Doi Tung Tree Top Walk : โปรเจกต์ทางเดินต้นไม้ช่างคิดแห่งสวนแม่ฟ้าหลวง

หน้าหนาวต้องขึ้นเหนือ
แต่นอกจากจิบกาแฟอุ่น ชมดอกไม้เมืองหนาว ที่สวนแม่ฟ้าหลวง
แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในดอยตุงเวลานี้มีกิจกรรมแอดเวนเจอร์ใหม่เอี่ยม
นั่นคือ Doi
Tung Tree Top Walk ทางเดินเรือนยอดไม้
กลางป่าในสวนที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
และกำลังฮอตฮิตสุดๆ ด้วยบรรยากาศแวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่
ช่วงหน้าหนาวรับรองว่าฟินอย่าบอกใคร

หลายคนอาจไม่รู้ว่าสวนแม่ฟ้าหลวงเป็นหนึ่งในกิจการท่องเที่ยวของธุรกิจเพื่อสังคมแบรนด์ดอยตุง
ภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคม แก้ไขปัญหาความยากจน
เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนแก่คนทั่วไป
การผุดขึ้นของกิจกรรมแปลกใหม่อย่างทางเดินเรือนยอดไม้ซ่อนไอเดียอะไรไว้และมีหลักคิดอย่างไร
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะแจกแจงให้เราฟังตั้งแต่เริ่มไอเดียจนจบกระบวนการ ส่วนความสนุกของจริงจะเป็นอย่างไร
แนะนำให้ตีตั๋วขึ้นเชียงรายไปลองโดยพลัน

01
ใต้ร่มไม้ดอยตุง

“กิจกรรมต่างๆ ที่เราอยากทำขึ้นมาต้องสอดคล้องกับความเป็นตัวตนหรือ DNA
ของดอยตุง ดอยตุงคือ ป่า คือธรรมชาติ คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการพาคนผ่านกระบวนการในการเรียนรู้
เราเลยคิดว่ากิจกรรมที่จะทำควรเป็นกิจกรรมที่ผสมผสานจุดยืนเหล่านี้ และควรเป็นกิจกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับตลาด มองไปมองมากิจกรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติก็มีมาเยอะ
เราน่าจะจัดกิจกรรมการเดินป่าแบบ Tree Top Walk ได้
เน้นสร้างความรู้ให้คนเข้าใจความสำคัญของป่า ความผูกพันระหว่างป่ากับชีวิตประจำวันของคน
จึงเกิดเป็นแนวคิดกิจกรรมขึ้นมา แล้วบังเอิญเรารู้จักบริษัท Tree Top
Adventure ซึ่งทำทางเดินต้นไม้อยู่แล้ว
ก็เลยเริ่มคุยกันถึงคอนเซปต์ไอเดีย”

02
ส่องทำเลทอง

“เราเริ่มวางแผนว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ไปลองเดินป่าดูหลายพื้นที่
ที่ดอยตุงมีโซนหนึ่งที่อยากให้คนเข้าไปแต่ไม่ค่อยมีใครเข้า มันเป็นโซนป่าร่มรื่นที่อยู่ในสวนแม่ฟ้าหลวง
สำหรับผมมันเป็นพื้นที่ที่สวยมาก เมื่อเดินเข้าไปจะได้สัมผัสถึงสภาพป่าดั้งเดิมของดอยตุง
ได้เห็นว่าเมื่อก่อนป่าในภาคเหนือของประเทศไทยมีลักษณะแบบนี้เรามองว่าถ้าวางกิจกรรมตรงนี้
นอกจากจะช่วยผัน traffic คนส่วนหนึ่งให้เข้าไปแล้ว ที่สำคัญยังเป็นจุดที่สร้างความรู้ให้คนได้”

“เริ่มต้นด้วยการสำรวจว่าตรงนั้นมีต้นไม้ใหญ่ไหม
เมื่อไปเดินมาก็พบว่ามีหลายต้น จึงเริ่มหาต้นไม้ใหญ่ที่สร้างเส้นทางเดินได้ บริษัท
Tree
Top Adventure ดูแลเชิงเทคนิคว่าการเลือกต้นไม้ควรเป็นต้นไหน เทคนิคในการจัดการ
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ การดูแลรักษา ความปลอดภัย ส่วนเราดูแลเรื่องกระบวนการองค์ความรู้ว่าต้องการบอกอะไรคนระหว่างเดิน
ผสมผสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน”

03
ให้ธรรมชาติเป็นพระเอก

“ต้นไม้ในพื้นที่จัดสร้างทางเดินเรือนยอดไม้อยู่ในป่าเดิมทั้งหมด
เพราะผมไม่เชื่อเรื่องการจัดฉาก
ถ้าเอาต้นไม้ใหญ่มาลงใหม่มันก็เป็นป่าปรุงแต่งที่เราไม่ต้องการ
ต้นไม้ในพื้นที่ตรงนี้มีอายุเป็นร้อยปีแล้ว เพราะพื้นที่สวนแม่ฟ้าหลวงคือพื้นที่หมู่บ้านอาข่าป่ากล้วยเก่า รอบหมู่บ้านเป็นป่าอยู่แล้ว
Tree
Top Adventure มีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบต้นไม้
เราก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักพฤกษศาสตร์มายืนยันอีกทีว่าต้นไม้แต่ละต้นสุขภาพแข็งแรง
เป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่หักง่ายหรือกิ่งเปราะ
เพราะสิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุดคือเรื่องความปลอดภัย ตอนทดสอบก็ต้องเอาคนของเราไปเดินด้วย
เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสี่ยง”

“พอได้ต้นที่เลือกแล้ว
พนักงาน Tree
Top Adventure ต้องเอาเชือกผูกลูกตุ้ม
โยนพาดไปตามง่ามไม้แล้วปีนขึ้นไปถ่ายวิวแต่ละจุดตรงนั้น
ให้เห็นว่ามุมมองข้างบนเป็นยังไงแล้วเอามาเสนอ ทำแบบนี้ทุกต้น”

04 ก่อร่างสร้างทาง

“การคิดคำนวณระยะทาง
เรามองจากหลายๆ ปัจจัยคือมันต้องคุ้มค่าเงินสำหรับคนใช้บริการ ระยะทางและค่าเข้าต้องสอดคล้องกัน
ความรู้ที่ได้ก็ต้องสอดคล้องกันด้วย อีกอย่างที่สำคัญคือศักยภาพต้นไม้ การกำหนดความสูงก็เอาศักยภาพต้นไม้เป็นหลัก
ต้นไม้จุดแรกที่ขึ้นจะเป็นตัวกำหนดความสูงว่ามันจะสูงขนาดไหน เพราะระดับทางเดินควรเท่าๆ
กัน ไม่ควรต่างกันเยอะ จุดเริ่มอยู่บนเขา เพราะฉะนั้นจุดที่หนึ่งจะไม่ค่อยสูงมาก ประมาณ
10 เมตร จากนั้นเมื่อเดินไปก็จะค่อยๆ อยู่สูงขึ้นเพราะเราเดินลงเขา จุดที่สะพานสูงจากพื้นมากที่สุดคือ
ประมาณ 30 เมตร”

“ในแง่โครงสร้าง
เราใช้สลิงหมด ไม่มีการสร้างเสาเพิ่มหรือเสริมอะไรเลย ใช้ธรรมชาติทั้งหมด
ตัวสลิงจะล้อมต้นไม้และติดตั้งสลิง 2 เส้นเป็นเส้นทางเดิน 2 ฝั่ง วิธีขึงสลิงคือใช้เชือกเส้นเล็กและเอ็นตกปลาเล็กๆ
ผูกกับโดรน บิมข้ามแล้วปล่อยเชือกลงมา แล้วค่อยดึงสลิงขึ้นไป ใช้แรงคนล้วนๆ”

“ส่วนตัวสะพานสร้างด้วยไม้เต็งแดงซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง
ไม้ชนิดนี้หาได้ในเชียงราย เราจะไม่ใช้ไม้ข้างนอกเพราะถ้าต้องซ่อมจะหาไม่ได้ ในบางช่วงที่สะพานยาวมาก
เราจะใช้ไม้ชิ้นเล็กลงเพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนักเกิน สะพานมีตั้งแต่ระยะกว้างไปจนถึงแคบประมาณ
1 ฟุตนิดๆ มีการวางไม้ทั้งแนวขวางและแนวยาว ตอนเอาไม้ประกอบสลิง เจ้าหน้าที่ต้องโรยตัวอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เช้ายันเย็น
ทรหดอยู่ เพราะต้นไม้ก็มีแมลงด้วย”

05
ปลอดภัยไว้ก่อน

“การดูแลเรื่องความปลอดภัยจะมี
2 ชั้น ชั้นแรกคือเราลงทุนทำตาข่ายด้านข้างทางเดินทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีช่องลอดตกลงไป
เจ้าหน้าที่จะขึ้นไปถักเชือกเพื่อผูกตาข่ายบนนั้นเลย แต่ถ้าใครเผลอโน้มเอียงตัวแล้วหล่น
เราก็ยังมีเข็มขัดเซฟตี้เกี่ยวตัวไว้ อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใช้ทั้งหมดนำเข้าจากฝรั่งเศส
มีความคงทนมาก

นอกจากนี้เรายังมีเจ้าหน้าที่จาก
Tree
Top Adventure ที่เชี่ยวชาญในการเอาคนลงจากทางเดิน
มีเส้นทางออกฉุกเฉินสำหรับคนเจ็บ มีการซักซ้อมเอารถพยาบาลเข้า
เรียกว่าโครงสร้างและการจัดการทั้งหมดเราต้องนั่งไล่ดูหมดเลย”

06
อดทนเวลาที่ฝนพรำ

“ความท้าทายในการทำงานคือสภาพอากาศ
ฝน ลม ทำให้การก่อสร้างเป็นไปได้ช้ากว่าปกติ พอทำจะเสร็จก็เจอพายุตอนแรกนึกในใจว่าแย่แล้วแต่สะพานกลับเอาอยู่ ทำให้เห็นถึงความแข็งแรงของสะพาน
สภาพอากาศของดอยตุงนี่ท้าทายที่สุดแล้ว ชื้นจัด ฝนตก เราเริ่มต้นไอเดียตั้งแต่เดือนมิถุนายน
ปี 2558 เริ่มสำรวจและศึกษาพื้นที่ เดือนพฤศจิกายน จนช่วงที่ทำได้จริงๆ คือช่วงหน้าแล้งตอนเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
ปี 2559 พอเข้าหน้าฝนก็ต้องชะลองาน เนื่องจากเป็นงานละเมียด ความปลอดภัยสูง ต้องค่อยๆ
ทำไป”

07
จัดสรรความรู้รายทาง

“กระบวนการเรียนรู้ที่เราออกแบบในเส้นทางจะมี
3 ช่วง ช่วงแรกคือการไปดูป่าดั้งเดิมของดอยตุงว่าเป็นอย่างไร ป่าตรงนี้จะมีความชุ่มชื้นและร่มรื่น
ต่อจากนั้นก็จะเป็นช่วงทางเดินยาวยิงตรง
ในช่วงนี้เราต้องการให้ได้ความรู้เรื่องป่าเศรษฐกิจ
ใต้สะพานฝั่งซ้ายจะมีแปลงกาแฟใต้ป่า ส่วนฝั่งขวาจะเป็นแปลงกาแฟพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านจริงๆ
เราใช้ความรู้ที่ได้มาปรับแปลงกาแฟให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีการลงต้นกาแฟใหม่เพื่อใน
2 – 3 ปีข้างหน้ามันจะโตขึ้น ชาวบ้านก็จะเข้ามาเก็บผลผลิต
คนเดินผ่านจะได้เห็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่า”

“โซนที่สามเป็นเรื่องการอนุรักษ์
คนเดินจะได้เห็นฝาย เห็นถึงสภาพการดูแลรักษา เห็นว่าการสร้างฝายเพิ่มความชุ่มชื่นให้ป่านี่เป็นอย่างไร
ในพื้นที่ดอยตุงมีฝายเป็นพันตัว สามารถช่วยอุ้มน้ำ ชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงเร็วเกินไป
พืชต่างๆ ก็เติบโตได้ นี่คือองค์ความรู้ที่จะปลูกฝังให้แก่คนที่เข้าไป และเมื่อเดินถึงตอนจบก็จะเห็นหญ้าแฝกอยู่ที่เนินดินที่มีความชัน
หญ้าแฝกมีรากยาวมาก ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดิน นี่ก็เป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 9
ทรงริเริ่มมานานมากแล้ว”

“กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเดินรอบละประมาณ
30 นาที มีเจ้าหน้าที่ของเราเป็นไกด์นำทาง คอยเล่าและอธิบายเรื่องต่างๆ ด้วยโครงสร้างเส้นทาง
เวลาเดินต้องบาลานซ์ร่างกาย เดินนานไปก็ปวดขา ระยะเวลาของกิจกรรมตรงนี้น่าจะกำลังพอดี
ได้เหงื่อ ส่วนความสนุกในการเดินอยู่ที่ระยะของเส้นทาง ไฮไลต์คือสะพานยาว พอระยะทางยาวมาก
ความแกว่งของสะพานก็มีมากขึ้น คนต้องออกกำลังเยอะ ยิ่งเดินหลายคนสะพานก็ยิ่งเขย่า เป็นเรื่องปกติ
บางคนเดินก็จะหวาดเสียว”

08
รับมือกับมวลชน

“1
สิงหาคม 2559 เป็นวันเปิดให้บริการวันแรก คนมากันมืดฟ้ามัวดิน
ครึ่งเดือนแรกก็คนล้นทุกวัน ตอนแรกเราคิดว่าจะมีคนมาใช้บริการวันละ 200 คน แต่เอาเข้าจริงคนมาเยอะมาก
บางคนเดินทางมาไกลมาก พอเราบริการเขาต่อไม่ได้ก็รู้สึกไม่ดี
สิ่งที่ทำคือเรียกประชุมด่วนว่าจะพัฒนากระบวนการจัดการพาคนเดินอย่างไรได้บ้าง
ต้องรักษาความปลอดภัย เวลา และคุณภาพในการเดินด้วย
นั่งไล่กันแล้วก็สรุปว่าเราต้องมีพนักงานเพิ่ม มีอุปกรณ์เพิ่ม เราก็ลงทุนเลย เราไม่ประนีประนอมเรื่องคุณภาพ
ไม่ประนีประนอมเรื่องเวลา ทุกคนจะได้เดินในเวลาเท่าเดิม”

“ในส่วนการเพิ่มพนักงาน
เราพบว่าหลังจากฝึกพนักงานของเราให้เป็นไกด์เดินแล้ว บางคนพูดเก่งมาก แข็งแรง
เดินเล่าได้ทั้งวัน ผมเห็นแล้วว่านี่เป็นความภูมิใจของเขา เพราะนี่คือบ้านของเขา
เราเลยให้ความสำคัญว่าพนักงานที่จะมาเดินต้องเป็นพนักงานในสวนแม่ฟ้าหลวง เป็นกลุ่มคนพื้นที่ที่อยู่มานาน
พูดจาฉะฉาน มีทักษะสื่อสารที่ดี พอเราเพิ่มจำนวนคนให้เพียงพอแล้ว ก็ปรับให้พนักงานบริษัท
Tree
Top Adventure ซึ่งเดิมเป็นไกด์ด้วยกลายเป็นคนดูแลความปลอดภัยอย่างเดียว
เราพยายามสร้างศักยภาพในตัวคนของเราเอง ตอนนี้ Doi Tung Tree Top Walk พร้อมสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว สามารถรองรับคนได้
600 คนต่อวัน และคนของเราก็ทำงานเต็มประสิทธิภาพ เต็มศักยภาพ ที่สำคัญเขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง”

09
ผลตอบรับที่น่าชื่นใจ

“ภาพรวมผลตอบรับค่อนข้างน่าพอใจ
เรามีการประชุมคุยกันเรื่องการจัดการเยอะถึงเยอะมาก พยายามแก้ปัญหาต่างๆ
ที่จะเกิดขึ้น เสียงสะท้อนแง่ลบมีน้อย เสียงส่วนใหญ่ที่ตอบสนองกลับมาคือสนุก ใหม่
ได้สาระ เราได้ยินเรื่องคู่แฟนที่ขึ้นรถทัวร์จากกรุงเทพฯ วันศุกร์กลางคืนเพื่อมาถึงเชียงรายเสาร์เช้า
และจับรถขึ้นมาดอยตุงเสาร์บ่าย ขึ้นทางเดินเรือนยอดไม้ แล้วเย็นวันนั้นนั่งรถทัวร์กลับเลยเพราะวันจันทร์ไปทำงาน
วันนั้นที่จริงมันเต็มแล้ว แต่เราบอกว่าต้องได้เล่น จัดให้เลย คนสูงอายุมาเล่นเยอะมาก
คนจากกรุงเทพฯ ที่วางแผนขึ้นเชียงรายสุดสัปดาห์วันแม่เพื่อมาเล่นก็มี
คนจังหวัดเชียงรายก็มาดูกันเยอะว่าเป็นยังไง เขาจะได้พาญาติพี่น้องมาเที่ยวช่วงปีใหม่”

10
เส้นทางใหม่ของดอยตุง

“กระบวนการเดินนี้ไม่ใช่ทริปดูงาน
ทุกคนเดินพร้อมกล้องและความตื่นเต้น ความสนุกสนาน ความรู้ก็จะได้ติดไปบ้าง การทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
นั้นเราทำบนพื้นฐานขององค์ความรู้ นอกจากอยากให้คนมาแล้วสนุก ก็อยากให้ได้ความรู้ติดตัวกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย”

“สมเด็จย่าท่านทรงงานเพื่อให้คนเห็นเป็นตัวอย่าง
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นโครงการที่ท่านทรงริเริ่มขึ้นมา
เพราะฉะนั้นหลายอย่างที่เราทำคือปรัชญา คือศาสตร์ คือการหลักการดำเนินพระชนม์ของท่าน
เราอยากบอกต่อสิ่งนี้แก่คนรุ่นหลังที่อาจไม่ได้สัมผัสกับพระองค์ท่าน
อยากให้มาที่นี่แล้วได้สัมผัสหลักการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีคุณค่า
สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม นี่คือกิจกรรมที่เราอยากทำ
ในอนาคตการทำงานของเราต้องเป็นลักษณะนี้มากขึ้น เพราะเราอยู่ในโลกใหม่
เจอคนกลุ่มใหม่ที่อาจไม่ได้อินจากการดูการฟัง
เราก็สอดแทรกกระบวนการเหล่านี้ในกิจกรรมที่เขาทำให้ซึมซับเข้าไปเอง Doi Tung Tree
Top Walk จึงเป็นก้าวแรกที่ดีมากสำหรับเรา เราได้ทำสิ่งใหม่ๆ
ที่ตอบโจทย์คนโลกปัจจุบัน แต่ก็แฝงองค์ความรู้ต่างๆ ไว้ได้”

ภาพ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์

AUTHOR