ตามไปดู Worst of the Best ทอล์กที่เปลี่ยนเป็ดธรรมดาให้กลายเป็นเป็ดฟีนิกซ์

เมื่อทุกความสำเร็จไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ พื้นที่เจ๋งๆ ในวงการต่างๆ ถูกจับจองด้วยเหล่ายอดมนุษย์ผู้เป็นเลิศทางทักษะเฉพาะทางและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานพอๆ
กับเวลาที่ลืมตาดูโลก ทำให้บรรดาเยาวชนคนเป็ด หรือคนที่ทำไม่เก่งอะไรสักอย่างในมุมมองของสังคมคงปาดเหงื่อ โอดครวญกันว่าอยากย้ายสายพันธุ์เป็ด ไม่เป็นนกก็เป็นปลาไปเลยก็คงดี

นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คิดต่างที่โฟกัสเรื่องการพัฒนาคนหนุ่มสาวอย่างสร้างสรรค์
แทนที่จะพัฒนาแต่การใช้พื้นที่เพียงอย่างเดียว อย่าง
วู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ
บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์
จึงลุกขึ้นมาจัดโปรเจกต์ทอล์กสนุกที่ปลุกให้หนุ่มสาวตื่นจากความฝัน
แล้วมองอนาคตของตัวเองด้วยสายตาที่เป็นจริง
ผ่านเรื่องราวการล้มลุกคลุกคลานของเหล่า 7 สปีกเกอร์ 6 สายอาชีพ ผู้เป็นตัวแทน The Best ต่างสาขามาถ่ายทอด

ในฐานะหนึ่งในสมาชิกฝูงเป็ด เราอดไม่ได้ที่จะเดินทางมาร่วมดูทอล์กนี้พร้อมกับบรรดาเป็ดวัยมัธยมด้วยความหวังว่าอาจค้นพบวิธีกลายร่างเป็นนก
ไม่ก็ปลาสักที

EXPECTATION =
ทอล์กที่บอกเราว่าถ้าคิดจะเป็น The Best ของวงการ ก็จงบอกลาความเป็นเป็ด

ความคาดหวังก่อนมาดูทอล์กนี้ของเป็ด
คือ 7 สปีกเกอร์ ที่มาเล่าถึงชีวิตใน 6 สายอาชีพ อย่าง
ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชายที่ทำมากกว่างานสถาปัตยกรรม เจ้าของบริษัทสถาปนิก ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด รวมถึงนิตยสาร The Jam Factory และพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ Warehouse 30, เต้-วรัตต์ วิจิตรวาทการ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ Roast, Roots Coffee, theCOMMONS, โอ๊ต-ชัยสิทธิ์
จุนเจือดี
ช่างภาพที่ติดอันดับโลก (Wedding and
Non Wedding Photography แห่ง PAAP Production), ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ และ พาย- ปิยะพงษ์
หมื่นประเสริฐดี
เจ้าของเว็บ Fungjai เว็บเพลงอินดี้ที่ป๊อปที่สุดในยุคนี้, สายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs จากบริษัท Google Thailand และ หมอหมู-มานพ
พิทักษ์ภากร
คุณหมอที่ควบงานรักษาคนไข้และวิจัยยาแห่งอนาคต โรงพยาบาลศิริราช จะมาช่วยกันถอนขนเป็ดให้เราและผู้ฟังทุกคนได้ชัดเจนในใจว่าตกลงจะกลายร่างเป็นปลาในทะเลสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี หรือว่าจะเป็นนกที่บินไปบนน่านฟ้าของธุรกิจคาเฟ่เก๋ที่สู้กันดุเดือดเข้มข้น

จากตัวอย่างภาพที่ได้เห็นตามหน้าแฟนเพจ
Worst of the Best และวิดีโอที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชายใจเหลาะแหละที่กลายร่างเป็นเป็ด
ทำให้เราจินตนาการว่า ขั้นตอนการถอนขนเป็ดครั้งนี้คงใช้รูปแบบการชี้ให้เห็นถึงด้านที่ไม่น่ารักเท่าไหร่ของแต่ละอาชีพที่คนนอกต่างมองกันว่าสวยหรูดูดีแบบละเอียดยิบ
ยกมาอธิบายเป็น case study ไป อย่างอาชีพช่างภาพที่ใครต่างมองว่าเท่ หาเงินเลี้ยงชีวิตด้วยการลั่นชัตเตอร์ ได้ใกล้ชิดดารา และได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ
ไม่ต้องติดอยู่ในออฟฟิศบนตึกสูงนั้น แท้จริงนั้นต้องผ่านเรื่องน่าปวดหัว ชวนปาดเหงื่อมาหนักขนาดไหน
การแบกเป้เที่ยวแต่ละครั้งนั้นใครเคยรู้ไหมว่าในเป้นั้นหนักขนาดไหน บรรจุไปด้วยอะไรบ้าง
ต้องเริ่มถ่ายรูปตั้งแต่เมื่อไหร่ ถ่ายได้ตามใจชอบจริงหรือ
แล้วเรื่องใกล้ชิดดาราได้นั้น คุณแน่ใจหรือว่ามันน่าตื่นเต้นอย่างที่คิด

REALITY = ทอล์กที่บอกเราว่าถ้าคิดจะเป็น
The Best ของวงการ ก็จงเป็นเป็ดฟินิกซ์ที่ฆ่าไม่ตาย

ทันทีที่มาถึงงาน
เราพบว่าความจริงของทอล์กนี้ไม่เหมือนกับที่คาดหวัง

หนึ่ง – เราไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าทางทีมงานจะใส่ใจกับการออกแบบประสบการณ์การเดินทางเข้าสู่ห้องฟังทอล์กโชว์ได้น่าสนใจขนาดนี้ มันเป็นทางเดินเล็กๆ
คล้ายทางเดินลับใต้ดินในตรอกไดแอกอน แต่แต่งสีสันเหมือนอยู่ในสถานีอวกาศไกลโพ้น ผู้เข้าชมจะถูกขนาบข้างด้วยภาพวาดลายเส้นน่ารักที่เล่าเรื่องความสวยหรูของอาชีพต่างๆ
ในสายตาคนนอกในตอนแรกที่มาถึง หลังจากนั้นหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ธรรมดาก็จะถูกปิด
พร้อมกับการส่องสว่างของหลอดไฟแบล็กไลต์ (ถ้านึกไม่ออก ให้จินตนาการถึงแสงไฟในปาร์ตี้พระจันทร์เต็มดวงบนเกาะสวรรค์แห่งหนึ่ง)
ทำให้เราเห็นการขีดฆ่าข้อความสวยหรูบนภาพ
พร้อมกับข้อความบอกเล่าความน่าปวดหัวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพสวยหรูที่คนมอง
มันเป็นการดีไซน์ประสบการณ์ที่ทั้งสวย ทั้งว้าว ทั้งเล่าเรื่องได้อย่างคมคาย

สอง – เนื่องจากโลเคชันเป็นสนามมวยไทย เราก็แอบจินตนาการไปว่าเหล่าสปีกเกอร์จะสวมชุดมวยเต็มยศขึ้นมาฟาดฟันกัน แบ่งเป็นมุมน้ำเงิน มุมแดง
แต่ความเป็นจริงคือทุกคนมาในชุดทำงานปกติในชีวิตประจำวันของเขา
พร้อมกับฉากหลังที่ฉายพรีเซนเทชันให้ดูประกอบ
ไม่มีเค้าลางของสนามมวย มันเป็นเวทีสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่คนดูสามารถมองดูได้รอบทิศทาง เหล่าสปีกเกอร์ก็ใช้เวลากับพื้นที่บนนั้นได้อย่างเป็นกันเอง เดินไปเดินมาจนคุ้ม อย่างสถาปนิกที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนึก เพราะลงมือทำนั่นนู่นนี่เยอะแยะไปหมดเท่าที่ตัวเขานึกขึ้นมาได้ อย่าง
ด้วง-ดวงฤทธิ์
บุนนาค
เรียกว่าบริหารการใช้พื้นที่บนเวทีได้สนุก
สร้างสรรค์ และคุ้มค่าสุดๆ ซึ่งเราชอบมาก เพราะเขาเล่นกับคนฟังทุกทิศทาง มันทำให้เรื่อง Worst ชวนสลด
กลายเป็นเรื่องมันๆ พอๆ กับวิธีการที่เขาต่อกรกับความกลัวในการทำงาน

สาม – กลุ่มคนฟังที่เป็นหนุ่มสาววัยละอ่อนกว่าที่เราคิด ส่วนใหญ่เกินครึ่งเป็นเด็กมัธยม
ต่างจากที่จินตนาการว่าเป็นเด็กมหาวิทยาลัย
เพราะดูจากรายชื่อผู้บรรยายแล้วน่าจะไกลตัวเด็กๆ รุ่นมัธยมไปหน่อย แต่ดีมาก
น่าอิจฉา เพราะว่าสมัยเราเป็นเด็กมัธยมไม่เคยได้ฟังบรรยายเปลี่ยนชีวิตขนาดนี้

สี่ – แทนที่จะมาถอนขนเป็ด
หรือสอนวิธีกลายร่างจากเป็ดเป็นนก จากเป็ดเป็นปลา สปีกเกอร์หลายคนใช้เวลา 20 นาทีบนเวทีเพื่อสารภาพกับคนดูว่า
หนุ่มสาวเอย…ฉันเองก็เป็นเป็ดเหมือนพวกเธอนั่นแหละ
เพียงแต่พวกฉันเป็นเป็ดที่ฆ่าไม่ตาย เป็นเป็ด 9 ชีวิต เป็นเป็ดฟีนิกซ์ที่สามารถฟื้นขึ้นได้ใหม่หลังล้มเหลว

“ผมคงไม่มาเล่าอดีตของผมให้ฟัง
เพราะตอนผมอายุเท่าพวกคุณก็ใช้ชีวิตคนละแบบกับคุณ รุ่นผมไม่มีเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดีย เราทุกคนมีวิธีของตัวเอง
คุณจะเป็นเป็ดก็เรื่องของคุณ
แต่อย่าดันให้ใครมาถอนขนคุณแล้วกัน เพราะว่ามันก็อาจจะเวิร์กก็ได้ที่เป็นเป็ด ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าอะไรคือวิธีที่ผิด อะไรคือวิธีที่ถูก
ทั้งชีวิตคุณอาจไม่ได้มีสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่เลวก็ได้
เพราะว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณมันก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้น”
ดวงฤทธิ์บอกเด็กๆ อย่างนั้น

อ๋อ! เราขออนุญาตไม่อธิบายให้ฟังว่าแต่ละคนพูดว่าอะไรอย่างไรบ้าง
เพราะเร็วๆนี้ ทาง
Worst of the Best จะปล่อยคลิปวิดีโอทอล์กโชว์ให้ทุกคนได้ดูกันอย่างสาแก่ใจ
แต่จะขอยกช่วงประทับใจมาบอกเล่าพร้อมเหตุผลสั้นๆ เรียกน้ำย่อยไปพลางๆ
ก่อนวิดีโอปล่อยแล้วกันนะ

(ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ)

สำหรับเรา ดวงฤทธิ์คือผู้บรรยายที่ดุเดือดและจริงใจกับเด็กๆ มากที่สุด เราชอบที่ดวงฤทธิ์พูดเรื่องยากให้เข้าใจง่าย และใช้ภาษาที่กันเองกับเด็กมัธยมสุดๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าพ่อฝูงเป็ด คือทั้งซ่า ทั้งก๋ากั่น แต่ก็เป็นผู้นำฝูงที่ดีมาก ฟังแล้วไม่รู้สึกเลยว่า โห ผู้ใหญ่คนนี้เก่งนะ แต่เหมือนภูเขาสูงชันที่พวกเราเอื้อมไม่ถึง

เขาคือตัวอย่างของคนที่ทำงานอย่างเป็ดที่แท้จริง เพราะถึงจะตั้งใจเดินทางสายอาชีพสถาปนิกมายาวนานจนประสบความสำเร็จ เขายังเป็นนักแบกรับความเสี่ยงตัวยงที่ลุยธุรกิจนอกสายงานหลากหลายรูปแบบชนิดที่ไม่กลัวล้มเหลว ด้วยความคิดที่ว่า ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากหายใจเข้าและออก เราเลือกได้ที่จะทำหรือไม่ทำ ถ้าทำ อย่างน้อยโอกาส Worst ก็ 50 โอกาสเป็น Best ก็ 50 แต่ถ้าเลือกไม่ทำอะไรเพราะความกลัว โอกาสทุกอย่างในชีวิตคุณก็คือศูนย์

(ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ)

ส่วน ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ และ พาย- ปิยะพงษ์
หมื่นประเสริฐดี
เจ้าของ Fungjai ชุมชนทางดนตรีที่เชื่อมศิลปินและแฟนเพลงทางเข้าด้วยกัน
ผ่านแพลตฟอร์ม และกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกสตรีมมิ่ง
นิตยสารดนตรี คอนเสิร์ต ฯลฯ เรียกว่าเป็นทีเด็ดของงานนี้เลย

เขาชี้ให้เราเห็นว่าความจริงในโลกการทำงานคืออะไร
น่านน้ำของสตาร์ทอัพนั้นเต็มไปด้วยฝูงปลาและการแข่งขัน การได้คำว่า CEO มาต่อหน้าชื่อ ไม่ได้แปลว่าเราจะเท่ รวย หรือสบายกว่าคนอื่น

ทั้งคู่ไม่ได้รวย ไม่ได้สบาย ไหนจะต้องควักเนื้อตัวเอง
ต้องทำงานประจำเลี้ยงชีพ แล้วก็ทำ Fungjai ซึ่งเป็นสิ่งที่รักและฝันไปด้วย
เขาเตือนเราตั้งแต่ก้าวเท้าขึ้นเวทีทอล์กว่า “ถ้าอยากสวย รวย หล่อ เท่ สบาย ให้ทำงานประจำ ถ้าอยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ให้ทำสตาร์ทอัพ“

เราประทับใจตั้งแต่วิธีการนำเสนอเข้าใจง่าย
โดยเปรียบเทียบระหว่างความคาดหวัง
ปะทะกับความเป็นจริง เช่น ความคาดหวังที่สังคมมอง CEO บริษัทนั้นคือกัปตันทีม แต่เปล่าเลยที่รัก…ความจริงนั้น ท้อปและพายคือเชียร์ลีดเดอร์ประจำทีม ต้องคอยสนับสนุนส่งมอบพลังให้ทีมด้วยความสดใส “เราไม่เคยเห็นเชียร์ลีดเดอร์หน้าบึ้งกันใช่ไหมล่ะ นั่นแหละ…”

แล้วด้วยความที่คนฟังส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในวัยว้าวุ่น ไม่แปลกเลยว่าพวกเขาหลายคนจะยังคงอยู่ในเส้นทางแห่งความฝัน
เส้นทางแห่งการค้นหาตัวตนว่าแท้จริงอยากทำอะไร เรียนต่อสาขาไหน ทอล์กนี้จึงเวิร์กมาก เพราะแม้คนฟังจะยังงงๆ
กับชีวิตอยู่หลังฟังจบ แต่ทั้งคู่บอกว่า ไม่เป็นไรเลยถ้าตอนนี้ยังไม่รู้ แต่ขอเถอะ
ขอให้ได้ลงมือลองทำดูก่อน อย่ายอมแพ้

“ไม่ได้เก่งอะไรสักอย่าง
ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้ลองอะไรหลายๆ อย่าง มันคือสิ่งที่โชคดีมากๆ เพราะว่าการเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จะสร้างความสามารถพิเศษที่คนอื่นๆ
ไม่มีให้กับเรา หรือถ้าจะเป็นเป็ด ก็อยากให้เป็นเป็ดที่ดีที่สุด
อยากให้ทุกคนเป็นเป็ดที่ไม่ยอมแพ้ เป็นเป็ดฟินิกซ์”

หลังฟังจบ
เราสตาร์ทรถไปทักทายเพื่อนเป็ดพลังเป็ดที่ร้านเป็ดย่างชื่อดังประจำบางรัก
คิดทบทวนถึงเรื่องราวความ Worst ของเหล่า The Best พร้อมกับเรื่องราวความ Best ของการเป็นเป็ดที่ไม่อาจจะไม่ได้ดีมาก
แต่ก็ไม่ได้เลวร้าย หรือจริงๆ จุดประสงค์ของงานคงอยากจะบอกว่า
ถ้าคิดจะทำอะไรแล้วก็ต้องพยายามทำไปให้สุด

ก่อนส่งเพื่อนเป็ดเข้าปาก เราสัญญากับเพื่อนร่วมสายพันธุ์ว่า
ถ้าฉันไม่สามารถพัฒนาตัวเองเป็นเป็ดฟินิกซ์ได้ ก็ขอให้วันหนึ่งได้กลายเป็นเป็ดย่างชั้นดีที่คนอยากกินแล้วกินอีกแบบแกด้วยเถอะ

AUTHOR