Foreign Policy: สตูดิโอออกแบบสิงคโปร์ที่เห็นความเป็นมนุษย์ในทุกงานดีไซน์

Highlights

  • Brand Guide: Singapore Edition คือหนังสือที่เล่าเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบแบรนดิ้งของ 17 แบรนด์สิงคโปร์ โดย Foreign Policy สตูดิโอออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก
  • หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเล่าแง่มุมแบรนดิ้งและการออกแบบให้ดีไซเนอร์และนักการตลาดฟัง แต่ยังเล่าหัวใจของผู้สร้างแบรนด์ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนที่อยากทำธุรกิจทุกคน
  • เร็วๆ นี้ Foreign Policy กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ในชื่อ Brand Guide: Bangkok Edition ซึ่งเล่าเรื่องแบรนด์ไทยที่น่าจับตามองที่สุดในช่วงนี้

Foreign Policy Brand Guide: Singapore Edition คือหนังสือที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจที่สุดเล่มหนึ่ง

Foreign Policy
Foreign Policy

เปล่าเลย มันไม่ใช่หนังสือประเภทที่อ่านแล้วเสียดายเงินที่ซื้อมา กลับกัน นี่คือหนังสือที่ทำให้เราเสียดายสุดๆ ที่ซื้อไม่ทันต่างหาก

Brand Guide: Singapore Edition คือผลงานของสองนักออกแบบ Yah-Leng Yu และ Arthur Chin จากสตูดิโอ Foreign Policy ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากผลงานกราฟิกดีไซน์และแบรนดิ้งที่ทำให้แบรนด์ทั้งเล็กและใหญ่ในสิงคโปร์ รวมถึงการร่วมเปิดร้านขายของที่ระลึกและงานดีไซน์ Gallery & Co. ที่ The National Gallery Singapore ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนต้องเคยไปเยือน

Foreign Policy

หลังเปิดสตูดิโอและทำงานออกแบบของตัวเองต่อเนื่องถึง 7 ปี ดีไซเนอร์ทั้งคู่ก็เริ่มลงมือทำ brand guide ด้วยการออกเดินทางไปคุยกับ 17 แบรนด์สิงคโปร์ที่น่าสนใจ เพื่อบันทึกวิธีการทำแบรนดิ้ง ขั้นตอนการดีไซน์ และหัวใจของ ‘มนุษย์’ ที่น่าทึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ทั้งหญิงสาวที่ทิ้งอาชีพทนายแล้วเริ่มต้นใหม่ในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ หรือนักลงทุนที่ลาออกมาลองคั่วกาแฟเองสักตั้ง

เรื่องราวเช่นนี้ทำให้หนังสือที่ว่าขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ต้องเสียใจไปเพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา Foreign Policy เปิดตัวว่าหลังจากความสำเร็จของหนังสือเล่มก่อน พวกเขาจึงมีโปรเจกต์ใหม่ในชื่อ Brand Guide: Bangkok Edition ที่จะรวบรวมแบรนด์ไทยที่โดดเด่นและน่าจับตามองที่สุดในช่วงนี้

แม้ปัจจุบันหนังสือเล่มใหม่ของพวกเขาจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เมื่อ Yah-Leng และอาเทอร์เดินทางมายังเมืองไทยเพื่อขึ้นพูดในงาน DesignNation 2019 เราจึงชวนพวกเขามานั่งคุยกันเรื่องแบรนด์สิงคโปร์ แบรนด์ไทย 

และที่สำคัญที่สุด คือหัวใจของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในแบรนด์

Foreign Policy

ทำไมคุณถึงเริ่มทำ Brand Guide: Singapore Edition

Yah-Leng: ในปี 2014 ตอนนั้นเราอยู่ที่ร้านหนังสือ TSUTAYA ที่โตเกียว ฉันบอกอาร์เทอร์ว่าทำไมหนังสือดีไซน์ส่วนใหญ่ถึงเน้นไปที่กราฟิกและภาพของงานดีไซน์แต่ไม่พูดถึงคอนเซปต์หรือจุดประสงค์ของงานดีไซน์นั้นเลย ในขณะเดียวกันหนังสือดีไซน์อีกประเภทก็เป็นตำราที่เน้นเรื่องทฤษฎีการออกแบบและมีแต่ตัวหนังสือเยอะๆ มันทำให้ฉันคิดว่าทำไมถึงไม่มีหนังสือดีไซน์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างหนังสือสองแบบนี้บ้าง หนังสือที่มีภาพงานดีไซน์สวยๆ และอธิบายกระบวนการเบื้องหลังของมัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Brand Guide

คุณทั้งคู่เคยทำงานในอเมริกาที่มีบริษัทดีไซน์ใหญ่ๆ ระดับโลก ทำไมพอจะทำหนังสือเกี่ยวกับงานดีไซน์ถึงเลือกพูดถึงแบรนด์สิงคโปร์อย่างเดียว

Yah-Leng: เรากลับมาจากอเมริกาในปี 2006 และในปี 2007 เราก็เปิด Foreign Policy ก่อนหน้าปี 2007 ฉันคิดว่าสิงคโปร์ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวด้านงานดีไซน์สักเท่าไหร่ เราไม่มีชื่อเสียงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีร้านค้าที่น่าสนใจ และคนก็ต้องบินมากรุงเทพฯ เพื่อมาดูแฟชั่น ผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ ร้านเก๋ๆ ที่สิงคโปร์ไม่มี แต่ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมาเราเห็นว่าสิงคโปร์มีงานเจ๋งๆ เกิดขึ้นเยอะมาก มีลูกค้าที่เห็นคุณค่าของงานดีไซน์เยอะขึ้น และคนเหล่านี้ก็พยายามค้นหาดีไซน์สตูดิโอเก่งๆ มาช่วยพวกเขา มันทำให้เรามีร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้าที่มีคอนเซปต์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น มันเป็นเรื่องที่สำคัญนะเพราะเราไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้มาก่อน

Brand Guide เป็นโอกาสของเราในการรวบรวมแบรนด์เหล่านี้เพื่อฉลองให้กับพวกเขา เล่าเรื่องราวของพวกเขาว่าทำไมบางคนถึงเสี่ยงลาออกจากงานที่ได้เงินเดือนสูงๆ อย่างนักลงทุนเพื่อจะมาคั่วกาแฟ เราอยากให้คนเข้าใจการเดินทางของพวกเขาพร้อมๆ กับรู้จักดีไซเนอร์ที่ช่วยพวกเขาสร้างแบรนด์​ขึ้นมา 

ที่ผ่านมาเราชอบทำงานที่มีหลายๆ เลเยอร์ งานนี้ก็เหมือนกัน อย่างแรกคือมันให้ความรู้ ไม่ใช่เฉพาะดีไซเนอร์ แต่เราอยากทำให้คนที่สนใจจะสร้างธุรกิจอ่านด้วย สองคือกลุ่มคนที่ทำมาร์เก็ตติ้งดีไซเนอร์และนักเรียนดีไซน์ นอกจากนี้เราอยากให้คนต่างชาติที่สนใจสิงคโปร์ได้อ่านและใช้มันเป็นไกด์บุ๊กด้วย

Foreign Policy
Foreign Policy

ทำไมคนทั่วไปถึงควรรู้เรื่องแบรนด์เหล่านี้

อาร์เทอร์: เวลาพูดถึงกระบวนการเบื้องหลังมันไม่ได้หมายถึงกระบวนการดีไซน์อย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของการเดินทางจากไอเดียสู่ความเป็นจริง ดีไซน์ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งในนั้น แต่เราอยากให้คนเห็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ต้องเจอตั้งแต่ต้นจนจบ เห็นจิตวิญญาณของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นแฟชั่นดีไซเนอร์คนหนึ่ง เธอเป็นทนายมาก่อนและตัดสินใจลาออกเพื่อไปอินเดีย โดดขึ้นรถบัสเพื่อไปเรียนรู้เรื่องผ้า พอไปถึงทางใต้ของอินเดียเธอก็พบว่าถนนที่นั่นเป็นดินและโคลน และเธอก็ต้องทุลักทุเลลากกระเป๋าไปตามทางทั้งๆ ที่ใส่รองเท้าส้นสูง เรื่องแบบนี้คือความพยายามของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ เป็นเรื่องที่เป็นสากลที่ใครๆ ก็เข้าใจและเรียนรู้ได้

หรือเรื่องของเจ้าของแบรนด์ 2-3 คนที่ทำแบรนด์อะไรก็ประสบความสำเร็จ ถึงอย่างนั้นทุกครั้งที่จะเริ่มโปรเจกต์ใหม่พวกเขาก็ยังกังวลและตั้งคำถามกับตัวเอง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องไม่ดีเพราะนั่นแปลว่าคุณกำลังทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เราอยากไฮไลต์สิ่งนี้ ทำให้คนเห็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ต้องเจอ

Yah-Leng: เราพยายามถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของคนที่อยู่เบื้องหลังร้านค้าหรือแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนเห็นว่าผลิตภัณฑ์ดีๆ ที่คุณใช้มีคนที่ตั้งใจอยู่เบื้องหลัง และเราก็คิดว่ามันเหมาะกับใครก็ตามที่ชอบเรื่องราวของมนุษย์

สิงคโปร์มีแบรนด์ที่น่าสนใจเยอะมาก คุณมีเกณฑ์อะไรให้การเลือก 17 แบรนด์ที่อยู่ใน Brand Guide

Yah-Leng: หนึ่งคือพวกเขาจะต้องมีวิสัยทัศน์ สอง แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีไซน์ ทุกอย่างต้องสวย ถ้าร้านของคุณไม่มีดีไซน์ที่ดีเราก็จะไม่เลือก สามคือแบรนด์ต้องประสบความสำเร็จ

อาร์เทอร์: ผมคิดว่าวิสัยทัศน์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวิสัยทัศน์แปลว่าความสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเราอยากเล่ากระบวนการที่พวกเขาทำให้มันเกิดขึ้น บ่อยครั้งที่คนมักพูดว่า ‘มันเป็นไปไม่ได้หรอก’ ‘มันยากเกินไป’ หรือ ‘ใครจะมาซื้อของเหล่านี้’​ แต่เราอยากทำให้คนอ่านเห็นตัวอย่างของคนที่ยืนหยัดเบื้องหลังวิสัยทัศน์ ความกล้าหาญและความดื้อดึงที่จะทำให้มันเกิดขึ้นของพวกเขาสำคัญมากเพราะมันง่ายมากที่จะยอมแพ้ แต่พวกเขาก็ยังทำมัน และผมคิดว่าการจะสร้างสิ่งที่ประสบความสำเร็จคุณต้องมีความกล้าที่จะพูดว่า​ ‘ฉันจะทำสิ่งนี้’ และดื้อดึงทำมันต่อไป

Foreign Policy

เป็นเพราะคุณเป็นดีไซเนอร์หรือเปล่า คุณถึงเข้าใจมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ต่างๆ

Yah-Leng: อาจเป็นแบบนั้น ฉันคิดว่าฉันเข้าใจคนที่อยู่เบื้องหลังนะ คนส่วนใหญ่มักจะเห็นแค่ว่าโรงแรมนี้ยอดเยี่ยมมากๆ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น งานเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน ฉันอยากเล่าว่ามันไม่ง่ายเลยกว่าจะได้งานแต่ละชิ้น คุณต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย คุณต้องเรื่องมากสุดๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้งานที่เพอร์เฟกต์จริงๆ

อาร์เทอร์: มีคำกล่าวว่า ‘สิ่งสำคัญไม่ใช่สิ่งที่คุณทำในที่แจ้ง แต่เป็นสิ่งที่คุณทำในความมืด’ ตอนที่ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีใครสนใจ มันมีเวทมนตร์บางอย่างในความซื่อสัตย์ต่องานดีไซน์และต่อการทำงานของคุณ

ไอเดียการทำ Brand Guide: Bangkok Edition เกิดขึ้นได้ยังไง

Yah-Leng: ฉันคิดว่าคนไทยมีความสามารถด้านงานคราฟต์มากๆ พวกคุณมีมือที่เชี่ยวชาญมากๆ สมัยเรียนฉันมีเพื่อนคนไทย หรือคุณไปถามใครก็ตามที่มีเพื่อนร่วมชั้นเป็นคนไทยก็ได้ พวกเขาทำได้ทุกอย่าง ทั้งงานดีไซน์ ภาพประกอบ งานปั้น แฟชั่นดีไซน์ และพวกเขาก็ทำได้ดีมากๆ นอกจากนี้เมืองไทยก็ยังเป็นประเทศที่พิเศษมากๆ สำหรับเรา เราเห็นความเป็นไปได้มากมายที่เกิดขึ้นที่นี่

ฉันรู้สึกว่าเมืองไทยถูกมองข้ามในเชิงดีไซน์ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะพวกคุณยังไม่มีโอกาสได้โชว์ให้โลกเห็นว่าทำอะไรได้บ้าง มันถูกเก็บไว้ใต้พรมมาตลอดและเราก็อยากจะเปิดพรมนั้นขึ้นมา กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พิเศษมาก ถ้าฉันมาที่นี่ทุกเดือนต้องมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอ อีกอย่างคือเรามีเพื่อนที่พร้อมช่วยเราอยู่ที่นี่ค่อนข้างเยอะ

อีกประเด็นคือถ้าคุณได้อ่าน Brand Guide: Singapore Edition คุณจะเห็นว่าเราพูดถึงร้านอาหารและคาเฟ่เยอะใช่ไหม สำหรับเราสองคนรู้สึกว่าสิงคโปร์มีแค่นี้เองเหรอ เราอยากพูดถึงแวดวงอื่นๆ เหมือนกัน ซึ่งประเทศที่ใหญ่กว่าอย่างเมืองไทยคือที่ที่เราสามารถพูดถึงแวดวงที่หลากหลาย เราเห็นนวัตกรรมในแบรนด์ธนาคาร ในงานอสังหาริมทรัพย์ พวกคุณทำผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น เครื่องหนัง คนเหล่านี้คือคนที่เราอยากคุยด้วย ไม่ใช่แค่เจ้าของร้านอาหาร บาร์ หรือโรงแรม เท่านั้น

Foreign Policy

อาร์เทอร์: Brand Guide: Singapore Edition ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายของเราไปมาก ตอนที่เริ่มต้นทำเราคิดว่าคนสิงคโปร์คงจะสนใจมันล่ะมั้ง ไม่ก็คนในภูมิภาคแถวๆ นี้ แต่พอเริ่มวางขายก็พบว่ามีคนจาก 40 กว่าประเทศที่สั่งซื้อมัน เช่น ศาสตราจารย์ชาวเยอรมันที่บอกว่า ‘คุณรู้ไหม ผมใช้หนังสือของคุณเป็นตำราสำหรับคนที่อยากเรียนรู้เรื่องดีไซน์และศิลปวัฒนธรรม’​ เขายังขอสั่งซื้อเพิ่มแต่ตอนนั้นเราขายหมดแล้ว หรือหลังจากผ่านมา 4 ปี 2 อาทิตย์ก่อนเราก็ได้อีเมลจากเอเจนซีในฮูสตัน เท็กซัส ที่อยากทำหนังสือที่สนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น พวกเขาเสนอหนังสือของเราเป็น reference ให้กับรัฐบาลท้องถิ่น และเราก็เซอร์ไพรส์มากที่มันมีอิมแพกต์กับผู้คนแม้พิมพ์มาแล้ว 4 ปีก็ตาม

กลับมาที่คำถามว่าทำไมเราถึงอยากทำ Brand Guide: Bangkok Edition นั่นเพราะว่าที่นี่มีคนเจ๋งๆ คนที่มีจิตวิญญาณมุ่งมั่นและกำลังทำสิ่งที่ดีมากๆ เราอยากโชว์สิ่งนี้ให้ทุกๆ คนและกระตุ้นให้คนที่ทำธุรกิจลองเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ มันสำคัญมากที่จะเล่าเรื่องของธุรกิจขนาดเล็กมากๆ อย่างสตาร์ทอัพที่มีความเชื่อแรงกล้าไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ เราอยากให้เห็นความแตกต่างทั้งขนาดและแวดวง

แอบบอกหน่อยได้ไหมว่าจะมีแบรนด์อะไรบ้าง

Yah-Leng: จริงๆ ตอนนี้เรายังสัมภาษณ์ไม่ครบ แต่บอกได้ว่าแบรนด์ที่ไปคุยด้วยมาแล้วคือ คัดสรร ดีมาก พวกเขาเชี่ยวชาญการออกแบบฟอนต์และริเริ่มมาตั้งแต่เมืองไทยยังไม่มีฟอนต์ไทยใช้ในคอมพิวเตอร์ ฉันคิดว่ามันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เป็นความสำเร็จของคนที่กล้าก้าวขึ้นมาและพูดว่า ‘มาทำสิ่งนี้กันเถอะ’ รวมถึงความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาฟอนต์จำนวนมากขนาดนี้มันน่าทึ่งมาก

อาร์เทอร์: เราอยากโชว์แบรนด์แบบนี้ให้โลกเห็น โชว์คนที่มีความกล้าและความดื้อดึงที่จะทำสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินทุนไม่อั้น แต่รวมถึงกลุ่มคนเล็กๆ ที่แม้มีเงิน เวลา และประสบการณ์จำกัด แต่มีหัวจิตหัวใจที่จะทำงานที่พวกเขารัก เราอยากให้คนเห็นพวกเขามากขึ้นและอยากเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของพวกเขา

Yah-Leng: นอกจากนี้เรายังอยากให้ความรู้ว่าแบรนดิ้งและดีไซน์เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจและดีไซเนอร์ ซึ่งควรมีคนเห็นคุณค่ามากกว่านี้

Foreign Policy

จากมุมมองของคนสิงคโปร์ คุณเห็นว่าความแตกต่างของงานดีไซน์สิงคโปร์กับไทยคืออะไร

Yah-Leng: มีคนเคยถามคำถามนี้กับฉันเหมือนกัน ฉันคิดว่าสำหรับงานดีไซน์สิงคโปร์ เราไม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและวัฒนธรรมของเราก็เกิดจากการผสมผสานของหลายๆ วัฒนธรรม จากนั้นเราก็ถูกปกครองโดยอังกฤษ ดังนั้นเราจึงเป็นประเทศเอเชียที่ประหลาดมากๆ คือทั้งเป็นเอเชียและไม่เป็นเอเชียในเวลาเดียวกัน เรามีความเป็นตะวันตกมาก เราพูดภาษาจีนไม่ค่อยได้ พูดภาษามลายูไม่ค่อยได้ เราใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกันแม้จะไม่อยู่ในยุโรปหรืออเมริกา

ในเชิงดีไซน์เราได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอังกฤษ นักเรียนดีไซน์หลายคนก็ไปเรียนที่อังกฤษและได้รับอิทธิพลจากที่นั่น ในขณะเดียวกันเราก็เป็นเกาะที่เข้าถึงง่ายและได้รับอิทธิพลจากที่อื่นเสมอ เช่น ญี่ปุ่น หรือปัจจุบันงานดีไซน์เกาหลีก็กำลังมาแรง ดังนั้นอาจพูดได้ว่างานดีไซน์สิงคโปร์ได้อิทธิพลจากที่อื่นๆ มาเยอะมาก

สำหรับงานดีไซน์ไทย ฉันคิดว่าได้อิทธิพลจากวัฒนธรรมไทยค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่พวกคุณใช้สีหรือการจัดวางภาพ งานดีไซน์ไทยมีสีที่จัดจ้าน โดยเฉพาะการใช้สีอย่างสีเหลืองสด ส้ม ม่วง ชมพู เขียว ฟ้า และเมื่อถูกดีไซน์อย่างดีมันก็ออกมาสวยมากๆ อาจเป็นเพราะมันเป็นสีที่คุณเห็นอยู่ทุกวัน วัฒนธรรมของคุณก็แข็งแรงมากและมันทำให้งานดีไซน์ไทยแตกต่าง

ที่สุดแล้วเราได้ยินคนพูดเรื่องดีไซน์แบบสิงคโปร์ แบบไทย หรือแบบประเทศอื่นๆ มาเยอะ เอาเข้าจริงคุณว่ามันจำเป็นไหมที่เราจะต้องคุยกันเรื่องนี้

Yah-Leng: เป็นคำถามที่ดีนะ เมื่อต้นปีฉันเพิ่งไปโซลมาเพื่อเสวนาเรื่องดีไซน์ พวกเขากำลังคุยกันเรื่องงานดีไซน์แบบเอเชียว่ามันคืออะไร จำได้ว่าฉันมองไปที่ TNOP (ธีรนพ หวังศิลปคุณ นักออกแบบไทยผู้ก่อตั้งสตูดิโอ TNOP™ DESIGN) และเข้าใจกันและกัน ฉันคิดว่าทำไมพวกเขาถึงจริงจังกับการให้ความหมายงานดีไซน์เอเชียขนาดนี้ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน พวกเขามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีงาน typography และ calligraphy และมีวิธีออกแบบค่อนข้างเฉพาะตัวที่เห็นแล้วก็รู้ว่า อ๋อ นี่คืองานแบบจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่สำหรับฉันที่เป็นคนสิงคโปร์ ฉันไม่สามารถออกแบบสิ่งที่มีความเป็นจีนได้ขนาดนั้นถึงฉันจะดูเหมือนคนจีนก็เถอะ ดังนั้นฉันไม่เห็นว่าทำไมเราจะต้องจัดหมวดหมู่กันขนาดนั้น ยิ่งในยุคนี้ที่โลกค่อยๆ เล็กลงทุกที

มันเป็นเรื่องที่ดีนะที่จะพูดถึงอัตลักษณ์ของที่ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันฉันก็รู้สึกว่าแต่ละส่วนของโลกเชื่อมต่อกันมากขึ้น เขตแดนเก่าๆ ก็เลือนลงทุกที และมันก็อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดขอบเขตงานดีไซน์ตามนั้น

อาร์เทอร์: ผมคิดว่าการพูดเรื่องงานดีไซน์แบบต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีนะเพราะมันทำให้เราได้ทำความเข้าใจอัตลักษณ์ต่างๆ การพูดคุยทำให้เราได้ทบทวนและสำรวจ เช่น อย่างที่ Yah-Leng บอกว่าสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลตะวันตกมาเยอะ ส่วนเมืองไทยก็มีวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ผมคิดว่าการสำรวจสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่ทำให้ได้เจออะไรที่น่าสนใจ มันก็ไม่แย่นะ

ถึงอย่างนั้นผมก็คิดว่าเส้นแบ่งประเทศเป็นเรื่องสมมติ เอาจริงเราไม่สามารถแบ่งได้หรอกว่าตรงนี้คือสิงคโปร์ ตรงนี้คือมาเลเซีย เพราะความจริงเราทุกคนคือมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกเหมือนๆ กัน งานดีไซน์และงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมก็มาจากการแลกเปลี่ยน ปฏิสัมพันธ์ และการส่งอิทธิพลระหว่างกัน และได้ออกมาเป็นผลลัพธ์จากการตีความและความเข้าใจของแต่ละคน

นั่นเป็นความเชื่อของ Foreign Policy คือเราจะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้ทำงานกับคนจากหลากหลายที่มา หลากหลายความคิดความเชื่อ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย