ใส่ผ้าอนามัย 1 ชิ้น 24 ชม. ใน ‘Blues on Period’ เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่อยากให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการ

Portfolio ของ ปอ–กุลธิดา กระจ่างกุล

ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจิตรกรรมและมีเดียอาตส์ ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชื่อผลงาน Blues on Period

เหล่าผู้มีมดลูกทั้งหลายเคยลองคำนวณจำนวนผ้าอนามัยและเงินที่เสียไปในช่วงวันนั้นของเดือนโจมตีหรือไม่ สำหรับเราผู้มีประจำเดือน 7 วันต่อเดือน ตัวเลขเหล่านั้นช่างน่าขนลุกขนพอง

200 คือราคาผ้าอนามัยที่เราต้องเสียในหนึ่งเดือน สำหรับผ้าอนามัย 28 ชิ้น อันประกอบด้วยผ้าอนามัยความยาว 30 เซนติเมตรเพื่อใช้ในตอนกลางวัน และ 42 เซนติเมตรในเวลากลางคืน เท่ากับว่าเราต้องควักเงินจ่ายค่าผ้าอนามัยปีละ 2,400 บาท ถ้านับตั้งแต่เราเริ่มมีประจำเดือนเมื่อตอนอายุ 9 ขวบจนปัจจุบันที่อายุ 23 ปี เราเสียเงินค่าผ้าอนามัยไปแล้ว 36,000 บาท และสมมติว่าเราเข้าสู่วัยทองตอนอายุ 50 ปี ตลอดชีวิตของเราจะต้องเสียเงินค่าผ้าอนามัยทั้งสิ้น 100,800 บาท

จำนวนเงินที่มากขนาดนั้นทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าเหตุใดภาษีผ้าอนามัยในประเทศไทยจึงแพงหูฉี่ขนาดนี้ และเหตุใดเรา–ผู้มีมดลูกทั้งหลายจึงถูกผลักภาระให้จ่ายค่าผ้าอนามัย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับ ปอ–กุลธิดา กระจ่างกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจิตรกรรมและมีเดียอาตส์ ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงาน durational performance นาม Blues on Period ที่บันทึกภาพตัวเองในช่วงที่มีประจำเดือนทุกๆ 1 ชั่วโมงตลอด 1 วัน เพื่อสะท้อนและเรียกร้องต่อสังคมปิตาธิปไตยและรัฐบาลว่า ในเมื่อการมีประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งไม่มีผู้มีมดลูกคนไหนจะหลีกเลี่ยงได้ เหตุใดผ้าอนามัยจึงไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นสวัสดิการรัฐเสียที

และต่อไปนี้คือความคิดและความรู้สึกตลอดระยะเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงของปอในการทำงาน Blues on Period พอร์ตโฟลิโอของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชวนให้เราตั้งคำถามกับสังคมวิปลาสได้ทุกชั่วโมง

ชั่วโมงที่ -10

“งาน Blues on Period คืองานในหัวข้อ durational performance ที่อาจารย์ให้เพอร์ฟอร์มตัวเองในรูปแบบไหนก็ได้ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกัน 

“ระหว่างที่อาจารย์มอบหมายงานชิ้นนี้ให้ทุกคน เรากำลังเดินทางเพื่อไปเก็บข้อมูลทำงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่จังหวัดเลยแต่ประจำเดือนดันมาพอดี มันเลยรู้สึกหงุดหงิดไปหมดและทำให้เราคิดถึงประสบการณ์การมีประจำเดือนของเราและคนอื่นๆ ที่เป็นอยู่และรับรู้มาตลอด”

ชั่วโมงที่ -5

เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนศิลปะในกรุงเทพฯ ซึ่งรายจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนสูงมากเมื่อเทียบกับเงินรายวันที่ได้จากผู้ปกครอง ดังนั้นเราจะต้องบริหารจัดการเงินให้ดี ต้องแบ่งเงินเก็บไว้สำหรับค่าอุปกรณ์ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง กระทั่งค่าผ้าอนามัย

“ถ้าเดือนไหนมีโปรเจกต์หรือต้องส่งงานปลายภาคแล้วดันตรงกับช่วงที่ประจำเดือนมา เราจะเครียดมาก เพราะสมมติเราได้เงิน 200 บาทจากพ่อแม่ เราต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยของวันนั้นไปแล้ว 70 บาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของรายได้เรา

“อุปกรณ์การทำโปรเจกต์ก็ต้องซื้อ ผ้าอนามัยก็ต้องหามาใส่ บางครั้งเราจึงต้องอดข้าวเพื่อเอาเงินไปซื้อผ้าอนามัย ถ้าใครเป็นเพื่อนกับเราในเฟซบุ๊กน่าจะเป็นพยานได้ว่าเราบ่นเรื่องนี้มาตลอด”

ชั่วโมงที่ -1 

“มันไม่ใช่แค่เราที่ประสบปัญหาเหล่านี้ เราเคยเจอคุณป้าคนหนึ่งที่เดินมาไหว้และขอเงินไปซื้อผ้าอนามัยเพราะเขาไม่มีเงินเหลือแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่าทั้งเนื้อทั้งตัวเราไม่มีเงินสดเลย เพื่อนก็มีแค่ 20 บาท เลยตัดสินใจให้ไปเท่านั้น แต่พอเขาแยกจากเราและหันกลับไปปรากฏว่ากางเกงเขาเต็มไปด้วยประจำเดือนซึ่งเขาพยายามปิดไว้เพราะอายจนไม่อยากให้ใครเห็น

“หรือบางครั้งเราก็เจอคนไร้บ้านที่เวลาประจำเดือนมาเขาก็ปล่อยให้มันไหลเลอะกางเกงและเนื้อตัวอยู่อย่างนั้น ซึ่งมันเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากๆ”

ชั่วโมงที่ 0

“สิ่งที่เราพบเจอมันทำให้เราอยากทำงานที่สื่อสารประเด็นการมีประจำเดือนซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ และการผลักภาระให้ผู้มีมดลูกต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ออกไป วิธีการคือเราใส่ผ้าอนามัยราคาถูกที่สุดคือ 14 บาท ขนาด 22 เซนติเมตร เพียง 1 ชิ้นตลอดวัน และบันทึกภาพตัวเองทุกๆ 1 ชั่วโมงจนครบ 24 ชั่วโมง งานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินชาวไต้หวันนาม Tehching Hsieh ที่บันทึกภาพตัวเองทุกวันตลอด 1 ปี”

ชั่วโมงที่ 1

“พอกลับมาจากการไปเก็บข้อมูลที่จังหวัดเลยเราก็เริ่มทำงานทันที ปกติเรามีประจำเดือน 3 วัน งานชิ้นนี้ทำขึ้นในวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ประจำเดือนเริ่มหมดแล้ว แต่ผลจากการทำงานครั้งนี้ก็ทำให้เรารู้สึกแย่ตลอดวันอยู่ดี”

ชั่วโมงที่ 3

“ชั่วโมงที่ 1-3 เป็นช่วงที่ประจำเดือนยังไม่เลอะออกมา เราเลยไม่ได้บันทึกส่วนนี้ไว้ แต่พอเริ่มพ้นชั่วโมงที่ 3 ไป ประจำเดือนก็เริ่มซึมจนเห็นเป็นรอยที่กางเกง

“กระทั่งชั่วโมงที่ 5 เราเริ่มรู้สึกคันและเจ็บอวัยวะเพศจนต้องพยายามทำอย่างอื่นเพื่อให้ลืมความรู้สึกนั้นไป”

ชั่วโมงที่ 12 

“พอพ้นชั่วโมงที่ 5 เราก็เริ่มรู้สึกเหมือนว่าเราไม่ได้ใส่ผ้าอนามัยแล้วเพราะมันเลอะไปหมด หลังจากนั้นเราจึงบันทึกภาพบ้าง ไม่บันทึกบ้าง เพราะรู้สึกแย่กับตัวเองมากๆ 

“ตัวเราเหม็นกลิ่นประจำเดือนที่หมักหมม ส่วนล่างเราก็เปียกและเหนอะหนะไปหมด จะนอนบนเตียงก็ต้องปูผ้า จะนั่งบนพื้นก็ต้องคอยเช็ด ออกไปประชุมนอกบ้านก็ต้องขอห่างจากทุกคนเพราะเรากลัวคนอื่นได้กลิ่น”

ชั่วโมงที่ 20

“ชั่วโมงที่ 20 เป็นต้นมาเราก็รู้สึกไม่ไหวแล้ว”

ชั่วโมงที่ 22

เรารู้สึกเหมือนเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่อยู่ข้างล่างได้ มันมีแต่คำถามว่าทำไมเราทำให้ตัวเองสะอาดกว่านี้หรือมีสุขภาพที่ดีกว่านี้ไม่ได้

“ความรู้สึกมันเหมือนเราไปแช่น้ำทุกๆ ชั่วโมงเพื่อให้ท่อนล่างเปียกตลอดเวลา พอขึ้นมาจากน้ำก็ทำอะไรต่อไม่ได้ หรือมันอาจจะเหมือนเราเล่นสงกรานต์อยู่แต่เป็นการเล่นสงกรานต์ที่ไม่มีความสุข ไม่มีรอยยิ้ม มันคือสงกรานต์ที่สกปรก

“ความยากของงานชิ้นนี้จึงเป็นการดึงตัวเองให้มาบันทึกภาพให้ได้ไม่ว่าจิตใจเราจะแย่แค่ไหน”

ชั่วโมงที่ 24

“ทุกชั่วโมงที่ผ่านไปยิ่งทำให้เรานึกว่ามันจะมีอีกกี่คนที่ต้องเสี่ยงติดเชื้อด้วยเหตุการณ์แบบนี้เพียงเพราะเขาไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย มีอีกกี่คนที่ต้องเสี่ยงเรื่องสุขภาวะเพราะถูกผลักภาระให้ต้องรับผิดชอบกลไกธรรมชาติของร่างกายของตัวเอง มีอีกสักกี่คนที่ต้องรู้สึกอายและพยายามปกปิดว่าเขามีประจำเดือนที่น่ารังเกียจและสกปรก

“ทั้งที่มันไม่ควรเป็นความผิดเขา แต่มันควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทำให้ผ้าอนามัยถูกลงกว่านี้หรือเป็นสวัสดิการรัฐ และสังคมเองก็ควรรับผิดชอบโดยการไม่ทำให้ประจำเดือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ”

ชั่วโมงที่ 26

“พอเราโพสต์ภาพงานนี้ออกไปก็มีทั้งคนที่เข้าใจและคนที่ไม่เข้าใจ คนที่เข้าใจเขาชื่นชมเราว่ากล้าหาญ ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมเขาพูดคำนั้นออกมา มาคิดดูแล้วก็น่าจะเพราะสังคมบอกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องปิดบังไม่ให้ใครรู้

“ในความทรงจำของเรา การมีประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอาย เราถูกสอนมาว่าให้เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ อย่าให้มันล้นจนเลอะออกมาเพราะมันน่าเกลียด เพื่อนสมัยประถมเราก็ร้องไห้ทุกครั้งที่มีประจำเดือน แถมครูยังดุเพื่อนด้วยว่าปล่อยให้ประจำเดือนเลอะออกมาได้ยังไง เวลาใครจะไปเปลี่ยนผ้าอนามัยก็ต้องถือแบบหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งที่การมีประจำเดือนมันเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้มีมดลูกทุกคน 

“น่าจะเป็นเพราะแบบนี้ คำว่า ‘กล้าหาญ’ เลยออกมาจากปากเขา”

ชั่วโมงที่ 28

“ส่วนคนที่ไม่เข้าใจก็มักเป็นผู้ไม่มีมดลูกทั้งหลาย ตั้งคำถามว่าทำไมไม่ไปขอผ้าอนามัยตามศูนย์อนามัยในเขตของตัวเอง แต่มันไม่ใช่ว่าทุกที่จะมีให้นะ หรือบางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ใช้ผ้าอนามัยที่ถูกที่สุด นี่ไง เราใช้ให้ดูแล้วว่าผ้าอนามัยที่ถูกที่สุดคุณภาพมันก็ได้แค่นี้แหละ นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการแพ้ผ้าอนามัยบางชนิดอีกนะ

“และจริงๆ แล้วคำว่าถูกของทุกคนก็ไม่เหมือนกัน”

ชั่วโมงที่  29

“20 บาทของคุณอาจเป็นแค่เศษ 1 ส่วน 3 ของกาแฟหนึ่งถ้วยที่คุณดื่ม แต่มันอาจเป็นเงินที่บางคนหาได้ในวันนั้น และใช่ว่าจ่าย 20 บาทแล้วจบ เงินแค่นี้มันรองรับประจำเดือนแต่ละรอบเดือนไม่พอ มันต้องจ่ายซ้ำเป็น 40 บาท 60 บาท หรือมากกว่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีมดลูกทุกคนจะต้องมานั่งเครียดว่าวันนี้เราจะเอาเงินไปซื้อผ้าอนามัยเท่าไหร่ เราถึงจะมีเงินกินข้าว หรือเราถึงจะมีเงินดูแลครอบครัว”

ชั่วโมงที่ 31

ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือด้วยการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยเพื่อให้ผ้าอนามัยถูกลงเหมือนที่เกาหลี หรือดีที่สุดคือเป็นสวัสดิการรัฐอย่างประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศแถบยุโรป คุณน่าจะเจอคนแบบเราในภาพนี้ได้ตลอดเวลา และคงเห็นคนติดเชื้อจากการที่ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยหรือไม่ได้ใช้ผ้าอนามัยได้ทุกเมื่อ”

ชั่วโมงที่ 32

“ทั้งที่เรื่องนี้มันไม่ควรเป็นปัญหาแต่มันก็ดันเป็นเพราะกลไกสังคมที่ประเทศไทยโดนเผด็จการยึดอำนาจมาหลายครั้ง เรื่องของผู้มีมดลูกเลยไม่เคยเข้าไปในวาระการประชุมในระดับประเทศ จนกลายเป็นว่าการเรียกร้องของเราเป็นเรื่องที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับการแจกถุงยางอนามัยฟรี ทั้งที่หากมองตามหลักสิทธิมนุษยชนจริงๆ ลองคิดดูสิว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่า

“เราจึงทำงานชิ้นนี้ควบคู่กับการผลักดัน พ.ร.บ.ผ้าอนามัย โดยได้รับความร่วมมือจากเพจเฟมินิสต์ปลดแอกและอีกหลายคน เพื่อศึกษาข้อกฎหมายและดูว่าเราจะทำยังไงให้ พ.ร.บ.นี้ผ่าน จะทำยังไงให้ผ้าอนามัยถูกลงกว่านี้ และจะทำยังไงให้ผ้าอนามัยกลายเป็นสวัสดิการรัฐ เพื่อผู้มีประจำเดือนทุกคนที่เลือกไม่ได้ว่าจะมีหรือไม่มีประจำเดือน”

AUTHOR