบอกไหว’ คอลัมนิสต์ a day เขียนงานยังไงยามใจแพนิก

ทำงานที่บ้านมาหลายสัปดาห์ แต่หลายๆ คนก็ยังปรับตัว ปรับเวลา ทำใจเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นที่ทำงานไม่ได้สักที ยิ่งในยามที่สองมือต้องนั่งพิมพ์งานสู้เดดไลน์ แต่หูและตาดันไม่โฟกัส ขยันแต่ไปเปิดรับข่าวเข้ามาใส่ใจ ยิ่งฟังยิ่งทำให้แพนิก อยากจะทิ้งงานแล้วหนีไปเตรียมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดให้ดีขึ้นกว่าเก่า

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเห็นทีจะไม่ได้งาน เราขอตามไปแอบส่องชีวิตคนทำงาน มาดูกันว่าคอลัมนิสต์ a day มีวิธีการเขียนงานกันยังไงในช่วงเวลาน่าแพนิกเช่นนี้

 

มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ คอลัมน์ past forward

“ที่ผ่านมาเราต้องเปลี่ยนทุกเวลาเป็นการหาข้อมูล ระหว่างนั่งรถไฟฟ้า เวลาออกกำลังกาย ถ้าตุนข้อมูลไว้ได้ เวลาต้องเขียนจริงๆ จะไม่แพนิกเท่าไหร่ ช่วงนี้เลยถือว่าโชคดี ได้เวลาคืนมา มีเวลาอ่านหนังสือ ดูวิดีโอ ได้เริ่มเรียนคอร์สออนไลน์ (กำลังเรียน Russian History: from Lenin to Putin) ในฐานะนักเขียนบทความประวัติศาสตร์ ยิ่งเรามีจิ๊กซอว์ในสมองมากเท่าไหร่ เวลาต้องต่อออกมาเป็นเรื่องเล่าก็จะทำได้ไวขึ้นเท่านั้น”

 

ธเนศ รัตนกุล คอลัมน์ sci-fine

“การเขียนนี่แหละเป็นกระบวนการจัดการความตื่นตระหนกได้ดีที่สุด ในช่วงที่หัวใจสูบฉีด คอร์ติซอลหลั่งไหลทั่วร่างเป็นพัลวัน แต่คุณกลับนั่งลงค่อยๆ สร้างประโยคต่อประโยค การเขียนจึงเป็นกิจกรรมที่สะกดความปั่นป่วนและหวนกลับไปสำรวจกระบวนการทางความคิดของเราใหม่อีกครั้ง แต่คุณต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่นำมาใช้ต้องไม่ตื่นตระหนกและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเสมอ ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม  

“ผมชื่นชอบการหาข้อมูลและ argument ต่างๆ ช่วงก่อนนอน ถึงแม้ข้อมูลที่เรามีจะกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ ก็ปล่อยไว้เช่นนั้นก่อน การนอนที่ดีก็ถือเป็นการทำงาน เพราะสมองมหัศจรรย์มากพอจะเชื่อมโยงสิ่งที่เราวางทิ้งไว้ จากนั้นตื่นมาเขียนงานตอนเช้าตรู่ เรายังไม่เหนื่อยล้าจากกิจกรรมระหว่างวัน จิตใจยังไม่กระทบกับสิ่งเร้าอื่นๆ ดังนั้นงานเขียนจึงสามารถทำควบคู่กับทุกกิจกรรมในชีวิตได้”

 

Sy Chonato คอลัมน์ in other words

“เราพยายามจำกัด noise พวกนี้ด้วยการตามอ่านข่าวแค่เช้ากับเย็นพอ ช่วงนี้เรื่องมันเยอะมาก มวลอารมณ์หลั่งไหล เสพข้อมูลเกินขนาดได้ง่ายมาก ตอนแรกก็สนุกดีเหมือนดูละครช่องเดียวกันตลอดเวลา แต่สักพักเราเริ่มรู้สึกว่ามันแค่ตื่นเต้นไปวันๆ บันเทิงรายชั่วโมง จิตใจเราแวะข้างทางทั้งวันเลย รู้ทุกเรื่องแต่กลับคิดอะไรไม่ออก 

“เราพยายามจำแนกว่า นี่เรากำลังอ่านข่าวหรือข้อมูลประเภท he said, she said มากไปไหม บางครั้งมันสั้น สนุก ไวรัล อิมแพกต์ ว้าวซ่าสะเทือนไปทั้งดินแดน พอวันรุ่งขึ้นเรื่องก็สลายไป มีของใหม่โผล่มาให้บันเทิงอีก เอาเวลามาเลือกอ่านบทความยาวๆ ที่ตั้งใจเขียนสรุป กลั่นกรอง แบบไม่รีบอาจจะดีกว่า หลายเรื่องในโลกนี้เราไม่ต้องรู้แบบเรียลไทม์ก็ได้ รอรู้สรุปตอนสิ้นวันหรือเดือนหน้าก็ไม่สายไป”

 

ณิชมน หิรัญพฤกษ์ คอลัมน์ made in japan

“เขียนเรื่องที่ทำให้แพนิกอยู่ตอนนั้นไปเลย ไหนๆ ก็เสพข้อมูลจำนวนมากอยู่แล้ว ให้การเขียนช่วยโปรเซสข้อมูลอย่างมีสติ หาแง่มุมสดใสในความเศร้าหมอง พอเราเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ และวิธีรับมือในขอบเขตที่เราทำเองได้ ความมั่นใจจะช่วยกวักเรียกกำลังใจมาให้ด้วย ในเมื่อไวรัสขยันแพร่ไม่หยุด ในฐานะมนุษย์ที่ยังแข็งแรงก็ไม่อยากยอมแพ้” 

 

วรรษมน โฆษะวิวัฒน์ คอลัมน์ made in taiwan  

“ที่ไต้หวันสถานการณ์ถือว่าค่อนข้างปกติ แต่การเสพข่าวทั้งจากเมืองไทยและทั่วโลกก็ทำเอาจิตตกเหมือนกัน เราเองเลยเลี่ยงการออกไปนั่งทำงานข้างนอกมาพักใหญ่

“เราต้องสร้างบรรยากาศให้ดีก่อนถึงเริ่มทำงานได้ ห้องต้องสะอาด มีเครื่องหอมมาวาง เปิดเพลย์ลิสต์ที่ชอบฟังเหมือนอยู่คาเฟ่ เสร็จแล้วก็ชงเครื่องดื่มมาวางอีกสักแก้ว ส่วนใหญ่จะเป็นช็อกโกแลตร้อนหรือชานม เตรียมตัวนานหน่อยแต่พอเริ่มทำงานปุ๊บก็นั่งได้ยาวเลย”

 

คาลิล พิศสุวรรณ คอลัมน์ reason to read

“เราพยายามไม่เปรียบเทียบ productivity ของเรากับใคร ทำงานไปเรื่อยๆ เท่าที่ไหว ไม่กดดันตัวเอง ยอมรับว่าสภาพจิตใจได้รับผลกระทบจริงๆ และนั่นส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปมาก ในแง่หนึ่งเราคิดว่านิยามของ productivity ก็ควรจะถูกทบทวนใหม่ เผลอๆ ยุค post-COVID ความเข้าใจที่เรามีต่อ productivity อาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้วก็ได้ ชีวิตช่วงนี้ของเราเลยกระโดดอยู่ระหว่างการเขียนงาน การทำความเข้าใจกับระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป และการนั่งดูซีรีส์เกาหลี”

 

จิราภรณ์ วิหวา คอลัมน์ มณฑล จิราภรณ์

ถ้าตอบว่าวิธีหนีแพนิกที่ดีที่สุดคือการทำงานนี่แหละก็จะจบตั้งแต่บรรทัดนี้เลย 55 เวลาดูข่าวแล้วโกรธหรือคิดกังวลไปข้างหน้าแล้วเครียด จะรีบเปิดคอมฯ ทำงานที่ใช้สมาธิหนักๆ เลย เอาให้ผ่านความแพนิกเฉพาะหน้าไปให้ได้ก่อน การ work from home ช่วงนี้เลยโปรดักทีฟมากเพราะต้องดีลกับความโกรธและความเครียดของตัวเอง

“แต่พอโปรดักทีฟมากก็จะล้ามาก วิธีเยียวยาที่บ้าพอกันคือการทำอาหารในเมนูที่แอดวานซ์ขึ้นกว่าปกติ จริงจังตั้งใจกว่าเดิม เพราะไม่งั้นจะเหลวเป๋วหมดแรงแล้วไม่ทำอะไรเลย ช่วงนี้เลยตุ๋นชาชู ทำราเมน อบกราแต็ง ทำน้ำยาล้างจานใช้เอง ไม่มีชีวิตที่นอนละลายไปกับโซฟาเหมือนตอนกลับจากออฟฟิศอีกต่อไป!

AUTHOR