Heaven’s Design Team อนิเมะสะท้อนชีวิตทีมออกแบบสัตว์โลกที่มี ‘ลูกค้าคือพระเจ้า’ จริงๆ

แผนกออกแบบสร้างสรรค์โลก

ไม่ว่าทำงานในแวดวงไหนๆ เราก็จะได้ยินคำว่า ‘ลูกค้าคือพระเจ้า’ อยู่บ่อยครั้ง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบในบริบทสังคมญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่อง service mind อันดีเลิศ คำว่า ‘ลูกค้า’ ในประโยคข้างต้นก็ดูจะยิ่งเข้าใกล้ความเป็น ‘พระเจ้า’ มากขึ้นไปอีก 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ แผนกออกแบบสร้างสรรค์โลก หรือ Heaven’s Design Team จะเป็นเรื่องราวที่ถูกอกถูกใจผู้คนตั้งแต่เวอร์ชั่นมังงะ และยิ่งถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อ Asahi Production เลือกหยิบมาพัฒนาต่อเป็นอนิเมะแนว slice of life สายคอเมดี้ ความยาวตอนละ 23 นาทีที่ดูเพลินๆ แต่ได้ความรู้แบบเต็มหลอด

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายใน ‘แผนกออกแบบ’ ของ ‘บริษัทรับสร้างโลก’ ซึ่งเปรียบเสมือนเอเจนซีที่ต้องคอยรับบรีฟจากลูกค้า (หรือพระเจ้า) เพื่อออกแบบเหล่าสิงสาราสัตว์บนโลกที่พระเจ้าเพิ่งสร้างขึ้นมา (แต่ขี้เกียจปั้นสัตว์เอง ก็เลยหา outsource มารับช่วงแทน) โดยมีผู้ประสานงานคนสำคัญคือ ชิโมดะ เทวดาน้องใหม่ของแผนกที่ทำหน้าที่ประหนึ่ง AE (account executive) คอยเป็นตัวกลางรับบรีฟและส่งฟีดแบ็กจากพระเจ้าให้ดีไซเนอร์

ส่วนเหล่าดีไซเนอร์ในทีมนั้นประกอบไปด้วย 6 คาแร็กเตอร์แสนจัดจ้าน ได้แก่

  1. ซึจิยะ หัวหน้าทีมหนุ่มใหญ่ที่หลงใหลในสัตว์ตระกูลม้า เพราะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของตัวเอง 
  2. อุนาบาระ ชายร่างใหญ่หัวใจบ้องแบ๊ว โดดเด่นในเรื่องการออกแบบสัตว์สาย ‘น้องงง’
  3. คานาโมริ สาวสวยผมชมพูผู้คิดค้นสัตว์ตระกูลนก และขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบของสวยๆ งามๆ 
  4. เมโดะ สาวน้อยน่ารักสไตล์ฮาราจูกุที่มีนิยามของ ‘ความน่ารัก’ ตรงกันข้ามกับคนทั่วไปโดยสิ้นเชิง
  5. มิสึชิมะ หนุ่มแว่นผมดำหน้าเด๊ด ผู้มีผลงานชิ้นเอกคืองูและบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
  6. คิมูระ หนุ่มนักกินผู้ติดนิสัยชอบชิมเนื้อสัตว์ที่ออกแบบ มีผลงานเด่นคือสัตว์ตระกูลวัว (อาห์ อร่อย)

และอีกหนึ่งตัวละครที่มีบทบาทสำคัญคือวิศวกรอย่าง ฮิงูจิ ซึ่งมีหน้าที่นำไอเดียของเหล่าดีไซเนอร์ไปสร้างสัตว์ต้นแบบออกมาให้ลูกค้าพิจารณา หรือบางครั้งอาจต้องส่งไปทดลองในสภาพแวดล้อมจริงบนหมู่เกาะกาลาปากอส ก่อนที่พระเจ้าจะตัดสินว่าจะให้ผ่านหรือไม่

ขึ้นชื่อว่าลูกค้า ย่อมมาพร้อมกับบรีฟที่ไม่ธรรมดา ยิ่งลูกค้าคนนี้คือ ‘พระเจ้า’ ตัวจริงแล้วนั้น บรีฟที่ชิโมดะต้องนำส่งให้กับเหล่าดีไซเนอร์จึงมีตั้งแต่สัตว์ที่น่ารักแต่ไม่น่ารัก (ไม่ใช่ชื่อเพลงของ Getsunova แต่อย่างใด), นกที่ผลิตอัญมณีได้ (เพื่อ?) ไปจนถึงสัตว์แบบไหนก็ได้แล้วแต่เลย (บรีฟแบบนี้อย่าบรีฟดีกว่า!)

แต่ความสนุกของเรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่บรีฟเพี้ยนๆ เท่านั้น เพราะเบื้องหลังของ 5 บรีฟสุด ‘อิหยังวะ’ ต่อไปนี้ ยังมีองค์ประกอบอีกหลากหลายมิติซ่อนอยู่ ทั้งจังหวะขำปอดโยก สาระความรู้ที่เข้มข้นยิ่งกว่าคลาสเรียนชีวะ ไปจนถึงโมเมนต์สะเทือนใจ ซึ่งสามารถถอดรหัสได้ดังนี้

สัตว์ที่น่ารักแต่ไม่น่ารัก

ทุกครั้งที่ได้ฟังบรีฟของพระเจ้าขึ้นมา เรามักอดไม่ได้ที่จะทายไปต่างๆ นานาว่างานนี้จะไปปิดจ๊อบลงที่สัตว์ชนิดไหน อย่างกรณีของ ‘สัตว์ที่น่ารักแต่ไม่น่ารัก’ ก็เช่นกัน ยิ่งเมื่อโจทย์นี้ตกไปอยู่ในมือของเมโดะ สาวน้อยที่มีนิยามคำว่า ‘น่ารัก’ ต่างจากชาวบ้านชาวช่องอย่างสิ้นเชิง เห็นได้ชัดจากผลงานก่อนๆ ของเธออย่างการออกแบบให้ตัวอ่อนของกบลูกศรพิษกินกันเองเพื่อเอาชีวิตรอดในหนองน้ำ และโตมากินเห็บกับมดเพื่อสร้างพิษในตัว (นะ…น่ารักตรงไหนกันล่ะนี่)

“งานนี้ทำให้ตัวผู้มีกระปู๋สองแท่งไปเลย และให้กินพืชที่มีพิษเป็นอาหาร ส่วนตอนเด็กๆ ให้อยู่ในกระเป๋าหน้าท้องและกินอึของแม่แทน มีกรงเล็บแหลมคมและเสียงคำรามไว้ข่มขู่ศัตรู” คือคุณสมบัติ ‘น่ารักๆ’ ในแบบของเมโดะที่เธอนำเสนอด้วยความเอ็นดูสุดชีวิต ยกเว้นเพียงแค่หน้าตาภายนอกที่เธอตั้งใจออกแบบให้ ‘ไม่น่ารักเลย’

ถึงตรงนี้เราให้โอกาสเดาก่อนว่าผลลัพธ์ของบรีฟนี้คือสัตว์ชนิดไหน

เฉลยก็คือ ‘หมีโคอาลา’ นั่นเอง ถึงแม้ว่าจะฟังจากคอนเซปต์ของเมโดะแล้วยังดูไม่กระจ่างนัก แต่ก็ถือเป็นโชคดีที่ทุกตอนนั้นมี ‘สารานุกรมสัตว์จริง’ ช่วงสาระความรู้สั้นๆ ที่ช่วยไขให้เรากระจ่างมากขึ้น

สัตว์ที่ไม่มีปีกแต่บินได้

ไม่ต่างจากการทำงานจริงที่บางครั้งเราอาจได้รับบรีฟใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยทำมาก่อนอย่าง ‘สัตว์ที่ไม่มีปีกแต่บินได้’ ซึ่งดันไปใกล้เคียงกับผลงานสมัยวัยรุ่นของมิสึชิมะอย่าง ‘มังกร’ สีทองใหญ่ยักษ์ในตำนาน ที่น่าเอ็นดูคือการรื้อแฟ้มผลงานเก่าครั้งนี้ดันไปสะกิดใจวัยละอ่อนของมิสึชิมะเข้าอย่างแรง เพราะเมื่อเทียบกับบรรดาสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน มังกรเปรียบเสมือนงานเพ้อฝันวัยเด็กที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้

“นั่นมันอดีตที่ไม่อยากเปิดเผยของฉันนะ คนเราก็ต้องมีกันบ้างไหมล่ะ เพราะงั้นช่วยรีบเก็บมันไปเถอะ ตัวฉันวัยเด็กกำลังคร่ำครวญอยู่เลย” 

เอาเข้าจริงปัญหาการทำใจรับ ‘ความเบียว’ ในอดีตของตัวเองไม่ได้ก็น่าจะเป็นเรื่องสามัญของคนทำงานสายสร้างสรรค์ทุกคน เวลาที่ผลงานเก่าๆ ถูกรื้อมาพูดถึงหรือโชว์ให้เห็นนั่นแหละ

โชคดีที่ความเจ็บใจได้กลายมาเป็นแรงกระตุ้นในการทำงานให้กับมิสึชิมะ เพราะถึงแม้ว่ามังกรจะถูกเพื่อนๆ นำไปปรับดีไซน์ต่อจนแทบไม่เหลือความเท่ (แถมยังไม่ผ่านอีกด้วย) แต่มิสึชิมะก็ได้ใช้เวลาระหว่างนั้นในการพัฒนา ‘งูบิน’ ซึ่งสามารถบินได้ไกลราว 100 เมตรเลยทีเดียว 

สัตว์น้ำที่ว่ายน้ำไม่เก่ง

แม้บรีฟจะฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก แต่อุนาบาระก็ทำผลงานออกมาได้ดีระดับที่กลายเป็นขวัญใจมหาชนเลยทีเดียว เขาเริ่มต้นด้วยไอเดียง่ายๆ คือการออกแบบทุกอย่างให้ตรงกันข้ามกับสัตว์น้ำอย่างโลมา ทั้งการใส่ขนนุ่มฟูและแขนขาซึ่งสร้างแรงต้านขณะว่ายน้ำ รวมไปถึงอุ้งเท้าทั้งสี่และจมูกที่อยู่ตรงกลางใบหน้า ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการว่ายน้ำ สุดท้ายกลายมาเป็น ‘น้องนาก’ หน้าตาน่ารักที่ลอยตัวบนผิวน้ำตลอดเวลา

แม้ว่าดราฟต์แรกของน้องจะยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อย แต่เหล่านากก็แสดงพัฒนาการอันชาญฉลาดจนแก้ปัญหานั้นได้อย่างสวยงามแทบทุกข้อ เช่น เมื่อต้องลอยตัวบนผิวน้ำอยู่ตลอดเวลาน้องก็วางอุ้งมือบนใบหน้าเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย, การจับมือกันขณะลอยตัวเพื่อแก้ปัญหาการถูกน้ำพัด หรือการใช้ก้อนหินทุบเปลือกหอยเพื่อหาอาหารให้เพียงพอต่อการสร้างชั้นไขมัน ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในร่างกายเช่นกัน (ดูแล้วต้องร้องออกมาเลยว่า น้องงง)

ท้ายที่สุดจึงได้ออกมาเป็น ‘นากทะเล’ ผลงานที่นอกจากจะมีหน้าตาน่ารักและนุ่มฟูตามสไตล์ของอุนาบาระแล้ว ความฉลาดหลักแหลมของพวกมันยังทำให้นากเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่ผู้ชมออนไลน์แทบทุกแพลตฟอร์ม 

ช่วยทำยังไงก็ได้ให้ม้าบินได้ที~

หลังจากที่ซึจิยะเคยล้มเหลวกับการออกแบบยูนิคอร์นและเพกาซัสรุ่นแรกไปแล้ว นี่คือครั้งแรกที่พระเจ้าลองเปลี่ยนมาส่งบรีฟเกี่ยวกับม้าให้ดีไซเนอร์คนอื่น ซึ่งผู้โชคดีที่ได้รับบรีฟสุดเพี้ยนนี้ไปคือคานาโมริ แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือคำพูดของลูกค้าที่ว่า “ออกแบบได้ตามใจชอบเลย” 

“มันใช่ซะที่ไหนกัน! คำพูดนั้นแปลว่าให้ออกแบบมาก่อนแล้วค่อยมาเลือกต่างหากล่ะ!” คานาโมริสวนกลับทันควัน ซึ่งคำพูดนี้ก็ไม่ได้เกินจริงเลยเมื่อผลสรุปคือจำนวนดราฟต์มหาศาลและการเปลี่ยนบรีฟระหว่างทาง

เพกาซัสเวอร์ชั่นปรับปรุง
เพกาซัสเวอร์ชั่นปรับปรุง_final
เพกาซัสเวอร์ชั่นปรับปรุง_final_สุดท้าย
เพกาซัสเวอร์ชั่นปรับปรุง_final_สุดท้าย_FOREVER!

สุดท้ายจึงได้มาเป็นค้างคาวซึ่งเป็นส่วนผสมของม้าและนกที่ลงตัวพอดี

อาจดูเหมือนตลกขบขันแต่ในชีวิตการทำงานจริงก็คงไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ในแง่มุมหนึ่ง แผนกออกแบบสร้างสรรค์โลก จึงเป็นอนิเมะที่ให้ความรู้และสะท้อนปัญหาการทำงานในองค์กรญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมที่มีความกดดันสูงจนอัตราการฆ่าตัวตายจากการทำงานเคยพุ่งสูงสุดถึง 2,689 ราย เมื่อปี 2011 

ซึ่งในแวดวงเอเจนซีโฆษณาเองก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ยังมีการทำงานล่วงเวลาอย่างหนักหน่วงจนกระทบต่อสภาพจิตใจ กรณีที่เห็นได้ชัดคือการฆ่าตัวตายเมื่อปี 2015 ของ Matsuri Takahashi พนักงานเอเจนซีในบริษัทระดับโลกอย่าง Dentsu ซึ่งมีบันทึกการทำงานล่วงเวลากว่า 100 ชั่วโมงในเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

สัตว์ที่ดึงดูดจนรู้สึกปิ๊ง!

ไม่ใช่แค่คุณสมบัติในเชิงกายภาพเท่านั้น เพราะบางครั้งบรีฟของคุณลูกค้าอาจเป็นเรื่องนามธรรมอย่าง ‘การหาคู่’ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนจะออกแบบง่าย แต่บรีฟนี้ก็ทำให้เราได้เห็นกระบวนการคิดไอเดียของดีไซเนอร์แต่ละคน บางคนก็ลงมือทดลองจัดกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการหาคู่เลยสักนิด อย่างคานาโมริที่เปิดแดร็กโชว์ของตัวเอง หรือแรปแบตเทิลของมิสึชิมะและคิมูระ 

กระบวนการเหล่านี้แม้จะดูเหมือนไร้สาระและเสียเวลา แต่ความจริงแล้วเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ดีไซเนอร์สามารถศึกษาเรื่องแรงดึงดูดทางอารมณ์ และเข้าถึงความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้อย่างลึกซึ้ง สุดท้ายก็ได้เป็นสัตว์ที่พระเจ้าให้ผ่านจริงๆ นั่นคือ ‘นกมานาคินหางยาว’ ที่แข่งขันกันดึงดูดเพศตรงข้ามด้วยการเปรียบเทียบขนาดตัวและความกำยำของร่างกาย

ขณะเดียวกันดีไซเนอร์บางคนอาจเป็นสายผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้ลงมือทำเอง แต่หยิบข้อสังเกตมาต่อยอดเป็นงานของตัวเองเหมือนกับที่เมโดะออกแบบ ‘กบ Staurois guttatus’ ได้ด้วยการสังเกตพฤติกรรมของเหล่าเพื่อนร่วมงานที่แรปแบตเทิลกันอย่างเอาจริงเอาจัง จนต่อยอดมาเป็นการแข่งขันเตะขาเพื่อดึงดูดสายตากบตัวเมีย

ดูเผินๆ แผนกออกแบบสร้างสรรค์โลก อาจเป็นเพียงอนิเมะเพี้ยนๆ ที่เหมาะสำหรับเปิดดูฆ่าเวลาระหว่างกินข้าวหรือเดินทาง แต่ถ้าได้ลองดูจริงๆ แล้วจะได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับสัตว์โลก วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงกระบวนการทำงานออกแบบเลยล่ะ


ติดตามชม ‘แผนกออกแบบสร้างสรรค์โลก’ เวอร์ชั่นซับภาษาไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ได้จากแชนแนลยูทูบ Muse Thailand (ตอนใหม่มาทุกคืนวันพฤหัสบดีนะ!)

AUTHOR