สูตรปรุงคอนเทนต์ของ ‘ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’ นักกินวัยเก๋าที่อยู่มาทุกยุค ทุกแพลตฟอร์ม

ใครที่ติดตามอ่านกระทู้รีวิวร้านอาหารในเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง Pantip คงรู้จักชื่อของ ‘ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’ นามแฝงของ ‘อนุสร ตันเจริญ’ เจ้าของกระทู้รีวิวอาหารหลักพันกระทู้ที่ขยันเสาะแสวงหาร้านเด็ดมาเขียนบอกเล่า จนเมนูอร่อยในกระทู้ของเขามีตั้งแต่ร้านข้างทางยันระดับภัตตาคารหรู

แม้ในวันนี้ที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน เว็บบอร์ดห้อง ‘ก้นครัว’ ใน Pantip อาจไม่คึกคักอย่างเก่า แต่ด้วยใจรักในการกิน ลุงอ้วนจึงยังขยันคัดสรรร้านอร่อยมารีวิวบนแพลตฟอร์มใหม่อย่างเพจเฟซบุ๊กและแชนแนลยูทูบไม่มีหยุด เช่นกันกับเหล่าผู้ติดตามที่ยังคงติดตามกันอย่างเหนียวแน่นแม้ต้องโยกย้ายแพลตฟอร์ม

ในยุคแห่งโซเชียลมีเดียที่มีเพจรีวิวอาหารเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก อะไรคือสูตรลับที่นักรีวิวระดับตำนานอย่างลุงอ้วนแอบเหยาะลงในคอนเทนต์จนคนติดใจ และตามติดดูรีวิวของลุงอ้วน กินกะเที่ยว มาทุกยุค

ยูทูบเบอร์รุ่นใหญ่อย่างเขาพร้อมแล้วที่จะเปิดสูตรลับที่ว่านั้นให้เรารู้กัน

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

ย้อนกลับไปกว่า 20 ปีที่แล้ว ลุงอ้วนเริ่มต้นเข้าสู่โลก Pantip ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ด้านออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ตมากนัก เขามักเข้าไปสอดส่องและโต้ตอบกับพลพรรคนักกิน ชี้เป้าว่าอาหารร้านนั้นอร่อย ร้านไหนน่ากิน แบ่งปันรสชาติและประสบการณ์กันไป นานเข้าหนุ่มวัยใกล้เกษียณอย่างเขาก็เริ่มคิดอยากสร้างกระทู้แบ่งปันร้านอาหารที่ตัวเองกินบ้าง

“สมัยนั้นผมใช้กล้องคอมแพกต์เล็กๆ ถ่ายรูป ภาพก็ออกมาหยาบๆ เสียบสายต่อจากกล้องเมื่อไหร่ไวรัสก็เข้าคอมฯ จนวุ่นไปหมด แต่ก็ศึกษาการใช้ไปเรื่อยๆ” บล็อกเกอร์วัยเกษียณเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

“ช่วงนั้นมีไฟ ผมลงรีวิว 3 มื้อเลย เช้ากินอะไรก็ลง เที่ยงกินอะไรก็ลง เย็นกินอะไรก็ลง ลงเยอะจนตอนนั้นไม่ว่าใครอยู่ใน Pantip ก็ต้องรู้จักเรา”

ด้วยความเป็นคนช่างกิน แต่ละร้านที่เขาคัดสรรมาลงจึงเชื่อถือได้ไม่ยากว่าอร่อยแน่แถมราคายังเอื้อมถึง ชื่อของลุงอ้วน กินกะเที่ยว จึงกระฉ่อนไปทั่วเว็บบอร์ด 

ไม่แปลกที่เมื่อมีแพลตฟอร์มใหม่อย่างเฟซบุ๊กเข้ามา เพียงลุงอ้วนเปิดเพจแค่วันเดียวคนก็มากดไลก์เกือบหมื่นแทบทันที และถ้าเหล่าครีเอเตอร์สายอาหารรุ่นใหม่สงสัยว่าลุงอ้วนมีเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ผลงานยังไง ต่อไปนี้คือสิ่งที่ลุงอ้วนบอกเราไว้

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

สูตรสำคัญของลุงอ้วน กินกะเที่ยว : ค้นหาความแตกต่างในกิจวัตรประจำวัน แล้วนำมาทำเป็นจุดแข็ง

1. ร้านดังของคนวัยเก๋า คือร้านลับของคนรุ่นใหม่

“ด้วยความเป็นคนชอบกิน ชอบเที่ยว สมัยก่อนตอนที่ไม่มีสื่อออนไลน์อย่างทุกวันนี้ ผมจะอ่านคอลัมน์แนะนำร้านอาหารในหนังสือพิมพ์รายวันแล้วไปตะลุยกินตาม อย่างถ้าร้านอาหารที่แม่ช้อย นางรำ (นามปากกาของสันติ เศวตวิมล คอลัมน์นิสต์ผู้มีชื่อเสียงในวงการอาหาร) เขียนถึงอยู่ใกล้บ้านก็จะขับรถไปกินเลยในวันเดียวกัน หรือหากไปเที่ยวตามต่างจังหวัด ผมก็จะมีทริกว่าให้สอบถามหาร้านอาหารอร่อยกับพวกเถ้าแก่ร้านขายอะไหล่ เพราะโดยมากคนเหล่านั้นจะเป็นคนช่างกินเหมือนกัน 

“ผมมีวัตถุดิบเยอะมาก ร้านที่เอามาแนะนำในเพจหรือในยูทูบส่วนมากจะเป็นร้านเก่าแก่ที่ผมกินมาหลายสิบปี เด็กรุ่นใหม่จึงอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เพราะร้านเขากระจายอยู่ตามตรอกซอกซอย กลายเป็นว่าเนื้อหาเราเลยไม่ค่อยซ้ำใคร เด็กรุ่นใหม่ที่ติดตามจึงพากันตื่นเต้นว่ามีด้วยเหรอร้านแบบนี้ ส่วนกลุ่มผู้ติดตามรุ่นใหญ่ที่มีสไตล์การกินคล้ายกันก็ยังติดตามเราอยู่ตั้งแต่ Pantip มาจนทุกวันนี้”

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

2. ไม่ยึดติดกับกระแส เอาความอยากกินเป็นที่ตั้ง

“เวลาจะรีวิวร้านอาหารสักร้าน ผมไม่ได้วางแผนว่าจะปล่อยร้านอาหารประเภทนี้ตอนนี้เพราะกระแสกำลังมา แต่ผมจะยึดตามตัวเราเป็นหลัก เช่น วันนี้อยากกินหมูสะเต๊ะผมก็ไปกิน เราคิดตามคนดูไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่าผู้ติดตามเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่เรารู้แน่นอนว่าตัวเราชอบอะไร ก็ทำไปแบบนั้น 

“เวลาเลือกร้านมารีวิว นอกจากหาร้านที่อร่อย ราคาเหมาะสมแล้ว โดยมากผมจะยึดจากหลักคิดของตัวเองซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท หนึ่ง–คือร้านอาหารประจำถิ่น บอกให้คนรู้ว่าร้านนี้อร่อยนะ ใครอยู่แถวนั้นก็มากินได้ และสอง–คือร้านดัง ใครกินก็ว้าว แม้จะอยู่ไกลถึงเชียงใหม่ก็ต้องมากินให้ได้”

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

3. ไม่ค่อยไปร้านดัง แต่ถ้าจะทำก็ต้องหามุมที่ต่างให้เจอ

“ปกติถ้าร้านไหนดังมากๆ ผมมักจะไม่ค่อยไปรีวิว หรือหากรีวิวผมก็จะหาจุดเด่นของร้านนั้นที่ต่างไปจากคนอื่นเขา เช่น ก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านลิ้มซ้งฮวด ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเนื้อเป็ดเขาดี ผมเลยเลือกนำเสนอเกี่ยวกับน้ำจิ้มร้านเขา ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมชอบ พร้อมกับบอกวิธีการกินในสไตล์ของผมด้วย

“หรือหากร้านไหนเรารู้ว่าเขามีกรรมวิธีการทำที่ยุ่งยาก กว่าจะได้กินต้องจองกันนาน ผมก็จะชูในจุดนั้นแทน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะประสบการณ์จริงๆ ด้วยความที่ผมกินจริงและกินมานานจนสนิทกับเถ้าแก่เจ้าของร้าน ร้านส่วนมากจึงอนุญาตให้เราถ่ายทำในส่วนที่คนนอกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป”

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

4. รีวิวเนื้อๆ เน้นๆ ให้คนรู้ข้อดีและตามมากินได้ง่าย

“ผมถือว่าผมเป็นแค่นักกินคนหนึ่ง เวลารีวิวจึงจะไม่มีการให้คะแนนหรือตัดสินว่าร้านอาหารนี้อร่อยหรือไม่ เพราะอาหารนั้นขึ้นอยู่กับความชอบของคน ผมจะบอกเพียงว่าร้านนี้ตรงกับความชอบของผม แล้วเน้นไปที่การให้ข้อมูลมากกว่า เพื่อให้ผู้ติดตามสามารถตามมากินได้ทันที ส่วนสำคัญคือต้องบอกเขาว่าร้านอยู่ย่านไหน เดินออกมาจะเจอกับอะไรบ้าง และเบอร์โทรศัพท์อะไร 

“ส่วนภาพรวมของคอนเทนต์ผมจะเน้นความกระชับ ถ้าเป็นวิดีโอก็ต้องไม่ยาว แค่ประมาณ 7-8 นาทีก็พอ หรือหากเป็นรูปภาพก็จะบอกแต่เรื่องที่จำเป็น ไม่บรรยายเยอะเกินไป ใช้คำพูดที่ทุกคนเข้าใจได้ และหลีกเลี่ยงพวกคำศัพท์ยากๆ”

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

5. ทำอะไรทำด้วยความรัก นั่นแหละดี

“สิ่งสำคัญที่ทำให้คนยังติดตามมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากข้อมูลร้านอาหารที่เชื่อถือได้ อาจเป็นเพราะความเป็นตัวเองด้วย ส่วนมากคนจะบอกว่าท่าทีผมดูใจดี เหมือนดูพ่อพาไปกินอาหารตามร้านต่างๆ อาจจะเพราะสิ่งที่ผมทำมันคือกิจวัตรปกติของผมอยู่แล้วด้วย คือผมชอบหาของอร่อยกิน เวลารีวิวก็ไม่ได้ทำไปด้วยความอยากดัง ไม่ได้แอ็กติ้งขึ้นมา อันไหนกินแล้วอร่อยสีหน้าของผมมันก็เป็นไปอย่างนั้นเอง คอนเทนต์ที่ทำแทบจะไม่ได้วางแผนอะไรก็จริง แต่เราก็ต้องคงคุณภาพของมันให้ดี เช็ดจานให้ดูสวย หามุมถ่ายให้มันออกมาดูน่ากินมากที่สุด มันคือการทำผลงานออกมาด้วยใจรัก”

นอกเหนือไปจากเคล็ดลับด้านบน สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเป็นครีเอเตอร์สายอาหารไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มไหนๆ ลุงอ้วนสรุปซ้ำไว้ว่า “ต้องจริงใจ อย่าโกหก ไม่หลอกคนดู” เขามองว่าการเป็นธรรมชาติ อร่อยบอกอร่อยนี่แหละสำคัญ

“คนจะเข้าใจว่าการเป็นนักกิน รีวิวของกินจะต้องมีความรู้ด้านอาหารแบบลึกซึ้ง แต่ผมมองว่าแค่มีหัวใจที่ชอบกินจริงๆ ก็สามารถทำคอนเทนต์ออกมาได้ เพียงแต่ต้องมีจรรยาบรรณด้วย ไม่พูดอะไรที่มันเกินไปจากความจริง”

ไม่ว่าจะตอนเป็นลุงอ้วน กินกะเที่ยวใน Pantip หรือตอนนี้ที่เป็น ลุงอ้วน กินกะเที่ยว ในยูทูบ ความตั้งใจของเขาจึงมีเพียงอย่างเดียวคือการแนะนำร้านอาหารที่เมื่อคนไปกินตามแล้วจะไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน