gloc ร้านมัลติแบรนด์ที่เกิดจากความฝันและเติบโตตามความชอบของกลุ่มเพื่อน

Highlights

  • gloc คือร้านมัลติแบรนด์ในย่านอารีย์ที่เกิดขึ้นจากความชอบ ความฝัน และความเชื่อ ของกลุ่มเพื่อนทั้ง 4 ผู้อยากมีร้านเป็นของตัวเองเมื่อปี 2018 กับความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังช้อปปิ้งในบ้านเพื่อน
  • เนื่องในโอกาสที่ร้านมีอายุครบ 2 ปี ทั้ง 4 คนจึงขอรีโนเวตหน้าร้านใหม่ รวมถึงทำแบรนด์ของร้านในนาม gloc เพื่ออัพเดตให้สถานที่แห่งนี้เติบโตไปพร้อมๆ กับพวกเขาและเธอ

ในโลกที่ทุกคนสามารถทำแบรนด์เล็กๆ และเปิดร้านค้าออนไลน์เองได้ การมีหน้าร้านอาจดูไม่จำเป็นอีกต่อไปในยุคสมัยที่ทุกคนใช้ปลายนิ้วคลิกซื้อและวันต่อมาก็มีสินค้ามาส่งถึงบ้าน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งการได้มีโอกาสหยิบจับวัดไซส์เสื้อผ้า ซึมซับบรรยากาศ และรับประสบการณ์การเป็นส่วนหนึ่งของร้านก็ยังเป็นมนต์เสน่ห์ที่ร้านค้าออนไลน์ให้ไม่ได้ ซึ่งขณะเดียวกันหากมองในมุมแบรนด์ การมีที่ทางให้ลูกค้ามาดูของและลองด้วยตัวเอง รวมถึงมีคนช่วยโปรโมตให้อีกแรง ก็ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับเจ้าของแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้นหรือไม่มีเงินทุนมากพอ

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดร้านค้าแนวใหม่ที่เรียกว่าร้านมัลติแบรนด์ ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนห้างขนาดย่อมๆ โดยคัดเลือกแบรนด์เสื้อผ้าและไอเทมต่างๆ ในโลกออนไลน์มารวมไว้ที่เดียว อย่างในไทยเองก็มีร้านประเภทนี้จำนวนไม่น้อย หนึ่งในร้านที่เราชื่นชอบและมักเสียเงินอุดหนุนอยู่บ่อยๆ คือร้าน gloc ที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มเพื่อน 4 คน ได้แก่ จูนจูน–พัชชา พูนพิริยะ, เค้ก–อภิพรรณ มงคลพาณิชยกิจ, ปั๊ม–นิธิศ วงศ์สวัสดิ์ และ ดี–ปรีดี เฮงษฎีกุล

เนื่องในโอกาสที่ gloc มีอายุครบ 2 ปีและมีการรีโนเวตหน้าตาไปเมื่อช่วงปลายปีก่อน เราจึงถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนร้านใหม่ เพื่อชวนพวกเขาและเธอพูดคุยกันถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจร่วมกัน รวมถึงสินค้าแบรนด์ gloc ที่ปล่อยออกมาให้เราได้เห็นกันบ้างแล้ว

เราแง้มประตูร้านรอคุณแล้วนะ เข้าไปคุยในร้านกันเถอะ!

 

อยากให้เล่าหน้าที่ของแต่ละคนว่าทำอะไรกันบ้าง

จูนจูน: ตอนแรกเข้าใจว่าหน้าที่เราคือเป็นมาร์เก็ตติ้ง ดูเรื่องพีอาร์ทางออนไลน์ แต่ตอนนี้ก็มีคนมาช่วยแล้ว ช่วงแรกๆ เราเป็นคนรันอาร์ตเวิร์กทุกอย่างและโพสต์เอง ตอนนี้ก็ขยับมาเป็นมุมข้างนอกมากขึ้น อะไรที่เป็นระบบพนักงานรันเองได้ก็ปล่อยไป หน้าที่หลักเราคือดูระบบหลังบ้านมากกว่า แต่อาร์ตเวิร์กก็ยังผลิตเองอยู่

ปั๊ม: เราทำส่วนโอเปอเรตงานหลังบ้าน เพราะเดี๋ยวนี้ gloc ก็เริ่มไปป๊อปอัพตามห้าง ตามสถานที่ต่างๆ แล้ว

เค้ก: ส่วนเรารับหน้าที่เป็น buyer คัดเลือกแบรนด์สินค้าเพื่อวางขายในร้าน รวมถึงทำสินค้าของเราเองด้วย

ดี: ผมดูเรื่องบัญชีและสัญญา แต่จริงๆ  พวกเราก็ทำแทนกันได้บางส่วน อย่างตอนแต่งร้านก็ช่วยกัน หรือระบบหลังบ้านก็ทำแทนกันได้หมดเลย

 

ย้อนมองจากวันแรกที่ร้านเปิดจนถึงตอนนี้

ปั๊ม: ผ่านมา 2 ปีร้านมีการเปลี่ยนแปลงเพราะพวกเรา 4 คนที่เป็นเจ้าของโตขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องที่เคยชอบ สไตล์หรือเสื้อผ้าที่เคยชอบ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้พวกเราไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว คิดว่าถ้านี่คือที่ที่อยากให้เป็นภาพที่เราชอบจริงๆ ร้านก็ควรโตตามเรา มันจึงออกมาในลักษณะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ร้านใหม่ ทำของอินเฮาส์มากขึ้น รวมถึงทิศทางของการไปอยู่ในห้างข้างนอก พูดรวมๆ คือเราโตขึ้นประมาณหนึ่ง ลองผิดลองถูกกันมา 2 ปี ได้ข้อมูลและอะไรต่างๆ นานา รู้สึกว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดีบวกกับเป็นช่วงปลายปีที่จะเปลี่ยนร้านใหม่ไปในทิศทางที่พวกเราถนัดขึ้น

คิดว่าร้านนี้เติมเต็มเป้าหมายที่ทุกคนตั้งไว้กันไหม

จูนจูน: วัตถุประสงค์ตอนแรกของ gloc คือการสนับสนุนดีไซเนอร์ที่เราอยากเห็นเขามีหน้าร้าน หรือแบรนด์ที่อาจไม่เคยถูกเลือกมาก่อน แต่อีกวัตถุประสงค์คือการมีร้านของพวกเราเอง ถือว่าเป็นการเติมเต็มความฝันของเด็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราว่ามันก็ถึงเป้าหมายทั้งสองอย่าง เพราะก็มีแบรนด์ที่เราเห็นกับตาว่าเขามาขายกับเราจนมีโอกาสได้ไปอยู่ในห้าง มีคนติดตามมากขึ้น ขายได้มากขึ้น เพราะเค้กเป็นคนคัดเขามาวางในร้านเราครั้งแรก เราก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนช่วยแบรนด์เหล่านั้น

อีกอันที่คิดว่าเป็นเป้าหมายและทำสำเร็จคือ เรา 4 คนเริ่มร้านนี้แบบงงมากๆ ทำเพราะอยากทำเฉยๆ ไม่มีประสบการณ์การทำรีเทลที่เป็นหน้าร้านเลย พวกระบบโอเปอเรตก็ไม่เหมือนกับการเปิดแบรนด์ออนไลน์ที่คิดว่าเรารันกันได้ ไม่น่ามีปัญหา แต่พอเปิดหน้าร้านจริงๆ มันน่ากลัวมาก เปิดมาถึง 2 ปีก็งงเหมือนกันว่าเราอยู่กันมาโดยที่ไม่มีอะไรพังพินาศได้ยังไง (หัวเราะ)

ปั๊ม: อีกเป้าหมายที่สำเร็จคือ เราเอา gloc ไปป๊อปอัพที่อื่นเยอะ และแฮปปี้กับผลตอบรับว่ายังมีอีกหลายที่ที่เราสามารถพาดีไซเนอร์ของพวกเราไปเปิดตลาดได้ นอกจากเรื่องยอดขายคือร้านที่เราพาไปแต่ละที่ ไม่ว่าจะชิดลม สยาม หรืองาน CAT EXPO เราก็เลือกมาให้ถูกต้อง ทำหน้าที่เป็นตัวกรองให้แบรนด์รู้ว่าคุณไปกับเราสิ ธีมนี้ขายดีแน่นอน อันนี้เป็นเป้าหมายเรื่องหลังบ้านที่เรารู้สึกแฮปปี้ วิน-วินทุกฝ่ายจริงๆ

อะไรคือแนวคิดในการรีโนเวตร้านใหม่

ดี: มันเกี่ยวเนื่องกับการโตขึ้นของพวกเรา รู้สึกว่าตอนเปิดร้านกับตอนนี้วิสัยทัศน์ไม่เหมือนกันแล้ว เราพยายามอัพเดตฮาร์ดแวร์ให้เข้ากับซอฟต์แวร์ อยากให้ร้านอิงกับความชอบและสื่อถึงพวกเรามากที่สุด ระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้จากคอมเมนต์ของลูกค้าและ vendor โดยตรง ก็นำมาปรับฮาร์ดแวร์ให้เหมาะสมกับธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวคงเปลี่ยนตามพวกเราในอนาคตอีกเรื่อยๆ

 

ทำไมถึงตัดสินใจทำแบรนด์ gloc เองด้วย

เค้ก: เพราะก่อนหน้านี้เรายังมีสิ่งที่ขาดอยู่เวลาสไตลิ่งตอนถ่ายแบบ พวกเสื้อผ้าที่เป็นเบสิกไอเทม ก็เลยพยายามเติมของในร้านให้หลากหลายมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถบังคับดีไซเนอร์ว่าคุณต้องทำแบบนี้ๆ ได้อยู่แล้ว ถ้าเราทำเสื้อผ้าเองก็น่าจะทำให้ของในร้านมีความหลากหลายมากขึ้น เราควบคุมเองได้มากขึ้น ซึ่งเสื้อผ้าที่เราทำแบ่งออกเป็น 3 พาร์ต โดย 01 จะเป็นเบสิกแวร์และไอเทมอย่างพวกเสื้อกล้าม เสื้อยืดธรรมดา ทั้งของผู้หญิง-ผู้ชาย ใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน 02 จะเป็นอะไรที่สนุกขึ้น วัยรุ่นขึ้น เป็นพวกเสื้อ typographic ที่คนยังชอบอยู่จากร้านยุคก่อน ส่วน 03 จะเป็นกึ่ง casual-party wear นิดหนึ่ง ใส่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ดีเทลเยอะกว่าที่ผ่านมา

มีกระบวนการคิดและดีไซน์ยังไง

จูนจูน: ระดมสมองกันหนักมาก นัดเจอกันและแปะๆ รูปเสื้อผ้าที่ชอบ แต่เราต้องมั่นใจว่าในทุกกระบวนการของเสื้อผ้าพวกนี้เราใส่กันจริงๆ เราไม่อยากทำตามเทรนด์มากเกินไป ไม่อยากหยิบเทรนด์ใน Pinterest มาแล้วคิดว่าขายดี ทำเลย ต้องถามกันว่าแกใส่ปะ อย่างปั๊มกับดีนี่ยากนิดหนึ่งเพราะเราทำเสื้อผ้าผู้ชายด้วย ซึ่งเรากับเค้กไม่เคยออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องบาลานซ์ให้ทุกคนทำแล้วแฮปปี้ตลอดโปรเซส

 

แนวคิดสำคัญคือต้องเป็นของที่เราใช้จริงๆ ใช่ไหม

จูนจูน: เราทำตามโจทย์ที่อยากได้กันแต่ก็ใส่ความเป็นเราลงไปด้วย มีกิมมิกขี้เล่นๆ ของ gloc เหมือนเดิมตั้งแต่วันเปิดร้านจนถึงทุกวันนี้ ความเชื่อที่ว่า gloc คือสไตล์ที่ดีแต่ไม่ทำตัวหยิ่งเกินไป

เมื่อก่อน gloc มีคอนเซปต์ว่าอยากให้คนมาช้อปปิ้งแล้วได้อารมณ์เหมือนมาบ้านเพื่อน ตอนนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า

ปั๊ม: รู้สึกว่ามันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แค่ต้องยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมาเราโตขึ้นกันจริงๆ แต่เชื่อว่าลูกค้าก็โตขึ้นตามเราเหมือนกัน ลูกค้าที่มาวันแรกยังไง ร้านใหม่ก็ยังมาเหมือนเดิม ทุกคนโตกันไปหมด ด้วยความที่ไม่ใช่ว่า gloc ปิดเล่มเก่า เปิดเล่มใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนนั่นนิดเปลี่ยนนี่หน่อย และเปิดใหม่ในมุมที่เราตั้งใจพรีเซนต์มากกว่า

 

หน้าร้านเปลี่ยนแล้วช่องทางออนไลน์เปลี่ยนไหม

ปั๊ม: ต้องโตคู่กันอยู่แล้ว เพราะตอนเปิดมามีแค่หน้าร้าน หลังจากเข้าสู่ปีที่ 2 เราจะทำตัวออนไลน์ให้เต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งยังต้องเป็นแบบที่เราชอบ

มองกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และมีวิธีสื่อสารกับพวกเขายังไง

จูนจูน: เรารู้สึกโชคดีมากที่ได้ทีมงานมาช่วยจุดนี้ เพราะคนที่จะมาเป็นน้ำเสียงของสักแบรนด์จริงๆ มันหายาก เราไม่อยากเป็นแบรนด์ที่เขียนแคปชั่นดูขายเวอร์ และไม่อยากเป็นแบรนด์ที่เขียนแคปชั่นเป็นภาษาอังกฤษสวยงาม แต่ไม่มีใครแปลออก เราอยากบาลานซ์ทั้ง 2 อย่างที่ไม่อยากดูถูกคนอ่าน แต่ก็ไม่อยากอะไรมากไป เลยออกมาเป็นน้ำเสียงที่มีคัลเจอร์และการศึกษา คำพูดกับแกรมมาร์ถูกต้อง แต่ก็ยังขี้เล่นและเล่นมุกตลกแบบคนไทย ซึ่งทีมงานเราทำได้หมดเลย มันทำให้คนรู้จัก gloc ในแบบที่ gloc เป็น ทุกวันนี้เราดูอินสตาแกรมของ gloc ก็แฮปปี้มาก เพราะไม่ได้มีแต่สินค้าหรือภาพมู้ดๆ จาก Pinterest อย่างเดียว แต่มีมีมแปลกๆ หรืออะไรที่ทำให้ gloc ดูเป็นคนจับต้องได้

ปั๊ม: ที่ร้านโตขึ้นได้เพราะมีทีมที่แข็งแรงและรักกันมากๆ ทรีตกันแบบเพื่อน เราต้องให้เครดิตพวกเขา เพราะถ้าไม่มีพวกเขาเราก็อยู่ไม่ได้

แล้วการไปป๊อปอัพตามสถานที่ต่างๆ มันช่วยร้านหรือมีความสำคัญยังไง

เค้ก: ในแง่ธุรกิจเราจะได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และบางครั้งเราก็ต้องเลือกแบรนด์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละที่ที่เราไปด้วย ทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์ใหม่ๆ นอกจากที่อยู่ในร้านเรา

ปั๊ม: มีคนติดต่อมาเยอะ แต่เราคิดทุกครั้งกับการออกไป แน่นอนว่าเราออกไปมันแป้กไม่ได้ เพราะเราพาเพื่อนพาแบรนด์ไปกับเรา เพราะฉะนั้นแต่ละที่ที่ไปเราคิดและเลือกมาดีแล้ว ทุกครั้งเราจะเหน็บคาแร็กเตอร์ของ gloc ไปและปรับบางอย่างให้เหมาะกับสถานที่ที่จะไป ซึ่งมันทำให้คนจำได้และมีแฟนคลับประจำแต่ละสถานที่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปป๊อปอัพที่ใหม่ๆ เพิ่มอีก

ในฐานะที่ทำธุรกิจร้านมัลติแบรนด์และทำแบรนด์เอง อยากให้เล่าถึงสถานการณ์วงการแบรนด์ดีไซน์บ้านเรา

ปั๊ม: ผมว่ามันอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นมากๆ คนไทยดูใส่ใจกับการแต่งตัวและติดตามแฟชั่นมากกว่าเมื่อก่อน อย่างลูกค้าร้านเราก็มีแนวมีสไตล์ที่ชอบของตัวเองมากขึ้น แถมมีแบรนด์เกิดใหม่มากมายที่ช่วยสร้างความหลากหลายให้ลูกค้าด้วย

จูนจูน: เราว่ามันโตขึ้นในมุมที่โรงงานและโปรดักชั่นต่างๆ สนับสนุนคนเหล่านี้มากขึ้น เมื่อก่อนสมัยที่เราทำแบรนด์ตอนเรียนก็ต้องถ่ายรูปกันเอง ใครจ้างนางแบบได้ต้องเสียเงินเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วกับการเห็นแบรนด์ใหม่มีสตูดิโอเหมือนถ่ายรูปลงนิตยสาร สนุกมากที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ และเราไม่รู้ว่าในประเทศอื่นเขาขนาดนี้หรือเปล่านะ แต่สำหรับคนไทยมีแบบนี้เยอะมาก ทุกคนมีเรฟฯ ที่เห็นมาเหมือนกัน และเราสามารถทำได้ถึงเลเวลที่ทั่วโลกเขามี เพราะฉะนั้นที่เหลือคือการแข่งด้วยไอเดียและความครีเอทีฟของสไตล์ เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นว่าใครมีอะไรน่าสนใจบ้างและสนับสนุนพวกเขาให้ไปต่อได้

เค้ก: รู้สึกว่า 2 ปีที่แล้วยังไม่มีอะไรที่ซัพพอร์ตเราขนาดนี้ ไม่ว่าจะสตูดิโอถ่ายภาพหรือแม้กระทั่งพาร์ตของโปรดักชั่นก็ตาม การปรินต์ผ้าก็ต้องทำเป็นทีมใหญ่มากๆ ตอนนี้ต้นทุนต่ำลง ทำง่ายขึ้น คนยอมมาคุยกับตัวเล็กๆ แบบเรามากขึ้น

คาดหวังไหม อยากเห็นร้านไปถึงจุดไหน

จูนจูน: เราเคยผ่านจุดที่ประชุมและวางแผนเป้าหมายกันยิ่งใหญ่มาก gloc ในอีก 5 ปี 10 ปีจะเป็นยังไง แต่ตอนนี้เราไม่ได้หวังอะไรเยอะแล้ว แค่อยากทำตรงหน้าให้ดีที่สุด อยากรู้ทิศทางของคนจริงๆ ก่อน เพราะเราไม่แน่ใจว่าเทรนด์ของร้านมัลติแบรนด์จะอยู่ในไทยได้อย่างยั่งยืน พยายามตามอ่านวิเคราะห์ธุรกิจต่างๆ ว่ามันจะอยู่ได้จริงๆ หรือเปล่า เพราะเราก็เคยผ่านจุดที่ gloc ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าเดิม แต่ก็เชื่อว่าถ้าเราสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าและมีไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ให้เขาแบบที่ไดเรกต์แบรนด์ทั่วไปให้ไม่ได้ก็น่าจะไปรอด

 

คำถามสุดท้าย ยังสนุกกับร้านอยู่ไหม

จูนจูน: เราพยายามทำตัวให้สนุก อยากบอกให้คนที่อ่านบทความนี้รู้ก่อนว่าพวกเราเป็นตัวแทนของเด็กมิลเลนเนียลที่อยากเปิดร้าน ไม่อยากทำงานออฟฟิศ อยากบอกว่าเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งนี้ แต่ต้องแน่วแน่กับมันมากๆ เพราะไม่ได้สวยหรูเหมือนที่ทุกคนเห็นในโซเชียลมีเดียว่าการมีแบรนด์และหน้าร้านของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จจังเลย มันไม่ใช่แค่นั้น ซึ่งถ้าอยากทำจริงๆ ก็ทำได้ ไม่ได้ไม่เห็นด้วย แต่อยากให้รู้ว่ามันมีทั้งด้านดีและร้าย เพราะเหนื่อยมากๆ

ถ้าอยากให้สิ่งที่ทำไปได้ในระยะยาว คุณต้องแน่วแน่จริงๆ เราเองก็ไม่ได้คิดว่าร้านเราประสบความสำเร็จแล้ว มันยังโตได้อีกมากๆ และเราก็อยากให้มันเป็นได้มากกว่าที่เป็นอย่างวันนี้

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด