มหาวิทยาลัยที่ดีควรมีบรรยากาศอย่างไร?
ท่ามกลางแดดยามสายที่สาดแรงจนผิวแทบไหม้แต่กลับทำอะไรเราไม่ได้เมื่ออยู่ใต้ใบไม้ที่แผ่ปกคลุมด้านบน ระหว่างเดินผ่านทางเดินที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ครึ้มไปยังตึกสูงแห่งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การสนทนากับ ผศ.ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านกายภาพและการพัสดุงานกายภาพ ช่วยให้เราเข้าใจว่าทางเดินที่มีอุโมงค์ต้นไม้นั่นแหละคือตัวอย่างของสถาบันอุดมศึกษาที่มีบรรยากาศดี
เขาเล่าว่า Green Chula คือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับนิสิตและผู้คนรอบๆ มหาวิทยาลัย
สิบปีก่อน จุฬาฯ ออกแบบ ‘ผังแม่บทจุฬาฯ ร้อยปี’ เพื่อวางรากฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐานอย่างเรื่องการวางผังอาคารให้สอดคล้องกับพื้นที่สีเขียว ตามมาด้วยโครงการออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อชีวิตของผู้คนทั้งในและใกล้ๆ จุฬาฯ เช่น เพิ่ม universal design สำหรับผู้พิการ และค่อยๆ พัฒนาสู่นโยบาย Green Campus อย่างทุกวันนี้ที่อยากสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้โลก และสังคมดีๆ ให้คนรอบจุฬาฯ
CHULA Zero Waste จุดเริ่มต้นขยะเป็น 0
“ครั้งหนึ่งจุฬาฯ เคยประสบปัญหาขยะล้นโดยเฉพาะขยะพลาสติก ดังนั้นเราจึงคิดวิธีที่จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างขยะน้อยลง สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการออกนโยบาย Zero Waste ที่ครอบคลุมทุกปัญหาขยะในจุฬาฯ” อาจารย์วรภัทร์เริ่มเล่าถึงวิธีแก้ไขปัญหาแรก
“หนึ่งในวิธีการรณรงค์คือการงดใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อภายในจุฬาฯ นานๆ ไปมันเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ พฤติกรรมคนก็ค่อยๆ เปลี่ยน ไม่เฉพาะแค่คนในจุฬาฯ แต่พ่อแม่ที่เอาลูกมาเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็เริ่มเห็นและเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกตาม”
นอกจากการลดใช้ถุงพลาสติก พวกเขายังนำงานวิจัยมาใช้แก้ปัญหาขยะอย่างได้ผลจริง เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ หรือศูนย์ PETROMAT ที่ทำวิจัยวิธีการเคลือบแก้วกระดาษด้วยพลาสติกชีวภาพซึ่งสามารถย่อยเป็นปุ๋ยได้ใน 4 เดือน ในขณะที่แก้วกระดาษทั่วไปใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 5 ปี
เพราะอย่างนี้ ใครที่มากินข้าวในโรงอาหารของจุฬาฯ ตั้งแต่เปิดเทอมที่ผ่านมาพบว่ามีการรณรงค์ให้นำแก้วส่วนตัวมาใช้ หรือซื้อแก้วที่ย่อยสลายได้จากร้านค้าต่างๆ ในราคา 2 บาท ซึ่งสามารถลดขยะพลาสติกไปได้ในปริมาณมหาศาล แถมยังเพิ่มความมั่นใจให้นักวิจัยผลิตผลงานใหม่ๆ เพื่อช่วยโลกอีกด้วย
สร้างตึกสูงท่ามกลางร่มไม้สีเขียว
การเป็นมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองทำให้มีพื้นที่ขนาดจำกัด จะขยับขยายเพื่อกิจกรรมใหม่ๆก็ลำบาก คนในชุมชนจุฬาฯ ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน จะทำยังไงให้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำลายพื้นที่สีเขียว?
มหาวิทยาลัยมีคณะกรรมการกำกับแบบหรือ University Planning Committee ที่คอยตรวจสอบว่าถ้าคณะนี้อยากสร้างตึกแบบนี้ จะสร้างได้ไหม กินพื้นที่ส่วนกลางหรือเปล่า มีพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ เป็นการกำหนดกลายๆ ว่าเราอยากจะรักษาสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวกับตึกเอาไว้”
ผลของความพยายามทำให้จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในปี พ.ศ.2557 และอันดับที่ 2 ในปี พ.ศ.2560 โดยการจัดอันดับของมาตรวัดเรื่องพื้นที่สีเขียวและนโยบายความยั่งยืน หรือ UI GreenMetric
“ถึงไม่มีตัวเลขมาอธิบาย ก็จะเห็นต้นไม้ใหญ่เรียงรายและต้นไม้ที่แทรกตัวอยู่ระหว่างตึกต่างๆ ก็น่าจะเพียงพอกับการบอกว่าจุฬาฯ รักษาสิ่งแวดล้อมไว้ดีขนาดไหน” อาจารย์วรภัทร์กล่าว
สุดท้ายการเก็บสิ่งแวดล้อมเอาไว้ก็วนกลับมาที่อากาศสดชื่น ร่มเงาของไม้ใหญ่ และบรรยากาศที่มองไปแล้วสบายตา สำหรับชาวจุฬาฯ
แปลงโฉมตึกเก่าให้ล้ำด้วยเทคโนโลยีสีเขียว
ในขณะที่จุฬาฯ กำลังดำเนินการเรื่องการจัดการตึกใหม่ นโยบาย Green Chula ยังคงรักษาตึกเก่าที่สร้างมาหลายสิบปี ในแบบที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมและเชิงจิตใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและคน
“โดยทั่วไปอายุการใช้งานอาคารจะอยู่ประมาณ 30-40 ปี โครงสร้างหลักยังอยู่ แต่ระบบภายในไม่ดีแล้ว ถึงจุดหนึ่ง ตึกก็ต้องเปลี่ยนแปลงหน้าที่ให้เข้ากับการใช้งานในปัจจุบัน”
นั่นคือคำตอบว่าทำไมชั้นล่างของอาคารเปรมบุรฉัตรที่เคยเป็นห้องเรียนมายาวนาน ถึงถูกปรับโฉมใหม่เป็น PLEARN Space (มาจากคำว่า Play and Learn Space) ภายในเป็นพื้นที่ co-working space มีทั้งอินเทอร์เน็ตแรงๆ แอร์เย็นฉ่ำ ปลั๊กไฟจำนวนมาก มีที่นอนให้บริการ ใครหิวก็มีของกินขาย และส่วนที่ดีที่สุดคือในช่วงสอบเปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมาตอนกี่โมงก็ปลอดภัยเพราะอยู่ในรั้วจุฬาฯ
“ความหมายของความยั่งยืนคือการใช้ทรัพยากรยังไงไม่ให้กระทบกับคนในอนาคต การสร้างตึกใหม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก สำหรับผม นอกจากการพูดว่าการปรับโฉมตึกทำให้ประหยัดพลังงานไปเท่าไหร่ มันยังเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านความเป็นอยู่ เราจะทำยังไงให้คนที่อยู่ที่นี่มีความสุข”
คุณคือหัวใจของ Green Chula
การรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กับการเพิ่มความสุขให้ประชาคมจุฬาฯ และชุมชนโดยรอบ คือหัวใจของ Green Chula โครงการต่างๆ จึงต้องตอบทั้งสองโจทย์ อย่างเช่น รถ Shuttle Bus หรือที่เด็กจุฬาฯ เรียกติดปากว่ารถป๊อบ (รถปอ.พ) นั้น ใช้ระบบไฟฟ้าทุกคันเมื่อเร็วๆ นี้ ทำหน้าที่เชื่อมต่อทั้งภายใน-ภายนอกมหาวิทยาลัย และอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งเป็นพื้นที่ Community Park ให้คนในชุมชนรอบๆ มาออกกำลังกาย มีร้านอาหารเครื่องดื่มให้มานั่งคุยกับเพื่อนหรือรอรับลูกก็ยังได้
และถึงจะมีโครงการมากมายขนาดไหน อาจารย์วรภัทร์ก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่าจุฬาฯ ไม่ได้แข่งกับใคร แต่กำลังแข่งกับตัวเองต่างหาก
“ผมไม่เคยคิดว่าเราแข่งกับคนอื่น ปัจจุบันโลกเรามีข้อมูลเยอะ ทำให้เราได้เห็นว่าเรายืนอยู่ตรงไหน เทียบกับบริบทโดยรอบ คำถามที่เราน่าจะถามตัวเองมากกว่าคือเราจะพัฒนาตรงไหนที่เรายังด้อยอยู่ เราต้องเข้าใจบริบทของเราแล้วนำไปพัฒนา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยก็ได้ สังคมโลกก็ได้”
มหาวิทยาลัยที่ดีควรมีบรรยากาศอย่างไร?
หากดูจากจุฬาฯ เราขอตอบว่ามหาวิทยาลัยที่ดีคือมหาวิทยาลัยที่ใส่ใจโลกและผู้คน
ใครสนใจโครงการต่างๆ ของ Green Chula สามารถติดตามได้ที่ www.green.chula.ac.th