ทำไม ไรอัน เรย์โนลด์ ต้องจูบกับ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ในงานประกาศรางวัล Golden Globes Awards?

ปี
2014 พิธีประกาศรางวัลออสการ์มีเหตุการณ์ถ่ายภาพ ‘กรุ๊ปฟี่’ ที่บรรดาผู้เข้าชิงรางวัลถ่ายกันเล่นๆ
(แต่ก็กึ่งจะตั้งใจ) อันเป็นภาพถ่ายแห่งทศวรรษ
เรารู้ทันทีว่าทิศทางของพิธีประกาศรางวัลทางภาพยนตร์นั้นอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ไม่ต้องสนใจพิธีการเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับพิธีประกาศรางวัลนั้นอาจจะเป็นผู้ชมมากกว่ารางวัลด้วยซ้ำ

พิธีประกาศรางวัลเหล่านี้มีจุดประสงค์หลายทางในการจัด ทั้งมอบรางวัลเกียรติยศให้คนทำงาน
เชิดชูศิลปะภาพยนตร์ ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ทำให้หนังที่ได้รางวัล (หรือแค่ได้เข้าชิง) มีมูลค่ามากขึ้นในท้องตลาด
เป็นการเสริมสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และยังเป็นอีเวนต์ที่คล้ายเป็นรายการทีวีโชว์ในเวลาเดียวกัน
เป็นการออกสื่อครั้งใหญ่ของดารานักแสดง
เพราะกล้องวิดีโอนับร้อยพร้อมจะจับตาพวกเขาเพื่อส่งภาพไปให้คนดูนับล้าน

ดังนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพิธีประกาศรางวัลจึงถูกวางแผนมาอย่างดี
ตั้งใจทำ และซีเรียส

คลิป opening ของงานลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards 2017) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
มีพิธีกรชื่อดัง จิมมี่ ฟอลลอน กระทำการมิวสิคัลยิ่งใหญ่แบบหนังเรื่อง La La Land พร้อมด้วยบรรดาดาราฮอลลีวู้ดและนักแสดงซีรีส์มากมายที่มาปรากฏตัวในเทคเดียวกัน
สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากดารานักแสดงเหล่านั้นไม่พร้อมใจเคลียร์คิวให้
ซึ่งแน่นอนว่าคนดูแลคิวของดาราเหล่านี้คงจะต้องพยายามหาคิวถ่ายให้ได้เช่นกัน
เพราะพวกเขาคิดว่าการที่นักแสดงของพวกเขาได้มาอยู่ในวิดีโอเหล่านี้
มันจะเป็นพื้นที่สื่อชั้นดีและมีคุณภาพที่ทุกคนต้องดู ต้องแชร์ ต้องรีทวีต และมันก็จะอยู่ตลอดไปในยูทูบ

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเงินทองและวิชาชีพ
แต่ความคิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคลิป opening ของงานมอบรางวัลเหล่านี้เป็นคลิปต๊องๆ ทำแล้วจบกันไป ทำให้มันพอมีฉาย
ซึ่งนักแสดงก็คงรู้สึกว่าไม่รู้จะทำสิ่งนี้ไปทำไม ทำไปก็ไม่มีใครดู ว่าง่ายๆ คือ พอคนทำคลิปซีเรียส คนที่จะมาร่วมงานก็จะเกิดพลังงานที่จะมาร่วมงานขึ้น
เพราะคิดว่ามันจะออกมาดี
ซึ่งมันก็จะมาพร้อมกับการเอาเม็ดเงินมาลงทุนสร้างคลิปสั้นๆ 3 – 4 นาทีเหล่านี้ให้เกิดขึ้น (ค่าใช้จ่ายสูงแน่นอน ตั้งแต่ค่าตัวดารา ค่าซ้อม ค่านักเต้น ค่าโปรดักชัน ฯลฯ) ว่าง่ายๆ คือ กูไม่ได้มาเล่นๆ
และพอตั้งใจทำให้ต่อเนื่องจนกลายเป็นประเพณี ใครกันล่ะจะไม่อยากรู้ว่าคลิป opening ปีนี้จะเป็นยังไง ไปๆ มาๆ
หลายคนอยากดูคลิปหรือโชว์ในงานประกาศมากกว่าตัวผลประกาศด้วยซ้ำ นี่เองที่ผมคิดว่าผู้จัดงานพิธีมอบรางวัลเหล่านี้ไม่ได้คิดว่านี่คือการมอบรางวัลแล้วจบๆ กันไป
มันคือธุรกิจอีเวนต์โชว์ขนาดใหญ่ที่พร้อมจะดึงดูดสินค้าต่างๆ มาลงโฆษณา
เพราะมีคนรอดูสิ่งนี้อยู่นับล้านๆ

นอกจากในเชิงธุรกิจของสินค้าและโฆษณาแล้ว
งานพิธีประกาศรางวัลยังเป็นสนามประลองกำลังเรียกเรตติ้งชั้นดีของบรรดาดารานักแสดงต่างๆ
ดูได้จากการแข่งกันเริ่ดบนพรมแดงด้วยเสื้อผ้าราตรีจากแบรนด์ต่างๆ มากมาย (แน่นอนว่ามันก็เป็นพื้นที่โฆษณาของแบรนด์เสื้อผ้าด้วย) หรือจะเป็นการแข่งขันประชัน speech รับรางวัลต่างๆ ทั้งแนวซึ้งใจและแนวการเมือง

แต่ในยุคนี้การชิงพื้นที่สื่อรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจและเริ่มพอจะสังเกตได้มากขึ้นเรื่อยๆคือ
การชิงพื้นที่สื่อขอบเฟรม คือถ้านายไม่เด่นและไม่สามารถไปอยู่กลางเฟรมได้
นายก็ไปตลกแถวๆ ขอบเฟรมก็ได้ เด่นเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น การทำอะไรก็ได้ให้ BuzzFeed เอาไปลง ทำพฤติกรรมบ้านๆ ให้กลายเป็นมีม เริ่มมาตั้งแต่เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กระทำการโฟโต้บอมบ์ในงานลูกโลกทองคำปี
2014
จนมาถึงปีนี้ที่จอห์น เลเจนด์ ยืนเมื่อยแล้วไปนั่งกับพื้นด้านหลังลิบๆ ในเฟรมที่ไรอัน เรย์โนลด์ กำลังสัมภาษณ์อยู่ หรือจะเป็นช็อตที่ไรอัน กอสลิ่ง ขึ้นรับรางวัล แล้วเราเห็นไรอัน เรย์โนลด์ กับแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ที่อยู่ด้านล่างเวทีไกลๆ ยืนกอดและจูบปากดีใจกันแบบเวอร์ๆ
ซึ่งไอ้ภาพเล็กๆ ไกลๆ แตกๆ นั้น ก็สามารถกลายเป็นข่าวฮาๆ ให้คนแชร์เล่นกันได้อย่างสนุกสนานทั้งวัน
(ไปๆ มาๆ ผมนี่ลืมไปเลยว่าไรอัน กอสลิ่ง ได้รางวัล)

กลายเป็นว่าในแต่ละปี สิ่งที่เหนือสุดคือทุกคนพยายามรอดูว่าปีนี้จะมีอะไรเหวอสัดๆ
(แบบที่นักแสดงดูไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อให้เป็นมีม) ไม่ว่าจะเป็นช็อตที่ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ โดนเลดี้กาก้าเดินชนศอกในงานลูกโลกทองคำปีก่อน
หรือปีนี้ที่เอ็มม่า สโตน จะกอดผู้กำกับ เดเมียน ชาเซล แต่เข้าผิดจังหวะ
เลยกอดลมแทน (โอว awkwardddd มาก) ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นไฟล์ .gif ในหน้าฟีดเฟซบุ๊กทั่วโลกอีกที
ไม่ว่ายังไงพวกเขาเหล่านั้นก็ได้ออกสื่อมากมาย แม้ว่าสุดท้ายจะไม่ได้รางวัลอะไรกลับไปเลยก็ตาม
จึงไม่น่าแปลกใจที่คนมาร่วมงานจะรู้ว่าปีนี้ตัวเองคงชวด แต่พวกเขาก็ยังยินดีมาร่วมงานอย่างสมัครใจ

เราเดาไม่ได้หรอกว่าไอ้การไปนั่งพื้นหรือจูบกัน จริงๆ แล้ว มันคือความตั้งใจหรือแค่เป็นธรรมชาติของดาราเหล่านั้น
แต่ผมคิดว่าสงครามความเรื้อนนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
เพราะมันเป็นการออกสื่อที่ชาญฉลาด ตลก ได้ผลมาก และที่สำคัญคือ ฟรี

แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อพิธีประกาศรางวัลนั้นศักดิ์สิทธิ์, ศักดิ์สิทธิ์ของผมนั้นแปลว่า กูเอาจริง
กูไม่ได้ให้รางวัลเล่นๆ กูจะทำให้มันได้ผลทางธุรกิจ กูจะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และพวกมึงทุกคนจะต้องเสียใจถ้าไม่ได้รับเชิญเข้ามาในงานปีหน้า
หรือพวกมึงต้องเสียดายหากพลาดดูถ่ายทอดสดงานประกาศ
มันคือความศักดิ์สิทธิ์ที่คนในวงการและคนดูเต็มใจเรียกเอง

ว่าง่ายๆ คือเป็นพิธีประกาศรางวัลจริงๆที่ไม่ใช่แค่พิธีประกอบรางวัลเฉยๆ

ภาพ thesun.co.uk, aceshowbiz.com, vanityfair.com และ nbc.com

AUTHOR