พอร์ตโฟลิโอของ พรีเมียร์–พีรพัฒน์ สิงห์โตทอง
ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชามีเดียอาตส์ เอกการออกแบบกราฟิก คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ชื่อผลงาน Font Founding
เสาคอนกรีตเอนโย้ 45 องศา สายไฟห้อยระย้าไม่ต่างจากเถาวัลย์ นับวันคนเดินถนนอย่างเราๆ ยิ่งเหมือนมีภารกิจให้พิชิต คือการเดินยังไงก็ได้ให้ไม่โดนสายไฟพาดคอ
เหล่านี้คือสิ่งที่คนไทยทุกจังหวัดต้องเจอตั้งแต่เกิดจนโต ความรำคาญตาและความอันตราย นำไปสู่การเรียกร้องให้แก้ไขในบางครั้ง แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบรับไม่ว่าจะจากรัฐบาลชุดไหน ปัญหาที่ว่าก็ค่อยๆ หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนกลายเป็นความรู้สึกชินชา
แต่เราควรชาชินกับสิ่งนี้จริงหรือไม่? พรีเมียร์–พีรพัฒน์ สิงห์โตทอง นักศึกษาเอกออกแบบกราฟิกชั้นปีที่ 3 สงสัย ดังนั้นเมื่อในวิชา Typography หรือวิชาออกแบบตัวอักษร มีโจทย์ให้นักศึกษาหาฟอนต์จากสิ่งของรอบตัว เขาจึงหยิบจับสายไฟที่พันเกี่ยวเลี้ยวลดมาทำเป็นโปรเจกต์ตามหาตัวอักษรที่ซ่อนอยู่ ก่อนต่อยอดเป็นประโยคบอกเล่าเพื่อเรียกร้องให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
ว่าแต่การหาตัวอักษรที่ซ่อนอยู่ตามเสาไฟสนุกยังไง ตัวอักษรเหล่านั้นซ่อนความย้อนแย้งอะไรไว้บ้าง ตามพรีเมียร์ไปไล่ล่าหาฟอนต์ที่แอบซ่อนไปพร้อมๆ กัน
นับ 1 ถึง 10 ให้เวลาทุกคนไปซ่อน!
พรีเมียร์เล่าว่าเรื่องราวของตัวอักษรในสายไฟเริ่มต้นจากโจทย์ในวิชา Typography ขณะที่เขาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชามีเดียอาตส์ เอกการออกแบบกราฟิก คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“วิชานี้สอนตั้งแต่รูปแบบตัวอักษร ระยะห่าง การสื่อสารผ่านตัวอักษรและอื่นๆ เมื่อเรียนจนจบ อาจารย์จะให้ทุกคนทำโปรเจกต์หาฟอนต์จากอะไรก็ได้ แต่พอต้องเรียนในช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนต้องอยู่แต่ในละแวกบ้าน ขอบเขตงานจึงเป็นการหาฟอนต์จากสิ่งของรอบตัว”
เพราะต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน พรีเมียร์จึงกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดชลบุรีซึ่งอยู่ห่างจากผืนทะเลไม่กี่ก้าวเดิน แรกเริ่มเขาจึงตั้งใจหาฟอนต์จากคลื่นที่สาดซัดเข้าฝั่ง แต่จนแล้วจนรอดก็ได้ตัวอักษรมาเพียงไม่กี่ตัว
“มันยากมากเพราะจังหวะไม่ได้เลย อีกอย่างผมคิดว่าตัวอักษรมันควรจะสื่อสารอะไรบางอย่างด้วย แต่คลื่นทะเลกลับสื่อสารอะไรไม่ค่อยได้” ทันทีที่พรีเมียร์เริ่มลังเลกับไอเดียแรก เขาก็เหลือบไปเห็นสายไฟฟ้าและปิ๊งไอเดียใหม่ขึ้นมา
“ทำไมเสาไฟฟ้าไทยรกจัง”
และนั่น เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เรื่องของเสาไฟที่อยู่ใกล้ตัวเราตลอด แต่หลายคนกลับไม่เคยสงสัยหรือตั้งคำถาม
พร้อมแล้ว! ใครแอบซ่อนอยู่ไหนบ้างนะ
ทีนี้ ก็ถึงเวลาไล่ล่าตัวอักษร!
เมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะหาฟอนต์จากเสาไฟ พรีเมียร์จึงเริ่มตระเวนหาจากละแวกใกล้บ้าน สถานที่ที่เขาไปทำธุระ กระทั่งเมื่อเริ่มต้องกลับไปกรุงเทพฯ ในช่วงหลังของโปรเจกต์ เขาก็ออกสำรวจสถานที่ใกล้เคียงหอพักและมหาวิทยาลัยด้วย
“ผมต้องหาตัวอักษรทั้ง A ถึง Z และเลข 0 ถึง 9 วิธีการหามี 2 แบบ คือถ่ายภาพเสาไฟเก็บไว้แล้วค่อยมาซูมหาตัวอักษรที่บ้าน และเดินหาตอนนั้นเลยซึ่งมันเหนื่อยมากๆ เพราะอากาศร้อน” เขาหัวเราะเมื่อย้อนพูดถึงชีวิตช่วงนั้น ก่อนจะเล่าถึงวิธีมองหาตัวอักษร
“ตัวอักษรที่หาง่ายจะเป็นตัวที่มีลักษณะกลมๆ และตรงๆ เพราะสอดคล้องไปกับลักษณะสายไฟ
อย่างตัว O และเลขศูนย์ก็ได้จากเสาไฟที่ม้วนไว้ ส่วนเลขหนึ่ง หรือตัว I ก็ได้จากเสาคอนกรีตหรือสายไฟที่ขึงตรง
“ตัวที่หายากคือตัวที่ลักษณะไม่เหมือนกับสายไฟ คือไม่ตรง ไม่กลม แต่มักจะขวางๆ หน่อย อย่างตัว W เป็นตัวที่หายากที่สุด ใช้เวลาหาอยู่ 1 สัปดาห์จนสุดท้ายก็เลิกเดินหาแล้วมาซูมในคอมพ์ดูว่ามีซ่อนอยู่ในรูปไหนบ้างไหมแล้วค่อยพลิกรูปเอา
“หรือบางตัวก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและระยะห่างของเรากับสายไฟด้วย บางครั้งเราเดินอยู่ฟากหนึ่งของถนนแล้วเห็นตัวอักษรบนเสาไฟอีกฟากหนึ่ง เช่น ตัว L เราก็ต้องถ่ายจากตรงนั้นเลยเพราะถ้าเดินเข้าไปใกล้กว่านั้น หรือเดินข้ามฟากไปถ่าย ตัวอักษรที่เห็นครั้งแรกก็จะกลายเป็นรูปอื่นไปแล้ว ดังนั้นภาพส่วนใหญ่จึงค่อนข้างไม่ละเอียดเพราะต้องถ่ายจากระยะไกลมาก”
นอกจากนี้ยังมีตัวอักษรตัวอื่นๆ ที่เราทึ่งว่าเขาหาได้ยังไงและต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะหาเจอ ไม่ว่าจะเป็นตัว Q ที่ต้องเพ่งจนเจอหางตวัดก่อนถึงจะร้องอ๋อ หรือตัว G ที่แปลกกว่าเพื่อนตรงที่เป็นตัวพิมพ์เล็ก
“จริงๆ ผมหาตัว G พิมพ์ใหญ่เจอนะ แต่มันค่อนข้างมองออกยากนิดหนึ่งเลยเป็นตัวอักษรตัวเดียวในเซตที่เป็นตัวพิมพ์เล็ก นี่ก็มาจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ เพราะผมคิดว่าถ้าไม่ใช่ช่วงโควิดเราจะเจอตัวอักษรได้หลากหลายและมากกว่านี้”
จ๊ะเอ๋! เจอคนที่ซ่อนได้เนียนที่สุดสักที
ถึงจะตามล่าหาฟอนต์มาได้ครบทุกตัวแล้วแต่พรีเมียร์ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะเชื่อว่าฟอนต์ต้องสื่อสารความหมายบางอย่างจากแหล่งที่มาของมัน เขาจึงลองเอาฟอนต์เหล่านั้นมาเรียงกันเป็นประโยคที่ทำให้ฉุกคิดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ตั้งแต่ ‘Don’t ignore me’ หรือประโยคอย่าง ‘Beware of me’ จนสุดท้ายก็ได้ประโยคที่เขาคิดว่าสะท้อนให้เห็นต้นตอปัญหาจริงๆ
“ปัญหานี้มันเกิดขึ้นมานานตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ ผมคิดว่าที่เขาไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาก็เพราะมันไม่ได้กระทบกับชีวิตคนเท่าปัญหาปากท้องเลยปล่อยเลยตามเลย คนก็ชาชินไปและไม่คิดเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไข แต่จริงๆ แล้วหน่วยงานรัฐควรจะแก้ไขโดยที่ไม่ต้องให้ประชาชนเรียกร้องด้วยซ้ำ
“ผมจึงเลือกใช้ประโยคที่ว่า ‘Government ignore this’ เพราะอยากให้คนได้เห็นต้นเหตุของปัญหาว่าที่สายไฟรกแบบนี้ก็เพราะนโยบายการใช้เสาไฟฟ้าร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชนเพื่อลดต้นทุน ซึ่งบางประเทศก็ยังใช้หลักการเดียวกันอยู่นะ แต่ที่ประเทศไทยเป็นปัญหาเพราะเขาไม่เข้ามาดูแลรักษาจนสายไฟสื่อสารจนมันห้อยลงมา ก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อประชาชนด้วย”
หมดเวลา! แต่ไม่หยุดเรียกร้อง
โปรเจกต์ทำงานครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 2 เดือนเต็มตามระยะเวลาที่อาจารย์ให้ ระหว่างนั้นพรีเมียร์ยอมรับว่ารู้สึกท้อกับการหาตัวอักษรบางตัวไม่น้อย ไหนจะร้อนแทบทนไม่ไหวขณะเดินจ้องเสาไฟข้างทาง แต่ขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกสนุกกับการทำงานครั้งนี้ไม่น้อย
“เวลาเจออักษรตัวหนึ่งผมจะรู้สึกดีใจมากเหมือนทำเควสต์ในเกมสำเร็จไปทีละชิ้นๆ บางครั้งก็เหมือนเล่นเกมจับผิดภาพที่ต้องมองเทียบ ค่อยๆ หา แล้วดูว่าจะพลิกรูปที่ได้ไปทางไหนเพื่อให้ได้ตัวอักษรแต่ละตัว” เขาเล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้น พร้อมเล่าอีกสิ่งที่สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสนุก คือมุมมองต่อวิชาไทโปกราฟีที่ร่ำเรียน
“โปรเจกต์นี้ทำให้ผมได้มุมมองเกี่ยวกับไทโปกราฟีว่ามันไม่ใช่ว่าเราจะทำฟอนต์อะไรก็ได้ แต่ฟอนต์ที่สร้างขึ้นมันควรจะสื่อสารได้ด้วย ยิ่งการทำฟอนต์จากสายไฟเพื่อสื่อสารถึงปัญหาเรื่องเสาไฟในไทยมันก็ยิ่งสื่อสารได้ตรงตัวจนผมอยากเอาฟอนต์ที่หาได้เหล่านั้นมาทำให้เป็นฟอนต์จริง”
แต่ก่อนจะพัฒนาฟอนต์จากสายไฟไปเป็นฟอนต์ที่ใช้ได้จริง พรีเมียร์ยังนำความสนใจเรื่องปัญหาสังคมที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายและไอเดียความยุ่งเหยิงของสายไฟที่พบเห็นระหว่างทำโปรเจกต์นี้แปลงเป็นภาพปีศาจเสาไฟฟ้าเพื่อลงขายในรูปแบบศิลปะ NFT ด้วย
“ผมสนใจปัญหาบ้านเมืองอยู่แล้วและอยากนำปัญหาเหล่านั้นมาตีความเป็นภาพคอนเซปต์ ลองดูว่าถ้าปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นปีศาจมันจะเป็นยังไงบ้าง
“ปีศาจเสาไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในภาพเหล่านั้น ซึ่งเป็นปีศาจที่ผมคิดว่าต้องถูกกำจัดออกไปเหมือนกับปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ต้องถูกแก้ไข” เขาทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพจาก พีรพัฒน์ สิงห์โตทอง