Cultured Creatures : เว็บที่หยิบเรื่องเดิมๆ อย่างการท่องเที่ยวมาเล่าด้วยมุมมองใหม่

ไม่มีใครไม่อยากไปเที่ยว แต่เมื่อมีรีวิวท่องเที่ยวเต็มฟีดส์เฟซบุ๊ก ทำให้บางครั้ง เราก็เบือนหน้าหนีจากคอนเทนต์ท่องเที่ยวตามเพจต่างๆ
ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้หนุ่มสาวนักเดินทาง 2 คน อิศร์
อุทัยชลานนท์
และ ดนยา บุนนาค
ก่อตั้งเว็บไซต์คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งตัวเองอยากอ่าน กลายเป็นคอนเซปต์ท่องเที่ยว+วัฒนธรรม
ที่บิดมุมมองการท่องเที่ยวแบบใหม่ให้ไม่ต้องไปเช็กอินตามแลนด์มาร์กเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นการไปเที่ยวเพื่อใช้ชีวิตแบบปัจเจก เช่น ออกเดินทางเพื่อไปขี่จักรยาน
ดูละครเวที หรือกระโดดโลดเต้นในมิวสิกเฟสติวัล

แล้วสองหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสร้างเว็บไซต์ culturedcreatures.co
ได้อย่างไร ลองอ่านวิธีคิดของพวกเขาดู
เผื่อว่าคุณจะอยากจะก่อตั้งเว็บไซต์ที่คุณอยากอ่านบ้าง
เพราะมันไม่ใช่เรื่องยากเกินจะฝันแล้ว

ผู้ถูกล่าที่อยากเป็นนักล่า
ดนยา: เราเรียนจบที่อังกฤษก็เลยทำงานอยู่ที่อังกฤษอยู่
3 ปี
ออกแบบกราฟิกให้สำนักพิมพ์ penguin book ที่อังกฤษ
แผนกที่เราทำจะเป็นหนังสือไลฟ์สไตล์ พวกหนังสือโยคะ ทำอาหาร
แล้วก็กลับมาที่เมืองไทย มาทำงานนิตยสารและหนังสือ
ดังนั้นเราจะถนัดกราฟิกและออกแบบ

อิศร์: ก่อนหน้านี้เราทำงานหลายอย่าง
คือจบด้านโฆษณา ทำกราฟิก เป็นครีเอทีฟที่ทำงานวิดีโอหรือเขียนบทวิดีโอด้วย
ก่อนที่จะมาทำ CC เราก็เป็นครีเอทีฟ
ทำวิดีโออยู่ที่ออฟฟิศหนึ่ง จุดหนึ่งจึงเริ่มคิดว่าอยากจะทำอะไรเป็นของตัวเอง
เพราะรู้สึกว่าการทำงานในออฟฟิศหรือเป็นฟรีแลนซ์
เราอยู่ในลำดับท้ายสุดของห่วงโซ่อาหาร เวลาที่ลูกค้ามาจ้างเรา ก็เริ่มกดตั้งแต่เรื่องเงินแล้ว
ด้านความคิดลูกค้าก็ยังกดเราอีก เลยกลายเป็นว่าเขามาจับมือเราทำงาน
ก็เลยคิดอยากจะเริ่มก่อตั้งอะไรเป็นของเราเอง
แทนที่เราจะผลิตงานให้ลูกค้าก็เปลี่ยนเป็นให้ลูกค้ามาจ้างเราทำงานเลย
เพราะเขาชอบงานที่เราทำ ไม่ใช่ว่าจะมาจับมือเราทำอย่างที่เคยเป็นมา

มองเทรนด์ของคอนเทนต์และทำให้แตกต่าง
อิศร์: เมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่คอนเทนต์บูม บวกกับเรากำลังเบื่อๆ งานที่ทำ เบื่อถ่ายรูปแล้ว อยากจะลองเขียนบ้าง แล้วงานสุดท้ายที่เราทำ มันเป็นงานวิดีโอออนไลน์ พอมองเทรนด์ออนไลน์ในภาพรวม
เราก็มองเห็นว่าลูกค้ากำลังจะสละเรือจากสื่อหลักใหญ่ๆ
แล้วก็เริ่มกระจายเม็ดเงินไปสู่สื่อย่อยๆ มากขึ้น
เรามองหาว่ามีพื้นที่ไหนที่กำลังว่างอยู่บ้าง เราจะไปยึดพื้นที่ตรงนั้นซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ขมขื่นหัวใจเราด้วย
เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ พอคิดถึงทักษะที่เรามีก็น่าจะพอทำอะไรได้ ทั้งครีเอทีฟ
ทำวิดีโอ ถ่ายรูป เลยคุยกับตุ้ย (ดนยา)
ว่าอยากทำเว็บคอนเทนต์เกี่ยวกับท่องเที่ยววัฒนธรรม

เพราะเรามองว่าสื่อเรื่องการท่องเที่ยวในเวลานั้นมีคนทำน้อย
หรือที่มีส่วนมากก็จะคล้ายๆ กันหรือเป็นสิ่งที่เราไม่อยากอ่าน
ยิ่งเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ก็มีคนทำเยอะมากแล้ว ทั้งสิ่งพิมพ์หรือออนไลน์ จึงคิดว่าอยากจะเขียนคอนเทนต์เรื่องการท่องเที่ยวแบบใหม่
ตอนนั้นคิดว่ามันก็มีลูกค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอยู่ เช่น สายการบิน
กระเป๋าเดินทาง ฯลฯ เราคิดว่าถ้าเว็บไซต์เราไม่ได้เห่ย ลูกค้าก็จะเห็นเอง
แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จะไปล่อลูกค้าเข้ามายังไงนะ แต่ลงมือทำก่อน

สร้างบ้านให้แข็งแรง
ดนยา: เราทำงานด้านสิ่งพิมพ์มา
เรารู้ว่าตลาดสิ่งพิมพ์มันมีเงินลงทุนน้อยลงเรื่อยๆ
ที่อังกฤษที่เราเคยทำงานอยู่ก็เช่นเดียวกัน เลยอยากจะกระโดดไปตลาดออนไลน์มากกว่า
เพราะมันมีโอกาสมากกว่า

อิศร์: เราทั้งสองคนมีความเป็นคนหัวเก่าอยู่
คือเราไม่ได้เหมือนเด็กยุคใหม่ที่อยากเขียนคอนเทนต์ก็ทำเพจเฟซบุ๊กหรือสร้างแอ็กเคานต์อินสตาแกรม
เรายังรู้สึกว่าอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งนั่นก็คือเว็บไซต์
คือเราไม่อยากจะพึ่งพาเฟซบุ๊กจนเหมือนยืมจมูกมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กเพื่อหายใจ บวกกับเบื่อด้วยเพราะเพจท่องเที่ยวในเฟซบุ๊กก็มีเยอะเต็มไปหมด
เหมือนเราไม่มีร่างเป็นของตัวเอง

ดนยา: อีกอย่างคือเราแสดงตัวตนได้เต็มที่กว่าถ้าทำงานบนเว็บไซต์
เพราะเราจะสร้างฟอร์แมตแบบไหนก็ได้
แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊กมีดีไซน์ของมันอยู่ เป็นสิ่งที่เราไปปรับเปลี่ยนไม่ได้เลย

เล่าวัฒนธรรมย่อยของคนกลุ่มเล็กๆ
ที่รู้ว่าเป็นใคร
อิศร์: คอนเทนต์ของเราเป็นเรื่องการท่องเที่ยวของคนที่ไปที่นั่นเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เลิกไปเช็กอินตามสถานที่แลนด์มาร์กแล้ว
แต่เลือกไปเที่ยวตามความสนใจของแต่ละคน จึงนึกถึงคำว่าวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) ขึ้นมา คือบางคนไปเที่ยวเพราะอยากปั่นจักรยาน
บางคนไปเที่ยวเพื่อไปวิ่ง หรือบางคนก็ตระเวนกินกาแฟเท่านั้นเอง คือเราเชื่อว่า
คนเราไปเที่ยวเพราะความสนใจเฉพาะมากๆ ถ้าอยากไปปั่นจักรยาน
เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นเลยก็ได้ แค่อยากไปในที่ที่อยากไป ซึ่งเรามองว่าทุกคนมีวัฒนธรรมย่อยเป็นของตัวเอง
ชื่อของเว็บไซต์เลยมีคำว่า cultured
และคำว่า creatures ที่หมายถึงสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต
ก็เลยเอามาบวกกันเป็นคำว่า CULTURED CREATURES แล้วก็เรียกสั้นๆ
ว่า CC

อิศร์: ตั้งแต่ต้น เราวางแผนว่าจะทำคอนเทนต์ที่จับ sub-culture คือเราไม่แมส แต่ก็ไม่ได้อินดี้ขนาดนั้น แล้วพอเราฟีดส์คอนเทนต์ลงไปในเฟซบุ๊กด้วย มันก็ช่วยให้คนเห็นได้ เพจเฟซบุ๊กของเราทำหน้าที่เป็นเหมือนประชาสัมพันธ์มากกว่า มีการซื้อบ้าง มีคอนเทนต์หนึ่งที่เราเล่าเรื่อง Onomichi U2 ซึ่งเป็นโรงแรมที่เหมาะกับคนไปปั่นจักรยาน เราไปเจอคอนเทนต์นี้จากนักปั่นจักรยานชาวออสเตรเลีย คิดว่าโรงแรมมันเจ๋งดี ก็ลองเอามาเขียนดู มองว่าถ้าเอากลุ่มคนสองประเภทมาชนกันได้ก็น่าจะดี
เพราะมันไม่ได้มีแค่คนอยากท่องเที่ยวที่จะเข้ามาดู แต่คนปั่นจักรยานจะเข้ามาดูด้วย พอเราลงคอนเทนต์นี้ก็เป็นอย่างที่คิดไว้
คือคนที่ไม่ได้ไลก์เพจเราเข้าไปอ่าน เข้าไปแชร์ เลยทำให้เรามั่นใจว่าการทำเรื่องท่องเที่ยวบวกกับวัฒนธรรมย่อยแบบนี้จะเวิร์ก จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของคอนเทนต์ของเราไปแล้ว เช่น
เที่ยวอิงหนัง อิงเพลง อิงละครเวที อิงร้านกาแฟ

ดังนั้นลักษณะการเลือกคอนเทนต์ของเราหรือการโฟกัสกลุ่มคน
เราก็จะพุ่งไปที่กลุ่มเล็กๆเหล่านั้นเลย เช่น
ถ้าเราพูดเรื่องจักรยานเราก็ไปหาแบรนด์จักรยานไปเลย
เพราะเราอยากได้ครีมของกลุ่มคนอ่าน เป็นคนที่สนใจอ่านคอนเทนต์ของเราจริงๆ คือเราไม่อยากทำคอนเทนต์แนว clickbait เลือกเรื่องที่ไม่มีอะไรจะเล่าแล้วมาปั้นให้เต็มที่
แต่เราจะเลือกเรื่องที่เราสนใจจริงๆ ที่ไม่จำเป็นต้องไปจุดพลุให้ใครเข้ามาอ่าน
เพราะมันมีคนที่อยากจะเข้ามาเองแหละ

อิศร์: อีกวิธีคือคอลัมน์ People’s Journal ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นกลไกที่ทำให้คนรู้จักเว็บไซต์เรามากขึ้น เช่น ถ้ามีคนเขียนส่งคอลัมน์มา
แล้วเราเอาลงเว็บไซต์ อย่างน้อยคนเขียนก็ต้องแชร์แล้ว เพื่อนๆ
ของนักเขียนคนนั้นเห็น เขาก็จะแชร์ต่อไป วิน-วินทั้งคู่เลย
แล้วเราก็ไม่ต้องใช้เงินซื้อคอนเทนต์ด้วย นักเขียนก็ได้ปล่อยของ
เราก็ได้ผู้อ่านเยอะขึ้น

จากงานเขียนสู่ธุรกิจ
อิศร์: ตอนนั้นเราทำอยู่ 3 – 4 เดือนก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามา
ซึ่งเราคิดว่าลูกค้าที่เข้ามาน่าจะเป็นสายการบิน หรืออุปกรณ์เครื่องใช้เท่ๆ
ของการท่องเที่ยว แต่ลูกค้าเจ้าแรกที่เข้ามาเป็นอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่ดิน
หมู่บ้านจัดสรร
ซึ่งลูกค้าเหล่านี้เปลี่ยนมุมมองการขายคอนโดจากการแข่งขันกันที่ราคา
กลายเป็นว่าย่านไหนมีอะไรน่าสนใจบ้าง เขาก็เลยมาปรึกษาแล้วก็ให้เราเขียนเล่าถึงย่านเหล่านั้นให้มันมีเรื่องราว
แต่แรกๆ เราก็ปฎิเสธไปเยอะเหมือนกัน

ดนยา: พอมีลูกค้าก็ดีตรงที่สร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้เราเหมือนกัน กลายเป็นว่าโจทย์ของลูกค้าสนุก
เพราะเราได้คิดว่าจะคิดคอนเทนต์ยังไงให้เข้ากับเรา แล้วยังเป็นสิ่งที่ลูกค้าพอใจด้วย
เลยกลายเป็นคอลัมน์ที่เราเล่าเรื่องย่านต่างๆ ในมุมประวัติศาสตร์ สังคม เมือง
ไปสัมภาษณ์คนเก่าคนแก่ในย่านนั้นๆ
จนกลายเป็นคอลัมน์หนึ่งในเว็บเราไปเลย
แต่ที่สำคัญคือเราต้องตอบโจทย์ตัวเองก่อนว่าอยากทำไหม แล้วก็ตอบโจทย์คนอ่าน
ให้ลูกค้าไว้หลังสุดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราอยู่ได้

มองอนาคตอยู่เสมอ
อิศร์: ช่วงนี้เป็นการชะลอตัวของเว็บเพื่อคิดรูปแบบใหม่ๆ
เพราะคิดว่าอยากจะขยายคอนเทนต์ออกไปอีก ก็ยังเป็นท่องเที่ยวอยู่แหละ แต่ว่าอาจจะจับประเด็นเรื่องวัฒนธรรมมาพูดให้ชัดขึ้น เพราะตอนนี้เราคิดว่าคอนเทนต์มันเร็วไปหมด
แล้วก็หายไปเร็วด้วย คือทุกคนงัดทุกเรื่องมาพูดหมดแล้ว ถ้าพูดว่าโตเกียวไกด์
มันก็มีการเที่ยวตามฝาท่อกันแล้วด้วย เราจึงรู้สึกว่าต้องหาเรื่องอื่นพูด
เพราะเรารู้สึกว่าการท่องเที่ยวก็เป็นเหมือนอาหารที่ทุกคนต้องการอยู่แล้ว

ดนยา: อนาคตเราก็อยากจะขยายฐานนะ
แต่ไม่อยากแมสมาก เพราะคอนเทนต์ที่เราทำก็เล่าเรื่องวัฒนธรรมย่อยเล็กๆ แล้วถ้าเราไปทางแมสก็อาจจะต้องทำให้ทุกคนรักหมด แต่เราอยากให้มีคนรักเราน้อยๆ
แต่ก็รักนานๆ มันน่าจะดีกว่า (ฮา)

“คอนเทนต์ของเราเป็นเรื่องการท่องเที่ยวของคนที่ไปที่นั่นเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เลิกไปเช็กอินตามสถานที่แลนด์มาร์กแล้ว แต่เลือกที่จะไปเที่ยวตามความสนใจของแต่ละคน เราเชื่อว่าคนเราไปเที่ยวเพราะความสนใจเฉพาะมากๆ ถ้าอยากไปปั่นจักรยาน เราไม่จำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นเลยก็ได้ แค่อยากไปในที่ที่อยากไป เรามองว่าทุกคนมีวัฒนธรรมย่อยเป็นของตัวเอง”

www.culturedcreatures.co

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR