ผลักภาระให้โรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ คุณภาพชีวิตเด็กเกี่ยวกับเราทุกคน

FOOD FOR GOOD JOURNAL เมื่อ 2 ตอนที่แล้ว เราชี้ให้เห็นปัญหาโภชนาการเด็กที่เกิดจากระบบใช้ไม้บรรทัดเดียวกับเด็กทั้งประเทศผ่านการจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันในโรงเรียน รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโภชนาการที่ถูกต้องให้คุณครู แม่ครัว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่คำถามคือ เราผลักภาระในการจัดการปัญหาเด็กผอม เตี้ย อ้วน ให้กับรัฐและโรงเรียนอย่างเดียวเหรอ

คำตอบคือไม่ได้ 

และใช่, ตัวละครสำคัญตัวแรกคือครอบครัว

บ้านไม่ใช่เซฟโซน (เรื่องโภชนาการ)

“ถ้าเอาทฤษฎีมาพูดกัน เด็กกินอาหารกลางวันที่โรงเรียนในสัดส่วน 40% ที่เด็กควรกินทั้งวัน อีก 60% อยู่ที่บ้าน คือมื้อเช้า 20% และมื้อเย็น 40% ถ้าตอบตามทฤษฎีว่าใครมีความสำคัญกับการจัดการภาวะโภชนาการเด็กมากกว่า ก็ต้องเป็นที่บ้าน แต่มันก็แยกกันไม่ขาดเสียทีเดียว จึงต้องผนึกกำลังกันทั้ง 2 ด้าน บ้านเป็นส่วนสำคัญในการหาอาหารที่ดีให้เด็ก ส่วนโรงเรียน สำคัญในการสร้างวินัยในการรับประทานอาหาร และสอนเด็กๆ เรื่องโภชนาการ” ลูกปลา-ภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ นักโภชนาการ FOOD FOR GOOD คนเดิม ชี้ให้เห็นความสำคัญของครอบครัวอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

“จากพื้นที่ที่ FOOD FOR GOOD ลงไปทำงาน ปัญหาที่เราเห็นคือเรื่องเวลากับเงิน คือผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ หรือผู้ปกครองมีฐานะยากจน บางครั้ง สองปัญหานี้มันก็กลืนๆ กันอยู่ ยิ่งในชนบท ส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ฝากปู่ย่าตายายเลี้ยง เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานในเมือง ส่งเงินกลับไปให้ พอบ้าง ไม่พอบ้าง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วสำหรับตายายที่ได้เงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท แต่ต้องเลี้ยงหลานอีก 4-5 คน นี่คือสภาพที่เราเจอ ในเรื่องการจัดการโภชนาการเด็ก ยิ่งถ้าผู้ปกครองอายุเยอะมากๆ เขาจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการมากนัก มีอะไรก็กินๆ เข้าไป เด็กๆ บางคนผู้ปกครองทำไร่ทำนา ออกจากบ้านไปตั้งแต่ตีห้า แล้วก็ไม่ได้เตรียมอาหารไว้ให้ลูกให้หลาน ก็ให้เงินไป 5 บาท 10 บาท ซื้อของกินที่โรงเรียนนะ แล้วเด็กๆ จะกินอะไร ก็จะกินขนม กินลูกชิ้นหน้าโรงเรียน 

“หรือบางครั้งเราเคยเจอความเข้าใจผิดแบบแปลกๆ เหมือนกัน เช่น ยายเข้าใจว่าการให้เด็กๆ กินกาแฟเป็นอาหารเช้าคือเรื่องดี เพราะเขาดูจากทีวีว่าคนในเมืองกินกาแฟตอนเช้า” ลูกปลาเล่า ก่อนจะบอกว่าความเข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ นี้ ส่งผลกับพฤติกรรมการกินของเด็กๆ โดยตรง

เมื่อถามถึงครอบครัวในเมือง แม้ FOOD FOR GOOD จะไม่ได้ทำงานด้วยโดยตรง แต่ปัญหาที่เห็นชัดเจน คือถึงเด็กๆ ในเมืองมีตัวเลือกในการกินมากกว่า แต่ครอบครัวก็มักจะเลือกอะไรผิดๆ อยู่เสมอ

“เคยเข้าไปอยู่ในกรุ๊ปของคุณพ่อคุณแม่ที่คุยกันเรื่องลูก ปรึกษากันว่าลูกอ้วนทำยังไงดี แล้วก็มีผู้หวังดีไปแนะนำว่าให้เด็กๆ กิน IF สิ!” ลูกปลาอดไม่ได้ที่จะเล่าเสียงสูง เพราะรู้สึกว่าแม้ผู้ปกครองในเมืองจะห่วงใยใส่ใจเรื่องอาหารการกินของลูก แต่กลับไม่ใส่ใจเรื่องข้อมูลที่ถูกต้องเท่าที่ควร และเชื่อใครก็ไม่รู้มากกว่าเชื่อหมอหรือนักโภชนาการ “ไม่ว่าจะครอบครัวในชนบทหรือครอบครัวในเมือง ปัญหาเดียวกัน คือ Health Literacy ความรอบรู้ด้านสุขภาพ คนต่างจังหวัดไม่รู้เพราะอาจจะไม่สามารถเข้าถึงความรู้ได้ คนในเมืองเข้าถึงความรู้ได้ แต่ไม่รู้ว่าแหล่งความรู้นั้นน่าเชื่อถือหรือเปล่า ก็นับว่าไม่มี Health Literacy ทั้งคู่”  

อีกงานหนึ่งที่ FOOD FOR GOOD ขอความร่วมมือให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทำ จึงต้องเพิ่มการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโภชนาการอย่างถูกต้องให้กับเด็กๆ และต้องส่งความรู้ความเข้าใจเดียวกันนี้ ไปให้ถึงผู้ปกครองที่ดูแลเด็กๆ ด้วย แม้จะวัดผลไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนการเห็นพัฒนาการด้านภาวะโภชนาการ แต่ก็เป็นงานที่ต้องทำ และขอให้โรงเรียนไม่ยอมแพ้ที่จะทำต่อไป

หน่วยขับเคลื่อนนโยบาย ยันโรงพยาบาลในพื้นที่ก็ต้องมีเอี่ยวด้วย

ชมพู่-ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ รองผู้อำนวยการโครงการ FOOD FOR GOOD เล่าว่า จากจุดเริ่มต้นของโครงการที่เป็นเพียงการช่วยระดมทุนนำเงินไปส่งต่อให้มูลนิธิเพื่อจัดสรรมื้ออาหารให้เด็กในโรงเรียนห่างไกล สู่การลงไปทำงานคลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่ และเห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่างจากความตั้งใจจริงของเหล่าคุณครูและคนในชุมชน ทำให้ FOOD FOR GOOD มีเป้าหมายที่ไกลกว่าเดิม

“มันเป็นเรื่องยากที่เราจะขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐได้โดยตรง แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการเด็ก นำเครื่องมือและวิธีที่เรามีจากการทำงานตลอด 8 ปีไปแลกเปลี่ยนและพัฒนาอะไรใหม่ๆ ร่วมกัน” ชมพู่บอกวิธีคิด ก่อนจะเล่าถึงความร่วมมือใหม่ๆ ที่ FOOD FOR GOOD กำลังทำ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทำงานในโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบของการจัดการเชิงระบบในสถานศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และงานพัฒนาชุดข้อมูลความรู้โภชนาการให้ กสศ. นำไปใช้กับ 23 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอาหารเช้า เป็นชุดสื่อสารความรู้ 4 กลุ่ม สำหรับคุณครู แม่ครัว ผู้ปกครอง และนักเรียน และการทำงานร่วมกับกลุ่มงานสาธารณสุขในโรงพยาบาลยะรัง จังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และเครือข่ายแพทย์ชนบท เพื่อลดปัญหาสุขภาพให้เด็กในพื้นที่ผ่านการดูแลโภชนาการ

“เป็นปีแห่งการทดลองของเรา” เจี๊ยบ-สิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย เล่ารายละเอียดของเนื้องานชื่อยาวและฟังดูจริงจังเหล่านั้นด้วยกลไกง่ายๆ “การทำงานวิจัยหาข้อมูลมารองรับว่า กสศ. จะผลักดันให้รัฐสนับสนุนงบประมาณอาหารเช้าให้เด็กนักเรียนยากจนพิเศษได้ไหม อบต. เข้ามาจัดสรรงบนี้ได้หรือเปล่า ซึ่งเรารู้ว่าเด็กๆ ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้กินอาหารเช้ามาจากบ้านนะคะ แต่คุณภาพของอาหารเช้าที่พ่อแม่ให้กินอาจจะไม่ครบหมู่ หมูปิ้ง ไก่ย่าง ขนมปัง พอได้ลองสำรวจ ทำให้เห็นว่าเราอาจจะไม่ต้องเสริมทั้งหมด แต่เสริมบางอย่าง เช่น ผลไม้ระหว่างคาบเรียนก็เพียงพอ เพราะเด็กๆ อาจจะขาดผักหรือผลไม้ในมื้อเช้า คือนอกจากจะใส่ตัวแปรอย่างงบประมาณอาหารเช้า เราอาจจะต้องใส่ตัวแปรความรู้พ่อแม่ด้วย เพื่อให้เขาเลือกอาหารให้ลูกกินให้ถูกต้องขึ้น”

ส่วนเนื้องานที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ก็มาจากโจทย์ตั้งต้นว่าหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างโรงพยาบาล มีงานล้นมือจากปัญหาสุขภาพของประชากรในพื้นที่ หาก FOOD FOR GOOD ไปช่วยเปลี่ยนจากการรักษาเป็นการป้องกันล่ะ จะช่วยลดภาระงานของหมอและพยาบาลที่ล้นมือได้ไหม 

“โรงพยาบาลเป็นเหมือนหน่วยสุดท้าย คือต้องให้คนเจ็บป่วยก่อนแล้วถึงค่อยไปแก้ไข เราจึงทดลองทำกระบวนการที่มาเริ่มกันที่ต้นทางดีไหม ถ้าเด็กมีสุขภาพดี ก็จะไม่ป่วย โรงเรียนที่ร่วมในโครงการ FOOD FOR GOOD เองก็เก็บฐานข้อมูลของเด็กเรื่องโภชนาการต่อเนื่องอยู่แล้ว ถ้าคุณครูนำไปส่งต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขได้รู้ว่าข้อมูลโภชนาการของเด็กในพื้นที่เป็นอย่างนี้ เด็กคนนี้ไม่มีพัฒนาการเลย สาธารณสุขในพื้นที่รู้ข้อมูลนี้แล้วก็วางแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างถูกต้องได้ ซึ่งเราเข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น โรงพยาบาลและโรงเรียนในพื้นที่สามารถออกแบบกระบวนการทำงานได้เอง” 

ด้วยจำนวนคนทำงานไม่กี่คนของ FOOD FOR GOOD การขยายพื้นที่ได้ถึง 70 โรงเรียนในปี 2565 ถือเป็นงานที่ล้นมือมากแล้ว แต่งานสร้างความร่วมไม้ร่วมมือกับเครือข่าย ทำให้วิธีและเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงโภชนาการเด็กให้ดีขึ้น ถูกขยายออกไปกว้างขวางกว่าเก่า เช่นเดียวกับความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น

ไม่ใช่มูลนิธิสำหรับทำกิจกรรมซีเอสอาร์ แต่คือพาร์ตเนอร์ที่จับมือกันเปลี่ยนแปลง

ฟังดูเข้าเค้า ถ้าบัตรเครดิตจะช่วยระดมทุนด้วยการให้ลูกค้าแลกแต้มสะสมหรือ cashback เป็นเงินบริจาคเข้าโครงการ แต่สิ่งที่ธนาคารกรุงศรี ในฐานะพาร์ตเนอร์ของ FOOD FOR GOOD ทำ คือการเอาความถนัดเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชั่นมาพัฒนาเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาวะโภชนาการของเด็กๆ ในโรงเรียน เพื่อการติดตามภาวะโภชนาการเด็กร่วมกับ FOOD FOR GOOD

“เมื่อก่อนเราใช้ excel ธรรมดาในการเก็บข้อมูล มันจึงไม่มีการประมวลผล โปรแกรมของรัฐที่มีอยู่ก็มีข้อจำกัดว่าเก็บข้อมูลได้ไม่ต่อเนื่อง ต้องหยิบหลายๆ ไฟล์มาประมวลผลกันเอง จึงช้า ทำได้น้อย แต่ถ้าทำผ่านเครื่องมือนี้ที่ออกแบบร่วมกันกับธนาคารกรุงศรี พอคุณครูคีย์ข้อมูลเข้าไป จากที่เราเคยประมวลได้ทีละน้อยๆ ก็จะเพิ่มจำนวนการเก็บและประมวลผลข้อมูลได้เป็นระบบและต่อเนื่องมากขึ้น นำข้อมูลไปใช้ในการทำงานได้มากขึ้น” เจี๊ยบเล่าถึงกลไกของเครื่องมือ ก่อนจะบอกว่าคุณครูกำลังจะได้ใช้แอปฯ ที่ว่า ในการเก็บข้อมูลเด็กๆ ในรอบการทำงานนี้และเชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานที่เคยเป็นภาระหนักของคุณครูเบาขึ้นได้อีกมาก

“พอได้ทำงานด้วยกัน เราเห็นว่าคุณครูทำงานหนักมาก หนักเกินความจำเป็น เพราะเมืองไทยพยายามใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันในการวัดทุกอย่างเลย อาหารได้งบ 21 บาทเท่ากัน สอบวัดผลด้วยข้อสอบเดียวกัน ทุกอย่างมาตรฐานเดียวกันหมด แต่สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกันเลย” เจี๊ยบเน้นเสียง “มันไม่ยุติธรรม รู้สึกว่าโลกนี้มันไม่เท่าเทียม แต่เราก็ยังเห็นความพยายามที่จะทำให้มันเท่ากันของคุณครู ถ้าเราช่วยเป็นฟันเฟืองให้เขาได้ เราก็อยากช่วย” เจี๊ยบบอกเล่าในฐานะคนทำงานหนึ่งคนที่อยากเบาภาระให้ครู พร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจให้คนในสังคม

ใช่, อีกตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือพวกเรา 

ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นพ่อแม่ เป็นครู เป็นบุคลากรในวงการสาธารณสุข หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ยื่นมือมาร่วมสนับสนุนได้ เพราะในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่จะแก่ชราไปในยามที่เด็กๆ พวกนี้เติบโตขึ้นมา การที่เราเข้าใจปัญหามากกว่าแค่อยากบริจาคเพื่อทำบุญเป็นมื้อๆ ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาเชิงโครงสร้างเพราะคิดว่าไกลตัว และร่วมส่งเสียงเพื่อหักไม้บรรทัดที่บิดเบี้ยวในวันที่เราทำได้ ก็น่าจะเป็นวิธีที่เราจะมีชีวิตอยู่ในสังคมนี้ไป อย่างมีความหวัง

คุณภาพชีวิตของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องยอมจำนนและปล่อยให้มันเป็นไป

ติดตามรายละเอียดของโครงการ FOOD FOR GOOD ได้ที่ www.foodforgood.or.th

AUTHOR