dash. แบรนด์กระเป๋าหนังที่ออกแบบให้น้อยแต่มาก เพราะรู้ว่าแค่นี้ชีวิตก็ยุ่งยากพอแล้ว

นุ่มสาวชาวออฟฟิศเคยประสบปัญหาเหล่านี้เหมือนกันกับเราไหม

แบกกระเป๋าไปทำงานหนักจนไหล่แทบหัก แต่พอมีจังหวะให้วางไว้บนพื้นก็ไม่อยากทำ เพราะกลัวกระเป๋าเปื้อน จะหยิบกระเป๋าเงินมาใช้ทีก็ต้องตามหากันเนิ่นนาน เพราะของทุกอย่างในกระเป๋าไหลมาทับกันมั่วไปหมด คีย์การ์ดคอนโดหรืออะไรที่เล็กจิ๋วก็เหมือนจะหายสาบสูญไปกับท้องกระเป๋า 

สารพัดปัญหาที่ว่าคือสิ่งที่จุดประกายให้เกิด dash. แบรนด์กระเป๋าหนังหน้าตาเรียบหรู ดูมินิมอล ที่สร้างขึ้นด้วยแนวคิด ‘Because Life’s Complicated Enough’

ฉะนั้นทุกฟังก์ชั่นที่ใส่มา สีที่มีให้เลือกสรร และรูปทรงที่ผลิตขึ้น พวกเขาจึงตั้งใจออกแบบมาให้ลูกค้าออกแรงคิดและตัดสินใจต่างๆ ให้น้อยที่สุด 

อะไรบ้างที่แอบซ่อนอยู่ในความน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้เหล่านี้ บุกออฟฟิศไปถามเขาดีกว่า  

 

มากกว่ากระเป๋าคือการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

เพราะมองเห็นว่าคนเมืองต้องเจอกับปัญหาสารพัด แถมมีเรื่องให้ตัดสินใจแทบจะรายวินาที นนทน์ พงศ์ไพโรจน์ และทีมงานจึงร่วมด้วยช่วยกันก่อร่างสร้างแบรนด์ dash.ขึ้นมา 

แม้สินค้าหลักในปัจจุบันจะเน้นไปที่กระเป๋ารูปทรงมินิมอล จนเราเผลอนิยาม dash.ว่าเป็นแบรนด์กระเป๋าเรียบหรู แต่ตลอดการพูดคุยเขามักย้ำกับเราเสมอว่า dash.ไม่ได้ตั้งใจเป็นแค่แบรนด์สินค้าแฟชั่นเท่านั้น แต่เขาอยากเป็นแบรนด์ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้ผู้คนต่างหาก 

“เราอยากเป็นแบรนด์ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย อยากเข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้เขา เรามองว่าปัจจุบันคนเราต้องรับข้อมูลข่าวสารค่อนข้างเยอะ และถึงจะมีเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ของบางอย่างมีฟังก์ชั่นเยอะมาก จนเรารู้สึกว่าชีวิตมันมีอุปสรรค เพราะต้องมาเสียเวลาเรียนรู้ มานั่งทำความเข้าใจอีก ทั้งๆ ที่จุดประสงค์ที่เราซื้อของชิ้นนั้นมาคือช่วยให้เราสบายขึ้น” 

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้คนได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นในชีวิตเพิ่มขึ้น สินค้าทุกตัวของ dash.จึงคิดขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์กับ 4 ช่วงเวลา นั่นคือการพักผ่อน การทำงาน การเดินทาง และการหาแรงบันดาลใจ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุกคนพบเจอได้อย่างครอบคลุม ให้ผู้ใช้มีชีวิตที่สะดวกและราบรื่นยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กระเป๋าที่วางอยู่ตรงหน้าเรานี้ ก็ถูกคิดขึ้นมาจากช่วงเวลาการเดินทาง 

ตูน–สิฬณัชชา คงมั่น นักการตลาดประจำแบรนด์เล่าว่า ระหว่างรีเสิร์ชเธอพบว่าคนเมืองใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น และในหนึ่งวันก็ต้องใช้กระเป๋าในหลายโอกาส ทั้งออกไปทำงาน หรือต่อด้วยการแฮงเอาต์ dash. จึงพยายามออกแบบกระเป๋าที่ช่วยแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ออกแบบกระเป๋าให้มีน้ำหนักเบา เวลาถือหรือสะพายจะได้ไม่ต้องแบกน้ำหนักของกระเป๋าร่วมด้วย หรือพยายามออกแบบกระเป๋าให้มีรูปทรงที่สามารถใช้ได้ทุกโอกาส จะสะพายออกไปทำงานก็ดูดี หรือจะสะพายออกไปเที่ยวก็ได้ ไม่ต้องเปลี่ยนกระเป๋ากันบ่อยๆ ตัวอย่างเหล่านี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่พอใส่เพิ่มไปแล้วกลับช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก 

 

จับปัญหาที่คนต้องพบเจอมาออกแบบงานให้ตอบโจทย์

หลังจากได้คอนเซปต์แบรนด์ รวมทั้งรู้อินไซต์ของผู้ใช้งานแล้ว งานในขั้นตอนต่อไปก็คือการออกแบบ ซึ่งดีไซเนอร์ประจำแบรนด์อย่าง กัส–ณัฐธิดา เกตุจรัล เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาสินค้าที่ทั้งแก้ไขปัญหาระหว่างวัน แต่ก็ยังคงความสวยงามน่าใช้ แถมยังต้องเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบรนด์อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด

“มินิมอลนี่ยากมากเลย” กัสหัวเราะก่อนระบายความในใจ 

“พอได้รับมติจากทีมว่าคอลเลกชั่นนี้เราจะทำอะไร เวลาออกแบบเราจะเริ่มต้นที่ฟังก์ชั่นเป็นหลัก จะพยายามออกแบบให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ช่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ใส่มาต้องไม่ทำให้คนใช้รู้สึกหนักใจ จากนั้นเราถึงมาออกแบบหน้าตาโดยรวมต่ออีกทีว่าจะทำยังไงให้กระเป๋าของเราแตกต่าง อาจจะเพิ่มอะไหล่หรือดีเทลบางอย่างให้ดูสนุกขึ้น”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าวางโครงร่าง ได้ไอเดีย หน้าตาของสินค้ามาแล้วจะจบ ทั้งทีมยังต้องกลับมาคุยกันอีกรอบด้วยว่ามันทำให้ชีวิตง่ายขึ้นตรงไหน และมันง่ายขึ้นจริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นบางสิ่งที่กัสออกแบบเลยโดนปัดตกไปบ้าง เพราะยังง่ายไม่พอ หรือบางอย่างมีฟังก์ชั่นตอบโจทย์ครบทุกอย่าง แต่ดูแล้วไม่เข้าใจตั้งแต่ต้นก็โดนปัดตกได้เหมือนกัน

“รายละเอียดในการออกแบบมันค่อนข้างเยอะ อย่างปากกระเป๋าเมื่อก่อนก็ไม่ใช่อย่างนี้นะ” กัสใช้นิ้วกรีดกระเป๋ารูดเปิดเป็นการสาธิตให้เห็นว่าปัจจุบันกระเป๋าสะดวกต่อคนเมืองที่อาจจะต้องหยิบของขณะเดินทาง ส่วนปากก็คอยอธิบาย

“พอเป็นสไตล์มินิมอล แมตทีเรียลจึงสำคัญมาก ด้วยความเรียบของมันทำให้จุดที่โดดออกมาเห็นได้ชัดมาก ตัวหนัง ตัวฝีเย็บ มันจะโชว์หมด เราเลยต้องใส่ใจทุกขั้น เช็กไปถึงระยะฝีเข็มเลยด้วยซ้ำ อะไหล่ต่างๆ ที่ใช้ก็ออกแบบและสั่งคัสตอมมาเป็นส่วนใหญ่ เราใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ที่บางครั้งคนอาจไม่ได้นึกถึง อย่างแม่เหล็กก็ต้องทดลองเรื่องความแรงให้เหมาะสม เพราะหากแรงไปคนก็เปิดไม่ออก หากน้อยไปคนก็อาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หรืออย่างหางซิปเราก็ทำตัวแบบอยู่นานเหมือนกันกว่าจะได้ทรงที่ยาวๆ เรียวๆ ให้จับได้ง่ายขึ้น ไม่เทอะทะ หรือบอบบางไป

“โลโก้ของแบรนด์เราก็ออกแบบให้ดูเรียบง่าย มีการนำรหัสมอร์สอย่างขีด จุด จุด ซึ่งหมายถึงตัว d มาใช้ นอกจากจะมีความหมายแฝงถึงชื่อแบรนด์ dash. อยู่ภายใน ยังสื่อถึงการที่เรานำหลักคิดเกี่ยวกับความเรียบง่าย ใช้งานได้จริง และเป็นสากลมาใช้ด้วย” 

“เหมือนพอเราตั้งโจทย์ว่าอยากจะออกแบบโปรดักต์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้คนใช้ชีวิตง่ายขึ้น วิธีการสื่อสารให้คนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญด้วย รหัสมอร์สมีความตรงกับที่เราตั้งใจสื่อสารออกไป หัวใจสำคัญของมันคือความเรียบง่าย เช่นเดียวกับแบรนด์ของเรา” นนทน์เสริม

ด้านล่างของออฟฟิศนี้จึงมีพื้นที่เวิร์กช็อปให้ดีไซเนอร์สาวได้ทดลองเย็บทำกระเป๋าต้นแบบขึ้นมาจริงๆ ก่อนจะนำไปคุยกับโรงงาน

ข้อดีของการขึ้นแบบด้วยตัวเองคือ กัสจะสามารถบอกช่างได้ทันทีว่าเขากำลังจะเจอปัญหาอะไรบ้าง เมื่อทำก่อน ก็จะเจอข้อผิดพลาดก่อน และมีโอกาสได้แก้ก่อนที่จะถึงมือช่าง นอกจากนั้นการได้ลงมือทำยังเพิ่มมิติใหม่ๆ ในการออกแบบมากขึ้นด้วย 

“ใบนี้จริงๆ ที่เราออกแบบไว้คือแค่ให้สองด้านปิดเข้ามาหากัน แต่พอทดลองทำต้นแบบของจริง เลยเจอว่าการที่แพตเทิร์นด้านหนึ่งยาวกว่าอีกข้าง ทำให้เกิดดีเทลน่าสนใจขึ้น ทำไปทำมากลายเป็นว่าสวย ส่วนโค้งด้านหน้านี้ก็เหมือนกัน ตอนแรกเราคิดว่าอยู่ด้านหลังน่าจะสวย แต่พอลองมาเทียบกับสรีระคนจริงๆ กลายเป็นว่าไว้ด้านหน้าสวยและตอบโจทย์กับฟังก์ชั่นมากกว่า ทุกครั้งที่เราออกแบบและขึ้นตัวอย่างเองจะมีมุมมองใหม่ๆ แบบนี้เกิดขึ้นเสมอ ทำให้มีตัวเลือกที่ดีขึ้น

“เราไม่ได้มองว่าของที่เราออกแบบต้องอิงกับแฟชั่นขนาดนั้น ไม่ใช่ของที่ต้องเปลี่ยนตามเทรนด์ไปเรื่อยๆ แต่มันควรเป็นอะไรที่ใช้ปีนี้แล้วอีกสามปีก็ยังใช้ได้อยู่ เราค่อนข้างลงลึกในเรื่องวัตถุดิบ พยายามคัดสิ่งที่มีคุณภาพ เพราะอยากให้คนใช้งานได้อย่างคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป” 

“หัวใจสำคัญของแบรนด์เราคือประสบการณ์ของลูกค้าที่ได้เอาไปใช้ เราอยากให้เขารู้สึกง่าย รู้สึกสบายใจ ถ้าเขาใช้แล้วรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ก็ถือว่าตอบโจทย์ เพราะเราไม่ได้อยากขายกระเป๋าให้เขา แต่เราอยากขายของที่เขาเอาไปใช้แล้วรู้สึกว่าภาระในชีวิตลดลง สบายใจที่จะเอาไปใช้” ตูนช่วยเสริม 

“กระเป๋าจะซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าอยากได้กระเป๋าที่ทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้นก็ต้องมาที่เรา เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเขา ถ้าอยากหาอะไรที่ทำให้เรื่องยุ่งในชีวิตลดลง เราอยากให้ dash. เป็นแวบแรกที่เขาจะคิดถึง”

 

เพื่อให้ทั้งพนักงานและลูกค้าใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

แล้วไม่กลัวว่าวันหนึ่งปัญหาที่เราหยิบมาเป็นเพนพอยต์จะหมดไปเหรอ–เราถามสิ่งที่คิด 

ส่วนนนทน์ก็ตอบกลับด้วยท่าทีมั่นใจ 

ตอนนี้ของส่วนใหญ่ที่เรามีจะครอบคลุมในส่วนของปัญหาจากการเดินทางซะส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสิ้นสุดแค่ตรงนี้

“ถ้าทุกคนมองกลับไปตั้งแต่เช้าจรดเย็น จะเห็นเลยว่ามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เต็มไปหมด ที่บางครั้งก็เป็นปัญหาที่เรามองว่าเออ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ คุ้นชินไปแล้ว แต่หน้าที่ของเราคือเราจะมานั่งค้นให้เลยว่ามีอะไรบ้างที่เป็นเรื่องจุกจิก ถ้าไม่มีก็คงดี และถ้าเราแก้ได้ด้วยบริการหรือสินค้าบางอย่างได้เราก็จะทำ” 

นั่นเลยเป็นสาเหตุว่าทำไมจากที่ทำสินค้าเครื่องหนังอยู่ดีๆ ตอนนี้ dash. ถึงมีเครื่องเขียนเพิ่มเข้ามาด้วย รวมถึงในอนาคตอันใกล้นี้พวกเขาก็กำลังจะเปิด dash. space หรือพื้นที่ที่ให้คนเข้ามาพักผ่อน หลบหนีจากความวุ่นวาย มีทั้งคาเฟ่ พื้นที่ทำงาน และแกลเลอรีที่เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงผลงาน

“ที่นี่ก็คิดขึ้นมาจากเรื่องความง่ายเหมือนกัน เราอยากให้คนที่มาได้ใช้พื้นที่นี้เป็นสถานที่ที่เขาจะได้พักผ่อน มีความสุขกับบรรยากาศสบายๆ เดินทางมาได้ง่าย มาแล้วจะกินกาแฟ ชมนิทรรศการ นั่งทำงาน หรือถ่ายรูปเล่นก็ได้” ตูนเล่ารายละเอียด

“เราเอาคำว่าง่ายมาเป็นหลักคิดกับทุกๆ อย่างของแบรนด์ คำว่าง่ายขึ้นที่ว่า ไม่ได้หยุดอยู่กับลูกค้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชีวิตประจำวันของคนในทีมก็ต้องง่ายด้วย ขั้นตอนการทำงานภายในอะไรที่วุ่นวาย เกินจำเป็น เราจะพยายามบอกทีมอยู่เสมอว่างั้นไม่ต้องมีก็ได้ เหลือแค่ขั้นตอนที่จำเป็นก็พอ 

“เราอยากให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุขกับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา อยากให้คนได้ยินชื่อ dash. ปุ๊บก็รับรู้เลยว่าเราจะเป็นแบรนด์ที่ทำให้ชีวิตเขาง่ายขึ้น” นนทน์ทิ้งท้าย


dash. 

Website : d-dd.co

Facebook : Dash

Instagram : dashbrand.co

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก