Memoria ความลวงตาของภาพความจริง และเสียงเงียบสงัดอันอึกทึก

“สิ่งที่ผมต้องการให้ทุกคนทำ คือปล่อยใจให้โล่งๆ แล้วปล่อยอารมณ์ให้คล้อยตามไปกับหนัง ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เอ็นจอยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าพอ”

นี่คือประโยคที่ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เดินเข้ามาบอกโดยมี Tilda Swinton อยู่ข้างๆ ก่อนที่หนัง Memoria รอบพิเศษจะฉายที่หอภาพยนตร์ ประโยคและคำพูดเหล่านี้เป็น key word สำคัญมากๆ ในการดูหนัง Memoria รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ของเขา 

Memoria เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Jessica (Tilda Swinton) หญิงคนหนึ่งตื่นขึ้นมาในเมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย เพราะได้ยินเสียงปัง! ในหัว หลังจากนั้นเธอได้ยินเสียงนั้นเป็นช่วงๆ วรรคๆ เสียงนี้ทั้งทำให้เธอตกใจและคาใจในเวลาเดียวกัน ทำให้เธอออกเดินทางหาที่มาของเสียง’ 

นั่นคือเรื่องย่อของหนังที่ได้ทุนและถ่ายทำในประเทศโคลัมเบีย เคียงคู่กับดาราฮอลลีวู้ดที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างทิลดา การมาร่วมงานกันครั้งนี้ เกิดจากการที่ทั้งสองคนมีอุดมการณ์ มุมมอง ความชอบ และการให้คุณค่าบางอย่างที่เหมือนๆ กัน รวมไปถึงนิยามคำว่า “ภาพยนตร์” ที่ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับการมีเรื่องราว (story) มีพัฒนาการตัวละคร (character development) หรือมีการเล่าเรื่องตามลำดับเวลา (chronological) องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนอยู่ใน Memoria อย่างชัดเจน

ถ้าพูดถึงเอกลักษณ์ของผู้กำกับ คำว่า ‘ลายเซ็น’ สามารถแปลความได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ดีเทลเล็กๆ อย่างการใส่ฉากเท้าในหนังของ Quentin Tarantino และการเขียนบทให้ตัวละครพูดเยอะๆ หรือ Christopher Nolan ที่มักเน้นเล่าเรื่องเกี่ยวกับเวลาในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ, Wes Anderson ที่เป็นนักสมมาตรตัวยง ส่วนหว่องกาไว ก็มีคำนิยามของความหว่องที่ชัดเจน 

Memoria เป็นหนังที่มีลายเซ็นของเจ้ย อีกแง่หนึ่ง มันทำให้เราได้รู้จักตัวเขาลึกขึ้น เขาเป็นคนพูดจานิ่มๆ สุภาพ มีอารมณ์ขันเล็กน้อย ชอบความจริงแท้ ไม่ค่อยอินกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนเร็วเกินไปและอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดมหาศาล ไปจนถึงสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชีวิตของเขาเกี่ยวพันหรือผูกโยงกับ เตียง ผู้ป่วยติดเตียง ความตาย บ้านไม้ ป่า ต้นไม้ ต้นกล้วย กล้วยไม้ ธารน้ำ และเรื่องเหนือจริง

Memoria เป็นหนังที่เล่นประเด็นของเสียงได้อย่างน่าสนใจ ทุกอย่างเริ่มมาจากเสียง ‘ปัง!’ ในหัวที่ Jessica ได้ยิน และการออกตามหาเสียงนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปหา sound engineer เพื่อให้ประดิษฐ์เสียงขึ้นมาเลียนแบบหรือการสังเกตมองไปรอบๆ ถึงต้นกำเนิดเสียง นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของเสียงอื่นๆ เช่นกันว่า อะไรคือความจริงแท้ของเสียงนั้น และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเข้าใจ—ในที่นี้หมายถึงเสียงที่ได้ยิน—นั้นถูกต้องตามการรับรู้ของเรา

ฉากหนึ่งที่ผมชอบมากในหนัง คือการพูดถึง ‘ช่องทาง’ หรือ ‘ตัวกลาง’ ที่ใช้สื่อสารหรือการให้กำเนิดส่งต่อเสียงหนึ่งๆ ที่มักจะบิดเบือน ผิดเพี้ยน และแตกต่างกันเสมอ ตรงนี้คือการพูดถึง ‘แก่น’ ที่ส่งผ่าน ‘เปลือก’ ชนิดใดชนิดหนึ่ง ในขณะที่อีกฉากคือฉากซื้อตู้เก็บกล้วยไม้ที่พูดถึง ‘แก่น’ ที่แตกต่างของมันกับที่มาแตกต่างกัน แม้รูปร่างหน้าหรือ ‘เปลือก’ เหมือนกันเป๊ะ ทั้งสองฉากทำให้เราตระหนักว่า ไม่สามารถที่จะเชื่ออะไรได้เลยจนกว่าจะได้รู้เกี่ยวกับมัน หรือต่อให้เชื่อก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งนั้นเที่ยงตรงกับความเป็นจริงแค่ไหน 

หนังมีการใช้เสียงได้ยอดเยี่ยม เข้าขั้นละเอียดลออ สามารถหลับตาและจินตนาการตามได้เลยว่าขณะนั้นกำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง เสียงปัง! บทสนทนา เสียงน้ำในลำธาร เสียงใบไม้ปลิวไสวเพราะลมพัดพา เสียงคนเดิน เสียงเพลง ฉะนั้นการดูหนัง Memoria ในโรงจึงเป็นทั้งประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมทางด้านเสียง และได้รับข้อความที่เจ้ยต้องการจะสื่อสารในเรื่องของตัวกลางและช่องทางที่ได้พูดถึงไปเมื่อตอนต้น 

สิ่งที่หนังกระตุ้นให้เราคิดคือ ประเด็นที่แทรกมาในหนัง ทั้งเรื่องของการเมือง ความจริงแท้ ข้อมูลข่าวสาร ประวัติศาสตร์ และอำนาจที่กุมทุกอย่างดังกล่าวไป อำนาจนี้เลือกได้ว่าจะใช้ ‘ตัวกลาง’ เก็บสิ่งเหล่านี้เฉยๆ ปล่อยให้สงสัยใคร่รู้ ปล่อยเพื่อทดสอบอำนาจตัวเอง ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจเชื่อมโยงกับเรื่องเสียงและภาพในหนัง บางเหตุการณ์ในชีวิตเราจะได้พบเสียงและภาพไม่ตรงกัน เช่น เมื่อเรามองเห็นฟ้าแลบก่อนที่จะได้ยินเสียงฟ้าร้อง บางครั้งเสียงเหล่านั้นก็หลอกเราให้เชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง เหมือนเสียงแมวร้องตอนกลางคืนที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงเด็กทารก

อภิชาติพงศ์สนใจการเมือง ชอบถามถึงข้อเท็จจริง ความเป็นจริง และอิสรภาพ เขาเหมือนส่งข้อความในหนังว่า การรับรู้ ความเข้าใจ และการโหยหาอิสรภาพ ขึ้นอยู่กับทั้งขนาดของสภาพแวดล้อมนั้นๆ และตัวของผู้อยู่อาศัยเช่นกัน ว่าต้องการที่จะหาคำตอบ หรืออยู่ในที่แห่งนั้นโดยที่พึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่

เจ้ยวันนี้มีความคล้าย Kim Ki-Duk ผู้กำกับหนังชาวเกาหลีอยู่ไม่น้อย คิมเป็นสายสัจนิยมเหมือนกัน ชอบเล่าเรื่องเกี่ยวกับป่าและแม่น้ำ กับชีวิต สัจธรรม และความตายเหมือนกัน ที่ยกตัวอย่างเทียบกันก็เพื่อจะบอกว่า นอกจากเนื้อความแล้ว ทั้งคู่ใช้สไตล์การทำหนังที่เรียกว่า ‘สัจนิยม (Realism)’ คือการนำเสนอโดยเน้นความเป็นธรรมชาติ ที่ต้องการเวลากับการแช่กล้องเพื่อให้คนดูเกิดการสังเกตทุกรายละเอียดในเฟรม ดื่มด่ำกับเสียง ภาพ และบรรยากาศจนถูกชี้นำความรู้สึกให้ลอยละล่องไปตามที่ผู้กำกับต้องการ

Memoria เป็นหนังอีกเรื่องของเจ้ย ที่แสดงให้เห็นว่าหนังของเขาไม่ได้ทำง่ายๆ เขาคัดและเค้นความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่อยากจะพูด และความเป็นตัวเองออกมาอยู่ในเฟรมภาพภาพเดียวได้อย่างชาญฉลาด 

สาเหตุที่เราพูดถึงตัวหนังไปพร้อมๆ กับความเป็นอภิชาติพงศ์ ก็เพราะสองอย่างนี้ยึดโยงกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การทำความรู้จักตัวตนของผู้กำกับเพื่อให้ดูหนังได้เข้าใจและสนุกขึ้น ทั้งยังเห็นได้ถึงความเฉียบคมของผู้กำกับที่สื่อสารข้อความได้อย่างครบครันโดยที่ไม่จำเป็นต้องมี narrative กับการเล่าเรื่องแบบ traditional หรือจำเป็นต้องเน้นเหตุผลที่มาที่ไปเสมอไป

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูหนังของเจ้ยคือ ปล่อยให้คล้อยตามไปกับอารมณ์ที่หนังนำเสนอไปทุกขณะอย่างที่เขาบอก appreciate กับธรรมชาติ สิ่งรอบตัว ทุกโมเมนต์ และความรู้สึก ไม่ต้องมองว่านี่คือภาพ ไม่ต้องเข้าใจว่านี่คือการได้ยินเสียง ไม่จำเป็นต้องตีความก็ได้ โดยเฉพาะกับ Memoria ที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับโลก ความเป็นจริง ตัวเรา กาลเวลา สถานที่ในเชิง objective ไม่มีสิ่งใดเป็นจริงแท้มากน้อยไปกว่ากัน แม้จะดูหยุดนิ่งแต่ก็ไหลผ่านกันในด้านความหมายและการรับรู้อยู่ตลอดเวลา หนังยังจงใจเปิดกว้างให้สามารถตีความได้หลายแบบอย่างไม่มีผิดมีถูกอีกด้วย 

ถ้าเจ้ยได้ยินใครก็ตามตีความหนังเขาเรื่องนี้ หรือตีความว่า ‘รู’ และ ‘เสียง’ คืออะไร เขาจะไม่บอกว่าผิดหรือถูก ใช่-ไม่ใช่ ตรงกับที่เขาต้องการจะสื่อหรือไม่ แต่จะเก็บมาคิดและมองว่าการตีความนั้นขยี้ประเด็นของเขาอย่างไร น่าสนใจอย่างไร  และที่เขาคงจะชอบมากที่สุดก็คงจะเป็นความคิดนั้นต่อยอดจากความคิดของเขาอย่างไร 

ความสำเร็จของเด็กหนุ่มจากขอนแก่นที่เติบโตเป็นผู้กำกับของโลก เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่น่าคิดคือ เราควรที่จะยินดีกับความเป็นตัวแทนหมู่บ้านของเจ้ย หรือตั้งคำถาม ว่าเพราะเหตุใดเขาถึงต้องทำเรื่องขอทุนเพื่อทำหนังไกลถึงต่างประเทศ ประเทศไทยขาดอะไร? 

อย่างน้อยที่สุด ชายที่ชื่อ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ มักจะพูดเสมอว่า “หากเราไม่สามารถต่อรองหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หรือไม่มีพลังมากพอ เราทำได้แค่ทำในสิ่งที่เราทำได้ ในวงของเรา และเป็นเรื่องดีไม่น้อยเลยครับ ถ้าการทำหนังของผมจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนสนใจจะทำหนังต่อจากนี้”

คำพูดนี้คือสิ่งที่น่าปรบมือที่สุด และเป็นการขยายวลี ‘Long Live Cinema’ ที่เจ้ยได้พูดไว้ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปีที่แล้วได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุดเช่นเดียวกัน

AUTHOR