ตามรอย a day เล่ม World-Life Balance ใน Gift from the Sea ทริปที่ชวนให้กินและอยู่กับโลกอย่างสมดุล

ถ้าให้นึกถึงระยอง ภาพจำของหลายคนอาจจะเป็นเกาะเสม็ดและ นิราศเมืองแกลง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ความจริงแล้วระยองมีอะไรให้สำรวจนอกจากการย่ำเท้าดูประวัติศาสตร์ และทะเลที่นี่ก็มีสิ่งดีงามมากกว่าภาพของเกาะแก่ง Gift from the Sea

เพราะเห็นว่าระยองมีเสน่ห์ที่น่าเข้าไปค้นหาอยู่อีกเยอะ a day จึงจับมือกับ GC จัด a day experience: Gift from the Sea ทริปเที่ยวระยองแบบรักษ์โลกที่ได้แรงบันดาลใจจาก a day ฉบับ World-Life Balance ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราพาลูกทริปทั้ง 16 ชีวิตไปสำรวจแง่มุมใหม่ๆ ของระยองที่ทำให้นิยามการไปทะเลของเราเปลี่ยนไป 

จากปกติที่เคยเอาความรู้สึกหนักใจไปทิ้งทะเล คราวนี้เราจะตามไปเก็บ

แต่จะเก็บอะไรมาฝากบ้าง ตามไปดูกัน

ออกทะเลจะหาปลามาฝาก Gift from the Sea

เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ แต่เช้าตรู่ มุ่งสู่หาดสวนสนอันเป็นจุดหมายแรก ที่นั่นเราพบกับแผงขายอาหารทะเลของกลุ่มชุมชนประมงเรือเล็กที่ตั้งเป็นแนวยาวริมหาด นอกจากจะให้คนทั่วไปได้มาช้อปปิ้งของสดจากทะเลกันอย่างเต็มที่ ที่นี่ยังเน้นการทำประมงอย่างยั่งยืนด้วยการทำ ‘ธนาคารปู’ 

สมพร พันธุมาศ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านชุมชนเขตแกลง 2 และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประมงชายฝั่งจังหวัดระยอง เล่าให้เราฟังว่า แนวคิดของธนาคารปูเริ่มจากการมองเห็นว่าจำนวนปูในระบบนิเวศนั้นมีน้อยลงจนน่าใจหาย ชาวบ้านจึงช่วยสร้างระบบเพาะพันธุ์ตัวอ่อนของลูกปูเพื่อปล่อยคืนสู่ทะเลและแบ่งปูบางส่วนมาขายด้วยเช่นกัน

นอกจากจะได้ศึกษาวิถีการทำกินของชาวบ้าน เรายังได้แอบตาม เชฟโจ–ณพล จันทรเกตุ แห่ง 80/20 ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ไปซื้อของทะเลสดๆ จากกลุ่มประมงเพื่อเตรียมทำมื้อเย็นด้วย

เชฟโจ–ณพล จันทรเกตุ กำลังอธิบายวิธีการเลือกซื้อวัตถุดิบให้ลูกทริปฟัง

ออกทะเลจะเก็บขยะมาฝาก Gift from the Sea

หลังจากจับจ่ายวัตถุดิบกันเสร็จเรียบร้อยในช่วงเช้า เราเดินทางต่อมาที่ร้านบ้านบุญเพ็ชรเพื่อฝากท้องมื้อกลางวัน เราอิ่มอร่อยไปกับเมนูที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและไม่ใส่ผงชูรส อย่างกุ้งทอดซอสชะมวง, ลาบหอยนางรม, ผัดกระชับรัดมัจฉา, แกงส้มชะมวงแห้งกุ้งสด, ปลาอบสมุนไพร, หมึกนึ่งมะนาว, ตบท้ายด้วยของหวานอย่างบัวลอยเผือกและเซตผลไม้รวมหวานฉ่ำที่เข้ากับบรรยากาศชายฝั่งเป็นอย่างดี

กุ้งทอดซอสชะมวง

อิ่มแล้วเราก็เดินทางไปเช็กอินที่โรงแรมอักษร ระยอง แล้วเปลี่ยนชุดทะมัดทะแมงเพื่อลุยกิจกรรม Crack+ คัด ในช่วงบ่าย เราพบกับ แอน–สุภัชญา เตชะชูเชิด หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Refill Station และคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์เพื่อสังคมศึกษาใน adaymagazine.com ที่ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ขยะทั่วโลกและสอนการแยกขยะเบื้องต้น แอนเล่าให้ฟังว่าขยะในมือเราสามารถแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ใหญ่ๆ คือพลาสติก กระดาษ และอื่นๆ ซึ่งในแต่ละหมวดหมู่ก็จะแบ่งเป็นหมวดย่อย ซึ่งจะมีวิธีการจัดการและปลายทางที่ต้องส่งต่อแตกต่างกัน 

สุภัชญา เตชะชูเชิด หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Refill Station
อภิชาติ ต้นน้ำนิ่ง ตัวแทนจาก GC

นอกจากนี้ เรายังได้พบ ต้น–อภิชาติ ต้นน้ำนิ่ง ตัวแทนจาก GC ที่บรรยายให้เราเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ ต้นสรุปให้เราฟังว่าการใช้พลาสติกไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่การไม่นำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลต่อต่างหากที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง

หลังจากอัดแน่นกับภาคทฤษฎี เราทุกคนก็ลงไปยังชายหาดเพื่อเก็บขยะและทดลองแยกจริงๆ ขั้นตอนนี้ที่จะทดสอบความเข้าใจของเราว่ามีมาก-น้อยแค่ไหน ภารกิจของเราคือการจับกลุ่มกันเพื่อเก็บขยะบนหาดในระยะ 100 เมตร โดยมีอาวุธคือถุงมือ ถุงเก็บขยะสีเหลืองสดใส และแอพพลิเคชั่น Clean Swell ช่วยนับและแยกจำนวนขยะที่เราเก็บได้ในตอนนี้

Gift from the Sea

แน่นอนว่าการเป็นนักแยกขยะมือใหม่ทำให้เรารู้สึกสับสนงุนงงไม่น้อย แอนบอกเราว่าถ้าแยกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยที่สุดการแยกขยะออกมาแค่ 1 ประเภทจากกองขยะทั้งหมดก็สามารถช่วยโลกได้แล้ว 

“การแยกขยะมันซับซ้อนจริงๆ แหละ แม้กระทั่งเราที่เป็นคนศึกษาก็ไม่สามารถจะเข้าใจวัสดุได้ทุกตัวหรือแยกประเภทได้ถูกต้องทุกอย่าง” แอนสารภาพ “แต่สิ่งที่เราคิดว่าทุกคนเริ่มทำได้คือการลดใช้ เพราะการลดใช้มันคือทางออกที่ง่ายที่สุด เมื่อเราลดใช้ได้เราก็จะเหลือขยะจำนวนน้อยลง เราก็เอามาคัดแยกให้มันถูกต้องเพื่อส่งต่อ จะเห็นว่าทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานที่เขารับไม้ต่อจากขยะที่เราแยกเอาไปทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ อย่าง GC ที่มากับเราวันนี้ก็เอาขยะจากทะเลที่คุณสมบัติอาจจะไม่ดีไปรีไซเคิลให้กลับมาเป็นพลังงานได้” 

Gift from the Sea

“กิจกรรมในวันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นกับชายหาด” ต้นเล่าเสริม “ความจริงปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากใครเลย แต่เกิดจากพวกเราที่สร้างขึ้นมา พอทุกคนเห็นแล้วได้ลงมือเก็บจริงๆ และคิดต่อว่าถ้าต่อไปไม่ทิ้งขยะหรือทิ้งในที่ที่เหมาะสม เราได้รวบรวม คัดแยก และนำไปจัดการ ขยะเหล่านี้ก็จะไม่ไหลลงสู่ทะเล”

หลังจากช่วยกันเก็บและแยกขยะอย่างแข็งขัน เรายังได้ลองร่อนทรายเพื่อหาเศษพลาสติกในพื้นที่ขนาด 50×50 เซนติเมตร แม้วิธีนี้จะทำให้เราเก็บขยะจากหาดได้แค่เพียงเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ไม่ใช่การทำความสะอาดชายหาด แต่เป็นการสำรวจการปนเปื้อนบนทรายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศต่อไป

Gift from the Sea

ออกทะเลจะเตรียมอาหารทะเลแบบยั่งยืนมาฝาก

“สิ่งที่ทำให้ sustainable seafood แตกต่างจากซีฟู้ดธรรมดาคือ การเลือกประยุกต์ใช้หลายส่วนจากวัตถุดิบแค่หนึ่งอย่างไปทำหลายเมนู แทนที่จะทำหลายเมนูจากวัตถุดิบหลายอย่าง”

เชฟโจเล่าให้เราฟังระหว่างจัดจาน ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็นที่ค่อยๆ หรี่ลงจนฟ้ามืดสนิท และเมื่อได้เวลาอันสมควรอาหารจานแรกในคอร์สก็ถูกเสิร์ฟ

หลังจากอาบน้ำและพักผ่อนช่วงสั้นๆ ทุกคนกลับมารวมตัวกันในกิจกรรม Chef + ชิม เพื่อร่วมประสบการณ์ chef’s table ของเชฟโจที่จะเสิร์ฟอาหารจำนวน 5 คอร์ส จุดเด่นคือทุกคอร์สทำจากวัตถุดิบท้องถิ่น (ที่ซื้อมาตอนเช้า) ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

อาหารคอร์สแรก ยำกุ้งสดเสิร์ฟพร้อมข้าวเกรียบ

จานของว่างสลัดที่มีรสชาติซีฟู้ด แต่ไม่มีซีฟู้ด ซึ่งใช้เปลือกกุ้ง ปู ก้างปลา และเศษปลาหมึก มาเคี่ยวจนข้นเพื่อใช้เป็นน้ำสลัด เสิร์ฟพร้อมข้าวเม่ากับปลากระเบน 

คอร์สแรกคือยำกุ้งสดที่ใช้กุ้งลายเสือที่ถูกทำให้สุกด้วยน้ำมะนาว ปรุงด้วยสาหร่ายตุ๋นกับหอมแดง กระเทียม พริก เม็ดผักชีดอง เสริมด้วยตัวข้าวเกรียบกรุบกรอบ คอร์สที่สองคือซุปที่ได้ไอเดียมาจากแกงเหลืองและต้มส้ม ใส่หอยกระโจงโดงตุ๋น หอยตลับ (หรือหอยพู่กัน) และหอยแมลงภู่ เสิร์ฟคู่กับเห็ดเข็มทองและน้ำมันสมุนไพรที่ให้ความรู้สึกชุ่มชื่น

เซตปลากระพงในคอร์สที่สี่
แกงคั่วเนื้อปลาส่วนท้อง

คอร์สที่สามคือปลาหมึกย่างและปูย่างทานพออิ่ม เรียกน้ำย่อยก่อนจะถึงเมนคอร์ส ซึ่งเป็นเซตอาหารที่ทำจากปลากะพงทั้งตัว แบ่งเป็นส่วนเนื้อปลาส่วนท้องในแกงคั่ว ได้รสเผ็ดจากเครื่องแกงใต้และรสหวานจากกะทิ, น้ำพริกที่ใช้กระดูกท้องปลานำไปย่าง ผสมกับส้มแขกและแมงดา, หางปลาทอดที่หมักกับขมิ้นและกระเทียมชุบแป้งทอด และต้มยำน้ำใสหัวปลา

หน้าตาของของหวานตบท้ายวัน

ตบท้ายด้วยของหวานคือมูสช็อกโกแลตสูตรของเชฟซากิ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง 80/20 ที่วันนี้ดัดแปลงให้เข้ากับบรรยากาศกินข้าวริมทะเลด้วยการใส่บิสกิตที่ให้เนื้อสัมผัสของมะพร้าว นอกจากนี้วัตถุดิบที่เหลือจากการทำอาหารมื้อนี้ยังถูกนำไปรังสรรค์ต่อในมื้อเช้า กลายเป็นเมนูข้าวต้มปลาหมึกกับกุ้ง เสิร์ฟคู่กับซอสเต้าเจี้ยวที่ใส่มิโซะและสาหร่ายลงไป นับว่าปิดคอร์ส sustainable seafood ได้อย่างสมบูรณ์

food waste ของวันแรก
กลายเป็นข้าวต้มแสนอร่อยกินกับน้ำพริกเต้าเจี้ยว

ออกทะเลจะหยิบของขวัญมาฝาก

หลังจากอิ่มอร่อยจากอาหารเช้า เราออกเดินทางต่อไปยังชุมชนเนินสำเหร่ 1 เพื่อเยี่ยมชมและพูดคุยกับกลุ่มคนผู้เปลี่ยนเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลให้เป็นสินค้าแฟชั่น ซึ่งสร้างเม็ดเงินหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

Gift from the Sea

ที่เนินสำเหร่ 1 เราได้เห็นและลองทอเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลให้กลายเป็นผืนผ้าจริง ได้รับมอบกระเป๋าผ้า upcycling จากขยะพลาสติกฝีมือช่างชุมชนติดมือกลับไปกันคนละชิ้น (ความพิเศษคือทุกชิ้นจะมีลวดลายไม่เหมือนกันด้วยนะ) ก่อนจะเดินทางไปยังจุดหมายสุดท้ายคือ ร้านใบชะมวง ร้านอาหารที่ GC จับมือกับแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคระยอง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเชฟชุมชน อนุรักษ์อาหารท้องถิ่นและภาคตะวันออก และสร้างรายได้ให้กับจังหวัดระยอง

Gift from the Sea
ผลิตภัณฑ์จากชุมชนเนินสาเหร่ 1
Gift from the Sea
เซตอาหารมื้อสุดท้ายของทริปที่ร้านใบชะมวง

เราตื่นตาตื่นใจกับมื้ออาหารที่ชูวัตถุดิบและรสชาติแบบคนระยอง (ฮิ) ที่ยกทัพกันมาเสิร์ฟจนเต็มโต๊ะ เริ่มจาก welcome drink อย่างน้ำอัญชันมะนาวสุดเฟรช, แกงจืดลูกรอกที่ทำจากไส้ไก่, น้ำพริกไข่ปูกุ้งสะเออะรสเปรี้ยวเค็ม, หมึกแดดเดียวผัดพริกเกลือ 9 ชาติ, ผัดขี้เมาไก่บ้านใส่หน่อกระทือ, แกงหมูชะมวง ฯลฯ รวมไปถึงทีเด็ดอย่างขนมนิ่มนวล ขนมประจำจังหวัดระยอง ที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวคั่วนวดกับน้ำเชื่อมสอดไส้มะพร้าวขูดสัมผัสนิ่ม เสิร์ฟพร้อมกับครองแครงกะทิมะพร้าวอ่อนหอมหวาน

Gift from the Sea

เรากลับกรุงเทพฯ ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมทั้งกายและใจ คงไม่เกินจริงไปนักหากจะบอกว่าการเดินทางเพื่อกิน เที่ยว ผ่อนคลายจิตใจในทริปนี้ คือการให้ของขวัญตัวเองอย่างหนึ่ง และสำหรับเราสิ่งที่ทำให้ทริปนี้พิเศษมากขึ้นคือ ความพยายามดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับความชิลล์ของเราตลอด 2 วัน 1 คืน

ในขณะที่ทะเลระยองให้ของขวัญเราเป็นความอิ่มท้องและอิ่มใจ เราก็อยากมอบของขวัญให้ทะเลด้วยการทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นเหมือนกัน

Gift from the Sea

ติดตาม a day experience ครั้งต่อไปได้ที่หน้าเพจ a day magazine นะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่