คุยกับผู้ก่อตั้ง FOOD FOR GOOD โครงการที่เชื่อว่าการให้ที่ยั่งยืนไม่ควรจบแค่มื้ออาหาร

ถ้าเด็กคืออนาคตของชาติ แล้วทำไมอาหารในถาดถึงไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร?

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ปัญหานี้ก็ยังอยู่และไม่เคยหายไป ในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายๆ คนคงเห็นคนพูดถึงปัญหาอาหารกลางวันของเด็กกันไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริตค่าอาหารกลางวัน งบประมาณที่ไม่เพียงพอ หรือเด็กได้รับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพและไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เด็กเข้าไม่ถึงทรัพยากรอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชากรที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศในอนาคต

ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้มีการเคลื่อนไหว รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนหัวละ 21 บาท (จากเดิม 20 บาท) และโครงการ Thai School Lunch เพื่อช่วยครูในการวางแผนเมนูอาหาร แม้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในความจริงก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

โครงการ FOOD FOR GOOD อยู่ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมและแก้ปัญหาเรื่องโภชนาการของเด็ก เชื่อว่าการเลี้ยงอาหารให้เงินอุดหนุนเป็นมื้อๆ เพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ จึงมีการให้ความรู้ที่เปรียบเสมือนให้เครื่องมือเพื่อโรงเรียนจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาว

จากการทำงาน 8 ปีที่ผ่านมาโครงการได้ขยายความช่วยเหลือครอบคลุมโรงเรียนขนาดเล็กและพื้นที่ห่างไกล 10 จังหวัด กับ 88 โรงเรียน  ปีนี้ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่ใน 3 จังหวัด 4 เขตพื้นที่ ทำให้ขยายงานได้กว้างมากขึ้น

เราจึงอยากชวน ริน-ทิพย์ชยา พงศธร ผู้ก่อตั้งโครงการ FOOD FOR GOOD และ ชมพู่-ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ รองผู้อำนวยการโครงการ มาพูดคุยถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น หลักการทำงาน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืน

โลกหมุนด้วยทุนนิยม เราทำใครตกหล่นไปบ้าง

เป็นที่รู้กันว่าในประเทศไหนที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ มักจะเป็นจุดเริ่มนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ในสังคม หนึ่งในนั้นคือความเหลื่อมล้ำทางอาหาร และสาเหตุหลักคือความยากจน 

ในพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงทรัพยากรด้านอาหาร สำหรับครอบครัวที่ยากจนแล้ว โรงเรียนเป็นสถานที่เดียวที่เด็กจะได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบสมบูรณ์ ทางโครงการจึงเลือกทำงานกับทางโรงเรียนเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา แต่ด้วยเงินทุนสนับสนุนที่มีจำกัดจึงต้องมีการเลือกโรงเรียนจากจังหวัดที่มีความยากจนมากที่สุดในประเทศก่อน

ปัจจุบันเงินเฟ้อข้าวของแพงขึ้น หนึ่งในปัญหาหลักคือเรื่องงบประมาณ ความจริงแล้วรัฐบาลก็มีงบสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้เด็ก 21 บาทต่อคน ซึ่งมันก็อาจจะเพียงพอแค่บางพื้นที่ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำนวนเด็กน้อย เมื่อเอามาเฉลี่ยต่อหัวแล้วก็อาจจะไม่พอ

(จากซ้าย) ชมพู่-ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ รองผู้อำนวยการโครงการ, ริน-ทิพย์ชยา พงศธร ผู้ก่อตั้งโครงการ FOOD FOR GOOD

“เราไม่ได้พูดว่า 21 บาทมันไม่พอ มันพอในบางพื้นที่ มันพอในบางโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนจำนวนเยอะหน่อย อย่างเช่นโรงเรียนมีนักเรียนอยู่ 80 คน เงิน 21 บาทเอามาถัวเฉลี่ยกัน ทำแกงหม้อเดียวกัน ซื้อเนื้อสัตว์รวมกันมันก็พอ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนน้อยมากมี 20 คน เขาก็จะได้รับงบสี่ร้อยกว่าบาท แค่ค่าแม่ครัวก็ไม่พอแล้ว”

ในขณะเดียวกัน โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเดินทางยากลำบาก เด็กไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ ทางโรงเรียนจึงต้องเป็นโรงเรียนพักนอนที่เปรียบเสมือนโรงเรียนประจำให้กับเด็กที่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนเหล่านี้มักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ห่างไกลจากแหล่งอาหาร ทำให้ค่าขนส่งและการเก็บรักษาวัตถุดิบมีต้นทุนเพิ่มที่สูงกว่าโรงเรียนพื้นราบค่อนข้างมาก 

“บางพื้นที่ก็อยู่ไกลมาก อย่างพื้นที่บนดอยกว่าจะลงมาซื้อวัตถุดิบก็ต้องมีค่าขนส่ง ค่าจ้างแม่ครัว ค่าเครื่องปรุง ค่าน้ำ ค่าไฟ อะไรก็แล้วแต่มันมีต้นทุนอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้น 21 บาทของเขาอาจจะไม่เหมือนนักเรียนในเมืองที่มันจะพอ

“เราต้องเข้าใจว่าโรงเรียนพวกนี้อาจจะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีไฟฟ้า ดังนั้นเขาจะลงมาซื้อเนื้อสดวันจันทร์แล้วไปเก็บในถังน้ำแข็ง มันก็จะกินได้ช่วง 2-3 วันแรก แต่ช่วงปลายอาทิตย์ก็อาจจะต้องกินของแห้ง มาม่า ปลากระป๋อง แน่นอนว่าของพวกนี้เก็บได้ตลอดชาติ แต่มันก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพเด็กไง” 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ มีโรงเรียนที่ไม่ได้รับงบรายหัวทุกคน อย่างเช่นโรงเรียนประถมขยายโอกาสที่มีเด็กมัธยมต้นเข้ามาเรียนอยู่ด้วย ทางโรงเรียนต้องเจียดงบของน้องไปให้พี่ ทำให้เฉลี่ยต่อหัวก็ยิ่งต่ำลงไปเรื่อยๆ

“ถ้าเด็กนักเรียนมัธยมที่มีเงินหน่อยก็จะเข้ามาเรียนในเมือง แต่ตามพื้นที่ห่างไกลไม่ได้มีโรงเรียนมัธยมเยอะ ทำให้โรงเรียนประถมในพื้นที่ต้องขยายโอกาสไปรับโรงเรียนมัธยมต้นเพิ่ม พอมีพี่มัธยมเข้ามาเรียน หลายโรงเรียนก็ไม่ปล่อยให้พี่มัธยมไปหาอาหารเองนะ เพราะพี่มัธยมก็เป็นคนยากจนหรือยากจนพิเศษ เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็จะทำอาหารให้ด้วยแต่งบยังได้เท่าเดิม ทางโรงเรียนจะเอางบของน้องมาเฉลี่ยให้พี่กิน ซึ่งพี่ก็กินในปริมาณที่เยอะกว่าอีก เพราะฉะนั้นงบก็จะอยู่ประมาณ 7-13 บาทต่อมื้อต่อหัว งบมันก็ไม่พอที่จะสามารถหาสารอาหารให้ครบถ้วนได้” 

กลไกการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน

เมื่อเงินไม่ได้ไปคู่กับความรู้ก็ยากที่จะทำให้เงินนั้นมันเห็นผล ก่อนหน้านี้ไม่ว่าทางโครงการจะให้เงินสนับสนุนมากแค่ไหน ผลลัพธ์ของเด็กก็ไม่ได้ดีขึ้น คุณภาพอาหารในถาดของเด็กก็ยังหน้าตาเหมือนเดิม การให้เงินก็จะสูญเปล่าหากครูยังขาดความรู้เรื่องโภชนาการที่ถูกต้อง 

“ไส้กรอกแดง นมช็อกโกแลต วันนี้ทำแกงกะทิแต่ก็ให้ขนมกะทิด้วย หรือของว่างก็จะไปซื้อขนมขบเคี้ยวเข้ามา เห็นไหมว่าคุณมีเงิน ทำได้ปริมาณก็เยอะ แต่คุณไม่ได้จัดสิ่งที่มันเหมาะสมกับวัยเด็กจริงๆ คำถามคือตอนนี้เราตัดสินจากอะไร ปริมาณอาหาร หรือหน้าตาอาหาร แล้วทุกคนก็ไปโฟกัสที่เงินไม่พอๆ เพิ่มมา 1 บาทแล้วก็ยังไม่พอ” 

แน่นอนว่าการให้เงินอย่างเดียวก็คงไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีเครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือตัวเองในอนาคตได้ ทางโครงการจึงมีวิธีการทำงานผ่านแนวคิด 4GOOD คือ FOOD, KNOWLEDGE, FARM และ HEALTH ดังนี้

GOOD FOOD การระดมทรัพยากร เงินบริจาคที่ได้รับทุกช่องทางจะถูกนำไปจัดสรรอย่างเป็นระบบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน และให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบ ทำการเกษตร รวมทั้งดูแลระบบน้ำดื่มสะอาด 

GOOD KNOWLEDGE  การเสริมความรู้และเครื่องมือด้านโภชนาการ เพื่อให้ครูและแม่ครัวสามารถจัดอาหารในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง มีนักโภชนาการคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ รวมถึงการทำให้เกิดคู่มือการจัดการอาหารและโภชนาการของโรงเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือในกรณีที่เกิดการโยกย้ายของครูที่รับผิดชอบ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ปกครองของเด็กเอง

GOOD FARM การสนับสนุนเกษตรปลอดภัย เพื่อให้เกิดแหล่งอาหารในโรงเรียน ให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรปลอดภัย และทำให้เกิดกองทุนหมุนเวียนสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

GOOD HEALTH การติดตามภาวะโภชนาการของเด็ก ทำงานร่วมกับบุคลากรในโรงเรียน และสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อลดและป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ 

ในช่วงสถานการณ์โควิดไม่สามารถลงพื้นที่จริงได้ ทางโครงการมีการปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นออนไลน์แทน ทำให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้นและสามารถขยายงานได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และคุณครู 

“พอมีโควิดเข้ามาแล้วเราสามารถทำงานออนไลน์ได้ ทำให้ไม่ต้องจำกัดพื้นที่ว่าต้องเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ กันเพื่อที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น ตอนนี้เราสามารถทำงานออนไลน์กับพื้นที่ไหนก็ได้

“เราวางแผนกระบวนการว่าจะต้องให้ความรู้ไปถึงพ่อแม่ พ่อแม่ต้องส่งการบ้านผ่านไลน์กลุ่ม ตอนแรกก็กังวลเหมือนกันว่าจะเวิร์กไหม กลายเป็นว่าหลังๆ มีการแข่งขันกันระหว่างบ้าน ทุกคนก็ให้ความร่วมมือมากกว่าที่เราคิด” 

You Are What You Eat 

เคยคิดไหมว่าอาหารอะไรที่เรากินตอนเด็กแล้วส่งผลให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ 

ในบางพื้นที่ก็ยังคงมีเด็กที่ประสบปัญหาได้รับอาหารและสารอาหารไม่เพียงพอ แต่ในอีกด้านนึงก็มีเด็กที่ประสบปัญหาน้ำหนักเกิน เพราะสารอาหารที่ไม่เหมาะสมตามโภชนาการเช่นกัน ทำไมสองปัญหานี้ถึงเกิดขึ้นซ้อนกันในประเทศได้

“ปัญหาเรื่องการจัดการอาหารมันน่าจะเป็นวาระแห่งชาติ มันเป็นปัญหานี้ทั้งประเทศและมันยังเป็นอยู่ จริงๆ ไม่ได้อยู่เฉพาะโรงเรียนที่ขาดโอกาส เราก็เคยคุยกันว่าเราอยู่โรงเรียนในเมืองซึ่งก็ไม่ได้ลำบากเลย นึกกลับไปถึงว่าอาหารที่เราได้กินที่โรงเรียนมันก็ไม่ได้ดีเลยอะ เป็นเรื่องของความเข้าใจในการบริหารจัดการอาหารมากกว่า”

ตอนนี้ทางโครงการจัดแคมเปญระดมทุนใหม่ ชวนทุกคนกลับมาคิดถึงถาดหลุมในวัยเด็กอีกครั้ง ผ่านควิซออนไลน์ เพื่อหาคำตอบว่า ‘คุณเป็นเด็กแบบไหน ตอนกินถาดหลุมโรงเรียน’ ชวนทุกคนมาตั้งคำถามว่าอาหารอะไรที่เรากินตอนนั้นแล้วส่งผลให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ทางโครงการได้รวบรวมข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง รวมไปถึงสิ่งที่ได้พบเจอตอนลงพื้นที่ทำงานในโรงเรียนต่างๆ เพื่อสื่อสารว่าประเด็นเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กแต่เป็นเรื่องของเราทุกคน 

โภชนาการที่ดีคือรากฐานของการเจริญเติบโต

ตลอดการทำงานระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา ทางโครงการได้ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ ปรับเปลี่ยนล้มลุกคลุกคลานกันมา เริ่มต้นจากมูลนิธิ ขยับมาสู่โรงเรียน เป้าหมายต่อไปคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จคือ ความตั้งใจจริงของบุคลากร 

“คุณครูมีความทุ่มเทในตัวเด็กนักเรียนมากๆ แทบจะเป็นพ่อแม่คนที่สองของเด็กด้วยซ้ำ คุณครูไม่ได้สอนอย่างเดียว แต่ทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส ครอบครัวอาจจะไม่อบอุ่น ก็ต้องมีโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองที่จะต้องคอยดูแลพวกเขา” 

“เราไม่ได้รู้จริงอะไรในพื้นที่หรอก แต่เราเข้าไปแล้วเราก็เป็นคนนอกที่คอยตั้งคำถาม คอยไปทำให้เขาคิดแล้วก็ชวนเขาทำ แต่สุดท้ายเขาต้องทำเองนะ สุดท้ายคนในพื้นที่ก็จะช่วยเราพิสูจน์ว่ามันได้หรือมันไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จ” 

สุดท้ายแล้วเรามองว่าปัญหาอาหารกลางวันโรงเรียนจะสามารถแก้ไขอย่างยั่งยืนได้ ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่ต้องร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทั้งปัญหางบประมาณและความเหลื่อมล้ำอาหารกลางวันของเด็กไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมช่วยส่งเสียงเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน อนาคตของชาติจะไปต่อได้ยังไง ถ้าหากวันนี้เด็กยังท้องไม่อิ่ม

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่