a day experience : เข้าใจมุมมองต่อร่างกายมนุษย์ผ่านศิลปะของ 4 ศิลปินในยุคเรอเนซองซ์

a day experience : เข้าใจมุมมองต่อร่างกายมนุษย์ผ่านศิลปะของ 4 ศิลปินในยุคเรอเนซองซ์

Highlights

  • a day experience ประจำเดือนตุลาคมกลับมาอีกครั้งกับกิจกรรมเดินดูงานศิลปะพร้อมการบรรยายจาก พัฒนพงศ์ มณเฑียร หรือ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินผู้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ผ่านศิลปะในงาน ITALIAN RENAISSANCE – See Art and Anatomy Drawing with Oat Montien ครั้งนี้โอ๊ตชวนพวกเรามามองวิธีคิดและบริบทสังคมในงาน ITALIAN RENAISSANCE ซึ่งจัดขึ้นที่ชั้น 2 RCB Galleria ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้
  • ยุคอิตาเลียนเรอเนซองซ์เป็นยุคที่ขึ้นชื่อเรื่องการวาดภาพกายวิภาคมนุษย์ได้น่าสนใจและสวยงาม โอ๊ตพาเราไปเจาะเบื้องหลังวิธีคิดและความเชื่อเรื่องร่างกายมนุษย์ซึ่งมีอิทธิพลมาจากศาสนาของคนในยุคนั้น ภายใต้ภาพวาดโด่งดังที่เราคุ้นตาอย่างโมนา ลิซ่า ของเลโอนาร์โด ดา วินชี, รูปปั้นเดวิด ของไมเคิลแองเจโล, ภาพ The Birth of Venus ของบอตติเชลลี และภาพ The School of Athens ของราฟาเอล 

แม้กาลเวลาจะพัดพาเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เราเข้าใจร่างกายมนุษย์แตกต่างกับยุคก่อนมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันคือ มนุษย์ยังคงวาดร่างกายตัวเอง เพราะมันคือหมุดหมายของการมองเห็นตัวเอง สะท้อนร่องรอยของเรา ดังนั้นเรือนร่างมนุษย์จึงเป็นซับเจกต์ที่น่าสนใจมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

และงานศิลปะที่สะท้อนการมองร่างกายมนุษย์ได้น่าสนใจอีกยุคคือ Italian Renaissance เพราะไม่ว่าจะเป็นโมนา ลิซ่า ของเลโอนาร์โด ดา วินชี, รูปปั้นเดวิด ของไมเคิลแองเจโล, ภาพ The Birth of Venus ของบอตติเชลลี หรือภาพ The School of Athens ของราฟาเอล นอกจากจะทำให้เราเห็นความสวยงามแล้ว ยังซุกซ่อนไปด้วยมุมมองวิธีคิดต่อร่างกายมนุษย์ในศตวรรษที่ 15 อีกด้วย

a day experience ประจำเดือนตุลาคมกลับมาอีกครั้งกับการเดินดูงานศิลปะพร้อมการบรรยายจาก โอ๊ต–พัฒนพงศ์ มณเฑียร หรือ Oat Montien ศิลปินผู้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ผ่านศิลปะและถ่ายทอดโลกของศิลปะในลอนดอนผ่านคอลัมน์ london scene และ london museum โดยครั้งนี้โอ๊ตชวนพวกเรามามองวิธีคิดและบริบทสังคมในงาน Italian Renaissance ซึ่งจัดขึ้นที่ชั้น 2 RCB Galleria ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้

นอกจากเรื่องเล่าสนุกๆ จากโอ๊ตแล้ว ความพิเศษอีกอย่างคือผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้วาดภาพนู้ด โดยมีนายแบบยืนในท่าต่างๆ ตามผลงานที่ศิลปินในยุคนี้ทำขึ้น ภายใต้บริบทที่โอ๊ตเติมเต็มเข้ามาให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความรู้สึกตลอดการวาด แล้วในยุคที่ได้ชื่อว่าเป็นการฟื้นฟูศิลปวิทยาการจะมีวิธีคิดของศิลปิน บริบทสังคม และเรื่องราวอะไรซุกซ่อนอยู่ภายใต้ผลงานที่พวกเราคุ้นตา เราได้สรุปสิ่งที่โอ๊ตเล่ามาให้ฟังกันแล้ว

 

1. เรอเนซองซ์คือการเกิดใหม่ของยุคกรีก

ศิลปะอิตาเลียนเรอเนซองซ์มีจุดกำเนิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เรอเนซองซ์แปลว่าการเกิดใหม่ เพราะช่วงก่อนหน้านั้นมีการขุดค้นวัตถุ หลักฐาน และแนวคิด ในสมัยกรีกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยรวบรวมเข้ากับความเชื่อของศาสนาที่มีอิทธิพลในช่วงศตวรรษที่ 15

หนึ่งในสิ่งที่ขุดค้นเจอแล้วกลายมาเป็นต้นแบบของการวาดภาพคนของศิลปินในยุคสมัยนี้คือ Belvedere Torso รูปปั้นผู้ชายเปลือยนั่งด้วยท่าทางโค้งตัวเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นรูปปั้นกายวิภาคที่ค่อนข้างสมบูรณ์เกินจริง ถ้าไม่นับว่าในช่วงหลังรูปปั้นโดนทำลายไปหลายส่วนแล้ว รูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นที่มีมัดกล้ามชัดเจน แต่ในความเป็นจริง ร่างกายมนุษย์จะไม่เห็นมัดกล้ามที่เยอะขนาดนี้เพราะไขมันปกปิดไว้ แต่รูปปั้นนี้ก็เน้นย้ำว่าศิลปินยุคกรีกให้ความสำคัญกับกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญในการขุดค้นครั้งนี้ คนในยุคเรอเนซองซ์ตื่นเต้นมาก พวกเขาสันนิษฐานถึงการดำเนินชีวิตของคนกรีกว่าต้องได้กินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย เพื่อจะได้ไปรบในสงครามเปอร์เซีย เพราะรูปปั้นต่างๆ ของผู้ชายที่พวกเขาได้เห็นมักเป็นฟิกเกอร์ของนักรบที่โชว์กล้าม โชว์ความแข็งแรง และสื่อถึงการชนะสงครามนั่นเอง

แม้คนในยุคเรอเนซองซ์จะตื่นเต้นกับสิ่งที่ค้นพบ แต่กลับไม่นิยมร่างกายมนุษย์เปลือยมากๆ แถมยังมองว่าการวาดภาพหรือการปั้นรูปเลียนแบบคนเป็นเรื่องผิดบาป

เพราะในยุคกลาง หลังจากอาณาจักรโรมันล่มสลาย ศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพลและเป็นศาสนาใหญ่ในยุโรป พวกเขาเชื่อว่าเรื่องเทพในยุคโรมันเป็นลัทธินอกรีต จึงมีการทำลายรูปปั้นต่างๆ เปลี่ยนวิหารของเทพเจ้าให้เป็นของศาสนาคริสต์ และพยายามครอบทับความเชื่ออื่นๆ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าการวาดภาพหรือการปั้นร่างกายมนุษย์เป็นการเลียนแบบพระเจ้า คนทั่วไปไม่ควรทำ

ภาพเปลือยจึงเห็นได้แค่ในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งคือภาพพระเยซูถูกตรึงกางเขน ภาพนรก หรือภาพอาดัมกับอีฟ และการวาดภาพคนในโบสถ์เท่านั้น โดยลักษณะคนส่วนใหญ่จะมีร่างกายยืดยาว ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ สีหน้าล่องลอย เป็นการวาดภาพมนุษย์ที่ไม่สมจริง (เพราะความสมจริงถือเป็นการทำบาป) ซึ่งภาพ Medieval (ค.ศ. 476-1492) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

 

2. Neoplatonism แนวคิดใหม่ที่ทำให้ภาพเปลือยมนุษย์เป็นเรื่องถูกต้อง

หลายคนอาจมีคำถามว่าในเมื่อคนยุคเรอเนซองซ์ไม่ปลื้มการวาดเลียนแบบมนุษย์ แล้วทำไมศิลปินทั้ง 4 จึงสร้างสรรค์ภาพมนุษย์จนโด่งดังถึงตอนนี้ได้

คำตอบคือ ยุคเรอเนซองซ์เป็นช่วงที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในช่วงกรีกขึ้นมาใหม่ ดังนั้นนอกจากการค้นพบวัตถุต่างๆ แล้ว ยังมีการนำแนวคิดของนักปรัชญากรีกอย่างเพลโตมาใช้ด้วย เพลโตมองว่าความสวยงามทุกอย่างในจักรวาลเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว และความสวยงามกับความมีอยู่คือความจริง

คนในยุคศตวรรษที่ 15 ก็นำแนวคิด Neoplatonism มาเชื่อมโยงกับศาสนาคริสต์ โดยบอกว่าความสวยงามคือพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้นการวาดภาพเลียนแบบคนก็เลยเป็นเรื่องถูกต้องขึ้นมาทันที

แนวคิดนี้สื่อสารได้ชัดเจนผ่านภาพวาด Expulsion from the Garden of Eden ของ Masaccio ซึ่งเป็นภาพอาดัมกับอีฟที่แตกต่างกับภาพวาดคนในโบสถ์ที่ผ่านมา โดยจะมีความสมจริงมากขึ้น มีเส้น perspective ที่ทำให้เห็นมิติต่างๆ ท่ายืนของอีฟถอดแบบมาจากรูปปั้น Belvedere Venus ที่ขุดพบ และที่เด่นชัดคือสีหน้าของคนในภาพจะมีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินในยุคเรอเนซองซ์ให้ความสำคัญ และถือว่าภาพวาดอาดัมถูกสร้างขึ้นจากภาพสะท้อนของพระเจ้า ดังนั้นถ้าเข้าใจว่าความสวยงามของอาดัมเป็นยังไง คุณจะเข้าใจความสวยงามของพระเจ้าด้วยเช่นกัน

ในเวลาต่อมา การศึกษาร่างกายของมนุษย์จึงได้รับความนิยมอย่างมาก เห็นได้ชัดในภาพวาด Vitruvian Man ของดา วินชี ที่พยายามศึกษาอุดมคติของร่างกายมนุษย์ที่สมบูรณ์เชื่อมโยงกับพระผู้เป็นเจ้าผ่านวิธีการคิดเชิงการแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงไม่มีสัดส่วนมนุษย์แบบที่ดา วินชี ศึกษา

หรือแม้กระทั่งภาพสเกตช์มนุษย์หลายๆ ภาพของไมเคิลแองเจโล ก็สะท้อนให้เห็นว่าการวาดภาพมนุษย์แบบ live drawing ในยุคนี้จะไม่วาดให้เหมือนจริง แต่จะวาดแต่ละส่วนแยกกัน แล้วค่อยนำมาประกอบสัดส่วนเพื่อสร้างมนุษย์สมบูรณ์ในอุดมคติ ดังนั้นภาพวาดกายวิภาคที่เราชื่นชมว่าสวยงาม มีมัดกล้ามชัดเจน อย่างภาพ The Creation of Adam ศิลปินก็ได้แรงบันดาลใจมาจากความสมบูรณ์แบบจากพระเจ้าในรูปปั้นกรีกโบราณด้วย

 

3. การมองร่างเปลือยของผู้หญิงเป็นความผิดบาป

ถ้าร่างกายผู้ชายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แล้วในยุคเรอเนซองซ์มองผู้หญิงเป็นยังไงบ้าง

คำตอบคือคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะศาสนามองว่าการมองเห็นร่างกายของผู้หญิงถือเป็นเรื่องบาปยิ่งกว่าการวาดภาพมนุษย์เสียอีก ความเชื่อนี้เชื่อมโยงกับเรื่องเล่าของอาดัมกับอีฟ การกัดแอปเปิลทำให้ทั้งสองมีสำนึกของความอายเมื่อเห็นร่างเปลือยของกันและกัน ดังนั้นถ้าเห็นร่างกายของผู้หญิงคนไหนจะถือว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นคนบาป เพราะร่างกายของผู้หญิงเป็นบ่อเกิดของตัณหา สร้างความกำหนัดให้เกิดขึ้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าภาพเปลือยของผู้หญิงจะไม่ได้รับการวาดอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเท่าผู้ชาย แต่จะได้รับอนุญาตให้วาดและตั้งไว้สำหรับผู้ที่มีการศึกษาเท่านั้น นั่นก็คือคนในศาสนา ทำให้ภาพ The Birth of Venus ผลงานของบอตติเชลลี ตั้งอยู่ในห้องบรรทมของพระสันตะปาปานั่นเอง

ไม่ใช่แค่ภาพนู้ด การวาดภาพผู้หญิงส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นไปเพราะการชื่นชมอย่างที่ผู้ชายถูกมอง แต่มักแสดงออกถึงการเป็นสินค้า นั่นทำให้การวาดภาพผู้หญิงจะเกิดขึ้นในกรณีเฉพาะ อย่างเช่นวาดเพื่อส่งให้คู่ครองดูตัว ในขณะที่ภาพวาดผู้หญิงอีกส่วนจะเป็นการวาดภาพแม่พระเพื่อการกราบไหว้

แต่ศิลปินที่วาดภาพผู้หญิงได้โดดเด่นอีกคนคือราฟาเอล เพราะถ้าสังเกตให้ดี ภาพวาดผู้หญิงของราฟาเอลจะมีหน้าตาคล้ายกับผู้หญิงในภาพ Portrait of Margherita Luti ซึ่งเขาเลือกวาดภาพลูกสาวเจ้าของร้านขนมปังที่แอบมีใจให้ แม้ว่าราฟาเอลจะมีคู่หมั้นแล้ว

 

4. เบื้องหลังการทำงานของศิลปินคือตระกูลเมดิชีผู้ร่ำรวยในยุโรป

นอกจากเรื่องมุมมองต่อร่างกายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ผลงานศิลปะยุคเรอเนซองซ์แล้ว อีกสิ่งที่เห็นเด่นชัดในผลงานของศิลปินแต่ละคนคือ การสร้างงานศิลปะที่เลอค่าของชนชั้นสูง เพราะการเลือกใช้สีแต่งแต้มลงบนผ้าใบนั้นประกอบไปด้วยสีจากแร่ธาตุที่มีราคาสูงมาก อย่างเช่นการนำสีน้ำเงินจากหินลาพิสมาใช้

แน่นอนว่าศิลปินไม่ได้ควักตังค์ออกเงินทำงานเองแน่นอน เพราะพวกเขามีตระกูลร่ำรวยอย่างเมดิชีช่วยสนับสนุนให้สร้างสรรค์งานเหล่านี้

ว่าแต่กลุ่มเมดิชีเป็นใคร ทำไมถึงรวยนักหนา

ครอบครัวนี้ริเริ่มทำธุรกิจระบบธนาคารและการปล่อยกู้เป็นกลุ่มแรก เพราะก่อนหน้านี้การยืมเงินถือเป็นเรื่องบาปในคริสต์ศาสนา แต่ถ้าทำผ่านธนาคารจะไม่ผิดเพราะไม่ได้ใช้ชื่อโดยตรง ตระกูลเมดิชีจึงมีเงินมาสนับสนุนการทำงานของศิลปินอย่างมหาศาล

แต่หลายคนยังมองว่าพวกเขาทำบาป ควรนำเงินมาบำรุงศาสนสถานด้วย เมดิชีจึงว่าจ้างศิลปินวาดภาพในโบสถ์ เช่น บอตติเชลลีที่วาดรูปพระเยซูรับของจากกษัตริย์ 3 องค์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าใบหน้าของกษัตริย์คือใบหน้าเดียวกันกับคนในตระกูลเมดิชี ซึ่งภาพเหล่านี้ยังเป็นภาพที่ปรากฏในโบสถ์ให้คนได้เข้ามาเคารพอีกด้วย

ดังนั้นการทำงานศิลปะในยุคนั้นจึงไม่เหมือนการทำงานศิลปะเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์เหมือนสมัยนี้ แต่ผลงานต่างๆ อยู่ในบริบทที่คนต้องการที่พึ่งทางใจ ซึ่งก็คือการแทรกตัวเข้าไปในส่วนที่ผู้คนเปราะบางที่สุดนั่นเอง

 

5. การเข้ามาของศิลปะยุคเรอเนซองซ์ในไทย

ย้อนกลับมาที่เมืองไทย เมื่อเทียบตัวเลขแล้วยุคเรอเนซองซ์นับว่าตรงกันกับช่วงอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

บริบทของศิลปะและการมองร่างกายของสังคมไทยในช่วงนั้น การเปลือยกายไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดแปลกใดๆ ผู้หญิงยังไม่มีการนุ่งผ้าปิดหน้าอก รูปศิลปะในสมัยอยุธยาไม่ได้นำเสนอคล้ายยุคเรอเนซองซ์มากนัก แต่บิดให้ภาพวาดของเทวดาอยู่ในฟอร์มของลายเปลวไฟ ดังนั้นภาพร่างกายจะบิด และลดทอนสัดส่วนทำให้การวาดฟิกเกอร์ของคนไม่สมจริง

จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 มีเหตุการณ์สำคัญคือสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยมีความเจริญทัดเทียมกับต่างชาติ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนางานศิลปะให้มีความเป็นสากล ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงเลือกศิลปินต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย บุคคลนั้นคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ในปี 1923 อาจารย์ศิลป์เดินทางจากเมืองฟลอเรนซ์เข้ามาทำงานแรกด้วยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สำคัญอย่างมาก เพราะการสร้างงานประติมากรรมหรืออนุสาวรีย์กลางเมืองถือเป็นการสื่อสารนัยทางการเมืองหลายอย่างของชนชั้นสูง

ที่สำคัญคือหากสังเกตผลงานของอาจารย์ศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หรือพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ จะเห็นว่ามีการใช้รูปทรงแบบอิตาเลียนเรอเนซองซ์ ซึ่งต้นแบบรูปปั้นคนส่วนใหญ่เป็นการยืนท่าทิ้งขา แต่คนไทยจะไม่นิยมยืนในลักษณะนี้เพราะถือว่าเป็นท่ายืนที่ไม่สุภาพ

หลังจากทำงานออกมาทำให้อาจารย์ศิลป์ต้องเจอปัญหาเยอะมาก เพราะคนไทยไม่คุ้นชินกับรูปปั้นลักษณะนี้ โดยเฉพาะพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ที่รัฐบาลทหารในยุคนั้นมองว่าไม่สุภาพ ท่าทางดูนวยนาด ไม่เหมาะสมกับความเป็นกษัตริย์ อีกทั้งยังไม่มีการสวมหมวกอย่างที่ควรจะเป็น จึงให้มีการเพิ่มหมวกเข้าไปด้วย ทำให้ผลงานของอาจารย์ศิลป์เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบอิตาเลียนเรอเนซองซ์และศิลปะแบบไทย

 

6. เข้าใจมุมมองต่อร่างกายด้วยการวาดภาพนู้ด

กิจกรรมปิดท้ายของการเดินดูงานศิลปะยุคเรอเนซองซ์กับโอ๊ต มณเฑียรในครั้งนี้คือ การวาดภาพนู้ดเพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องร่างกายในบริบทยุคเรอเนซองซ์ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่เขาเปิดเวิร์กช็อปวาดภาพนู้ดนอกสถานที่

ในกิจกรรมนี้โอ๊ตให้ผู้เข้าร่วมทุกคนนั่งวาดภาพในตำแหน่งที่แตกต่างกัน โดยจะให้นายแบบโพสท่าตามฟิกเกอร์ในผลงานศิลปะของศิลปินทั้ง 4 คน เช่น The Birth of Venus, St. Sabastian, Vitruvian Man, The Creation of Adam

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ร่วมวาดภาพภายใต้บริบทต่างๆ ที่โอ๊ตสร้างขึ้น เช่น การเปิดเพลงในยุคเรอเนซองซ์ประกอบ หรือการอ่านคัมภีร์ไบเบิล โดยแต่ละภาพจะใช้เวลาในการวาดประมาณ 5-10 นาที

แม้การวาดภาพนู้ดในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นมือใหม่และแอบมีความกังวลในการวาดภาพนู้ด แต่โอ๊ตก็อยากให้ทุกคนสร้างสรรค์งานออกมาจากความรู้สึกของตัวเอง ณ ตอนนั้นมากที่สุด ในครั้งแรกทุกคนอาจกังวลว่าภาพที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาของการวาดภาพ เพราะการทำงานศิลปะที่ดีที่สุดคือการสร้างงานที่สื่อสารความรู้สึกออกมาได้

ก่อนจบงานโอ๊ตยังแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องร่างกายกับพวกเราว่า “สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ คุณในตอนนี้กลับไปมองเขาด้วยร่างเดียวกัน แม้บริบทสังคมจะต่างกัน คุณอาจจะไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ไม่ใช่คนในยุคนั้น มุมมองของคุณอาจจะเป็นเฟมินิสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คุณก็ยังมองร่างกายมนุษย์ด้วยร่างกายมุษย์ คุณมีอวัยวะ ยังกิน ยังจับ ยังเดิน รูปเหล่านี้ก็เช่นกัน เพราะรูปปั้นเมื่อ 2,000 ปีที่แล้วก็เป็นมนุษย์ที่สะท้อนตัวคุณ”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก