‘ทำไมคนถึงอ่านหนังสือน้อยลง?’ คำถามที่คนในวงการหนังสือทุกคนต้องร่วมกันตอบ

“จงอ่านหนังสือมากขึ้น”

ประโยคที่ฟังแล้วดูดีแต่ไร้ความหมายที่เป็นแก่นสารเหลือเกิน
ทุกประเทศในโลกมีวิธีจัดการกับปัญหาไม่ว่าจะเรื่องการอ่านที่ลดลง หรือหนังสือที่เกรงกันว่าจะค่อยๆ
เลือนหายไป เรามักได้ยินประโยคคุ้นๆ แคมเปญเดิมๆ อาทิ ‘รณรงค์การอ่าน’ ‘สร้างนิสัยการอ่าน’ หรือเอาให้ใหญ่ไปเลยก็ ‘สร้างเมืองแห่งการอ่าน’ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บอกเลยว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในวงการหนังสือกันแน่
เรากำลังทำสิ่งเดิมๆ เพื่อรอให้วงจรเดิมหมุนกลับมาอย่างนั้นหรือ

ระยะเวลาที่ใช้ไปมากกว่า 10 ปีและเม็ดเงินในจำนวนที่ยากจะเดาได้ถูกนำไปใช้ผสมเหล้าสูตรเดิมเพื่อบรรจุลงขวดใหม่แล้วเอามาสร้างความหวังกันอีกครั้ง
เราไม่เคยนำข้อมูลหรือพยายามจะสร้างข้อมูลเพื่อถามตัวเองว่า ‘ทำไมคนถึงไม่อ่านหนังสือ’ ‘ทำไมคนถึงอ่านหนังสือน้อยลง’ หรือ ‘อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการเพื่อจะกลับมาลองอ่านหนังสืออีกครั้ง’ ข้อสรุปที่ชัดเจน ตัวเลขที่จับต้องได้ไม่เคยถูกนำมาวิเคราะห์และวางแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมเลย
เรามีสมาคมฯ มีกลุ่มชน มีนักเขียน มีร้านหนังสือ แต่เราไม่มีทีมเวิร์กและความจริงใจที่จะช่วยกันทำงานจริงๆ

สิ่งที่เรารอคืองานขาย และเก็บของกลับบ้านพร้อมความสบายใจว่าได้ระบายสต็อก
ได้เงิน

เราตื่นขึ้นมาด้วยความไม่สบายใจว่าหนังสือตายแล้ว
แต่จะมีกี่ครั้งที่เราจะถามว่า ‘งานหนังสือที่ผ่านมามีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
เพราะอะไร’ ทั่วโลกจัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อพยายามทำให้เกิดกิจกรรมการอ่านหนังสือ
และเพื่อพยุงธุรกิจหนังสือให้มีลมหายใจต่อในทางอ้อม อาทิ World Book Night, World Book Day, Love to Read,
Books Are My Bag หรืองานสัปดาห์หนังสือในบ้านเรา แต่งานเหล่านี้ยังคงเป็นการพายเรือในอ่างที่ถ้าจะให้มองเห็นฝั่งฝันก็คงไม่ง่าย

ทำไมเรายังถึงพายเรือในอ่างนี้ต่อไปเล่า? ต้องยอมรับเถอะว่าคนในวงการหนังสืออาจจะเป็นประเภทเห็นต้นไม้แต่ไม่เห็นป่า
แล้วทำไมเราถึงจะไม่ก้าวออกไปร่วมกับหน่วยงาน หรือธุรกิจประเภทอื่นๆ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูให้การอ่านกลับมาอีกครั้ง
โดยเริ่มจากหาข้อมูลที่แท้จริงมาวิเคราะห์ว่าทำไมคนถึงอ่าน และทำไมถึงไม่อ่าน
เสียก่อน

James Spackman จากสำนักพิมพ์ Profile Books แนะว่า
จุดเริ่มต้นคือนำข้อมูลในอุตสาหกรรมหนังสือมารวมกันเสียก่อน เพื่อหาว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน
เจมส์ยกตัวอย่างผลการเก็บข้อมูลจากงาน World Book Night ที่ประเทศอังกฤษในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า
2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าพวกเขาต้องการอ่านหนังสือมากขึ้น และ 48 เปอร์เซนต์ บอกว่าพวกเขายุ่งมากเกินกว่าที่จะอ่านหนังสือ
เมื่อเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์จริงจัง เราอาจทราบสาเหตุแท้จริงของการไม่อ่านหนังสือได้
และทราบวิธีที่จะเอาชนะคู่แข่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกวันนี้ได้
เจมส์ทิ้งท้ายว่าตราบใดที่ผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขายุ่งมากเสียจนไม่มีเวลาอ่านหนังสือ
แต่ยังมีเวลาสำหรับการดื่มไวน์สักแก้ว ทำไมเราจะไม่สามารถแย่งวิถีชีวิตและเวลากลับมาให้กับหนังสือบ้างไม่ได้

ระหว่างคุณภาพและปริมาณมักจะขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ
ตอนเริ่มต้นเรามักจะต้องการทั้งคุณภาพและปริมาณ แต่ลงท้าย ปริมาณก็นำทุกที ในเรื่องการอ่าน
แน่นอนว่าเราทุกคนต้องการคุณภาพ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างหรือวัดผลได้เมื่อจบงาน
คุณภาพเป็นบริบทที่ต้องสร้างอย่างต่อเนื่องและถูกทาง คำกล่าวที่ว่า ‘Reading is good for you’ ฟังดูไร้ประโยชน์ทันทีถ้าไม่สามารถทำให้เกิดคุณภาพที่นำคนอ่านน้อยกลายเป็นคนอ่านมาก
และคนอ่านมากยิ่งขึ้นไปอีกในบริบทที่คุณภาพสร้างให้เกิดปริมาณได้

คำว่าสร้างคุณค่าฟังดูซับซ้อน
แต่มันคือหน้าที่หลักของหนังสือ หนังสือยังสามารถสร้าง ผลกระทบให้เกิดขึ้นได้เสมอ หลายคนเปลี่ยนชีวิตจากหนังสือ
ดังนั้นการสร้างหัวข้อที่เป็นอัตลักษณ์ของหนังสือ
สร้างคุณค่าใหม่ทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดใหม่

หนังสือที่มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอย่าง
This Girl Can ที่ไม่ได้เน้นภาพความสวยงามของผู้หญิงที่ออกกำลังกาย
ไม่ได้มีหุ่นดี แต่เป็นหนังสือที่สื่อถึงผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาออกกำลัง
เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ที่สำนักพิมพ์และสมาคมกีฬาของอังกฤษ (Sport England) ร่วมมือกัน (Cross-Industrial Collaboration)โดยหวังจะโปรโมตให้ผู้หญิงหันมาเห็นคุณค่าของการออกกำลังเพื่อตัวเธอเอง
This Girl Can สร้างคุณค่าให้แก่สังคม
ทั้งยังเป็นปรากฎการณ์การทำงานระหว่างอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้หนังสือได้ทำหน้าที่ที่ตัวมันเองทำได้ดีกว่าแค่จะมีคำจำกัดความว่า ‘ดี’

การเรียกร้องความเสมอภาคหรือการเปิดเวทีให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมมีมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกวงการหนังสือ แต่ในวันนี้ถ้าลองยืนมองชั้นหนังสือ แล้วเอาหนังสือดังต่อไปนี้ออกจากชั้น
หนังสือที่ไม่มีตัวละครเอกเป็นผู้หญิง หนังสือที่เจ้าชายพูดคนเดียว หนังสือที่เจ้าหญิงต้องรอเจ้าชาย
เราจะเหลือหนังสือกี่เล่มบนชั้นที่เด็กผู้หญิงจะได้เลือกอ่าน หนังสือที่สร้างจินตนาการของเธอได้เท่ากับเด็กผู้ชาย
อาจจะเหลือไม่ถึง 10 เล่มก็ได้
Goodnight Stories for Rebel Girls เป็นอีกหนึ่งเล่มที่สร้างคุณค่าและมีคุณค่า
โดยรวบรวมผลงานเอกทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะที่สร้างสรรค์โดยผู้หญิงเพื่อจะบอกเด็กผู้หญิงทุกคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ว่า
ผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ในโลกใบนี้ เธออาจเป็นนักบินอวกาศ เป็นนายกรัฐมนตรี และนี่คือคุณภาพที่จะนำมาสู่ปริมาณในที่สุด

รูปแบบหนังสือเล่มไม่ได้เป็นช่องทางสื่อสารทางเดียวกับคนอ่าน
ลืม e-book ไปก่อนเพราะลำพังต้องหาทางรอดให้ตัวเองทุกวันนี้ก็ยากอยู่แล้ว
เราจะจำกัดขอบเขตที่หนังสือเล่ม และพระรองคือ Audio Book หรือหนังสือเสียง ซึ่งมาอย่างเงียบๆ แต่ทำงานได้ดีไม่แพ้หนังสือเล่มเลยดีเดียว
ด้วยอัตราการเติบโตกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในประเทศอังกฤษ หนังสือเสียงเป็นโอกาสและจุดเชื่อมของ
Cross-Industrial Collaboration ที่แท้จริง หนังสือเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลอย่าง The Mixer: The Story of Premier League Tactics, from Route One to
False Nines
โดย Michael Cox ที่หลังจากออกหนังสือ เขาก็ทำ The Mixer Podcast ออกมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมเรื่องราวของหนังสือ
โดยเอาสุดยอดโค้ชอย่างโชเซ มูรินโญ หรือนักเตะชื่อดังต่างๆ มาวิเคราะห์ถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นหนังสือเล่มที่มีจำหน่ายทั้งส่วนที่เป็นหนังสือเสียงและยังไม่ทิ้งโอกาสในการทำออกมาเป็น
eBook ด้วยเช่นกัน
ซึ่งหนังสือหลายเล่มในอังกฤษตอนนี้ก็ขยายโอกาสออกมาทำ Cross-Industrial Collaboration มากขึ้นเรื่อยๆ และนี่เองเป็นตัวสร้างคุณค่าให้แก่หนังสือ
และคู่ควรที่จะได้อ่านด้วยเช่นกัน

ธุรกิจหนังสืออาจไม่ได้ต้องการพระเอกขี่ม้าขาวแต่อย่างใด
แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องสู้ เรื่องหนังสือและการอ่านใหญ่เกินกว่าที่จะอยู่ในมือคนเพียงวงการเดียว
การร่วมมือกัน สร้างจุดหมายที่เห็นพ้องว่าดีจริงๆ สละเวลาที่เอาไปใช้ทุ่มเทกับการจัดงานลดราคาหนังสือประจำปีที่ปริมาณคือตัววัดเพียงอย่างเดียว
จากคำถามที่ว่า ‘ปีนี้ขายหนังสือได้เท่าไหร่’ เป็น ‘ปีนี้เรามีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเท่าไหร่’ ‘มีกิจกรรมที่สร้างคุณค่าที่แท้จริงให้แก่คนอ่านมากแค่ไหน’ แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้ประกอบการทุกคนหันมามองวัตถุประสงค์เดียวกัน การเปลี่ยนแปลงอาจใช้เวลานานกว่าที่คิด
แต่อย่างน้อยวันนี้มันก็ต้องได้เริ่มต้นมิใช่หรือ?

AUTHOR