#womenmarch ม็อบยุคใหม่ที่ไม่ได้จบแค่การประท้วงบนถนน

หลังจาก Donald Trump ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่
45 ของสหรัฐอเมริกาเพียงอึดใจ เราก็เห็นการเดินขบวนเรียกร้องครั้งใหญ่ของชาวสหรัฐอเมริกาเพื่อพูดถึงการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของผู้หญิงภายใต้ชื่อ
Women’s March การเดินขบวนดังกล่าวนอกจากมีศูนย์กลางที่รัฐวอชิงตันแล้ว ยังมีการรวมตัวกันในอีกหลายเมืองทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว
มีการประเมินว่ามีคนร่วมเดินขบวนในวอชิงตันกว่า 500,000
คนและกว่า 4.8 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงจาก Wikipedia) จนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ระดับโลกรับปี
2017 กันเลยก็ว่าได้

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นจะเริ่มต้นพุ่งประเด็นไปที่ตัวนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของคนทั้งโลก แต่ความน่าสนใจที่ไม่แพ้กันคือ
Women’s March กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการใช้โลกออนไลน์ในการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ
กับการเดินขบวนบนท้องถนน

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโลกวันนี้นั้น กระแสสังคมต่างๆ
ถูกพูดถึงและ
‘จุดติด’ บนโลกออนไลน์อยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะการมีสื่อในมืออย่าง
Facebook, Instagram, Twitter ทำให้คนทุกคนแชร์ความคิดและบอกเล่าความรู้สึกผ่านช่องทางของตัวเองได้
ในอีกทางหนึ่ง เมื่อมีการเรียกร้องอะไรบางอย่าง ก็จะไม่แปลกที่คนซึ่งสนับสนุนความคิดดังกล่าวจะใช้สื่อของตัวเองในการแสดงจุดยืนเพื่อบอกต่อกับคนในเครือข่ายของตัวเอง
ทั้งนี้ล้วนมาจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการชวนเชิญให้คนอื่นร่วมไปกับจุดยืนของตัวเอง
เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ หรืออย่างน้อยคือการยืนยันในตัวตนของตัวเองที่เป็นอยู่ และนั่นทำให้เกิดคอนเทนต์มหาศาลบนโลกออนไลน์เมื่อมีการขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง
นอกจากนี้แล้ว คุณสมบัติดังกล่าวยังทำให้เห็นคนจำนวนมาก ‘ร่วมประท้วง’ ไปด้วยได้แม้ว่าตัวเองจะไม่อยู่บนท้องถนนก็ตาม เพราะพวกเขาใช้ ‘ถนนออนไลน’ อย่างหน้านิวส์ฟีดของเฟซบุ๊กและไทม์ไลน์ของทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ประท้วงได้

การสร้างแฮชแท็ก #womenmarch กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสสังคมออนไลน์ที่ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ แถมบรรดาคนดังที่มีคนติดตามมากมายก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงจุดยืนของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ของตน
ซึ่งนั่นเร็วเสียกว่าการรอสำนักข่าวต่างๆ ไปติดต่อสัมภาษณ์ออกทีวีเสียอีก และเมื่อมีคนนำก็ย่อมมีคนตาม
ต่อเนื่องเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว

อีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เรื่องดังกล่าวสะพัดคือคุณสมบัติของการสร้าง ‘บทสนทนา’
บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการคอมเมนต์บนโพสต์ต่างๆ หรือการแชร์ต่อไปเรื่อยๆ
แถมบทสนทนาเหล่านี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องจบลงในช่วงเวลานั้นๆ เหมือนอย่างการพูดคุยปกติ
หากแต่มันทลายเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ไปได้เพราะใครๆ ก็เข้ามาอ่านความคิดเห็นต่างๆ
ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แม้แต่โพสต์ที่มีอายุกว่า 3 วันก็ยังเข้าไปอ่านและให้ความเห็นต่อไปได้เรื่อยๆ
ซึ่งผิดกับการสื่อสารในสมัยก่อนที่มีข้อจำกัดมากมาย

สิ่งที่ #womenmarch สะท้อนให้เราเห็นได้อย่างดี
คือการประท้วงหรือขับเคลื่อนอะไรบางอย่างในวันนี้อาจจะไม่ได้จำเป็นต้องพึ่ง
‘สื่อมวลชน’ แบบสมัยก่อน ประเภทต้องรอติดตามข่าวทางโทรทัศน์จากช่องข่าวดังๆ
เพราะมีคนมากมายร่วมรายงานสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่องผ่านโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย
วิดีโอ หรือแม้แต่การถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live และนั่นคือการนิยามรูปแบบการประท้วงแบบใหม่ชนิดที่คนทำงานด้านการเมืองอาจจะต้องย้อนกลับมาคิดแล้วว่ากลยุทธ์แบบก่อนนั้นเพียงพอหรือเปล่าที่จะรับมือกับกระแสสังคมที่อยู่ในอีกโลกหนึ่ง

มันอาจจะทำให้คนยุคเก่าต้องหวนคิดแล้วว่าการควบคุมสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวแบบแต่ก่อนอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะใครๆ
ก็เป็นสื่อเองได้และยากที่ใครจะไปควบคุมได้หมด

#womenmarch คงไม่ใช่การชุมนุมประท้วงครั้งสุดท้ายที่เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้
เพราะนับวันโลกดิจิทัลจะทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยมีออกไป การรวมตัวของคนที่จะร่วมสนับสนุนความเห็นต่างๆ
จะง่ายกว่าแต่ก่อนโดยไม่ต้องโดนเงื่อนไขของสถานที่และเวลา และนั่นอาจจะเป็นการปฏิวัติรูปแบบการประท้วงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

และแน่นอนว่าปรากฏการณ์ครั้งต่อไปจะยิ่งทวีคูณขึ้นจนยากเกินกว่าเราจะคาดเดาได้

AUTHOR