แกะสูตรการทำ TikTok ของ ‘BOTCASH’ ดีเจและโปรดิวเซอร์ที่เลือกวลีไหนมาทำเพลงก็เป็นไวรัล

‘เดี๋ยวเอ้จะเอาเสียงนี้! มาทำเพลง!’

แค่เห็นใบหน้าของ BOTCASH หรือ เอ้–สัณหภาส บุนนาค ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มไหน เสียงประโยคแพตเทิร์นที่เขาพูดใน TikTok แทบทุกคลิปก็ลอยมาทันที

ก็เจ้าไวรัลคลิปทำเพลงสุดฮิตใน TikTok ที่หยิบวลีในกระแสอย่าง ‘อย่าแซวผมหน้าม้าหนู’ ของลิซ่า BLACKPINK หรือ ‘เจ๊อย่าวีน’ ของเจ้านางแห่งเมืองทิพย์อย่างพระมหาเทวีเจ้า กระทั่งเสียงรอบตัวอย่างเสียงเรอมาทำเป็นเพลง ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นโดยดีเจและโปรดิวเซอร์อย่างเอ้ที่ใช้เวลาว่างจากการทำเพลงมาสร้างสรรค์ผลงานและส่งความสุขให้คนที่ติดตาม

แถมในเวลาแค่ 1 ปี ผลงานของเขาก็ทำให้ BOTCASH กลายเป็นชื่อแรกในใจคนหมู่มากแล้วเมื่อเอ่ยถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากฝีมือใน TikTok

BOTCASH

ในฐานะดีเจและโปรดิวเซอร์ที่จำเป็นต้องหาความรู้และแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งที่เอ้ทำเป็นประจำแทบทุกปีคือการเข้าร่วมงาน Amsterdam Dance Event (ADE) อีเวนต์ที่รวมทุกอย่างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพลงอิเล็กทรอนิกซึ่งจัดขึ้นที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และจากการเข้าร่วมงานครั้งล่าสุดเขาก็พบกับความเปลี่ยนแปลงหนึ่งข้อที่น่าสนใจคือ จากเดิมที่ค่ายเพลงมักถามหายอดผู้ติดตามใน SoundCloud แต่ในปี 2562 คนเหล่านั้นกลับถามหาเพียงแค่ยอดผู้ติดตามใน TikTok 

“ตอนนั้น TikTok สำหรับเราคือที่ที่คนเข้าไปเต้น ไปทำอะไรตลกๆ แต่ที่จริง TikTok ที่บ้านเขามันเป็นแพลตฟอร์มที่ศิลปินระดับโลกเขาเล่นกัน เพราะมันใช้พรีเซนต์งานตัวเองได้ ยิ่งคนทำงานดนตรียิ่งเหมาะ เพราะ Tiktok ซัพพอร์ตศิลปินตรงที่ไม่ว่าใครจะเอาเพลงคุณไปใช้ที่ไหน มันจะย้อนกลับมาหาต้นทางเสมอว่านี่คือผลงานของใคร” 

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด งานคอนเสิร์ตถูกยกเลิก เอ้จึงมีเวลาว่างมากพอและใช้โอกาสนี้ทำคลิปลง TikTok 

BOTCASH

“เราเริ่มจากการทำคลิปแบบที่คนส่วนใหญ่นิยมเล่นกันเลย เปลี่ยนเสื้อผ้า เล่นกับหมา แต่พอทำไปได้ประมาณอาทิตย์หนึ่งเราก็เริ่มท้อ มันทั้งเหนื่อยแล้วก็ไม่สนุกด้วย เพราะเราไม่ได้อินกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ คนมาดูก็ไม่ได้มีเยอะ ตอนนั้นเลยหยุดทำไป 2-3 วัน คิดกับตัวเองว่าสงสัยคงไม่ใช่ทางแล้วมั้ง”

โปรดิวเซอร์หนุ่มหัวเราะ เล่าต่อว่าระหว่างนั้นเขาก็กลับไปทำงานเพลงตามปกติ จนมาสังเกตเห็น Launchpad (อุปกรณ์คอนโทรลเลอร์ที่ใช้ควบคู่กับโปรแกรมหรือปลั๊กอินซอฟต์แวร์สำหรับสร้างเสียงดนตรี) ที่วางอยู่ข้างตัว จึงคิดสนุกนำมาลองกดเป็นเพลงและอัดคลิปลง TikTok เล่นๆ

“ปรากฏว่าคลิปนั้นแค่ 2 ชั่วโมงมันขึ้นไปถึงหลักหมื่นวิว เราตกใจมาก ตอนนั้นเลยเหมือนจับทางได้ว่าถ้าเราทำคลิปนี้คลิปเดียวได้หมื่นวิว งั้นเดี๋ยวต่อไปนี้จะทำทุกวันเลย ตั้งเป้ากับตัวเองไว้เลยว่า 3 เดือนต่อจากนี้จะทำคลิปลง TikTok ทุกวันให้ได้”

ผลลัพธ์หลังจากนั้นไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าคือยอดฟอลโลเวอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไหนจะชื่อเสียงและภาพจำที่พูดชื่อ BOTCASH เมื่อไหร่คนก็ร้องอ๋อ ว่าคือโปรดิวเซอร์หนุ่มที่มาพร้อม Launchpad และเพลงจากวลีเด็ดที่ฟังเมื่อไหร่ก็ยิ้มได้เมื่อนั้น

แต่เบื้องหลังคลิปสั้นๆ ที่เราใช้เวลาเลื่อนดูเพลินๆ เพียงไม่กี่วินาทีนั้นอัดแน่นไปด้วยไอเดีย เวลา และความพยายามของเอ้ ที่วันนี้เขาเตรียมมาบอกเล่าให้เราฟังแบบขั้นต่อขั้น คัดมาให้แล้วแบบเน้นๆ

BOTCASH

เบื้องหลังกว่าจะเป็นคลิปไวรัลใน TikTok ของ BOTCASH

1. คลิปทำเพลงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องปรับท่าทีให้เหมาะกับแพลตฟอร์ม

หลายปีก่อนหน้านี้ เอ้เคยปล่อยคลิปทำเพลงจากเสียงคนที่กำลังเป็นกระแสลงในแชนแนลยูทูบของตัวเองมาแล้ว แต่คราวนี้ใช่ว่าเขาจะใช้วิธีแบบเดิม เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้คลิปของเขาได้รับความนิยมบน TikTok คือการปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มต่างหาก

“เมื่อก่อนตอนลงคลิปในยูทูบ เราจะตั้งกล่องถ่ายหน้าจอคอมอย่างเดียวเลย เพราะเราต้องการให้ความรู้จริงๆ แต่กับตอนที่เริ่มทำ TikTok เราอยากให้คนเห็นเวลาเล่น Launchpad ด้วย จากที่ปกติเวลาคนทั่วไปเล่นเขาจะตั้งไว้บนโต๊ะแล้วกด เราเลยเปลี่ยนใหม่เป็นการยกขึ้นมาให้เห็นเลย คนจะได้เห็นเราเล่นด้วย เห็นหน้าเราด้วย”

ธรรมชาติของแพลตฟอร์มที่มีความยาวจำกัด และในช่วงแรกที่บังคับให้เราดูต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่สามารถกดเลือกช่วงเวลาที่จะดูได้ ก็มีผลสำคัญกับการทำงาน

เวลาทำคลิปเขาจึงต้องดึงให้คนสนใจตั้งแต่ 5 วินาทีแรก พร้อมทั้งบอกให้คนรู้อย่างชัดเจนว่าหากดูต่อไปคนดูจะได้เห็น ได้ฟังอะไร

“เพราะ TikTok จำกัดความยาวแค่ 59 วินาที พอทำไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้แล้วว่าควรแบ่งสัดส่วนการพูด การทำเพลง และผลลัพธ์ที่ออกมายังไง วิธีวางแผนของเราคือเปิดมา 5 วินาทีแรกต้องทำให้คนอยากดูต่อให้ได้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราจะพูดเลยว่า ‘เดี๋ยวเอ้จะทำอย่างนี้ครับ’ หรือ ‘วันนี้เอ้จะมาทำเพลง…’ คนดูจะได้รู้ทันทีเลยว่าถ้าดูต่อไปจนจบเขาจะได้เห็นอะไร

“ระหว่างที่คนตั้งตารอผลลัพธ์ เราก็จะสอดแทรกความรู้หรือวิธีการทำไว้กลางคลิป โดยเลือกเฉพาะเรื่องสนุกๆ มาใส่ ตรงไหนที่เรารู้สึกว่าเป็นจุดที่มีความสุขที่สุดขณะทำเราก็จะหยิบมาใส่ ส่วนใหญ่เลยจะเป็นตอนสร้างเสียงเพลงว่าเราทำเสียงนี้ได้ยังไง จากนั้นก็จะเอาเสียงเพลงที่สมบูรณ์มาแปะไว้ตอนท้าย เราทำแพตเทิร์นนี้จนคนดูเขาจำได้ว่าถ้าอดทนดูไปถึงตอนจบ เดี๋ยวก็จะได้ฟังเพลงจริงๆ”

การถ่ายทำก็จะถูกคิดไปพร้อมๆ กันกับการทำเพลงด้วย เพื่อที่ว่าวิธีการทำเพลงที่เขาสอนนั้นจะได้ไม่ยาวหรือยากเกินไปจนไม่สามารถอธิบายได้ 

“ช่วงแรกเราเคยเจอปัญหาว่าเปลี่ยนเสียงหลายเสียงเกินไปจนเล่าไม่ทัน และถ้าตัดกระบวนการทำตรงไหนออกไปจากคลิปคนดูก็จะงงว่า อ้าว แล้วเสียงนี้มาได้ยังไง หลังๆ เลยเรียนรู้ว่าเราต้องลดขั้นตอนการดีไซน์เสียงให้เรียบง่ายมากขึ้น มันคือคำว่ายิ่งน้อยยิ่งดี ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีต่อเรา เพราะไม่ต้องทำงานหนักเท่าเดิมแต่ยังได้สิ่งที่เราต้องการ”

2. ดึงความสนใจด้วยเสียงที่คนคุ้นเคย

เพราะอยากให้ตัวเองทำคลิปลง TikTok ต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีเบื่อ เขาจึงตั้งมั่นไว้ตั้งแต่แรกว่าจะเอาเสียงอะไรก็ได้มาทำเพลง ซึ่งวิธีเลือกเสียงมาทำคลิป TikTok ของเขามี 2 แบบ 

หนึ่ง–คือเลือกทำเพลงตามสั่งจากความเห็นของคนดู วิธีนี้จะรับประกันได้แน่นอนว่าเสียงที่เขาหยิบมาทำจะมีคนสนใจ และสอง–คือทำเพลงจากความสนใจของตัวเอง ซึ่งทั้งสองแบบมีแนวคิดคล้ายกันคือจะต้องเป็นสิ่งที่เขาทำแล้วสนุก อยากทำ

“เพลงที่เราทำ ต่อให้เอาเสียงอะไรก็ไม่รู้มาใช้ สุดท้ายแล้วมันจะมีอะไรบางอย่างที่ลิงก์ให้คนรู้จักกับเพลงที่เราทำทุกอัน เช่น ถ้าเอาเสียงลิซ่ามาทำเป็นเพลง อย่าแซวผมหน้าม้าหนู แม้เพลงนี้ทั้งเพลงจะทำด้วยจังหวะและดนตรีที่สร้างขึ้นมาใหม่หมดเลยก็จริง แต่ว่าพอมันเป็นเสียงลิซ่าที่พูดประโยคที่มีคนขอเข้ามาเยอะมาก มันเลยลิงก์กับคนดูได้” เอ้อธิบาย

หรืออย่างเสียงที่คนไม่ได้ขออย่างเสียงเรอ เสียงตด เขาก็จะเอามาทำเป็นเพลงที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว เช่น เพลงประกอบ Harry Potter หรือเพลงประกอบ Mission: Impossible และหากต้องการทำคอนเทนต์มิกซ์เพลงใหม่ทั้งหมด เขาก็จะเลือกเพลงที่ฮิตและมีคนรู้จักอยู่แล้วอย่างเพลง จีนี่ จ๋า หรือเพลง O.K.นะคะ มาทำในรูปแบบใหม่แทน 

3. เปลี่ยนเวทีแสดงเป็นเวทีหน้าจอ

หลายๆ คอมเมนต์มักบอกว่าเพียงได้ดูคลิปของเอ้ก็มีความสุข นั่นเป็นเพราะทุกครั้งที่เขาอัดคลิป เขาจะใช้หลักการเดียวกับเวลาเล่นคอนเสิร์ต 

เขาคิดเสมอว่า “เราต้องสร้างความสุขให้ตัวเองก่อน คนที่เข้ามาดูจึงจะสัมผัสได้และมีความสุขตาม”

การสร้างและส่งความสุขไปให้ถึงคนดูจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กระบวนการคิดเพลง เพราะถ้าขึ้นเวทีไปแล้วหน้าบูด โมโห อยากกลับบ้าน คนดูก็จะจำภาพของเขาแบบนั้นกลับไป แต่ถ้าเขาขึ้นเวทีอย่างมีความสุข คนดูก็จะได้รับความสุขนั้นกลับไปเช่นกัน 

นั่นเองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตลอดคลิปโปรดิวเซอร์คนนี้ถึงไม่เคยหุบยิ้มเลยสักครั้ง

BOTCASH

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มมีไฟ อยากจะสมัครแอ็กเคานต์ TikTok ขึ้นมาซะเดี๋ยวนี้ เราจึงถามหาคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ ว่าถ้าอยากจะลุกขึ้นมาเป็นครีเอเตอร์บ้างควรเริ่มต้นยังไงดี

อย่างแรกที่เอ้บอกคือต้องถามตัวเองว่าอยากทำอะไร เพราะเขาเองก็คงไม่สามารถแนะนำให้ได้ เนื่องจากไม่ได้รู้จักเราอย่างที่เรารู้จักตัวเอง 

“เราว่าตัวเรานี่แหละคือคนเดียวที่จะบอกได้ว่าเราทำอะไรได้และอยากทำอะไร คำแนะนำของเราคือเมื่อหาสิ่งนั้นเจอให้ทำเลย โหลด TikTok มา ถ่ายคลิป โพสต์ ไม่เสียเงินสักบาท ไม่เดือดร้อนใครด้วย ทำได้เลยทันที 

“ลงไปแล้วถ้าคลิปที่หนึ่งไม่มีคนดู ก็ให้ทำคลิปที่สอง ถ้ายังไม่มีคนดูก็ให้ทำคลิปที่สาม ถ้ายังไม่มีคนดูไปจนถึงคลิปที่สิบก็ยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้าอยากทำ เพราะเราก็เป็นแบบนั้น เพิ่งจะมีคนดูเราตอนคลิปที่เจ็ดที่แปด แต่ที่เราทำมาเรื่อยๆ แม้จะไม่มีคนดูเพราะฟิต มิตร ด้าม (มิตร โมชดารา) เขาเคยสอนเรามาว่าหน้าบ้านสำคัญมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีคลิปหนึ่งไวรัลขึ้นมา คลิปเก่าๆ ที่ไม่เคยมีคนดูก็จะมีคนย้อนกลับไปดูเองอัตโนมัติ ถ้าเราไม่เตรียมหน้าบ้านเอาไว้รอ ไม่ตั้งใจทำ วันหนึ่งที่คลิปเราไวรัล พอคนมาคลิกดูโปรไฟล์แล้วเห็นว่าเรามีแค่ 2 คลิปเอง คนก็จะยังไม่กดติดตาม แต่ถ้าเข้ามาแล้วเห็นว่าเรามีอย่างนี้อีก 10 คลิปเลย มันก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เขากดติดตามมากกว่า ซึ่งเราพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

เอ้ย้ำว่ายิ่งในช่วงเริ่มต้น ความสม่ำเสมอยิ่งสำคัญมาก เพราะอย่างน้อยๆ หากไม่มีคนดูเลย แต่ผลงานที่พยายามทำขึ้นมาก็จะช่วยทำให้คนที่เป็นครีเอเตอร์ตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เขาชอบจริงหรือเปล่า และมันยังเป็นเหมือนการโยนหินถามทางกับคนที่เข้ามาดูด้วยว่าคอนเทนต์อันไหนควรทำต่อ อันไหนควรพอ

“หากจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพก็ต้องมีวินัย และต้องมองว่านี่คืออาชีพ ไม่ใช่งานอดิเรก” เขาทิ้งท้าย 

AUTHOR