เรื่องโภชนาการไม่ใช่แค่ท่องอาหาร 5 หมู่ได้ แต่ต้องเข้าใจและใช้ให้เป็น

หัวจดหมายตราครุฑ แปะชื่อหน่วยงานสำคัญ และตรายางปั๊ม ‘ด่วนที่สุด’ ย่อมก่อกวนใจคนที่ได้เห็นให้คุกรุ่นและเต็มไปด้วยคำถาม 

เพราะเนื้อหาในหนังสือราชการ ระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) ส่งเสริมการรับประทานมังสวิรัติช่วงเข้าพรรษาในโรงเรียน โดยให้โรงเรียนประกอบอาหารมังสวิรัติเป็นมื้อกลางวันในวันพระ รวม 9 มื้อ เพื่อลดการเบียดเบียน ปลูกฝังความเมตตาต่อสัตว์ตามหลักพุทธศาสนา แม้ว่าภายหลังจะออกมาย้ำว่าเป็นการรณรงค์เชิญชวน ไม่ได้บังคับหรือออกคำสั่งตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้เลยว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กไทย เข้าอกเข้าใจเรื่องโภชนาการมากน้อยแค่ไหนกัน 

สถิติเรียกสติ เด็กไทยยังมีภาวะทุพโภชนาการมากกว่าที่ควรจะเป็น

ข้อมูลจาก Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 ระบุว่า 1 ใน 3 ของเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี มีภาวะทุพโภชนาการ 

ถึงจะพอเดาๆ ได้ แต่นิยามชัดๆ ของคำว่า ‘ทุพโภชนาการ’ ที่ UNICEF ชี้ชัดไว้ คือความไม่มั่นคงทางอาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition Insecurity) ที่มีหลายระดับและมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ อย่างการบริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เลยรวมไปถึงการเข้าถึงอาหารและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับบุคคลและระดับครัวเรือน และการขาดบริการด้านสุขภาพ เช่น การติดตามการเจริญเติบโตของเด็กหรือการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ 

และจากผลสำรวจภาวะทุพโภชนาการในเด็กระดับประถมศึกษาโดย สพฐ. เอง ที่จัดทำในปี 2562 ก็พบว่ามีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) จำนวน 297,072 คน คิดเป็น 9.63% ในขณะที่นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) มี 243,047 คน คิดเป็น 7.88% และสุดท้าย นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วนและอ้วน) สูงถึง 583,831 คน คิดเป็น 18.93% ทั้งที่เป้าที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ เราควรมีเด็กเตี้ยและเด็กผอม ไม่เกิน 5% ต่อหมวด และเด็กอ้วน ไม่ควรเกิน 10% เท่านั้น

“ถ้ามองในภาพรวมทั้งประเทศ ภาวะโภชนาการเด็กไทยถือว่ายังไม่ถึงเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ และถ้าดูที่ตัวเลข การประมวลผลคือการเฉลี่ยไปทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งต้องลองจินตนาการว่าบางพื้นที่ เช่นกรุงเทพมหานคร เด็กอาจจะได้กินดีอยู่ดีมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โภชนาการจึงอาจจะดีกว่าค่าเฉลี่ย แต่นั่นก็แปลว่าต้องมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่โภชนาการแย่กว่าค่าเฉลี่ยลงไปอีก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะพบอยู่ในต่างจังหวัด พื้นที่ชายขอบ และพื้นที่ห่างไกล” ลูกปลา-ภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ นักโภชนาการ FOOD FOR GOOD ชวนมองลึกไปกว่าตัวเลข และชี้ให้เห็นว่าปัญหาโภชนาการไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อย เพราะมันส่งผลกับการเติบโตและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาโภชนาการเด็กไม่ได้ตรงไปตรงมาว่า ผอมคือจน อ้วนคือรวย หมูเยอะคือดี มีแต่ผักคือโกง

ด้วยตัวเลขค่าเฉลี่ยที่เราเห็นว่าปัญหาเด็กอ้วนสูงกว่าเด็กเตี้ยแคระแกร็นหรือเด็กผอมค่อนข้างมาก จึงอดคิดไม่ได้ว่า ความขาดแคลนของเด็กๆ ที่เรามักเห็นในภาพจำของโรงเรียนห่างไกลอาจหมดไปแล้ว?

“ในบรรดาอาหารที่เรากิน ข้าว ผัก เนื้อสัตว์ ถามว่า 3 อย่างนี้อะไรถูกที่สุด คำตอบคือข้าว ดังนั้น คนอ้วนอาจไม่ได้แปลว่าเขากินดีอยู่ดีนะ ที่เราเคยเจอมา มันก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเสียทีเดียวนะคะ คนยากจนก็มีโอกาสที่จะอ้วนได้เหมือนกันเพราะไม่มีเงินซื้ออาหารที่เป็น Balanced Meal (อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับร่างกาย) แต่ละมื้อจะหนักไปที่ข้าวมากที่สุด มีเพียงกับข้าวเล็กๆ น้อยๆ ก่อนหน้านี้ลูกปลาเคยทำงานอยู่โรงพยาบาล เจอคนไข้ที่อ้วนมากๆ เพราะเขามีฐานะยากจน ไม่มีเงินซื้อกับข้าว อาหารหลักเลยเป็นข้าวกับเครื่องปรุงเท่านั้น กับเด็กๆ ก็เช่นเดียวกัน และก็อาจจะพูดได้ตรงไปตรงมาไม่ได้เหมือนกันว่าคนกรุงเทพฯ อ้วน คนต่างจังหวัดผอม เพราะในรายละเอียดมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก”

อีกประเด็นที่ความเข้าใจผิดของเราๆ ทำให้นักโภชนาการอย่างลูกปลากังวล คือการคิดว่าเนื้อสัตว์เยอะๆ คือดี ถ้าถาดหลุมเด็กมีแต่ผักแปลว่าโรงเรียนทุจริตสถานเดียว 

“ทุกโรงเรียนได้งบประมาณ 21 บาท ในการบริหารจัดการอาหารหนึ่งมื้อ ถามว่า พอมีเงินแค่เท่านี้ เราจะไม่คิดถึงโภชนาการเลยค่ะ แต่จะคิดว่าทำยังไงให้เงินนี้ซื้อกับข้าวให้ได้มากที่สุด ปริมาณเยอะที่สุดที่จะพอให้เด็กกิน แล้วมันก็ต้องไม่ดูน่าเกลียดด้วย เพราะจะมีคนมาตรวจเรา ในความคิดของคุณครู​หรือในความคิดของคนทั่วไป เราจะคิดว่า ถ้าเนื้อสัตว์เยอะแล้วดี ถ้าถาดหลุมมีแต่กองผักและข้าว คนจะคิดว่าโกงหรือเปล่าไว้ก่อน ก็เป็นความเข้าใจผิดระหว่างคุณครูและคนที่มาตรวจด้วย” ลูกปลาขยายความ ก่อนจะชี้ว่าความเข้าใจผิดนี้ส่งผลต่อการจัดการอาหารให้เด็กอย่างถูกต้องด้วยเหมือนกัน 

คำถามถัดมาคือ โรงเรียน คุณครู และแม่ครัว เข้าใจการจัดอาหารตามหลักโภชนาการมากน้อยแค่ไหน

หรือคำถามที่ใหญ่กว่านั้น ทำไมคุณครูที่มีหน้าที่สอนหนังสือ ถึงถูกผลักภาระเรื่องจัดการโภชนาการเด็กมาให้เต็มมือ

นักโภชนาการไม่มี โปรแกรม Thai School Lunch ไม่พอ?!?

โรงเรียนของเราจะน่าอยู่ นอกจากคุณครูใจดีทุกคน ยังมีอีกหลายตำแหน่งหน้าที่ที่ขาดไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธุรการที่คอยจัดการเอกสารต่างๆ นานา ไม่ให้มาเบียดบังการสอน มีแม่ครัวและภารโรงดูแลจัดการความเรียบร้อยในโรงครัวและโรงเรียน มีนักโภชนาการดูแลเรื่องอาหารให้เหมาะสมกับการเติบโต และมีนักจิตวิทยาดูแลใจเด็กๆ ที่ยังอ่อนไหวและเปราะบาง

แต่ก็อย่างที่เรารู้ แค่ฝ่ายธุรการยังเป็นตำแหน่งงานขาดแคลนในบางโรงเรียน การจะมีนักจิตวิทยาหรือนักโภชนาการประจำ จึงกลายเป็นเพียงความฝัน

“ถ้ายังพอจำกันได้ ช่วงที่มีข่าวโรงเรียนให้เด็กๆ กินขนมจีนกับน้ำปลาเป็นอาหารกลางวัน หลังจากนั้นไม่กี่เดือน กระทรวงมหาดไทยก็ออกหนังสือให้ อบต. จ้างนักโภชนาการประจำตำบล เพื่อคอยตรวจสอบเรื่องอาหารของทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในพื้นที่ แต่สิ่งที่ตามมาก็คืองบประมาณที่จะจัดจ้างคนเหล่านั้น อบต. ไม่ได้รับจัดสรรงบเพิ่มเติมมา จึงยังไม่เคยเห็นที่ไหนจ้าง หรือทำอะไรเป็นจริงเป็นจัง กลายเป็นกระดาษแผ่นหนึ่งที่เป็นนโยบายออกมา แต่ไม่ได้เตรียมระบบหรือเตรียมทรัพยากรที่จะทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ” ลูกปลารายงานสถานการณ์ “จริงๆ เวลาเราเข้าไปอบรมแล้วบอกให้คุณครูต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรายังรู้สึกเลยนะ ว่าทำไมครูต้องมาทำเรื่องพวกนี้ด้วย”

แต่รัฐก็ไม่ได้นิ่งดูดายปัญหานี้เสียทีเดียว เมื่อปี 2555 ได้มีการพัฒนาระบบ Thai School Lunch ร่วมพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ทั้งยังประมาณการค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบล่วงหน้าได้ โดยผู้ใช้งานจะสร้างเมนูอาหารขึ้นเอง หรือจะให้ระบบจัดสำรับอาหารอัตโนมัติจากข้อมูลเมนูอาหารในระบบที่มีมากกว่า 1,000 ชนิดก็ได้ สามารถคำนวณคุณค่าสารอาหารจากสำรับที่จัดขึ้น และคำนวณปริมาณของวัตถุดิบในการจัดซื้อแต่ละครั้ง ทำให้ประมาณค่าใช้จ่ายได้ล่วงหน้า และสรุปค่าใช้จ่ายจริงตามราคาวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น

“คอนเซปต์ของ Thai School Lunch ดีมากค่ะ มีขึ้นมาเพื่อให้คุณครูสามารถวางแผนมื้ออาหารได้ดีโดยไม่ต้องมีนักโภชนาการในโรงเรียนเหมือนในต่างประเทศ  แต่ประเด็นก็คือ เครื่องมือนี้ไม่ได้ถูกใช้อย่างที่ควรจะเป็น แม่ครัวยังถนัดทำอย่างที่เป็นรสมือของเขา หลายโรงเรียนยังมีการส่งรายงาน แต่ถ้าตรวจเช็กจริงๆ เมนูที่ส่งไปกับเมนูที่ทำจริงก็ไม่ตรงกัน 

“ถ้าไปถามคนที่คิดระบบนี้จริงๆ เขาคงอยากให้โรงเรียนเข้าใจคอนเซปต์ของเรื่อง การปรับเปลี่ยน ต่อให้ใส่เมนูอะไรเข้าไป แต่หน้างานทำไม่ได้ โรงเรียนต้องรู้จักที่จะแลกเปลี่ยน ทางโภชนาการเรียกว่า Food Exchange สมมติว่าเราจะทำต้มข่าไก่ ในโปรแกรมมันจะบอกว่าต้องใช้เห็ดนางฟ้า 3 กิโลกรัม แต่พอไปถึงตลาด ไม่มีเห็ดนางฟ้า แม่ครัวต้องรู้ว่าจะเปลี่ยนเป็นอะไร เพราะอาหารสามารถยืดหยุ่นได้ จะทำกล้วยบวชชี ไปถึงตลาด วันนี้ไม่มีกล้วยน้ำว้า จะเปลี่ยนเป็นฟักทองได้ไหม ซึ่งในช่วงแรกๆ ตอนที่ NECTEC อบรมการใช้งาน มันมีทั้งเซสชั่นพื้นฐานของโภชนาการและการใช้โปรแกรม ต้องคลิกตรงไหนยังไงบ้าง แต่พอมาในยุคปัจจุบัน การอบรมนี้ถูกถ่ายโอนไปให้ สพฐ. ทำ ซึ่งพอสอบถามทางโรงเรียน เขาก็บอกว่ามันมาแค่เรื่องการใช้โปรแกรมอย่างเดียว ครูรู้แค่วิธีกรอก แต่ไม่รู้วิธีคิด มันเลยเป็นช่องว่างใหญ่ๆ ตรงนี้”

อุดช่องว่างระหว่างโปรแกรม หน้าเตา และความเข้าใจเรื่องโภชนาการ 

อีกการทำงานหนึ่งของ FOOD FOR GOOD จึงเป็นการเข้าไปในพื้นที่เพื่อคุยกับโรงเรียนว่ามีปัญหาเรื่องการทำงานอย่างไร เรื่องโภชนาการติดขัดตรงไหนบ้าง ทั้งจากปัจจัยทั่วไป เลยรวมไปถึงการใช้ Thai School Lunch จากนั้นก็รวบรวมเป็นหลักสูตรเพื่อใช้อบรมในโรงเรียน ทั้งหลักการวางแผนเมนูอาหารและกระบวนการจัดการในรายละเอียด 

“เราสนับสนุนให้ใช้ Thai School Lunch นะคะ เพราะเนื้อหาที่เราใช้ ก็มาจากคู่มือ Thai School Lunch นี่แหละ แต่เปลี่ยนจากในคอมพิวเตอร์มาเป็นการคิดใส่กระดาษกับเราให้เข้าใจดูก่อน ด้วยวิธีคิดนี้ คุณครูลองทำในกระดาษเสร็จแล้วเอาไปใส่ใน Thai School Lunch ดู ว่ามันจะผ่านไหม ได้กี่ดาว คือในบางโรงเรียน มีปัญหาเรื่องการใช้โปรแกรมเพราะต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานด้วย และประเด็นที่อยากให้เขียนลงกระดาษ เพราะถ้าโรงเรียนทำหน้าคอมเลย แล้วมันเกิดผิดแผน เขาจะไม่รู้ว่าต้องแก้ยังไง ไม่รู้ว่าจะต้องปรับเมนูอาหารยังไง ถ้าเขาไม่เข้าใจหลักการ ที่มาว่าวันจันทร์ต้องเป็นเมนูนี้ วันอังคารต้องเป็นเมนูนี้ มันมาจากอะไร สิ่งที่เราอบรมคือเราจะต้องรู้ที่มาที่ไปก่อน พอรู้แล้ว หน้างานเจออะไรก็ตาม จะสามารถเปลี่ยนเมนูได้​ โดยที่คุณค่าทางโภชนาการยังไม่เปลี่ยนแปลง”

และวิธีการตรวจสอบความเข้าใจของคุณครูและบุคลากรที่มาอบรม คือการทำ Pre-Test Post-Test เพื่อให้เห็นว่าความเข้าใจก่อนและหลังอบรมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่นอกจากตัวเลขชี้วัดที่เห็นพัฒนาการ ลูกปลาบอกว่าสิ่งสำคัญคือการใช้งานจริง

“ถึงคะแนนจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราอบรม วัดผลแล้วแต่ไม่ทำอะไรต่อเลย คุณครูก็จะลืมเพราะไม่ได้ใช้งานจริง สิ่งที่เราทำก็คือ ให้โรงเรียนคิดเมนูอาหารมา แล้วมีการ follow up ว่าเมนูที่ส่งมา เราจะตรวจให้ และฟีดแบ็กกลับไปเสมอ คือ กระบวนการนี้จะทำให้รู้เลยว่าโรงเรียนเก็ตเราไหม หรือมีประเด็นไหนที่ตกหล่น ต้องการคำอธิบายเพิ่ม คือโดยปกติ คนเราเรียนรู้สิ่งเดียวกัน การรับรู้รับสารก็ไม่เท่ากัน แต่ว่าการที่เรายังเข้ามาคุย มาสอบถามอยู่เรื่อยๆ มันจะเกิดการพัฒนา โรงเรียนเข้าใจเรามากขึ้น และเราเองก็เข้าใจโรงเรียนมากขึ้นด้วยเหมือนกัน” ลูกปลาเน้นย้ำ ก่อนจะบอกว่า ต่อให้อบรมทีละ 20-30 โรงเรียน แต่เธอก็ฟีดแบ็กและติดตามทุกโรงเรียนอย่างเข้มข้น เพราะนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น

และนอกจากหลักการความรู้โภชนาการพื้นฐาน หลักสูตรนี้ยังลงรายละเอียดไปถึงการจัดการงบประมาณ การวางแผนระหว่างค่าวัตถุดิบ ค่าแรงแม่ครัว เลยรวมไปถึงค่าขนส่ง การตักเสิร์ฟที่แตกต่างไประหว่างน้องอนุบาล พี่ประถมต้น และพี่ ป.6 หรือเรื่องพื้นฐานแต่โรงเรียนมักหลงลืมด้วยข้อจำกัด อย่างการดูแลเรื่องความสะอาดในครัวและโรงอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจากการได้พูดคุยกับหลายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รายละเอียดเหล่านี้ช่วยให้คุณครูนำไปปรับเปลี่ยนการจัดการได้เลยแทบจะทันที และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำเพราะมีคนมาช่วยดูและให้คำปรึกษา มากกว่าจะมาตรวจสอบหรือจ้องจับผิด

และนอกจากสร้างความเข้าใจให้คุณครูและแม่ครัว สิ่งที่สำคัญตามมาคือการส่งต่อความเข้าใจนี้ต่อไป เพราะอีกปัญหาที่พบในการทำงาน คือการย้ายโรงเรียนของคุณครู หากคุณครูคนที่เข้าใจเรื่องโภชนาการย้ายไป ก็จะต้องเริ่มต้นอบรมใหม่อีกครั้ง FOOD FOR GOOD จึงมีเงื่อนไขเป็นกิจกรรมหลังจากร่วมโครงการ ว่าผู้ที่มาอบรมต้องหาทางถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเพื่อนครูคนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมอบรมด้วย เราให้โรงเรียนวางแผนเมนูอาหารไว้เป็นคัมภีร์ประจำแต่ละโรงเรียน ถ้าคุณครูโต้โผออกไป เพื่อนครูก็ดูตามนี้ได้ ไม่ต้องเริ่มใหม่เสมอ

เราถามคนทำงานว่า แล้วเมื่อไหร่ที่รู้ว่างานที่ตัวเองทำเห็นผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง ลูกปลาก็ตอบเสียงสดใสกลับมา

“เวลาที่กลับไปเยี่ยมโรงเรียน เราจะรู้สึกว่าโรงเรียนฟังเรา เข้าใจเรานะ คือตอนเราอบรมแล้วทำ Pre-Test Post-Test มันก็เป็นแค่ค่าตัวเลขเฉยๆ ไม่ได้เห็นจริงๆ แต่พอโรงเรียนส่งรูปมาอวดว่าวันนี้ทำเมนูนี้ วันนี้โรงเรียนไปติดต่อใครให้มาช่วยทำงาน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เกิดจากงานอบรมที่เราคุยกันไป โรงเรียนกลับไปทำเองได้ เรามองว่านั่นคือการเปลี่ยนแปลง ยิ่งตอนไปเยี่ยมโรงเรียน ช่วงเวลาที่คุณครูสรุปงาน ครูจะเล่าสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ ที่มาที่ไป เราว้าวเลย ว่าสิ่งที่เราคุยกัน โรงเรียนเอาไปปรับใช้ และมันก็เห็นผลเหมือนกันนะ”

โรงเรียนบ้านศรีอุบลพัฒนา โรงเรียนเล็กๆ ที่ให้เด็กได้เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกิน

เราได้คุยกับครูฟาง-นลินลักขณ์ ทองแสน ตำแหน่งครู คศ. 1 โรงเรียนบ้านศรีอุบลพัฒนา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย คุณครูผู้ประสานงานหลักระหว่างโรงเรียนกับโครงการ FOOD FOR GOOD ที่เพิ่งเข้าร่วมหมาดในปี 2565 นี้ 

“โรงเรียนของครูฟางเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่ถึง 100 คนค่ะ ก่อนจะเข้าร่วมโครงการ ในโรงเรียนมีเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่บ้าง ไม่มาก แต่ก็มี เลยคิดว่าเราลองยื่นสมัครดูไหม เผื่อจะได้ประโยชน์ตรงนี้มาทำให้เด็กของเรามีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ซึ่งพอเข้าร่วมโครงการ ตอนแรก เป็นแค่ครูฟางที่ได้รับมอบหมายให้เข้าอบรม แต่เราก็มาคุยกันว่า ถ้าเราต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ เราน่าจะให้ทุกคนได้รู้ด้วยกันทั้งหมด ทางโรงเรียนก็เอาแม่ครัวและคุณครูทุกคนมานั่งฟังอบรมร่วมกันเลย 

“จากที่ไม่มีความรู้ด้านการจัดการอาหารในโรงเรียนเลย พอได้อบรม เราก็ได้ความรู้มากขึ้น ทั้งการวางแผนเมนูอาหาร ไปจนถึงการตักเสิร์ฟ ยอมรับเลยว่าเราไม่ทราบจริงๆ ว่าถ้าวันนี้ทำเมนูต้มข่าไก่แล้ว ของหวานไม่ควรเป็นกะทิอีก คือได้เข้าใจว่าการจัดการอาหารแบบไหนจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ หรืออย่างแม่ครัว ปกติก็อาจจะทำอาหารตามที่เคยทำ แต่พอเขาเข้าใจเรื่องโภชนาการมากขึ้น เช่น เมนูต้มจืด ไม่ได้ใช้น้ำมันในการปรุง แต่แม่ครัวก็ลองเพิ่มน้ำมันเข้าไปเพื่อให้เด็กๆ ได้ไขมันครบถ้วนขึ้น คือเราได้เห็นว่าเขาก็เอาสิ่งที่อบรมไปปรับใช้” ครูฟางเล่ารายละเอียด ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลานาน 

ครูฟางเล่าว่า ส่วนงบประมาณที่ FOOD FOR GOOD เติมให้ ทางโรงเรียนนำมาจัดสรรเป็นแปลงเกษตรที่ให้เด็กๆ ได้ลงมือปลูกด้วยตัวเอง เพราะเป็นหลักสูตรที่คุณครูต้องสอนเด็กๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าทำจริง ลงมือจริง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้จริงก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อพืชผักสวนครัว แล้วนำเงินส่วนต่างนี้ไปซื้อวัตถุดิบอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งโรงเรียนได้เริ่มต้นจริงจัง ทั้งการทำแปลงเกษตร โรงเรือน และบ่อเลี้ยงปลา และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หนึ่งรอบแล้ว

“คุณครูในโรงเรียนท่านทำเกษตรเป็นสวนผลไม้อยู่ที่บ้านท่านอยู่แล้ว ครูท่านนี้ก็จะเป็นคนหลักที่พาเด็กๆ ดูแลแปลง แต่คุณครูจะเป็นแค่ผู้ให้คำแนะนำแล้วก็ช่วยบอก ช่วยสอน เด็กๆ จะเป็นคนลงมือทำด้วยตัวเองทั้งหมดเลย ตั้งแต่การเอาดินลงปลูก บำรุงดิน ปลูก เก็บเกี่ยว เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำเกษตรไปด้วย และเราก็ขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองเด็กให้เข้ามาให้ความรู้ ตอนนี้ก็มีผู้ปกครองที่ทำฟาร์มเห็ดมาช่วย แต่เรายังไม่ได้เริ่มทำนะคะ กำลังศึกษาว่าโรงเรียนเราพอจะทำได้ไหม” ครูฟางเล่าด้วยเสียงเจือรอยยิ้ม เพราะเธอบอกว่าดีใจที่เห็นความตั้งใจเป็นรูปเป็นร่าง และเด็กๆ ก็ได้เรียนไปด้วย สนุกไปด้วย ในฐานะครูอนุบาลที่เห็นเด็กจำ ก ไก่ ได้ก็ใจฟู เธอบอกว่าการเป็นครูเติมเต็มความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เธอสอน

“นอกจากเรื่องแปลงเกษตร เรามาออกแบบกิจกรรมกันว่าจะทำยังไงให้เด็กๆ ได้เข้าใจเรื่องโภชนาการด้วย ก็เลยให้พี่ๆ ป.6 ที่โตหน่อยได้ลองทำอาหารด้วยตัวเองค่ะ ให้เขารู้ว่าเราใส่อะไรลงไป เขาจะได้โภชนาการจากวัตถุดิบไหน จากอะไรที่ใส่ลงไปบ้างในอาหารของเขา ซึ่งเด็กๆ ดูสนุกมากเลย ยิ่งได้ทำอาหาร ได้เก็บผัก เก็บผลผลิต วันนี้เราไปเก็บผักบุ้งมาทำผัดผักรวมกัน สนุกกันใหญ่

“ก่อนจะมาบรรจุที่นี่ ครูฟางสอนอยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ มันก็เห็นข้อเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่าการมาอยู่โรงเรียนเล็กๆ ภาระงานของครูจะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเรามีครูน้อย เราก็เลยต้องช่วยกันสอน ช่วยกันจัดการงาน พอเรามีกันอยู่แค่นี้ก็ต้องช่วยแบ่งเบาภาระกัน” ครูฟางตอบเมื่อเราถามว่า ภาระทั้งการสอน การดูแลเรื่องโภชนาการ ลามไปถึงการทำแปลงเกษตร หนักหนาเกินไปไหมสำหรับครูคนหนึ่ง

“กับเรื่องงบประมาณ ยังเป็นภาระอยู่นะคะ ตอนนี้คุณครูยังต้องขับรถไปซื้ออาหารเอง เพราะงบประมาณน้อยมาก แต่ถ้าถามว่ามันเป็นภาระไหมที่เราต้องมาดูแลเรื่องโภชนาการหรือทำแปลงเกษตร ครูฟางคิดว่าเราทำได้ เพราะว่าอยู่ในบทเรียนหรือหลักสูตรที่ครูฟางสอนเด็กๆ อยู่แล้ว มันก็ไม่ได้เพิ่มเป็นภาระขึ้นมาค่ะ” ครูฟางย้ำ ก่อนจะยืนยันกับเราว่า เธอก็อยากให้เด็กๆ ในโรงเรียน มีภาวะโภชนาการที่ดี และพร้อมเติบโตเพื่อเป็นใครที่พวกเขาฝันอยากเป็น แม้จะอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ก็ตาม 

—————-ชวนติดตาม FOOD FOR GOOD Journal เล่าเรื่องหลุมดำในถาดหลุมโรงเรียนของเด็กไทยตอนต่อไป ปัญหาโภชนาการเด็กไทยไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน!

AUTHOR