เดตแรกที่ First Date Farm ร้านชำที่แปรรูปอินทผลัมให้เก๋และเข้าถึงได้จนเหมือนได้พบรักแรก

ผลไม้ชนิดแรกๆ ที่เราได้กินตั้งแต่เด็กคงเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ ‘อินทผลัม’ first date farm

อย่าว่าแต่ลิ้มชิมรสผลไม้ชื่อแปลกชนิดนี้เลย พูดตรงๆ ว่าตั้งแต่เกิดจนโต เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารูปร่างหน้าตาของมันเป็นยังไง

กระทั่งได้เห็น ‘โคล่าอินทผลัม’ และสารพัดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอินทผลัมของร้านชำแสนเก๋ย่านราชพฤกษ์นาม First Date Farm สายเลือดนักชิมของเราก็ถูกปลุกให้ตื่น

โดยรู้ตัว บ่ายวันจันทร์ของสัปดาห์หนึ่ง สองเท้าของเราก็ประทับลงหน้าร้านแห่งนี้เพื่อพูดคุยกับ ตาว–​​วรินทร์ลดา ลิ้มเจริญพรชัย, ตวง–ปัณณ์ฤอร ลิ้มเจริญพรชัย และ พี–อาฬชา ด้วงพูล ที่ใช้ความรู้เฉพาะทางของแต่ละคนมารังสรรค์ร้านชำแห่งนี้ขึ้นจากความฝันที่อยากมีร้านชำเป็นของตัวเอง และโจทย์ที่ว่าจะทำยังไงให้คนไทยเปิดใจรับอินทผลัม

อะไรทำให้ทั้ง 3 คนหยิบอินทผลัมที่ใครๆ ก็ว่าหวานจนทานยากมาทำให้เก๋และเข้าถึงได้ ตลอดเวลา 1 ปีที่เปิดร้านป๊อปอัพขนาดย่อมในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งสามได้บทเรียนมารังสรรค์เป็นร้าน flagship แห่งนี้ที่อยากเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดให้ลูกค้าได้ยังไง 

เปิดใจชิม รับฟังเรื่องราว และเรียนรู้วิธีการสร้าง ‘first date’ ไปพร้อมๆ กัน

First: get to know your date 

ก่อนเดินชมและเลือกซื้อของกลับไปประกอบอาหารที่บ้าน ทั้งสามคนปล่อยให้เราจิบอินทผลัมปั่นหอมหวานให้หายเหนื่อย ก่อนที่พีผู้จบด้านธุรกิจการเกษตรจะเปิดคอร์สอินทผลัม 101 เพื่อพาเราลงลึกถึงอินทผลัมให้เข้าใจ 

เริ่มจากอินทผลัมนั้นเป็นต้นไม้ที่คนต้องช่วยผสมถึงจะติดดอกออกผล กระทั่งการปลูกอินทผลัมในไทยนั้นเริ่มได้รับความนิยมแค่ไหน

“หลายคนคิดว่าอินทผลัมเป็นผลไม้จากทางตะวันออกกลาง แต่จริงๆ แล้วอินทผลัมนั้นปลูกได้ทั่วโลก เพียงแต่สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ต่างกันจะทำให้การออกดอกออกผลในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันด้วย

“ไทยเพิ่งเริ่มปลูกอินทผลัมได้ 5 ปี สายพันธุ์ที่ปลูกในประเทศเราได้คืออินทผลัมผลสด ส่วนอินทผลัมผลแห้งซึ่งพบได้มากแถบตะวันออกกลางนั้นปลูกไม่ได้เพราะสภาพอากาศร้อนชื้นจะทำให้ผลขึ้นรา แต่ส่วนตัวผมคิดว่าอินทผลัมที่ปลูกในไทยนั้นมีรสชาติดีมากเนื่องจากดินประเทศไทยอุดมสมบูรณ์แต่ผิวนอกจะแตกลาย ต่างจากทางตะวันออกกลางที่ปลูกในดินทรายซึ่งให้รสชาติไม่หวานเท่าแต่ผลสวย” พีเล่าด้วยความตื่นเต้นก่อนอธิบายว่านอกจากเขาจะรู้ข้อมูลเหล่านี้เพราะการร่ำเรียนแล้ว ยังเป็นเพราะคุณพ่อของเขาเป็นอาจารย์ด้านการเกษตรที่สนใจนำอินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อจากอังกฤษเข้ามาปลูกด้วย

“อินทผลัมเป็นสินค้าเกษตรที่ราคาคงตัวในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แถมในไทยยังไม่ค่อยมีคนปลูกเท่าไหร่ คุณพ่อจึงนำเนื้อเยื่อที่เพาะจากอังกฤษ 500 ต้นมาปลูกที่นครปฐมโดยไม่ใช้สารเคมี สวนเราจึงเป็น 1 ใน 5 สวนของไทยที่ได้รับมาตรฐาน GAP หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี”

นอกจากนั้น อินทผลัมจากสวนของพียังเป็นอินทผลัมที่เก็บผลช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ผลดูดซับสารอาหารจากต้นได้เต็มที่ รสชาติที่ได้จึงหวานฉ่ำและไม่ฝาด ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่าอินทผลัมนั้นฝาดมากจนทานยาก

“พอคุณพ่อของพีเริ่มลงลึกเรื่องอินทผลัมมากขึ้นเรื่อยๆ จากปลูกผลสดก็เริ่มนำเข้าผลแห้งสายพันธุ์ต่างๆ เราเลยเริ่มคิดว่าจะนำความรู้ด้านอินทผลัมที่มีไปต่อยอดยังไงดี” ตวงผู้จบการศึกษาด้านการตลาดเสริม

“เราจบด้านแฟชั่นดีไซน์จึงสนใจด้านวิชวลอยู่แล้วและฝันอยากมีร้านขายของชำเป็นของตัวเอง เลยคิดว่าถ้านำสองสิ่งมารวมกันมันจะไปต่อได้ยังไงและออกมาในภาพแบบไหน” ตาวผู้เป็นพี่สาวของตวงอธิบายให้เห็นที่มา

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘First Date Farm’ ที่ทั้งสามนิยามว่าเป็น natural selection shop ที่เชี่ยวชาญด้านอินทผลัม 

Second: make your date great

“เราชอบทานอินทผลัมทั้งผลสดและผลแห้งอยู่แล้ว” ตวงว่าถึงความรักที่เธอมีต่อผลไม้ชนิดนี้ ก่อนที่ตาวจะแย้งน้องสาวอย่างขำๆ ว่าเธอนั้นไม่ชอบเอาเสียเลย 

“เราตรงข้ามกับตวงมากๆ พอคิดจะโฟกัสที่อินทผลัมซึ่งมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุและชาวมุสลิมซึ่งไม่กว้างเท่าไหร่ โจทย์สำคัญข้อแรกจึงคือ จะทำยังไงให้คนส่วนใหญ่อย่างวัยรุ่นและวัยกลางคนเข้าถึงอินทผลัมได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยัดเยียดจนเกินไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่ 2 ที่ต้องแก้ไขต่อไป”

จากโจทย์แรก ทั้งสามจึงแปรรูปอินทผลัมให้เป็นเครื่องดื่ม ของหวาน และของคาว เพื่อให้คนเริ่มเปิดใจและเห็นว่าอินทผลัมไม่ได้ทานยากอย่างที่คิด โดยเน้นคิดเมนูที่ไม่หวานมากเกินไป แต่มีวัตถุดิบเล็กๆ น้อยๆ ช่วยตัดความหวานและเพิ่มความซับซ้อนของรสชาติ

Date Cola

“เมนูแรกคือ Date Cola ซึ่งเกิดจากการหมักผลสดจำนวนมากกับโพรไบโอติกส์ แล้วจึงทำเป็นไซรัปเพื่อพัฒนาเป็นโคล่าในขั้นตอนสุดท้าย กลายเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ เพราะทานง่าย หอม และชื่นใจ เราจึงได้ทั้งลูกค้าที่ทานและไม่ทานอินทผลัม ได้ทั้งลูกค้าที่สนใจและไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพ” ตวงผู้เคยเรียนทำขนมสูตรญี่ปุ่นและรักในการทดลองสูตรอาหารเล่าให้ฟังอย่างออกรส 

แต่นอกจากโคล่าอินทผลัมสุดสดชื่นทั้งรสดั้งเดิมและหวานน้อยที่เรารักมากๆ ทั้งสามยังคิดเมนูเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีเบสเป็นน้ำอินทผลัมขึ้นมาอีกมากมาย ทั้ง Date Sparkling ที่ผสมน้ำอินทผลัมผลสดกับโซดาแล้วตัดความหวานด้วยเลมอน หรืออย่าง Smooth Date เมนูม็อกเทลที่นำน้ำอินทผลัมผสมกับขิงแก่ตำสดๆ และน้ำผึ้งเพื่อตอบโจทย์วัยผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีเมนูสมูตตี้สุดสร้างสรรค์อย่าง Nice Date Smoothy โกโก้ปั่นผสมอินทผลัมรสชาติเข้ม แถมอินทผลัมหั่นเต๋าให้เคี้ยวเล่นคล้ายชานมไข่มุกเพื่อรองรับมนุษย์ผู้รักการคุมอาหารและการออกกำลังกาย

Smooth Date

เมื่อได้เมนูเครื่องดื่มจากอินทผลัมสมใจ ทั้งสามยังคิดค้นขนมที่ให้พลังงานสูงแต่อร่อยและสนุกยิ่งขึ้นอย่างอินทผลัมสอดไส้ที่พบเจอได้ในแถบตะวันออกกลาง แต่ไส้ที่ทั้งสามคิดขึ้นนั้นได้แรงบันดาลใจจากมื้ออาหารในช่วงเวลาต่างๆ เช่น อินทผลัมสอดไส้เนยถั่วที่ล้อกับขนมปังทาเนยถั่วในยามเช้า หรืออินทผลัมสอดไส้แยมกุหลาบเพื่อแทนมื้อเที่ยงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก afternoon tea

อินทผลัมสอดไส้
เค้กอินทผลัม

ไม่พอ เพราะทั้งสามอยากให้อินทผลัมสอดแทรกในช่วงเวลาต่างๆ ของผู้คนได้ไม่ยาก จึงนำอินทผลัมทั้งผลสดและผลแห้งไปครีเอตเป็นเมนูต่างๆ อย่างการนำน้ำอินทผลัมไปหุงข้าวคล้ายเวลาคนไทยนำกะทิไปทำเป็นข้าวมันส้มตำ หรือนำไปทำเป็นน้ำสลัดในโอเพ่นแซนด์วิชได้ด้วย

“การที่เราเล่นกับมื้ออาหารแบบนี้จะทำให้ลูกค้าเริ่มเปิดใจและรู้สึกว่าอินทผลัมไม่ได้ทานยากอย่างที่คิด” ตวงอธิบายถึงแนวคิดของเมนู แล้วเสริมว่าพี่สาวอย่างตาวผู้ไม่ใช่อินทผลัมเลิฟเวอร์จึงเปรียบเสมือนกรรมการที่คอยให้สามผ่านว่าเมนูไหนเวิร์ก เมนูไหนควรปรับปรุง

“ถ้าเราชิมแล้วรู้สึกว่าอร่อยหรือเห็นภาพว่ามีลูกค้าที่ชอบเมนูนี้จริงๆ ถึงจะให้ผ่าน” ตาวเล่าพลางหัวเราะ

โอเพ่นแซนด์วิชทาแยมส้มโอ ทานคู่กับส้มโอ มอสซาเรลล่าชีส และพาร์มาแฮม

Third: from the first date to the best mate

“ช่วงโควิด-19 ทำให้เราส่งออกอินทผลัมผลสดไปต่างประเทศไม่ได้ จึงต้องเปิดร้านป๊อปอัพเพื่อกระจายผลสดให้ได้มากที่สุด ปรากฏว่าขายหมดในเวลาไม่นาน” ตวงเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ก่อนที่ตาวจะอธิบายถึงภาพรวมทั้งหมด

“การได้รับผลตอบรับที่ดียิ่งทำให้เรามองเห็นตลาดได้กว้างขึ้นว่ามันมีกลุ่มลูกค้าอยู่จริงๆ นะ แต่มันทำให้กว้างกว่านี้ได้ เพราะขณะเดียวกันก็มีลูกค้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้ชอบทานอินทผลัมแต่อยากมีส่วนร่วมกับร้าน 

“คอนเซปต์ของร้านจึงเป็น natural selection shop ที่มีสินค้าแบ่งเป็น 4 โซน ครอบคลุมคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดทาร์เก็ตกรุ๊ปว่าต้องเป็นคนรักสุขภาพหรือผู้หญิง แต่เรากำลังสร้างวัฒนธรรมของแบรนด์ที่ไม่ว่าใครก็เข้าร่วมได้”

เริ่มจากโซน grocery ที่รวบรวมวัตถุดิบสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ปลอดสารจากฟาร์มพันธมิตร ของแห้งนำเข้าจากต่างประเทศและกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยประจำจังหวัด

“เราอยากเป็นเพื่อนคู่คิดที่คิดภาพให้ลูกค้าได้ว่าถ้าเขาอยากทำซูวีเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เมนูเคียงจะเป็นอะไรได้บ้าง แล้วซอสที่ราดจะทำจากอะไร เพื่อให้เขาซื้อกลับบ้านแล้วประกอบร่างได้เลย สินค้าที่เลือกมาทั้งหมดจึงหลากหลายและเพียงพอต่อการสร้างสรรค์เมนูแต่ละมื้อ” ตวงอธิบาย

โซนที่ 2 คือโซน decorating เพราะทั้งสามอยากให้ร้านชำแห่งนี้มอบบรรยากาศอบอุ่นให้บ้านของทุกคน นอกจากจะมีวัตถุดิบดีๆ ให้เลือกสรรไปทำที่บ้านแล้ว จึงยังมีของแต่งบ้านที่คัดสรรมาไว้ให้เช่นกัน

โซนที่ 3 คือโซน gardening เป็นโซนที่แตกขยายจากความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรของพีและคุณพ่อ ต้นไม้ในร้านทั้งสมุนไพรฝรั่งหรือดอกไม้กินได้จึงมาจากสวนของพีและสวนรอบข้างซึ่งผ่านการอนุบาลให้ชินกับสภาพอากาศเมืองไทยแล้ว แถมยังมีอุปกรณ์การปลูกหลากชนิดที่คิดค้นโดยพ่อของพีเอง

ส่วนโซนสุดท้ายคือโซน bar and kitchen ที่เสิร์ฟเมนูที่คิดค้นขึ้นจาก 3 หลักสำคัญคือ หนึ่ง–ต้องปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่วางขายในร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพว่าจะซื้อของในโซน grocery ไปทำอะไรได้บ้าง และเพื่อหมุนเวียนวัตถุดิบภายใน เช่น เมนูสลัดมะเขือเทศรวมที่ปรุงมะเขือเทศ 3 สายพันธุ์ด้วยซอสที่ผสมน้ำหวานดอกมะพร้าว แล้วท็อปด้วยครัมเบิลและเมล็ดฟักทอง 

สลัดมะเขือเทศรวม

สอง–ต้องปรุงให้น้อยที่สุดเพื่อชูความดีงามของวัตถุดิบ อย่างเมนูซุปข้าวโพดหอมๆ ตัดเลี่ยนด้วยความเผ็ดของพริกไทยที่ทานแล้วรู้สึกผ่อนคลาย และสาม–ทุกเมนูจะต้องทานแล้วอิ่มและไม่ดูเฮลตี้จ๋าเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ อย่างเมนูแซลมอนหมักซอสมิโสะที่ราดด้วยซอสสูตรพิเศษจากอินทผลัม ทานคู่กับมันหวานและเห็ดชิตาเกะ

“ทั้งหมดนี้คิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่าอาหารที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นอกไก่แห้งๆ หรือเมนูนับแคลอรีเสมอไป” ตวงสรุปถึงแนวคิดของเมนู

ซุปข้าวโพด
แซลมอนเลี้ยงธรรมชาติหมักกับซอสมิโสะ

Forth: fresh like a first date

หลังพาเดินเลือกของและชิมสารพัดเมนูเรียบร้อย เราพลันเห็นโลโก้สุดน่ารักที่ติดไว้ตามส่วนต่างๆ ของร้าน ทั้งสามจึงพาเราย้อนกลับไปถึงไอเดียและความคาดหวังในการทำ First Date Farm ว่าอยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นอะไรของผู้คน

“ถ้าแปล First Date Farm ตรงตัวคือเราอยากสื่อสารว่าถ้านึกถึงอินทผลัมเมื่อไหร่ก็อยากให้นึกถึงเราเป็นที่แรก แต่ด้วยความที่ถ้าพ่อของพีคิดค้นอะไรใหม่ๆ ได้ เราก็ไม่ได้อยากโฟกัสที่อินทผลัมอย่างเดียว จึงนำมาสู่อีกความหมายหนึ่งที่อยากให้ร้านเป็นเหมือนเดตแรกที่ทำให้คู่รัก เพื่อน หรือครอบครัวรู้สึกตื่นเต้น โรแมนติก หรือเกิดอารมณ์สุนทรีย์ที่ทำให้เขามีแรงและพลังดีๆ ในการคิดและทำสิ่งต่างๆ ต่อไปได้

“และแบรนด์ดิ้งตรงนี้ไม่ได้มีผลต่อการเลือกของและการคิดเมนูเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการออกแบบให้ร้านมีแสงธรรมชาติให้ได้มากที่สุด เพราะเราอยากให้คนที่เดินเข้ามารู้สึกเบิกบาน” ตาวผู้มีสายตาแบบนักออกแบบเล่า ก่อนที่เราจะถามถึงความสนุกในการทำ First Date Farm ในมุมมองของแต่ละคน

“ความสนุกของเราคือการได้หาวัตถุดิบใหม่ๆ จากพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในธุรกิจเกษตรด้วยกัน และรู้สึกสนุกทุกครั้งเมื่อได้โจทย์จากตวงและพี่ตาวว่าอยากให้เราและคุณพ่อลองพัฒนาพันธุ์ไม้หรือวัสดุปลูกอะไรใหม่ๆ บ้าง” พีบอก

“ส่วนเราที่ได้โจทย์ด้านการคิดเมนูเครื่องดื่มและขนมต่างๆ ก็รู้สึกท้าทายมากว่าจะทำยังไงให้พี่ตาวให้ผ่าน และทำยังไงให้คนเปิดรับอินทผลัมมากขึ้น ซึ่งเราก็เริ่มเห็นว่าคนเปิดใจรับมากขึ้นนะ เวลาออกเมนูใหม่ๆ ก็มีคนพร้อมลองชิมเสมอ” ตวงเล่าถึงมุมมองของเธอบ้าง ก่อนที่ตาวผู้รับดูแลด้านแบรนด์ดิ้งจะทิ้งท้าย

“ด้วยความที่เราทำงานด้านแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็วจนเอียน เราจึงมีความสุขมากที่ได้ดูแลแบรนด์ดิ้งของ First Date Farm อย่างค่อยเป็นค่อยไปและละเมียดละไม ขณะเดียวกันก็ยังท้าทายตัวเองเสมอว่าจะทำยังไงให้คนแบบเราที่ไม่ชอบอินทผลัมหันมาสนใจได้ รวมถึงทำยังไงให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้านได้บรรยากาศของความเป็น natural selection shop อย่างที่เราสามคนตั้งใจ” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย