อนุมัติแล้ว! เพิ่มงบอาหารกลางวันนักเรียนต่อหัว จาก 21 เป็น 28 บาท
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เราได้เห็นพาดหัวข่าวที่ทำให้ตาโตตื่นเต้น ท่ามกลางยุคข้าวยากหมากแพง (ตรงตามตัวอักษร) เอาน่ะ, อย่างน้อย รัฐก็ขยับเขยื้อนเพื่อเด็กๆ บ้าง
แต่เมื่อถามไถ่ข่าวดีนี้ไปกับนักโภชนาการของ FOOD FOR GOOD ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องอาหารกลางวันคุณภาพกับคุณครูในโรงเรียนที่ร่วมโครงการโดยตรง ไปจนถึงต่อสายคุยกับคุณครูผู้กำงบอาหารกลางวันจัดสรรให้เด็กๆ ตามหน้าที่ ทุกคนก็บอกตรงกัน (ด้วยเสียงเรียบๆ ว่า) “มันยังเป็นแค่ข้อเสนอเท่านั้น”
…กระทรวงศึกษาธิการเสนอคณะรัฐมนตรี ปรับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จากวันละ 21 บาท เป็น 28 บาท ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบ ถึงการเสนอการปรับอัตราเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จากวันละ 21 บาท เป็น 28 บาทแล้ว…
‘คุณภาพชีวิต’ เป็นสิ่งที่ต้องรอคอยเสมอในประเทศนี้
ตลอด 70 ปี รัฐอุดหนุนถาดหลุมโรงเรียนด้วยเงินเท่าไหร่
ย้อนไปตั้งแต่ปี 2495 รัฐบาลได้ริเริ่ม ‘โครงการอาหารกลางวัน’ ที่ตั้งเป้าว่าจะแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก เพราะเมื่อย้อนกลับไปราว 70 ปีก่อนนักเรียนประถมจำนวนมากเข้าไม่ถึงอาหารกลางวันที่ดีและมีโภชนาการเพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อภาวะการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ว่ารัฐจัดสรรงบมากน้อยเท่าไหร่ในการทำโครงการช่วงเริ่มต้น
ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด ซึ่งปัญหาที่พบคือโรงเรียนขาดงบประมาณที่จะจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนที่ขาดแคลนได้เพียงพอ ปี 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จึงมีนโยบายให้ ‘ทุก’ โรงเรียนเร่งดำเนินโครงการอาหารกลางวันก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้สโลแกน ‘60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย’ และในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลถึงได้ออกกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535’ จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท หรือถ้าย่อยให้ง่ายกว่านั้น คือเด็กๆ เริ่มได้รับเงินอุดหนุนอาหารกลางวันรายหัว อยู่ที่คนละ 5 บาท
งบที่ว่าขยับมาทีละเล็กทีละน้อย ในปี 2540 เด็กๆ ได้งบเพิ่มขึ้นเป็น 6 บาท
ปี 2544 ขยับเป็น 10 บาท (พร้อมถ่ายโอนงบไปให้กระทรวงมหาดไทย ตาม พรบ. กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ก่อนที่เม็ดเงินจะไปถึงแต่ละโรงเรียนผ่าน อบต. ในพื้นที่ โดยในช่วงปี 2551-2555 งบได้ขยับขึ้นเป็น 13 บาท ก่อนจะเคาะเป็น 20 บาทในปี 2556 และฟาดฟันกันในสภาฯ แทบเป็นแทบตาย กว่าจะเพิ่มเป็น 21 บาทได้ในปี 2564
21 บาทนี้ เพียงพอที่จะถมหลุมดำในถาดหลุมอาหารกลางวันไหม?
‘ไม่พอก็ต้องพอ’ เป็นคำตอบที่เราได้ยินผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเปรยอยู่เสมอ เพราะแต่ละโรงเรียนก็ต้องหาทางบริหาร จัดการ และจัดสรรให้มื้ออาหารกลางวันเกิดขึ้น แต่ถ้าจะว่ากันในรายละเอียด ยังมีปัจจัยและเงื่อนไขอีกมากมายที่ทำให้แต่ละโรงเรียนจะตอบได้ชัดว่างบที่ได้รับจัดสรรไป เพียงพอต่อการจัดอาหารกลางวัน ‘คุณภาพ’ ให้เด็กๆ ได้หรือไม่
“ตอนที่คณะทำงานโครงการอาหารกลางวันคำนวณต้นทุนต่างๆ ว่าค่าวัตถุดิบกี่บาท ค่าจัดการเท่าไหร่จนเคาะเป็นงบ 20 บาทออกมา ในตอนนั้นคงไม่ได้คิดเผื่อโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะอัตราการเกิดของเด็กไทยไม่ได้น้อยอย่างทุกวันนี้ ปัจจุบัน อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงครึ่งหนึ่งจาก 10 ปีที่แล้ว พอเด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนก็จะรับเด็กน้อยลงเรื่อยๆ จากเคยมี 100 คน เหลือเด็ก 50 คน บางโรงเรียนเหลือ 10 คนก็มี ก็จะเริ่มเดือดร้อนเรื่องค่าอาหารกลางวัน เพราะการทำอาหารมีต้นทุนคงที่อยู่ และถ้าย้อนไปตอนที่ก่อตั้งกองทุนอาหารกลางวันจริงๆ คณะทำงานคงคิดว่าจะใช้ดอกผลจากเงินตั้งต้นมาเป็นค่าอาหาร แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่เพียงพอ ก็เลยเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้” ลูกปลา-ภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ นักโภชนาการ FOOD FOR GOOD พยายามเล่าให้เราเข้าใจถึงปัญหางบอาหารกลางวันที่เรื้อรังมานาน ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าโรงเรียนที่มีนักเรียน 10 คนจะได้รับการจัดสรรงบอาหารกลางวันแค่วันละ 210 บาท ซึ่งนึกไม่ออกเลยว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารได้ยังไง ยังไม่ต้องพูดถึงค่าแรงแม่ครัวหรืออัตราเงินเฟ้อที่ทำเอาข้าวของแพงขึ้นทุกวันๆ เลยก็ได้!
แน่นอน คนทำงานหลายภาคส่วนทราบดีถึงปัญหานี้และพยายามหาแนวทางแก้ไข นักวิชาการด้านการศึกษาเคยเสนอให้เพิ่มงบอาหารกลางวันแบบขั้นบันได โดยโรงเรียนที่มีนักเรียน 1-20 คน ควรจะได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 21-40 คน ควรได้รับค่าอาหารกลางวัน 31 บาทต่อคนต่อวัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 41-60 คน ควรได้รับค่าอาหาร 27 บาทต่อคนต่อวัน และโรงเรียนที่มีนักเรียน 80 คนขึ้นไป ควรได้รับค่าอาหารกลางวัน 24 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนคงที่ในการจัดการ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสเดินหน้าสู่นโยบายจริง
เล็ก ไกล ขยายโอกาส ปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้โรงเรียนจัดสรรงบไม่พอ
อย่างที่ยกตัวอย่างไป โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 50 คน มักมีปัญหาการจัดการงบประมาณจากจำนวนเด็กน้อยจนทำให้งบน้อยตาม ขณะที่ต้นทุนคงที่ในการจัดการอาหาร ยังเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ
ปัญหาถัดมาอยู่ในโรงเรียนบนพื้นที่สูง เดินทางยากลำบากและห่างไกลจากแหล่งอาหาร เพราะค่าขนส่งและการเก็บรักษาวัตถุดิบมีต้นทุนเพิ่มที่สูงกว่าโรงเรียนพื้นราบค่อนข้างมาก แค่คิดว่าซื้อหมูกิโลกรัมละ 200 บาทเท่ากัน โรงเรียนเหล่านี้ต้องบวกค่าขนขึ้นดอยเข้าไปอีก 10-20% เป็นอย่างต่ำ ยังไม่นับว่าบางโรงเรียนไม่มีไฟฟ้า (ใช่, ความเหลื่อมล้ำมันมากขนาดนั้นนั่นแหละ) โรงเรียนจึงไม่สามารถตุนวัตถุดิบสดใหม่ไว้ในตู้เย็น การซื้อในปริมาณน้อยก็ยิ่งราคาสูง หรือเด็กๆ จำต้องกินอาหารแปรรูปที่เก็บตุนได้นานๆ แทนอาหารสดใหม่เหมือนเด็กในเมือง
สุดท้าย คือโรงเรียนประถมขยายโอกาส ที่มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นซึ่งไม่ได้รับงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน แต่หลายๆ โรงเรียนเลือกที่จะจัดสรรอาหารกลางวันให้กับเด็กทุกคน โดยเฉลี่ยนงบจากเด็กประถม เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยในโรงเรียนเหล่านี้ มักเป็นเด็กนักเรียนยากจนที่อาหารกลางวันโรงเรียน อาจเป็นมื้อครบถ้วนมื้อเดียวที่พวกเขาได้กิน
นโยบายรัฐขยับช้า กลไกเล็กๆ จึงต้องร่วมกันขับเคลื่อน
ชมพู่-ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ รองผู้อำนวยการ โครงการ FOOD FOR GOOD เล่าว่า ในฐานะกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องโภชนาการเด็ก ทีมได้เข้าไปร่วมทำงานกับโรงเรียนที่มีปัญหาดังว่ามาตลอด 8 ปี ใน 70 โรงเรียน ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องโภชนาการ มอบเครื่องมือให้โรงเรียนไปปรับใช้เพื่อจัดการอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาและสานต่อได้เองในพื้นที่ รวมทั้งขยายพื้นที่ทำงานให้ครอบคลุมปัญหาได้มากขึ้น
การทำงานจึงไม่ใช่แค่นำเงินบริจาคไปแปรรูปเป็นมื้ออาหารเป็นรายมื้อ แต่คือการสร้าง ‘วิธี’ ที่เอื้อให้เด็กๆ มีมื้อคุณภาพไปได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะจบโครงการไป
นอกจากการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมที่อยู่บนฐาน ‘ความเป็นจริง’ ที่โรงเรียนต้องใช้ การลงพื้นที่ไปสำรวจ พูดคุย ส่งมอบเครื่องไม้เครื่องมือ และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างพื้นที่ ก็ทำให้ทีม FOOD FOR GOOD ได้เห็นความเก่งกาจของแต่ละโรงเรียน ในการเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการงบที่ได้เพิ่มด้วยการคิดนอกกรอบและยืดหยุ่น หาวิธีประหยัดเพื่อนำส่วนต่างมาจัดซื้อวัตถุดิบได้มากขึ้น หรือครอบคลุมการจัดการมากขึ้น ส่วนสิ่งที่ขาดแคลนและสนับสนุนได้ อย่างระบบกรองน้ำสะอาดให้ชุมชนที่เข้าไม่ถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน หรือตู้เย็นโซล่าเซลล์ที่ช่วยแก้ปัญหาการจัดการวัตถุดิบให้โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้า ก็เป็นอีกส่วนงานที่เข้าไปเติมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ให้กับเด็กๆ และชุมชนที่ติดอยู่ในปัญหาความเหลื่อมล้ำ
“สิ่งที่เราโฟกัสคือสารอาหารที่เด็กๆ ควรจะได้รับตามมาตรฐานอาหารกลางวัน มาตรฐานตรงนี้มันก็ทำยากมากนะคะในภาวะเงินเฟ้อขนาดนี้ ให้ไก่ หมู ต้องได้ปริมาณ ซึ่งพอได้ทำงานร่วมกัน เราจะเห็นการบริหารจัดการงบที่น่าสนใจ หาวิธีลดค่าใช้จ่าย อย่างโรงเรียนขยายโอกาส เขาจะเก่งเรื่องการจัดการงบมาก เพราะงบที่ได้มา แค่ดูแลเด็กประถมก็ยังยาก แต่เขายังมีเด็กมัธยมต้นที่ยากจนถึง 60-70% โรงเรียนเหล่านี้จะพยายามหาวิธีจัดการ บางโรงเรียนก็ให้เด็กหิ้วข้าวมาเองแต่ทำกับข้าวเผื่อให้ หรือใช้โอกาสนี้สร้างความร่วมมือและผูกมิตรกับชุมชน รับบริจาควัตถุดิบ หรือทำฟาร์มเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาใช้หรือขายในชุมชนเพื่อนำรายได้มาจัดการตรงนี้เพิ่ม” ลูกปลายกตัวอย่างโรงเรียนในโครงการที่ทำงานร่วมกันและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ถาดหลุมที่เคยพร่อง ให้เด็กๆ อิ่มท้องและโภชนาการครบได้จริง
โรงเรียนบ้านนาแปน จังหวัดเลย โรงเรียนขยายโอกาส ที่เติมโอกาสในถาดหลุมโรงเรียน
โรงเรียนบ้านนาแปนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนอยู่ราวๆ 200 คน โดยเป็นเด็กมัธยมอยู่สัก 50 คนได้ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนตัดสินใจว่าจะดูแลจัดการอาหารให้เด็กๆ มัธยมด้วย จึงเป็นที่มาที่โรงเรียนต้องมาหาทางออกร่วมกันในการจัดการอาหารกลางวันให้เด็กๆ และเข้าร่วมโครงการกับ FOOD FOR GOOD
ครูเท่-อรรถพันธ์ รุ่งชัยสุขวรกุล คุณครูวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียน ที่ควบหน้าที่ดูแลพัสดุ และคุณครูเกษตรในโครงการ เล่าให้เราฟังถึง ‘วิธี’ ที่คุณครูออกแบบเพื่อถมหลุมดำในถาดหลุมโรงเรียน
“งบอาหารกลางวัน เจตนาของการใช้เงินคืออยากให้เด็กประถมกินได้เต็มที่ ถ้าเราไปถัวเฉลี่ยมาทำอาหารให้เด็กมัธยมขยายโอกาสด้วย มันก็ผิดเจตนาการใช้เงินตรงนี้ แม้ว่าในทางปฏิบัติก็อาจจะทำได้ แต่เราก็อยากจะหาทางออกให้มันถูกต้อง คือเจตนาเราดี อยากให้เด็กได้กินทุกคน โรงเรียนจึงต้องออกแบบวิธีการ
“ด้วยบุคลิกตัวเอง เรามีความเป็นพ่อค้าอยู่แล้ว แล้วเราก็เป็นพัสดุด้วย เวลาไปสืบหาของเราจะเห็นว่ามันมีตัวเลขช่องว่างที่เป็นกำไรของพ่อค้าอยู่ ถ้าเราลดกำไรของพ่อค้า หรือเราจัดหาสิ่งของได้ถูกกว่าท้องตลาด มันก็เกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด เช่น เนื้อไก่ ถ้าในท้องที่ขายอยู่กิโลกรัมละ 100 บาท เราต้องไปสำรวจสินค้าให้มีราคาต่ำกว่า 100 บาท แล้วเราก็นำมาจัดจำหน่ายในรูปแบบของสหกรณ์โรงเรียนเพื่อเอาส่วนต่างตรงนั้นมาจัดเป็นงบให้เด็กมัธยมได้กิน หรือเราได้งบประมาณจาก FOOD FOR GOOD มาทำเกษตร โครงการที่โรงเรียนทำอยู่คือการปลูกเห็ดนางฟ้า ผลผลิตที่ได้แต่ละรอบ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ประกอบอาหารกลางวันได้ทั้งหมด เราก็เลยเปลี่ยนเป็นเงิน คือเอาไปขายแล้วนำมาเสริมกับงบประมาณที่ได้รับ เพื่อซื้อวัตถุดิบอย่างอื่นมาแทน”
เจ้าของไอเดียการจัดการนอกกรอบแต่ถูกระเบียบคนนี้ บอกว่าตัวเองเป็นครูวิทยาศาสตร์ และอยากนำวิชาความรู้ที่มีมาใช้ในโรงเรียนให้เต็มที่ “ถ้าเราเอางานสอนมาบูรณาการกับเรื่องพวกนี้ มันได้หมดเลยครับ สำหรับผม ผมคิดว่ามันไม่เป็นภาระงาน ความรู้เรื่องโภชนาการ เรื่องสารอาหาร เราก็ได้สอนเด็กๆ ไปด้วย หรืออย่างเห็ดนางฟ้าขายได้กิโลละ 60 บาท ถ้าทำเป็นแหนมเห็ดขายได้กิโลละ 300 บาท เราก็ได้ส่วนต่างมาให้เด็กๆ มากขึ้น และกระบวนการทำก็ได้บูรณาการความรู้มาสอนเด็กๆ ด้วย มันรู้สึกดีที่ได้ใช้ความรู้ของตัวเองด้วยครับ
“ความตั้งใจในการเป็นครูของผมคือการให้โอกาสเด็ก เราอยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส บ้านตัวเองกับพื้นที่ที่มาบรรจุมันค่อนข้างจะต่างกัน ตอนเด็ก เราเรียนอยู่ในเมือง ก็เห็นความแตกต่างกันของเด็กบ้านนอกกับเด็กในเมือง โรงเรียนเล็กๆ เงินถัวเฉลี่ยน้อยๆ ซื้อของกินดีๆ ได้ยาก ผมคิดว่า การศึกษามันต้องเท่าเทียม เรื่องอาหารก็ด้วย”
เราไม่ได้บอกครูหรอกว่า วิธีของครูเท่สมชื่อจริงๆ
ก่อนจบบทสนทนา เราถามครูเท่ว่ามีเมนูประจำถาดหลุมโรงเรียนบ้านนาแปนที่เด็กๆ โปรดปรานไหม ครูเท่ตอบว่าส้มตำไก่ทอด “แต่ตอนนี้น่องไก่แพงไปหน่อย ช่วงนี้เลยไม่ค่อยได้ทำครับ”
ตามประสาคนช่างกิน เราหวังว่าเด็กๆ โรงเรียนบ้านนาแปนจะได้กลับมากินน่องไก่กับส้มตำรสจัดจ้านชวนเจริญอาหารได้ไวๆ แต่ความหวังก้อนใหญ่กว่านั้น เราอยากให้ปัญหาอาหารกลางวันเด็กไทย หมดไปจากประเทศนี้เสียที
—————-ชวนติดตาม FOOD FOR GOOD Journal เล่าเรื่องหลุมดำในถาดหลุมโรงเรียนของเด็กไทยตอนต่อไป ปัญหาในอาหารกลางวันไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน!