ฉันไม่เคยคุยเรื่องเพศกับคนในครอบครัวอย่างจริงจังเลยสักครั้ง แต่จำได้ดีว่าตอนเด็กๆ ฉันเคยพูดถึงเรื่องทำนองนี้ ที่บ้านฉันกระอักกระอ่วนแค่ไหน
ประมาณแปดขวบ ฉันเคยนั่งอยู่ในวงกินข้าวของผู้ใหญ่ที่คุยเรื่องสัพเพเหระกันอย่างออกรส และไม่รู้อะไรดลใจให้ฉันพูดคำคำหนึ่งออกไป มันเป็นคำภาษาเหนือที่แปลว่าการมีเพศสัมพันธ์
จำได้เลยว่าผู้ใหญ่ทุกคนในวงเงียบ นั่นคือวินาทีที่ฉันรู้ตัวว่าจะต้องโดนดุแหงๆ
แต่กลับกลายเป็นว่าพอวงกินข้าวแยกย้าย ฉันเดินกลับบ้านกับพ่อสองคน คิดว่าคงมีสักวินาทีที่พ่อจะเตือนฉันว่าคำคำนั้นเป็นคำที่ไม่ควรพูด แต่…พ่อฉันเงียบ
นั่นคือครั้งแรกที่ฉันรู้ว่าคำบางคำ เรื่องบางเรื่อง แม้แต่คนเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าพูดออกมา
ความสงสัยนั้นติดอยู่ในใจฉันจนทุกวันนี้ ทำไมเราถึงพูดเรื่องเพศกันไม่ได้อย่างเต็มปากแม้กระทั่งกับผู้ใหญ่ที่น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าเด็กๆ กระทั่งวันที่ฉันได้เจอ รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ผู้ก่อตั้งองค์กรเล็กๆ ที่อยากสื่อสารเรื่องห้ามพูดกับเด็กในชื่อ ‘หิ่งห้อยน้อย’
หิ่งห้อยคือแสงสว่างในความมืดมิด คือเพื่อนที่อยู่ข้างเด็กๆ ในวันที่เขาต้องการที่สุด ซึ่งแม้หลายคนจะรู้จักองค์กรนี้จากสื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่ฉันกับรวงทัพพ์เจอกันในวันที่หิ่งห้อยน้อยจัด Silent Voices Matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง นิทรรศการศิลปะแบบออฟไลน์ที่ LIDO Connect ซึ่งรวบรวมศิลปินรุ่นใหม่มาเล่าเรื่อง taboo หรือเรื่องห้ามพูด ไปจนถึงเรื่องราวของคนชายขอบที่ถูกทำให้เงียบ
รวงทัพพ์ทักทายฉันอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะพาฉันก้าวไปดูนิทรรศการพร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ taboo ของเธอให้ฟัง ท่ามกลางเรื่องห้ามพูดในโลกที่มีมากมายนั้น บทสนทนาของเราวนเวียนอยู่กับเรื่องเพศของเด็กไทยเสียส่วนใหญ่
อาจเพราะฉันและผู้ใหญ่หลายคนเคย ‘เงียบ’ กับมันมาก่อน
SEX DRIVE
EP.4
Hinghoy Noy
“สังคมไทยเลี้ยงเด็กแค่ร่างกายแต่ไม่ตอบสนองเรื่องจิตใจ”
“ตอนเราอายุ 12 ปีพ่อเราเสีย ก็เหมือนทุกคนที่สูญเสียคนรัก ไม่ว่าจะเลิกกันหรือตายจากกันมันก็มีผลต่อความมั่นคงทางจิตใจ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราผ่านมันไปได้ยาก แต่เรารู้สึกว่าครอบครัวของเราไม่สื่อสารเรื่องความตายกับเราโดยตรง พอพ่อเสียก็แค่ย้ายบ้านกะทันหันไปอยู่บ้านหลังใหม่ เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่ไม่มีใครอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้เราฟังเลย นั่นคือครั้งแรกที่เรารู้สึกได้ถึง taboo
“taboo คือเรื่องอะไรก็ตามที่เราคุยกับใครไม่ได้ พอคุยกับใครไม่ได้เราเลยอ่านหนังสือ เรื่องที่ช่วยเราได้มากคือ เพลงดวงดาว ของอาจารย์มกุฏ อรฤดี ที่พูดถึงเด็กที่สูญเสียแม่ไป หนังสือเล่มนี้ช่วยคลี่คลายสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ได้พูดกับเรา มันทำให้เราได้เข้าใจการสูญเสียและเรียนรู้ว่าถึงบางคนจะจากไปแล้วกลับมาไม่ได้แต่เรายังคิดถึงเขาได้ ความรู้สึกว่าหนังสือเป็นเพื่อนของเราทำให้อยากเรียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก พอจบมัธยมก็ได้เรียนอย่างที่ฝันเอาไว้
“เรื่องเพศก็เป็น taboo อย่างหนึ่งที่เป็นรากของปัญหาในสังคมไทย ทั้งการล่วงละเมิด sex worker หรือเรื่องธรรมดาอย่างคอนเซนต์ ในช่วงวัยที่เติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่เราเจอ taboo เรื่องเพศเยอะมาก ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง เคยเขียนจดหมายถึงเพื่อนผู้หญิงห้องอื่นตั้งแต่อายุ 12 เกิดการตั้งคำถามเรื่องเพศกับตัวเอง และรู้สึกว่าหลายคำถามในชีวิตมันไม่มีใครมาอธิบายให้ฟัง หรือแม้กระทั่งเรื่องประจำเดือน ตอนเด็กเราเคยได้ยินแม่คุยกับลูกสาวของเพื่อนข้างบ้านว่า ‘กินขนมปังทาแยมสตรอว์เบอร์รีหรือยัง’ ซึ่งขนมปังของเขาก็หมายถึงผ้าอนามัยและสตรอว์เบอร์รีก็คือเมนส์ แต่แม่ไม่เคยชวนเรากิน เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร และแม่ก็พูดไม่ได้ ถ้าเราถามแม่จะพูดเฉไฉหรือใช้ภาษาที่ทำให้เราเข้าใจผิดแบบอื่นๆ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ง่ายมากๆ ของ taboo ที่ติดใจเราว่าทำไมถึงคุยกันไม่ได้มาตลอด
“การเรียนวรรณกรรมสำหรับเด็กทำให้เราเห็นว่าสื่อสำหรับเด็กมีความหมายและคุณค่า นอกเหนือจากประสบการณ์จากพ่อแม่หรือครู นี่คือชุดประสบการณ์แรกๆ ในชีวิตที่เด็กจะได้รับ พอเรียนจบเราก็เข้าไปทำงานในสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือแปลสำหรับเด็ก ได้อยู่มูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก เราเห็นความสำคัญของการทำสื่อเด็กมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาเรื่องเพศในเด็กจริงๆ คือช่วงที่เราถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
“แม้ว่าเราจะมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหญิงรักหญิง คิดว่าป้องกันดูแลตัวเองดีแต่ก็ยังถูกข่มขืน ตั้งแต่นั้นเราเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศไปมาก เช่นเรื่องการทำแท้งที่เราเคยมองว่ามันไม่โอเค หรือชุดความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หลั่งนอกหลั่งใน ที่เคยคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่การถูกล่วงละเมิดทางเพศมันเขย่าเรามาก เราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันจำเป็นต้องรู้หรือเปล่าวะ ยังไม่นับรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงอย่างการแจ้งความหรือติดต่อหาคนที่ซัพพอร์ตได้ ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่อายุ 27 ก็ยังไม่ค่อยรู้ แล้วถ้าเด็กเจอแบบเราล่ะเขาจะทำยังไง
“สังคมไทยเลี้ยงเด็กแค่ร่างกาย เลี้ยงให้ได้คุณภาพหรือพัฒนาการทั่วไปแต่ไม่ตอบสนองเรื่องจิตใจ เรารู้ว่ามันมืดแค่ไหนตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้มีความคิดอยากทำหนังสือเด็ก ซึ่งเป็นหนังสือเด็กใสๆ แหละ แต่ในความใสข้างในมันดาร์กมาก ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเรารู้จักเพื่อนคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาเป็นคนตาบอดที่แนะนำให้เราสมัครไปเรียนที่อินเดียในสาขาที่เกี่ยวกับสื่อเด็ก เราส่ง proposal เข้าไปบอกว่าอยากทำสื่อที่พูดถึงเรื่อง taboo หรือเรื่องมืดๆ ทั้งหมดในสังคมที่เราไม่พูดถึงกัน
“สถาบันที่เราเรียนไม่ได้เรียกคนที่สอนว่าครู แต่จะเรียกว่า catalyst หรือผู้กระตุ้นให้เราเรียนรู้ เราได้เรียนกับ Sabriye Tenberken ผู้หญิงตาบอดที่นิยามตัวเองว่าเควียร์ เขาเคยเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการก่อตั้งโรงเรียนเด็กตาบอดแห่งแรกในทิเบต ซาเบรียเล่าให้ฟังว่าโรงเรียนของเขาถูกรัฐบาลจีนสั่งปิด เพราะในจีนโดยเฉพาะทิเบตมีความเชื่อว่าคนที่เกิดมาพร้อมกับความพิการคือคนที่มีบาปมากที่สุด มากกว่าคนที่เป็น LGBTQ+ เสียอีก เรื่องนี้เขย่าเรามาก มันทำให้เราคิดได้ว่าสิ่งที่คนบอกว่าเป็น taboo มันอยู่ที่รากของวัฒนธรรมหรือเปล่า มันไม่ได้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือธรรมชาติของมนุษย์ มันคือสิ่งที่คนสมมติขึ้นเองและเลือกปฏิบัติแบบนั้น
“จากที่เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับหนังสือเด็ก เราเลยเปลี่ยนมาเป็นสื่อสำหรับเด็กแล้วกัน เพราะคำว่าสื่อเด็กมันกว้างกว่า เด็กมีรูปแบบการรับสารที่มากกว่าหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเพลง แอนิเมชั่น หรือนิทรรศการศิลปะ สุดท้ายก็กลายเป็นหิ่งห้อยน้อย”
“มีหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เป็นคนอย่างสมบูรณ์”
“หิ่งห้อยน้อยคือเพื่อนที่อยู่กับเด็กในความมืด แต่แสงสว่างของมันจะไม่ได้สว่างตลอดไป ช่วงที่ไฟดับวูบเด็กก็จะได้เข้าใจภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา และการอยู่มีอยู่ของหิ่งห้อยก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด มันก็เลยกลายเป็นไอเดียว่าเราอยากสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ซึ่งคือเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ขึ้นมาเพื่อสื่อสารเรื่อง taboo เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่เข้าไปหาเด็กโดยตรง
“เรื่อง taboo อยู่ในชีวิตประจำวันของเราแต่เราเลือกจะไม่พูดหรือตั้งคำถาม เพราะเราไม่ได้ถูกสอนให้ตั้งคำถามมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เด็กไม่กล้าตั้งคำถามคือการทำโทษ ไม่ว่าจะเป็นการจุ๊ปากหรือขู่ว่าเดี๋ยวแม่ตีนะ แต่ธรรมชาติของเด็กคือเกิดมาด้วยความสงสัย เขายังไม่รู้อะไรเลยแต่ถูกทำโทษ เขาก็จะเรียนรู้ว่าต้องไม่พูดไปโดยอัตโนมัติ พอเราอยู่ในวัฒนธรรมที่ห้ามพูด ห้ามถาม เมื่อเกิดการละเมิดมันก็จะบั่นทอนสุขภาพใจเขา ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องคอนเซนต์ ใครมาจับตัวแล้วเด็กเขาไม่ชอบ ไม่พอใจ เด็กก็จะพูดไม่ได้เพราะพ่อแม่ของเขาอนุญาตให้เพื่อนบ้าน ให้คนแปลกหน้าอุ้มโดยบอกให้ลูกยอมตั้งแต่เด็ก จนเราเชื่อง
“มีคำกล่าวที่บอกว่าเด็กบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว แต่เราคิดว่าเรื่องของความขาว-ไม่ขาวมันเป็นแค่ความเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งตัวเราก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเราไม่ได้เป็นผ้าขาวตั้งแต่เด็ก เรามีคำถาม เรารู้สึกว่ามีหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เราเป็นคนอย่างสมบูรณ์ ให้เราสามารถอยู่รอดได้ ถ้าเกิดคุณเลี้ยงลูกมาแบบไม่เจอปัญหาอะไรเลยในชีวิต นั่นเป็นโชคดีของคุณ แต่สังคมรอบข้างอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์นั้น เรารู้สึกว่ามันจำเป็นมากสำหรับเด็กที่ต้องรู้ข้อมูลบางอย่างเพื่อให้เขาสามารถอยู่รอด สมมติว่าเด็กจะไปติดเกาะแล้วเขาไม่ได้ถูกเตรียมตัวอะไรไปเลย เด็กก็ตายเนอะ แต่ถ้าเราสอนเขาหาไม้ขีดไฟหรือวิธีการกินน้ำ แค่นี้อย่างน้อยก็รอดไปหลายวัน เรื่องเพศก็เช่นกัน
“เท่าที่ลงไปคลุกคลีกับเด็ก เราว่าเด็กรุ่นนี้สงสัยปัญหาเรื่องเพศเหมือนผู้ใหญ่ทุกอย่าง ผู้หญิงก็จะสงสัยเรื่องประจำเดือนในช่วงแรกๆ ที่ประจำเดือนหายไปเพราะฮอร์โมนส์กำลังปรับ ร่างกายกำลังเปลี่ยน แต่เขาคิดว่าเขาท้อง ทำให้เขากังวลจนเป็นทุกข์เพราะไม่มีใครอธิบายเรื่องนี้กับเขา ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่ซึ่งอาจจะกังวลเรื่องเดียวกัน แต่เขาสามารถเข้าถึงบริการอื่นๆ ได้ง่ายกว่า ดังนั้นเรื่องที่เด็กกับผู้ใหญ่เจอมันคือเรื่องเดียวกัน แต่ปัญหาเรื่องเพศที่เกิดกับเด็กคือเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือบริการ
“เราคิดว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา แต่ก็ต้องดูเป็นบางกรณีที่อาจจะทริกเกอร์เขาด้วย สมมติว่าลูกของคุณโดน sexual harassment แล้วเขาไม่กล้าบอก คุณสังเกตว่าเขาเก็บตัว พูดน้อยลง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเราอย่างเคย หรือไม่กล้าให้เราถูกตัวเพราะไม่ไว้ใจ เราอาจจะค่อยๆ คุยว่าเป็นไง เห็นไม่กินข้าว มีอะไรที่อยากเล่าให้ฟังไหม คำถามประมาณนี้ และถ้าเขายอมเปิดใจก็ต้องอยู่ข้างเขา เพราะเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อนแบบนี้การอยู่กับเขาสำคัญที่สุด จากนั้นเมื่อเขากล้าพูดมากขึ้นก็พาเขาไปแจ้งความ และอาจจะติดต่อ child line หรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง”
“เด็กมีปัญญามากพอที่จะเลือกเดินในทางของตัวเอง”
“ในสังคมไทยจะมีคำว่ากาลเทศะ แล้วถามว่าเราจะสามารถคุยกับเด็กยังไงให้เปิดกว้างเรื่องเพศ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้เขาทำ คำตอบคือเราพูดทั้งข้อดี-ข้อเสียให้เขาเห็นรอบด้าน และเชื่อว่าเขามีปัญญามากพอที่จะเลือกเดินในทางของตัวเอง อย่างเรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ไม่ใช่สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้ทำ เราสามารถบอกได้ว่าหนูอาจจะมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนได้ แต่ถ้าหนูไม่ป้องกัน จะเป็น 1 2 3 ทำให้เห็นชอยส์ที่หลากหลายว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
“เด็กควรรู้เรื่องเพศตั้งแต่กี่ขวบ เราคิดว่าเรื่องนี้อยู่กับเด็กตั้งแต่เกิดเลย เราอาจจะค่อยๆ สอนเขาได้ แต่คนที่สอนก็อาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าสิ่งที่เราเคยรู้มามันผสมอคติทางเพศหรือเปล่า เช่น เรื่องการแนะนำสีที่ไม่ได้ผูกติดกับความคิดว่ามันคือสีของเพศชายหรือเพศหญิง เช่นเดียวกับทรงผม และการแสดงออกทางเพศ เด็กผู้หญิงบางคนอายุ 2-3 ขวบแม่ก็พาไปเจาะหูแล้ว อ้าว! แล้วทำไมเด็กผู้ชายไม่ให้เจาะ เนี่ย มันคือเรื่องเพศหมดเลย
“เราเข้าใจว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่โตมากับการฝังลึกเรื่องเหล่านี้อยู่ในหัว แต่เราก็คิดว่าทางเดียวที่จะไม่ผลิตซ้ำสิ่งที่เราเข้าใจผิดมาตลอดคือการที่เรารู้สึก ‘เอ๊ะ’ กับบางเรื่องนั่นแหละ บางทีเราเอ๊ะแล้วเราก็ต้องขุดความเข้าใจของเราลงไป ทำไมเราเอ๊ะกับเรื่องนี้ มันถูกต้องไหม ถ้าเราเอ๊ะกันหลายคนสังคมของเราก็อาจจะเปลี่ยนได้นะ สิ่งที่น่ากลัวคือคนที่ไม่เอ๊ะ เพราะเราจะไปมอบความเอ๊ะให้เขาไม่ได้ คงต้องรอจนกว่าที่เขาจะเจอความทุกข์จากเรื่องเพศนั้นเอง หรือรอให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งเดิมๆ”
“ถ้ามายด์เซตของคนเปลี่ยน สังคมจะพูดเรื่องเพศอย่างเปิดกว้าง”
“เราเคยอ่านวิจัยของเนเธอร์แลนด์ที่บอกว่าเด็กฝั่งยุโรปในบางประเทศอายุแค่ 4-5 ขวบก็พูดเรื่องเพศได้แล้วเพราะแบบเรียนของเขามีข้อมูลเรื่องคอนเซนต์ จู๋ จิ๋ม ตั้งแต่ระดับชั้นต้นๆ สิ่งนี้ส่งผลให้คนในสังคมมองเรื่องเพศสำคัญ และประเทศแถบนั้นมีสวัสดิการเรื่องเพศที่ดีมาก เช่น ประเทศหนึ่งที่อนุญาตให้ผู้ที่มีประจำเดือนสามารถลาหยุดงานได้โดยมีบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุขดูแล
“เราคิดว่ามันเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ถ้ามายด์เซตของคนเปลี่ยน สังคมจะพูดเรื่องเพศอย่างเปิดกว้าง ส่งผลให้เราแก้ปัญหาและเปลี่ยนสวัสดิการในอนาคตของตัวเราได้ เด็กก็จะได้มีความสุขทางเพศ ไม่ใช่ความสุขแบบถึงจุดสุดยอดนะ แต่เขาก็จะมีความมั่นใจ ทำบางอย่างได้อิสระ เช่น รู้ว่าถ้าเขาปวดฉี่เขาจะไม่ถูกห้ามให้ไปเข้าห้องน้ำ เพราะตอนนี้เด็กบางคนไม่กล้าอึกล้าฉี่เพราะโรงเรียนบังคับ เอาเรื่องง่ายๆ แบบนี้เลย หรือถ้าเด็กมีประจำเดือนหรือฝันเปียก เขาจะไม่รู้สึกอายหรือกลัว
“ในมุมมองเรา สังคมแบบ ‘เรื่องเพศต้องพูด’ มันอาจต้องเริ่มด้วยความเข้าใจก่อนว่าเรื่องนี้สำคัญ และเราทำให้พื้นที่สำหรับพูดเรื่องนี้ปลอดภัย ส่งเสริมให้พูดแล้วไม่คิดถึงด้านลบ เราต้องไม่กลัวที่จะตั้งคำถามหรือพูดคุยกันในวงกินข้าว ในที่ทำงาน เรื่องเพศก็เหมือนเรื่องประชาธิปไตยนั่นแหละ มันคือเรื่องเดียวกัน
“คนที่ต่อสู้เรื่องเพศคือคนที่สู้กับระบบที่มันกดขี่ คนที่ถูกกดทับเรื่องเพศอาจจะกำลังสู้เพื่อให้ขึ้นมายืนข้างๆ คุณแต่คุณไม่เคยเห็นเลยว่าเรื่องเพศกดขี่ยังไงบ้าง สุดท้ายแล้วเราว่ามันคือการทลายกำแพงบางอย่างให้ทุกคนมีพื้นที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอกันนั่นแหละ”
นิทรรศการ Silent Voices Matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง
จัดแสดงวันนี้ – 31 พฤษภาคม 2564
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กหิ่งห้อยน้อย
Sex Drive ซีรีส์บทความที่ต่อยอดจาก a day ฉบับ sex is more จะพาไปสำรวจเรื่องราวการขับเคลื่อนของกลุ่มคนผู้อยากทลายมายาคติเดิมๆ ที่สังคมไทยมีต่อเซ็กซ์
สั่งซื้อ a day ฉบับ sex is more ได้ที่นี่