a day experience : Heart Listener ฝึก-ฟัง-ใจ เวิร์กช็อปที่สอนให้ฉันอยากเปิดใจรับฟังคนรอบข้างให้ดีขึ้นกว่าเดิม

Highlights

  • a day experience ประจำเดือนกุมภาพันธ์ มาในหัวข้อ Heart Listener ที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนชวน ‘คู่’ ของตัวเอง (จะคู่แต่งงาน คู่รัก คู่เพื่อน ก็ได้หมด) มาร่วมเวิร์กช็อปฝึกการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์
  • หนึ่งในฐานของความสัมพันธ์คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นเราจึงควรพูดคุยทำความเข้าใจและให้พลังใจแก่ตัวเอง พร้อมกันกับการให้คุณค่าคนข้างๆ
  • การแลกเปลี่ยนความคาดหวังที่เรามีต่ออีกฝ่าย และหมั่นเช็กว่าตอนนี้เรายังต้องร่วมกันพัฒนาจุดไหน จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์เราแข็งแรงยิ่งขึ้น
  • การสื่อสารที่ดีคือการสื่อสารแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathic communication) ลดตัวตนของเราและตั้งใจฟังเขาให้มากขึ้น โดยใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ฟังให้รู้สึกและเข้าใจโดยไร้อคติ
  • หมั่นทบทวนอยู่เสมอว่าเรากำลังอยู่ในหน้าเดียวกัน เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา

เราทุกคนนั่งล้อมวงกันในห้องสี่เหลี่ยมและออกอาการเคอะเขินกันอยู่หน่อยๆ

บนชั้น 3 ของ The Quarter โคเวิร์กกิ้งสเปซที่ตั้งอยู่ในตึกแถวหัวมุมถนนพญาไทและเพชรบุรี ฉันกับเพื่อนสนิทและคนแปลกหน้าอีก 6 คู่ ซึ่งมีทั้งคู่เพื่อนรักเช่นเดียวกันกับฉัน, คู่มิตรภาพออนไลน์ที่เพิ่งมาพบกันเป็นครั้งแรกในวันนี้, คู่รักวัยรุ่น และคู่ชีวิตที่มาพร้อมกับลูกในท้อง ทุกคู่ต่างชักชวนกันมาร่วมกิจกรรม a day experience : Heart Listener ฝึก-ฟัง-ใจ เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่าเดิม

การฝึก-ฟัง-ใจ ครั้งนี้ดำเนินกิจกรรมโดยนักจิตวิเคราะห์และนักศิลปกรรมบำบัดอย่าง วี–วรภาดา วรธนัญชัย ก่อนกิจกรรมจะเริ่มต้น วีตกลงกับทุกคนว่า ที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนสามารถพูดสิ่งที่อยากพูดออกมาได้ และในทางกลับกันก็ไม่ต้องฝืนใจพูดในสิ่งที่ไม่อยากพูด เรื่องราวทุกเรื่องที่ถูกบอกเล่าในพื้นที่นี้จะเป็นความลับที่รู้กันแค่ในวง ไม่มีการนำออกไปเล่าต่อ จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงการแนะนำตัว แต่จะให้แต่ละคนแนะนำตัวเองก็คงไม่เข้าธีม วีจึงให้โจทย์ว่า ให้ทุกคนแนะนำคู่ที่มาด้วยกันโดยไม่มีรูปแบบตายตัว

ฉันสังเกตว่า การแนะนำแบบนี้ทำให้ทุกคนได้รู้จักเพื่อนในวงมากกว่าแค่ชื่อ อาชีพ และอายุ เพราะดูเหมือนเราจะได้รู้จักพวกเขาในมุมมองที่ใกล้ชิดและน่ารักกว่าปกติ แถมยังมองเห็นถึงความสัมพันธ์และเรื่องราวระหว่างแต่ละคน เพราะสิ่งที่หลายคนรวมทั้งตัวฉันเลือกเล่าออกมามักจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อย เช่นว่า เขาเจอกับเราที่ไหน มีความชอบอะไร เป็นคนอย่างไร และเมื่อถึงคิวของตัวเอง ฉันก็รู้สึกเขินอยู่หน่อยๆ เพราะมันดูมีแต่คำชมที่แม้แต่ฉันเองยังไม่กล้าคิดว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น

พอทุกคนแนะนำตัวจบ วีก็อธิบายให้เราฟังว่าการแนะนำคนข้างๆ แบบนี้จะทำให้เราได้รู้จักกับตัวเองในมุมที่เราอาจหลงลืมไป ซึ่งจะโยงเข้าสู่กิจกรรมแรก นั่นคือการทำความรู้จักกับตัวเอง

วีแจกกระดาษม้วนใหญ่ให้พวกเราคนละม้วน และนำปากกาหลากสีมาตั้งกลางวง เรากำลังจะทำไทม์ไลน์ของตัวเองตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน โดยไม่จำกัดรูปแบบและธีม ขอเพียงแค่เกี่ยวกับตัวเองเท่านั้น

ทันทีกางกระดาษออกมา ในหัวของฉันว่างโล่งไปหมด ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร ยิ่งไม่กำหนดรูปแบบฉันยิ่งนึกอะไรไม่ออก แต่ด้วยความที่ชอบวาดรูป ฉันจึงตัดสินใจวาดทุกอย่างที่ผุดขึ้นมาในหัวเมื่อนึกถึงตัวเองในวัยเด็กลงไปและเขียนโน้ตทดเอาไว้หากเรื่องที่นึกได้ซับซ้อนเกินกว่าจะวาด ฉันวาดอาหารที่พ่อแม่ชอบซื้อมาให้กินตอนอนุบาล วาดหมาหลากหลายเจเนอเรชั่นที่บ้านเราเลี้ยง วาดตัวเองในวัยมัธยมฯ ต้นที่นอนดูทีวีหลังเลิกเรียน วาดชุดนักเรียนที่เปลี่ยนไปตอนย้ายโรงเรียน และอีกสารพัดสิ่ง ความทรงจำของฉันกระโดดไปมา และในบางช่วงเวลาฉันก็แทบจะนึกอะไรเกี่ยวกับมันไม่ออกเลยสักนิด

วาดเสร็จเราทุกคนก็ม้วนกระดาษกลับมานั่งล้อมวงเหมือนเดิม วีอธิบายว่ากิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อให้เราได้ลองทบทวนเรื่องราวของตัวเอง ก่อนจะให้เราเลือก 3 คำ (ไม่ใช่ 3 พยางค์นะ) ที่สามารถนิยามตัวเองได้ดีที่สุด ให้เวลาเราทบทวนตัวเอง และเล่ามันออกมาให้เพื่อนในวงฟัง สำหรับฉันคือคำว่า บ้าน การเติบโต และความสบายใจ ซึ่งฉันตีความออกมาจากภาพวาดขยุกขยิกอีกที

สาเหตุที่เรานั่งเขียนไทม์ไลน์ ทำความรู้จักและคุยกับตัวเอง นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์นั้นประกอบไปด้วยคนสองคน และ ‘ตัวฉัน’ ก็คือฐานด้านหนึ่งของความสัมพันธ์ วีเฉลยให้เราฟังอย่างนั้น ดังนั้นการพัฒนาการสื่อสารและความสัมพันธ์ เราเลยจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร มีความคาดหวังต่อตัวเองอย่างไร

เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ก็ได้เวลาขยับไปสู่ความสัมพันธ์ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราต้องมากันเป็นคู่ เพราะคราวนี้วีให้ทุกคนเขียนความคาดหวังที่เรามีต่อคู่ที่มาด้วยกันลงบนกระดาษ และทบทวนว่าเราอยากบอกอีกฝ่ายไหม ก่อนจะให้คู่ที่พร้อมเล่าความคาดหวังต่ออีกฝ่ายให้ทุกคนฟังกลางวง

เพื่อนสนิทบอกว่า สิ่งที่เธอคาดหวังจากฉันคือกำลังใจ การรับฟัง และอยากให้ฉันให้เวลากับเธอบ้าง ส่วนสิ่งที่ฉันคาดหวังจากเธอก็คล้ายๆ กัน คืออยากให้เธอยังรับฟังฉันโดยไม่ตัดสินและอยากให้เธอไว้ใจเล่าสิ่งต่างๆ ให้ฉันฟังอย่างนี้ต่อไป อยากให้เธอกล้าตักเตือนหากฉันเหลวไหลเกเร และอยากไปเที่ยวด้วยกันอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่เราเรียนจบและทำงาน เราก็ไม่ได้ออกเดินทางไปไหนไกลๆ ด้วยกันอีก ซึ่งวีก็ชี้ให้เห็นว่า นี่คือสาเหตุที่เราต้องกล้าบอกความต้องการที่เรามีต่ออีกฝ่ายออกไป เพราะหากฉันอยากไปเที่ยวกับเพื่อนแต่เก็บมันเอาไว้คนเดียว มันก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น

ในกิจกรรมต่อมา ต้องเขียนว่าเราได้ให้อะไร หรือเป็นอะไรให้อีกฝ่ายได้บ้าง แล้วเมื่อมาเทียบกับความคาดหวังแล้วเราพร้อมไหมที่จะเติมเต็มความคาดหวังของเขา เพื่อเข้าใจถึงภาพรวมของความสัมพันธ์และเห็นความชัดเจนของทั้งสองฝ่าย โดยวีย้ำกับทุกคนว่าไม่ได้ต้องการให้ใครคิดว่าตัวเองดีไม่พอ แต่จะเป็นการนำไปสู่กิจกรรมต่อไปที่จะจับคู่แลกเปลี่ยนกันว่า มีอะไรบ้างที่เราทำตามความคาดหวังของกันและกันได้ ก็จงรักษามันต่อไป และมีอะไรบ้างที่ตอนนี้เรายังทำไม่ได้ แต่จะร่วมด้วยช่วยกันปรับปรุงเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ ซึ่งในคู่ของฉันอาจจะง่ายอยู่สักหน่อย เพราะสิ่งที่เรามีอยู่แล้วคือการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างไม่ตัดสิน ส่วนสิ่งที่เราคาดหวังคือการใช้เวลาด้วยกันให้มากขึ้น ที่เราตีความครอบคลุมทั้งการนัดกินข้าวเมาท์มอย และการไปเที่ยวกัน

หลังจากที่แวะกินขนมและพักเบรก วีเปิดสไลด์ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งที่หลายคนคุ้นเคยและอธิบายไล่จากล่างขึ้นบน ส่วนที่อยู่ใต้สุดของภูเขาคือความต้องการ ถัดขึ้นมาจึงเป็นประสบการณ์ พื้นเพ วัฒนธรรม ส่วนที่ปริ่มอยู่ระหว่างบนน้ำและใต้น้ำคือความต้องการพื้นฐานและความเชื่อ อันนำไปสู่การกระทำและพฤติกรรม ส่วนยอดสูงสุดของภูเขาน้ำแข็งคือผลลัพธ์ ซึ่งสามคำที่เราเลือกมานิยามตัวเองในช่วงแรกนั้นเทียบได้กับส่วนที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง

หากทั้งสองฝ่ายต่างรู้จักให้พลังใจตัวเอง ให้คุณค่ากับคนข้างๆ ก็จะเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีนั่นเอง

ต่อมาวีอธิบายให้ฟังถึง empathic communication นั่นคือการสื่อสารแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าเป็นการพยายามที่จะเข้าใจ เปิดใจรับฟัง รับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่าย พยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารออกมาผ่านคำพูดและภาษากาย เพื่อให้สื่อสารกันได้ตรงประเด็น ไม่เผลอไปทำร้ายอีกฝ่าย และทำให้อีกฝ่ายเปิดใจรับฟัง

สิ่งที่มาด้วยกันกับ empathic communication คือ deep listening นั่นคือการรับฟังอย่างตั้งใจจริงๆ รับรู้ความรู้สึกของผู้พูดอย่างไม่มีอคติหรือข้อแม้ ตั้งใจฟังจนจบ หากมีอะไรสงสัยหรือแย้งก็ทดเอาไว้ในใจก่อน วีบอกกับเราว่าเพราะคนเราสามารถโฟกัสอะไรได้แค่ทีละอย่างเดียว หากเราทำอย่างอื่นขณะฟัง หรือเราพยายามพูด คิดอะไรในหัวไปด้วยขณะฟัง เราก็จะไม่ได้ยิน ไม่ได้รับสารอย่างแท้จริง ไม่ได้สังเกตเห็นน้ำเสียง การแสดงออก ภาษากายของผู้พูดที่อาจจะลึกซึ้งหรือมีอะไรมากกว่าถ้อยคำที่พูดออกมา เมื่อฟังแล้วมีตรงไหนไม่เข้าใจก็ถาม ถามทั้งตัวเองว่ากำลังรู้สึกอย่างไร ถามอีกฝ่ายว่าสิ่งที่พูดหมายความตามที่เราเข้าใจไหม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

วีเสริมว่า หากใครนึกภาพไม่ออก ให้ลองจินตนาการตัวเองให้ว่างเปล่า และพร้อมที่จะซึมซับอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ ลดความคิดทุกอย่าง ลดตัวฉันออกไป แม้เราจะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย แต่ก็เปิดใจฟังให้รับรู้ความคิด ความรู้สึกของอีกฝ่าย

มาถึงตอนนี้ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมก็รู้สึกสงสัยว่า เราจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ตอนไหน เพราะเอาเข้าจริงเราคงไม่สามารถละทิ้งกิจกรรมทุกอย่างเพื่อมาฟังใครสักคนได้ตลอด คำตอบที่ได้คือเราอาจจะหยิบการสื่อสารแบบนี้ออกมาใช้ในเวลาที่รู้สึกไม่เข้าใจกัน มีความไม่สบายใจเกิดขึ้น อยากปรับจูนเข้าหากัน แต่ในสถานการณ์ทั่วไปหากเราสื่อสารอย่างมี empathy ก็จะทำให้เกิดผลดีได้เช่นกัน โดยวียกตัวอย่างว่าทุกครั้งที่พ่อของเธอโทรมา เธอจะตั้งสติและพักจากสิ่งที่ทำเพื่อมาฟังพ่อ และการตั้งใจฟัง ตอบกลับอย่างตรงประเด็น ไม่มีอารมณ์เกี่ยวข้อง ก็ทำให้พ่อของเปิดใจรับฟังสิ่งที่เธอจะพูดมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะฟังจริงๆ ก็ควรสื่อสารออกไปเช่นกัน เพราะหากเรารับฟังแบบปล่อยผ่าน ไม่ตั้งใจฟัง ฟังแล้วไม่เข้าหัว ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความหงุดหงิดหรือผิดใจกันได้


ในช่วงท้ายของกิจกรรม วีเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนกันถึงสถานการณ์การสื่อสารผิดพลาดหรือความไม่เข้าใจกันที่ได้พบเจอมา ก่อนจะสรุปให้ฟังว่าในความสัมพันธ์เราควรหมั่นทบทวนสิ่งที่สื่อสารกันมา คุยกันถึงความคาดหวังและความเข้าใจว่าเรายังอยู่ในหน้าเดียวกันใช่ไหม ตั้งคำถามถึงความต้องการและทิศทางที่จะเดินไปอยู่บ่อยๆ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ก่อนจะให้ทุกคนลงมือทำเครื่องเตือนใจให้ตัวเองหรือคู่ที่มาด้วยกันถึงสิ่งที่เราได้แลกเปลี่ยนกันในวันนี้ ซึ่งฉันและเพื่อนสนิทตกลงว่าเราจะทำแลกกัน ฉันตัดกระดาษเป็นตัวอักษรขึ้นต้นชื่อของเราทั้งสองคน, มือที่ทำท่าเลิฟ, โทรศัพท์มือถือที่สื่อว่าฉันพร้อมจะรับสายและรับฟังเธอเสมอ, กระเป๋าเป้เพื่อเตือนใจเธอว่าเราต้องมีทริปหน้าด้วยกันอีก พร้อมกันโน้ตแผ่นเล็กๆ ใส่ซองจดหมายและมอบให้เธอ ส่วนเธอยื่นห่อกระดาษสีชมพูผูกโบว์มาให้ฉัน

แน่นอนว่าฉันรู้สึกดีใจที่ได้ชวนเพื่อนสนิทมาด้วยกัน และรู้สึกว่าเราเข้าใจกันมากขึ้น แต่ฉันเชื่อว่าไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของฉันกับเพื่อนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากเวิร์กช็อปนี้ เพราะฉันจะลองฝึกฟังใจคนรอบข้างให้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด