ก้อย อรัชพร บทบาทใน บางกอกคณิกา สู่คำตอบ ‘โสเภณีกับศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกัน’

‘กะหรี่ โสเภณี ผู้ค้าบริการทางเพศ Sex Worker’

แม้จะเป็นอาชีพที่เคยถูกต้องตามกฎหมายในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ทุกคำที่กล่าวมาคงสร้างความกระอักกระอ่วนในสายตาของสังคม เพราะแม้จะก่อให้เกิดเป็นธุรกิจค้าประเวณีที่รุ่งเรืองของยุค แต่การทำงานให้บริการแลกเงินด้วย ‘ร่างกาย’ โดยเฉพาะ ‘เพศหญิง’ ดันผิดหลักคำสอนค่านิยมส่วนใหญ่ที่ควรจะรักนวลสงวนตัว ขัดต่อหลักศีลธรรมไทยเมืองพุทธ สุดท้ายก็ต้องหลุดออกจากกรอบของสังคม

เป็นกะหรี่ หญิงชั่วก็แล้ว ยังถูกปฏิบัติเยี่ยงทาส เปิดทางให้ผู้ซื้อที่บ้ากามเกินจำเป็นเข้ามากระทำย่ำยีทั้งร่างกายและจิตใจได้ตามอำเภอใจ โดยที่พวกเธอไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งเลือกแขกด้วยตัวเอง

“ข้าจะทำในสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้เจ้าค่ะ” 

คำพูดในตัวอย่าง ‘บางกอกคณิกา’  ซีรีส์จากโปรเจกต์ oneD ORIGINAL ของซ่อง one 31 (ที่ทางช่องถึงกับเล่นคำเพื่อการนี้) คงเป็นมวลสารสำคัญของเรื่องที่จะเล่าผ่าน 3 เพื่อนหญิงโสเภณี ที่มีความฝันจะเป็นอิสระจากหอบุปผชาติ ได้แก่ กุหลาบ (รับบทโดย อิงฟ้า วราหะ) โบตั๋น (รับบทโดย ก้อย-อรัชพร โภคินภากร) และเทียนหยด (รับบทโดย ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา) กับการลุกขึ้นสู้เพื่อนกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นคนและการกำหนดชีวิตของตนเอง 

ซึ่งเราก็หวังว่าเนื้อหาที่ว่านี้น่าจะเป็นอีกแรงกระเพื่อมให้เกิดการแก้ฎหมายไทยที่ระบุใช้กันตั้งแต่ปี 2539 ว่า ‘โสเภณีมีโทษทางอาญา’ 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ก้อย อรัชพร ซึ่งครั้งนี้ได้สลัดภาพจำจากบทบาทนักเรียนมัธยมปลายมารับบท ‘โบตั๋น’ โสเภณีที่สู้ทุกหนทางเพื่อแลกมากับความฝันของการได้เป็นผู้หญิงธรรมดาที่ได้อยู่กับคนรักสักคน 

บทสนทนาแรกเริ่มก้อยเล่าถึงการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อ ร้อง เต้น โชว์ ภายใต้เซ็ตอัปเอาต์ดอร์ที่ต้องฝ่าฟันทุกสภาพอากาศ แต่ก้อยบอกด้วยรอยยิ้มว่า “เป็นการมากองที่เหนื่อยมาก แต่สนุกสะใจจนอยากตื่นมาลุยงานในทุกๆ วัน”

แม้พูดปนขำว่าที่เล่นเป็นกะหรี่เพราะคงไม่มีโอกาสจะได้รับบทนี้บ่อยๆ แต่น้ำหนักสำคัญของเหตุผลที่รับก็เพราะ ประเด็นโสเภณีไม่เคยถูกพูดถึงอย่างจริงจังบนโลกละคร นี่จึงถือเป็นครั้งแรกในวงการซีรีส์ไทยเลยก็ว่าได้

“โสเภณีกับเรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องที่ต้องแยกเพราะมันคนละประเด็นกัน” เป็นคำตอบที่ฉะฉาน ชัดเจนด้วยน้ำเสียงจริงจัง ชวนกระตุ้นต่อมให้เราอยากรู้ต่อแล้วว่า การสวมตัวละครโบตั๋นให้มุมมองอะไรกับนักแสดงช่างวิเคราะห์คนนี้บ้าง 

ได้ร่วมงานกับคุณอ้อม คุณนก คุณอิงฟ้า คุณชาร์เลทเป็นครั้งแรกรู้สึกยังไงบ้าง 

ถ้าในพาร์ตการแสดงก็เป็นครั้งแรกเลย เราโตมากับการดูละครของพี่อ้อม (พิยดา จุฑารัตนกุล รับบทเป็น ราตรี แม่เล้าผู้คุมชะตาสามสาวคณิกาแห่งหอบุปผชาติ) และพี่นก (ฉัตรชัย เปล่งพานิช รับบทเป็น พระยาจรัล ผู้มีอำนาจในเมือง และเป็นแขกประจำในหอบุปผชาติ) เห็นพี่เขามาเยอะ แต่พอมาเห็นพี่เขาเล่นจริง รู้เลยว่าทำไมเส้นทางการเป็นนักแสดงของเขาถึงได้ยาวนานขนาดนี้ เพราะพอนับ 5 4 3 2 Action  ทุกคนเป็นตัวละครนั้นๆ ได้ดีมาก ก้อยรู้สึกได้รับเกียรติที่เราได้มาอยู่ตรงนั้น ได้เป็นนักแสดงอีกคนนึงที่ได้มาร่วมงานกับพี่เขา 

ส่วนอิงฟ้าที่เคยเจอแล้ว และชาร์เลทเป็นเจนฯ ใหม่ที่มีความปังมาก อิงฟ้าบอกไม่เคยเล่นซีรีส์เต็มเรื่องมาก่อน แต่ฟ้าแชลเลนจ์มาก ก้อยรู้สึกว่าก้อยผ่านอาชีพนี้มาสักพักแล้วและก็เป็นคนเซนส์ซิทีฟ ด้วยความที่เราต้องเล่นเป็นเพื่อนรักกัน เราเลยรู้สึกซิงค์กับบทนี้ได้ไม่ยากเลย 

ขณะเดียวกันชาร์เลท เราชื่นชอบและเห็นผลงานน้องมาตั้งแต่เด็กๆ น้องเป็นคนที่เล่นเป็นตัวละครนั้นได้เลย คือเห็นเลยว่าน้องโตมากับกองถ่ายจริงๆ คือก้อยต้องทำสมาธิยิ่งซีนดรามาต้องมีสมาธิ แต่กับชาร์เลทพอสั่ง 5 4 3 2 1 สายตาน้องข้าตัวละครเลย เวอร์เกิน เก่งเกินแม่ ก้อยเลยชอบทำงานกับคนมีความสามารถ” 

สัมผัสได้เลยว่าก้อยสนุกกับการทำงานทุกคนในทีมมาก เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากกองถ่ายนี้ไหม

“ก้อยรู้สึกว่า Generation Gap มันไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานเลย ก้อยอยากมากองเพราะรับรู้ว่า ทุกๆ คนรักในอาชีพของตัวเองไม่ใช่แค่นักแสดง แต่ในทุกๆ พาร์ต แล้วไม่ว่าคุณจะเป็นเจนฯ ไหน คุณรู้ว่าคุณแค่ต้องการทำงานให้ออกมาดี มันเลยรู้สึกว่าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน และสามารถเปิดใจคุยกันได้ เช่น ช่วงแรกที่มิติของบทอาจจะยังไม่กลมมาก เราทำการบ้านตัวละครของเรามา บางซีนเราก็พูดบิดไปนิดหนึ่ง เพราะรู้สึกเป็นตัวละครมากกว่า ทุกคนเปิดรับ เลยรู้สึกว่าเป็นกองที่ Sharing ได้ไม่มีปัญหาอะไรเพราะเราต่างก็เชื่อในสิ่งเดียวกัน และทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ตากล้อง ทีมเสื้อผ้าหรือผู้กำกับ ทุกคนทำงานในพาร์ตของตัวเองด้วยแพชชันมากๆ กองนี้ก็เลยมันมาก”

เล่าคาแรกเตอร์ของก้อยให้เราฟังหน่อย 

“ในกลุ่มเพื่อนทั้ง 3 คน มี กุหลาบ โบตั๋น เทียนหยด ซึ่งจะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป เทียนหยดจะไปทางปัญญา กุหลาบจะเป็นสายกล้าหาญ ก้อยรับบทเป็นโบตั๋น เป็นตัวละครสายบู๊ที่ใช้สัญชาตญาณนำ เจออะไรก็มาดิ สู้หมดแต่ถ้าถามในเชิงเส้นเรื่องตัวละครทั้ง 3 คน มีความฝัน ความฝันของโบตั๋นมัน Simple มาก คืออยากมีความรัก มีลูก มีครอบครัว แต่มันเป็นเรื่องยากมากกับการที่เรามีอาชีพเป็นโสเภณี อาชีพนี้ในยุค ร.5 เป็นเหมือนชนชั้นที่อยู่ล่างสุด การที่เราจะมีใครสักคนที่รักเราจริงแล้วเราก็รักเขาจริงมันยาก แล้วสมมติเจอคนที่รัก สังคมที่ล้อมรอบ จะยอมรับในความรักของเราได้ไหม สิ่งที่โบตั๋นทำก็คือ การสู้เพื่อความฝันของตัวเองที่จะมีสิ่งนี้ แล้วก็สู้ไปพร้อมกับเพื่อนๆ เพื่อศักดิ์ศรีของผู้หญิง”

ก้อยมีวิธีทำการบ้านกับบทโบตั๋นยังไงบ้าง 

“ปกติเวลาก้อยทำการบ้านตัวละคร ก้อยจะ Map ไปก่อนว่า อะไรปูมาทำให้เขากลายเป็นเขาในทุกวันนี้ จะพยายามหาสิ่งที่เรียกว่า Child Need หรือความต้องการวัยเด็ก อะไรที่มึงต้องการ มึงโตมาแบบไหนวะ มันสำคัญนะ แล้วก็จะมีเรื่อง Physical ที่พยายามเปรียบเทียบกับสัตว์ ก้อยมองว่าโบตั๋นเหมือนหมาขี้เรื้อน หมาข้างถนน คือหมามันต้องการความรัก ต้องการเจ้าของ แต่เพราะมันอยู่ข้างนอกแล้วไม่ได้รับความรัก เวลาโดนโจมตีก็เหมือนคนที่พร้อมจะกัด อย่างที่บอกว่าสัญชาตญาณจะสูงมาก เราก็เลยมองว่ามันน่าจะเป็นคาแรกเตอร์แบบนี้

แล้วก็มีเวิร์กช็อปเรื่องความสัมพันธ์กับบทของอิงฟ้าและชาร์เลท โบตั๋น กุหลาบ เทียนหยดโตมายังไง เราผ่านอะไรมากันมาบ้างถึงได้กลายมาเป็นเพื่อนที่รักกันขนาดนี้ อีกอันที่รู้สึกว่าเวิร์กมากคือความฝันของโบตั๋น เราสู้เพื่อคนรัก ก็ต้องมาดูกันว่าเราจะรักผู้ชายคนนี้มากขนาดไหน เราสู้เพื่อเขาได้ขนาดไหน ก้อยว่าน่าจะเป็น 4 ส่วนประกอบที่เราเวิร์กกันบ่อยๆ” 

ในเรื่องต้องเล่นเป็นโสเภณี ทำความเข้าใจกับบทบาทนี้ยังไง

“ก้อยได้ลงพื้นที่ไปเดินแยกคปอ. และวงเวียน 22 ซึ่งจริงๆ เราอยากไปซึมซับบรรยากาศเพื่อให้เห็นภาพการที่เราจะเข้าไปอยู่ในไวบ์นั้น ด้วยเอเนอร์จีนั้นจริงๆ ก้อยก็ใส่หมวกใส่แมสไป สิ่งนึงที่เรารู้สึกแตกต่างคือ ปกติเวลาเห็นโสเภณีก้อยจะรู้สึกว่าทุกคนต้องดูยุ่งมากๆ แต่พอไปยืนอยู่ตรงนั้นจริงๆ มันไม่ใช่เลยว่ะ ทุกคนแค่ทำหน้าที่ของเขา มันก็เป็นแค่อาชีพหนึ่งเหมือนเราขายของ ก็เท่าเทียมกับอาชีพอื่นที่ได้เงินมาแค่นั้นเลย 

บวกกับแต่ละที่ก็จะมีทัศนคติที่ต่างกัน อย่างแยกคปอ. มันจะมีความคึกคัก มีความเป็นฝรั่ง มันก็จะเอเนอร์จี ‘Hey You!’ เป็นไทป์คาแรกเตอร์หนึ่ง แต่สมมติว่าถ้าไปแถวสวนหลวง แล้วไปเจอคนที่มีอายุหน่อยเขาจะมีความระทมมาก หรือขับรถผ่านเห็นเขานั่งตามต้นไม้หรือในที่มืดๆ เขาจะไม่มีทางมา ‘ไฮ’ อะไรขนาดนั้น เพราะเขาไม่ได้มีทางเลือกมาก บางทีก็ต้องนั่งคนเดียวเงียบๆ เพื่อรอให้รถขับผ่านมาคุยกับเขา มันก็จะเป็นความรู้สึกแบบ วันนี้เราจะมีแขกไหมนะ 

ก้อยก็ต้องดูว่า Based Character ของก้อยมันไปในเส้นทางไหน แล้วเราก็แค่ดึงมา เหมือนกับการพยายามลองหาเฉด หาเอเนอร์จีและวิธีการเข้าสังคมของตัวละคร ซึ่งสำหรับก้อย โบตั๋นคือดอกไม้งามของหอบุปผชาติ เขารู้ว่าเขามีดีอะไร เขาไม่ชอบอะไรแต่เขา Cover มาละว่าโอเค มึงมองกูก็มองไปสิ เอาจริงๆ โบตั๋นไม่ได้อยากทำอาชีพนี้เป็นพื้นฐานหรอก แต่เพราะอยู่กับมันมาจนรู้สึกว่าต้องทำอาชีพนี้ให้มันได้ดีและได้เงินมากที่สุดเพราะกูมีความรัก กูจะไปเปย์ผู้ชาย มันก็จะมีความกูไม่ต้องสนใจอะไรมาก”

แสดงว่าบทโบตั๋นต้องให้มุมมองใหม่ๆ กับก้อยด้วยแน่ๆ 

“ใช่ หลักๆ เลยคนเรามันก็ไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากมาย มันทำให้เราเห็นว่าชอยส์คือสิ่งสำคัญ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในชนชั้นไหนและเป็นคนแบบไหน ยิ่งในสมัยนั้นโสเภณีคือชนชั้นล่างสุดเลย ทุกคนจะตีตรากันว่าชีวิตมึง มึงทำได้แค่นี้ แต่ในซีรีส์เรื่องนี้จะทำให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะมองกูยังไง กูก็จะเป็นสิ่งนั้นเพราะกูเลือกได้ 

แม้ว่าก้อยจะมีทัศนคติแบบนั้นประมาณหนึ่ง แต่ในโลกของเรามันไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้นหรอก เผลอๆ ที่โบตั๋น Struggle มันอาจทำให้สิ่งนั้นแข็งแรงมากขึ้นไปอีก และในแง่ของความรัก โบตั๋นจะมีความ ‘ฉันรักเธอ ฉันอยากมีครอบครัวมีลูก’ ทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆ ความฝันบางคนก็อาจไม่ได้ดูยิ่งใหญ่ในสายตาคนอื่น แต่มันเติมเต็มในความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง”

ความฝันของโบตั๋นดูเรียบง่ายมาก แต่กว่าจะไต่ไปได้นี่ไม่ง่ายเลยนะ ประโยคที่ว่า ‘เป็นผู้หญิงนี่ยากจัง’ ดูจะรีเลตกับผู้หญิงทุกยุคเลย สำหรับก้อยแล้วรู้สึกยังไง 

“มันรีเลตมาตลอด ทุกเพศมันมีความ Struggle ในรูปแบบของตัวเอง แต่ถ้าพูดในเชิงเพศตัวเองก็ต้องยอมรับว่า เอาแค่เราเกิดมา เรี่ยวแรงก็น้อยกว่าคนอื่น เราเป็นประจำเดือน ยังต้องท้องอีก แค่ทางร่างกายก็ไม่เท่าเทียมบางอย่างแล้ว ในเชิงทัศนคติที่มีต่อเพศสภาพ สมัยนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันดีขึ้น แต่เมื่อก่อน มันจะมีตอนอ่านบท ชาร์เลทก็พูด เป็นผู้หญิงต้องเจอหนักขนาดนี้เลยหรอ ซึ่งพอเราเข้าไปอยู่ในเซ็ตอัป เราก็รู้สึกแล้วว่า ‘เชี่ย เพศมันโดนกดทับหนักมากๆ มันถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ ถูกมองว่ามึงไม่ฉลาด ผู้หญิงทำได้แค่นี้’ ยอมรับว่ามันมีคนที่มองแบบนั้น แต่ถ้าถามว่าเรามีทัศนคติยังไง เราไม่เชื่อในสิ่งนั้น นี่ไม่ใช่หนทางที่ก้อยจะคิดแบบนั้นแน่นอน เราเชื่อว่าเราเท่าเทียม”

งั้นแสดงว่าการมารับบทโบตั๋น ก้อยก็มีเรื่องที่อยากจะสื่อสารออกไปด้วยใช่ไหม

ก้อยว่าในตัวโบตั๋นเอง มันคือการที่คุณไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา ต้องยอมรับว่าในบทบาทนี้ ตามคอนเซปต์คนดูรู้อยู่แล้วว่ามนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเราเลือกเป็นได้ แต่พอมันถูกประกอบกับอาชีพโสเภณีซึ่งในปัจจุบันก็มี มันเคยมีข่าวออกที่ว่า ประเทศเราไม่มีโสเภณีนะ ก้อยรู้สึกว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่การพูดถึงแค่ในยุค ร.5 และเรื่องความเท่าเทียมเท่านั้น แต่ยังตีแผ่ไปยังสังคมปัจจุบันด้วยว่า อาชีพนี้เขาทำเงินให้ประเทศเราเยอะมากนะ เขาเสียภาษีตั้งเท่าไหร่ อาชีพนี้ทำอะไรได้บ้าง มันมีวิธียังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้บ้าง 

ตอนนี้มันมีความหลับหูหลับตาในหลายๆ อย่างอยู่ ทำเป็นไม่เห็น ไม่รู้ แบบเมืองพุทธ เมืองศีลธรรม การดูเรื่องนี้มันเหมือนให้เราลองตั้งคำถามดูละกันว่า เอ๊ะ อะไรที่มันเกิดขึ้น แก้ไขยังไง สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีจริงหรือไม่มีจริง และอาจจะต้องตอบให้ได้ก่อนด้วยว่า มีจริงหรือไม่มีจริง  ตอบข้อนี้ได้แล้วค่อยแก้ต่อไป” 

แล้วสำหรับก้อยมองอาชีพโสเภณี หรือ Sex Worker ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

“ขอพูดในมุมมองของก้อยแล้วกัน ถ้าพูดในฐานะตัวละคร มันจะมีซีนนึงที่โบตั๋นโดนยกขึ้นแล้วก็มีผู้ชาย 5-6 คนเข้ามารุม ตอนเห็นซีนเราก็รู้สึกประมาณหนึ่ง แต่พอคนมายกเราขึ้นจริงๆ แล้วเราไม่มีทางสู้อะ มันเป็นความรู้สึกที่โหดมากเลยนะ (ถอนหายใจ)

 มันเป็นความ Trauma บางอย่างที่ถ้าคนไม่ได้อยากประกอบอาชีพนี้แล้วเขาต้องมาสู้กับภาวะนี้ กับความเจ็บปวดนี้เพื่อแลกมาเพื่อการอยู่รอดของเขา แม่งน่าสงสารนะเว้ย แล้วคุณยังไปตีตราเขาอีกว่า ไม่สมควร ทั้งๆ ที่เขาแค่ดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตที่บ้านอยู่รอด ทุกอาชีพมันมีความ Struggle ในแบบของตัวเองและนี่ก็คือความ Struggle ในแบบของเขา ในซีนนั้นก้อยเจอก้อยตัวสั่นเลย แล้วนี่คือสิ่งที่คนๆ หนึ่งต้องมาเจอ เขาเลือกแขก เลือกลูกค้าไม่ได้ แล้วแขกบางคนแบบซาดิสม์ก็มี คนก็ยังมองว่าแย่อีก 

ยิ่งสมัยยุค ร.5 โสเภณีได้เงินมาก็ต้องเสียภาษีเยอะมากเหมือนกันแล้วมีสิทธิ์อะไร ทำไมมันถึงผิดนักหนา ที่กูจะเป็นอาชีพนี้ เพียงเพราะแค่กูอยากอยู่รอด อยากเลี้ยงครอบครัว คำว่าชอยส์หรือทางเลือกมันมีวิธีมองอีกมาก มันไม่ควรจะมาแปะป้ายว่า ‘หืม มึงทำอาชีพนี้มึงต่ำกว่ากูว่ะ’ มันไม่ใช่ ทุกคนมีทางเลือกถ้าคุณไม่ชอบก็ไม่ต้องเป็น แล้วก็อย่าไปแปะป้ายอย่าไปดูแคลนทางเลือกของคนอื่น มันไม่ใช่เรื่องของคุณที่จะไปยุ่งกับเรื่องของเขา นั่นคือพอยต์สำคัญ อันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพาร์ตศีลธรรมนะ มันคนละประเด็น” 

แต่อาชีพนี้ถูกเอามาพูดโดยอ้างเรื่องศีลธรรมมาโดยตลอด ถ้าก้อยมองว่าเป็นคนละประเด็นกัน ช่วยขยายความให้ฟังได้ไหม

“มันคนละประเด็นกันนะ คนเราเกิดมาเราคือสัตว์ชนิดหนึ่ง เราเติบโตมากับ Sexual Needs ทั้งชายและหญิง แต่ในเพศสภาพของผู้ชายมันมี Need นั้น มากกว่าผู้หญิง ดังนั้นทุกอาชีพมันเกิดขึ้นมาได้เพื่อสนองความต้องการบางอย่างของมนุษย์ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วแปลว่า อาชีพนี้มันอยู่มาตั้งแต่ ร.5 หรืออยู่มาก่อนหน้านั้นจนถึงทุกวันนี้ 

คุณต้องตั้งคำถามแล้วว่ามันอยู่มาได้เพราะอะไร จริงๆ แล้วคุณต้องยอมรับความเป็นมนุษย์ก่อนว่า มันเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์อย่างแท้จริง ตราบใดที่ความต้องการนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว มันเป็นความต้องการทั่วไปของเขา คุณก็ไม่มีสิทธิ์ตีตราเขา มันคือ Consent ร่วมกัน มันคือผู้ขายกับผู้ซื้อ แต่แค่เขาแลกกันด้วยโปรดักต์ที่มันเป็นโปรดักต์นี้

 ก้อยทำงานเป็นนักแสดง โปรดักต์ที่เราขายก็คืออาชีพการแสดง การเข้าไปสู่ตัวละคร มันต่างกันยังไงล่ะ ถ้ามันไม่ได้กระทบศีลธรรมที่ว่า มึงไปผิดลูกผิดเมียคนอื่น หรืออะไรก็ตาม มันต้องแยกให้ออก ระหว่างศาสตร์อาชีพกับฝั่งศีลธรรม มันเป็นมุมหนึ่งอะ มันเป็นจิตสำนึกผู้ชายเปล่า มึงควรคิดให้ได้ว่ามึงควรทำหรือไม่ควรทำแบบไหน มันไม่ใช่ฝั่งผู้หญิงสิ เขาแค่ทำอาชีพของเขา นี่กูด่าไปเยอะปะเนี่ย (หัวเราะ)

มันจะมีคนพูดกันว่า ‘เนี่ย ทำอาชีพนี้เดี๋ยวเด็กแม่งก็อยากเป็นโสเภณีกันหรอก’ เฮ้ย มึงฟังก่อน คือเรื่องแบบนี้หรือแม้กระทั่งเรื่องการทำแท้ง ที่พอเราบอกว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง แล้วคนก็พูด ‘อย่างงี้เดี๋ยวคนก็ไปทำแท้งกันหมดสิ’ คือมันจะมีผู้หญิงคนไหนวะจะชอบที่ตัวเองเลือกไม่ได้อะ ในมุมมองก้อย เราไม่ได้อยากให้ร่างกายของเรา จิตใจของเราไปให้ใครมากระทำย่ำยีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว 

แต่สิ่งเหล่านี้มันคือพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไป มันคือทางเลือกเว้ย แทนที่คุณห้ามหรือพยายามบอกว่ามันไม่มี คุณไป Encourage ในมุมอื่นที่แบบว่าโอเค คุณค่ามันไปได้หลายรูปแบบนะ ถ้าคุณเลือกแบบนี้คุณก็มีคุณค่าในรูปแบบไหน ทำให้มันเป็น Positive Way ที่จะสามารถทำให้อยู่ร่วมกันได้อะ นั่นมันสมควรจะเป็นคำถามมากกว่าที่จะมาบอกว่า ไม่มี ไม่ควร มันแย่”

ถ้าก้อยมีโอกาสเข้าไปในบางกอกคณิกา อยากบอกอะไรกับโบตั๋น

(นั่งคิด) “มึงเก่งมากที่ไม่ว่าจะเชี่ยอะไรเข้ามามึงสามารถสู้ได้ ขอบคุณที่มึงไม่ยอมแพ้และก็ไม่อายชาติกำเนิด มึงเกิดมาเท่านี้มึงก็ทำดีที่สุดเท่าที่มึงจะทำได้ภายใต้ Condition ที่มันบีบมึง คือโบตั๋นเข้มแข็งมากที่สามารถก้าวข้าม Chain ที่ไม่ใช่ของตัวเอง Chain ที่เกิดขึ้นกับสังคมและ Chain ของอะไรก็ตามที่พยายามกดโบตั๋นให้ลง แต่มึงก็อยู่รอดได้ เชี่ย เพื่อความอยู่รอดสำหรับผู้หญิงคนนี้มันไม่ง่ายนะ นี่มันคือชีวิตของนักสู้คนนึงที่อย่างน้อย ฟ้าก็ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไปอะ”

ก้อยมีอะไรอยากจะบอกเพื่อนหญิงหรือเพศสภาพหญิงด้วยกันไหม 

“คำแม่งเชย คือเราต้องรักตัวเองและต้องรู้จักตัวเองให้มากพอ ถามว่าเริ่มต้นด้วยอะไร ก็เริ่มด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง คุยกับตัวเองให้ชัดว่า ชีวิตฉันตอนนั้นรู้สึกอะไร ไม่ต้องรีบเพื่อให้ได้คำตอบ การที่ใครใช้ชีวิตโดยที่ได้คำตอบในทุกๆ อย่างมันแปลกมาก เพราะคนเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน เอาเป็นว่าแค่คุณเริ่มตั้งคำถามนะ แม่งนำพาไปสู่อะไรไม่รู้เต็มไปหมด ถ้าคิดว่ารู้ทุกเรื่องแล้วแปลว่าคุณยึดติดกับอดีต เพราะปัจจุบันมันเปลี่ยนตลอดเวลา การที่ไม่ได้คำตอบก็น่าจะเป็นอะไรที่อะเมซิงกับตัวเองที่แบบ เออ ยังมีหลายเรื่องที่เราสงสัย  ยังมีอะไรที่น่าค้นหา ก้อยแค่อยากให้คุยกับตัวเอง เชื่อในตัวเอง 

และก้อยก็ไม่ได้อยากพูดแค่กับผู้หญิง ถึงแม้ว่าบางกอกคณิกาจะเป็นซีรีส์ที่นำเสนอผู้หญิง แต่ในเรื่องก็จะมีประเด็นผู้ชายที่อยู่คนละชนชั้นกับผู้ชายทุกคนที่โดนกด มีประเด็น LGBTQIA+ ที่สมัยนั้นจะเรียกพวกเขาว่า บัณเฑาะก์ เรารู้สึกว่าเพศสภาพเหล่านี้มีมานานแล้วแต่ถูกกดทับไว้ ความน่าแปลกใจก็คือ เขาบอกมันจะมีคนอยู่ 33 ประเภทมั้ง ที่ไม่สามารถให้การกับศาลได้ เพราะเหมือนเป็นคนชนชั้นล่าง ซึ่งประกอบไปด้วย โสเภณี บัณเฑาะก์ คนพิการ หญิงชั่ว สมัยก่อนพวกเขาถูกตีตราว่าคือชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ์ มีเสียง คนดูก็จะได้เห็นประเด็นเหล่านี้ในเรื่อง”

ดูเหมือนจะครอบคลุมประเด็นชายขอบทั้งหมดเลย งั้นให้ก้อยฝากซีรีส์เรื่องนี้ปิดท้ายดีกว่า

“ฝากซีรีส์บางกอกคณิกาด้วย แม้จะมีแค่ 8 ตอน แต่ก็เข้มข้นและเป็นประเด็นที่ประเทศเรายังไม่เคยตีแผ่ขนาดนั้น อีกทั้งยังมีความเป็นมิติใหม่ของซีรีส์ไทยด้วย เรื่องนี้ถือว่าเป็นจริตคนไทยเลย ก้อยรู้สึกว่า นี่เป็นการนำคอนเทนต์ที่มันเป็นรสชาติไทยมาสู่สังคมของแท้ในเซนส์ที่ว่า ปกติเราก็จะรู้สึกเหมือนทำยังไงให้ World Class แต่ความที่มันแบกความที่สุดของไทยมากๆ นั้นคือสิ่งที่สามารถนำพาไปสู่ World Class ได้เหมือนกัน เรื่องนี้เรารู้สึกถึงสิ่งนั้นเลยแบบ เชี่ย เพลงในแบบไทย แต่งตัวในแบบไทย  อาหารไทย กลิ่นไทย 

การเสพสื่อแบบไทยนี่มันจัดจ้านนะเว้ย มันจะมีความละครนิดนึง แต่มันคือรสของไทยเหมือนเป็น Genre หนึ่ง ซึ่งเราก็เคารพทุก Genre ถ้าเราจะสู้กับต่างประเทศ เราอาจจะตีให้มันมีความ International หรือวิธีคิดแบบตะวันตก แต่จริงๆ แล้วก้อยว่า วิธีคิดแบบโคตรไทย ก็ลากเราไปถึงได้ สิ่งเหล่านี้มันน่าสนใจ Genre เราสู้ World Class ได้นะ เราชอบ มันสนุก” (หัวเราะ) 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่