‘ศัพท์มหัศจรรย์และถิ่นที่มา’ จาก 3 นักแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย

Highlights

  • ในวาระครบรอบ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย เราชวน 3 นักแปลเลือกคำศัพท์มาเล่าเป็นเกร็ดความรู้สนุกๆ ให้กับเหล่ามักเกิ้ลชาวไทย

หากใครเคยอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาอังกฤษ คงจะรู้ว่า J.K. Rowling มีเทคนิคการเลือกใช้คำศัพท์ที่น่าสนใจมากแค่ไหน

หลายคนบอกว่าเธอเป็นคนฉลาด มีข้อมูลเบื้องหลังแนวคิดการใช้คำทั้งหมด คลังคำศัพท์ของเธอมีมหาศาล บางครั้งก็เป็นคำโบราณที่มีความหมายลึกซึ้ง หรือบางครั้งก็เป็นศัพท์สแลงชวนขันของเด็กวัยรุ่น เมื่อรวมกับลูกเล่นการนำเสนอของเธอ บทสนทนาของตัวละครต่างๆ และโลกเวทมนตร์ก็มีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างมหัศจรรย์

ใจความและอรรถรสเหล่านี้แหละที่นักแปลกว่า 80 ภาษาทั่วโลกต้องเก็บไว้ให้คนอ่านมากที่สุด ซึ่งรวมถึงสุมาลี บำรุงสุข, วลีพร หวังซื่อกุล และงามพรรณ เวชชาชีวะ สามนักแปลชาวไทยที่ตั้งใจถ่ายทอดความสนุกและการผจญภัยของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ สู่มักเกิ้ลไทยทุกคน  

ในโอกาสที่หนังสือเล่มนี้ฉลองครบรอบขวบปีที่ 20 เราชวนนักแปลทั้งสามมาเลือกคำศัพท์จากเล่มต่างๆ เขียนหย่อนลงถ้วยอัคนีเพื่อให้เลือกคำสนุกสุดๆ มาให้เรา

The Philosopher’s Stone
(n.) ศิลาอาถรรพ์
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แปลโดย สุมาลี

philosopher’s stone เป็นศัพท์โบราณที่ใช้ในศตวรรษที่ 14 หมายถึง หินที่มีพลังอำนาจสามารถเปลี่ยนแร่ธาตุบางชนิดเป็นทองและยาอายุวัฒนะได้ ที่ใช้ชื่อว่า philosopher’s stone เพราะเชื่อว่านักปราชญ์เท่านั้นที่จะเข้าถึงชีวิตที่เป็นอมตะได้

อีกคำที่มีความหมายเหมือนกันคือ talisman ศาสตราจารย์พิเศษ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักเขียนและนักวิชาการผู้แปลหนังสือ The Talisman ของ Sir Walter Scott เลือกใช้คำว่า ‘ศิลาถรรพ์’ เป็นความหมายของคำดังกล่าว สุมาลีเห็นว่าน่าจะใช้ด้วยกันได้จึงหยิบยืมคำแปลนั้นมาใช้ แต่บรรณาธิการกลัวว่าคนอ่านจะไม่เข้าใจจึงเปลี่ยนเป็น ‘ศิลาอาถรรพ์’ แทน

The Mirror of Erised
(n.) กระจกเงาแห่งเอริเซด
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แปลโดย สุมาลี

คำศัพท์นี้ไม่มีความหมายไทยในหน้าพจนานุกรม เพราะเป็นคำที่ เจ.เค. โรว์ลิ่ง คิดขึ้นมาเอง ในตอนที่แฮร์รี่ยืนอยู่ตรงหน้า The Mirror of Erised เขาเห็นพ่อกับแม่ของตัวเองยืนอยู่ข้างๆ ดัมเบิลดอร์อธิบายว่ากระจกเงาแห่งเอริเซดจะสะท้อนภาพความปรารถนาที่ลึกที่สุดในหัวใจของเรา 

โดยปกติถ้าเป็นชื่อที่โรว์ลิ่งคิดขึ้นสุมาลีจะทับศัพท์เลย ตอนหลังเมื่อได้อ่านเว็บไซต์ของชาวมักเกิ้ลที่อธิบายไว้ว่า ถ้าเอาคำว่า erised ไปส่องกระจก เราจะเห็นคำว่า desire ที่แปลว่าความปรารถนา พอได้รู้อย่างนี้สุมาลีก็เอ่ยปากชื่นชมนักเขียนยกใหญ่

 

swish and flick
(v.) โบกนิดสะบัดหน่อย
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แปลโดย สุมาลี

ขั้นตอนการเสกคาถาให้วัตถุลอยตัวคือยกไม้กายสิทธิ์ขึ้นมาแล้ว ‘swish and flick’ สักหน่อยตามคำสอนของศาสตราจารย์ฟลิตวิก อาจารย์ประจำวิชาคาถา ว่าแต่ในภาษาไทยจะแปลยังไงให้เด็กไทยทำตามศาสตราจารย์ฟลิตวิกได้ (เหมือนที่เฮอร์ไมโอนี่เสกคาถานี้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก!) 

สุมาลีหยิบพจนานุกรมมาแปลคำว่า swish ได้ความหมายว่า เสียงฟาดแส้ ส่วน flick แปลว่า สะบัดข้อมือ แต่จะให้บอกแฟนๆ ชาวไทยว่าสะบัดข้อมือเหมือนฟาดแส้ก็ดูจะไม่เข้าท่า เธอจึงวางพจนานุกรมแล้วเปลี่ยนมาหยิบไม้กายสิทธิ์ในบ้าน (ตะเกียบ) ลองสะบัดมือ 2-3 ที จนได้วลีสั้นๆ ว่า ‘โบกนิดสะบัดหน่อย’ มาอธิบายให้เด็กไทยสนุกกับคาถานี้กัน

You might belong in Gryffindor,
Where dwell the brave at heart,
Their daring, nerve, and chivalry
Set Gryffindors apart;
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แปลโดย สุมาลี

เมื่อมาถึงฮอกวอตส์ในภาคการศึกษาใหม่ กิจกรรมสำคัญที่นักเรียนปี 1 ทุกคนต้องเข้าร่วมคือพิธีคัดสรร ซึ่งจะมีหมวกคัดสรร หมวกใบเก่าคร่ำครึมีรอยปะชุนทั่วใบคอยเลือกว่านักเรียนแต่ละคนจะได้อยู่บ้านไหน แต่ก่อนจะเริ่มคัดสรร หมวกจะร้องเพลง (ที่แอบแต่งเอาไว้เป็นปีๆ) เนื้อหามีทั้งการเฉลิมฉลองและการเตือนภัย ตัวอย่างที่เราหยิบมาคือเนื้อเพลงที่หมวกคัดสรรอธิบายลักษณะของบ้านกริฟฟินดอร์ในวันที่แฮร์รี่เข้าพิธี 

brave (adj.) กล้าหาญ ไม่กลัวอันตรายแม้ว่าผู้อื่นจะกลัว

daring (adj.) กล้าเสี่ยง บ้าบิ่น

nerve (n.) ความสามารถสงบ มั่นคง แม้จะเผชิญหน้ากับอันตราย

chivalry (n.) คุณสมบัติของอัศวิน 

ในฐานะผู้แปล สุมาลีบอกว่าเจ.เค. โรว์ลิ่ง เลือกใช้คำมาอธิบายได้ดีมากๆ แม้ว่าตอนแรกจะไม่ถนัดการแปลคำประพันธ์ แต่ในที่สุดก็ยอมกัดฟันแปลจนรู้สึกสนุก แต่ต้องยอมรับว่าเนื้อความที่แปลไม่ตรงกับต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ 

“เธออาจไปอยู่บ้านกริฟฟินดอร์ ซึ่งเป็นหอของผู้กล้า หัวใจสิงห์
ชอบท้าทายเป็นวีรบุรุษยิ่ง นี่คือสิ่งสัญลักษณ์กริฟฟินดอร์”

Lord Voldemort
(n.) ลอร์ดโวลเดอมอร์
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ แปลโดย สุมาลี 

ความจริงแล้วชื่อของลอร์ดโวลเดอมอร์ปรากฏอยู่ทุกภาคในวรรณกรรมชุดนี้ แต่เหตุผลที่เราต้องขอหยิบมาเล่าเพราะสุมาลีแอบบอกว่าในเล่ม ห้องแห่งความลับ มีเนื้อหาส่วนที่ทำให้เธอไม่สามารถแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้ เพราะไม่อยากเปลี่ยนชื่อตัวละคร

นั่นคือตอนที่ Tom Marvolo Riddle บอกว่าชื่อของเขารวมกันได้เป็น I AM LORD VOLDEMORT สุมาลีบอกว่านักแปลหลายภาษาสนุกกันยกใหญ่ที่จะแปลชื่อให้เรียงออกมาเป็นคำใหม่ จนต้องยอมเปลี่ยนชื่อทอม ริดเดิล กัน เช่น ภาษาฝรั่งเศสเปลี่ยนชื่อเป็น Tom Elvis Jedusor เพื่อให้ออกมาเป็น Je suis Voldemort

แม้บ้านเราจะไม่มีวัฒนธรรมแปลชื่อเฉพาะก็จริง แต่เพื่อเพิ่มอรรถรสให้การอ่าน นักแปลจะเลือกแปลออกมาก็ไม่ผิดนัก เพราะอย่างสุนัขของแฮร์รี่ชื่อ Fang สุมาลีก็เลือกใช้คำว่า ‘เขี้ยว’ หรือชื่อร้านค้าในตรอกไดแอกอน เธอก็เลือกแปลหมดเพราะอยากให้เด็กไทยรู้สึกสนุกเวลาอ่าน

dementor
(n.) ผู้คุมวิญญาณ
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน แปลโดย วลีพร หวังซื่อกุล

วลีพรชั่งใจอยู่นานว่าจะแปลคำว่า dementor หรือทับศัพท์ไปเลย แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจแปลเพื่อให้คนอ่านเข้าใจความหมายของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ แต่หากแปลตรงๆ ก็จะได้เป็นเพียงคำว่า ‘สิ่งมีชีวิตที่น่ากลัว’ วลีพรจึงพยายามแปลโดยเสริมความหมายจากบริบทของเรื่องเข้าไปด้วย เธออ้างอิงจากคำอธิบายของศาสตราจารย์ลูปินที่ว่า dementor ดูดเอาความสุขของคนไปและยังเป็นผู้คุมนักโทษในอัซคาบัน แน่นอนว่ามันไม่ได้คุมเพียงร่างกาย แต่คุมจิตวิญญาณของคนด้วย ในที่สุดวลีพรจึงเลือกแปลคำนี้ว่า ‘ผู้คุมวิญญาณ’ 

The Marauder’s Map
(n.) แผนที่ตัวกวน
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน แปลโดย วลีพร หวังซื่อกุล

แฮร์รี่จ้องมองแผ่นกระดาษเก่าๆ สีน้ำตาลที่เฟร็ดกับจอร์จ พี่น้องคู่แฝดแห่งบ้านวีสลีย์ ให้เขาตอนปี 3 มีชื่อปรากฏบนนั้นว่า ‘THE MARAUDER’S MAP’

วลีพรบอกว่าถ้าแปล marauder เป็นภาษาไทยจะมีความหมายว่า ‘โจรปล้นสะดม’ แต่จะบอกว่านี่เป็นแผนที่ของโจรปล้นสะดมก็ดูแปลกไปหน่อย แล้วจะใช้คำไหนดีล่ะ วลีพรคิดยังไงก็คิดไม่ออกเลยเอาปัญหานี้ไปถกกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนปริญญาโทจนได้รับคำแนะนำให้ลองใช้คำว่า ‘ตัวกวนร้อยเล่ห์’ น่าจะเข้ากับแผนที่ที่คิดค้นโดยกลุ่มเด็กเกรียนได้เป็นอย่างดี

ท้ายสุดเธอตัดสินใจแปลคำว่า The Marauder’s Map เป็น ‘แผนที่ตัวกวน’

The Goblet of Fire
(n.) ถ้วยอัคนี
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ

การประลองเวทไตรภาคีระดับนานาชาติเวียนมาบรรจบอีกครั้งในช่วงที่แฮร์รี่ขึ้นปี 4 นักเรียนคนไหนสนใจแข่งขันต้องหย่อนชื่อตัวเองลงใน Goblet of Fire เพื่อเข้ารับการคัดเลือก เมื่องามพรรณเห็นว่าคำนี้สำคัญและยังเป็นชื่อหนังสือด้วย เธอจึงลองเอาคำที่มีความหมายตรงกับคำว่า ‘ไฟ’ ของภาษาไทยมาเขียนเรียงกัน เช่น เพลิง อัคคี อัคนี เพื่อลองออกเสียงว่าคำไหนที่ฟังแล้วมีพลังลึกลับ

งามพรรณชอบคำว่า ‘หินอัคนี’ ซึ่งหมายถึงหินที่เกิดจากความร้อน ฟังแล้วทำให้นึกถึงพลัง ถ้าใช้คู่กับถ้วยเชิงสูงซึ่งแปลมาจาก goblet แล้ว ก็ฟังดูไม่เยิ่นเย้อทั้งยังติดหู รวมกันแล้วจึงเป็นคำว่า ‘ถ้วยอัคนี’ เป็นคำแปลทันที

The Order of Phoenix
(n.) ภาคีนกฟีนิกซ์
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ แปลโดย สุมาลี

หนึ่งในคำแปลที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือชื่อของเล่ม 5 หลังจากหนังสือฉบับภาษาไทยออกมา สุมาลีบอกว่าแฟนๆ ตั้งคำถามว่าทำไม order ถึงแปลว่าภาคี ในเมื่อเช็กแล้วจะต้องแปลว่า ‘คำสั่ง’ หรือ ‘คำบัญชา’ ไม่ใช่หรือ

สุมาลีจึงรีบชี้แจงว่าในบริบทของเล่มนี้ order คือคณะบุคคล เธอจึงปรึกษาสุกัญญา บำรุงสุข พี่สาวผู้เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ว่าควรใช้คำว่าอะไร เพราะในเรื่องแฮร์รี่ถามว่า ‘What’s an order?’ ถ้าแปลโดยใช้คำว่าคณะบุคคลดูจะธรรมดาไป แฮร์รี่ไม่น่าถามว่าอะไรคือคณะบุคคล สุกัญญาแนะนำว่าให้ใช้ ‘ภาคี’ เพราะเป็นคำที่สละสลวยและไม่ค่อยมีใครใช้ในตอนนั้น

blow somebody a raspberry
(idiom) เป่าปากเลียนเสียงผายลม
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ แปลโดย สุมาลี

หนึ่งในสำนวนที่สุมาลียอมรับว่ายากมากๆ อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพีฟส์ ผีจอมกวนในฮอกวอตส์ถึง blowing loud raspberries every time ตอนที่อัมบริดจ์กำลังพูด 

พอไปค้นในพจนานุกรมเธอถึงเข้าใจว่านี่เป็นสำนวนสแลงของ Cockney กลุ่มคนดั้งเดิมในลอนดอน อาศัยทางฝั่งตะวันออก มีสำเนียง ศัพท์ และสำนวนของตนเอง อย่างคำว่า ‘ตด’ จะไม่พูดคำว่า fart ตรงๆ แต่จะพูดว่า raspberry tart ซึ่ง tart พ้องเสียงกับ fart พอดี ต่อมาก็กร่อนสั้นลงเหลือเป็น raspberry 

ดังนั้น blow somebody a raspberry ก็คือ เป่าปากดังปู้ด เหมือนที่พีฟส์ตามไปแกล้งอัมบริดจ์ทุกที่ (พอรู้อย่างนี้แล้วก็สมกับที่เธอโดนแกล้งจริงๆ)

to draw his cork
(idiom) ต่อยปลายจมูกให้เลือดกระฉูด
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม แปลโดย สุมาลี

to draw his cork เป็นสำนวนที่แม้แต่เจ้าของภาษาก็ไม่สามารถตอบสุมาลีได้ ค้นพจนานุกรมสำหรับการแปลสำนวนเล่มโตแล้วก็ไม่มีคำตอบ สำนวนนี้ปรากฏครั้งแรกตอนที่ครีเชอร์และด๊อบบี้ตีกัน พีฟส์เห็นจึงร้องเชียร์ยกใหญ่ว่า ‘Stick your fingers up his nosey, draw his cork and pull his earsies.’ สุดท้ายใกล้วันส่งต้นฉบับเต็มที สุมาลียอมแพ้และจำใจแปลแบบเดาๆ ไปก่อนว่า ‘ยัดนิ้วใส่รูจมูก ดึงจุกก๊อกออกมาเลยซี แล้วดึงหูซะด้วย’   

หลังจากนั้นเธอได้อ่านนิยายยุคนโปเลียนของ Georgette Heyer นักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ แล้วเห็นสำนวน to draw his cork อีกครั้งถึงได้รู้ความหมายว่าแปลว่า ต่อยปลายจมูกให้เลือดกระฉูด 

สำนวน to draw his cork ใช้เมื่อ 200 ปีที่แล้วเป็นศัพท์ของนักมวยแปลว่าทำให้เลือดออก ส่วนใหญ่ใช้กับจมูก เจ.เค. โรว์ลิ่ง น่าจะเลือกใช้สำนวนนี้ให้เข้ากับผีสมัยโบราณอย่างพีฟส์ เมื่อมีการตีพิมพ์ใหม่ สุมาลีจึงแปลว่า ‘ยัดนิ้วใส่รูจมูกเลย ต่อยปลายจมูกจนเลือดกระฉูด แล้วดึงหูซะด้วย’

outhouse
(n.) โรงเก็บของ
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม แปลโดย สุมาลี

ระหว่างแปลฉากดัมเบิลดอร์สนทนากับแฮร์รี่ใน outhouse ใกล้บ้านโพรงกระต่ายของครอบครัววีสลีย์ สุมาลีถึงกับตกใจว่าทำไมอาจารย์ใหญ่คุยกับแฮร์รี่ในห้องน้ำ เพราะคำนี้ในอเมริกาแปลว่า ห้องน้ำที่สร้างแยกจากตัวบ้าน 

อ่านไปเรื่อยๆ สุมาลีถึงได้เห็นเจ.เค. โรว์ลิ่ง เขียนอธิบายไว้ว่า outhouse นี้เป็นที่เก็บไม้กวาดของพวกวีสลีย์ เมื่อตรวจเช็กแล้วพบว่าในภาษาอังกฤษแบบบริติชคำนี้หมายถึงอาคารหรือห้องเล็กๆ ที่สร้างแยกออกมาจากตัวบ้านเพื่อเป็นโรงเก็บของหรือโรงปลูกพืช ส่วนอเมริกาเรียกโรงเก็บของลักษณะเดียวกันนี้ว่า outbuilding 

charm, spell, jinx, hex, curse
(n.) คาถา คำสาป
แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทุกเล่ม แปลโดย สุมาลี, วลีพร หวังซื่อกุล และงามพรรณ เวชชาชีวะ

หนึ่งในคำแปลที่นักแปลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือการแปลคาถาและคำสาป เพราะเจ.เค. โรว์ลิ่ง เลือกใช้คำศัพท์ต่างกันตามบริบทของคาถานั้นๆ

spell ใช้กับคาถาทั่วไป เช่น Water-Making Spell คาถาเสกน้ำ 

charm ความหมายเหมือนกับ spell แต่ส่วนใหญ่นักเขียนเลือกใช้กับคาถาทางบวก ใช้ป้องกันหรือช่วยเหลือผู้อื่น เช่น Patronus Charm คาถาผู้พิทักษ์

jinx ใช้กับคำแช่งแกล้งขำๆ เช่น Langlock Jinx คำแช่งผูกลิ้น (แฮร์รี่เคยเสกแกล้งอาร์กัส ฟิลช์ ภารโรงประจำฮอกวอตส์)

hex คาถาอันตราย มีอำนาจรุนแรงมากกว่า jinx แต่ไม่เท่า curse เช่น Tail-Growing Hex คำสาปหางงอก

ส่วน curse คือคาถาที่มีอำนาจรุนแรง ชั่วร้าย หรือเป็นคำสาป เช่น Unforgivable Curses คำสาปโทษผิดสถานเดียว 

 


ภาพ Art of Hongtae 

AUTHOR