Flo Bookstore ร้านหนังสือดีไซน์ในสุขุมวิท 36 จุดนัดพบแห่งใหม่ของคนรักหนังสือ กาแฟ และเฟอร์นิเจอร์

บ่ายวันหนึ่งกับอากาศเย็นสบาย เรายืนอยู่ตรงหน้า Flo House หน้าร้านของ Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยกลิ่นอายสแกนดิเนเวีย ที่เพิ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่ของร้านหนังสือและร้านกาแฟ

หน้าอาคารกระจกสีขาว ขนาด 2 ชั้น เราถูกต้อนรับด้วยกลิ่นกาแฟทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาในร้าน และเมื่อกวาดสายตาไปรอบๆ ก็สะดุดตากับชั้นวางหนังสือ พร้อมเฟอร์นิเจอร์ของ Flo วางตกแต่งอย่างกลมกลืน ราวกับเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่มักอยู่ในคาเฟ่ทั่วไป 

ในจังหวะที่ Flo กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 บวกกับความโดดเด่นในสไตล์เฟอร์นิเจอร์ เราจึงไม่คาดคิดว่าการขยับขยายร้านครั้งนี้จะเป็นอย่างอื่น นอกจากโชว์รูมขนาดใหญ่กว่าเดิม และคงนิยามพื้นที่แห่งนี้ว่าเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ ในซอยสุขุมวิท 36 แต่ในทางตรงข้ามเขาเลือกขยายอาณาจักร Flo ไปกับธุรกิจเล็กๆ อย่างร้านหนังสือในชื่อ Flo bookstore

การผสมผสานกันทั้งร้านหนังสือและร้านกาแฟ จึงทำให้ร้านนี้ห่างไกลจากร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่เป็นเหมือนจุดนัดพบแห่งใหม่มากกว่า ซึ่งเป็นความตั้งใจของ นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Flo และทายาทรุ่นสามจากโรงงานเหล็ก ที่อยากให้พื้นที่นี้กลายเป็น concept store แหล่งไอเดียใหม่ๆ สำหรับคนที่มาเยือน 

เจ้าของร้านหนุ่มออกแบบประสบการณ์เมื่อได้มาที่ Flo House นี้อย่างแยบยล ลูกค้าสามารถเข้ามานั่งจิบกาแฟจาก Livid Coffee Roasters ร้านที่ขึ้นชื่อเรื่องการคั่วเมล็ดกาแฟสไตล์นอร์ดิก ไปพร้อมกับเดินเลือกซื้อหนังสือดีไซน์ที่วางขายในโซน Flo bookstore อีกมุมหนึ่งของร้านติดไม้ติดมือกลับบ้าน ขณะเดียวกันยังมีโอกาสได้ลองสัมผัสเฟอร์นิเจอร์ของ Flo ได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ในวันที่ Flo bookstore เพิ่งเปิดได้ไม่นาน เราจึงอยากพาทุกคนไปรู้จักร้านหนังสืออิสระแห่งนี้กันให้มากขึ้น ทั้งจุดเริ่มต้นของการมาเจอกันของหนังสือ กาแฟ และเฟอร์นิเจอร์ ร้านหนังสืออิสระภายใต้คาแรกเตอร์ของ Flo มีหน้าตาเป็นอย่างไร และทำไมเขาเลือกเปิดร้านหนังสือในวันที่หลายคนมองว่าธุรกิจนี้นับวันยิ่งซบเซาลง นรุตม์รอเราพร้อมคำตอบอยู่ในร้านแล้ว 

1

เรานั่งลงพูดคุยกับนรุตม์บนโต๊ะไม้ตัวใหญ่กลางร้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ของ Flo พร้อมกาแฟร้อนที่เสิร์ฟในเหยือกแก้วขนาดเล็กกับแก้วเซรามิกสีขาว

เจ้าของร้านเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Flo bookstore ว่าพื้นที่นี้เดิมทีเป็นที่ของญาติที่ปล่อยให้เช่า ช่วงแรกมีเพียงแค่โกดังสำหรับเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Flo ด้านหลัง ก่อนที่ต่อมาส่วนพื้นที่ตัวอาคาร 2 ชั้น จากเดิมเป็นพื้นที่วางเฟอร์นิเจอร์เด็กจะถูกปล่อยให้เช่าภายหลัง เมื่อได้พื้นที่ทั้งหมดซึ่งมีขนาดใหญ่มากพอ เขาจึงปรับเปลี่ยนด้านหน้าให้เป็นร้านหนังสือจากความชอบส่วนตัว 

“ผมเป็นคนชอบหนังสืออยู่แล้ว จริงๆ ก็อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ แม่ก็ไม่ค่อยซื้อของเล่นแต่จะซื้อหนังสือให้” นรุตม์เล่าย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหลงใหลหนังสืออย่างจริงจังก็ช่วง ม.6 จนถึงช่วงเรียนคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยเขาพบว่ายังมีเรื่องที่เขาไม่รู้อีกมาก ทำให้เขาเริ่มอ่านหนังสือเพื่อหาคำตอบที่สงสัย ก่อนที่จะขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ ตั้งแต่หนังสือความเรียง ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา จนถึงธุรกิจและการบริหาร จนกลายเป็นนิสัยเวลาไปเที่ยวที่ไหนก็จะหาร้านหนังสือก่อน

จากความหลงใหลหนังสือ เขาจึงเริ่มทำเพจรีวิวหนังสือและขายหนังสือออนไลน์บนอินสตาแกรม หลังจากลองขายอยู่ 2-3 เดือน จนมั่นใจแล้วว่าร้านหนังสือเริ่มมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจเขาจึงเลือกหนังสือมาลงที่ร้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในความฝันที่เขาอยากทำมาตลอด

“การเปิดหนังสือคือการใช้พื้นที่ที่ผมมีอยู่แล้ว มันอาจจะไม่ได้ช่วยในเชิงยอดขาย แต่มันช่วยสร้างบรรยากาศ และทำให้ประสบการณ์มันดีขึ้น ถ้าบอกว่าเอาหนังสือออกหรือกาแฟออกไปที่นี่ก็จะแห้งเลย มันจะไม่มีคนเข้ามา เหมือนทั้งหนังสือและกาแฟมันเสริมกัน”

นอกจากความชอบแล้ว ไอเดียร้านหนังสือในโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์เกิดขึ้นมาจากการเดินทางไปร้านเฟอร์นิเจอร์ของต่างประเทศหลายๆ แห่ง ที่มักเป็นรูปแบบ concept store มากกว่าการขายเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว ขณะที่ไทย ร้านแบบนี้ยังมีไม่มากนัก

“เวลาผมไปร้านเฟอร์นิเจอร์เมืองนอกส่วนใหญ่มันไม่ได้เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว ส่วนใหญ่มันเป็น selected shop เป็น concept store หรือว่ามีหลายๆ อย่าง มีทั้งเฟอร์นิเจอร์บ้าง มีขายเครื่องประดับ ขายหนังสือ ขายเสื้อผ้า ผมรู้สึกว่าในไทยยังมีไม่ค่อยเยอะ

“มีร้านนึงที่ญี่ปุ่นชื่อร้าน Truck Furniture อยู่โอซาก้าเขาเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ ที่ข้างล่างเป็นโรงงาน แล้วตรงข้ามก็เป็นร้านอาหาร ผมรู้สึกว่ามันครบดี” นรุตม์เล่าประสบการณ์จากต่างประเทศด้วยตาเป็นประกาย ด้วยความหวังว่าเขาจะสามารถสร้างพื้นที่แบบที่เขาชอบในไทยได้ นั่นคือการเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ใครๆ ก็สามารถแวะเวียนมาได้ แม้ไม่ได้มาซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ตาม

ไอเดียร้านหนังสือและร้านกาแฟจึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้คนรู้จักและเข้าถึง Flo ง่ายขึ้นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเขาสังเกตเห็นว่าการเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวเป็นเรื่องยากในการขายลูกค้าคนทั่วไป เพราะต้องเตรียมความพร้อมหลายๆ อย่าง ทั้งความตั้งใจซื้อ เงิน หรือแม้แต่พื้นที่ในบ้าน 

“ที่ผ่านมามันเหมือนกับว่าคนต้องตั้งใจมาเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น ร้านมันก็จะเงียบๆ แต่ถ้ามันมีอย่างอื่นด้วย มีร้าน Flo bookstore ซึ่งเป็นร้านหนังสือเกี่ยวกับดีไซน์มันก็เหมือนว่าคนที่มาจะได้ไอเดีย ได้เห็นว่าแบรนด์สนใจเรื่องอะไร หรือว่าได้เจอเรื่องอื่นๆ บ้าง แค่มาเดินดูหนังสือ ยังไม่ต้องมาซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ได้”

เมื่อได้ทำร้านเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง เขาจึงหยิบใส่ความเป็นตัวเอง รวมถึงบรรยากาศแบบที่ตัวเองชอบลงไปมากที่สุด อย่างบรรยากาศของมิวเซียม หรือแกลเลอรี่ ซึ่งสะท้อนออกมาจากบรรยากาศในร้านที่เงียบสงบ อบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟ และเพลงคลอเบาๆ 

“ผมชอบไปมิวเซียมมาก มิวเซียมก็จะมีร้านหนังสือ ร้านคาเฟ่อะไรประมาณนี้ ผมชอบบรรยากาศที่เราได้เจออะไรใหม่ๆ บรรยากาศที่ทำให้ใจเราสงบ เวลาที่เราเดินเข้าไปในห้องขาวๆ ของแกลลอรี่แล้วเรารู้สึกว่าสงบใจ”

2

ดีไซเนอร์ที่ยังมีผลงานอยู่ ทฤษฎีและประวัติศาสตร์การออกแบบ และความชอบของเจ้าของร้าน คือหลักการเลือกหนังสือของ Flo Bookstore

“ผมชอบเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว เราก็จะมาหาว่าดีไซเนอร์ที่แอ็กทีฟตอนนี้มีใครบ้าง หนังสือแถบนี้ทั้งหมด” เขาบอกพลางวาดมือจากชั้นหนังสือที่ตั้งเรียงรายอยู่ติดผนัง “ผมมีที่บ้านหมดเลย แล้วส่วนใหญ่มันก็จะเป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้ว แล้วผมคิดว่าอันนี้ดี ดีในแง่ที่ว่า มันทำให้คนอ่านได้ความรู้ที่ลึกขึ้น สองคือผมพยายามเลือกที่มันไม่ outdate คืออยู่ได้ 4-5 ปีสบายๆ 

“เรามีหนังสือที่เป็นเชิงทฤษฎี บางทีมันก็เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของแบรนด์ถ้าอยากรู้เรื่องอะไรก็อ่านจากเล่มนี้เอา ผมชอบความไม่ล้าสมัย ผมเองก็เป็นคนที่ซื้อหนังสือและไม่ชอบหนังสือที่ซื้อมา 5 ปีแล้วมันดูเก่า ก็เลยคิดว่าคนที่เป็นลูกค้าก็น่าจะอยากได้หนังสือที่มันอยู่กับเขาไปได้นานๆ ส่วนหนึ่งก็มีเนื้อหาที่ลึกซึ้งมากพอที่เขาจะหยิบจับไปทำอะไรอย่างอื่นได้”

นรุตม์บอกว่าเขาค่อยๆ สะสมหนังสือดีไซน์มาเรื่อยๆ จากการเทียวไปเทียวมาในร้านหนังสือดีไซน์ทั้งในและนอกประเทศ จนเริ่มเชี่ยวชาญระดับหนึ่งจนเลือกหนังสือเข้าร้านด้วยตัวเอง 

“หนังสือผมเลือกด้วยตัวเองหมดเลย มันอาจจะฟังดูไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตนะ แต่สำหรับผมเป็นเรื่องใหญ่มาก อาจารย์ผมเวลาเขาสอนดีไซน์ จะบอกว่าเราอย่าเอาตัวเองใส่ไปเยอะ ต้องดูจากความต้องการของลูกค้า แต่ร้านนี้มันเป็นความต้องการผมเลย เพราะเป็นหนังสือที่ผมซื้อเอง หรือพอผมไปเมืองนอก ผมก็จะไปดูหนังสือว่าเขาเลือกอะไรมา แล้วเทียบว่าอะไรที่ที่นี่ยังไม่มี ทำซ้ำจนรู้สึกว่าตอนนี้ความรู้เรื่องนี้มันเริ่มเยอะกว่าคนอื่นแล้ว 

“พอเราดูเยอะ เราจะเริ่มรู้แล้วว่ามันมีบางเล่มที่ไม่ได้ถูกเลือกมา อาจจะเป็นเพราะเขาไม่ได้สนใจ หรืออาจจะมองข้าม แต่เราเห็นว่าน่าสนใจทำไมไม่ลองเอาเข้ามา มันก็เลยกลายเป็นว่าเราเริ่มจากตัวเองมากขึ้น แล้วพอออกมาจากตัวเองเต็มๆ ก็กลายเป็นว่ามันไม่เหมือนใครเลย มันอาจจะมีบางเล่มที่ซ้ำนะ แต่ผมมองว่าในอนาคตจะทำให้ลึกและละเอียดกว่านี้ ฉีกออกไปจากเดิม”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้านหนังสืออิสระค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง ทำไมเขาจึงเปิดร้านหนังสือในช่วงเวลานี้ นั่นคือคำถามที่เราสงสัย ก่อนจะได้คำตอบว่าแม้สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาที่สุด ก็ยังมีบางธุรกิจที่สามารถไปต่อได้ สำหรับเขาแล้วร้านหนังสือดีไซน์อย่าง Flo bookstore คือร้านหนังสือเฉพาะทางที่ยังถือว่ามีโอกาสในสนามการแข่งขันที่ไม่สู้ดีนี้

“เรารู้สึกว่าหนังสือดีไซน์ในเมืองไทยมันมีไม่กี่ที่เอง จะมีแค่เจ้าใหญ่ๆ หรือเจ้าที่เป็นอิสระ 1-2 เจ้า ซึ่งมันน้อยมาก ยิ่งหมวดหนังสือเฟอร์นิเจอร์มันน้อยมากจริงๆ หนึ่ง มันไม่มี สอง เรารู้สึกว่าตลาดมันก็ยังพอมี แล้วมันก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักเราที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ แล้วมันเป็นความฝันของผมไปแล้วที่อยากทำ”

“ผมรู้สึกว่าร้านหนังสืออิสระมันจะขายเหมือนกับร้านค้าปลีกไม่ได้นะ จะมีจุดแข็งด้วยความเยอะไม่ได้ ต้องมีจุดแข็งด้วยความลึก กับความแตกต่าง แต่ว่ามันรู้สึกดีมากที่เราได้แสดงออกถึงสิ่งที่เราชอบจริงๆ แล้วคนที่มาเขารู้สึกได้ว่ามันไม่เหมือนกับที่อื่น บางคนก็ชอบเขาก็ซื้อไป” 

เช่นเดียวกับร้านกาแฟ Livid Coffee Roasters ที่ไม่ได้เลือกมาโดยไม่มีสาเหตุ แต่นอกเหนือไปจากสายสัมพันธ์รุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะเดียวกันแล้ว เขายังเลือก Livid มาเปิดในพื้นที่นี้ เพราะสไตล์การคั่วแบบนอร์ดิก ซึ่งไปได้ดีกับสไตล์เฟอร์นิเจอร์และหนังสือดีไซน์ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสดีที่ลูกค้าจะได้มาเจอกับแบรนด์สินค้าที่มีความรู้ในศาสตร์ของตัวเองอย่างลึกซึ้งด้วย

“เอ็ม (กนต์ธร นิโลดม) หนึ่งในทีม Livid เขาอินเรื่องกาแฟมาก เขาหาแหล่งเมล็ดเอง บินไปเรียนคั่วที่เดนมาร์ก เป็นการคั่วแบบนอร์ดิก ที่ไม่เหมือนกับที่อื่น แล้วเขาคั่วกาแฟขายมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีร้าน ผมเลยบอกว่ามาเปิดด้วยกันไหม” เขาเล่าย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ได้พบกับ Livid ครั้งแรกในงาน Coffee Fest จากการเปิดบูทข้างๆ กัน ก่อนจะชักชวนให้เขามาเปิดหน้าร้านครั้งแรกในพื้นที่ของ Flo House แห่งนี้

“ถ้าพูดอีกแง่เขาคั่วแบบนอร์ดิก เฟอร์นิเจอร์ผมก็ทรงสแกนดิเนเวียผสมทรงญี่ปุ่น มันก็ดูไปด้วยกันได้ ซอฟต์ เบา เฟรนด์ลี่ เข้าถึงง่าย มันก็เลยมีจุดร่วมกันบางอย่างระหว่างแบรนด์ เขาก็มีความอินในเรื่องกาแฟ และผมก็อินเฟอร์นิเจอร์น่าจะดีถ้าลูกค้าได้มาเจอคนที่รู้จริงทั้ง 2 เรื่อง” 

3

มองจากภายนอก Flo bookstore นับว่าไม่ใช่ร้านที่ใหญ่นัก กินพื้นที่เพียงส่วนหนึ่งในมุมห้อง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้นรุตม์เล่าว่าเขาต้องใช้เวลาเกือบ 9 ปี กว่าจะมาเป็นร้านที่สะท้อนตัวตนอย่างที่เขาฝันไว้

“เราทำงานนี้ด้านเดียวมา 9 ปีแล้ว ตอนแรกตั้งใจทำเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวเลย ผมไม่เคยคิดว่าจะมีร้านอะไรแบบนี้ เราจะไปซื้อหนังสือจากไหน มันต้องมีเงินทุน ทำงานแรกๆ ก็ไม่ค่อยมี” เขาเล่าย้อนกลับไปในวันแรกของการสร้างแบรนด์ Flo ซึ่งแยกออกมาจากธุรกิจโรงเหล็กดัดของครอบครัว ที่ต้องใช้วัสดุ ความรู้ และทรัพยากรคนละแบบ ทำให้เขาต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก ก่อนที่จะทำให้เห็นว่าเฟอร์นิเจอร์ Flo สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ตั้งแต่นั้นเองที่เขาเริ่มเก็บสะสมความรู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์ เก็บสะสมเงินออมของตัวเอง เดินทางไปดูโมเดลร้านหนังสืออิสระทั้งในไทยและต่างประเทศ จนถึงเวลาที่ลงตัว ทั้งพื้นที่ เงิน และความรู้

“ทำฝันมันต้องใช้เงินทั้งนั้น” เขาพูดติดตลก “จะมากจะน้อยมันก็ต้องใช้ ในขณะเดียวกันถ้ามีฝัน แต่ไม่มีความรู้มันก็เป็นไปไม่ได้ ก็รู้สึกว่าฝันมันเป็นแพสชั่นอยู่แล้ว แต่ว่ามันต้องมีเงินทุน และทักษะความรู้ว่าตรงนี้มันทำยังไง มีคู่แข่งหรือเปล่า คนที่ทำได้ดีเขาทำยังไง ผมรู้สึกว่ามันต้องมีสามอย่างนี้มั้ง ในแง่ว่าฝันคือธุรกิจ แต่เราไม่ได้ใช้เงินขนาดนั้นนะ เราเริ่มเล็กๆ ได้ แต่เพราะมันเป็นหนังสือดีไซน์เลยแพง”

การเดินทางเกือบ 9 ปีของ Flo แน่นอนว่าต้องมีอะไรใหม่ๆ แต่สำหรับนรุตม์ก้าวต่อไปกลับเป็นความฝันที่เรียบง่าย แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งตัวตนของ Flo ไป

“ธุรกิจหลักเราก็ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์อยู่นะ พื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ในแง่ธุรกิจพอมันโตถึงจุดนึง กราฟการเติบโตมันก็จะเริ่มราบๆ แล้ว ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่าจะทำยังไงให้มันโตได้อีก ซึ่งผมกำลังทำอยู่นะ ในแง่หนึ่งคือการแตกขยายออกมาหาธุรกิจเล็กๆ ที่มันจะสามารถงอกขึ้นมาได้ใหม่ เช่น การทำร้านตรงนี้ เราลองเป็นร้านค้าปลีกไหม เป็น concept store ไหม เอาให้คนเช่าพื้นที่ไหม ทำนิทรรศการไหม เพื่อหาความเป็นไปได้ทางธุรกิจใหม่ๆ 

“ที่ผ่านมาเรามี Flo lab เป็นการทำอะไรเหมือนเป็นการทดลองสินค้า คือถ้าเป็น Flo ปกติคงไม่ทำเพราะมันอาจจะคอนเซอร์เวทีฟหน่อย แต่ Flo lab ก็จะปล่อยให้ลองดูว่าเป็นยังไง เราปล่อยให้ลองดูเล็กๆ ในที่ของเรา ในแง่นึงมันกลับไปหาธุรกิจเก่า มันส่งเสริมกัน มันเป็นภาพที่ผมอยากเห็นด้วย ถึงจุดนึงแบรนด์มันต้องเป็นไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ให้คนรับไปมากกว่าที่เป็นแค่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์”

“สำหรับตอนนี้ผมต้องทำให้ร้านหนังสืออยู่ได้” เขาเล่าถึง Flo bookstore ธุรกิจน้องใหม่ที่เพิ่งเกิดไม่นานนี้ ในอนาคตเขาตั้งใจใช้ Flo House เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสนุกๆ อย่างงานครบรอบ 9 ปี ของ Flo ช่วงเดือนมีนาคม หรือนิทรรศการที่จะเกิดขึ้นกลางปีนี้

“ตั้งใจว่าปีหน้าอยากให้มีนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี เดือนหน้าช่วงมีนาก็มีงานครบ 9 ปีของ Flo ช่วงหลังกลางปีก็อาจจะมีงานนิทรรศการที่ไปชวนดีไซเนอร์คนโน้นคนนี้มาแจม อยากให้ตรงนี้เป็นแกลเลอรี่ย่อมๆ เป็นคอมมูนิตี้ดีไซน์ที่เราอาจจะแสดงเรื่องดีไซน์รวมไปถึงเวิร์กช็อป” เขาค่อยๆ ไล่เรียงกิจกรรมที่ตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นในปีนี้และปีถัดๆ ไปอย่างกระตือรือร้น 

จากวันที่นรุตม์เคยได้รับพลังงานดีๆ จากร้านหนังสืออิสระ วันนี้เมื่อได้มีโอกาสเป็นเจ้าของร้านหนังสือเองแล้ว เขาก็ตั้งใจส่งต่อพลังงานเหล่านั้นกลับไปให้กับผู้ที่มาเยือนเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Flo bookstore กลายเป็นร้านหนังสือดีไซน์ที่เข้าถึงง่าย และคอยต้อนรับผู้คนอย่างเป็นกันเอง 

“ผมว่าทุกคนที่ทำร้านหนังสืออิสระรักหนังสือแหละ ผมชอบในแง่ที่ว่าพอเข้าไปแล้วรู้สึกได้รับการต้อนรับ เรารู้สึกว่าเขาชอบหนังสือจริงๆ ถ้าเจอเจ้าของเขาก็จะคุยด้วย ได้แลกเปลี่ยน เราจะได้พลังจากคนที่เขาตั้งใจทำอะไรบางอย่าง แล้วเขาก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำสิ่งที่เขาชอบ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีปัญหานะ แต่มันเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าฝันที่เราอยากทำมีคนทำแล้ว มีเต็มเลย แล้วก็ทำได้ดีด้วย 

“พอเราทำ เราก็อยากทำให้คนที่มารู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ให้พลังงานดีๆ ให้ความหวัง ร้านเราก็อยากให้เป็นแบบนั้นนะ ถึงราคาหนังสือมันจะสูงนิดนึง แต่เราก็อยากให้มาลองเปิดดูก่อนก็ได้” นรุตม์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

.

ร้าน Flo bookstore

เวลาทำการ: จันทร์ – อาทิตย์ 10.00 – 19.00

ที่อยู่: https://goo.gl/maps/uUvMMCqARcU7yEM28

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ