ฟังเสียงสะท้อนจากโรงเรียนในหุบเขา สบตา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ฝังรากลึกในการศึกษาไทย

ฟังเสียงสะท้อนจากโรงเรียนในหุบเขา สบตา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ฝังรากลึกในการศึกษาไทย

หุบเขา ป่าฝน ธรรมชาติเขียวขจี คือเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ใครต่อใครอยากเดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดกาญจนบุรี

ทว่าการออกทริปของ a day ครั้งนี้ ไม่ได้ไปเพื่อการพักผ่อน นอนดูฝนพรำ หรือชมวิวทิวเขาสุดโรแมนติก แต่เป็นการไปสบตากับ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ฝังอยู่ในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน 

หากเคยได้ยินเรื่องเล่าของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องเดินข้ามเขาเพื่อไปโรงเรียน ชีวิตของเด็กรุ่นนี้ก็ยังลำบากไม่ต่างกัน  

เราออกตัวจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมกับเพื่อนๆ สื่อมวลชน และทีมงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) เป้าหมายคือการไปเยี่ยม 4 โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในอำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ ได้แก่ 

  1. โรงเรียนบ้านซองกาเรีย ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี
  2. โรงเรียนบ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี 
  3. โรงเรียนบ้านท่ามะเดื่อ ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ 
  4. โรงเรียนบ้านห้วยเขย่ง ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ

ทำไมถึงต้องเป็นจังหวัดกาญจนบุรี?

ดร.อารีย์ อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาคุณครูและสถานศึกษา กสศ. เผยถึงที่มาของการชวนเรามาร่วมลงพื้นที่โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรีครั้งนี้ไว้ว่า  

“เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลายคนคงคิดถึงเรื่องงบประมาณที่ไม่เท่ากัน ความห่างไกลที่ไม่เท่ากัน กาญจนบุรีสะท้อนให้เห็นภาพเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน” 

“การเดินทางจากกรุงเทพสู่กาญจนบุรีใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงกว่าๆ แต่รู้ไหมว่าการเดินทางจากตัวจังหวัดไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล อย่างเช่นโรงเรียนในอำเภอสังขละบุรีต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ชั่วโมง เพราะสภาพของพื้นที่ที่มีภูเขาเป็นส่วนใหญ่ทำให้การเดินทางยากลำบากมากขึ้น”

ราว 340 กิโลเมตรจากกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า เข้าโค้งมากกว่าร้อย บนถนนลาดยางสลับลูกรังในวันที่ฝนตกตลอดเวลา ชีวิตของสถานศึกษาในหุบเขาจึงไม่ได้โรแมนติก แต่กลับเป็นที่สถิตของความเหลื่อมล้ำ

เสียงสะท้อนของคุณครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่เราได้ร่วมรับฟังจากวงเสวนา ‘ปฏิรูปงบแก้เหลื่อมล้ำ เพื่อเด็กและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล’ ในช่วงบ่ายของวันที่ฝนตกพรำๆ ทำให้เราตระหนักถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นโรงเรียนขนาดเล็กกว่าหมื่นโรงเรียน หรือหมายถึงเด็กเกือบ 1 ล้านคนในประเทศ 

  • โรงเรียนขนาดเล็ก (เด็กไม่เกิน 120 คน) ทั่วประเทศยังขาดแคลนครูมากถึง 4,822 คน หรือต้องเพิ่มอีก 50.8 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนครูในปัจจุบัน เมื่อมีไม่เพียงพอ ครูหนึ่งคนจึงต้องดูแลนักเรียนในหลายชั้นเรียนไปพร้อมๆ กัน 
  • โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลในอำเภอสังขละบุรีมีนักเรียนยากจนพิเศษ (ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน) เป็นจำนวนมาก บางโรงเรียนมีนักเรียนยากจนมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดง่ายๆ ว่ายากจนเกือบทั้งโรงเรียน 
  • ปัจจุบันรัฐใช้วิธีจัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัว โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กไม่เกิน 120 คนจึงได้รับงบประมาณในสัดส่วนที่น้อยลงไปด้วย ส่งผลให้ขาดแคลนงบในการจัดการเรียนการสอนและสาธารณูปโภค ต่างจากโรงเรียนในเมืองที่มีเด็กเป็นจำนวนมาก 
  • การจัดสรรงบประมาณที่เท่ากันทั้งประเทศ จึงไม่ได้สร้าง ‘ความเท่าเทียม’ แต่ยิ่งทำให้เหลื่อมล้ำมากขึ้น 

นอกจากปัญหาเรื่องการขาดแคลน ‘ครู’ และ ‘งบประมาณ’ ในการจัดการศึกษาที่ถือเป็นปัญหาคลาสสิก ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยของความเหลื่อมล้ำที่เราคาดไม่ถึงอีกมากมาย

ครูต้องเป็น ‘ทุกอย่าง’ 

ชัยศักดิ์ ภูมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกองม่องทะ เล่าถึงปัญหาความขาดแคลนอาชีพอื่นๆ ในโรงเรียน 

“พอพูดถึงหน้าที่ของครูในโรงเรียน หลายคนอาจจะนึกถึงเพียงแค่เรื่องการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจริงๆ ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งที่โรงเรียนเล็กๆ อย่างเราเจอก็คือ การขาดคนทำงานในตำแหน่งธุรการ รวมถึงนักการภารโรง” 

“แทนที่ครูจะได้ทำหน้าที่สอนหนังสือ ครูกลับต้องเป็นทุกอย่าง ทั้งทำอาหาร ขับรถรับส่ง ตัดหญ้า วันดีคืนดี ผู้อำนวยการต้องไปยืนซ่อมหลังคาก็มี ต้องเอาเวลามาทำกับเรื่องที่ไม่ใช่การสอนเด็กเพราะขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้” 

โรงเรียนบ้านท่ามะเดื่อก็พบปัญหาที่ว่านี้ไม่ต่างกัน ภูวรินทร์ จาริยกันทะวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเล่าถึงสภาวะยากลำบากที่ทางโรงเรียนกำลังเผชิญอยู่

“ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนเคยมีตำแหน่งธุรการ แต่พอลาออกโควตาในการจ้างก็ถูกตัดออกไปตามสัดส่วนของนักเรียนที่ลดลง เช่นเดียวกับกรณีของนักการภารโรงที่เกษียณออกไป สุดท้ายงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการสอน อย่างเช่นตัดหญ้า ซ่อมแซมอาคาร หรือดูแลพื้นที่รอบๆ โรงเรียนจึงต้องตกเป็นภาระของครู ซึ่งยอมรับว่าหลายๆ งานเราก็ดูแลไม่ไหว ต้องจ้างคนนอกมาช่วยจัดการ จากที่มีงบจำกัดอยู่แล้วเรายังต้องเสียเงินไปกับเรื่องพวกนี้อีก ค่าตัดหญ้าครั้งละ 4,500 ซึ่งในช่วงฤดูฝน หญ้าเติบโตเร็ว เท่ากับว่าในหนึ่งภาคการศึกษาเราจะต้องจ้างคนมาตัดหญ้าถึงสามครั้ง”

งบประมาณจำกัด ทรัพยากรจำเขี่ย 

ผอ.ภูวรินทร์ แห่งโรงเรียนบ้านท่ามะเดื่อ ยังเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้จำนวนของเด็กนักเรียนลดลงในทุกๆ ปี 

“ปัจจุบันที่โรงเรียนมีนักเรียน 99 คน ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จาก 2 สาเหตุ หนึ่ง–ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีตลาดงานในชุมชน หากช่วงไหนไม่มีงานในไร่นาก็มักจะอพยพไปเป็นลูกจ้างในพื้นที่อื่นๆ สอง–เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกพ่อแม่นำมาฝากเลี้ยงไว้ให้อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย จนวันที่เด็กโตขึ้น ปู่ย่าตายายแก่ตัวลง พ่อแม่ก็จะพาเด็กเหล่านี้ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้ที่ทำงานของเขา”

การลดลงของจำนวนนักเรียนส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณต่อหัวของเด็ก ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมกระทบถึงทรัพยากรของโรงเรียนจากที่มีจำกัดอยู่แล้วกลับต้องประสบความขาดแคลนมากขึ้นไปอีก 

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ ในเมื่อโรงเรียนก็มีแนวโน้มของจำนวนเด็กที่ลดลงเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี เหตุใดจึงไม่ยุบรวมโรงเรียนหรือปิดตัวโรงเรียนไปเลย จะมาส่งเสียงเรียกร้องเพื่ออะไร 

คำตอบคือ เพราะการยุบรวมหรือปิดโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้จะส่งผลกระทบให้เด็กในพื้นที่ดังกล่าวประสบความยากลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนมากขึ้น สุดท้ายเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการศึกษาเลย 

โรงเรียนบ้านห้วยเขย่ง แห่งอำเภอทองผาภูมิ ก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะด้านการสร้างเสริมโภชนาการที่ดีให้เด็กๆ บุญรี วุฒิธรรมฐาน ครูรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ เล่าให้ฟังว่า 

“ทุกโรงเรียนมีต้นทุนในการซื้ออาหารเหมือนๆ กัน แต่เราได้เงินไม่เท่าเขา ทำให้การบริหารจัดการเรื่องการซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเป็นเรื่องลำบากมาก ตอนนี้เราต้องขอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยเสริม พร้อมๆ กับการขอบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอในการนำไปซื้อวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อมาทำอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการให้กับเด็กๆ” 

“การบริหารโรงเรียนภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันจึงทำให้ผู้บริหารต้องบริหารบนความจำกัดและขาดแคลน”

เด็กหลุดออกจากการศึกษา 

ความยากจนคืออุปสรรคใหญ่ของการศึกษา ผอ.ชัยศักดิ์ แห่งโรงเรียนกองม่องทะ เล่าถึงชีวิตเด็กชายส้มตำ ผู้ที่เกือบจะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา 

“ส้มตำไม่ได้มีปัญหาทางด้านการเรียนหรือพฤติกรรมไม่ดี ตรงกันข้าม เขาคือคนที่มีจิตอาสาสูงมาก แต่เรื่องของฐานะทางครอบครัวกลับทำให้เขาเกือบไม่ได้ไปต่อ เพราะช่วงปิดเทอมครอบครัวของเขาติดโควิดทั้งบ้าน ทำให้ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อข้าวสาร เด็กชายส้มตำจึงตัดสินใจออกไปรับจ้างทำงานเพื่อหาเงินให้ที่บ้าน จนกระทั่งเปิดเทอมก็ยังไม่กลับมาเรียน” 

“แต่ละปีมีเด็กที่เกือบจะหลุดออกไปจากระบบการศึกษาหลายคน สิ่งที่เราทำก็คือไปสื่อสารทำความเข้าใจกับเด็กและครอบครัวของเด็ก หลายๆ คนต้องใช้เวลาในกว่าสองเดือนถึงจะยอมกลับเข้ามาเรียน เพราะเขาเคยหาเงินได้เดือนละหลายๆ พัน ถ้ากลับมาเท่ากับว่าเขาก็จะต้องขาดรายได้ตรงนั้นไป ดังนั้น นอกจากจะชวนให้เขากลับมาเห็นความสำคัญของการศึกษาแล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำควบคู่กันไปก็คือหาโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพวกเขา”

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การศึกษาไทยยังมีปัญหาคาราคาซังอีกมากมาย แต่สิ่งดีๆ ที่เราได้เห็นในวันนี้คือมีครูจำนวนมากที่ทุ่มเททั้งหยาดเหงื่อและแรงกาย เพื่อนักเรียนของพวกเขามีภาคประชาสังคมที่พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอยู่เสมอ และยังมีหน่วยงานอย่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อภารกิจช่วยเหลือดูแลกลุ่มนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา พยายามสร้างกลไกการทำงานเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ อย่างเช่น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่สนับสนุนครูรุ่นใหม่ให้กลับมาสอนที่บ้านเกิด

‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ สร้างครูท้องถิ่น ลดเหลื่อมล้ำ  

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเผชิญปัญหาขาดแคลนครูคือ การย้ายออกของครูที่มาจากต่างถิ่น จากปัญหาระบบการบรรจุครูที่ทำให้ได้ครูที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ หรือสร้างคนในพื้นที่ให้มีทักษะความสามารถและจิตวิญญาณความเป็นครู ผ่านการส่งเสริมทุนการศึกษาให้กับนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เรียนจบกลับมาประกอบอาชีพครูที่โรงเรียนบ้านเกิด 

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คุรุสภา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนในชุมชน ผ่านการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีความฝันอยากเป็นครูเพื่อใช้ทักษะความสามารถที่มีมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง โดยโครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันสร้างครูมาแล้ว 5 รุ่น พัฒนาโรงเรียนในชุมชนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนในจังหวัดกาญจนบุรี 

ถึงแม้การศึกษาไทยในอุดมคติยังอยู่ห่างไกล แต่ความพยายามของพวกเขาทำให้เห็นถึงพลังและความหวังที่ไม่มีวันหมด จนถึงวันที่ผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษาจะเข้าใจว่า ‘ความเสมอภาคไม่ใช่แค่การให้ต้นทุนขนาดเท่ากัน แต่คือการทำให้ทุกคนเอื้อมถึงโอกาสได้’

AUTHOR