PAÑPURI : ไลฟ์สไตล์แบรนด์สัญชาติไทยที่อวดกลิ่นหอมของธรรมชาติและจิตวิญญาณตะวันออกไปทั่วโลก

ถ้าลองหลับตานึกชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องหอมสัญชาติไทย เราคงมีตัวเลือกในหัวไม่มากนัก และถ้ายิ่งกรองตัวเลือกเพิ่มอีกชั้นว่าเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คัดสรรวัตถุดิบธรรมชาติมาสกัดลงขวดแก้วสวยๆ ก็เหลือเพียงชื่อเดียวในใจคือ PAÑPURI แบรนด์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 แถมยังได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์การันตีคุณภาพมาให้

ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของธุรกิจเครื่องสำอางและสุขภาพทุกวันนี้ น่าสนใจว่าไลฟ์สไตล์แบรนด์ระดับหรูที่วางตัวเองชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์อย่าง PAÑPURI จะโดดเด่นและแตกต่างอย่างไร ปุ๋ย-วรวิทย์ ศิริพากย์ Managing
Director ผู้กลั่นส่วนผสมของเครื่องหอมทุกขวดจากแพสชันเพื่อผลักให้ PAÑPURI เดินทางมาถึงทุกวันนี้ มีคำตอบให้เรา

เริ่มจากความสงสัยของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของปัญญ์ปุริเริ่มจากทีสิสสมัยที่เขาศึกษาปริญญาโทด้าน Luxury and Fashion Goods Management ที่ประเทศอิตาลี เขาเลือกวิเคราะห์ตลาดและความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมสปาและสุขภาพในประเทศไทย เพราะเห็นความเป็นไปได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรหรือจุดเด่นด้านการให้บริการของบ้านเรา

“พอกลับมาไทย เราได้ไปใช้บริการสปาดังๆ ที่ดีที่สุดสมัยนั้นซึ่งยังมีไม่เยอะมาก สิ่งที่พบคือไม่มีเจ้าไหนใช้ผลิตภัณฑ์ของไทยเลย ตอนนั้นเราสวมหมวกฝรั่งนิดหน่อยว่าก็อยากใช้ของดีที่สุดของประเทศนั้นๆ เพราะแบรนด์ต่างประเทศเราก็ใช้มาหมดแล้ว สมัยทำงานอยู่นิวยอร์ก เราทำงานหนักมากจนต้องเอาเงินไปซื้อความสุข ซื้อไลฟ์สไตล์ให้รู้สึกคุ้มค่าเหนื่อย นอกจากเดินทางหรือช้อปปิ้ง เวลาในแต่ละวันที่เราพอจะพักผ่อนได้ก็คือตอนอาบน้ำ ถ้าได้ใช้เจลอาบน้ำดีๆ กลิ่นหอมๆ ก็จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น”

เพิ่มพูนความรู้ของตัวเองจากคนอื่น

วรวิทย์ลองวิเคราะห์ช่องว่างของตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแล้วพบว่าคุณภาพของแบรนด์ไทยยังเทียบต่างชาติไม่ได้ บรรจุภัณฑ์ไม่สวย ไม่ดึงดูดให้น่าสัมผัส และที่สำคัญคือไม่มีเรื่องราวของแบรนด์ ที่แปลกคือตัวเขาเองกลับเห็นภาพชัดว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองจะมีหน้าตาแบบไหน เพราะเขาเชื่อว่าการทำแบรนด์ที่ดีต้องมีตัวตนของเจ้าของใส่ลงไปด้วยอย่างแยกกันไม่ออก

“เราใช้ผลิตภัณฑ์พวกนี้มาเยอะจนรู้ว่าต้องการอะไร ส่วนความรู้เชิงเทคนิคที่ไม่มีมาก่อนเลย ก็ศึกษาค้นคว้าเอาจากห้องสมุด ไปถามผู้รู้ วิเคราะห์ตลาดทุกอย่างที่ควรทำ ตอนนั้นจำได้ว่าไปนั่งขลุกอยู่ในห้องสมุดของกรมส่งเสริมการส่งออก (ชื่อเดิมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) ทั้งวันเลย เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่ใหญ่มากๆ มีเสวนาอะไรก็ไปฟังทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ช่วงแรกที่ต้องทำกราฟิกเองก็ต้องไปเรียนกราฟิกดีไซน์เพิ่ม ทำทุกอย่างที่ขวางหน้า”

เดินหน้าสู่ทางธรรมชาติ

การเลือกแนวทางของปัญญ์ปุริเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไม่ได้มาจากความเท่หรืออยากแหวกกระแส แต่มองเห็นช่องว่างในตลาดที่สามารถไปต่อได้ และส่วนตัววรวิทย์เองเป็นคนแพ้สารเคมีง่าย สุดท้ายเมื่อต้องทำแบรนด์ของตัวเอง ก็ต้องทำสิ่งที่ตัวเองใช้มาตลอดและรู้จักดีที่สุด

“จุดอ่อนของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงที่เราเริ่มทำแบรนด์ใหม่ๆ จนถึงสมัยนี้ก็คือเรื่องแพ็กเกจจิ้ง และวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติจริงๆ ยังต้องนำเข้ามา น้อยมากที่ไทยเราจะผลิตจากต้นน้ำได้ ปัญญ์ปุริเองก็ยังต้องนำเข้าส่วนผสมอยู่เยอะ แหล่งสำคัญคือเมืองกลาส (Grasse) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสที่พืชพรรณจากทั่วโลกจะถูกสกัดกันที่นั่น มีจากอเมริกา ออสเตรเลียบ้าง ส่วนของไทยที่มีแน่ๆ คือพืชท้องถิ่นอย่างตะไคร้ที่เรามีผู้ผลิตที่ปลูกและสกัดน้ำมันด้วยวิธีออร์แกนิกล้วนๆ”

ไม่มีสูตรสำเร็

“การผลิตเครื่องสำอางคือเอาโครงสร้างของสูตรที่มีอยู่แล้วมาเติมนั่นเติมนี่หน่อยก็จบ แต่ปัญญ์ปุริไม่ได้ทำอย่างนั้น เราถอดโครงสร้างที่เป็นเคมีออกทั้งหมดแล้วใส่ส่วนผสมธรรมชาติเข้าไปแทน เป็นความท้าทายว่าเราจะทำผลิตภัณฑ์ยังไงให้ยังหอมและน่าใช้ แต่ไม่มีสารเคมีเลย” วรวิทย์ขยายว่าแบรนด์ยังมี PAÑPURI Promise หรือปรัชญาของแบรนด์ที่สัญญาว่าจะมอบอะไรให้ผู้บริโภค พร้อม ZeroListTM รายชื่อส่วนผสมเคมีกว่าพันรายการที่พบได้ในเครื่องสำอางทั่วไป แต่จะไม่มีทางพบในผลิตภัณฑ์ของปัญญ์ปุริแน่นอน

สื่อสารสิ่งที่แบรนด์เป็น

“เราทำแบรนด์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม เพราะเราไม่สามารถคุยกับทุกคนได้ ช่วงแรกก็โดนปฏิเสธเยอะมากว่าคนไทยไม่ใช้เครื่องสำอางไทยหรอก เป็นโจทย์ที่ท้าทายเราว่าจะทำภาพลักษณ์แบรนด์ยังไงให้คนไทยเชื่อถือ ธรรมชาติของคนไทยจะใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ต่อเมื่อต่างชาติรับรองมาก่อน ขณะเดียวกัน ฝรั่งจะเชื่อถือผลิตภัณฑ์ไหนก็ต้องมั่นใจว่าเรามีฐานในประเทศที่แข็งแรง เราเลยต้องทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศหนุนกันไป ถ้าเราทำตลาดต่างประเทศสำเร็จก็เอามาพูดให้คนไทยเห็นได้ว่าเราไปอยู่ที่ไหนบ้าง โชคดีที่ในอุตสาหกรรมนี้มีผู้เล่นหลายรายและเป็นเจ้าใหญ่ช่วยกันตะโกนจนเราเป็นที่ยอมรับในสากล”

ขุมทรัพย์ที่มีศักยภาพของประเทศ

“ปัจจุบันที่เราสื่อสารเยอะขึ้นมากคือเรื่องสุขภาพองค์รวม เพราะความสวยงามไม่ได้จบแค่ผิวพรรณ แต่เป็นเรื่องความสมดุลทั้งภายนอกและภายใน อาหารการกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และสุขภาพจิตใจ ซึ่งเราเกิดมากับเรื่องพวกนี้ด้วยซ้ำ แบรนด์ไทยหรือแบรนด์ตะวันออกจะมีมิติด้าน Mind Body Spirit ที่แบรนด์ตะวันตกไม่มี หลายแบรนด์ก็กำลังสื่อสารเรื่องนี้จนกึ่งๆ จะเป็น Cultural Product ไปโดยปริยาย เพราะสบู่หนึ่งก้อนคงมีส่วนผสมไม่แตกต่างกัน แต่เรื่องราวในวัฒนธรรมนี่แหละที่ทำให้แบรนด์แตกต่าง”

วรวิทย์กระซิบกับเราว่านอกจากปัญญ์ปุริจะเพิ่งเปิด Flagship Store แห่งแรกในญี่ปุ่นที่ห้างสรรพสินค้า GINZA SIX ใจกลางโตเกียวแล้ว ตุลาคมนี้ยังจะได้เห็นโปรเจกต์ใหญ่นั่นคือการเปิดตัว Wellness Retreat and Onsen พื้นที่ที่ควบรวมทั้งเรื่องอาหารการกิน สปา ฟิตเนส และออนเซนแห่งใหม่ที่ Gaysorn Village เพื่อตอกย้ำถึงการสื่อสารเรื่องสุขภาพองค์รวมครบวงจร ตอบโจทย์ว่าผู้บริโภคปัจจุบันล้วนมองหาสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง และย้อนกลับไปหารากหรือความถาวรอย่างที่มนุษย์เป็น

“ปัญญ์ปุริเองก็ถือว่ามาถูกทาง และถ้ามองในระดับประเทศไทย หากเราโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและธุรกิจเพื่อสุขภาพจริงๆ เราจะไปได้อีกไกล ถ้าปารีสคือเมืองหลวงของแฟชั่น ประเทศไทยเราก็มีศักยภาพที่จะเป็น Global Wellness Center ได้เหมือนกัน”

ทบทวนตัวเองก่อนให้คนอื่นมาบอก

“ทุกๆ วันเป็นการเติบโตทั้งหมด ส่วนตัวเชื่อเสมอว่าเราพยายามไม่อยู่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง เหมือนสร้างบ้านขึ้นมาแล้ว 2 – 3 ปีก็ต้องต้องทุบมันทิ้ง เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอดทั้งเรื่องระบบการบริหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่เราปรับปรุงสูตรใหม่ให้ตรงกับเทคโนโลยีทุกๆ 5 ปี อย่างช่วงนี้เรากำลังเข้าสู่ปัญญ์ปุริเจเนอเรชันที่ 3 เพราะในวินาทีนี้กับเมื่อสิบปีก่อน ความหลากหลายของวัตถุดิบธรรมชาติก็แตกต่างกันมาก จะให้เรามานั่งใช้สูตรเดิมก็ไม่ได้

“เราต้องทบทวนตัวเองก่อนให้ตลาดหรือลูกค้ามาบอกเรา ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น Founder Syndrome อะไรรึเปล่า แต่ส่วนตัวเราไม่พอใจสิ่งที่ตัวเองมีในปัจจุบันตลอดเวลา เพราะเราคิดว่าเราทำได้ดีกว่านี้ ทำยังไงให้ยังคง DNA ของตัวเองไว้และต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงยังไงให้ไม่ไปเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวเรา นี่เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด 14 ปี เพราะเราเจอการเปลี่ยนแปลงทุกวัน”

มีรางวัลการันตีสิ่งที่เชื่อ

ปัญญ์ปุริถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่คว้ารางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล DEmark สินค้าไทยที่มีการออกแบบดี หรือรางวัล G Mark (Good Design Award) จากสถาบันส่งเสริมการออกแบบของประเทศญี่ปุ่น (JDP : Japan Institute of Design Promotion) และการได้รับตราสัญลักษณ์ T Mark จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่การันตีในด้านการใช้แรงงานที่เป็นธรรม การรับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ช่วยยืนยันแนวคิดของแบรนด์ที่มุ่งมั่นและเดินหน้าเป็นแบรนด์แรกๆ
ของไทยมีคนเห็นและให้การยอมรับ

“การได้รางวัลต่างๆ ก็เหมือนมีคนมาบอกว่าเรามาถูกทาง รางวัลช่วยการันตีคุณภาพให้ผู้บริโภครับรู้ด้วยว่าเราไม่ได้พูดเองคนเดียว แต่มีคนเห็นว่าสิ่งที่เราทำมีมาตรฐานและคุณภาพจริงๆ” วรวิทย์ทิ้งท้ายแล้วยิ้มกับเรา

panpuri.com
thailandtrustmark.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก