MADSAKI ‘Combination Platter’ สตรีทอาร์ตที่หล่อหลอมจากวัฒนธรรมและความทรงจำวัยเด็ก

ทั้งภาพวาด ศิลปะกราฟฟิตี้ที่ฉูดฉาดหวือหวา ลายเส้นการ์ตูนในวัยเด็กที่แสนจะคุ้นตา และงานปั้นสูง 5 เมตร ณ ใจกลางชั้น G ของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ล้วนทำเราอดนึกถึงออเดิร์ฟอาหารสัญชาติจีนที่รวมวัตถุดิบหลากชนิดเข้าไว้ด้วยกันไม่ได้ ความรู้สึกของการชมงานศิลปะที่ปะปนกันนี้น่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกับที่ MADSAKI ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวญี่ปุ่นคนนี้อยากสื่อสารกับคนทั้งโลกนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ MADSAKI เคยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ‘Here Today, Gone Tomorrow’ ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ ‘Bada Bing, Bada Boom’ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สร้างความประทับใจให้ผู้ชมจากหลายวัฒนธรรมพร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะหมุนเวียนในวงกว้าง เราเลยตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับเขาต่อหน้า ในวาระที่ MADSAKI มาเยือนกรุงเทพฯ พร้อมนิทรรศการล่าสุดในชื่อ ‘Combination Platter’

เด็กนอกคอกที่ประสบความสำเร็จบนหนทางของตัวเอง

MADSAKI เป็นเด็กญี่ปุ่นจากโอซาก้าธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ก่อนหน้านั้นเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และทำให้ต้องฝึกเรียนรู้จากการ์ตูนดังหลายเรื่อง เช่น The Simpsons, The Sesame Streets และ Family Guy นับแต่นั้นการ์ตูนก็กลายเป็นสื่อการเรียนรู้โดยมีเหล่าตัวละครคอยเป็นคุณครูสอน ทำให้โลกใบเล็กๆ ของเขาค่อยๆ หมุนไป

การโตมาในช่วงควันหลงหลังสงครามโลกทำให้เขาถูกล้อเลียนด้วยคำว่า ‘Jap’ (ไอ้ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นคำแสลงเหยียดชนชาติที่ใช้กันทั่วไปในตอนนั้น เขาเองเริ่มตั้งคำถามกับจุดยืนที่ก้ำกึ่งระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา และแสดงความสับสนนั้นผ่านทางศิลปะ ซึ่งสุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นตัวตนของเขามาจนถึงทุกวันนี้

ศิลปะที่ไม่ได้ล้ำสมัยหรือสูงส่ง แต่สื่อสารพูดคุยได้ดี

“คุณอยู่ไม่รอดหรอกในโลกของศิลปะ ลาออกเถอะนะถ้าอยากประหยัดเงิน” เขาบอกกับเรา

MADSAKI จบการศึกษาสาขา Fine Arts จาก Parsons School of Design มหาวิทยาลัยชื่อดังในนิวยอร์กที่ส่งออกศิลปิน นักออกแบบระดับโลกอย่าง Marc Jacobs, Donna Karan (DKNY) และ Alexander Wang ให้ไปโลดแล่นในวงการ ศิลปะสตรีทอาร์ตของเขาจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เขานำตัวการ์ตูนที่ฝังอยู่ในตัวมาแต่เด็ก บวกกับรากที่โตมากับสังคมพหุวัฒนธรรมมาสร้างผลงาน แต่สิ่งนี้กลับไม่เพียงพอต่อความคาดหวังในการต่อยอดเทรนด์ศิลปะแนวใหม่ของสถาบัน ถึงอย่างนั้น งานของเขาก็มีกลิ่นอายเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตในวัยเด็กและปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

“ผมชอบเอาสิ่งที่เห็นหรือได้ยินในชีวิตประจำวันมาวาด เช่นภาพจากฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ผลงานศิลปะคลาสสิกหรือตัวการ์ตูน ผมอาจจะวาดตัวละครจาก Dragon Ball ให้อยู่ในภาพเดียวกับ The Simpsons เพราะผมโตมาแบบทุกอย่างถูกหลอมเข้าด้วยกัน หรือลองใส่พวกคำสบถลงบนหัว Big Bird จาก Sesame Streets ดู เพราะผมคิดว่าถ้าไม่ทำงานศิลปะแล้วคงไม่มีวันได้เห็น Big Bird ที่แสนน่ารักพูดคำหยาบแน่ จะมองว่างานของผมดูเบสิกเกินไปก็ได้ แต่นี่แหละคือตัวผม การต่อเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วก็เป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน”

ถ้าได้ลองชมงานแสดงศิลปะเดี่ยวของ MADSAKI ที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ เราอาจจะได้พบทั้งภาพจากหนังเรื่องโปรด ภาพศิลปะระดับโลก และตัวการ์ตูนสมัยเด็กในแบบที่คาดไม่ถึงก็ได้นะ

ศิลปะคือความผ่อนคลาย

“สัญลักษณ์รูปตาที่มีสีย้อยลงมาเป็นความบังเอิญครับ ถ้าใช้สีสเปรย์มันก็จะมีรอยหยดแบบนั้นเอง แต่สุดท้ายแล้วให้คนดูตัดสินเองดีกว่า เราตีความภาพเดียวกันไม่เหมือนกันหรอกครับ ผมไม่อยากเอาความคิดตัวเองไปยัดใส่คนอื่น ศิลปะเป็นอิสระแห่งการตีความอยู่แล้ว”

MADSAKI ยืนยันว่าแม้สิ่งที่เขาวาดจะมาจากความทรงจำและความประทับใจส่วนตัว เขาเองก็ไม่เคยคิดจะให้คำจำกัดความงานของตัวเองแม้แต่ครั้งเดียว ผู้ชมทุกคนมีสิทธิ์รู้สึกในสิ่งที่อยากรู้สึก เห็นในสิ่งที่อยากเห็น เช่นเดียวกับที่เขาวาดในสิ่งที่อยากวาด

“บางครั้งเราไม่ต้องคิดเยอะขนาดนั้นก็ได้ งานศิลปะมีไว้เพื่อผ่อนคลาย แม้แต่ผมเองในฐานะศิลปินก็มีช่วงที่เหนื่อยกับงานศิลปะจนหันไปทำอย่างอื่นพักหนึ่ง แล้วค่อยเริ่มกลับมาทำงานศิลปะใหม่เช่นกัน ถ้าหมดไอเดียก็ช่างมันแล้วนอนครับ ผมเค้นศิลปะออกมาไม่ได้จริงๆ” MADSAKI หัวเราะพลางตอบคำถามอย่างเป็นกันเอง ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นศิลปินเท่านั้น

“ผมแค่อยากให้คนมีความสุขกับศิลปะ”

เราขอให้ความหวังเล็กๆ นี้ของ MADSAKI เป็นจริงได้ด้วยสายตาของคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกวัฒนธรรมบนโลกเรา

สำหรับคนที่สนใจอยากสัมผัสตัวตนของ MADSAKI แบบผ่อนคลายสบายใจผ่านผลงานของเขาบ้าง เราขอกระซิบว่านิทรรศการ ‘Combination Platter’ จะจัดแสดงที่ชั้น G เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2561 เท่านั้น นอกจากชื่นชมและเรียนรู้ตัวตนของเขาแล้ว เรายังจะพกพาความเป็น MADSAKI กลับบ้านไปได้ด้วยกับสินค้า Limited Edition ที่ทางศิลปินร่วมกันออกแบบกับ SIWILAI Store โดยเฉพาะ

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และชวัลญา ไทยพินิจ

AUTHOR