จากนักเต้นชนเผ่าสู่ดาว Tik Tok เมื่อ ‘การเต้น’ ช่วยให้มนุษย์ก้าวผ่านคืนวันร้ายๆ ได้ง่ายขึ้น

Highlights

  • รู้หรือไม่ว่า 'การเต้น' ไม่ได้มีฟังก์ชั่นเพียงแค่ความสนุกสนาน แต่ภายใต้ท่วงท่าการเคลื่อนไหวยังเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังและช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันและความเข้าใจในตัวเอง
  • ในอดีตมนุษย์ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะเพื่อสื่อสารและสร้างสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในกลุ่ม และยิ่งสื่อสารกันได้ 'เข้าจังหวะ' มากเท่าไหร่ โอกาสอยู่รอดก็มากขึ้นเท่านั้น
  • ปัจจุบัน การเต้นพัฒนาสู่ศาสตร์ 'การเต้น/เคลื่อนไหวบำบัด' เพื่อบำบัดจิตใจ เช่น โครงการ DIER ที่ใช้การเต้นบำบัดเยียวยาจิตใจของวัยรุ่นชาวแอฟริกันที่ลี้ภัยจากสงครามมาอาศัยในสหรัฐอเมริกา

กาลครั้งหนึ่งราวศตวรรษที่ 17 บนเกาะกัวเดอลุป (Guadeloupe) เขตการปกครองโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ชาวแอฟริกันจากหลายถิ่นฐานถูกซื้อมาเป็นกรรมกรในไร่อ้อย ไม่มีภาษาใดเป็นภาษากลาง วิธีเดียวที่ชาวแอฟริกันเหล่านั้นใช้สื่อสารกันคือ ‘Gwoka’ หรือการเต้นด้นสดประกอบจังหวะกลองที่ความรัก ความสุข ความเสียใจ และเรื่องราวทุกข์ทนในไร่อ้อยถูกเล่าสู่กันฟังผ่านท่วงท่าและจังหวะ

กาลครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เวลาสั้นๆ ที่ Arthur Fleck ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง Joker ลุกขึ้นร่ายรำในห้องอพาร์ตเมนต์รูหนูซอมซ่อช่วยต่อลมหายใจให้เขาสู้กับชีวิตที่โหดร้ายท่ามกลางเมืองที่พร้อมจะพังครืนลงทุกเวลา ก่อนที่ไม่กี่เดือนต่อมา โลกข้างนอกจอหนังจะโหดร้ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่ผู้คนก็ยังคงลุกขึ้นเต้นและเต้นด้วยกันกับคนอื่นผ่านจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า TikTok

มากกว่าความบันเทิงและความสวยงามในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ‘การเต้น’ คือกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยประคองให้มนุษยชาติผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาได้

 

ต้องเต้น ต้องรอด 

เหตุใดมนุษย์จึงลุกขึ้นเต้น? 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Genetic ของ Public Library of Science พาเราย้อนกลับไป 1.5 ล้านปีก่อนโดยระบุว่าสำหรับมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ‘การเต้น’ เชื่อมโยงกับ ‘การมีชีวิตรอด’ 

Josh Spong / www.abc.net.au

งานวิจัยเริ่มจากเปรียบเทียบดีเอ็นเอระหว่างกลุ่มนักเต้นและกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นนักเต้น และพบว่ากลุ่มคนที่เป็นนักเต้นมียีนร่วมกันอยู่สองตัวซึ่งเป็นยีนที่เชื่อมโยงกับความสามารถในการเป็นนักสื่อสารที่ดี

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในช่วงเวลาที่โหดร้ายและยากลำบาก บรรพบุรุษของเราเมื่อล้านปีก่อนจะใช้การแสดงท่าทางและเคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะเพื่อสื่อสาร ปลุกขวัญกำลังใจ และสร้างสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในกลุ่ม และเพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่รอดด้วยการมีสังคม ยิ่งมนุษย์สื่อสารและ ‘เข้าจังหวะ’ กับกลุ่มได้มากเท่าไหร่ โอกาสรอดและดำรงเผ่าพันธุ์ก็มากเท่านั้น

 

การลุกขึ้นขยับแข้งขาเพื่อช่วยกันข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายยังคงหลงเหลือในหลายวัฒนธรรมจนทุกวันนี้ เช่น ชนพื้นเมือง Bidayuh ที่จะลุกขึ้นเต้นกระทบไม้ไผ่ในงานศพ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเต้นจะช่วยปลอบขวัญและเรียกรอยยิ้มกลับมาให้ญาติมิตรของผู้วายชนม์

นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้หลายคนเสนอว่า เหตุที่การเต้นร่วมกันมีส่วนในการสร้างสังคมให้แข็งแรง อาจเกี่ยวโยงกับระบบที่เรียกว่า mirror neurons หรือเซลล์กระจกสะท้อนในสมองของเรา เซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่สะท้อนการกระทำของคนอื่นให้ปรากฏในระบบประสาทของเรา เช่น เมื่อเราเห็นเพื่อนยกมือ ระบบประสาทในตำแหน่งที่ควบคุมการยกมือของเราก็จะทำงานเหมือนกับว่าเราเป็นคนยกมือเอง แม้เราจะไม่ได้ยกมือขึ้นจริงๆ ก็ตาม 

ระบบนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ หรือ ‘empathy’ ซึ่งการเต้นเป็นหมู่คณะเราต้องอาศัยการมองท่าทางของเพื่อนร่วมวง ปรับจังหวะให้คล้องจอง หรือลองเต้นเลียนแบบท่าทางคนอื่น เรียกได้ว่ามนุษย์ได้ใช้สกิลความเห็นอกเห็นใจอย่างเต็มหลอดขณะกำลังเต้น บรรพบุรุษของเราที่ทุ่งสวันนาจนถึงชาวแอฟริกาในไร่อ้อยจึงผ่านช่วงเวลาแสนโหดร้ายไปได้ด้วยความเข้าใจกันโดยปราศจากคำพูด

 

เต้นบำบัดกาย

นอกจากการเต้นจะพาบรรพบุรุษเรารอดพ้นช่วงเวลาหนักหนามาได้ ตัดภาพมายังปัจจุบัน การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่าการเต้นมีสรรพคุณช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นได้ด้วย

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine แห่ง Albert Einstein College of Medicine ระบุว่า นอกจากการเต้นเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเอ็นดอร์ฟิน ทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีความสุข การเต้นอย่างสม่ำเสมอยังเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการเชื่อมต่อระบบประสาทใหม่ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากโรคและอาการบาดเจ็บ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุลงได้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงในอเมริกา องค์กร Dance for PD® ได้นำการเต้นเข้าไปบำบัดรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันอย่างจริงจังเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว

Dance for PD®

 

เต้นบำบัดใจ

ช่วงปี 1950 เกิดศาสตร์แขนงใหม่ที่ชื่อ Dance / Movement Therapy หรือ การเต้น/เคลื่อนไหวบำบัด ที่นำศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวร่างกายมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาจิตใจ ก่อนที่ American Dance Therapy Association จะก่อตั้งในปี 1966 สาขา ‘เต้นบำบัด’ จึงกลายเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากการบำบัดด้วยการพูดคุยตั้งแต่นั้น

นักบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวเชื่อว่าท่าทางคือภาษา ภาษาร่างกายคือภาษาสากลและเป็นภาษาแรกของมนุษย์เด็กทารกปัดป้องของที่ไม่ชอบและคลานไปหาของชอบได้ก่อนจะพูดเป็น การเคลื่อนไหวจึงสามารถบอก ‘ข้างใน’ ของคนหนึ่งได้ ทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก 

สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการบำบัดรูปแบบนี้มีตั้งแต่การหายใจ, ทำสมาธิ, กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว, เทคนิคการยืดเส้น และลองเคลื่อนไหวร่างกาย ในที่นี้นักบำบัดจะไม่ได้เป็นคนกำกับให้ผู้รับการบำบัดเคลื่อนไหวตามท่าทาง 5-6-7-8 เหมือนคลาสเรียนเต้นที่เราคุ้นเคย แต่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้รับการบำบัดลองเคลื่อนไหวร่างกาย ก่อนที่นักบำบัดจะมองหาท่าทางที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือดูมีความหมายกับคนคนนั้นเป็นพิเศษ นำไปสู่การพูดคุยและมองหาสิ่งที่อยู่ภายใต้ท่าทางหรือการเคลื่อนไหวนั้น บางทีอาจเป็นบาดแผลทางใจในอดีตหรือเรื่องราวที่เล่าออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ 

 

กลุ่มวัยรุ่นชาวแอฟริกามากมายเอาชีวิตรอดลี้ภัยจากสงครามมาอาศัยในสหรัฐอเมริกา ผลของการเผชิญหน้ากับความรุนแรง ความหวาดกลัวเสียงปืนและระเบิด ตกอยู่ในภาวะ ‘สู้หรือหนี’ (fight-or-flight) ซ้ำๆ ทำให้หลายคนที่มีประสบการณ์ชนิดที่สู้ก็ไม่ได้-หนีก็ไม่พ้นจนเกิดบาดแผลทางจิตใจที่สร้างความทรมานระยะยาว มีทางเลือกเดียวคือตัดความสัมพันธ์ของร่างกายและจิตใจให้รู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้อยู่ในร่างกายนั้น เด็กวัยรุ่นที่อยู่ในสภาพตัดขาดจากตัวเองมากเข้ามีแนวโน้มจะแยกตัวออกจากสังคมในที่สุด

นักศิลปะบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว David Alan Harris จึงสร้างโครงการที่ชื่อว่า DIER (The Dinka Initiative to Empower and Restore) นำศาสตร์การบำบัดการเต้น/เคลื่อนไหวบำบัดเข้าไปทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ การเต้นคือกิจกรรมทำให้กายและใจเชื่อมต่อกัน (mind-body connection) เพราะเวลาเต้นเราไม่ได้คิดแล้วจึงเคลื่อนไหวแต่ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน 

การเต้นยังทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า sublimation หมายถึงการที่แรงกระตุ้นด้านลบที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความรุนแรงและสิ่งที่สังคมไม่อาจยอมรับได้เปลี่ยนเป็นแรงผลักดันในทางบวกที่สร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการเล่นกีฬาหรือทำงานศิลปะ แทนที่จะปลดปล่อยความอัดอั้นในใจด้วยความรุนแรง ก็นำแรงนั้นมาลงกับการเต้นแทน

โครงการนี้พิเศษตรงที่แฮร์ริสได้ประยุกต์การเต้น/เคลื่อนไหวบำบัดเข้ากับรูปแบบการเต้นและตีกลองแบบ Dinka ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของแอฟริกา ทำให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟูจิตใจ ควบคู่ไปกับเข้าใจรากของตัวเอง

 

วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมาคือ ‘วันแห่งการเต้นสากล’ หรือ International Dance Day องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สนับสนุนให้การเต้นมีวันสำคัญเป็นของตัวเอง เพราะถือว่า การเต้นคือศิลปะ–เครื่องแสดงออกของมนุษยชาติที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมและวัฒนธรรมไปข้างหน้า

แม้ปีนี้การออกมาเฉลิมฉลองด้วยการเต้นร่วมกันอาจเป็นไปได้ยาก และมาตรการป้องกันโรคระบาดในหลายๆ ประเทศยังไม่อนุญาตให้เราเต้นร่วมกันได้ แต่นี่คงเป็นอีกปีที่โลกให้กำเนิดนักเต้นหน้าใหม่มากมาย มนุษย์ที่เต้นด้วยกันในทุ่งหญ้าในวันนั้นยังคงออกมาเต้นด้วยกันผ่านแอพฯ TikTok และแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสื่อสารความรู้สึก เยียวยากันและกัน ประคองเผ่าพันธุ์ของเราให้ผ่านช่วงเวลาที่ไม่ง่ายนี้ไป

 

Gregory Vuyani Maqoma นักเต้นจากแอฟริกาใต้ผู้เขียนสาส์นวันเต้นสากลประจำปีนี้เขียนไว้ว่า 

เราต้องการเต้น เพื่อให้โลกยังระลึกอยู่เสมอว่ามนุษยชาติยังไม่หายไป

 

มนุษย์คนใดที่กำลังนั่งทุกข์ ลองทำตามบรรพบุรุษดูสักครั้ง

ลุกขึ้นเต้นกันเถอะ

 

อ้างอิง

livescience.com

medium.com

nationalgeographic.com

nejm.org

sciencedaily.com

AUTHOR