FEVER ROOM : อภิชาติพงศ์ในระบบ 4DX

แม้จะดูเป็นช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนตัวของคนทำหนังฮอลลีวูดที่ค่อยๆ กระโดดออกจากโรงภาพยนตร์และจอหนัง หันไปทำหนัง VR หรือเกมแนว Augmented Reality กันหมด ซึ่งก็ฟังดูน่าตื่นเต้นดี แต่ในบรรดาคนทำหนังสายศิลปะหรือฝั่งอินดี้นั้น การกระโดดกลับไปกลับมาระหว่างโรงภาพยนตร์และแกลเลอรี่นั้นเกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอ ผู้กำกับหนังหลายคนเป็นทั้งคนทำหนังและช่างภาพ หลายคนทำงานวิชวล ทำงานวิดีโอ อินสตอลเลชั่น รวมไปถึงงานเพอร์ฟอร์มานซ์ และทั้งหมดนี้ถูกรวมอยู่ในตัวของผู้กำกับไทยที่ชื่อ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ผมอาจไม่ได้มีความรู้เรื่องศิลปะมากมาย จึงอยากเขียนถึงพี่เจ้ยด้วยสายตาของคนทำหนังคนหนึ่งและแฟนหนังที่ติดตามงานมาตั้งแต่หนังสั้นชุดแรกและหนังยาวเรื่่องแรกที่ชื่อ ดอกฟ้าในมือมาร รวมแล้วประมาณเกือบ 20 ปี อ้างมาเยอะขนาดนี้ก็ยังรู้สึกเกร็งๆ และไม่ค่อยกล้าเขียนถึงพี่เขามาก แต่หลังจากได้ดูโชว์ชุด Fever Room (ชุดมินิ) ที่งาน Metaphors: Sound and moving image with Kick The Machine ณ Bangkok Citycity Gallery แล้วก็รู้สึกว่าช่างมันเถอะ อยากเขียน (ซึ่งมีอะไรก็แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ)

เอาจริงๆ ชีวิตต้องตอบคำถามจากน้องๆ ว่า “พี่เต๋อ ดูหนังพี่เจ้ยรู้เรื่องไหม” หลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่พยายามอธิบายมาตลอดคือ งานของอภิชาติพงศ์ไม่ได้มีสตอรี่ที่เราจะใช้ระบบการเขียนบทภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาจับได้ งานหนังหรือวิดีโอของพี่เจ้ยเป็นการนำภาพและเสียงมาประกอบกันด้วยการตัดต่อเพื่อก่อให้เกิดปฎิกิริยาทางอารมณ์และความรู้สึกบางอย่างขณะรับชม คล้ายๆ สถาปนิกก่อสร้างอาคารขึ้นมาให้ผู้คน เวลาเราเดินอยู่ในตึกก็ได้ความรู้สึกบางอย่างจากการเดินชม แม้ว่าเราจะไม่ได้เนื้อเรื่องอะไร แต่เราก็รู้สึกบางอย่าง (หรืออาจจะไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้ ซึ่งถือเป็นปกติมากๆ ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ไม่รู้สึก)

คำถามคือแล้วอภิชาติพงศ์สร้างอะไรขึ้นมา คำตอบน่าจะเป็น ‘ความฝัน’ หลายครั้งที่เขาอธิบายว่าสภาวะการนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ไม่ต่างอะไรกับการหลับและฝัน (เวลาเราฝันอะไรบางอย่างก็เหมือนการเห็นชุดภาพและเสียงต่างๆ ตัดต่อเข้าด้วยกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ไม่ได้เล่าเรียลไทม์ตามเวลาจริง ลำดับภาพให้เสร็จสรรพจากสมองหรืออะไรก็ตาม ซึ่งก็คล้ายกับการชมภาพยนตร์ที่เราจ้องมองภาพและเสียงที่ตัดต่อเรียบร้อยแล้วในที่มืด) การชมภาพยนตร์จึงเหมือนการเดินเข้าที่มืดเพื่อหลีกหนีความจริงนอกโรงหนัง ไม่ต่างจากการหลับฝันที่เราจะเดินทางเข้าไปได้ก็ต้องหลับตาก่อน ที่เหลือก็ลุ้นเอาว่าจะเจอหนังดีๆ หรือจะประสบกับฝันร้ายๆ และไม่ว่าหนังที่ดูหรือฝันที่เห็นจะรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง แต่อย่างน้อยหัวใจก็จะเต้นแรงแน่นอน

งานของอภิชาติพงศ์จึงเป็นเหมือนของเล่นที่คอยทำปฎิกิริยา หยอกเล่น หรือกล่อมเกลาผู้ชมตลอดเวลา หลายครั้งเขาบอกว่าการชมหนังของเขานั้น อยากให้ผู้ชมรู้สึกสบายๆ เหมือนมานั่งสมาธิ หรือจะหลับไประหว่างดูก็ไม่เป็นไร เพราะหนังที่อยู่ตรงหน้านั้นไม่ใช่เครื่องเร้าอารมณ์หรือต้องการให้เกิดความเศร้าใดๆ มันคือภาพที่ฉายให้ดูตรงหน้าและเปิดกว้างให้ผู้ชมรู้สึกอะไรก็ได้ ผมถึงบอกน้องๆ ว่าไม่ต้องดูเรื่องก็ได้ เพราะตัวหนังไม่ได้ดีไซน์มาให้เป็นแบบนั้น

การดูหนังพี่เจ้ยมาตั้งแต่แรก ติดตามทีละเรื่องๆ อาจจะทำให้เราเห็นภาพรวมไม่ชัด เพราะหนังแต่ละเรื่องก็ทิ้งช่วงห่างกันหลายปี ดังนั้นพอผมมีโอกาสไปเยือนนิทรรศการชุดใหญ่ที่ชื่อ Apichatpong Weerasethakul : The Serenity of Madness อันเป็นการรวมผลงานเกือบทั้งหมดทุกชิ้นของพี่เจ้ยมาจัดแสดงพร้อมกันในที่เดียวกัน สิ่งที่ดีที่สุดของงานนั้นคือเราได้เห็นความหลงใหลเฉพาะทางของเขา ซึ่งอันที่จริงก็ปรากฎในผลงานเขาเกือบทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสง ควัน ความเชื่อ ผี วิญญาณ ความมืด ความฝัน ความจริง ความทรงจำส่วนตัว การสร้างภาพยนตร์ โรงหนัง ชาติภพ ประเทศไทย คอมมิวนิสต์ ระบอบการปกครอง ความกดขี่กดทับชนกลุ่มน้อย การเซนเซอร์ ฯลฯ

ในนิทรรศการครั้งนั้นมีงานชิ้นหนึ่งชื่อ Firework (2014) ที่สกรีนภาพวิดีโอลงบนแผ่นกระจกใสที่รับภาพได้ในห้องมืด สิ่งที่เราเห็นนั้นโดยส่วนตัวคิดว่าคล้ายกับการเห็นวิญญาณลอยมาปรากฎตรงหน้ามาก (แม้ว่าชีวิตจะไม่เคยเห็นวิญญาณจริงๆ ก็ตามน่ะนะ) และนี่อาจเป็นผลต่อยอดมาจากการถ่ายทำฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ อันเป็นฉากการปรากฎตัวของวิญญาณที่ถ่ายทำด้วยวิธีการเอากระจกมารองรับภาพสะท้อนของนักแสดง ไม่ได้ใช้ซีจีในการสร้าง งาน Firework ชิ้นนั้นทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าบางทีงานของอภิชาติพงศ์นั้นน่าจะแสดงประสิทธิภาพเต็มที่เมื่อมันอยู่นอกจอภาพยนตร์ก็เป็นได้ เพราะหากเขาอยากให้คนดูได้ experience งาน งานชุด Firework นี้ทำให้เรารู้สึกใกล้เคียงกับคำว่า experience มากที่สุดแล้ว

และแม้พี่เจ้ยจะไม่เคยได้ยินความคิดนี้ของผม แต่ในที่สุดเขาก็ทำงานที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ในโลกของอภิชาติพงศ์อย่างแท้จริง

งานชื่อ Fever Room ในครั้งแรกที่ได้ยินนั้น ไม่มีใครอธิบายได้ว่าคืออะไร ทุกคนบอกมาแค่มันเล่นในโรงละคร จบ แค่นั้นเลยจริงๆ เวลาต่อมาเมื่อมันเปิดแสดงในต่างประเทศและมีคนไทยจำนวนหนึ่งได้รับชมไปเป็นที่เรียบร้อย ทุกคนก็เหมือนไม่รู้จะอธิบายอย่างไร (หรือจริงๆ พวกเขาไม่ต้องการจะอธิบาย เพราะไม่อยากจะสปอยล์ใดๆ) ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดี เพราะงานนี้น่าจะถึงพร้อมสมบูรณ์ในการประสบถ้าคุณไม่เคยรู้มาก่อน

จนสุดท้ายมันถูกแสดงที่งาน Metaphors ณ กรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเซอร์ไพร์สพอสมควร เพราะที่ผ่านมางานต่างแสดงในโรงละคร และเราไม่คิดว่าอภิชาติพงศ์จะตัดสินใจลองแสดงมันในกล่องคิวบ์ขาวสี่เหลี่ยมของ Bangkok Citycity Gallery (เมื่อได้ยินครั้งแรกถึงกับตกใจและเมสเสจไปหาพี่ลูกตาล-ศุภมาศ พะหุโลว่า really ???) ในงานอีเวนต์นั้น ก่อนจะถึงงานชุด Fever Room เราก็ได้ชมหนังสั้นเรื่องต่างๆ ของบรรดาสมาชิกชาว Kick the Machine ผู้เป็นกองกำลังสำคัญและทีมงานเบื้องหลังหนังเรื่องต่างๆ ของอภิชาติพงศ์ ผมเองลืมอ่านรายชื่องานที่แสดง ทำให้วันนั้นผมไม่รู้ว่างานไหนคืองาน Fever Room จนกระทั่งโปรเจกเตอร์เหนือหัวเริ่มเปล่งประกายแสงประหลาด, ประหลาดกว่าทุกชิ้นงานที่แสดงก่อนหน้านี้

(ขออนุญาตสปอยล์ แต่อ่านไปก็คงไม่เหมือนกับการสัมผัสเอง)

งานชุด Fever Room คือการปล่อยแสงออกมาจากโปรเจกเตอร์เหนือหัว คล้ายๆ เรานั่งอยู่แถวหน้าโรงหนังบริเวณหน้าจอแล้วหันกลับไปมองแสงของเครื่องฉายหนังจากห้องฉายด้านบน สักพักควันประหลาดก็พวยพุ่งออกมาเต็มห้องตัดกับลำแสงจากโปรเจกเตอร์นั้นที่กำลังส่องใส่หน้าคนดู ทำให้เราเห็นโพรงแสงที่มีควันเวียนว่ายไปรอบๆ (ถ้านึกให้ง่ายที่สุดคือเหมือนคุณกำลังอยู่ใน Hyperdrive ของยานอวกาศใน Star wars หรือ Wormhole ในหนังไซไฟหลายเรื่อง) เป็นความรู้สึกพิเศษที่คนทำหนังและคนดูหนังมีโอกาสให้หันหน้าย้อนกลับไปดูต้นทางของแสงที่เคยมอบภาพยนตร์ให้เรา

บางช่วงของการแสดงทำให้เราคิดถึงการเห็นผีตรงหน้า การเห็นสวรรค์ การเห็นพระเจ้า หรือมิติเหนือธรรมชาติทั้งหลาย มีแสงบางแสง ควันบางควันที่ไม่รู้จะอธิบายเป็นตัวหนังสืออย่างไร และการที่มันไม่สามารถอธิบายเป็นตัวหนังสือได้นี่แหละ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันมีบางอย่างในโลกนี้ที่ต้องถูกแสดงออกผ่านภาพและเสียงจริงๆ การพรรณนาเป็นตัวอักษรมอบความรู้สึกนี้ให้ไม่ได้ นอกจากภาพและเสียงแล้ว งานชุด Fever Room ยังเรียกร้องให้คนดูต้องเดินทางออกจากบ้านมาอยู่ในพื้นที่แสดง ต้องเห็นกับตาตัวเอง ไม่สามารถดูผ่านดีวีดี แผ่นบลูเรย์ หรือยูทูบได้

ทั้งหมดนี้เหมือนอภิชาติพงศ์ได้ดึงองค์ประกอบสำคัญของงานตัวเองออกมาแสดงในระบบ 4D บรรดาควัน แสง ผี โรงภาพยนตร์ ชาติภพ อะไรต่างๆ ถูกยกให้เห็นตรงหน้าและรอบตัว ขณะที่ผมรับชมก็คิดในใจว่าตลกดีที่ผมรู้สึกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์บันเทิงอาจเข้าสู่ยุคหนัง 4D ได้จริงๆ ผ่านงานแสดงของอภิชาติพงศ์ผู้อยู่ปลายขอบจักรวาลของอุตสาหกรรมนี้ งานชุด Fever Room ทำให้เรานึกออกว่าความบันเทิงของผู้คนยุคหน้าน่าจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าต้องไกลว่าเก้าอี้สั่น ปล่อยควันได้ และพ่นน้ำใส่หน้าแบบในโรงหนังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

เหนืออื่นใด กลับมาในฐานะผู้ผลิตงานเช่นกัน ผมมีความคิดอยู่ตลอดถึงการสร้างโปรเจกต์เล่าเรื่องที่อยู่นอกจอภาพยนตร์ แต่มันยากเกินไปที่จะคิดออก การสร้างงานให้อยู่ในจอและการสร้างงานนอกจอหนังนั้นเรียกร้องความรู้ในการสร้างที่แตกต่างกันสิ้นเชิง การที่คุณจะสร้างงานอย่าง Fever Room ได้ไม่สามารถใช้ความรู้ทางภาพยนตร์ได้อย่างเดียว คุณจะต้องร่วมมือกับชาวเทคโนโลยีหรือผู้ถนัดด้านอื่นๆ เข้ามาร่วมสร้างให้เกิดขึ้น เพราะคุณจะสร้างโลกแล้ว ไม่ใช่แค่สร้างภาพในจอ

หลังจากงานเสร็จสิ้น ผมมีโอกาสพูดคุยกับทีมงานเบื้องหลังคือ พี่ริศ-อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ในยูนิตของเสียง และพี่ต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข ในยูนิตของการโปรเจกชั่น ถึงได้รู้ความซับซ้อนของการสร้างงานชิ้นนี้ ตัวอย่างเช่น การปล่อยควันที่อุณหภูมิร่างกายคนมีผลต่อการดึงดูดควันเข้าหาและอาจทำให้ควันไม่สามารถลอยไปดั่งที่ดีไซน์ได้ ดังนั้นการแสดงรอบถัดไปพวกเขาจะลองเปิดแอร์ให้เย็นขึ้น หรือเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ถึงการแสดงในประเทศไทย ทั้งคู่ก็ตอบว่ามันเป็นไปได้ยากมากๆ เพราะหากจะต้องการแบบฟูลล์สเกลจริงๆ ต้องติดลำโพงเข้าไปอีกมากมายในโรงละครนั้น และผู้ชมต่อรอบก็ถูกกำหนดให้เข้าชมได้ทีละน้อย อาจทำให้ราคาตั๋วต่อใบพุ่งสูงถึง 5,000 – 6,000 บาทได้เลย ซึ่งพวกเขาไม่แน่ใจว่าเป็นราคาที่คนไทยยอมจ่ายหรือไม่ เพราะราคาพอๆ กับบัตรคอนเสิร์ต Ed Sheeran เลยนะ

ทิ้งท้ายท้ายสุดก่อนเดินทางกลับบ้าน สมพจน์ ชิตเกษรพงษ์ และชัยศิริ จิวะรังสรรค์ สองทีมงานหลักของงานชิ้นนี้บอกว่า “ที่ดูไปวันนี้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของงานจริงที่เคยแสดงนะครับ”

ขอบคุณมากครับคุณสมพจน์และคุณชัยศิริที่ทำให้ผมอยากดูงานเต็มสเกลจริงๆ

“แมตช์ต่อไปคือที่ไทเปนะครับ” พวกเขากล่าวทิ้งท้ายของทิ้งท้าย

“ครับ” ผมกล่าวทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกอะไรก็ไม่รู้ แต่พอเดินทางออกจากสถานที่แสดง ผมก็รู้สึกว่าเหมือนเดินทางออกจากความฝัน ออกจากการหลับใหล

เหมือนฟื้นไข้ ก็ว่าได้

ภาพ Bangkok Citycity Gallery

AUTHOR