เอาขยะมาแล้วเอาเงินไป ‘GEPP Sa-Ard’ สตาร์ทอัพที่จับคู่คนอยากขายขยะกับคนอยากซื้อขยะ

Highlights

  • GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) แพลตฟอร์มเชื่อมโยงระหว่างคนอยากขายขยะกับคนอยากซื้อขยะให้มาเจอกันได้ง่ายขึ้น ชาวเมืองที่ยังต้องหิ้วถุงพลาสติกกันอยู่ทุกวันก็สามารถแยกและขายขยะรีไซเคิลได้ ส่วนคนที่ตั้งใจอยากแยกขยะแต่ยังไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหนก็แค่ยกหูโทรศัพท์ ทักไลน์ไปหา หรือเพียงใช้นิ้วจิ้มผ่านแอพพลิเคชั่น GEPP ก็จะมีคนรับซื้อขยะไปหาคุณถึงที่
  • ทีม GEPP พัฒนาตัวเองให้เป็น data house เรื่องขยะที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการเก็บขยะใน 13 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงในเขตพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยพวกเขาใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น
  • สิ่งของที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นรีไซเคิลได้แทบทุกอย่าง แต่บ้านเรามีอัตราการรีไซเคิลอยู่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บางประเทศ สิ่งของเหล่านั้นจะถูกนำไปรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
  • บ้านเรามีโรงงานรับซื้อขยะทุกประเภทอยู่ทุกพื้นที่ รวมถึงขยะที่จัดการได้ยาก ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการแยก แสดงว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเรื่องนี้สูงมาก แถมเรายังมีระบบโลจิสติกขยะที่ได้เปรียบด้วย

ตอนนี้ คนกลุ่มหนึ่งกำลังส่งเสียงบอกว่าการแยกขยะรีไซเคิลนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย สนุก และสะดวก

ใครๆ ก็ช่วยกันดูแลโลกได้โดยไม่ต้องรู้สึกอึดอัดหรือต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันเกินไปนัก พวกเขาเข้าใจดีว่าเรายังต้องใช้ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ขวดน้ำ หลอด กระดาษ ในชีวิตประจำวัน หากเลิกใช้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่แยกขยะไว้ก็พอ 

คนกลุ่มนี้กำลังสร้างระบบรับซื้อขยะที่ตอบโจทย์กับความต้องการของคนทุกประเภท แค่เข้าใจเรื่องขยะอย่างถูกต้องก็ทำได้เลย 

พวกเขาชื่อว่า GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) แพลตฟอร์มเรียกรถรับซื้อขยะรีไซเคิลตามวัน เวลา และสถานที่ พวกเขากำลังเชื่อมโยงให้คนอยากขายขยะกับคนอยากซื้อขยะมาเจอกันง่ายขึ้น และวันนี้เรามีนัดคุยกับ โดม บุญญานุรักษ์ CMO และผู้ร่วมก่อตั้ง GEPP

GEPP เชื่อว่าจริงๆ แล้วการแยกและขายขยะรีไซเคิลไม่ควรเป็นเรื่องที่ยาก ชาวเมืองที่ยังต้องหิ้วถุงพลาสติกกันอยู่ทุกวันก็สามารถแยกและขายขยะรีไซเคิลได้ ส่วนคนที่ตั้งใจอยากแยกขยะแต่ยังไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ก็แค่ยกหูโทรศัพท์ ทักไลน์ไปหา หรือเพียงใช้นิ้วจิ้มผ่านแอพพลิเคชั่น GEPP ก็จะมีคนรับซื้อขยะไปหาคุณถึงที่ ง่ายๆ เท่านี้เลย

ก่อนเก็บ

ก่อนมาเป็น GEPP Sa-Ard ในวันนี้ ต้องย้อนเวลาไปเมื่อปีที่แล้ว

ในวันนั้น โดมยังคงทำงานในแวดวงสถาปนิกและอสังหาริมทรัพย์ตามวิชาความรู้ที่ตัวเองร่ำเรียนมา เขาเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ จนกระทั่ง แหม่มมยุรี อรุณวานนท์ CEO สาวของ GEPP ผู้มีแพสชั่นอยากจัดการปัญหาขยะของชาวเมืองมาชวนให้โดมลองทำงานนี้ด้วยกัน

แหม่มคือคนที่เห็นว่าในสังคมเรายังรีไซเคิลขยะกันไม่มากเท่าไหร่นัก และปัญหานี้แก้ได้ด้วยการมีเครื่องมือที่ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมคน เธอต้องการสร้างวิถีการแยกขยะที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนหมู่มาก

ส่วนโดมในวันนั้นคือชายหนุ่มที่กำลังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างสูง เขาเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตว่าตัวเองสามารถช่วยสังคมนี้ให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง นั่นทำให้โดมตัดสินใจกระโจนเข้าใส่โปรเจกต์นี้อย่างไม่ลังเล

“แต่ก่อนเราทำงานเป็นสถาปนิก ยังไม่สนใจเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ระหว่างทางไปออฟฟิศเราก็ยังซื้อของริมทาง จะใส่ถุงพลาสติกกี่ใบเราก็ไม่ว่า จะมีแค่บางครั้งที่เริ่มรำคาญว่าถุงมันเยอะไป รวมๆ กันก็ได้ อย่างดีก็มีฟีลแค่นี้

จริงๆ เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาสังคม เราเริ่มทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แล้ว แต่พอไปนั่งมองมันลึกๆ แล้วยังไงต่อล่ะ ทำเป็นแพลตฟอร์มขายบ้านเหรอ แบบนี้มันไม่อิมแพกต์เลย เราไม่อินน่ะ แล้วพี่แหม่มเอาเรื่องขยะมาคุยกับเราอยู่พักหนึ่ง จนเริ่มทำกันราวๆ กันยายนปีที่แล้ว ช่วยคิดกันว่าจะแก้ปัญหาเรื่องขยะยังไงดี พอคิดไปคิดมาก็เลยมาออกที่เรื่องขยะรีไซเคิล

เราลองดูตัวอย่างประเทศที่มีการจัดการขยะดีอย่างญี่ปุ่น เราไม่เคยเห็นเขาลดแพ็กเกจจิงที่ใช้ห่ออาหารหรือของใช้เลยนะ เราไปเมื่อ 20 ปีก่อนกับไปปีที่แล้วญี่ปุ่นก็ยังเหมือนเดิม ทำไมเขาไม่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะพวกนี้ แล้วคำว่าบรรจุภัณฑ์ โดยนิยามของมันหมายถึงอะไรบางอย่างที่ห่อหุ้มเพื่อความสะดวกสบายของเรา ให้เราถือได้ ให้เราจับได้ ห่ออาหารได้ไม่ให้มันเสีย นั่นคือเป้าประสงค์ของมัน เพราะงั้นแล้วตัวมันก็ไม่ผิดและตัวเราก็ไม่ผิดที่จะใช้ สำคัญคืออยู่ที่จัดการกับมันยังไงมากกว่า เราคงพยายามลดการใช้เพราะนั่นคือสิ่งที่ควรทำ แต่บางโอกาสสำหรับหลายๆ คนมันไม่ใช่ เขายังคงต้องใช้อยู่โดมอธิบายถึงปัญหาที่ตัวเองพบเจอด้วยความเข้าใจ การจัดการขยะรีไซเคิลให้ง่ายที่สุดจึงเป็นสิ่งที่ GEPP กำลังหยิบยกขึ้นมา

แรกเก็บ

การทำงานที่สร้างผลกระทบต่อคนหมู่มากเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ของคนไม่กี่คน โดมและแหม่มเริ่มจากกระบะหนึ่งคันกับทีมงานไม่กี่ชีวิต

ทีม GEPP เริ่มลองเข้าไปเก็บขยะอย่างสุภาพและน่าเชื่อถือ ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้การรับซื้อขยะเป็นบริการที่มีคุณภาพ เริ่มจากการผลัดเวียนกันไปรับขยะตามตารางเวลา โดยมีคุณป้าแม่ค้าในฟู้ดคอร์ตย่านสาทรคนหนึ่งเป็นลูกค้าคนแรก

เราเข้าไปถามป้าว่าแยกขยะขายหรือเปล่า ป้าบอกไม่ได้แยกเพราะบางทีเก็บไว้นาน แล้วคนเก็บขยะมาบ้างไม่มาบ้างหรือมาแล้วก็ไม่รับ เพราะงั้นป้าเลยเลือกที่จะไม่แยกขยะดีกว่า นี่เป็น pain point ของเขาเลย เพราะถ้าแยกขยะไว้ก็ต้องมาพะว้าพะวังว่าคนซื้อขยะจะมาหรือเปล่า ตอนนั้นเราเลยชวนป้ามาขายขยะให้กับเรา

ตอนนั้นเราคิดว่าความสะดวกคือการใช้ไลน์ติดต่อ เราเลยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยี ก็เหมือนเราทำสตาร์ทอัพมันก็ต้องจับกับเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม พอไปเจอเข้าจริงๆ ป้าใช้แค่โทรศัพท์แบบกดเท่านั้นเอง เขาไม่ได้มีสมาร์ตโฟน ซึ่งแปลว่ามันคือความผิดพลาดที่เรายังไม่เข้าใจ persona อย่างแท้จริง แล้วเด็กบางร้านบอกกับเราว่าหลังเขาตอกบัตรเข้าร้านแล้วเล่นไลน์ไม่ได้หรอก แต่ถ้าขออนุญาตเฮียเพื่อโทรเรียกคนเก็บขยะมาเนี่ยทำได้นะ เราก็ซื้อซิมโทรศัพท์เลย เปลี่ยนแผนมาใช้เบอร์โทรศัพท์แทน เปลี่ยนใบปลิวใหม่หมด เดินแจกถนนเส้นเดิม

ตอนนั้นเราพบเลยว่าการบริการเป็นเรื่องสำคัญ เราเข้าหาคนอย่างสุภาพ เดินเฉิดฉายเข้าไปเลยว่าฉันมาเก็บขยะรีไซเคิลนะ ไม่ต้องเหนียมอายว่าถ้าเป็นคนเก็บขยะแล้วจะสกปรก เราทำเสื้อที่มีโลโก้เป็นกิจจะลักษณะ เราทดลองทำแบบนั้นเลย กลายเป็นว่าคนเรียกเพียบ คนเขาบอกว่าชอบเพราะมันดูน่ารักและสุภาพ เขารู้สึกดีที่เจอพวกเรา ขายขยะได้ง่ายแล้วก็ได้เงินด้วยโดมเล่า

ทีม GEPP เริ่มมีโมเดลที่แข็งแรงมากขึ้น ก่อนจะพัฒนามาเป็นการเก็บ data ปริมาณขยะในระยะต่อมา แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองให้เป็น data house เรื่องขยะที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน GEPP ให้บริการใน 13 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ ราชเทวี ปทุมวัน คลองเตย วัฒนา พญาไท ลาดพร้าว จตุจักร บางกะปิ หัวหมาก ยานนาวา สาทร บางรัก และบางคอแหลม รวมถึงในเขตพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้พวกเขาใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น

ตอนแรกคนก็ยังงงอยู่เพราะมันไม่เคยมีบริการแบบนี้ ปกติคนแค่เอาขยะไปใส่ถังขยะเขียวเดี๋ยวมันก็หายไป ไปไหนไม่รู้ ไม่สนใจ รู้แค่ว่ามันหายไปจากบ้านแล้วก็พอ เราว่าทุกคนเคยได้ยิน hate speech เกี่ยวกับขยะมากมายในบ้านเรา เช่น คนไทยไม่ชอบแยกขยะหรอก นิสัยแบบนี้ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก มาเปลี่ยนตอนนี้ไม่ทันหรอก ซึ่งจริงๆ แล้วคุณคิดไปเองหรือเปล่า

พอเราเริ่มทำจริงจังคุณป้าคนนี้เปลี่ยนไปเลย ป้าแยกขยะอย่างดีแล้วก็แยกมากขึ้น ทั้งที่เขาก็ไม่ได้เป็นคนรักโลกอะไรมากมาย เราเห็นเลยว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีแค่คนรักโลกเท่านั้นที่จะทำ แค่มีระบบที่มันสะดวก มีอะไรที่ทำให้คนเข้าใจ ปฏิบัติได้ง่าย ทุกคนก็ทำได้แล้วและก็อยากทำด้วย คุณป้าคือเคสที่เป็นกำลังใจให้กับทีมเรามาก เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆเขาเล่าด้วยความดีใจ

เก็บสะอาด

สถิติบนหน้าเว็บไซต์บอกกับเราว่าตอนนี้ GEPP เก็บขยะรีไซเคิลไปกว่า 2 ตัน เท่ากับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 460 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์ และมีสมาชิกที่ร่วมกันเก็บกว่าพันคน

พวกเขาปักธงไว้ว่าต้องเก็บ data ขยะแล้วเอามาพัฒนาต่อยอด เพราะบ้านเรายังไม่มี data เกี่ยวกับขยะที่เพียงพอจนบอกได้ว่าที่ไหนหรือบริเวณใดมีขยะเยอะหรือน้อย ถ้าหากมีข้อมูลตรงนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะก็จะช่วยให้จัดการขยะได้ดีขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งฝั่งคนรับซื้อขยะ ผู้ประกอบการร้านค้า ไปจนถึงบริษัทใหญ่ๆ เลยด้วย

เราเจอเลยว่าโซนร้านอาหารแก้วเยอะมาก ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขวดเบียร์ ขวดโซดา กระป๋อง ถ้าบริษัทที่จะทำระบบรับคืนแก้วรู้ว่าตรงไหนมีแก้วเยอะ เขาก็ไปทำ two-way station ตรงนั้นได้ อย่างโรงเรียนก็อาจมีพลาสติกหรือขวดนมเยอะ ร้านอาหารบางทีกล่องลังเยอะโดมพูดพร้อมยกแก้วกาแฟร้อนที่ซื้อมาจากร้านกาแฟข้างๆ ขึ้นมาดื่ม

เมื่อก่อนเรานึกไม่ออกนะว่าร้านกาแฟแบบนี้มีขยะอะไรเยอะ แก้วกาแฟเหรอ ไม่ใช่เลยนะ ปัญหาของพวกเขาคือกล่องลังต่างหาก เพราะว่าห้องเก็บของของร้านมีพื้นที่จำกัด เวลาเอาของเข้ามาแต่ละสัปดาห์ก็ต้องรื้อลังออกหมด แล้วเอาของใส่สต็อก แล้วก็เช็กสต็อก ร้านก็จะมีกล่องลังมหาศาล ถ้าเราไม่เก็บ data เราจะไม่เคยเห็นเลยว่าจริงๆ แล้วแฟกต์เรื่องขยะของร้านกาแฟคืออะไร

และอีกแฟกต์ที่น่าสนใจคือ แก้วกาแฟร้อนที่ชาวออฟฟิศถือกันทุกเช้านั้นสามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ตัวแก้ว ฝา และกระดาษลังคอตต็อนที่พันรอบแก้วก็สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท ถ้าหากชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกแยกอย่างถูกต้องและไปอย่างถูกทางก็เท่ากับว่าเราสามารถดื่มกาแฟโดยไม่ทิ้งขยะอะไรไว้กับโลกเลย

ยิ่งทำไปเรื่อยๆ พวกเขายิ่งค้นพบเรื่องราวการแยกขยะรีไซเคิลที่น่าสนใจ ตั้งแต่ระดับคนทั่วไปจนถึงระดับร้านค้า นั่นทำให้ทีม GEPP ยิ่งเห็นว่าการมี data นั้นสำคัญ

มีร้านทำผมชวนให้เราไปเก็บ เขาบอกว่าของทุกอย่างในร้านแทบจะเป็นขยะอันตรายไม่แน่ใจว่าจะรีไซเคิลได้ไหม พอเราไปถามคนรับซื้อปรากฏว่าของทุกอย่างในร้านรีไซเคิลได้หมดเลย เช่น กระป๋องสเปรย์ก็รีไซเคิลได้ เอาไปขายเป็นเหล็ก เราก็ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วพยายามเก็บ data ตรงนี้อยู่เรื่อยๆ

ส่วนสถานที่ใหญ่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า เรามองว่ามันอาจจะต้องมีการพัฒนาจุดทิ้งขยะรีไซเคิลที่จริงจัง แล้วสร้างระบบเพื่อชักจูงธุรกิจร้านค้าในพื้นที่ของตัวเองมารีไซเคิลมากขึ้นด้วย data ก็ได้ เช่น ถ้าร้านไหนรายงานขยะให้ทุกวันแล้วมีปริมาณขยะรีไซเคิลมากขึ้นก็จะได้รับการโปรโมตในอีเวนต์ เราว่าแรงจูงใจพวกนี้ถ้าทำให้ครบทุกขั้นตอนได้ ใครก็อยากทำ

เพื่อที่จะไปให้ถึงจุดหมายแห่งการสร้างอิมแพกต์ต่อคนหมู่มาก GEPP จึงวางแผนเส้นทางเดินของตัวเองไว้ 3 อย่างด้วยกัน

หนึ่ง ยกระดับอาชีพรับซื้อของเก่าให้เป็นทางการและมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งตอนนี้พวกเขาทำสำเร็จแล้ว 

สอง ร่วมมือแบบ B2B กับบริษัทค้าขายขยะรีไซเคิลในระดับเอสเอ็มอีที่มีรถรับซื้อขยะเป็นของตัวเอง ให้สามารถมาวิ่งรับซื้อขยะในพื้นที่ที่ GEPP กำลังดูแลอยู่

สาม แผนในระยะยาวที่เป็นเหมือนภาพสุดท้ายปลายทางคือ ให้คนทั่วไปที่มีรถขับอยู่แล้วสามารถรับทริปซื้อขยะผ่านแอพพลิเคชั่น GEPP ทำการซื้อ-ขายขยะโดยการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ ให้ผู้คนได้ขับรถไปรับซื้อขยะในละแวกบ้านของตัวเองได้

นอกจากนี้ GEPP กำลังเข้าถึงผู้คนในหลากหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ พวกเขามีเป้าหมายในการขยายระบบ GEPP ไปยังหัวเมืองหลักที่มีความเข้มข้นของขยะมาก ได้แก่  เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ชลบุรี พัทยา ระยอง ขอนแก่น และโคราช ซึ่งตอนนี้ดำเนินการแล้วในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

ระบบนี้มันจะสอดคล้องกับพื้นที่ที่มีความหนาแน่น เราพบว่าปัญหาขยะมันเกิดจาก 2 เหตุผล หนึ่งคือเราไม่มีความรู้มากพอ มันเหมือนจะง่ายแต่มันใช้ความรู้เยอะนะ และสองคือความคุ้มค่าในการจัดการ เราเลยต้องเลือกหัวเมืองที่มีความหนาแน่นของขยะ เพราะคนก็จะเรียกเยอะ

แล้ววันหนึ่งปัญหาขยะจะไม่รบกวนใจคนในเมืองใหญ่อีกต่อไป

ชวนคนเก็บ

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือสิ่งของที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นรีไซเคิลได้แทบทุกอย่าง แต่บ้านเรานั้นมีอัตราการรีไซเคิลอยู่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าถ้าเราใช้ของ 10 ชิ้นก็จะมีของเพียงแค่ 2 ชิ้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ในขณะที่บางประเทศ สิ่งของเหล่านั้นจะถูกนำไปรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

โดมบอกเราว่า หัวใจสำคัญของการผลักดันเรื่องนี้อยู่ที่การสื่อสาร’ 

การทำให้เรื่องนี้เอฟเฟกต์กับคนหมู่มากอยู่ที่การทำความเข้าใจและการสื่อสาร  เช่นว่าโฟมเป็นแพ็กเกจจิงที่ไม่มีที่ไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เลิกใช้ ในขณะที่แก้วเป็นแพ็กเกจจิงที่มีที่ไป ก็ควรจะใช้มากกว่า เราอยากบอกแฟกต์พวกนี้

บ้านเรายังขาดการสื่อสาร แล้วคนก็ไม่รู้จะถามใครว่าชิ้นนี้รีไซเคิลได้ไหม เราเชื่อว่าถ้าคนเขารู้เขาก็จะทำ เรามองว่าความรู้ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราก็ทดลองหลายอย่าง ตั้งแต่สอนคนแยกพลาสติก 7 ชนิด พบว่ามันดูน่าเบื่อมากเลย แต่ถ้าคนเขารู้ว่าพลาสติก PET จะกลายเป็นเสื้อได้นะ เส้นใยเสื้อที่พวกคุณใส่อยู่มีส่วนผสมของพลาสติก PET นะ ทุกคนจะมองมันเป็น material ทันที พอความรู้เปลี่ยนคนก็จะมองสิ่งของเปลี่ยนไป

อย่างที่ญี่ปุ่นเขาจะสื่อสารเลยว่าของชิ้นนี้หลังใช้เสร็จจะเอาไปเป็นพลังงานนะ มันทำให้เราไม่มองว่านี่คือขยะ เราก็พยายามศึกษาจากญี่ปุ่นแล้วสื่อสารเรื่องที่ไปของขยะ ถ้าเราสอนเด็กรุ่นใหม่ว่าของทุกอย่างที่คุณใช้ต้องคืนนะ ไม่สอนให้ใช้แล้วทิ้ง แล้วเรามีที่สำหรับคืน เขาก็จะไปคืนของเอง ที่สำคัญคือต้องบอกด้วยว่าของพวกนี้ไปไหน ความหมายของคำว่าขยะจริงๆ คือสิ่งที่เราไม่ใช้แล้ว แต่มันอาจมีคนอื่นต้องการใช้ต่อก็ได้

GEPP ในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มรับซื้อขยะปลายทาง แต่พวกเขากำลังพยายามเปลี่ยนความเข้าใจของผู้คนจากต้นทาง ด้วยการสื่อสารเนื้อหาเรื่องขยะที่สนุกและเข้าใจง่ายทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ GEPP ด้วยยอดไลก์กว่า 8,000 คน แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เราเป็น CMO จึงต้องดูแลเรื่องการสื่อสารเป็นหลักว่า เราจะเอาเรื่องแบบนี้เข้าถึงคนหลายๆ กลุ่มได้ยังไง แต่ละคนก็มีมุมมองเรื่องวัสดุรีไซเคิลต่างกัน คนแยกขยะหรือซาเล้งรับซื้อขยะเขาไม่ได้มองว่าฉันรักโลกหรือฉันจะช่วยโลกนะ แต่เขามองว่าพลาสติกมันมีราคา แปลว่าจริงๆ แล้วตรรกะของพวกเขาคือ urban mining ต่างหาก

เราพยายามเข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้ได้ ซึ่งยากพอสมควรเพราะบางทีเขาก็ไม่อยากคุย เขาอายที่จะบอกว่าเขาเก็บและแยกขยะขาย เพราะมันเป็นพื้นฐานความคิดว่าฉันดูเหมือนคนขาดหรือเปล่า มันคือ self-esteem ของคน เขาไม่อยากพูดเพราะ self-esteem เขาดร็อป เราต้องไปนั่งคุยกับเขาถึงจะเข้าใจจริงๆ และเรารู้เลยว่าสิ่งหนึ่งที่ GEPP ทำอยู่คือการพัฒนาอาชีพ

บางทีคนเก็บขยะเขาไม่กล้าเข้าไปในร้านเพราะเขาแต่งตัวไม่ดี เราแก้ปัญหาด้วยการทำเสื้อให้ ต่อไปเราจะสร้าง SOP (Standard Operating Procedure) กัน ทำให้เป็นมาตรฐานในการเก็บขยะ ถึงเวลาเข้าไปให้สวัสดีก่อน บอกลูกค้าว่าผมมาแล้วนะครับ ถ้าสะดวกเมื่อไหร่ให้เรียก ผมรออยู่หน้าร้าน ถ้าพร้อมเรียกได้เลย แล้วเราก็ไปเตรียมกับลูกค้าว่านี่คือ SOP ของเรานะ นี่คือขั้นตอนการปฏิบัติ พี่คนเก็บขยะก็ได้รับการยอมรับโดมชี้ให้เห็นว่าหากเข้าใจปัญหาอย่างตรงจุดแล้วแก้มันอย่างถูกต้องย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีเสมอ

โอกาสในการเก็บ

จุดแข็งอย่างหนึ่งคือบ้านเรามีโรงงานรับซื้อขยะทุกประเภทอยู่ทุกพื้นที่ แม้แต่ขยะที่จัดการได้ยากอย่างกล่องนมที่เป็นกระดาษ multi-layer ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการแยก บ้านเราก็มีโรงงานที่จัดการได้ บ่งบอกได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเรื่องนี้ได้สูง แถมเรายังมีระบบโลจิสติกขยะที่ได้เปรียบ สามารถขนส่งขยะได้สะดวกทั้งทางถนนและทางเรือในต้นทุนต่ำ

สิ่งที่น่าชื่นใจมากกว่านั้นคือ คนไทยหลายส่วนเริ่มตระหนักถึงความรับผิดชอบขยะและการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในเชิง movement บ้านเรานี่ดีมากนะ ต้องยอมรับว่าในช่วง 2017-2019 เราเจอวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติสุดโต่ง กรุงเทพฯ ไม่เคยมีปัญหา PM2.5 อยู่ดีๆ ก็มีขึ้นมาอย่างบ้าระห่ำ อากาศมันบ้าระห่ำมาก พูดตรงๆ ว่าปัญหาพวกนี้มันไดรฟ์กระแสให้แรง คนก็เลยพยายามเทกแอ็กชั่น นี่เป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนกระแสนี้ให้มันเป็น new norm ที่ต้องเหนือกว่ากระแส เพราะมันเป็นผลกระทบระยะยาว

พวกเราทั้งทีมได้พัฒนาเรื่องนี้รวมถึงตัวเราเองด้วย ตั้งแต่ทำ GEPP มาเรามีมุมมองต่อขยะต่างไปเลย ก่อนหน้านี้เราทำสถาปัตย์ เรามองห้องขยะเป็นห้องขยะ ออกแบบไว้สำหรับใส่ขยะแค่นั้นพอ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราทำงานมาได้ยังไง เพิกเฉยต่อเรื่องขยะมาตลอด 7 ปีที่ทำงานสถาปนิก แต่ตอนนี้เราเห็นถังขยะเป็นท่อว่าถ้าทิ้งขยะลงถังนี้แล้วขยะมันจะไปไหน ทิ้งให้ลงถังมันไม่พอแล้วต้องทิ้งให้ถูกถังด้วย

เราเริ่มที่จะเลือกใช้มากขึ้น เราไม่ได้เป็นคนรักโลกแบบสุดโต่ง เราเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเหตุผลอย่างอื่นมากกว่า เราเปลี่ยนมาใช้กระติก ลดการใช้หลอด นั่งทานข้าวที่ร้านเลยไม่ต้องซื้อกลับ พวกนี้เล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ช่วยได้เยอะ

ทีม GEPP ทำระบบแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นใคร อยากให้ทุกคนทรีตเรื่องนี้แบบใหม่ เข้าใจมันใหม่ ร้านค้าหรือบริษัทก็เอา data จากเราไปใช้ลดต้นทุนได้ เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่านี่ไม่ใช่กระแส แต่เป็นเรื่องด่วนที่เราต้องรีบจัดการ เพราะวันนึงมันจะถึง point of no return ซึ่งในหลายพื้นที่มันก็ถึงไปแล้วด้วย ถ้าทุกคนทรีตเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เราว่าทุกคนก็จะระวังมากขึ้น

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก GEPP


หากสนใจเข้าไปพูดคุยสอบถามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กเพจ GEPP

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน