‘แบ่งโซนใช้ชีวิตและพูดสิ่งที่คิดออกมาบ้างก็ได้’ วิธีการทำงานให้ดีฉบับชาว AE แม้ช่วงนี้จะ work ไร้ balance

‘แบ่งโซนใช้ชีวิตและพูดสิ่งที่คิดออกมาบ้างก็ได้’ วิธีการทำงานให้ดีฉบับชาว AE แม้ช่วงนี้จะ work ไร้ balance

เพราะการได้พบเจอ พูดคุย และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ถือเป็นหัวใจสำคัญและหน้าที่หลักของชาว AE ในโมงยามที่ออกไปพบหน้ากันไม่ได้ ต้องคุยและขายงานกันผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์อย่างนี้ รูปแบบการทำงานของพวกเขาเปลี่ยนไปยังไง ประสบกับปัญหาใดบ้างเมื่อต้องเปลี่ยนบ้านเป็นออฟฟิศจำเป็น

หนุ่มสาวผู้ประกอบอาชีพ AE ทั้ง 6 คน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์แล้ว ติดตามเคล็ดลับการทำงานของพวกเขาได้เลย

 

กี้–ชาครีย์ เตชะรัตนไกร 

Account Executive, GREYnJ UNITED

“ช่วงนี้ก็ขายงานยากขึ้นนิดหน่อย งานที่ต้องติดต่อหรือเจอคนเยอะๆ อย่างงานโปรดักชั่นก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน หรือบางงานที่ปรับได้ก็ต้องบิดให้เหมาะกับสถานการณ์มากขึ้น go online มากขึ้น 

“สำหรับการ work from home เอเจนซีเรามีการเตรียมพร้อมที่ดี พยายามคิดล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่าจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง จึงมีการเตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว ทั้งเรื่องการเซตระบบใหม่ การหาช่องทางติดต่อสื่อสาร แนวทางรายงานความก้าวหน้าของงานที่ทำในแต่ละวัน แต่ด้วยความที่การทำงานแบบนี้มันใหม่มากสำหรับทุกคน พอเริ่มทำจริงก็จะมีปัญหาใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงงอกขึ้นมา ที่ดูจะเป็นปัญหาที่สุดสำหรับทุกคนตอนนี้ทั้งเอเจนซีและลูกค้าคือเรื่องเวลาทำงาน เพราะการทำงานที่บ้านทำให้มีความยืดหยุ่นสูงมาก แทบจะไม่มีเวลาเริ่มงาน-เลิกงานที่แน่นอน จนจุดหนึ่งเลยเหมือนทำให้คนคิดกันไปเองว่าคนอื่นก็สแตนด์บายทำงานอยู่เหมือนกัน กลายเป็นต้องทำงานนอกเวลาต่อกันเป็นทอดๆ บางครั้งวันหยุดก็ยังต้องทำงาน เราเลยต้องมีวินัยกับตัวเองมากขึ้นด้วยว่าจะหยุดงานตอนไหน พักกินข้าวตอนไหน

“ปัญหาอีกอย่างคือเรื่องสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการทำงาน บางทีคนในบ้านเสียงดัง ข้างบ้านก่อสร้าง แมวที่บ้านมานั่งทับคอม มันมี distraction เยอะ ยากที่จะโฟกัสกับงานได้ตลอดเวลา หลังๆ เราเลยใช้วิธีจัดห้องหนึ่งเป็นโฮมออฟฟิศ ตั้งโต๊ะเหมือนไปทำงานที่ออฟฟิศ จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการทำงาน และถ้าอุดอู้อยู่ในบ้านนานๆ เริ่มรู้สึกเครียด ก็จะพักด้วยการไปเดินเล่นในสวน คุยกับคนในบ้าน โทรคุยกับเพื่อนที่ติดอยู่ในบ้านเหมือนกันบ้าง อย่างออฟฟิศเราก็มีการเล่นเกมวิ่งหาของในบ้านผ่าน Zoom กิจกรรมอะไรแบบนี้ทำให้เรามีกำลังใจทำงานในช่วงนี้ต่อไปได้”

 

เก่ง–ชนิสรา ปาลสุวรรณ 

Account Executive, Publicis Thailand

“การทำงานที่บ้านทำให้รูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนไปหมด ตั้งแต่วิธีการรับบรีฟ การขายงาน จากที่เคยไปหาลูกค้าที่ออฟฟิศก็ต้องเปลี่ยนเป็น con call ขั้นโปรดักชั่นที่ปกติลูกค้าต้องไปเฮาส์กับเรา ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นส่ง approve ทางไลน์และ con call ซึ่งเราว่าวิธีนี้ก็สะดวกดี ทำให้เห็นว่าบางขั้นตอนไม่ต้องเจอกันตัวเป็นๆ ก็ได้ แชร์สไลด์ผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลเอา

“แต่การทำงานที่บ้านก็มีปัญหาเหมือนกัน นอกจากค่าไฟจะเพิ่มขึ้นแบบดับเบิล เส้นแบ่งของการเลิกงานก็มีความเบลอสูง หลายๆ ครั้งรู้สึกว่าทำงานหนักกว่าเวลาเข้าออฟฟิศปกติ ยิ่งเรามีความคิดว่าทำให้ทีมทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนเราก็ต้องเพิ่มแรงอีก สู้อีก พิสูจน์ตัวเองอีก ทั้งๆ ที่มันก็อาจจะสุดได้แค่นี้แล้ว หลายๆ ครั้งก็ท้อใจ เทียบกันกับเวลาเข้าออฟฟิศ พอมีแก็ปเรายังไม่รู้สึกแปลกเท่าตอนนี้เลย ทั้งๆ ที่ก็ทำงานเต็มที่เหมือนกัน เกินร้อยด้วยซ้ำ

“ปัญหาอีกอย่างคือคนในครอบครัวหรือผู้ใหญ่ที่ต่างเจนฯ กับเรามากๆ เขาไม่เข้าใจการทำงานแบบนี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมหลานประชุมตอน 2-3 ทุ่มบ่อยจัง ทำไมไม่มากินข้าวด้วยกัน บางครั้งเราถึงกับต้องยกคอมฯ มาทำงานบนโต๊ะอาหาร ให้เขาฟังประชุมไปพร้อมๆ กัน เหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างครอบครัวกับงานจึงทำให้กระอักกระอ่วนใจเล็กน้อย แต่ก็โชคดีที่เราเป็นคนชอบระบาย หลายๆ ครั้งที่มีคนคอยรับฟัง ให้กำลังใจ แนะนำ พูดคุยด้วย ก็ช่วยได้มากเลย ยิ่งได้พูดออกมาบ่อยๆ ยิ่งดี เหมือนได้ระบายของเสียออกจากตัว มีไฟทำงานต่อ และเราก็ชอบสปอยล์ตัวเองด้วย คอยกินอาหารอร่อยปลอบใจตัวเองตลอด พยายามมีความสุขกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างวันไหนได้ออกกำลังกายก็แฮปปี้แล้ว จัดโต๊ะสวยๆ สร้างบรรยากาศ ถ่ายรูปลงสตอรีสร้างมู้ดวันที่ดี อะไรพวกนี้พอมาประกอบกันแล้วมันช่วยให้มีพลังในการทำงานมากขึ้น แล้วก็คอยพยุงไม่ให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดลงกว่าเดิมได้อย่างดีเลย”

 

เกรซ–สุชานันท์ พุ่มสวาท 

Account Executive, Ad Hoc Creative Connect

“อาชีพเราสิ่งสำคัญคือการได้เจอ พูดคุย สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นหลัก สำหรับลูกค้าเก่าที่ต้องทำงานร่วมกันต่อก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือมีปัญหาอะไรมาก เพราะปกติส่งงานผ่านทางไลน์ อีเมล และโทรคุยกันเป็นปกติอยู่แล้ว ติดต่อกันตลอด เราจึงรู้สึกว่า AE อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้หมดนั่นแหละ แต่ตอนนี้พอมีลูกค้าใหม่เข้ามา ต้อง pitch งาน พรีเซนต์ผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ลูกค้าโฟกัสเรา และยากมากเช่นกันที่ตัวเราจะโฟกัสลูกค้า อย่างที่บอกว่างานเราคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ดังนั้น first impression ก็เป็นสิ่งสำคัญ พอเราไม่เห็นท่าทีของลูกค้าตอนพรีเซนต์จึงรู้สึกเป็นกังวลเพราะอ่านเกมอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้ว่างานที่เสนอไปโอเคไหม ปกติถ้าลูกค้าเริ่มเบื่อเรากับทีมจะสร้างสีสันให้ลูกค้าบ้าง เหมือนพักเบรก แต่พอพรีเซนต์ผ่านออนไลน์ที่มีเวลาจำกัด จึงเหมือนต้องรีบเร่งให้จบ มันค่อนข้างประหม่า รู้สึกไม่โอเคกับการคุยกับลูกค้าใหม่ผ่านออนไลน์เท่าไหร่

“ขั้นตอนการแก้งานจากลูกค้าก็เป็นปัญหา ปกติถ้าอยู่ออฟฟิศแค่เดินไปหา อธิบายสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ทีมทำต่อก็จบ แต่ตอนนี้วุ่นวายมาก ต้องโทรหาคนนั้นทีคนนี้ที แก้งานกันจ้าละหวั่น เห็นความสำคัญของการคุยกันแบบ face-to-face ขึ้นมาเลย อีกอย่างเรารู้สึกว่ามีสมาธิน้อยลง เป็นกังวลกับงาน อยากถามความคืบหน้าตลอดเวลา ห่วงงานแต่ก็เกรงใจคนที่ทำงานด้วย ตอนนี้เราเลยใช้วิธีทวนงานกับคนในทีมตอนเช้า ทำโน้ตว่าต้องการอะไรจากเขาบ้างในวันนี้ จัดคิวว่าเป็นงานเร่ง งานรอ แล้วให้คนในทีมส่ง to-do list ของตัวเองกลับมาเพื่อจัดลำดับชีวิต พร้อมประเมินว่าวันนี้งานไหนจะเสร็จบ้าง จะไม่โทรจิก แต่จะทักไลน์เป็นระยะๆ เพื่อถามความคืบหน้าแทน ส่วนการทำงานที่ห้องบอกตรงๆ ว่าไม่มีเคล็ดลับอะไร แค่รู้สึกว่าต้องจัดระบบและรู้จักสื่อสารกับคนในทีมว่าเรามีวิธีจัดการกันแบบไหน สร้างข้อตกลงระหว่างการทำงาน ถ้าเข้าใจตรงกันก็จบ”

 

เจแปน–เอธยา พิรุฬห์วงศ์

Account Executive, Katanyu86 Digital Creative Agency

“ออกตัวก่อนว่าเราเป็นเด็กจบใหม่ เพิ่งทำงาน AE เต็มตัวได้ประมาณ 5-6 เดือน ก็มาเจอกับช่วง WFH ยาวๆ กันเลย รูปแบบการทำงานของ AE ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือที่เราเห็นได้ชัดเจนเป็นเรื่องการติดต่อสื่อสาร ตอนทำงานที่ออฟฟิศเรามีงานหรือปัญหาอะไรก็เดินไปหา ไปปรึกษา และเรียกประชุมกันได้ทันที แต่พอมาเจอโควิดแบบนี้ ทุกคนต้องแยกกันทำงานที่บ้าน ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน จากที่เคยเดินไปหาก็ต้องไลน์หรือโทรศัพท์ การประชุมก็ต้อง con call กันแทน ส่วนลูกค้าก็ขึ้นอยู่กับเขาเลยว่าอยากให้เราเข้าไปพรีเซนต์ให้ฟังไหม หรือว่าเป็น call meeting แทน ถ้าอยากให้เข้าไปพรีเซนต์งานเราก็ต้องเซฟตัวเองให้ดี ใส่หน้ากากอนามัย นั่งห่างกัน และพกเจลล้างมือให้เรียบร้อย

“ปัญหาหลักที่เจอจึงเป็นเรื่องการสื่อสาร เพราะเราเชื่อว่าคนเราถ้าไม่เจอกันตัวเป็นๆ มันยากที่จะสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ยิ่งเรื่องงานที่ต้องละเอียดด้วย พอทีมไม่ได้อยู่ด้วยกันจึงเสียเวลาในการส่งงาน สเปซระหว่างงานกับบ้านก็เป็นปัญหา พอทำงานที่บ้านเรากลับรู้สึกว่า บ้านไม่ใช่ที่พักจากภาระต่างๆ อีกแล้ว กลายเป็นที่ทำงาน ปัญหาสุดท้ายก็น่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ทั้งกับคนในบริษัทด้วยกันเอง หรือเรากับลูกค้า ด้วยความที่ไม่ได้เจอหน้า ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันในโลกความเป็นจริง เลยทำให้เหงาๆ อยู่เหมือนกัน

“การปรับตัวของเราหลักๆ เป็นเรื่องการประสานงานกับทีมและลูกค้า จากที่เคยสื่อสารกันง่าย เจอหน้ากันได้ตลอด ก็ต้องมาหาวิธีว่าจะทำยังไง สื่อสารยังไง ช่องทางไหน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและง่ายที่สุด อีกอย่างคือตัวเราเองก็ต้องจัดระเบียบการทำงานใหม่ พออยู่บ้านบรรยากาศมันก็ไม่เหมือนทำงานที่ออฟฟิศ ต้องควบคุมตัวเอง วางแผนเอง ก่อนเข้างานเราจะตื่นมาเช็ก memo ของตัวเองก่อนว่าวันนี้มีอะไรต้องทำ มีอะไรต้องส่ง และลิสต์เอาไว้เลย เพื่อจะได้มีเป้าหมายในการทำงานของวันนั้น ไม่เอ้อระเหยไปตามสภาพแวดล้อม”

 

อัญ–อัญฑิกาญณ์ อินทร์ขาว 

Digital Account Executive, MRM

“ทุก 10:00 น. เรามี con call กับทีมเพื่ออัพเดตกับโปรเจกต์เมเนเจอร์ว่าวันนี้มีงานอะไรบ้าง ต้องได้อะไรจากทีม และงานมีปัญหาตรงไหนยังไง ตอนนี้เวลาขายงานก็เปลี่ยนมาใช้วิธี con call หมดเลย ซึ่งก็ยังไม่เจอปัญหาอะไรเท่าไหร่ เพราะปกติถ้าขายแบบ face-to-face ขายเสร็จลูกค้าก็จะคอมเมนต์เลย ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบเดียวกัน แต่เวลาคุยกันก็แอบรู้สึกว่าการถาม-ตอบมีความกระอักกระอ่วนอยู่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าใครจะพูดก่อน-หลัง หรือจะแทรกตอบจังหวะไหนดี

“แต่ปัญหาจริงๆ ของการทำงานที่บ้านคือบ้านเราไม่เหมาะกับการทำงานเลย เพราะไม่มีห้องและโต๊ะที่เหมาะสม ทำให้ปวดหลังมาก เดี๋ยวนั่งทำ เดี๋ยวนอนทำ ย้ายที่ตลอดเพราะคนในบ้านอยู่กันครบ บางทีจะคุยอะไรก็ต้องหลบไปอยู่ในมุมคนเดียว หรือบางครั้งที่บ้านก็ลืมตัว เรียกเราไปทำนู่นทำนี่ตลอด ต้องคอยบอกว่าทำงานอยู่ ปัญหาอีกอย่างคือเราจะพะวงตลอดเวลา ถ้าไม่ได้อยู่หน้าจอคอมฯ หรือจับโทรศัพท์ กลัวว่าถ้าไม่ตอบทันทีทันใดจะดูว่าเราไม่พร้อมทำงานหรือเปล่า ทั้งที่บางทีเราแค่ลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปหาอะไรกิน หรือไปรับของจากเมสเซนเจอร์เท่านั้น รู้ว่าสิ่งที่ลดประสิทธิภาพการทำงานของเราไปมาจากอารมณ์ในแต่ละวัน ตอนไหนที่เริ่มเบื่อ นอยด์ อยากออกจากบ้าน เราจะพยายามทำให้ตัวเองสดชื่น ตื่นมาออกกำลังกายตอนเช้า กินข้าว อาบน้ำ แต่งหน้า แต่งตัวให้เหมาะกับการทำงาน จะไม่ใส่ชุดนอนทำงานเด็ดขาด”

 

แจน–อัยรินทร์ ฉายประเสริฐ

Account Executive, Brilliant & Million

“พอทำงานที่บ้านรูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนไปมาก เพราะปกติเวลาอยู่ที่ออฟฟิศจะติดต่องานกับใคร อยากให้แก้งานตรงไหน เราสามารถเดินไปหาอีกฝ่ายได้เลย พอต้องเปลี่ยนมาติดต่อกันผ่านไลน์หรือโทรคุยกันอย่างนี้ เราจึงรู้สึกว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนและต้องใช้พลังเยอะมากในการอธิบายให้อีกฝั่งรู้เรื่อง เช่น ตอนนี้ถ้าจะให้กราฟิกแก้งานให้เราก็ต้องเอาคอมเมนต์ของลูกค้ามาม็อกอัพให้กราฟิกเห็นภาพและเข้าใจตรงกันว่าลูกค้าอยากให้แก้ตรงไหน มองว่าอะไรแบบนี้ทำให้เสียเวลาอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เพื่อให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่ายก็ต้องทำ

“ชีวิตเราไม่เป็นเวลามากขึ้นด้วย อาจจะด้วยนิสัยการทำงานของเราส่วนหนึ่ง ถ้างานไม่เสร็จเราจะไม่ไปไหน แต่พอนั่งทำไปเรื่อยๆ กลับกลายเป็นว่ามีงานเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนกัน จนทำให้เราไม่ได้ขยับออกไปไหน อยู่หน้าคอมฯ ตลอดเวลา พอจะลุกไปกินข้าวก็จะขอตอบไลน์ ตอบอีเมล ก่อนทุกครั้ง สุดท้ายเลยกลายเป็นทำงานยาว ตอนนี้เลยต้องพยายามตัดให้ได้ ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ให้รู้ว่าเที่ยงแล้วต้องลงไปกินข้าว เย็นแล้วต้องพัก ลุกเดินรอบๆ ห้อง แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ ไม่งั้นเราจะทำงานจนลืมเวลาจริงๆ นอกจากนี้เราก็จะจัดโซนเพื่อแยกการทำงานกับการใช้ชีวิตออกจากกัน จะไม่เอาคอมฯ ขึ้นเตียง วันเสาร์-อาทิตย์ที่ต้องทำงานก็จะจัดมุมทำงานใหม่อีกมุม ให้รีแลกซ์กว่ามุมปกติ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองยังได้พักบ้าง”

AUTHOR