ถามตรงๆ กับ ‘เจน Sex Bot’ แชตบอตสาวฮอตที่ไม่ต้องอายุ 18+ ก็คุยเรื่องเพศได้

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้รู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอชื่อเจน

เจนเป็นหญิงสาววัยรุ่นที่เรียนจบมหา’ลัยมาได้ไม่กี่ปี เธอมีคาแร็กเตอร์ที่เห็นแล้วจำได้เลยคือตัวสูง ผมสั้นสีแดงเพลิง ชอบใส่เสื้อสีม่วงตัวเก่งที่ยิ่งขับบุคลิกให้โดดเด่น บวกกับท่าทางเป็นมิตรที่ทำให้ใครต่อใครอยากเข้าหา

แต่เห็นอย่างนี้เจนเป็นคนเอาจริงเอาจริง ความรู้แน่น ตอนไหนที่ฉันขอคำปรึกษาเรื่องซีเรียสๆ เธอก็พร้อมจะแนะนำได้อย่างละเอียด เราคุยกันบ่อยผ่านทางเมสเซนเจอร์เฟซบุ๊ก และบทสนทนาส่วนมากของเราวนเวียนอยู่กับเรื่องเซ็กซ์

อ่านไม่ผิดหรอก เรื่องเซ็กซ์

อ้อ เกริ่นมาตั้งนาน ลืมบอกไปเลยว่าเจนที่ฉันคุยด้วยน่ะเป็นเซ็กซ์บอต

Sex Drive
EP.1
Jane Sex Bot

1. 

“มีคนอินบอกซ์เข้ามาถามเยอะมาก แล้วถามเรื่องเดิมๆ คือจะท้องไหม ทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ ปัจจัยการท้องหรือไม่ท้องก็มีอยู่เท่านี้ ใส่ถุงยาง กินยาคุม วันที่ไข่ตก ก็เลยทดลองทำเป็นแชตบอต”

ปุ้ย–ดวงกมล ตั้งจิตต์พิชย ผู้ก่อร่างสร้างเจนมาตั้งแต่แรกเล่าจุดเริ่มต้นให้ฉันฟัง เธอบอกว่าก่อนจะมาเป็นเซ็กซ์บอตพี่สาวใจดีที่คุยเรื่องเพศได้เปิดกว้างอย่างที่เห็น Opendream บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีหลายประเภทมาช่วยสื่อสารประเด็นต่างๆ เคยทำเกมมือถือจากโจทย์ว่าทำไมถึงมีการท้องในวัยรุ่นเยอะ ซึ่งเป็นปัญหาในหมู่วัยรุ่นไทยจริงๆ

“โจทย์ของเกมคือทำยังไงให้เด็กผู้หญิงกล้าพูดกับฝ่ายชายที่จะมานอนด้วยว่าต้องใส่ถุงยาง ไม่อายที่จะพูดถึง ผลลัพธ์จึงกลายเป็น ‘Judies’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่าจู๋ เป็นเกมเล่าเรื่องถุงยางที่ครอบจู๋ไม่ทันจนสเปิร์มลอยออกมา ผู้เล่นต้องจิ้มอสุจิพวกนั้นก่อนมันจะไปถึงรังไข่” ในเกมยังสอดแทรกสถานการณ์ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง เช่น ถ้าเผลอใส่ถุงยางซ้ำ 2 อันถุงจะแตก ถ้าอสุจิลอยไปถึงรังไข่ก็จะขึ้นข้อความแสดงความยินดีว่าคุณมีลูกแล้ว หรือสถานการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับคอนเซนต์และความสัมพันธ์

เกม Judies

Judies ถูกออกแบบให้มีหน้าตาน่ารักเพื่อให้เด็กสามารถกดเล่นในที่สาธารณะได้ และเพราะอยากดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาเล่นมากที่สุด Opendream จึงเปิดเพจ ‘Sex Safe Safe’ เพื่อโปรโมต Judies ขึ้นมา ซึ่งนอกจากโปรโมตเกม เพจยังอัพคอนเทนต์ความรู้เกี่ยวกับถุงยาง การตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด และความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับเซ็กซ์ในวัยรุ่น 

“ปรากฏว่าพอโพสต์ความรู้เรื่องเพศก็มีคนเข้ามาถามเยอะ เอนเกจเมนต์ดี สุดท้ายกลายเป็นว่าคนเล่นเกมกับคนที่ติดตามเพจไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน”

เพราะเห็นว่าคำถามเหล่านั้นเป็นแพตเทิร์น คนถามต้องการคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความคิดเห็น ทีม Opendream จึงตัดสินใจเปิดเพจใหม่ขึ้นอีกเพจเพื่อสร้างแชตบอตที่พวกเขาอยากให้ ‘ฉลาดที่สุด’ และเป็นที่พึ่งพาของวัยรุ่นในยามมีปัญหาน่ากังวลใจเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์

นั่นแหละตอนที่ ‘พี่เจน’ ปรากฏตัว

2.

วาเลนไทน์ปี 2562 ชาวเน็ตรู้จักพี่เจนในฐานะเด็กสาวในชุด ม.ปลาย ท่าทางเรียบร้อย และกระตือรือร้นจะตอบปัญหาเรื่องเพศ

แต่เหมือนทุกคนนั่นแหละ เราเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา ปี 2564 พี่เจนจึงลุกขึ้นมาประกาศตัวตนใหม่ในลุคสาวผมแดง และมีลายเส้นใหม่ที่นอกจากจะเปรี้ยวแซ่บกว่าเดิม เธอยังกว้างขวางขึ้นเยอะ จากที่เคยคุยกันได้แค่เรื่องท้อง-ไม่ท้องหรือการป้องกัน ตอนนี้ระบบของเธอมีการอัพเดตหัวข้อใหม่ๆ ที่ทันต่อโลกในยุคปัจจุบัน อย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศหรือรสนิยมทางเพศแบบเฉพาะ (Fetish)

พี่เจนคนเก่า

มากกว่านั้น พี่เจนยังย้ายตัวเองจากเพจเจน Sex Bot ไปสู่เพจ Sex Safe Safe ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า ด้วยเป้าหมายเดิมคืออยากสื่อสารเรื่องเพศออกไปให้ได้มากที่สุด 

“ถ้าดูในทวิตเตอร์หลายคนอาจคิดว่าเด็กสมัยนี้เขามีความรู้มากมายเหลือเกิน การพูดคุยเรื่องเพศก็ไปไกลแล้ว ไม่ต้องพูดกันแล้วมั้ง แต่พอเราไปดูแชตหลังบ้านในเพจ Sex Safe Safe และเจน Sex Bot ยังมีเด็กอีกเยอะที่ไม่รู้และต้องการข้อมูลพื้นฐาน เราจึงพยายามทำให้เนื้อหาถูกต้องที่สุดเพื่อที่จะป้องกันให้เขาเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด” ป่าน–ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ บอกกับฉัน เธอคือนักเขียน บรรณาธิการอิสระ และหนึ่งในทีม Rocket Media Lab บริษัทที่หยิบประเด็นทางสังคมมาย่อยเป็นข้อมูลอ่านง่ายเพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบไปใช้ได้อย่างฟรีๆ ซึ่งประกอบด้วยตัวเธอ, สันติชัย อาภรณ์ศรี และจิรนันท์ หาญธำรงวิทย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่เบื้องหลังพี่เจนเวอร์ชั่น 2.0

แล้วการมีพี่เจนแปลว่าเด็กไม่สามารถปรึกษาเรื่องเพศกับคนในครอบครัวและครูที่โรงเรียนได้อย่างเปิดเผยหรือเปล่า? “เราคิดว่าเราไม่ได้โตมากับการคุยเรื่องนี้ได้อย่างสนุก พี่ปุ้ยเองก็บอกว่าการที่เด็กๆ กล้ามาคุยกับเราเยอะเพราะพี่เจนเป็นใครก็ไม่รู้ด้วย ทำให้เด็กกล้าเปิดกับเรามาก มีคนที่เปิดมากถึงขั้นบอกเราว่าตอนมีอะไรกันทำท่าไหน แตกตรงไหน กินเข้าไป อะไรแบบนี้เลย” ป่านเล่า

“มีวันหนึ่งตอนที่เราได้เข้าไปเป็นแอดมินเพจใหม่ๆ มีเด็กถามคำถามพื้นฐานเข้ามาเยอะมากจนเรางงว่าเขายังไม่รู้เรื่องนี้กันจริงๆ เหรอ” แตกนอกท้องไหม ยาคุมฉุกเฉินต้องกินยังไง คือคำถามที่ป่านเห็นแล้วตกใจ “นอกจากการศึกษายังไม่ให้ข้อมูลที่ทันสมัยหรือตรงไปตรงมา เราว่าจริงๆ แล้วปัญหายังมีเรื่องของความเหนียมอาย เด็กจะไม่คุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มเพื่อนบางคนก็ไม่คุยกันเรื่องนี้”

เจน Sex Bot
ดราฟต์แรกของการออกแบบคาแรกเตอร์พี่เจนคนใหม่ โดย JARB
เจน Sex Bot
พี่เจนดราฟต์สุดท้าย โดย JARB

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Rocket Media Lab และ Opendream ทำร่วมกันอย่างแรกคือการออกแบบและอัพเดตเนื้อหาจากพี่เจนคนเก่า คราวนี้ขอบเขตจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องท้อง-ไม่ท้องหรือเซ็กซ์ปลอดภัย แต่ยังรวมไปถึง ‘เนื้อหาที่เด็กน่าจะอยากรู้’ เช่น เรื่องความสัมพันธ์ กิจกรรมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ ความเข้าใจร่างกายของตัวเอง ความพึงพอใจในตัวเอง (self-esteem) โรคติดต่อ ไปจนถึงรสนิยมทางเพศแบบเฉพาะ

“ที่ใส่บางเรื่องเข้าไปเพิ่ม เช่น เรื่องความสัมพันธ์ เพราะก่อนหน้านี้มีเด็กพิมพ์เข้ามาระบายให้ฟังเยอะ จำพวกคิดถึงแฟนเก่า อยู่ในความสัมพันธ์แบบเลือกไม่ได้ เราเลยใส่เรื่องนี้เข้าไปด้วย หรืออย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศเราก็อยากให้มีข้อมูลในแง่มุมของการแนะนำกล่องต่างๆ ในขั้นพื้นฐานก่อน เด็กบางคนที่ยังสับสนในตัวเองจะได้เจอกล่องที่เขารู้สึก fit in” ป่านบอก 

“ซึ่งหัวข้อนี้เราไม่ได้เขียนเอง เพราะเราอาจไม่ได้เข้าใจเท่าพี่ในทีมที่เขาเป็น LGBTQ+ จึงให้เขาเขียนให้ เราพยายามให้คนที่หลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วมเยอะที่สุด” 

เจน Sex Bot

3.

แต่จะให้เด็กทักมาถามแล้วโยนสาระความรู้ก้อนใหญ่กลับไปก็กลัวว่าเด็กจะไม่อ่านเอา ป่านกับปุ้ยจึงให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ากำลังได้คุยกับคนจริงๆ และพยายามออกแบบพี่เจนให้เป็น ‘คน’ มากที่สุดผ่านภาษาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเด็ก ม.ต้น-ม.ปลาย รวมถึงระบบตอบโต้ที่เป็นธรรมชาติ

เมื่อเด็กพิมพ์ถามเข้ามา จะมีระบบชื่อว่า training phase ตรวจจับคำพูดของน้องๆ เพื่อไปแมตช์กับเนื้อหาในฐานข้อมูล และในตอนที่ตอบคำถามก็จะพยายามให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ถ้าส่งข้อมูลเป็นก้อนๆ คนก็จะไม่อ่าน เราจึงพยายามซอยข้อมูลย่อยๆ แล้วคั่นด้วยคำแบบ ‘อือ’, ‘อะไรเหรอ’, ‘เข้าใจแล้ว’ หรือ ‘แล้วไงต่อ’ ให้คนเล่นกดตาม และระหว่างนี้จะไม่เปิดโอกาสให้พิมพ์คำอื่นๆ เข้ามาเพราะมันจะนำไปสู่เรื่องอื่น เราพยายามคิดวิธีแบบนี้เพื่อไม่ให้เทกซ์ที่พี่เจนพูดมันยาวไป จะได้ไม่หนักขวาและเป็นบับเบิลใหญ่เป้ง” ปุ้ยบอก

ทั้งสองเผยว่า หลักๆ แล้วกลุ่มเด็กที่เข้ามาถามจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม หนึ่ง–คือกลุ่มที่อยากหาความรู้เรื่องเพศจริงๆ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ และอีกกลุ่มคืออยากรู้ว่าแชตบอตทำงานยังไง พวกเธอก็จะแทรกอารมณ์ขันนิดๆ หน่อยๆ ไว้ในตัวพี่เจน

“สมมติลองพิมพ์คำว่าประยุทธ์ เราก็ตอบได้อยู่บ้าง ถ้าให้เดาใจเด็กมันก็คงคิดว่าตลกดี อีนี่จะตอบกูยังไงวะ” ป่านพูดยิ้มๆ

เจน Sex Bot

4.

ถึงแม้จะผ่านการอัพเดตหัวข้อเนื้อหาที่ค่อนข้างครอบคลุมสิ่งที่วัยรุ่นในตอนนี้สนใจ แต่ปุ้ยกับป่านก็ยืนยันว่าเจน Sex Bot คนนี้ยังต้องมีเวอร์ชั่นอัพเดตตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป

“อย่างเรื่องทำแท้ง” ป่านยกตัวอย่าง “ตอนแรกเราเขียนไว้ก่อนกฎหมายจะเปลี่ยน ซึ่งคำตอบจะไม่ได้บอกเจาะจงว่าให้ไปทำแท้ง เพราะตอนนั้นมันผิดกฎหมาย เราแค่บอกว่าการทำแท้งเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของมนุษย์ แล้วส่งเบอร์ที่สามารถให้คำปรึกษาเรื่องนี้ได้เพราะเขาน่าจะให้คำปรึกษาได้ดีกว่าเรา แต่พอกฎหมายเปลี่ยนให้ทำแท้งได้ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เราก็เข้าไปปรับเนื้อหา กลายเป็นว่าถ้าคุยเรื่องท้องไม่พร้อมปุ๊บเราก็จะมีคำว่าทำแท้งขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรกๆ เลย”

เจน Sex Bot

แล้วแบบนี้มันจะเป็นการเชียร์ให้ทำแท้งไหม–เราสงสัย 

“ส่วนตัวเราเชียร์เรื่องเสรีภาพในร่างกาย จะทำอะไรก็ทำ” ป่านบอก “แต่ตัวพี่เจนจะพยายามเป็นกลางที่สุด หมายถึงเราตั้งใจสร้างเขาให้ไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องศีลธรรมอันดี ไม่ต้องยึดติดกระทั่งแนวคิดอย่าง monogamy (รักเดียวใจเดียว) หรือผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว”

“แต่ในขณะเดียวกัน พี่เจนก็จะไม่สนับสนุนว่าไม่ต้องรักนวลสงวนตัวหรอก แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าคนที่ไม่รักนวลสงวนตัวไม่ดี ไม่ได้บอกว่าอะไรคือค่านิยมที่ถูก คือเราพยายามจะบอกคนที่มาปรึกษาว่าคุณสามารถเลือกทำแบบนี้ได้ แต่มันก็มีคนที่คิดอีกแบบเหมือนกัน ซึ่งไม่มีคนไหนผิด” ปุ้ยอธิบาย

“อย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำเซ็กซ์บอตพี่เจนคือมันมีความเห็นอื่นอยู่จริงๆ ซึ่งเราไม่สามารถไปบอกว่านี่คือความเห็นที่ไม่ใช่ ไม่งั้นพี่เจนก็จะกลายเป็นคนที่ไปชี้หน้าสั่งสอนคนอื่นว่ามึงจงมีเสรีภาพในร่างกายสิ มึงอย่าหัวโบราณ ซึ่งบางคนเขายังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัว หรือกระทั่งเขาจะยึดทัศนคตินั้นไปจนช่วงสุดท้ายของชีวิต เราจะไปว่าอะไรได้ เราต้องพยายามเป็นกลางที่สุด เพราะสุดท้ายคนที่มาคุยกับเราก็มีความเห็นที่หลากหลาย” ป่านเสริม

เจน Sex Bot

5.

จนถึงตอนนี้ มีคนทักมาคุยกับพี่เจนในเพจ Sex Safe Safe ราว 300-400 คนต่อวัน มีคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ทีมงานป้อนให้ระบบสามารถตรวจจับได้อยู่บ่อยๆ “และมีชาวต่างชาติทักเข้ามาขอรูปเยอะมาก เพราะเพจขึ้นชื่อด้วยคำว่าเซ็กซ์ บางคนส่งรูปตัวเองเซลฟีหน้ากระจกหลังเยเสร็จมาให้ดู งงมากกกก” ป่านเล่าติดตลก

แต่ไม่ว่าพี่เจนจะอัพเดตเนื้อหาบ่อยแค่ไหนหรือเปลี่ยนไปอีกกี่ร่าง ปุ้ยและป่านยังย้ำคำเดิมเสมอว่าความคาดหวังที่พวกเขามีต่อเจน Sex Bot คืออยากให้ทุกคนคิดถึงเจนเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับเซ็กซ์

“เราแค่อยากให้มีคนมาคุยกับเรา แล้วเราสามารถช่วยเขาให้ได้มากที่สุด อยากให้เขามีที่ที่มาคุยแล้วได้คำตอบ ได้ข้อมูลไปแล้วก็ไปตัดสินใจเองหรือถ้ามีเรื่องอะไรก็กลับมาเล่าให้ฟังได้” ปุ้ยว่าและแอบกระซิบแผนกับฉันว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นพี่เจนในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาทางเฟซบุ๊กหรือบางทีอาจจะกลายเป็นแบรนด์ เป็นคนที่ลงไปให้คำปรึกษากับเด็กๆ แบบตัวต่อตัวจริงๆ

คิดว่าวันหนึ่งเด็กไทยจะกล้าเปิดอกคุยเรื่องเพศกันจนไม่ต้องพึ่งพี่เจนไหม–ฉันถาม

“เราไม่รู้เหมือนกันว่าอีกไกลไหม เราคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้จะยังมีเด็กที่ไม่มีความรู้เรื่องเพศแต่เราว่าเขาพร้อมจะพูดเรื่องนี้ กับเพื่อนๆ เขาเมาท์ได้อยู่แล้ว แต่กับคนอีกเจเนอเรชั่นเราว่ายาก จริงๆ มันไม่ใช่พันธกิจของเด็กแต่เป็นพันธกิจของคนรุ่นเราที่ต้องคิดว่าเราควรมีท่าทียังไงเพื่อให้เด็กอยากคุยกับเราแบบสะดวกใจที่สุด” ป่านตอบ

เจน Sex Bot

แล้วบรรยากาศการพูดเรื่องเพศที่คุณอยากเห็นเป็นยังไง ฉันชวนทั้งสองให้ครุ่นคิด

“การคุยเรื่องเซ็กซ์ควรเป็นเหมือนกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่น เช่น ไปกินข้าวหรือทำงานร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่เราเลือกทำได้” ปุ้ยบอกก่อนที่ป่านจะเสริมต่อ

“มันไม่ควรเป็นคำว่าฉาวอะ อาจเป็นคำว่าเผ็ดหรืออย่างอื่นได้ ถ้าเป็นกลุ่มเพื่อนเราตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนก็จะมาคุยว่า มึง แฟนกูเสร็จแล้วมันไม่ยอมต่อว่ะ เขาบอกเหนื่อยแล้วแต่กูยังไม่เสร็จเลย เป็นมึงมึงทำไงวะ บางคนก็เออ กูช่วยตัวเองต่อเลย บางคนก็จะขอให้เขาทำออรัล ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็น pain point เล็กๆ น้อยๆ ในเซ็กซ์ของแต่ละคน 

“บางทีพอมันมีแค่สองคนที่เอากัน มันไม่รู้ว่าควรจะทำยังไงต่อ เราเลยรู้สึกว่ามันต้องพูดกันได้อย่างเปิดกว้างเพื่อจะหาคำตอบ” เธอสรุปส่งท้าย และฉันจะทำอะไรได้นอกจากพยักหน้าเห็นด้วย

บทสนทนาของพวกเราจบลงตรงนั้น ฉันเดินออกจากออฟฟิศ Opendream ด้วยความรู้สึกอิจฉาเด็กยุคนี้ที่ช่างโชคดีมีพี่เจนคอยให้คำปรึกษา แม้สิ่งที่เธอมอบให้จะช่วยพวกเขาได้มากหรือน้อย ก็มันดีกว่าการเจอปัญหาแล้วต้องคิดหาคำตอบเอง หรือได้วิธีแก้ปัญหาแบบผิดๆ จากคนที่ไม่แม้แต่จะพูดคำว่าเซ็กซ์ได้เต็มปาก

การมีพี่เจนมอบความรู้สึกอุ่นใจ แม้แต่กับฉันผู้อยู่ในวัยที่หมดความสงสัยเรื่องเพศไปนาน ใครจะรู้ เซ็กซ์ที่ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอาจทำให้ฉันมีคำถามขึ้นสักวัน

รู้ใช่ไหมว่าฉันจะหาคำตอบได้จากใคร

เจน Sex Bot

แวะพูดคุยกับพี่เจนได้ที่เพจ เจน Sex Bot และเพจ Sex Safe Safe


Sex Drive ซีรีส์บทความที่ต่อยอดจาก a day ฉบับ sex is more จะพาไปสำรวจเรื่องราวการขับเคลื่อนของกลุ่มคนผู้อยากทลายมายาคติเดิมๆ ที่สังคมไทยมีต่อเซ็กซ์

สั่งซื้อ a day ฉบับ sex is more ได้ที่นี่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone