มองปรากฏการณ์สิ่งพิมพ์ที่กำลังแตกหน่อ หลังงาน Frankfurt Book Fair 2017

ความหวังและการสูญเสียเป็นเรื่องคู่ขนานไปกับการใช้ชีวิตเสมอ สองสิ่งนี้อาจมาก่อนหรือมาหลัง และพบเห็นเสมอๆ

งานหนังสือก็เช่นกัน Frankfurt Book Fair 2017 ที่เพิ่งจัดไประหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องราวของความหวังและการสูญเสียยังคงเป็นหัวข้อหลักที่คนไปงานมักหยิบยกเป็นประเด็นขึ้นมาถามไถ่ แสดงความกังวล หรือกระทั่งระลึกถึงกัน

ในปี 2559 รูปแบบงานปรับเปลี่ยนโดยการยุบ Hall 8 ที่เคยเป็นสถานที่รวบรวมเหล่าสำนักพิมพ์ต่างประเทศ (International Publishers) เข้าไว้ด้วยกัน โดยถูกเอาเข้ามากระจายอยู่ใน Hall 3, 4 และ 6 บ้าง ด้วยหลายเหตุผลคือการลดจำนวนลงของจำนวนบริษัทต่างๆ ที่นำเสนอ ePlatform ทำให้พื้นที่ใน Hall 4 มีจำนวนว่างมากขึ้น การเข้าควบรวมของเหล่าสำนักพิมพ์ใหญ่ที่มาใช้พื้นที่รวมกันแทนที่จะแยกเหมือนเดิม กระทั่งความต้องการให้เกิดจำนวนคนเข้าชม Pavilion ของแต่ละประเทศมากขึ้น เหล่านี้คือที่มาของการยุบ Hall 8 ทั้งสิ้น ในปีแรกมีคำบ่นมากกว่าคำชมเชย นั่นเพราะกว่าหลายสิบปีของงาน Frankfurt Book Fair ต้องมี Hall 8 เสมอมา ดังนั้นการเปลี่ยนครั้งแรกย่อมมีเสียงพึมพำไม่พอใจ

ก่อนหน้านั้น ความยากลำบากของคนทำงานในการประชุมที่ชีวิตผูกติดกับ 30 นาที (การประชุมที่ Frankfurt Book Fair จะใช้เวลาต่อสำนักพิมพ์ไม่เกิน 30 นาที ในกรณีที่สำนักพิมพ์นั้นๆต้องการนำเสนอส่วนของทั้ง US และ UK หรือมีประเด็นมากก็อาจขอนัดเป็น 60 นาที แต่เป็นเรื่องไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก) การเข้าประชุมกับสำนักพิมพ์ที่อยู่ทั้ง Hall 8 และ Hall 4 สมัยนั้นคือ ‘ต้องวิ่ง’ หรือถ้าโชคดีก็กระโดดขึ้นชัตเติ้ลบัสที่มีบริการ แต่ด้วยขนาดจิ๋วมากและวิ่งช้า ทำให้หลายครั้งก็ไม่อาจสนองการเร่งของเวลาให้ทันได้

ในตอนนั้น Frankfurt Book Fair จึงเป็นงานที่จัดการประชุมแบบ Back-to-Back-Meeting ไม่ง่ายเลยเพราะเป็นยิ่งกว่าเก้าอี้ดนตรี การมาช้าหมายถึงเวลาของเราเองที่จะหายไป ไม่ได้ขยับเวลาแต่อย่างใด เพราะเมื่อครบเวลาจะมีรายต่อไปมายืนรออยู่แล้ว ดังนั้นการรวมฮอลล์แบบนี้ทำให้เกิดผลดีมากขึ้น ระยะทางและระยะเวลาที่ใช้ก็ลดลง ง่ายต่อการไปให้ทันเวลาประชุมมากขึ้น สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็เริ่มเห็นข้อดีนี้ในปีนี้เอง

ในงาน Frankfurt Book Fair อาจแบ่งสำนักพิมพ์และคนทำงานออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ อันดับแรกคือสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ปีนี้มีทั้งควบรวมกิจการมากขึ้น รวมถึงแยกตัวออกเพื่อบริหารจัดการเองก็ไม่น้อยเช่นกัน อย่าง Penguin Group และ Random House ที่ควบรวมกิจการกันตั้งแต่สามปีที่แล้วเป็น Penguin Random House ก็เพิ่งจะมาสมบูรณ์ในปีนี้

ส่วนของสำนักพิมพ์ที่แยกตัวออกทำการขายเอง จากเดิมที่อยู่ใต้ชายคาของสำนักพิมพ์ใหญ่ อาทิ DK, Bloomsbury ที่เคยรวมอยู่ใน Penguin ก็เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สินค้าของสองสำนักพิมพ์นี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การอยู่ใต้ชายคาอาจทำให้ธุรกิจของตัวเองเป็นเพียงของฝาก ที่ปกติจะเห็นได้จากการส่งผ่านแคตตาล็อกให้เท่านั้น หาได้อธิบายจุดแข็ง จุดขายของหนังสือแต่อย่างใด จนเมื่อเกิดการแยกตัวถึงพบว่ามีการขายเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกทีเดียว

จำนวนคนเข้างาน Frankfurt Book Fair ปีนี้เพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมองให้ลึกจะเห็นว่าเป็นการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เรานำข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่างานนี้คนน้อยลงหรือเสื่อมมนตร์ขลังลงมาวิเคราะห์พบว่า จำนวนคนมางานในช่วง 5 วันอยู่ที่ 286,425 คน โตขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์จากปี 2016 และยังเพิ่มสูงกว่าปี 2015 อยู่ 1.65 เปอร์เซ็นต์ โดยตัวเลขรวมของปีนี้รวมเอาผู้ออกบูธ จำนวน 7,300 คน จาก 102 ประเทศ แถมด้วยจำนวนโต๊ะที่เปิดขึ้นเพื่อการเจรจาลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 500 โต๊ะ เรียกได้ว่าเป็นสถิติใหม่ของงานเลยทีเดียว

จำนวนเหล่านี้ทำให้ผมกล้าเรียกได้ว่าตอนนี้คือ ‘ยุคทองของการอ่าน’ ท่ามกลาง Digital Confusion ตามด้วยกระแส Digital Fatigue และการกลับไปหาความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตแช่มช้า ชีวิตที่ออกนอกกรอบเทคโนโลยี แต่ดำรงอยู่อย่างมีสัมพันธ์ที่พอเหมาะ ประกอบกับคุณภาพหนังสือมีความหลากหลาย และสำนักพิมพ์ นักเขียนต่างผลิตงานคุณภาพสุดยอดออกมามากขึ้น การออกนอกกรอบของงานสิ่งพิมพ์ทำให้เราเริ่มเห็นกระดาษใหม่ๆ คุณภาพ และเทคนิคที่แพรวพราวขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไม่ใช่เรื่องของการถวิลหาความรุ่งเรื่องของอดีตอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่กำลังแตกหน่อ เติบโตใหม่อีกครั้ง

เมื่อย้อนกลับมาในบ้านเรา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือดี หนังสือที่ผลิตสวยงามออกมามากมาย และบางเล่มเกิดกระแสแย่งกันจอง ต้องพิมพ์ซ้ำ แม้ว่าเงื่อนไขของจำนวนพิมพ์จะเปลี่ยนไป ก็ถือเป็นบทเรียนที่สำนักพิมพ์ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนและอุดมการณ์ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าเป็นยุคทองของการอ่านได้อย่างไร เมื่อหนังสือเริ่มกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้งในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ โลกเริ่มแคบลงสำหรับคนทำหนังสือ เราเริ่มให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อย งานประกวดปกหนังสืออย่าง 100abcd หรือ Leipzig Book Fair หรือหนังสือ Limited Edition ของสำนักพิมพ์ Openbooks ก็ทำให้เราตื่นเต้นและตื่นตัว สำนักพิมพ์อย่าง Fullstop เริ่มนำเอางานอิลลัสเตรชั่นสวยๆ มาพิมพ์ลงกระดาษดีๆ คุณภาพนำปริมาณเริ่มเป็นคำตอบสำคัญและทำให้เราเห็นว่า ‘ตัวจริงของคนทำหนังสือเท่านั้นที่จะได้ไปต่อ’

แสงสว่างที่คนทำหนังสือพยายามเพ่งมองท่ามกลางความมืดมิดมาเป็นเวลานับตั้งแต่การโดนครอบงำจากเทคโนโลยีก็เริ่มใกล้เข้ามามากขึ้น ถ้าไม่สะดุดตัวเองอีกครั้งก็คงจะถึงในไม่ช้า

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ในงาน Frankfurt Book Fair มีสำนักพิมพ์มาปรับทุกข์กับผมว่า ทำไมยอดขายในรูปแบบ eBook บน Amazon ของเขากลับมีตัวเลขลดลงไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ บางปกอาจลดลงไปมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ส่วนของหนังสือกลับมีออเดอร์มามากขึ้น ปีนี้เขาเลยต้องไปใช้บริการกระจายสินค้าจากตัวแทนใหญ่ๆ เพราะขนหนังสือเองไม่ไหว มันปวดหลัง เขาถามผมว่า “ที่ประเทศนายเป็นไง” ผมบอกว่าไม่รู้คนอื่นนะ

“แต่เราซื้อหนังสือจากนายมากขึ้นไม่ใช่หรือ”

ภาพ icorn.org

AUTHOR