ปีใหม่มา สื่อเก่าจะไป (หรือเปล่า?)

ปีที่ผ่านมานั้นน่าจะเป็นปีที่คนในวงการสื่อร้อนๆ
หนาวๆ เหมือนกัน
เพราะถ้าไล่เรียงกันมานั้นก็จะเห็นว่ามีข่าวไม่ค่อยดีในแวดวงสื่อสารมวลชนสักเท่าไร
ตั้งแต่การปิดตัวไปของนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม
ปัญหาคาราคาซังของทีวีดิจิทัลที่ดูท่าผู้ประกอบการก็ไม่ค่อยจะโอเคสักเท่าไหร่ จนมีการปรับองค์กรกันให้เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ

สิ่งที่หลายๆ คนกำลังตั้งคำถามคือสื่อเก่าจะยัง
‘รอด’ อยู่ไหม โดยเฉพาะวันที่คนจำนวนมากผันตัวกลายเป็นคนเสพสื่อดิจิทัลอย่าง Facebook และ YouTube
มากกว่าเดิม และโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่พอหันไปถามๆ
กันก็พบว่ามีจำนวนน้อยที่ยังดูทีวี

ถ้าว่ากันจริงๆ สื่อเก่าคงไม่ถึงกับจะอยู่
‘ไม่รอด’ แบบที่ฟังดูแล้วเหมือนจะสูญพันธุ์กันไป
แต่เราก็ต้องยอมรับว่าสื่อดั้งเดิมเหล่านี้ไม่ได้มีอิทธิพลและเป็นที่นิยมเหมือนสมัยก่อน
ส่วนหนึ่งเพราะการเข้ามาของสื่อทางเลือกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ช่องทางและความสะดวกที่นับวันก็จะยิ่งรวดเร็วและสะดวกกว่าเดิมเสียอีก

หลายคนหันไปเสพข่าวสารบนออนไลน์ก็เพราะมือถือทุกวันนี้เป็นสมาร์ทโฟนกันเกือบหมด อินเทอร์เน็ตมือถือก็เร็วพอจะโหลดนั่นโหลดนี่ได้ทันใจ
การอัพเดตบนออนไลน์นั้นก็เร็วกว่าการนั่งรอติดตามข่าวต้นชั่วโมง ข่าวภาคค่ำ
หรือหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น รายการทีวีก็ไม่จำเป็นต้องดู ณ เวลานั้นๆ
เนื่องจากดูย้อนหลังได้ ฯลฯ
มันก็เลยไม่แปลกที่คนคุ้นเคยกับวิธีการเสพคอนเทนต์ผ่านสื่อออนไลน์นั้นจะค่อยๆ
(หรือเปล่า?) เปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อไป

นั่นยังไม่นับการที่โลกออนไลน์ทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นผู้ผลิตรายการทีวี
เป็นคอลัมนิสต์ชื่อดัง เป็นครีเอทีฟที่มีคนติดตามล้นหลามได้
โดยที่ตัวเองอาจจะไม่ต้องสังกัดช่องทีวีไหนหรือนิตยสารเล่มไหนเลย
และไม่ใช่เรื่องแปลกที่บล็อกหรือเพจต่างๆ จะมีคนตามมากกว่ายอดจำหน่ายนิตยสารดังๆ YouTube Channel บางอันมีคนดูมากกว่ารายการทีวีเสียอีก
เพราะคนเหล่านี้ล้วนมีความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายและโดนใจคนที่ติดตามได้เพราะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า
แถมยังไม่ต้องติดเงื่อนไขทั้งเรื่องของจำนวนครั้งที่ต้องออกอากาศ ความยาวของบทความ
ความถี่ที่ต้องออก ฯลฯ

ผมจำได้ว่าเคยอ่านบทความหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว
เขาพูดถึงเรื่องการล่มสลายของการ ‘ผูกขาด’ สื่อที่เคยมีมา
เพราะมันจะเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคจำนวนมากจะกลายเป็นคนสร้างคอนเทนต์ที่มาพร้อมไอเดียบรรเจิด
และเหล่าคนที่เคยประกอบอาชีพครีเอทีฟ คอลัมนิสต์ ผู้จัดรายการ ผู้กำกับหนัง
ก็จะเจอคู่แข่งจากทุกทิศทุกทางซึ่งพร้อมจะแย่งคนดูที่เคยอยู่ในกำมือเพราะไม่มีทางเลือกของสื่อมากนัก

อำนาจของสื่อเก่าที่ถูกสั่นคลอนนี้อาจจะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง
ไม่ใช่แค่กับธุรกิจของสื่อเหล่านี้เท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงอาชีพของคนทำงานสื่อสารมวลชนที่อาจจะต้องนั่งทบทวนกันแล้วว่าอนาคตนั้นจะต้องปรับตัวกันอย่างไร
เพราะทิศทางของสื่อดิจิทัลนั้นนับวันก็จะมีแต่ถาโถมเข้ามาและเบียดสื่อเก่ามากขึ้นกว่าเดิม

เรียกว่าจากสมัยก่อนเคยมีการแซวๆ กันทำนองว่า
ต้องทำงานหนังสือพิมพ์นะแล้วจะรุ่ง แล้วมาอีกยุคก็จะบอกให้ไปทำงานวิทยุ แล้วก็มีโทรทัศน์
แต่มาถึงวันนี้หลายๆ
คนในอุตสาหกรรมก็มองหน้ากันแล้วชักไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรกันต่อไปดี

ซึ่งนั่นก็อาจต้องตั้งคำถามไปยังสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดว่า
วันนี้ทักษะและความรู้ที่มีในหลักสูตรนั้นจะยังเพียงพอให้คนที่จบมานั้นใช้กับสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัลได้หรือไม่
เพราะก็ต้องยอมรับกันตรงๆ
ว่าองค์ความรู้เรื่องสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัลนั้นเป็นเรื่องใหม่มากๆ
แล้วก็ยังไม่มีใครบอกได้ชัดว่าจะต้องทำกันแบบไหนถึงจะประสบความสำเร็จ
(หรือแม้กระทั่งถามว่า “แบบไหนที่เรียกว่าสำเร็จ”)

แต่ที่แน่ๆ คือวงการสื่อสารมวลชนคงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หากคนทำงานในวงการนี้ยังทำอะไรเหมือนๆ เดิมก็คงจะไม่ใช่เรื่องเข้าท่าสักเท่าไรนัก
เพราะวันนี้ผู้บริโภคก็เปลี่ยนพฤติกรรมกันไปเยอะแล้ว

ขืนทำอะไรเหมือนเดิมๆ
สุดท้ายจะไม่เหลือคนดูแล้วต้องปิดตัวไป มันก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอยู่ไม่น้อยทีเดียวกระมัง

AUTHOR